Share to:

 

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า
Rabies
ลูกวัวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้ กลัวน้ำ สับสน หลั่งน้ำลายมาก อาการหลอน นอนไม่หลับ อัมพาต โคม่า[1][2]
สาเหตุไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าและลิสซาไวรัสค้างคาวออสเตรเลีย[3]
การป้องกันวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า, การควบคุมสัตว์, อิมมูโนโกลบูลินโรคพิษสุนัขบ้า[1]
การรักษาการดูแลตามอาการ
พยากรณ์โรคเสียชีวิตแทบทุกราย (หากเริ่มแสดงอาการ)[1]
การเสียชีวิต59,000 คนต่อปีทั่วโลก[4]

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ (อังกฤษ: rabies, hydrophobia) เป็นโรคไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของสมองในมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นชนิดอื่น[1] อาการเริ่มต้นมีไข้และอาการเป็นเหน็บ ณ ตำแหน่งสัมผัส[1] อาการเหล่านี้ตามด้วยอาการต่อไปนี้อย่างหนึ่งหรือมากกว่า ได้แก่ การเคลื่อนไหวรุนแรง ความตื่นเต้นควบคุมไม่ได้ กลัวน้ำ ไม่สามารถขยับร่างกายบางส่วน สับสนและไม่รู้สึกตัว[1] เมื่อเกิดอาการแล้ว จะลงเอยด้วยถึงแก่ชีวิตแทบทั้งสิ้น[1] ช่วงเวลาระหว่างการติดต่อโรคและการเริ่มแสดงอาการนั้นปกติระหว่างหนึ่งถึงสามเดือน ทว่า ช่วงเวลานี้มีได้ตั้งแต่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์จนถึงกว่าหนึ่งปี[1] เวลานี้ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ไวรัสเข้าระบบประสาทส่วนกลาง[5]

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากลิสซาไวรัส (lyssavirus) ได้แก่ ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (rabies virus) และลิสซาไวรัสค้างคาวออสเตรเลีย (Australian bat lyssavirus)[6] โรคพิษสุนัขบ้าแพร่เมื่อสัตว์ที่ติดเชื้อข่วนหรือกัดสัตว์อื่นหรือมนุษย์[1] น้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อยังสามารถส่งผ่านโรคพิษสุนัขบ้าได้หากสัมผัสกับตา ปากหรือจมูก[1] ทั่วโลก หมาเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด[1] ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ากว่า 99% ในประเทศที่หมามีโรคเป็นปกติเกิดจากหมากัด[7] ในทวีปอเมริกา ค้างคาวกัดเป็นแหล่งที่พบมากที่สุดของการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในมนุษย์ และผู้ป่วยน้อยกว่า 5% มาจากหมา[1][7] สัตว์ฟันแทะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าน้อยมาก[7] ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าเดินทางไปสมองโดยตามประสาทส่วนปลาย โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้หลังเริ่มแสดงอาการแล้วเท่านั้น[1]

โครงการควบคุมสัตว์และให้วัคซีนลดความเสี่ยงของโรคพิษสุนัขบ้าจากหมาในหลายภูมิภาคของโลก[1] มีการแนะนำให้การสร้างภูมิคุ้มกันแก่บุคคลก่อนสัมผัสสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงสูงมีผู้ที่ทำงานกับค้างคาวหรือผู้ที่ใช้เวลานานในพื้นที่ของโลกที่มีโรคพิษสุนัขบ้าเป็นปกติ[1] ในผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าและบ้างทีอิมมูโนโกลบูลินโรคพิษสุนัขบ้ามีผลป้องกันโรคหากบุคคลได้รับการรักษาก่อนเริ่มมีอาการโรคพิษสุนัขบ้า[1] การล้างแผลถูกกัดและข่วนด้วยน้ำสบู่ โพวิโดนไอโอดีนหรือสารชะล้างเป็นเวลา 15 นาทีอาจลดจำนวนอนุภาคไวรัสและอาจมีผลบ้างในการป้องกันการแพร่เชื้อ[1][8] มีเพียงไม่กี่คนที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหลังแสดงอาการ และได้รับการรักษาใหญ่ที่เรียก มิลวอกีโพรโทคอล (Milwaukee protocol)[9]

