มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ (อังกฤษ: Thailand National Sports University Sisaket Campus) เดิมชื่อ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตวีสมหมาย เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเป็น 1 ใน 4 วิทยาเขต ของ สถาบันการพลศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเปิดสอนในหลักสูตรปริญญาตรี หลายสาขา เพื่อการผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์สุขภาพ นันทนาการ และบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง นอกจากภารกิจด้านการศึกษาแล้ว ยังดำเนินงานวิจัยและให้บริการทางวิชาการสาขาการพลศึกษา วิทยาศาสตร์การกีฬา ตลอดจนสาขาที่เกี่ยวข้อง และการให้บริการด้านการกีฬาแก่ชุมชน การใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แก่ท้องถิ่น ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาสำหรับบุคลากร ที่มีความสามารถพิเศษทางการกีฬา นันทนาการ และบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย รวมถึงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน การกีฬาไทย ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา สุขภาพและนันทนาการในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ประวัติสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ มีรากฐานมาจากการเป็น วิทยาลัยพลศึกษาศรีสะเกษ ในอดีต ซึ่งสังกัดกรมพลศึกษา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการผลิตครูพลศึกษา ซึ่งได้เริ่มจัดตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษา” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) และตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย” ขึ้นในปีการศึกษา 2501 เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ต่อมาได้ยุบเลิกโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย ในปี พ.ศ. 2512 และได้ขยายหลักสูตรของวิทยาลัยพลศึกษาเป็นระดับปริญญาตรี โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยวิชาการศึกษา แต่ยังคงดำเนินการโดยกรมพลศึกษา และใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา” ในปี พ.ศ. 2514 ได้ยุติการดำเนินการวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนกลางและโอนวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ไปให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาดำเนินการต่อไป กรมพลศึกษา ได้เปิดดำเนินการผลิตครูพลศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจัดตั้งและเปิด วิทยาลัยพลศึกษา ในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จำนวน 17 แห่ง ทั่วประเทศ หลังจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายบรรจุข้าราชการครูจากผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี กรมพลศึกษาจึงหาแนวทางยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาให้สามารถเปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรี โดยในระยะแรกได้จัดทำโครงการร่วมมือทางวิชาการกับกรมการฝึกหัดครู เป็นสถาบันสมทบของวิทยาลัยครู และมหาวิทยาลัยในภูมิภาค เพื่อเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 ในขณะเดียวกันก็มีแนวทางที่จะเปิดดำเนินการสอนระดับปริญญาตรีด้วยตนเอง จนได้มีการร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญา ในปี พ.ศ. 2538 และใช้ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคล พ.ศ. ... กรมพลศึกษา ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคลตามลำดับ พร้อมกับที่กรมอาชีวศึกษาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และกรมศิลปากรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพัฒนศิลป์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ แต่เนื่องจากสาเหตุบางประการกรมพลศึกษาได้นำร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคลกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันเวลา เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรหมดอายุลง จึงต้องนำร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคล มาเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนใหม่อีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว การดำเนินการเพื่อยกฐานะดังกล่าว ได้ดำเนินเรื่อยมากระทั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ส่ง ร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2548 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 [1] จึงนับได้ว่า สถาบันการพลศึกษา ได้ก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ จึงได้รับการสถาปนาโดยยกฐานะจากวิทยาลัยพลศึกษาศรีสะเกษ พร้อมกับวิทยาลัยพลศึกษาอื่นๆทั้ง 17 แห่ง ตั้งแต่บัดนั้น ปัจจุบัน มี ดร.เฉลิมพงษ์ เฉลิมชิต เป็น รองอธิการบดี สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ [2] สัญลักษณ์ประจำสถาบัน
หลักสูตรปัจจุบัน สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน ในคณะและสาขาวิชาต่างๆ ดังนี้
การพระราชทานปริญญาบัตรสถาบันการพลศึกษา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสถาบันการพลศึกษา ครั้งแรก (ประจำปีการศึกษา 2548-2551) เมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต ลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภายในสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ มีการแบ่งส่วนงานภายใน ดังนี้
ศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ (Center for Sports Excellence : CSE) สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของสถาบันการพลศึกษา (สพล.)เพื่อช่วยต่อยอดส่งเสริมนักกีฬาจากโรงเรียนกีฬาทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาวงการกีฬาโดยสร้างนักกีฬาอย่างมีมาตรฐาน พัฒนาเข้าแข่งระดับนานาชาติมากขึ้นต่อไป ศูนย์กีฬาฯ จะส่งเสริมในด้านต่างๆ เพื่อให้นักกีฬาที่มีพื้นฐานและทักษะความสามารถฝึกกีฬาได้อย่างเต็มศักยภาพ ประกอบด้วยการจัดให้เรียนในระดับปริญญาตรีในสถาบันการพลศึกษา, จัดสถานที่ฝึกซ้อมและแข่งขัน, จัดหาผู้ฝึกสอนที่มีความเชี่ยวชาญ, จัดแผนการฝึกที่มีประสิทธิภาพ, สนับสนุนอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกและแข่งขัน, การใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาสนับสนุนการฝึกอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดสวัสดิการสำหรับนักกีฬา เช่น ที่พัก, อาหาร, ทุนการศึกษา, การทดสอบ และแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ ได้เปิดดำเนินการศูนย์กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554 [3] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|