Share to:

 

เล่าจ๋อง

เล่าจ๋อง (หลิว ฉง)
劉琮
ข้าหลวงมณฑลเฉงจิ๋ว (青州刺史)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 208 (208) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจโฉ
ขุนนางที่ปรึกษาผู้เสนอคำค้าน (諫議大夫)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 208 (208) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจโฉ
ที่ปรึกษาทัพ (參同軍事)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 208 (208) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจโฉ
เจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (荊州牧)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 208
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ก่อนหน้าเล่าเปียว
ถัดไปเล่ากี๋ (ในฐานะข้าหลวงมณฑล)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
เสียชีวิตไม่ปรากฏ
คู่สมรสหลานสาวของชัวฮูหยิน
บุพการี
อาชีพขุนนาง
บรรดาศักดิ์โหฺว

เล่าจ๋อง (มีการระบุถึงในช่วง ค.ศ. 207–208) หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลิว ฉง (การออกเสียง; จีนตัวย่อ: 刘琮; จีนตัวเต็ม: 劉琮; พินอิน: Liú Cóng) เป็นขุนนางจีนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เขาเป็นบุตรชายคนเล็กของเล่าเปียว เจ้ามณฑลเกงจิ๋ว

ประวัติ

บ้านเกิดของเล่าจ๋องอยู่ที่อำเภอเกาผิง (高平) เมืองซันหยง (山陽 ชานหยาง; ปัจจุบันคือเมืองโจวเฉิง มณฑลชานตง)[1] เล่าจ๋องเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของเล่าเปียวเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (荊州 จิงโจว ครอบคลุมมณฑลหูเป่ย์และหูหนานในปัจจุบัน) เขาเป็นลูกหลานของหลิวอวี่ เขามีพี่ชายร่วมมารดาคนหนึ่งคือเล่ากี๋ซึ่งเกิดกับภรรยาคนแรกของเล่าเปียวคือต้านซี ซึ่งแม่ของพวกเขาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ตอนแรกเล่าเปียวโปรดปรานเล่ากี๋ลูกชายคนโตของเขาเพราะเล่ากี๋มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับเขา ต่อมาเล่าจ๋องได้แต่งงานกับหลานสาวของภรรยาคนที่ 2 ของเล่าเปียวคือชัวฮูหยิน ด้วยเหตุนี้ ตระกูลชัวจึงสนับสนุนเล่าจ๋อง และพวกเขามักจะพูดไม่ดีเกี่ยวกับเล่ากี๋ต่อหน้าเล่าเปียว เล่ากี๋ไม่ได้รับความโปรดปรานจากพ่อของเขาและปฏิบัติตามคำแนะนำของจูกัดเหลียง ที่จะออกจากซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) เมืองเอกของมณฑลเกงจิ๋ว และเดินทางไปยังกังแฮ (江夏 เจียงเซี่ย) ในทางกลับกัน เล่าเปียวรักเล่าจ๋องอย่างสุดซึ้งและต้องการให้บุตรชายคนเล็กสืบทอดตำแหน่งเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว เป็นผลให้เกิดความแตกแยกระหว่างเล่าจ๋องและเล่ากี๋[2]

ในปี ค.ศ. 208 เล่าเปียวป่วยหนักและเล่ากี๋กลับมาจากกังแฮ เพื่อเยี่ยมพ่อของเขา น้องชายของชัวฮูหยิน คือชัวมอ (蔡瑁 ไช่ เม่า) และหลานชายของเล่าเปียว คือเตียวอุ๋น (張允 จาง ยฺหวิ่น) กังวลว่าเล่าเปียวอาจเปลี่ยนใจหลังพบกับเล่ากี๋ จึงปฏิเสธเล่ากี๋ไม่ให้เข้าพบเล่าเปียว เล่าเปียวถึงแก่อนิจกรรมหลังจากนั้นไม่นาน และเล่าจ๋องกลายเป็นเจ้ามณฑลเกงจิ๋วคนใหม่[3]

