อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (อังกฤษ: King Rama IX Memorial Park) เป็นสวนสาธารณะระดับย่านบนที่ดินเขตพระราชฐานขนาดใหญ่จำนวน 279 ไร่ บริเวณถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และแยกนางเลิ้ง จุดตัดระหว่างถนนพิษณุโลกและถนนนครสวรรค์ ในพื้นที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งแปรสภาพมาจากอดีตสนามม้านางเลิ้ง ที่ถูกรื้อถอนหลังจากราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นเจ้าของเดิม หมดสัญญาเช่าพื้นที่ที่ทำกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อปี พ.ศ. 2561 อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระราชทานพื้นที่เขตพระราชฐานส่วนพระองค์ดังกล่าวให้จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะที่ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนเข้าศึกษาและใช้ประโยชน์ตามแนวพระราชดำริจากพระราชกรณียกิจของทั้ง 2 พระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องน้ำและป่า อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีจุดหลักคือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งประดิษฐานบริเวณศูนย์กลางของอุทยาน เพื่อให้ประชาชนเข้าถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระองค์ การก่อสร้างอุทยานเริ่มต้นจากส่วนนี้เป็นส่วนแรก โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2565 หลังจากนั้น สำนักพระราชวังได้เปิดอุทยานเป็นการเฉพาะกิจ ทุกวันที่ 13 ตุลาคม (วันนวมินทรมหาราช) และวันที่ 5 ธันวาคม (วันพ่อแห่งชาติ) ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ภายในอุทยาน คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2568 ประวัติภูมิหลังพื้นที่ของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ นั้น เดิมเป็นที่ตั้งของสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อให้บริการการแข่งม้าสำหรับคนไทย และกิจการที่เกี่ยวข้องกับม้า แต่ต่อมามีปัญหาเรื่องการพนันและการกำหนดผลการแข่งขันขึ้น หลังสัญญาเช่าหมดลงเมื่อปี พ.ศ. 2561 และแปรสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐาน มีชื่อเรียกว่า "901 แลนด์" แล้ว[1][ก] พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าการพนันจะส่งผลเสียเป็นวงกว้าง จนสร้างปัญหาตามมาอีกมาก ซึ่งอาจกระทบไปถึงครอบครัวของผู้เล่นเอง[3] และทรงให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน[4] รวมถึงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงพระราชทานพื้นที่นี้ให้เป็นสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนเข้าศึกษาพระราชกรณียกิจ และใช้ประโยชน์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของทั้ง 2 พระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องน้ำและป่า[5] อนึ่ง หลังจากการปิดสนามม้านางเลิ้งไปไม่นาน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ระบุข่าวลือผ่านสื่อสังคมของตนว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะทรงสร้างกลุ่มพระราชวังส่วนพระองค์ขึ้นบนพื้นที่ของสนามม้านางเลิ้งเดิม แต่สิ่งที่สมศักดิ์ระบุไว้มิได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด[6][7] การก่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มออกแบบและพัฒนาแบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561[8] และเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2564 โดยพลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกข้อบังคับว่าด้วยการจำกัดความเร็วและห้ามใช้เสียงบริเวณโดยรอบเขตพระราชฐาน 901 แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม[1] ต่อมาสำนักพระราชวังเผยแพร่วีดิทัศน์เปิดตัวอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ผ่านช่องทางสื่อสังคมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน[8][9][10] และเริ่มต้นการก่อสร้างอย่างเป็นทางการด้วยพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ และปลูกต้นไม้ 55 พันธุ์ จำนวน 109 ต้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564[11] ต่อมาหลังจากเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแล้ว มีกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ดังนี้
คาดว่าอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ จะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะเปิดในปี พ.ศ. 2567 ภาพรวมอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 279 ไร่ เป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของกรุงเทพมหานครชั้นใน รองจากสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ[14] โดยมีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงพระราชทานพระบรมราโชบายในการออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้คณะทำงานฝ่ายออกแบบอุทยานฯ ซึ่งนำโดยวรรณพร พรประภา ให้ดำเนินการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนำองค์ความรู้เรื่องน้ำ และป่า มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวนสาธารณะ นั่นคือ "น้ำคือชีวิต จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที" เพื่อแสดงความผูกพันและความจงรักภักดีจากประชาชนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สะท้อนถึงความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงใช้เป็นแก้มลิงเก็บน้ำในฤดูฝน เป็นสถานที่ศึกษาพระราชกรณียกิจด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชน และทรงอุทิศให้เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดประโยชน์และเสริมสร้างสุขภาพของประชาชน[15] โดยพื้นที่หลักที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบด้วยดังนี้[14]