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 26,000 ถึง 55,000 คนต่อปี[1][10] การเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ากว่า 95% เกิดในทวีปแอฟริกาและเอเชีย[1] โรคพิษสุนัขบ้าพบในกว่า 150 ประเทศและทุกทวีปยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา[1] กว่า 3 พันล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณของโลกที่พบโรคพิษสุนัขบ้า[1] หลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สหรัฐและยุโรปตะวันตก ไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าในหมา[11][12] หลายประเทศเกาะขนาดเล็กไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าเลย[13]

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2502

ช่วงระหว่างการติดเชื้อและอาการคล้ายหวัดครั้งแรกคือ 2 ถึง 12 สัปดาห์ในมนุษย์ มีบันทึกระยะฟักสั้นเพียงสี่วันและนานกว่าหกปี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของแผลที่มีการปนเปื้อนและปริมาณไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ไม่นานอาการอาจเพิ่มเป็นอัมพาตเล็กน้อยหรือบางส่วน วิตกกังวล นอนไม่หลับ สับสน กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมผิดปกติ โรคจิตหวาดระแวงและประสาทหลอน ดำเนินเป็นอาการเพ้อ[5][14]

การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิด 2 ถึง 10 วันหลังมีอาการแรก หากมีอาการแล้วโอกาสรอดชีวิตจะน้อยมากแม้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วก็ตาม[15] Jeanna Giese ซึ่งเป็นผู้ป่วยคนแรกที่ได้รับการรักษาด้วยมิลวอกีโพรโทคอลในปี 2547[16] เป็นบุคคลแรกเท่าที่มีบันทึกที่รอดชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ได้รับการป้องกันโรคหลังสัมผัสสำเร็จ การวิเคราะห์เจตนารักษา (intention-to-treat analysis) นับแต่นั้นพบว่าโพรโทคอลนี้มีอัตรารอดชีวิตประมาณ 8%[17]

กลัวน้ำ

สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

โรคกลัวน้ำ (hydrophobia) เป็นชื่อเดิมของโรคพิษสุนัขบ้า[18] หมายถึง กลุ่มอาการในระยะท้าย ๆ ของการติดเชื้อที่บุคคลกลืนลำบาก แสดงอาการตื่นตระหนกเมื่อเสนอของเหลวให้ดื่ม และไม่สามารถดับความกระหายของผู้นั้นได้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดที่ติดเชื้อไวรัสนี้อาจแสดงอาการกลัวน้ำทั้งนั้น[19]

การผลิตน้ำลายเพิ่มขึ้นมาก และความพยายามดื่ม หรือแม้แต่เจตนาหรือการแนะนำให้ดื่ม อาจทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในลำคอและกล่องเสียงที่เจ็บอย่างยิ่ง อาการนี้สามารถอธิบายได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสเพิ่มจำนวนและอยู่ในต่อมน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยมีความมุ่งหมายเพื่อส่งผ่านเพิ่มผ่านการกัด ความสามารถส่งผ่านไวรัสของสัตว์ที่ติดเชื้อจะลดลงอย่างสำคัญหากสัตว์นั้นสามารถกลืนน้ำลายและน้ำได้[20]

โรคกลัวน้ำโดยทั่วไปสัมพันธ์กับโรคพิษสุนัขบ้าดุร้าย (furious rabies) ซึ่งเกิดใน 80% ของผู้ที่ติดเชื้อ อีก 20% ที่เหลืออาจประสบโรคพิษสุนัขบ้าแบบอัมพาตซึ่งมีลักษณะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการรู้สึกและอัมพาต โรคพิษสุนัขบ้าแบบนี้ปกติไม่ทำให้เกิดความกลัวน้ำ[19]

สาเหตุ

การแพร่เชื้อ

สัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์อาจสามารถติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าและแสดงอาการได้ทั้งหมด มีการแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าให้นกแบบมนุษย์ทำครั้งแรกในปี 2427 ทว่า นกที่ติดเชื้อส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไร้อาการ และฟื้นตัว นกชนิดอื่นทราบว่าพัฒนาแอนติบอดีโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หลังกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

