Share to:

 

รถไฟฟ้ามหานคร

รถไฟฟ้ามหานคร
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออื่นรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที
เจ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
จำนวนสถานี179 (ทั้งหมด)
107 (เปิดให้บริการ)
72 (โครงการ)
การดำเนินงาน
รูปแบบระบบขนส่งมวลชนเร็วและรถไฟรางเดี่ยว
เส้นทาง6 (ทั้งหมด)
4 (เปิดให้บริการ)
2 (โครงการ)
ขบวนรถสายสีน้ำเงิน
ซีเมนส์ โมดูลาร์เมโทร (EMU-IBL)
จำนวน 57 ตู้  : ขบวนละ 3 ตู้
ซีเมนส์ อินสไปโร (EMU-BLE)
จำนวน 105 ตู้ : ขบวนละ 3 ตู้
สายสีม่วง
เจเทรค ซัสติน่า (S24-EMU)
จำนวน 63 ตู้ : ขบวนละ 3 ตู้
สายสีเหลือง
อัลสตอม อินโนเวีย โมโนเรล 300 (YL-EMU)
จำนวน 120 ตู้ : ขบวนละ 4 ตู้
สายสีชมพู
อัลสตอม อินโนเวีย โมโนเรล 300 (PL-EMU)
จำนวน 168 ตู้ : ขบวนละ 4 ตู้
สายสีส้ม
ซีเมนส์ อินสไปโร (EMU-IOL)
จำนวน 96 ตู้ : ขบวนละ 3 ตู้
ผู้โดยสารต่อวัน287,000[1]
ประวัติ
ปีที่เริ่มพ.ศ. 2540
เปิดเมื่อ3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 (20 ปีก่อน)
ส่วนต่อขยายล่าสุด7 มกราคม พ.ศ. 2567 (0 ปีก่อน) (สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี - สถานีมีนบุรี)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง99.3 km (61.7 mi)
รางกว้างสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีส้ม
1,435 mm (4 ft 8 12 in) สแตนดาร์ดเกจ
สายสีเหลือง สายสีชมพู
Straddle-beam Monorail มาตรฐาน ALWEG

รถไฟฟ้ามหานคร (อังกฤษ: Metropolitan Rapid Transit; MRT) เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกเหนือไปจากระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่น ได้แก่ ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

รถไฟฟ้ามหานครที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบันได้แก่ สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) และสายสีชมพู

สายที่เปิดให้บริการ

เส้นทาง เปิดให้บริการ ต่อขยายล่าสุด สถานีปลายทาง ระยะทาง (กิโลเมตร) จำนวนสถานี ผู้ให้บริการ
สายสีน้ำเงิน
(ระบบขนส่งมวลชนเร็ว)
2547 2563 สถานีท่าพระ
(เขตบางกอกใหญ่)
สถานีหลักสอง
(เขตบางแค)
47 km (29 mi) 38[ก] บีอีเอ็ม
สายสีม่วง
(ระบบขนส่งมวลชนเร็ว)
2559 สถานีคลองบางไผ่
(อ.บางบัวทอง)
สถานีเตาปูน
(เขตบางซื่อ)
23.6 km (14.7 mi) 16 รฟม. / บีอีเอ็ม
สายสีเหลือง
(รถไฟรางเดี่ยว)
2566 สถานีลาดพร้าว
(เขตจตุจักร)
สถานีสำโรง
(อ.เมืองสมุทรปราการ)
28.7 km (17.8 mi) 23 อีบีเอ็ม / บีทีเอสซี
สายสีชมพู
(รถไฟรางเดี่ยว)
2567 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
(อ.เมืองนนทบุรี)
สถานีมีนบุรี
(เขตมีนบุรี)
34.5 km (21.4 mi) 30 เอ็นบีเอ็ม / บีทีเอสซี
รวม 133.8 km (83.1 mi) 107[ก]
หมายเหตุ
  • นับสถานีเชื่อมต่อ (เตาปูน/ท่าพระ) เป็นสถานีเดียว

สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เป็นโครงการรถไฟฟ้าวงแหวนที่มีเส้นทางทั้งบนดิน และใต้ดิน ระยะทางรวมทั้งโครงการอยู่ที่ 55 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นของโครงการที่สถานีพุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งเป็นสถานียกระดับในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จากนั้นเข้าสู่เขตกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี และมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีบางหว้า ก่อนจะมาเจอกับสถานีท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีใหญ่รวมเส้นทางของสายเฉลิมรัชมงคลเข้าด้วยกัน หลังจากผ่านสถานีท่าพระ เส้นทางจะเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดินที่สถานีอิสรภาพ ก่อนจะวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ความลึกกว่า 25 เมตร เพื่อเข้าสู่ฝั่งพระนคร รวมเส้นทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมส่วนต่อขยายเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่สถานีสามยอด และเข้าสู่สถานีหัวลำโพงซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนด้วย เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส อีกครั้งที่สถานีสีลม และสถานีสุขุมวิท ก่อนจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนอีกครั้งที่สถานีเพชรบุรี รวมเส้นทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีลาดพร้าว และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท อีกครั้งที่สถานีพหลโยธิน และสถานีสวนจตุจักร ก่อนเข้าสู่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง หลังออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เส้นทางจะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ายกระดับอีกครั้ง และรวมเส้นทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมส่วนเหนือที่สถานีเตาปูน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรีอีกครั้งที่สถานีบางโพ เลี้ยวเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ไปทางทิศใต้ จากนั้นยกระดับข้ามทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ที่ความสูง 24 เมตร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน และรวมเส้นทางกับสายสีส้มอีกครั้งที่สถานีบางขุนนนท์ ก่อนจะสิ้นสุดเส้นทางของทั้งโครงการที่สถานีท่าพระ จากนั้นรถไฟฟ้าจะตีรถกลับและวิ่งเส้นทางเดิม

จุดประสงค์ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามแผนแม่บทคือเป็นเส้นทางสำหรับใช้เดินทางระยะสั้น เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าอีกระบบหนึ่ง ซึ่งสายเฉลิมรัชมงคลเมื่อเปิดให้บริการทั้งโครงการ จะมีสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ทั้งหมด 15 สถานี ซึ่งถือว่ามากที่สุดในแผนแม่บท โดยปัจจุบันสายเฉลิมรัชมงคล เปิดให้บริการในเส้นทางท่าพระ-บางซื่อ-หลักสอง โดยเป็นเส้นทางยกระดับจากสถานีท่าพระไปจนถึงสถานีเตาปูน จากนั้นเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดินในช่วงบางซื่อ-อิสรภาพ และเปลี่ยนเป็นเส้นทางกลับเป็นยกระดับอีกครั้งที่สถานีท่าพระไปจนถึงสถานีหลักสอง ให้บริการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยในอนาคตโครงการยังมีแผนขยายเส้นทางไปยังสถานีพุทธมณฑลสาย 4 ด้วย

สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มีเส้นทางในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ทิศใต้ของกรุงเทพฯ มีโครงสร้างทั้งบนดิน และใต้ดิน ระยะทางรวมทั้งโครงการอยู่ที่ 43 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นของโครงการจากชานเมืองที่ สถานีคลองบางไผ่ บนถนนกาญจนาภิเษก ในพื้นที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี จากนั้นตีโค้งเข้าถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีไทรม้า-สะพานพระนั่งเกล้า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จากนั้นเข้าสู่เขตกรุงเทพมหานครฝั่งพระนคร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนที่สถานีบางซ่อน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีเตาปูน จากนั้นเส้นทางของส่วนต่อขยายส่วนใต้จะลดระดับเป็นเส้นทางใต้ดินที่สถานีรัฐสภา ใกล้กับรัฐสภาแห่งใหม่ เส้นทางจะเข้าสู่เขตกรุงเก่า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนอีกครั้งที่สถานีสามเสน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มส่วนตะวันตกที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรวมเส้นทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลส่วนใต้อีกครั้งที่สถานีสามยอด ก่อนลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาในแนวขนานกับสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ฝั่งธนบุรีที่สถานีสะพานพุทธ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มที่สถานีวงเวียนใหญ่ จากนั้นเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ายกระดับอีกครั้ง และสิ้นสุดทั้งโครงการที่สถานีครุใน บริเวณใต้สะพานกาญจนาภิเษก

จุดประสงค์ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรมตามแผนแม่บทคือ เป็นเส้นทางสำหรับใช้เชื่อมต่อระหว่าง จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ ให้เข้าสู่เขตใจกลางเมืองในกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันสายฉลองรัชธรรมเปิดให้บริการในเส้นทางคลองบางไผ่-เตาปูน โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง ผ่านการว่าจ้าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ และกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการประมูลเพื่อก่อสร้างส่วนต่อขยายส่วนใต้ภายในปี พ.ศ. 2561

สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง)

