Share to:

 

อำเภอเขมราฐ

อำเภอเขมราฐ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Khemarat
คำขวัญ: 
ต้นตำรับรำตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์น้ำใจงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลายหลาก กล้วยตากรสดี ประเพณีแห่เทียนพรรษา แข่งนาวาสองฝั่งโขง
แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี เน้นอำเภอเขมราฐ
แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี เน้นอำเภอเขมราฐ
พิกัด: 16°2′24″N 105°12′24″E / 16.04000°N 105.20667°E / 16.04000; 105.20667
ประเทศ ไทย
จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่
 • ทั้งหมด526.75 ตร.กม. (203.38 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด82,826 คน
 • ความหนาแน่น157.24 คน/ตร.กม. (407.2 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 34170
รหัสภูมิศาสตร์3405
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอเขมราฐ ถนนอรุณประเสริฐ ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี 34170
เว็บไซต์http://www.khemarat.net
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เขมราฐ หมายถึง ดินแดนแห่งความเกษมสุข[1] เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านบริเวณอำเภอ อำเภอเขมราฐเป็นอำเภอที่มีอาณาเขตติดกับแม่น้ำโขงเป็นระยะทางยาวกว่า 40 กิโลเมตร ลักษณะสำคัญของแม่น้ำโขงคือเป็นพรมแดนทางธรรมชาติที่สำคัญ โดยฝั่งตรงข้ามคือ เมืองสองคอน แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว เขมราฐเป็นเมืองที่มีทัศนียภาพแม่น้ำโขงที่สวยงาม หาดทรายที่มีชื่อเสียงคือ หาดทรายสูง ประเพณีที่สำคัญของอำเภอคือประเพณีแข่งเรือยาวซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูน้ำหลาก

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอเขมราฐ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองข้างเคียงดังนี้

ประวัติศาสตร์

เมื่อปี พ.ศ. 2357 อุปฮาด (ก่ำ) แห่งเมืองอุบลราชธานี ขอแยกออกมาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่บ้านโคกก่งดงพะเนียง ต่อมาพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานี พระองค์ที่ 2 (ต้นสกุลพรหมวงศานนท์) จึงมีใบบอกลงไปกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาทราบพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโคกก่งดงพะเนียง ขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า เขมราษฎร์ธานี ดำรงสถานะเทียบเท่าหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ตามที่พระพรหมวรราชสุริยวงศ์กราบบังคมทูล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้อุปฮาด (ก่ำ) ซึ่งเป็นบุตรของ พระวอ หรือ พระวรราชภักดี เป็น พระเทพวงศา (ท้าวก่ำ) ผู้ครองเมืองเขมราษฎร์ธานีพระองค์แรก (พ.ศ. 2357-2369) ปกครองเมืองเขมราษฎร์ธานีโดยร่มเย็นสืบมา

ชื่อบ้านนามเมือง เขมราษฎร์ธานี หรือ เขมราฐ แต่ก็มีความหมายเดียวกันคือ

  • เขม เป็นคำมาจากภาษาบาลี หมายถึง ความเกษมสุข โดยคำที่เทียบเคียงคือคำว่า "เกษม" ที่มาจากภาษาสันสกฤต
  • ราษฎร เป็นคำที่มาจากภาษาลีสันสกฤตมีความหมายตรงกับ “รัฐ” หรือ “รัฏฐ” ซึ่งมาจากภาษาบาลี หมายถึง แว่นแคว้น หรือดินแดนนั้นเอง

ดังนั้น คำว่า "เขมราษฎร์ธานี" หรือ "เขมราฐ" จึงมีความหมายรวมว่า ดินแดนแห่งความเกษมสุข

ระหว่างปี พ.ศ. 2369 เกิดศึกระหว่างกรุงเทพมหานครกับนครเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ ได้บัญชาการให้เจ้าราชบุตรแห่งนครจำปาศักดิ์ ยกทัพมายึดเมืองเขมราษฎร์ธานี แลขอให้ พระเทพวงศา (ท้าวก่ำ) เข้าร่วมตีกรุงเทพฯ ด้วย แต่ทว่าพระเทพวงศา นั้นไม่ยินยอมจะเข้าด้วยกับแผนการ และการศึกครั้งนี้ จึงเป็นเหตุให้พระเทพวงศาถูกจับประหารชีวิต พระเทพวงศา (ท้าวก่ำ) มีบุตร และบุตรี 4 คน คือ