นอกจากนี้ การออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ยังมีการประยุกต์ใช้แนวคิดของสวนสมัยใหม่ (Modern Park) เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการออกกำลังกาย ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เช่น ทางจักรยาน, ทางวิ่ง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อด้วยกันได้, สนามเด็กเล่น, ลานกิจกรรมสำหรับเล่นสเกตบอร์ด บาสเกตบอล เซปักตะกร้อ รวมถึงการออกกำลังกายสำหรับบุคคลวัยกลางคนและผู้สูงอายุ เช่น โยคะ[18] นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ออกกำลังกายอื่น ๆ รวมถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ พื้นที่ริมน้ำ ท่าเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับทั้งของประชาชนและคนพิการ ที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนได้ในทุกรูปแบบ[5][9] พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นอนุสาวรีย์ที่เป็นหัวใจสำคัญของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่บนลานรูปไข่ บริเวณจุดศูนย์กลางของอุทยาน ซึ่งมีพื้นที่ 2,173 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร[20] โอบล้อมด้วยป่าผสมผสาน มีช่องเปิดเพื่อเป็นร่องลมและเป็นแกนนำสายตาจำนวน 9 แกน[18] ทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบอุทยานสามารถมองเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ได้ทั้งหมด[8] รายละเอียดพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ดำเนินการปั้นต้นแบบพระบรมรูป หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ มีความสูง 7.70 เมตร คิดเป็น 4 เท่าครึ่งของพระองค์จริง[21] ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเต็มยศของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคทาจอมทัพภูมิพล พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบี่และสายยงยศจอมทัพไทย หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับถาวรของพระองค์ขณะทรงพระชนม์[22] ประดิษฐานเหนือแท่นหินอ่อนแกะสลักฐานเป็นรูปบัวทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม มีตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ประดิษฐานด้านหน้าแท่น รองรับด้วยฐานหินอ่อนรูปผังแปดเหลี่ยม[23] ตามคติของพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[5] แสดงความหมายว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระบรมเดชานุภาพ มีผู้แทนประชาชนชาวไทยทั้ง 8 ทิศ ต่างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแผ่นดินด้วยความจงรักภักดี[15] แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์มีความสูงทั้งหมด 9.05 เมตร บริเวณด้านหน้าฐานทั้ง 8 ด้าน ยังประดับแผ่นคำจารึกหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์จำนวน 8 แผ่น เรียงลำดับแบบทวนเข็มนาฬิกา จารึกพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[24] รวมทั้งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น ประกอบด้วย 8 หัวข้อ ได้แก่ พระราชประวัติ, พระราชาผู้ทรงธรรม, กลางใจราษฎร์, ปราชญ์ของแผ่นดิน, พระภูมินทร์บริบาล, นวมินทร์โลกกล่าวขาน, สืบสาน รักษา และต่อยอด และ บรมราชสดุดี[21] รวมถึงมีแท่นหินอ่อนวางพานพุ่มหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ประดับเป็นเครื่องสักการะประกอบทั้ง 4 ทิศ[23] ฐานชั้นที่ 2 มีความสูง 1.50 เมตร เป็นฐานหินอ่อนสี่เหลี่ยมย่อมุม มีขอบกั้นเป็นรั้ว เปิดทางขึ้นลง 2 ด้าน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และฐานชั้นที่ 1 มีความสูง 1.20 เมตร เป็นฐานหินอ่อน รูปทรงวงรี มีขอบกั้นเป็นรั้ว เปิดทางขึ้นลง 2 ด้าน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาภายในอุทยานจากทั้งทางเข้าฝั่งถนนศรีอยุธยาและฝั่งถนนพิษณุโลกได้ขึ้นไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ได้โดยสะดวก พร้อมอ่างน้ำพุหินอ่อนทรงกลมประดับไว้ทั้ง 4 มุม รวมความสูงของพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้งหมด 19.45 เมตร แสดงความหมายว่า 19 คือ 1 + 9 = 10 หมายถึง รัชกาลที่ 10 และ 0.45 คือ 4 + 5 = 9 หมายถึง รัชกาลที่ 9[15] การก่อสร้างและพิธีเปิดวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จในการนี้ด้วย[11] วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่วนพระเศียร ซึ่งจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ[25] วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.33 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประดิษฐานบนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์[26] วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 17.53 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จฯ ด้วย[27] หลังจากนั้น สำนักพระราชวังได้เปิดอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 14-16 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และหลังจากนั้นจึงกลับมาปิดอุทยานเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้สมพระเกียรติ ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งตามกำหนดการเปิดอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างเป็นทางการที่วางไว้เดิมต่อไป[28] ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาและวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะในวันที่ 13 ตุลาคม และ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต (วันนวมินทรมหาราช) และวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ (วันพ่อแห่งชาติ) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามลำดับ และสำนักพระราชวังยังเปิดอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นการเฉพาะกิจ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นประจำในทั้ง 2 วันข้างต้นอีกด้วย พันธุ์ไม้ภายในอุทยานพันธุ์ไม้ที่นำมาเพาะปลูกในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีทั้งหมด 55 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ไม้ทรงปลูก 6 พันธุ์ และพันธุ์ไม้อื่น ๆ อีก 49 พันธุ์ ดังนี้[29] พันธุ์ไม้ทรงปลูกพันธุ์ไม้ทรงปลูกในปัจจุบันมีจำนวน 6 พันธุ์ โดย 5 พันธุ์แรก ทรงปลูกโดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงทอดพระเนตรนิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ[11] และภายหลังทรงปลูกเพิ่มอีก 1 พันธุ์โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ภายหลังทรงประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นประดิษฐานบนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว[24]
พันธุ์ไม้อื่น ๆ
สถานที่ใกล้เคียง
ดูเพิ่ม
หมายเหตุ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|