เตียวจูล่ง
เตียวจูล่ง[a] (เสียชีวิต ค.ศ. 229)[1] มีชื่อสกุลและชื่อตัวในภาษาจีนกลางว่า เจ้า ยฺหวิน[b] (จีนตัวย่อ: 赵云; จีนตัวเต็ม: 趙雲; พินอิน: Zhào Yún; ) ชื่อรอง จูล่ง หรือภาษาจีนกลางว่า จื่อหลง (จีนตัวย่อ: 子龙; จีนตัวเต็ม: 子龍; พินอิน: Zǐlóng) เป็นขุนพลที่มีชีวิตในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและต้นยุคสามก๊กของจีน เดิมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของกองซุนจ้านขุนศึกภาคเหนือ ภายหลังไปรับใช้เล่าปี่ที่เป็นขุนศึกอีกคนหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาก็ได้ติดตามเล่าปี่ร่วมรบในการศึกโดยมาก ตั้งแต่ยุทธการที่เตียงปัน (ค.ศ. 208) ถึงยุทธการที่ฮันต๋ง (ค.ศ. 217-219) เตียวจูล่งรับราชการต่อมาในรัฐจ๊กก๊กซึ่งก่อตั้งโดยเล่าปี่ในปี ค.ศ. 221 ในยุคสามก๊ก และเข้าร่วมในการบุกขึ้นเหนือครั้งแรก จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 229 ในขณะที่ข้อเท็จจริงหลายอย่างเกี่ยวกับชีวประวัติของเตียวจูล่งยังไม่ชัดเจนเนื่องจากมีข้อมูลจำกัดในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แง่มุมและการกระทำบางอย่างในประวัติของเตียวจูล่งก็ได้รับการเสริมแต่งเกินจริงในคติชนพื้นบ้านและนวนิยาย ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก เตียวจูล่งได้รับการยกย่องให้เป็นสมาชิกของห้าทหารเสือของเล่าปี่ แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชีวประวัติเตียวจูล่งชีวประวัติหลักของเตียวจูล่งอยู่ในสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) เขียนโดยตันซิ่วในศตวรรษที่ 3 โดยมีข้อความยาวเพียง 346 อักษรจีน ในศตวรรษที่ 5 เผย์ ซงจือเพิ่มอรรถาธิบายจากเจ้ายฺหวินเปี๋ยจฺว้าน (趙雲別傳; ชีวประวัติอย่างไม่เป็นทางการของเจ้า ยฺหวิน) ให้กับบทชีวประวัติเตียวจูล่งในสามก๊กจี่ ซึ่งให้ภาพชีวประวัติของเตียวจูล่งที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ การรับราชการช่วงต้นกับกองซุนจ้านเตียวจูล่งเป็นชาวอำเภอจีนเต๋ง (真定 เจินติ้ง) เมืองเสียงสัน[c] (常山 ฉางชาน)[7] ในเจ้ายฺหวินเปี๋ยจฺว้านบรรยายลักษณะภายนอกของเตียวจูล่งว่าสูง 8 ฉื่อ (ประมาณ 184 เซนติเมตร) มีรูปลักษณ์ที่สง่างามและน่าประทับใจ[8] หลังจากที่ได้รับการแนะนำจากเจ้าเมืองเสียงสันให้เข้ารับราชการ เตียวจูล่งจึงนำอาสาสมัครกลุ่มเล็ก ๆ ไปเข้าร่วมกับกองซุนจ้าน ขุนศึกในมณฑลอิวจิ๋ว[9] เวลานั้น ขุนศึกอ้วนเสี้ยวมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นหลังได้รับการแต่งตั้งให้ให้เป็นเจ้ามณฑลกิจิ๋ว กองซุนจ้านจึงกังวลว่าราษฎรจำนวนมากในมณฑลอิวจิ๋วจะเลือกรับใช้อ้วนเสี้ยวแทนที่จะเป็นตน[10] เมื่อเตียวจูล่งมาพบกองซุนจ้านพร้อมกับกลุ่มอาสาสมัคร กองซุนจ้านถามอย่างดูถูกว่า "ข้าได้ยินมาว่าทุกคนในมณฑลบ้านเกิดของท่าน[d]ต้องการรับใช้ตระกูลอ้วน เหตุใดมีเฉพาะพวกท่านที่มีใจผันแปรไป สับสนจนคิดผิดหรือ"[11] เตียวจูล่งตอบว่า "แผ่นดินกำลังโกลาหล ใครถูกใครผิดไม่ชัดแจ้ง ผู้คนตกอยู่ในอันตราย เหล่าคนที่อยู่ในมณฑลบ้านเกิดของข้าหลังจากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงตัดสินใจจะติดตามนายผู้ปกครองด้วยคุณธรรม ข้าจึงเลือกเข้ามาร่วมกับท่านขุนพลแทนที่จะเป็นท่านอ้วน" กองซุนจ้านจึงยอมรับเตียวจูล่ง ภายหลังเตียวจูล่งจึงได้ร่วมในฝ่ายกองซุนจ้านในยุทธการกับทัพอริหลายครั้ง[12] พบกับเล่าปี่ราวต้นทศวรรษ 190 เตียวจูล่งพบกับเล่าปี่ซึ่งเวลานั้นมาอยู่พึ่งกองซุนจ้าน เตียวจูล่งสนิทสนมกับเล่าปี่อย่างมากและต้องการจะเปลี่ยนมาภักดีต่อเล่าปี่[13] เมื่อกองซุนจ้านส่งเล่าปี่ไปช่วยเต๊งไก๋ที่เป็นพันธมิตรในยุทธการที่รบกับอ้วนเสี้ยว เตียวจูล่งติดตามเล่าปี่ไปด้วยและทำหน้าที่เป็นนายทหารม้าของเล่าปี่[14] เมื่อเตียวจูล่งได้รับข่าวการเสียชีวิตของพี่ชาย ได้มาขอลาราชการชั่วคราวกับเล่าปี่เพื่อไปไว้อาลัยให้พี่ชาย เล่าปี่รู้ว่าเมื่อเตียวจูล่งไปแล้วจะไม่กลับมาจึงกุมมือของเตียวจูล่งพร้อมบอกลา ก่อนเตียวจูล่งจะจากไปได้กล่าวกับเล่าปี่ว่า "ข้าจะไม่ลืมบุญคุณของท่านเลย"[15] รับใช้เล่าปี่ต้นปี ค.ศ. 200 เล่าปี่สูญเสียฐานอำนาจในมณฑลชีจิ๋วให้กับโจโฉที่เป็นอริ เล่าปี่หนีไปทางเหนือข้ามแม่น้ำฮองโห (แม่น้ำเหลือง) และลี้ภัยไปพึ่งอ้วนเสี้ยว ศัตรูของโจโฉ[16] ช่วงเวลาเดียวกันนั้น เตียวจูล่งก็เดินทางไปยังเงียบกุ๋นอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการของอ้วนเสี้ยวซึ่งได้พบกับเล่าปี่อีกครั้งที่นั่น เตียวจูล่งและเล่าปี่อยู่ร่วมห้องเดียวกันในช่วงที่อาศัยอยู่ในเงียบกุ๋น[17] เล่าปี่ลอบสั่งการกับเตียวจูล่งให้ช่วยรวบรวมทหารได้หลายร้อยนายที่เต็มใจจะติดตามตน อ้างว่าทหารเหล่านี้รับใช้ขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน)[e] อ้วนเสี้ยวไม่รู้เรื่องดังกล่าวนี้ จากนั้นเตียวจูล่งพร้อมด้วยเล่าปี่และผู้ติดตามจึงตีจากอ้วนเสี้ยวและมุ่งลงใต้ไปเข้าร่วมกับเล่าเปียว เจ้ามณฑลเกงจิ๋ว[19] ยุทธการที่พกบ๋องในปี ค.ศ. 202 เมื่อโจโฉนำทัพขึ้นไปรบในการทัพทางเหนือของจีนเพื่อรบกับเหล่าบุตรชายของอ้วนเสี้ยวและพันธมิตร เล่าปี่ถือโอกาสที่โจโฉไม่อยู่นำกองกำลังเข้าโจมตีดินแดนของโจโฉในภาคกลางของจีน โจโฉส่งขุนพลแฮหัวตุ้นและคนอื่น ๆ นำทัพไปต้านเล่าปี่[20][21] ระหว่างยุทธการ เตียวจูล่งจับตัวแฮหัวอัน (夏侯蘭 เซี่ยโหฺว หลาน) เพื่อนเก่าที่มาจากบ้านเกิดเดียวกันกับตน เตียวจูล่งขอร้องเล่าปี่ให้ไว้ชีวิตแฮหัวอันและแนะนำให้รับแฮหัวอันมารับราชการเป็นตุลาการทัพเพราะตนรู้ว่าแฮหัวอันมีความรู้เรื่องกฎหมาย[22] เตียวจูล่งได้รับการยกย่องในเรื่องความรอบคอบระมัดระวังเกี่ยวกับการวางตัวในเรื่องความสัมพันธ์กับแฮหัวอันแม้ว่าจะเป็นเพื่อนกันก็ตาม[23] ยุทธการที่เตียงปันหลังเล่าเปียวเสียชีวิตในปี ค.