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มีแนวเส้นทางในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการระบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยวสายแรกของประเทศไทย ระยะทางรวมอยู่ที่ 28.7 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นของโครงการจากบริเวณย่านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานครที่สถานีลาดพร้าวซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล บนถนนรัชดาภิเษก ในพื้นที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จากนั้นตีโค้งเข้าสู่ถนนลาดพร้าว และวิ่งมาทางทิศตะวันออกจนถึงแยกบางกะปิ จากนั้นเลี้ยวขวาและวิ่งลงมาทางทิศใต้ตามแนวถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มที่สถานีแยกลำสาลี รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ที่สถานีหัวหมาก จากนั้นเข้าสู่เขตจังหวัดสมุทรปราการหลังพ้นแยกศรีลาซาล และเลี้ยวขวาวิ่งไปทางทิศตะวันตกตามแนวถนนเทพารักษ์ เพื่อสิ้นสุดที่สถานีสำโรง อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท

จุดประสงค์ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ตามแผนแม่บทคือ เป็นเส้นทางขนส่งรองสำหรับป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรางหนัก โดยรับผู้โดยสารจากย่านกรุงเทพตะวันออกเพื่อส่งถ่ายผู้โดยสารให้เข้าสู่เขตใจกลางเมืองด้วยระบบรางหนักได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันสายนัคราพิพัฒน์เปิดให้บริการในเส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ให้บริการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถ ในส่วนของส่วนต่อขยายลาดพร้าว-รัชโยธินตามที่ผู้รับสัมปทานเสนอมา ได้ยกเลิกการดำเนินการลงเนื่องจากมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงินที่คัดค้านการเกิดขึ้นของส่วนต่อขยาย

สายสีชมพู

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่มีแนวเส้นทางในทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวมอยู่ที่ 34.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นของโครงการจากบริเวณใจกลางเมืองนนทบุรีที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม บนถนนรัตนาธิเบศร์ ในพื้นที่ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จากนั้นตีโค้งเข้าสู่ถนนติวานนท์ และวิ่งมาทางทิศเหนือจนถึงแยกปากเกร็ด จากนั้นเลี้ยวขวาและวิ่งลงมาทางทิศตะวันออกตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ เข้าสู่เขตกรุงเทพมหานครที่สถานีแจ้งวัฒนะ 14 จากนั้นวิ่งต่อมาจนถึงแยกวงเวียนหลักสี่เข้าสู่ถนนรามอินทรา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยาที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จากนั้นเข้าสู่ถนนสีหบุรานุกิจจนถึงสะพานข้ามคลองสามวาก็จะเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ และข้ามถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) มาสิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า อันเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม

จุดประสงค์ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูตามแผนแม่บทคือ เป็นเส้นทางขนส่งรองสำหรับป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรางหนัก โดยรับผู้โดยสารจากย่านกรุงเทพเหนือเพื่อส่งถ่ายผู้โดยสารให้เข้าสู่เขตใจกลางเมืองด้วยระบบรางหนักได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันสายสีชมพูเปิดให้บริการในเส้นทางแคราย-มีนบุรี ให้บริการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถ ในส่วนของส่วนต่อขยายศรีรัช-เมืองทองธานี อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ใน พ.ศ. 2568

สายที่กำลังก่อสร้าง

เส้นทาง กำหนดเปิดให้บริการ สถานีปลายทาง ระยะทาง (กิโลเมตร) จำนวนสถานี ผู้ให้บริการ
สายสีส้ม
(ระบบขนส่งมวลชนเร็ว)
พ.ศ. 2570 สถานีบางขุนนนท์
(เขตบางกอกน้อย)
สถานีแยกร่มเกล้า
(เขตมีนบุรี)
35.9 km (22.3 mi) 28 บีอีเอ็ม
สายสีม่วง
(ส่วนใต้)
(ระบบขนส่งมวลชนเร็ว)
พ.ศ. 2571 สถานีเตาปูน
(เขตบางซื่อ)
สถานีครุใน
(อ.พระประแดง)
20 km (12 mi) 18 รฟม. / บีอีเอ็ม

สายสีส้ม

เป็นโครงการรถไฟฟ้าช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์ ในแนวเส้นทางทิศตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพมหานครจากเขตมีนบุรี บริเวณแยกถนนสุวินทวงศ์เข้าสู่ใจกลางเมือง ผ่าน บางกะปิ, ห้วยขวาง, ดินแดง, ราชปรารภ, ประตูน้ำ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังโรงพยาบาลศิริราช สิ้นสุดเส้นทางที่บางขุนนนท์ เส้นทางเกือบทั้งหมดเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี และอยู่ระหว่างการประมูลงานโยธา ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม (ส่วนตะวันตก) รวมกับงานระบบรถไฟฟ้า และงานเดินรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุงของทั้งโครงการ (ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี) เริ่มก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2560 เสร็จในปี พ.ศ. 2566 และสามารถเปิดให้บริการส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย- มีนบุรี) ในปี พ.ศ. 2569 และส่วนตะวันตก(ช่วงบางขุนนนท์ -ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ในปี พ.ศ. 2572[2][3][4]