  1. ท้าวบุญจันทร์
  2. ท้าวบุญเฮ้า
  3. หลวงชำนาญไพรสณฑ์ (แดง) ต่อมาเป็นที่พระกำจรจาตุรงค์ (แดง) เจ้าเมืองวารินทร์ชำราบ คนที่ 1
  4. นางหมาแพง

ปี พ.ศ. 2371 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวบุญจันทร์ บุตรพระเทพวงศา (ท้าวก่ำ) เป็นที่พระเทพวงศา (บุญจันทร์) ครอง เมืองเขมราษฎร์ธานี คนที่ 2 (พ.ศ. 2371-2395) พระเทพวงศา (บุญจันทร์) ท่านมีบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวบุญสิงห์ และท้าวบุญชัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองโขงเจียม และเมืองเสมี๊ยะ ขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองจำปาสัก มาขึ้นตรงต่อเมืองเขมราษฎร์ธานี

ปี พ.ศ. 2396 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวบุญเฮ้า บุตรพระเทพวงศา (ท้าวก่ำ) เป็น พระเทพวงศา (บุญเฮ้า) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี คนที่ 3 (พ.ศ. 2396-2408)

ปี พ.ศ. 2408 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวบุญสิงห์ บุตรพระเทพวงศา (บุญจันทร์) เป็นที่พระเทพวงศา (บุญสิงห์) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี คนที่ 4 (พ.ศ. 2408-2428) ได้ลาออกด้วย โรคชรา ในปี พ.ศ. 2428 และถือเป็นต้น สกุล อมรสิน และอมรสิงห์) มีบุตร 2 คน คือ ท้าวจันทบรม (เสือ) และท้าวขัตติยะ (พ่วย)

ปี พ.ศ. 2388 พระสีหนาท และพระไชยเชษฐา นายครัวชาวผู้ไท เมืองตะโปน ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขง มาขอ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านคำเมืองแก้วขึ้นเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว (ปัจจุบัน คือ พื้นที่ อ.ชานุมาน) ขึ้นสังกัด เมืองเขมราษฎร์ธานี

พ.ศ. 2401 ท้าวจันทบรม (เสือ อมรสิน) บุตรพระเทพวงศา ได้ขอยกบ้านค้อใหญ่ ขึ้นเป็น เมืองอำนาจเจริญ (ปัจจุบันคือ อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ) ให้ ท้าวจันทบรม (เสือ อมรสิน) เป็นที่ พระอมรอำนาจ เจ้าเมืองอำนาจเจริญ คนแรก โดยให้ ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราษฎร์ธานี

พ.ศ. 2422 เพียเมืองจัน กรมการเมืองเขมราษฎร์ธานี ได้ขอนำไพร่พล แยกออกไปตั้ง บ้านผะเหลา ขึ้นเป็นเมือง พนานิคม (ปัจจุบัน อ.พนานิคม จ.อำนาจเจริญ) โปรดเกล้าฯ ตั้ง เพียเมืองจัน เป็น พระจันทวงษา เจ้าเมืองคนแรก ขึ้นสังกัดเมืองอุบลราชธานี

พ.ศ. 2423 หลวงชำนาญไพรสณฑ์ (แดง) บุตรพระเทพวงศา (ก่ำ) ได้ขอแยกออกไปตั้ง บ้านนากอนจอ ขึ้นเป็นเมือง วารินทร์ชำราบ โปรดเกล้าฯ ตั้ง หลวงชำนาญไพรสณฑ์ (แดง) เป็น พระกำจรจาตุรงค์ เจ้าเมืองคนแรก ขึ้นสังกัดเมืองจำปาศักดฺ์ ภายหลังจึงได้ย้ายมาขึ้นสังกัด เมืองเขมราษฎร์ธานี