ศ. 208 เล่าจ๋องบุตรชายคนเล็กของเล่าเปียวสืบทอดตำแหน่งเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว เมื่อโจโฉเริ่มการทัพในปีเดียวกันเพื่อจัดการกับกองกำลังข้าศึกในภาคใต้ของจีน เล่าจ๋องยอมสวามิภักดิ์และมอบมณฑลเกงจิ๋วให้กับโจโฉ เล่าปี่และผู้ติดตามทิ้งฐานที่มั่นในอำเภอซินเอี๋ย (新野 ซินเย่) และมุ่งหน้าลงใต้ไปยังแฮเค้า (夏口 เซี่ยโขฺ่ว) ซึ่งรักษาโดยเล่ากี๋บุตรชายคนโตของเล่าเปียวและเป็นอิสระจากการยึดครองของโจโฉ[24] โจโฉนำกองกำลังทหารม้าฝีมือดี 5,000 นายด้วยตนเองออกไล่ตามเล่าปี่ และไล่ตามเล่าปี่ทันที่เตียงปัน (長坂 ฉางป่าน) ตีกองกำลังของเล่าปี่แตกพ่ายยับเยิน ระหว่างที่เล่าปี่ทิ้งครอบครัวหนี[25] เตียวจูล่งอุ้มเล่าเสี้ยนบุตรชายที่ยังเด็กของเล่าปี่และคุ้มครองกำฮูหยินภรรยาของเล่าปี่ (มารดาของเล่าเสี้ยน) ในระหว่างยุทธการและพาไปยังที่ปลอดภัย ภายหลังเตียวจูล่งได้เลื่อนยศเป็นขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將軍 หยาเหมินเจียงจฺวิน) ตอบแทนความอุตสาหะ[26] ก่อนหน้านี้หลังจากพ่ายแพ้ที่เตียงปัน เล่าปี่ได้ยินข่าวลือว่าเตียวจูล่งทรยศตนไปเข้าด้วยฝ่ายโจโฉ เล่าปี่ปฏิเสธที่จะเชื่อข่าวลือ ขว้างทวนจี่สั้นลงกับพื้นและพูดว่า "จูล่งไม่ทอดทิ้งข้าหนีไปแน่" คำพูดของเล่าปี่ถูกต้องเพราะเตียวจูล่งกลับมาหาเล่าปี่หลังจากนั้นอีกไม่นาน[27] ในฤดูหนาว ค.ศ. 208–209 เล่าปี่เป็นพันธมิตรกับขุนศึกซุนกวนและเอาชนะโจโฉได้อย่างเด็ดขาดในยุทธการที่เซ็กเพ็ก โจโฉถอยหนีขึ้นเหนือหลังพ่ายแพ้ เล่าปี่และซุนกวนก็รุกคืบยึดได้เมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น) ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การครอบครองของโจโฉ[28] ในฐานะเจ้าเมืองฮุยเอี๋ยงภายหลังเตียวจูล่งได้เลื่อนขึ้นขึ้นเป็นขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) สำหรับผลงานที่ช่วยเล่าปี่ในการพิชิตสี่เมืองทางใต้ของมณฑลเกงจิ๋วคือเตียงสา (長沙 ฉางชา) เลงเหลง (零陵 หลิงหลิง) บุเหลง (武陵 อู่หลิง) และฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง) หลังจากยึดได้เมืองฮุยเอี๋ยงแล้ว เล่าปี่ตั้งให้เตียวจูล่งเป็นเจ้าเมืองฮุยเอี๋ยงคนใหม่แทนที่เตียวหอม[29] เตียวหอมมีพี่สะใภ้ที่เป็นหม้ายและมีชื่อเสียงในเรื่องความงดงาม เตียวหอมต้องการจะจัดการให้พี่สะใภ้ได้แต่งงานกับเตียวจูล่งเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับเตียวจูล่ง แต่เตียวจูล่งปฏิเสธความคิดนี้และพูดกับเตียวหอมว่า "เรามีสกุลเดียวกัน พี่ชายของท่านก็เหมือนพี่ชายของข้าเช่นกัน"[30] มีคนอื่น ๆ ที่โน้มน้าวให้เตียวจูล่งยอมรับการแต่งงานแต่เตียวจูล่งปฏิเสธอย่างหนักแน่นพูดว่า "เตียวหอมถูกบังคับให้ยอมจำนนเพราะสถานการณ์พาไป เจตนาของเขายังไม่แน่ชัดและน่าสงสัย นอกจากนี้ในแผ่นดินนี้ยังมีสตรีอื่นอีกมากมาย" ไม่นานหลังจากนั้น เตียวหอมหลบหนีไป และเตียวจูล่งก็สามารถหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ใด ๆ กับเตียวหอมไปได้เพราะไม่เห็นด้วยกับการแต่งงาน[31] รักษาเกงจิ๋วราวปี ค.