โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน
โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน (อังกฤษ: Lavalin Skytrain) เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในอดีตของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินงานโดยบริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) จากประเทศแคนาดา ประวัตินับตั้งแต่ความนิยมของรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากในคริสต์ทศวรรษ 1960 ได้ส่งผลให้การจราจรมีความคับคั่งอย่างมาก และนำมาสู่ปัญหาการจราจรติดขัดและได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมันส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษา สำรวจ และวางแผนแม่บทสำหรับการจราจรและขนส่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เสนอแนะให้มีระบบรถขนส่งมวลชนแบบเร็ว (Mass Rapid Transit System) เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางและการจราจรในกรุงเทพมหานคร จึงได้มี “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2515” จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อจัดสร้าง “ทางพิเศษ” ซึ่งประกอบด้วยระบบทางด่วน (Express Way) และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Rapid Transit System)[1] จากผลการศึกษาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสามารถแบ่งออกมาได้ 3 สาย ได้แก่ สายพระราม 4 สายสะพานพุทธ และสายสาธร โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2524 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 แต่เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงทำให้โครงการจึงถูกระงับไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โครงการได้ถูกนำมาทบทวนใหม่อีกครั้ง ได้มีการเปิดให้ยื่นเสนอราคาประมูล โดยมี 3 บริษัทเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกประมูล คือ บริษัทร่วมค้า เอเชีย-ยูโร คอนซอร์เตียม (AEC) , บริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) และบริษัทร่วมค้า ฟรังโก-เจแปน คอนซอร์เตียม จากการประมูลได้ บริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) จากประเทศแคนาดา เป็นผู้ชนะการประมูลเพื่อดำเนินโครงการนี้ และได้ลงนามสัญญาสัมปทานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการก่อสร้าง 55,000 ล้านบาท[2] โครงการได้เริ่มต้นก่อสร้างบริเวณสะพานพระปกเกล้า และมีการเตรียมพื้นที่ที่จะสร้างบริเวณสะพานตากสิน แต่โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินสิ้นสุดลงในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังประสบปัญหาโครงสร้างทางการเงิน ที่กำหนดเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยต้องค้ำประกันเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย (ซอฟท์โลน) จากรัฐบาลแคนาดา และต้นทุนในการก่อสร้างสูงขึ้น เนื่องจากความผิดพลาดในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายระบบสาธารณูปโภค[3][4] แนวเส้นทางสายพระราม 4เริ่มต้นจากสถานีอ่อนนุชไปตามแนวถนนสุขุมวิทจนถึงสถานีพระโขนง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนพระราม 4 ไปยังคลองเตยผ่านท่าเรือคลองเตย ทางด่วนเฉลิมมหานคร แล้วเชื่อมต่อกับสายสาธร (ตลาดพลู–วงเวียนใหญ่–สาทร–ลาดพร้าว) ที่สถานีลุมพินีบริเวณแยกวิทยุ จากนั้นผ่านหัวลำโพงเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนกรุงเกษม เลียบคลองผดุงกรุงเกษม เชื่อมต่อกับสายสะพานพุทธ (ดาวคะนอง–สะพานพุทธ–มักกะสัน–เพชรบุรีตัดใหม่) บริเวณแยกเทวกรรม สะพานเทวกรรมรังรักษ์ จากนั้นลงสู่ระดับใต้ดินก่อนถึงถนนราชดำเนินนอก บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ระยะทาง 600 เมตร ก่อนจะกลับมายกระดับอีกครั้งบริเวณแยกเทเวศร์ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปตามถนนสามเสน ผ่านซังฮี้ แยกเกียกกาย จนถึงแยกบางโพ เลี้ยวขวาไปตามถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านเตาปูน สถานีชุมทางบางซื่อ ตลาดนัดจตุจักร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธิน ไปสิ้นสุดสถานีหมอชิต รวมระยะทางทั้งสิ้น 25 กิโลเมตร มีทั้งหมด 25 สถานี และมีระยะห่างระหว่างสถานีประมาณ 700–900 เมตร สายสาธร[note 1]เริ่มจากสถานีตลาดพลู บริเวณซอยวัดกันตะยาราม