พ.ศ. 2425 พระไชยจันดี กรมการเมืองเขมราษฎร์ธานี ได้ขอนำไพร่พล แยกออกไปตั้ง บ้านที ขึ้นเป็นเมือง เกษมสีมา (ปัจจุบัน ตำบลเกษม อ.ตระการพืชผล) โปรดเกล้าฯ ตั้ง พระไชยจันดี เป็น พระพิไชยชาญณรงค์ เจ้าเมืองคนแรก ขึ้นสังกัดเมืองอุบลราชธานี

ปี พ.ศ. 2428 โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวขัตติยะ (พ่วย) บุตรพระเทพวงศา (บุญสิงห์) รักษาราชการ เจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี ลำดับที่ 5 (พ.ศ. 2428-2435) และได้ป่วยเสียชีวิต ด้วยโรคท้องร่วง ในปี พ.ศ. 2435

พ.ศ. 2436 เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ได้เข้าครอบครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมืองเขมราฐ อยู่ในระยะ 25 กิโลเมตร จากฝั่งแม่น้ำโขง เป็นเขตปลอดทหาร

ปี พ.ศ. 2440-2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวโพธิสาร (คำบุ) เป็นที่พระเขมรัฐเดชชนารักษ์ ผู้ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเขมราฐ ให้ท้าวโพธิราช (หล้า) เป็นที่พระเขมรัฐศักดิ์ชนาบาล ตำแหน่งปลัดเมือง ให้ท้าวโพธิสารราช (ห้อ) เป็นที่พระเขมรัฐกิจบริหาร ตำแหน่งยกกระบัตรเมือง และหลวงจำนงค์ (แสง) เป็นที่หลวงเขมรัฐการอุตส่าห์ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง

ปี พ.ศ. 2444 ได้เกิดเหตุการณ์ ขบวนการผู้มีบุญ หรือ ขบถผีบุญ หลายพื้นที่ในภาคอีสาน และมี องค์มั่น นำพวกเมืองโขงเจียม ราว 1,000 คน เข้าปล้น เมืองเขมราฐ ฆ่ากรมการเมือง ปล่อยนักโทษ จับตัวบังคับ พระเขมรัฐเดชชนารักษ์ (คำบุ) ผู้ว่าราชการเมืองเขมราฐ ให้เข้าร่วมขบวนการ โดยมีประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ยกพวกเข้ายึด เมืองเกษมสีมา แล้วไปตั้งค่าย อยู่บ้านสะพือ เพื่อมุ่งหน้าจะเข้าตีเมืองตระการพืชผล และจะเข้ายึด เมืองอุบลราชธานี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ ซึ่งกำกับ มณฑลลาวกาว จึงได้ส่งกองทหาร ออกมาปราบ จนเกิดการสู้รบ กันที่บ้านสะพือ ทำให้ขบวนการผู้มีบุญแตกพ่าย

ปี พ.ศ. 2445 ทางราชการได้ปรับลดฐานะเมืองโขงเจียม เมืองคำเขื่อนแก้ว เมืองอำนาจเจริญ และเมืองวารินทร์ชำราบ ที่เคยขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ ให้เป็นอำเภอแต่คงให้ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐเช่นเดิม ส่วนเมืองเขมราฐให้แบ่งออกเป็น 2 อำเภอคือ อำเภออุไทยเขมราฐ และอำเภอปจิมเขมราฐ มี * พระเขมรัฐเดชชนารักษ์ (คำบุ) เป็นผู้ว่าราชการเมืองเขมราฐ

  • พระเขมรัฐศักดิ์ชนาบาล (หล้า) เป็นปลัดเมือง
  • พระเขมรัฐกิจบริหาร (ห้อ) เป็นยกระบัตรเมือง
  • ท้าวสิทธิกุมาร รักษาการแทนนายอำเภออุไทยเขมราฐ
  • ท้าวมหามนตรี รักษาการแทนนายอำเภอปจิมเขมราฐ
  • หลวงธรรโมภาสพัฒนเดช (ทอง) รักษาการแทนนายอำเภออำนาจเจริญ
  • ท้าวจารจำปา รักษาการแทนนายอำเภอคำเขื่อนแก้ว
  • ท้าวสน รักษาการแทนนายอำเภอโขงเจียม
  • ราชวงศ์ (บุญ) รักษาการแทนนายอำเภอวารินทร์ชำราบ