ไวรัสนี้ยังปรับตัวให้เติบโตในเซลล์สัตว์มีกระดูกสันหลังเลือดเย็นได้ สัตว์ส่วนใหญ่สามารถติดเชื้อไวรัสและสามารถแพร่เชื้อโรคสู่มนุษย์ได้ ค้างคาว ลิง แรคคูน หมาป่า สกั๊งค์ ปศุสัตว์ หมาป่า ไคโยตี หมา พังพอน (ปกติพังพอนสีเหลือง) และแมวมีความเสี่ยงต่อมนุษย์สูงสุด

โรคพิษสุนัขบ้ายังแพร่ผ่านการสัมผัสหมี สัตว์ฟาร์มเลี้ยง กราวน์ฮ็อก วีเซิลและสัตว์กินเนื้อป่าอื่น อันดับกระต่าย เช่น กระต่ายป่าและกระต่าย และสัตว์ฟันแทะ เช่น ชิปมังก์ เจอร์บิล หนูตะเภา แฮมสเตอร์ หนูหริ่ง หนูและกระรอก แทบไม่พบว่าติดเชื้อด้วยโรคพิษสุนัขบ้าและไม่ทราบว่าส่งผ่านโรคพิษสุนัขบ้าสู่มนุษย์ การกัดจากหนูหริ่ง หนูหรือกระรอกแทบไม่ต้องป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพราะสัตว์ฟันแทะเหล่านี้ตรงแบบถูกฆ่าเมื่อเผชิญกับสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่ใหญ่กว่า ฉะนั้น จะไม่เป็นพาหะ โอพอสซัมเวอร์จิเนียต้านทานแต่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า

ปกติพบไวรัสในประสาทและน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่แสดงอาการ เส้นทางการติดเชื้อปกติเป็นการกัด แต่ไม่เสมอไป ในสัตว์จำนวนมาก สัตว์ที่ติดเชื้อก้าวร้าวเป็นพิเศษ อาจทำร้ายโดยไม่ถูกยั่วยุ และแสดงพฤติกรรมผิดแปลก นี่เป็นตัวอย่างของไวรัสก่อโรคที่ดัดแปลงพฤติกรรมของตัวถูกเบียนของมันให้เอื้อต่อการแพร่เชื้อไปตัวถูกเบียนอื่น

การแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์ด้วยกันพบน้อยมาก มีผู้ป่วยน้อยคนมีบันทึกผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะ หลังการติดเชื้อมนุษย์ตรงแบบโดยการกัด ไวรัสเข้าระบบประสาทนอกส่วนกลาง แล้วเดินทางตามประสาทนำเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ระหว่างระยะนี้ ไวรัสไม่สามารถถูกพบได้โดยง่ายในตัวถูกเบียน และวัคซีนอาจยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันอาศัยเซลล์เป็นสื่อ (cell-mediated immunity) เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่แสดงอาการ เมื่อไวรัสเข้าสมอง มันทำให้เกิดสมองอักเสบอย่างเร็ว ระยะบอกเหตุโรค และเป็นจุดเริ่มต้นของอาการ เมื่อผู้ป่วยแสดงอาการแล้ว การรักษาแทบไร้ผลโดยสิ้นเชิงและอัตราตายมีกว่า 99% โรคพิษสุนัขบ้าอาจยังทำให้ไขสันหลังอักเสบ ทำให้เกิดไขสันหลังอักเสบตามขวาง (transverse myelitis)

