สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ (12 มกราคม พ.ศ. 2493 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564) เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 23 อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และสมาชิกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประวัติสมเกียรติเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2493 ที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต สาขาภาษาไทย-ประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระดับปริญญาโทศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สมเกียรติ สมรสร่วมกับ นาง วัลลภา พงษ์ไพบูลย์ มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน ชื่อ พินยู นรานันธิกรณ์ (นามสกุลเดิม พงษ์ไพบูลย์)[1][2]และ ศิลป์รวี พงษ์ไพบูลย์ สมเกียรติเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ด้วยภาวะเส้นเลือดใหญ่บริเวณก้านสมองแตก หลังรักษาตัวนานกว่า 1 เดือน[3] การทำงานผศ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เริ่มรับราชการเป็นครูที่โรงเรียนวัดสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ต่อมาได้ลาออกจากราชการเพื่อลงรับเลือกตั้งในปลาย พ.ศ. 2550 โดยลงเลือกตั้งในระบบสัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 5 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต่อมาหลังการยุบสภาใน พ.ศ. 2554 จึงได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์และวางมือทางการเมือง[4] สมเกียรติเคยเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และเป็น 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่เคยมีบทบาทในการชุมนุมเมื่อ พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทในรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2551 ที่อาคารรัฐสภาได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ได้ถูกการุณ โหสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคพลังประชาชน ทำร้ายร่างกายโดยการชกต่อย ซึ่งศาลจังหวัดดุสิต พิพากษาให้จำคุกนายการุณ เป็นเวลา 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท ฐานทำร้ายร่างกาย และปรับ 10,000 บาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี[5] วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 สมเกียรติเป็นผู้หนึ่งที่ออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมไม่นาน เจ้าตัวได้กล่าวคำขอโทษพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในอดีตเคยกล่าวพาดพิงถึงพรรคในทางที่เสียหาย ผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีที่กำลังถ่ายทอดสดอยู่[6] ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่ทางกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ได้จัดการชุมนุมแบบปิดแยกสำคัญในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 7 แห่ง โดยแยกออกเป็นเวทีต่าง ๆ 8 เวที ผศ.สมเกียรติก็ได้เป็นผู้รับผิดชอบเวทีที่แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เป็นเวทีแยกต่างหากจากเวทีที่มีพระพุทธะอิสระเป็นผู้ดูแลอีกด้วย[7] (แต่ต่อมาไม่นาน เวทีทั้งสองนี้ก็ได้ยุบรวมเป็นเวทีเดียว เพื่อความปลอดภัย[8]) ต่อมาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รุกคืบพื้นที่ชุมนุมเข้ามาเพื่อขอคืนพื้นที่ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ได้มีการปะทะกันด้วยความรุนแรง ผศ.สมเกียรติได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาแล้ว แต่ได้ถูกกลุ่มชายลึกลับกลุ่มหนึ่งบุกเข้ามาช่วยออกมาได้ โดยใช้เวลาเพียง 2 นาทีเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่าชายกลุ่มดังกล่าวต้องเป็นผู้ที่ได้รรับการฝึกทางยุทธวิธีมาเป็นอย่างดี[9] ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม ปีเดียวกัน จากการชุมนุมในครั้งนี้ ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย นายสมเกียรติมีรายชื่อเป็นผู้ต้องหาหมายเลขที่ 15[10][11] ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ออกหมายจับเขา[12] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|