นิตย์ พิบูลสงคราม
นิตย์ พิบูลสงคราม (30 มิถุนายน พ.ศ. 2484 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กรรมการมูลนิธิสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์[1] บุตรชายคนสุดท้องของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี กับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ประวัตินิตย์ พิบูลสงคราม เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2484 เป็นบุตรคนสุดท้องจากทั้งหมดหกคนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม มีพี่น้องได้แก่ พลตรีอนันต์ พิบูลสงคราม, พลเรือโทประสงค์ พิบูลสงคราม, จีรวัสส์ ปันยารชุน, รัชนิบูล ปราณีประชาชน และพัชรบูล เบลซ์ นิตย์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ศึกษาต่อระดับมัธยมปลายที่วิลบราฮัม อะเคเดมี (Wilbraham Academy) สหรัฐอเมริกา จบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ จากวิทยาลัยดาร์ทมัธ และปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา สมรสกับพัชรินทร์ พิบูลสงคราม (นามเดิม: แพทริเชีย ออสมอนด์)[2] การรับราชการนิตย์ พิบูลสงคราม เริ่มรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ได้แก่ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในปี พ.ศ. 2530 และตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้นได้กลับมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2543 จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2544 ภายหลังเกษียณอายุราชการ นิตย์ พิบูลย์สงคราม ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ตุลาคม 2544 – กันยายน 2549) ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – สหรัฐ (เอฟทีเอ) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งนี้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 หลังจากนั้น เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นิตย์ พิบูลย์สงครามได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ [3] เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ในรัฐบาลซึ่งมีพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มรณกรรมนิตย์ พิบูลสงคราม ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก จากมะเร็งในเม็ดเลือดขาว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 สิริอายุได้ 72 ปี[4][5] ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมทั้งพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่ กลองชนะ ประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 3 คืน ตั้งแต่วันที่ 25 ถึง 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 18.30 น. ศาลาเกสนี พันธุลาภ กาญจนาลัย วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพนิตย์ พิบูลสงคราม ณ ศาลาเกสนี พันธุลาภ กาญจนาลัย วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 18.00 น. โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลาหลวง พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพวงมาลาส่วนพระองค์ พร้อมทั้งทรงสดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพด้วย[6] และได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ 1 ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 17.00 น.[7][8] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|