ประมาณหนึ่งเดือนต่อมา โจโฉขุนศึกที่ควบคุมราชสำนักฮั่นและจักรพรรดิหุ่นเชิดคือพระเจ้าเหี้ยนเต้ ได้นำกองทัพมุ่งลงใต้เพื่อบุกเกงจิ๋ว ที่ปรึกษาของเล่าจ๋องประกอบด้วยเก๊งอวด ฮันสง และฮูสวน เรียกร้องให้เขายอมจำนนต่อโจโฉ ในตอนแรก เล่าจ๋องต้องการต่อต้าน แต่ในที่สุด ฮูสวนก็เกลี้ยกล่อมเขาให้ยกเลิกแนวคิดนี้ เมื่อกองทัพของโจโฉมาถึงซงหยง เล่าจ๋องก็ยอมจำนนต่อโจโฉ โจโฉแต่งตั้งเล่าจ๋องเป็นข้าหลวงมณฑลเฉงจิ๋ว และมอบบรรดาศักดิ์โหฺวให้ ภายหลังเล่าจ๋องได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเจี้ยนอี้ต้าฟู่ (諫議大夫) และชานถงจวิ้นชื่อ(参同軍事)จากการทูลเสนอของโจโฉ

ใน สามก๊ก

ในนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก เล่าจ๋องเกิดจากภรรยาคนที่สองของเล่าเปียวคือชัวฮูหยิน ชัวฮูหยินเกลียดเล่ากี๋และเธอวางแผนกับชัวมอน้องชายของเธอเพื่อฆ่าเล่ากี๋ เล่ากี๋หลบเลี่ยงอันตรายโดยออกจากซงหยง และเดินทางไปยังกังแฮ เล่าจ๋องสืบทอดตำแหน่งพ่อของเขาในฐานะเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว หลังจากเล่าเปียวเสียชีวิตในปี ค.ศ. 208[4]

เมื่อโจโฉรุกรานเกงจิ๋วในปี ค.ศ. 208 เล่าจ๋องก็ยอมจำนนทันทีและมอบเกงจิ๋วให้โจโฉ อย่างไรก็ตามเล่ากี๋ปกป้องกังแฮและเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่ และซุนกวน เพื่อต่อต้านโจโฉ โจโฉแต่งตั้งเล่าจ๋องเป็นข้าหลวงมณฑลเฉงจิ๋ว และสั่งให้ทหารพาเล่าจ๋องและแม่ของเขาไปที่นั่น โดยที่เล่าจ๋องไม่รู้ตัว โจโฉแอบสั่งให้อิกิ๋มนำคนของเขาไปฆ่าเล่าจ๋อง และชัวฮูหยิน ในขณะที่พวกเขากำลังเดินทางไปเฉงจิ๋ว[5]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. เล่าเปียวบิดาของเล่าจ๋องเป็นชาวอำเภอเกาผิง เมืองซันหยง ตามที่บันทึกในบทชีวประวัติของเล่าเปียวในพงศาวดารฮั่นยุคหลัง (刘表字景升,山阳高平人...) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 74 บรรพ 2
  2. โฮ่วฮั่นชู, เล่ม 74:2423
  3. โฮ่วฮั่นชู, เล่ม 74:2424
  4. Romance of the Three Kingdoms, 40:258–60
  5. Romance of the Three Kingdoms, 41:266

อ้างอิง

  • Chen, Shou (1977) [280s or 290s]. Pei, Songzhi (บ.ก.). 三國志 [Records of the Three Kingdoms]. Taipei: Dingwen Printing.
  • Fan, Ye, บ.ก. (1965) [445]. 後漢書 [Book of the Later Han]. Beijing: Zhonghua Publishing House.
  • Luo, Guanzhong (1998) [1522]. 三國演義 [Romance of the Three Kingdoms]. New Taipei City: Zhiyang Publishing House.
Kembali kehalaman sebelumnya