โครงการในอนาคต

เส้นทาง กำหนดเปิดให้บริการ สถานีปลายทาง ระยะทาง (กิโลเมตร) จำนวนสถานี
สายสีน้ำตาล
(รถไฟรางเดี่ยว)
2572 (คาดการณ์)[5] สถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี
(อ.เมืองนนทบุรี)
สถานีลำสาลี
(เขตบางกะปิ)
21 km (13 mi) 20
สายสีน้ำเงิน
(ระบบขนส่งมวลชนเร็ว)
ระงับแผนชั่วคราวรอประเมินจำนวนผู้โดยสาร[6][7] สถานีหลักสอง
(เขตบางแค)
สถานีพุทธมณฑล สาย 4
(อ.กระทุ่มแบน)
8 km (5.0 mi) 5

สายสีน้ำตาล

เป็นโครงการรถไฟฟ้าช่วงแคราย-เกษตร-รามคำแหง ยกระดับบนถนนติวานนท์, งามวงศ์วาน, ประเสริฐมนูกิจ และนวมินทร์ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เป็นระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อระหว่างชานเมืองด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานครกับ จ.นนทบุรี และชานเมืองด้านทิศตะวันออกที่เขตบางกะปิ

ผู้โดยสาร

สถิติผู้โดยสาร

จำนวนผู้โดยสารรายปี (ทุกสาย)[8][9]
ปี ผู้โดยสารทั้งหมด ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน
2554 69,024,000 189,083
2555 80,575,000 220,167
2556 86,427,000 236,833
2557 92,403,000 253,417
2558 95,044,000 260,500
2559 100,106,000 273,583
2560 107,484,000 294,476
2561 113,355,000 310,561
2562 122,559,000 335,778
2563 94,942,000 259,404
2564 53,319,000 146,079
2565 98,577,000 270,073

สถานี

สถานีที่มีการใช้งานมากที่สุด (ทุกสาย)
อันดับ สถานี สาย จำนวนผู้โดยสารทั้งปี (2564)[10][11]
1 สุขุมวิท สายสีน้ำเงิน 9,627,729
2 สวนจตุจักร สายสีน้ำเงิน 6,865,636
3 พระราม 9 6,855,613
4 เพชรบุรี 6,791,555
5 สีลม 5,333,875
6 ห้วยขวาง 4,981,804
7 พหลโยธิน 4,241,269
8 ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สายสีน้ำเงิน 4,103,960
9 หลักสอง สายสีน้ำเงิน 3,989,684
10 ลาดพร้าว 3,779,865
สถานีที่มีการใช้งานน้อยที่สุด (ทุกสาย)
อันดับ สถานี สาย จำนวนผู้โดยสารทั้งปี (2564)[10][11]
1 บางรักใหญ่ สายสีม่วง 256,539
2 สามแยกบางใหญ่ 297,085
3 ไทรม้า 435,570
4 บางพลัด สายสีน้ำเงิน 485,490
5 บางพลู สายสีม่วง 495,914

แผนที่เครือข่ายเส้นทาง

แผนที่


ดูเพิ่ม

สมุดภาพ

อ้างอิง

  1. Metropolitan Rapid Transit; MRT
  2. รฟม.เปิดรับข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก.ค.นี้คาดเซ็นร่วมทุนปลายปี 65
  3. สถานีรถไฟฟ้า “ศิริราช” โมเดลแก้จราจร ออกแบบร่วมเชื่อมสายสีแดง-สีส้มเข้าโรงพยาบาล
  4. รฟม.เลื่อนเปิดซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอฟังคำตัดสินศาล
  5. รฟม.เดินหน้าประมูล 5 โปรเจกต์รถไฟฟ้า ประเดิม 'สายสีน้ำตาล' 4.2 หมื่นล้าน
  6. รถไฟฟ้ามาหาหลักสอง จะเป็นไปได้ไหม ถ้า ...
  7. "เบรกก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย รอประเมินผู้ใช้และความคุ้มทุน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-26. สืบค้นเมื่อ 2021-06-23.
  8. Shareinvestor. "Investor Relations". investor.bemplc.co.th (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2017-05-31.
  9. "จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน (พันเที่ยว)".
  10. 10.0 10.1 "จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) รายสถานี ปี พ.ศ. 2564".
  11. 11.0 11.1 "สถิติจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำงิน) 2564".
Kembali kehalaman sebelumnya