อันมีอำนาจปกครอง 6 อำเภอ แสดงให้เห็นว่าเมืองเขมราฐยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ ปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เพื่อให้บังเกิดผลตามที่กำหนดใน “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116” มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น 8 บริเวณ สำหรับเมืองอุบลราชธานี มีอยู่ 3 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองยโสธร และเมืองเขมราฐ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 ทางราชการได้ยุบอำเภอปจิมเขมราฐ และอำเภอคำเขื่อนแก้ว โดยให้ไปรวมกับอำเภออุไทยเขมราฐ และในปลายปี พ.ศ. 2452 ทางราชการได้ถูกลดฐานะเมืองเขมราฐลงเป็นอำเภอเขมราฐ ส่วนอำเภอที่เคยขึ้นตรงต่อก็ให้โอนไปอยู่ในเขตการปกครองของเมืองยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี

ปี พ.ศ. พ.ศ. 2455 อำเภอเขมราฐจึงถูกโอนย้ายมาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีจนถึงกระทั่งปัจจุบัน โดยมีพระเกษมสำราญรัฐ (แสง จารุเกษม) เป็นนายอำเภอคนแรก[2]

ปี พ.ศ. 2511 แบ่งพื้นที่อำเภอเขมราฐจัดตั้งเป็นอำเภอชานุมาน

พ.ศ. 2525 แบ่งพื้นที่อำเภอเขมราฐจัดตั้งเป็นอำเภอโพธิ์ไทร

พ.ศ. 2537 แบ่งพื้นที่อำเภอเขมราฐจัดตั้งเป็นอำเภอนาตาล

รายพระนามเจ้าผู้ครองเมือง

รายพระนามเจ้าผู้ครองเมืองเขมราษฎร์ธานี

รายนามเจ้าผู้ครองเมืองเขมราษฎร์ธานี
รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
พระเทพวงศา (เจ้าก่ำ) พ.ศ. 2357-2369
พระเทพวงศา (บุญจันทร์) พ.ศ. 2371-2395
พระเทพวงศา (บุญเฮ้า) พ.ศ. 2396-2408
พระเทพวงศา (บุญสิงห์) พ.ศ. 2408-2428
พระเทพวงศา (พ่วย) พ.ศ. 2428-2435
พระเขมรัฐเดชชนารักษ์ (คำบุ) พ.ศ. 2435-2442

พระเกษมสำราญรัฐ (แสง จารุเกษม)

พ.ศ. 2442-2453
อ้างอิง:[3]

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอเขมราฐแบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 123 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับที่. ชื่อไทย ชื่ออังกฤษ จำนวนหมู่บ้าน ประชากร
1. เขมราฐ Khemarat 22 11,763
2. ขามป้อม Kham Pom 17 9,101
3. เจียด Chiat 9 4,713
4. หนองผือ Nong Phue 14 9,184
5. นาแวง Na Waeng 13 6,919
6. แก้งเหนือ Kaeng Nuea 10 6,056
7. หนองนกทา Nong Nok Tha 13 5,557
8. หนองสิม Nong Sim 10 4,903
9. หัวนา Hua Na 16 12,263

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอเขมราฐประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลเขมราฐ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเขมราฐ
  • เทศบาลตำบลเทพวงศา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขมราฐ (นอกเขตเทศบาลตำบลเขมราฐ)
  • เทศบาลตำบลขามป้อม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลขามป้อมทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหนองผือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองผือทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหัวนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวนาทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลหนองนกทา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองนกทาทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเจียด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเจียดทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาแวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาแวงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแก้งเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแก้งเหนือทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสิม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองสิมทั้งตำบล

สถานศึกษา

โรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาในเขตเทศบาลตำบลเขมราฐ

  • โรงเรียนเขมราฐพิทยาคม โรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย
  • โรงเรียนเขมราฐ โรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษา
  • โรงเรียนอนุบาลบ้านเหนือเขมราฐ โรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษา

โรงเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษาอื่น ๆ

  • โรงเรียนแก้งเหนือพิทยาคม (ตำบลแก้งเหนือ) โรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย
  • โรงเรียนบ้านหนองผือ โรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น
  • โรงเรียนบ้านนาแวง โรงเรียนสหศึกษา เปิดสอนระดับอนุบาลถึงมัธยมต้น
  • โรงเรียนอนุบาลพุทธเมตตา (ภาคเอกชน)
  • โรงเรียนบ้านห้วยยาง โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนคุณภาพประจำตำบลหัวนา

ฯลฯ

วิทยาลัย มหาวิทยาลัย

การคมนาคม

รถยนต์

อำเภอเขมราฐ มีทางหลวงแผ่นดิน 6 เส้นทาง ดังนี้

  1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 (ถนนอรุณประเสริฐ) ชัยภูมิ–เขมราฐ
  2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2034 (ถนนมุกดาหาร–บรรจบทางหลวงหมายเลข 202 บ้านหนองผือ)
  3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2050 (ถนนอุบลราชธานี-ตระการพืชผล–เขมราฐ)
  4. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2112 แยกทางหลวงหมายเลข 2050 (เขมราฐ) –โขงเจียม
  5. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2232 แยกทางหลวงหมายเลข 202 (หนองผือ) –กุดข้าวปุ้น
  6. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2242 แยกทางหลวงหมายเลข 2034 (บุ่งเขียว) –บรรจบทางหลวงหมายเลข 202 (เขมราฐ)

รถไฟ

อำเภอเขมราฐไม่มีเส้นทางรถไฟผ่าน และต้องอาศัยการเดินทางมายังสถานีรถไฟอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นสามารถโดยสารรถประจำทางหรือรถขนส่งร่วมบริการมายังอำเภอเขมราฐ ด้วยระยะทาง 110 กิโลเมตร

อากาศยาน

ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินลงมาที่ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี แล้วต่อรถโดยสารประจำทางหรือรถตู้มายังอำเภอเขมราฐ ระยะทาง 106 กิโลเมตร

สถานที่ราชการสำคัญ

  • ที่ว่าการอำเภอเขมราฐ
  • โรงพยาบาลเขมราฐ
  • ที่ทำการด่านศุลกากรเขมราฐ
  • สถานีตำรวจภูธรเขมราฐ
  • การประปาส่วนภูมิภาค สาขาเขมราฐ
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาเขมราฐ
  • สถานีไฟฟ้าเขมราฐ
  • โครงการก่อสร้างศาลจังหวัดเขมราฐ
  • สำนักงานเกษตรอำเภอเขมราฐ
  • สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเขมราฐ
  • สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเขมราฐ
  • สำนักงานสรรพสามิตจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเขมราฐ
  • สำนักงานสรรพากรจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเขมราฐ
  • สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเขมราฐ
  • สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเขมราฐ
  • สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเขมราฐ
  • ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขมราฐ
  • สถานีเรือ นรข.เขต อบ. เขมราฐ
  • กองร้อย ตชด.๒๒๗
  • ชุดประสานงานที่ 1กองกำลังสุรนารี (เขมราฐ)
  • สถานีตำรวจน้ำ 4 เขมราฐ กองกำกับการ 10 กองบังคับการตำรวจน้ำ
  • หมวดการทางเขมราฐ
  • หมวดบำรุงทางหลวงชนบทเขมราฐ

