ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อังกฤษ: Suvarnabhumi Airport Automated People Mover) หรือ เอพีเอ็ม สุวรรณภูมิ เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติใต้ทางวิ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชื่อมอาคารผู้โดยสารหลักกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566 โดยมีระยะทางรวม 1 กิโลเมตร (0.62 ไมล์) จากอาคารผู้โดยสารหลักถึงอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติในท่าอากาศยานสายแรกในประเทศไทย[1] การดำเนินงานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้บริการ 2 สถานี ได้แก่ สถานีอาคารผู้โดยสารหลัก และสถานีอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ระบบขนส่งผู้โดยสารให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทุก ๆ 3 นาที ใช้เวลาประมาณ 2 นาทีต่อเที่ยว ทุกสถานีมีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาและหน้าจอบอกข้อมูล นอกจากนี้ ในอนาคตเส้นทางระบบขนส่งผู้โดยสารจะต่อขยายไปยังอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 และอาคารผู้โดยสารรองทางทิศใต้ของท่าอากาศยานอีกด้วย[2] ขบวนรถเอพีเอ็ม สุวรรณภูมิมีขบวนรถคือ NeoVal (AirVal version) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าล้อยางแบบไร้คนขับ วิ่งบนทางคอนกรีต คล้ายกับขบวนรถของรถไฟใต้ดินแรน สาย B ขบวนรถมีทั้งหมด 6 ขบวน 1 ขบวนมี 2 ตู้ ผลิตโดยโรงงานฐานการผลิตของซีเมนส์ ที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย มีความกว้างของขบวนรถ 2.80 เมตร (9 ฟุต 2 นิ้ว) โดยแต่ละคันมี 25 ที่นั่ง แต่ละขบวนสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 210 คน และเมื่อคำนวณแล้วระบบสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3,590 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง รองรับความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (50 ไมล์ต่อชั่วโมง)[3] ขบวนรถควบคุมอาณัติสัญญาณด้วยระบบ TrainGuard MT Communicated Based Control System (CBTC)[4] ขบวนรถชุดแรกมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[5] ดูเพิ่มอ้างอิง
|