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าอาจทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยระยะแรกจะอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ หรือเหมือนการมีบุคลิกก้าวร้าวโดยทั่วไป[21] วิธีที่ให้ผลแม่นยำสามารถอ้างอิงได้ในการวินิจฉัยโรคนี้ต้องทำโดยการตรวจหาแอนติบอดีด้วยสารเรืองแสง (FAT) ซึ่งเป็นวิธีที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก[22] วิธีนี้อาศัยโมเลกุลตรวจจับที่เรืองแสงได้ (นิยมใช้เป็นฟลูออเรสซีนไอโซไทโอไซยาเนต) ที่จับกับแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อพิษสุนัขบ้า ทำให้สามารถจับกับแอนติเจนของเชื้อ และสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการทำให้เรืองแสงและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (fluorescent microscopy technique) วิธีตรวจหาแอนติเจนของเชื้อด้วยการย้อมสิ่งส่งตรวจโดยตรงด้วยสารเรืองแสงนี้เป็นวิธีเดียวที่สามารถตรวจหาเชื้อได้โดยตรง ที่รวดเร็วและประหยัดที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอาการหรือแหล่งที่มาของผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ป่วย อย่างไรก็ดีสิ่งส่งตรวจที่เน่าเสียอาจทำให้ผลการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่แม่นยำได้[23] การตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยอีกวิธีหนึ่งที่มีความไวและความจำเพาะสูง และสะดวกมากพอที่จะสามารถใช้เป็นวิธีพื้นฐานได้ในห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพเพียงพอ[24] โดยเฉพาะในการตรวจสิ่งส่งตรวจที่เน่าเสียแล้ว[25]หรือเก็บไว้นาน[26] นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำจากการตรวจชิ้นเนื้อของสมองจากร่างที่เสียชีวิตแล้ว หรืออาจใช้น้ำลาย ปัสสาวะ หรือน้ำหล่อสมองไขสันหลังของร่างที่เสียชีวิตแล้ว ก็ได้เช่นกัน แต่ผลจะไม่แม่นยำเท่าใช้ชิ้นเนื้อสมอง[23] การตรวจพบอินคลูชันบอดีที่เรียกว่าเนกริบอดีในเซลล์สมองถือเป็นการวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100% แต่พบในผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยเพียง 80% เท่านั้น[27] กรณีมีผู้ป่วยถูกสัตว์กัด หากเป็นไปได้ควรตามสัตว์ที่กัดนั้นมาตรวจหาเชื้อ[28]

การป้องกัน

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดคือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัขกัดหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นโรคอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุด คือ การเสริมภูมิคุ้มกันในสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลัก รวมทั้ง การควบคุมจำนวนสุนัข

การเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ

ในการเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ ควรกักขังสัตว์ไว้ในที่ปลอดภัย และเฝ้าดูอาการประมาณ 15 วัน ไม่ควรทำลายสัตว์โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้สัตว์ตายเอง ซึ่งจะตรวจพบเชื้อได้ง่าย และแน่นอน ในการส่งซาก หลังจากที่สัตว์ตายลง ถ้าเป็นสัตว์เล็กเช่นสุนัข แมว การส่งตัวอย่างอาจส่งเฉพาะหัว หรือส่งทั้งซากก็ได้ แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่เช่น โค กระบือ ต้องตัดหัวหรือสมองสัตว์ใส่ถุงพลาสติกแช่น้ำแข็ง นำส่งห้องปฏิบัติการ เพราะตัวอย่างที่จะใช้ตรวจโรคคือสมองของสัตว์ ซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวัง อย่าใช้วิธีทุบที่กะโหลก เพราะอาจทำให้สมองเละ ตรวจหาสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ได้ยาก แล้วส่งให้เร็วที่สุด โดยต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง โดยผู้ทำการต้องสวมถุงมือ หรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มมือให้มิดชิด และล้างมือให้สะอาดหลังจากเก็บซาก

การรักษา

การฉีดวัคซีนและ Ig ในผู้ป่วยสัมผัสโรคระดับ 3
กรณี วันที่ (หลังเข็มแรก)
0 3 7 14 28
อิมมูโนโกลบูลิน
ฉีดวัคซีนใต้หนัง
ฉีดวัคซีนเข้ากล้าม
ฉีดวัคซีนกระตุ้นกรณีเข็มล่าสุด >6 เดือน
ฉีดวัคซีนกระตุ้นกรณีเข็มล่าสุด ≤6 เดือน
ที่มา: สถานเสาวภา สภากาชาดไทย (แนวปฏิบัติ พ.ศ. 2559)[29]

การรักษาหลังการสัมผัสสามารถป้องกันโรคได้ เมื่อให้อย่างทันท่วงทีภายใน 10 วันหลังจากรับเชื้อ[27] การล้างแผลส่วนน้ำและสบู่อย่างหมดจดทันทีเมื่อรับเชื้อ (ภายใน 5 นาที) ก็มีส่วนช่วยในการลดจำนวนอนุภาคไวรัสได้[30] และยังสามารถลดจำนวนเชื้อได้อีกด้วยการใช้โพวิโดนไอโอดีนหรือแอลกอฮอล์ในการทำแผล[31]

ในประเทศไทย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย แนะนำให้ผู้ป่วยสัมผัสโรคระดับ 3 ขององค์การอนามัยโลกได้รับอิมมูโนโกลบูลินโรคพิษสุนัขบ้า (rabies immunoglobulin) 1 ขนาด และวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า 4–5 เข็ม โดยขนาดอิมมูโนโกลบูลินจากมนุษย์ไม่ควรเกิน 20 ยูนิตต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ควรฉีดอิมมูโนโกลบูลินรอบแผลให้มากที่สุด และที่เหลือฉีดในชั้นกล้ามเนื้อ ณ จุดที่อยู่ไกลจากจุดฉีดวัคซีน ส่วนการสัมผัสโรคระดับ 1 และ 2 ไม่จำเป็นต้องได้รับอิมมูโนโกลบูลิน[29]

วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเข็มแรกควรให้โดยเร็วที่สุด ในกรณีของการฉีดใต้หนัง เข็มถัดมาจะฉีดในวันที่ 3, 7 และ 28 หลังฉีดวันแรก รวม 4 เข็ม และในกรณีของการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เข็มถัดมาจะฉีดในวันที่ 3, 7, 14 และ 28 รวม 5 เข็ม แพทย์อาจพิจารณาไม่ฉีดวัคซีนจนครบกรณีที่สามารถสังเกตอาการของสัตว์ได้ ส่วนผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม (วันที่ 0, 3 และ 7) แล้วก่อนสัมผัสโรคครั้งนี้ ไม่ต้องได้รับอิมมูโนโกลบูลิน โดยจะฉีดวัคซีนกระตุ้นในวันที่ 0 และ 3 (รวม 2 เข็ม) เท่านั้น หรือเข็มเดียวกรณีที่เคยฉีดเข็มสุดท้ายไม่เกิน 6 เดือน[29]

อาการปวดและผลข้างเคียงของวัคซีนมีเซลล์สมัยใหม่จะคล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อควรฉีดเข้าต้นแขน ไม่ควรฉีดเข้าบริเวณแก้มก้น ในทารกแนะนำให้ฉีดเข้าด้านข้างของต้นขา[32]

ในสหรัฐ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแนะนำให้ฉีดวัคซีนตามมาตรการป้องกันโรคหลังสัมผัสในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะถูกค้างคาวกัด ได้แก่ การพบว่ามีค้างคาวอยู่ในห้องเดียวกันกับเด็กที่ไม่มีคนเฝ้า หรือบุคคลพิการทางจิตหรือมึนเมา หรือคนปกติตื่นมาพบว่ามีค้างคาวอยู่ในห้อง[33]

หากเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว มาตรการป้องกันโรคหลังสัมผัสมีผลป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 100%[16] ในกรณีที่ให้มาตรการป้องกันโรคหลังสัมผัสช้าอย่างสำคัญ ยังควรให้การรักษาอยู่เพราะอาจได้ผล มีบุคคลกว่า 15 ล้านคนได้รับวัคซีนหลังการสัมผัส แม้จะได้ผลดี แต่ก็มีราคาแพงมาก[34]

วิธีการมิลวอกี

วิธีการมิลวอกี (อังกฤษ: Milwaukee protocol) หรือวิธีการวิสคอนซิน[35][36]เป็นชุดของกระบวนการเพื่อการรักษาอย่างหนึ่งที่เคยถูกใช้เพื่อพยายามรักษาโรคพิษสุนัขบ้าระยะแสดงอาการในมนุษย์ มีองค์ประกอบสำคัญคือการทำให้ผู้ป่วยหมดสติด้วยยาและให้ยาต้านไวรัส จากการเก็บข้อมูลมาจนถึงปัจจุบันพบว่าวิธีการนี้ไม่ใช่วิธีการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้ผล และไม่เป็นที่แนะนำให้ใช้อีกต่อไป[37]