จากนั้นไปยังถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเชื่อมกับสายสะพานพุทธใกล้กับแยกเจริญรัถ ไปตามถนนกรุงธนบุรีผ่านถนนเจริญนคร จากนั้นข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอยู่กึ่งกลางระหว่างผิวจราจรของสะพานตากสินทั้งสองฝั่ง ที่เตรียมพื้นที่รองรับโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าไว้ (ปัจจุบันเป็นแนวทางวิ่งของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม) แล้วไปตามแนวถนนสาธรผ่านถนนสุรศักดิ์ เชื่อมกับสายพระราม 4 (อ่อนนุช–พระโขนง–หัวลำโพง–หมอชิต) ที่สถานีลุมพินีบริเวณแยกวิทยุ ผ่านสนามมวยลุมพินี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามแนวทางรถไฟสายแม่น้ำ (ทางรถไฟขนสินค้าจากสถานีมักกะสันไปยังท่าเรือคลองเตย) ขนานไปกับทางด่วนเฉลิมมหานครจนไปเชื่อมกับสายสะพานพุทธอีกครั้งที่สถานีมักกะสัน บริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน ทางรถไฟจะไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก จนไปถึงถนนอโศก-ดินแดง และไปตามถนนรัชดาภิเษก จนสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว รวมระยะทางทั้งสิ้น 20 กิโลเมตร มีทั้งหมด 17 สถานี และมีระยะห่างระหว่างสถานีประมาณ 700–1300 เมตร สายสะพานพุทธเริ่มต้นจากบริเวณดาวคะนอง มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เชื่อมต่อกับสายสาธรที่สถานีตากสิน ผ่านวงเวียนใหญ่ จากนั้นมุ่งขึ้นต่อไปตามถนนประชาธิปก ผ่านวงเวียนเล็ก แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอยู่กึ่งกลางระหว่างผิวจราจรของสะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง ที่เตรียมพื้นที่บริเวณกึ่งกลางระหว่างสะพานรองรับโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าไว้ โดยมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปพร้อมกับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า (ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทยชื่อ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา หรือ สะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ก เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563[5]) จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนจักรวรรดิ์ ผ่านเยาวราช บริเวณแยกวัดตึก เข้าสู่ถนนจักรพรรดิพงษ์จนถึงถนนนครสวรรค์ เลี้ยวขวาไปเชื่อมกับสายพระราม 4 ที่สถานีสะพานขาว บริเวณแยกเทวกรรม สะพานเทวกรรมรังรักษ์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนพิษณุโลก ผ่านจุดตัดทางรถไฟยมราช จากนั้นแนวเส้นทางจะไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก จนไปเชื่อมกับสายสาธรอีกครั้งที่สถานีมักกะสัน แล้วไปต่อตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกจนสิ้นสุดที่สถานีเพชรบุรีตัดใหม่บริเวณวัดใหม่ช่องลม (ห่างจากถนนอโศก-ดินแดง ประมาณ 1.2 กิโลเมตร) รวมระยะทางทั้งสิ้น 16 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี และมีระยะห่างระหว่างสถานีประมาณ 700–1300 เมตร รายชื่อสถานีรถไฟฟ้าลาวาลินในจำนวนทั้งหมด 3 เส้นทาง ประกอบด้วยสถานีรถไฟทั้งหมด 63 สถานี ดังต่อไปนี้ (ตัวเอน หมายถึงโครงการก่อสร้าง) สายพระราม 4
สายสาธร
สายสะพานพุทธ
รูปแบบโครงการรูปแบบโครงการจะเป็นรถไฟฟ้าทางคู่ ตู้รถไฟทั้งหมด 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน โดยรถไฟจะเดินรถเข้าสู่สถานีทุก 15 นาทีต่อขบวน และ 4 นาทีต่อขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน รูปแบบสถานีประกอบด้วยแบบยกระดับ ระดับพื้นดิน และสถานีใต้ดิน โดยราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 35 สตางค์ต่อกิโลเมตร แต่หากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล 30% ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 20 สตางค์ต่อกิโเมตร และหากได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล 40% ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15 สตางค์ต่อกิโลเมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จตามแผนในปี พ.ศ. 2529 คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2533 จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 200,000 คนต่อวัน[6] และมีศูนย์ซ่อมบำรุงที่ห้วยขวาง ปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โครงการระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าลาวาลิน
เชิงอรรถหมายเหตุอ้างอิง
|