ศ. 211 เล่าปี่นำทัพยกไปทางตะวันตกเข้ามณฑลเอ๊กจิ๋วเพื่อไปช่วยเล่าเจี้ยงเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋วในการรบต้านเตียวฬ่อที่เป็นขุนศึกคู่อริแห่งฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) เตียวจูล่งและคนอื่น ๆ ยังอยู่รักษามณฑลเกงจิ๋ว[32][33][28] ก่อนหน้านี้เมื่อราวปี ค.ศ. 209[28] เล่าปี่แต่งงานกับซุนฮูหยินน้องสาวของซุนกวนเพื่อเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างเล่าปี่และซุนกวน ซุนฮูหยินยังคงอยู่ในมณฑลเกงจิ๋วเมื่อเล่าปี่จากไปมณฑลเอ๊กจิ๋ว ซุนฮูหยินถือตนว่าเป็นน้องสาวของขุนศึกผู้ทรงอำนาจ จึงแสดงท่าทีหยิ่งยโสและกระทำตามอำเภอใจ และยังปล่อยให้องครักษ์และผู้รับใช้ส่วนตัวประพฤติผิดกฎหมายในมณฑลเกงจิ๋ว ด้วยเหตุนี้เล่าปี่จึงแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษให้เตียวจูล่งที่ตนถือว่าเป็นบุคคลที่จริงจังและมีมโนธรรมให้ดูแลกิจการภายในมณฑลเกงจิ๋ว รวมถึงรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อยระหว่างที่เล่าปี่ไม่อยู่[34] เมื่อซุนกวนได้ยินว่าเล่าปี่จากไปมณฑลเอ๊กจิ๋ว จึงส่งเรือไปรับตัวน้องสาวกลับ ซุนฮูหยินพยายามพาตัวเล่าเสี้ยนบุตรชายของเล่าปี่ไปด้วยกัน แต่เตียวจูล่งและเตียวหุยนำทหารมาขัดขวางและพาเล่าเสี้ยนกลับมาได้[35] ฮั่นจิ้นชุนชิว (漢晉春秋) ที่เขียนโดยสี จั้วฉื่อนักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้น ให้รายละเอียดของเหตุการณ์นี้ที่คล้ายคลึงกันกับที่บันทึกในเจ้ายฺหวินเปี๋ยจฺว้าน[36] ยึดครองเอ๊กจิ๋ว
ยุทธการที่แม่น้ำฮั่นซุย
ยุทธการที่อิเหลง
รับใช้เล่าเสี้ยนหลังเล่าปี่สวรรคตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 223 เล่าเสี้ยนผู้เป็นโอรสขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก โดยมีอัครมหาเสนาบดีจูกัดเหลียงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะเวลานั้นเล่าเสี้ยนยังทรงพระเยาว์[37] หลังเล่าเสี้ยนขึ้นครองราชย์ได้ทรงแต่งตั้งเตียวจูล่งเป็นผู้พิทักษ์ทัพกลาง (中護軍 จงฮู่จฺวิน) และขุนพลโจมตีภาคใต้ (征南將軍 เจิงหนานเจียงจฺวิน) และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหย่งชางถิงโหว (永昌亭侯) ภายหลังพระองค์เลื่อนขั้นเตียวจูล่งเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน)[38] ยุทธการที่กิก๊กในปี ค.