พยากรณ์โรค

ในมนุษย์ที่ไม่ได้รับวัคซีน เมื่อผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าเริ่มแสดงอาการทางระบบประสาทแล้วจะเสียชีวิตเกือบ 100%[38]

การให้วัคซีนหลังการสัมผัสเชื้อประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคอย่างสูงหากให้ทันท่วงที ปกติภายใน 6 วัน โดยได้ผลป้องกันโรคได้ถึง 100%[16] แม้ได้รับวัคซีนช้าก็ยังได้ผลดีพอสมควร[39]

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 "Rabies Fact Sheet N°99". World Health Organization. July 2013. สืบค้นเมื่อ 28 February 2014.
  2. "Rabies - Symptoms and causes". Mayo Clinic (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 9 April 2018.
  3. "Rabies, Australian bat lyssavirus and other lyssaviruses". The Department of Health. Dec 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2014. สืบค้นเมื่อ 1 March 2014.
  4. "Rabies". CDC (ภาษาอังกฤษ). 29 July 2020. สืบค้นเมื่อ 31 January 2021.
  5. 5.0 5.1 Cotran RS; Kumar V; Fausto N (2005). Robbins and Cotran Pathologic Basis of Disease (7th ed.). Elsevier/Saunders. p. 1375. ISBN 0-7216-0187-1.
  6. "Rabies, Australian bat lyssavirus and other lyssaviruses". The Department of Health. Dec 2013. สืบค้นเมื่อ 1 March 2014.
  7. 7.0 7.1 7.2 Tintinalli, Judith E. (2010). Emergency Medicine: A Comprehensive Study Guide (Emergency Medicine (Tintinalli)). McGraw-Hill. pp. Chapter 152. ISBN 0-07-148480-9.
  8. William H. Wunner (2010). Rabies: Scientific Basis of the Disease and Its Management. Academic Press. p. 556. ISBN 9780080550091.
  9. Hemachudha T, Ugolini G, Wacharapluesadee S, Sungkarat W, Shuangshoti S, Laothamatas J (May 2013). "Human rabies: neuropathogenesis, diagnosis, and management". Lancet neurology. 12 (5): 498–513. doi:10.1016/s1474-4422(13)70038-3. PMID 23602163.
  10. Lozano R, Naghavi M, Foreman K, Lim S, Shibuya K, Aboyans V, Abraham J, Adair T, Aggarwal R, และคณะ (15 ธันวาคม 2012). "Global and regional mortality from 235 causes of death for 20 age groups in 1990 and 2010: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010". Lancet. 380 (9859): 2095–128. doi:10.1016/S0140-6736(12)61728-0. PMID 23245604.
  11. WHO Expert Consultation on Rabies : second report (PDF) (2 ed.). Geneva: WHO. 2013. p. 3. ISBN 9789241209823.
  12. "Penang on rabies alert". The Star. September 17, 2015. สืบค้นเมื่อ 19 September 2015.
  13. "Rabies-Free Countries and Political Units". CDC. สืบค้นเมื่อ 1 March 2014.
  14. Schoenstadt A (2008-07-21). "Rabies Symptoms". eMedTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-22. สืบค้นเมื่อ 2010-01-30.
  15. Rupprecht CE, Willoughby R, Slate D (2006). "Current and future trends in the prevention, treatment and control of rabies". Expert Review of Anti-infective Therapy. 4 (6): 1021–38. doi:10.1586/14787210.4.6.1021. PMID 17181418.
  16. 16.0 16.1 16.2 Jordan Lite (8 ตุลาคม 2008). "Medical Mystery: Only One Person Has Survived Rabies without Vaccine—But How?". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2010.
  17. Rodney E Willoughby (9 พฤศจิกายน 2009). "Are we getting closer to the treatment of rabies?". Future Virology. 4 (6). doi:10.2217/fvl.09.52.
  18. Smallman-Raynor, Andrew Cliff, Peter Haggett, Matthew (2004). World atlas of epidemic diseases. London: Arnold. p. 51. ISBN 9780340761717.
  19. 19.0 19.1 "Symptoms of rabies". NHS.uk. June 12, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-14. สืบค้นเมื่อ 3 September 2014.
  20. "Rabies". AnimalsWeCare.com.
  21. Cynthia M.; Kahn, BA, บ.ก. (2010). The Merck Veterinary Manual (10th ed.). Kendallville, Indiana: Courier Kendallville, Inc. p. 1193. ISBN 0-911910-93-X.
  22. Dean, D.J.; Abelseth, M.K. (1973). "Ch. 6: The fluorescent antibody test". ใน Kaplan, M.M.; Koprowski, H. (บ.ก.). Laboratory techniques in rabies. Monograph series. Vol. 23 (3rd ed.). World Health Organization. p. 73.
  23. 23.0 23.1 Fooks AR, Johnson N, Freuling CM, Wakeley PR, Banyard AC, McElhinney LM, Marston DA, Dastjerdi A, Wright E, Weiss RA, Müller T (2009). "Emerging technologies for the detection of rabies virus: challenges and hopes in the 21st century". PLoS Neglected Tropical Diseases. 3 (9): e530. doi:10.1371/journal.pntd.0000530. PMC 2745658. PMID 19787037.
  24. Tordo, N; Bourhy, H; Sacramento, D (1994). "Ch. 10: PCR technology for lyssavirus diagnosis". ใน Clewley, J.P. (บ.ก.). The Polymerase Chain Reaction (PCR) for Human Viral Diagnosis. CRC Press. pp. 125–145. ISBN 978-0-8493-4833-4.
  25. David D, Yakobson B, Rotenberg D, Dveres N, Davidson I, Stram Y (2002). "Rabies virus detection by RT-PCR in decomposed naturally infected brains". Veterinary Microbiology. 87 (2): 111–8. doi:10.1016/s0378-1135(02)00041-x. PMID 12034539.
  26. Biswal M, Ratho R, Mishra B (September 2007). "Usefulness of reverse transcriptase-polymerase chain reaction for detection of rabies RNA in archival samples". Japanese Journal of Infectious Diseases. 60 (5): 298–9. PMID 17881871.
  27. 27.0 27.1 Drew WL (2004). "Chapter 41: Rabies". ใน Ryan KJ, Ray CG (บ.ก.). Sherris Medical Microbiology (4th ed.). McGraw Hill. pp. 597–600. ISBN 978-0-8385-8529-0.
  28. Ly S, Buchy P, Heng NY, Ong S, Chhor N, Bourhy H, Vong S (2009). Carabin H (บ.ก.). "Rabies situation in Cambodia". PLoS Neglected Tropical Diseases. 3 (9): e511. doi:10.1371/journal.pntd.0000511. PMC 2731168. PMID 19907631.
  29. 29.0 29.1 29.2 แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (พ.ศ. 2559) เก็บถาวร 2018-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2561.
  30. "Rabies & Australian bat lyssavirus information sheet". Health.vic.gov.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2012.
  31. National Center for Disease Control (2014). "National Guidelines on Rabies Prophylaxis" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 5 กันยายน 2014. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2014.
  32. "Rabies". www.who.int. World Health Organization. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2015. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2015.
  33. De Serres G, Skowronski DM, Mimault P, Ouakki M, Maranda-Aubut R, Duval B (2009). "Bats in the bedroom, bats in the belfry: Reanalysis of the rationale for rabies post-exposure prophylaxis". Clin Infect Dis. 48 (11): 1493–9. doi:10.1086/598998. PMID 19400689.
  34. "Human rabies: better coordination and emerging technology to improve access to vaccines". World Health Organization (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2017.
  35. Michael Smith (20 เมษายน 2007). "Rabies Rescue Protocol Fails in New Cases". MedPage Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2012.
  36. "Human Rabies --- Indiana and California, 2006". Accessed 15 January 2012.
  37. Jackson AC (2016). "Human Rabies: a 2016 Update". Curr Infect Dis Rep (Review). 18 (11): 38. doi:10.1007/s11908-016-0540-y. PMID 27730539.
  38. "Rabies". World Health Organization (WHO). กันยายน 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2011.
  39. "Rabies Post-Exposure Prophylaxis". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 23 ธันวาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น

The offline app allows you to download all of Wikipedia's medical articles in an app to access them when you have no Internet.
บทความวิกิพีเดียด้านการดูแลสุขภาพสามารถอ่านออฟไลน์ได้ทาง Medical Wikipedia app.
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
Kembali kehalaman sebelumnya