Share to:

 

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข​
ดำรงตำแหน่ง
25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 – 19 พฤษภาคม​ พ.ศ. 2538
(0 ปี 206 วัน)
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
รัฐมนตรีว่าการอาทิตย์ อุไรรัตน์
ก่อนหน้านายแพทย์ อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม
ถัดไปธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
22 สิงหาคม พ.ศ. 2544 – 18 กันยายน พ.ศ. 2544
(0 ปี 27 วัน)
ถัดไปวิชิต ปลั่งศรีสกุล
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
ดำรงตำแหน่ง
24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
(8 ปี 116 วัน)
ก่อนหน้าเดโช สวนานนท์
ถัดไปอาทิตย์ อุไรรัตน์
เขตเลือกตั้งเขต 3
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 มกราคม พ.ศ. 2487 (80 ปี)
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองพลังใหม่
กิจประชาคม (2529-2531)
พลังธรรม (2531-2543)
ไทยรักไทย (2543-2550)
คู่สมรสมาลีรัตน์ มฤคพิทักษ์
อาชีพนักพูด
นักการเมือง

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ นักพูดที่มีชื่อเสียง เจ้าของฉายา ต้นตำรับนักพูดเมืองไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร, และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รวม 5 สมัย

ประวัติ

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2487 ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นพี่ชายของ ประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 10 สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 11

จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทวิทยาศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านการพูดและมนุษยสัมพันธ์ที่สถาบันเดล คาร์เนกี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อศึกษาจบแล้วเดินทางกลับประเทศไทย ได้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพและการพูดในที่ชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันสอนการพูดแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย และยังคงดำเนินกิจการจนถึงปัจจุบัน

การทำงาน

นักพูด

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เป็นที่รู้จักดีจากการเป็นนักพูด เป็นบุคคลแรกที่จัดการทอล์คโชว์ขึ้นในประเทศไทย เป็นวิทยากรอบรมการพูดและสร้างเสริมบุคลิกภาพ จนทำให้ได้รับการขนานนามว่า "ต้นตำรับนักพูดเมืองไทย"[1]

ปัจจุบัน เป็นพิธีกรดำเนินรายการ เก่ง3 ซึ่งเป็นรายการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและเรื่องทั่วไปของบ้านเมือง ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไททีวี ช่อง 2 ในเวลาประมาณ 21.00 น. ทุกคืนวันเสาร์

การเมือง

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังใหม่ ในปี พ.ศ. 2517[2] และเป็นกรรมการบริหารพรรคกิจประชาคม[3] เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของพรรคพลังธรรม 4 สมัย นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2531 จนถึงปี พ.ศ. 2538

ภายหลังจากที่ไม่ได้รับเลือกตั้งใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 ทินวัฒน์ได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 72 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 โดยในระยะแรกไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่ง ภายหลังจาก ประยุทธ มหากิจศิริ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

นอกจากนี้ ทินวัฒน์เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข[4] และประธานคณะธรรมาธิการการสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 3 สังกัดพรรคพลังธรรม
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย มีนาคม พ.ศ. 2535 จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 3 สังกัดพรรคพลังธรรม
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 3 สังกัดพรรคพลังธรรม
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 3 สังกัดพรรคพลังธรรม
  5. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย (เลื่อนแทน)

ข้อวิจารณ์

ระเบิดน้ำมันหมู

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544 ในขณะนั้นเป็นช่วงสงครามอิรัก สหรัฐอเมริกาบุกโจมตีอิรักทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ทินวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ความรุนแรงสยบความรุนแรง การสั่งสอนชาวอัฟกันนั้นไม่ยาก ไม่ต้องใช้ขีปนาวุธ, ไม่ต้องใช้เอฟ-14, ไม่ต้องใช้โทมาฮอว์ก, ใช้แค่ระเบิดน้ำมันหมู หรือเครื่องบินพ่นน้ำมันหมูก็พอ และระบุด้วยว่า ได้ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว

หลังการให้สัมภาษณ์ ได้เกิดความไม่พอใจจากบุคคลภายในพรรคไทยรักไทยและภายนอก โดยเฉพาะชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้กรรมการกลางอิสลามยื่นหนังสือถึงพันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อกดดันนายทินวัฒน์ให้ลาออกจาก สส. จนในวันที่ 18 กันยายน 2544 ทินวัฒน์ได้ประกาศลาออกจากการเป็น สส. ต่อที่ประชุมพรรค โดยกล่าวว่า

"ไม่คิดว่าหมูเป็นสถาบันที่เป็นศัตรูกับอิสลามผมเป็นคนโชคร้าย แต่มองโลกในแง่ดีมีอารมณ์ขัน คิดว่าสหรัฐฯ ไม่น่าจะใช้อาวุธ หรืออะไรที่มีต้นทุนสูงในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย มีคนกล่าวหาว่าผมไม่ระวังคำพูด ผมก็อาย เพราะผมเป็นอาจารย์สอนพูด และเป็นเสียเอง ก็ไม่ควรให้อภัยตนเอง ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะลบหลู่ศาสนาใด ผมถือโอกาสขออภัยต่อพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศว่า ไม่มีเจตนาล่วงเกินต่อศาสนา เพียงแต่ต้องการลดความรุนแรงของโลก และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้ส่ง เพราะหลังจากที่ผมพูดไปแล้วเห็นท่าไม่ดี มีคนวิจารณ์มาก จึงได้สั่งให้ลูกน้องเบรกไว้ก่อน"[5]

ทำให้ทินวัฒน์เป็น สส.ที่มีอายุการทำงานในสภาสั้นที่สุด เพียง 27 วันเท่านั้น

คำสังให้พิทักษ์ทรัพย์

ในปี พ.ศ. 2554 ได้มีคำสั่งศาลล้มละลายกลาง โดยธนาคารกรุงเทพเป็นโจทย์ผู้ฟ้องร้อง สั่งให้ทินวัฒน์ และมาลีรัตน์ ภริยา เป็นบุคคลล้มละลาย และมีคำสังให้พิทักษ์ทรัพย์ในบริษัทของเจ้าตัว[6]


เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. "ประวัติอาจารย์ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-01. สืบค้นเมื่อ 2011-07-29.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-08-04.
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของพรรคกิจประชาคม ตามนัยมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ (เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ภาพเครื่องหมาย ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และนโยบายของพรรค)
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรี
  5. "ปลาหมอตายเพราะปาก : รัฐมนตรีลาออกเพราะปากเสีย | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
  6. พูดไม่ออก! ศาลล้มละลายสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด"ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์" อดีตรัฐมนตรีและต้นตำรับนักพูดเมืองไทย จากมติชน
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๒๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๕๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya