ประเทศเนปาล
ประเทศเนปาล (เนปาล: नेपाल, ออกเสียง [nepäl]) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (เนปาล: सङ्घीय लोकतान्त्रिक गणतन्त्र नेपाल, สงฺฆีย โลกตานฺตฺริก คณตนฺตฺร เนปาล) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียใต้ มีพื้นที่ 147,181 ตารางกิโลเมตร และประชากรประมาณ 27 ล้านคน ประเทศเนปาลเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 93 ของโลก และมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 41 ของโลก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนทิศเหนือติดสาธารณรัฐประชาชนจีน ทิศใต้ ตะวันออกและตะวันตกติดสาธารณรัฐอินเดีย ประเทศเนปาลแยกจากประเทศบังกลาเทศด้วยฉนวนศิลิกูริ (Siliguri Corridor) แคบ ๆ ในประเทศอินเดีย และแยกจากประเทศภูฏานด้วยรัฐสิกขิมของอินเดีย กรุงกาฐมาณฑุเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของประเทศ ภาคเหนือของประเทศเนปาลซึ่งเป็นแถบภูเขามีแปดจากสิบภูเขาสูงสุดในโลก ซึ่งรวมยอดเขาเอเวอเรสต์ จุดสูงสุดบนโลก ยอดเขากว่า 240 แห่งซึ่งสูงเกิน 6,096 เมตร (20,000 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลอยู่ในประเทศเนปาล ส่วนภาคใต้มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์และชื้น ชาวเนปาลประมาณ 81.3% นับถือศาสนาฮินดู เป็นสัดส่วนสูงสุดในโลก ศาสนาพุทธมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับประเทศเนปาล และมีประชากรนับถือ 9% ตามด้วยศาสนาอิสลาม 4.4% Kiratism 3.1% ศาสนาคริสต์ 1.4% และวิญญาณนิยม 0.4% ประชากรสัดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคภูเขา อาจระบุตัวว่าเป็นทั้งฮินดูและพุทธ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของธรรมชาติกลมเกลียวของทั้งสองความเชื่อในประเทศเนปาลก็เป็นได้ ประเทศเนปาลปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยตลอดประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ราชวงศ์ศาหะปกครองตั้งแต่ปี 2311 เมื่อพระเจ้าปฤถวีนารายัณ ศาหะทรงรวมราชอาณาจักรเล็ก ๆ จำนวนมาก จนปี 2551 สงครามกลางเมืองนานหนึ่งทศวรรษซึ่งเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (ลัทธิเหมา) ตามด้วยการประท้วงใหญ่โดยพรรคการเมืองหลักทุกพรรค นำสู่ความตกลง 12 ข้อ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ซึ่งตามมาสนับสนุนการเลิกราชาธิปไตยและการสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนหลายพรรคการเมืองอย่างท่วมท้น แม้ความท้าทายทางการเมืองยังดำเนินไป แต่กรอบนี้ยังอยู่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลที่ 2 ซึ่งได้รับเลือกตั้งในปี 2556 ในความพยายามเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศเนปาลเป็นประเทศกำลังพัฒนาโดยมีเศรษฐกิจรายได้ต่ำ อยู่ในอันดับที่ 145 จาก 187 ประเทศในดัชนีการพัฒนามนุษย์ในปี 2557 ประเทศเนปาลยังเผชิญกับความหิวและความยากจนระดับสูง แม้ความท้าทายเหล่านี้ ประเทศเนปาลยังคงมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลผูกมัดยกระดับประเทศจากสถานภาพประเทศด้อยพัฒนาภายในปี 2565 ประวัติศาสตร์ยุคโบราณยุคกลางราชอาณาจักรก่อนปีพ.ศ. 2311 หุบเขากาฐมาณฑุแบ่งออกเป็นสามอาณาจักร จนกระทั่งผู้นำเผ่ากุรข่า ปฤฐวี นารายัณ ศาห์ สามารถรวบรวมอาณาจักรในหุบเขาเข้าด้วยกัน และหลังจากนั้นได้ทำสงครามขยายอาณาเขตออกไป จนในปี พ.ศ. 2357 - พ.ศ. 2359 เกิดสงครามอังกฤษ-เนปาล กองทัพกุรข่าพ่ายแพ้ ต้องทำสนธิสัญญาและจำกัดอาณาเขตเนปาลเหลือเท่าปัจจุบัน[5] ในปี พ.ศ. 2391 ชัง พหาทุระ รานา ซึ่งเป็นขุนนางในประเทศ ยึดอำนาจจากราชวงศ์ศาห์ โดยยังคงราชวงศ์ศาห์ไว้เป็นประมุขแต่ในนาม ตระกูลรานาได้รับการสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร เนปาลได้ส่งกองทัพเข้าร่วมกับกองทัพบริเตนในหลายสงคราม ทำให้สหราชอาณาจักรทำสนธิสัญญามิตรภาพกับเนปาลในปี พ.ศ. 2466 ซึ่งในสนธิสัญญานี้ สหราชอาณาจักรได้ยอมรับเอกราชของเนปาลอย่างชัดเจน[6] ในปี พ.