ศ. 227 เตียวจูล่งย้ายไปยังพื้นที่ระดมพลที่เมืองฮันต๋งเพื่อเข้าร่วมกับจูกัดเหลียงซึ่งกำลังระดมกำลังทหารจากทั่วจ๊กก๊กเพื่อเตรียมการสำหรับการทัพครั้งใหญ่ต่อวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก[39][40] ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงมอบหมายให้เตียวจูล่งและเตงจี๋นำกองกำลังแยกไปยังหุบเขากิก๊ก (箕谷 จีกู่) แสร้งทำเป็นเข้าตีอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ผ่านหุบเขาเสียดก๊กหรือจำก๊ก (斜谷 เสียกู่) ภารกิจของเตียวจูล่งและเตงจี๋คือเบี่ยงเบนความสนใจของโจจิ๋นขุนพลวุยก๊กระหว่างที่จูกัดเหลียงนำทัพหลักของจ๊กก๊กเข้าโจมตีเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่แถบภูเขาบริเวณบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[41][42] เตียวจูล่งและเตงจี๋พ่ายแพ้ต่อโจจิ๋นในยุทธการที่หุบเขากิก๊กเพราะจูกัดเหลียงให้ทั้งคู่บัญชาการกองกำลังทหารที่อ่อนแอกว่าในขณะที่ตัวจูกัดเหลียงนำกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งกว่าเข้าโจมตีเขากิสาน อย่างไรก็ตาม เตียวจูล่งสามารถรวบรวมทหารให้เป็นแนวป้องกันที่แน่นหนาระหว่างการล่าถอย จึงสามารถลดความสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด[43]
เสียชีวิตและได้รับสมัญญานามเตียวจูล่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 229 ได้รับสมัญญานามว่า "ชุ่นผิงโหว" (順平侯; Shùnpíng hóu) จากเล่าเสี้ยนในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ค.ศ. 261[44][45]
ครอบครัวบุตรชายคนโตของเตียวจูล่งชื่อเตียวหอง (趙統; Zhào Tǒng เจ้า ถ่ง) รับราชการเป็นทหารในหน่วยหู่เปิน (虎賁) แห่งกองทหารราชองครักษ์[46] บุตรชายคนรองของเตียวจูล่งชื่อเตียวกอง (趙廣; Zhào Guǎng เจ้า กว่าง) รับราชการเป็นขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง) เตียวกองเข้าร่วมกับเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กในการทัพกับวุยก๊ก และถูกสังหารในที่รบที่ท่าจง (沓中; อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจฺวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน)[47] คำวิจารณ์
ในนิยายสามก๊กวีรกรรมที่เกิดขึ้นจริงของเตียวจูล่งในหลายเหตุการณ์ได้รับการเสริมแต่งอย่างมากในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ในนวนิยายแสดงบทบาทของเตียวจูล่งในฐานะนักรบที่แทบจะสมบูรณ์แบบ ผู้มีทักษะการต่อสู้ที่ทรงพลัง ภักดีต่อเจ้านายอย่างไม่เปลี่ยนแปลง มีความกล้าหาญอย่างสูง มีสติปัญญาเฉียบแหลม และมีความสุขุมเยือกเย็น ลักษณะเหล่านี้มักได้รับการสะท้อนในสื่อร่วมสมัยเกี่ยวกับเตียวจูล่งเกือบทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ดูเรื่องแต่งบางเรื่องเกี่ยวกับเตียวจูล่งในนวนิยายสามก๊กในรายการต่อไปนี้: ในวัฒนธรรมประชานิยมภาพยนตร์
ละครโทรทัศน์
การ์ตูน
วิดีโอเกม
หมายเหตุ
อ้างอิง
|