สถานที่ท่องเที่ยว

  • ถนนคนเดินเขมราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลเขมราฐ
  • หาดทรายสูง ที่ตั้ง บ้านลาดหญ้าคา หมู่ที่ 10 ต.นาแวง
  • แก่งช้างหมอบ ที่ตั้ง บ้านห้วยยาง หมู่ที่ 10 ต.เขมราฐ
  • ภูอ่าง ที่ตั้ง บ้านหลักเขต หมู่ที่ 9 ต.หนองนกทา
  • แก่งพะลานเหล็ก ที่ตั้ง บ้านสามแยกถ้ำเสือ หมู่ที่ 17 ต.เขมราฐ
  • ภูรัง ที่ตั้ง บ้านบาก ม.2 ต.หัวนาและ บ้านดอนโด่ ม.10 ต.หัวนา
  • ภูพนมดี ที่ตั้ง บ้านแก้งหลักด่าน ม.7 และบ้านพนมดี ม.10 ต.หนองผือ
  • ภูยอ ที่ตั้ง บ้านคำสง่า ม.11 ต.หนองนกทา
  • พระเจ้าใหญ่องค์แสน ที่ตั้ง วัดโพธิ์ หมู่ที่ 7 ต.เขมราฐ
  • พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น ที่ตั้ง วัดบ้านอุบมุง หมู่ที่ 5 ต.เขมราฐ
  • พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ (ล้าน) ที่ตั้ง วัดพระโต บ้านปากแซง หมู่ที่ 3 ต.พะลาน
  • พระหยกไซมีเรีย ที่ตั้ง วัดโพธิ์ หมู่ที่ 7 ต.เขมราฐ
  • ดอนสโงม ที่ตั้ง บ้านนาแวง หมู่ 2 ต.นาแวง
  • วัดพระธาตุภูเขาเงิน ต.เจียด
  • พิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดี วัดภูถ้ำพระศิลาทอง บ.นาหนองเชือก ต.เจียด
  • พิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดี บ้านดงเย็น ต.ขามป้อม
  • ลานพระขาว วัดบุ่งขี้เหล็ก ต.นาแวง

เทศกาลและประเพณี

  • แข่งเรือยาวประเพณีสองฝั่งโขง ไทย-ลาว ลำน้ำโขง หน้าเทศบาล ต.เขมราฐ เดือนตุลาคมของทุกปี
  • ประเพณีสงกรานต์ แก่งช้างหมอบ เทศบาลตำบลเทพวงศา 13-15 เมษายน
  • ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา เทศบาลตำบลเขมราฐ เดือนกรกฎาคม
  • ถนนคนเดินเขมราษฎร์ธานี ทุกวันเย็นเสาร์

ธนาคารในอำเภอ

  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารกสิกรไทย

ผลิตภันฑ์สินค้าส่งออก

  • กล้วยตาก แสงแรก เทศบาลตำบลเขมราฐ
  • สมุนไพร นางมาลา มัธยามาศ
  • สมุนไพร นางสมคิด ดงศรี หมู่ 1 ตำบลขามป้อม
  • ผ้าทอมือบ้านป้าติ๋ว ต.เขมราฐ https://www.facebook.com/phapatiw222
  • ผ้าทอมือเฮือนชูฮักโฮมสตังค์ บ้านโพธิ์เมือง ต.นาแวง https://www.facebook.com/chuhugweaving/
  • แหนมใบมะยม กลุ่มแม่บ้านบ้านเหนือเขมราฐ

แหล่งข้อมูลอื่น

หนังสือและบทความ

  • วิชุลดา พิไลพันธ์. “ประวัติศาสตร์เมืองเขมราฐ พ.ศ.2357-2435.” ใน ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, อรพินท์ คำสอน และธิษณา วีรเกียรติสุนทร (บก.), ถักทอความคิด: มิตรและศิษย์มอบให้ วินัย พงศ์ศรีเพียร. หน้า 177-205. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2565.

เว็บไซต์

อ้างอิง

  1. อำเภอเขมราฐ อ่านว่า เข-มะ-ราด. เมือง "เขมราษฎร์ธานี" ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น "เขมราฐ" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็มีความหมายเดียวกัน คือ "ดินแดนแห่งความเกษมสุข" (ราษฎร์ = รัฐ, รัฎฐ์ = แว่น แคว้น หรือ ดินแดน ส่วนคำว่า "เขม" หมายถึง ความเกษมสุข) (ที่มา : นามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี)
  2. ประวัติศาสตร์อีสาน,เติม วิภาคย์พจนกิจ ,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2,2530,น.118
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-17. สืบค้นเมื่อ 2019-05-17.
4.พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ,หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร ) 5.200 ปี เมืองเขมราษฎร์ธานี ,คณะกรรมการสืบค้นประะวัติศาสตร์ เมืองเขมราษฎร์ธานี : 2557
Kembali kehalaman sebelumnya