ศ. 2494 เกิดการต่อต้านการปกครองของตระกูลรานา นำโดยพรรคเนปาลีคองเกรสและกษัตริย์ตริภุวัน ทำให้โมหัน สัมเสระ ชัง พหาทุระ รานา ผู้นำคนสุดท้ายของตระกูลรานาคืนอำนาจให้แก่กษัตริย์ศาห์ และจัดการเลือกตั้ง หลังจากเนปาลได้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในช่วงสั้น ๆ โดยจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 แต่กษัตริย์มเหนทระได้ยุบสภา ยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2503 และใช้ระบอบปัญจายัตแทน จนมาถึงการปฏิรูปการปกครองในปี พ.ศ. 2533 ทำให้เปลี่ยนจากระบอบปัญจายัต ที่ห้ามมีพรรคการเมือง มาเป็นระบอบรัฐสภาแบบพหุพรรค[7] ในปี พ.ศ. 2539 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (ลัทธิเหมา) ได้เปิดฉากสงครามประชาชน มีเป้าหมายที่จะสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมขึ้นแทนระบอบราชาธิปไตย นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองซึ่งกินเวลายาวนานถึงสิบปี ในปี พ.ศ. 2544 เกิดเหตุสังหารหมู่ในพระราชวัง โดยเจ้าชายทิเปนทระ มกุฎราชกุมารในสมัยนั้น และกษัตริย์ชญาเนนทระได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน ในปี พ.ศ. 2548 กษัตริย์ชญาเนนทระได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล นำมาซึ่งการประท้วงจากประชาชนและพรรคการเมืองในเวลาต่อมา จนต้องคืนอำนาจให้กับรัฐสภา รัฐสภาเนปาลได้จำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ และให้เนปาลเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 รัฐสภาเนปาลได้ผ่านกฎหมายที่จะเปลี่ยนเนปาลเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย โดยมีผลหลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2551[8] ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 รัฐบาลเนปาลประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์ สถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยขึ้น โดยกำหนดให้ชญาเนนทระและอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ต้องออกจากพระราชวังภายใน 15 วัน และกำหนดให้วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ[9] การเมืองการปกครองในปัจจุบัน เนปาลเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีนายราม วะรัณ ยาทวะ เป็นประธานาธิบดีคนแรก จากการลงคะแนนเสียงของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 308 เสียง และนายคีรีชา ปราสาท โกอีราละ อดีตรักษาการณ์ประมุขแห่งรัฐทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป จนมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อันนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมา หรืออดีตกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ซึ่งมีนายประจันดา เป็นนายกรัฐมนตรี [10] แต่หลังจากที่นายประจันดา ต้องการให้อดีตกลุ่มกบฏของเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ จึงมีกระแสกดดันมาจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเนปาล และรวมทั้งประธานาธิบดียาดัฟ นายประจันดาจึงประกาศลาออก และสภาได้เลือกนายมาดัฟ กุมาร เนปาล อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ลัทธิมาร์ก-เลนิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ก่อนครบรอบ 1 ปีของการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐในเนปาล การแบ่งเขตการปกครองประเทศเนปาลแบ่งออกเป็น 7 รัฐ ดังนี้ เศรษฐกิจโครงสร้างพื้นที่เกษตรกรรมมีเพียงร้อยละ 17 พืชที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวเจ้า พื้นที่ 2 ใน 3 ปกคลุมด้วยป่าไม้ มีการตัดไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมไม้อัด โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่แปรสภาพผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศได้มาจากการค้าแรงงานของชาวเนปาลที่อยู่ต่างประเทศ และส่งเงินกลับมาให้กับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเนปาล ธุรกิจการท่องเที่ยวมีจุดสนใจอยู่ที่การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและวัฒนธรรม เช่นการเดินเขา ปีนเขา และล่องแก่ง ตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเนปาล เช่น เขาเอเวอเรสต์, วัดปศุปตินาถ, วัดสวยัมภูนาถ, พระราชวังกาฐมาณฑุ, เมืองโปขรา, ลุมพินีวัน เป็นต้น ประชากรเชื้อชาติ
ศาสนา
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ประเทศเนปาล วิกิท่องเที่ยว มีคำแนะนำการท่องเที่ยวสำหรับ Nepal
|