เกษม จาติกวณิช
เกษม จาติกวณิช อดีตประธานกรรมการบริษัท BTSC (รถไฟฟ้า BTS) ผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจพร้อมกันถึง 4 แห่งคือ ไทยออยล์, บางจากปิโตรเลียม, ปุ๋ยแห่งชาติ และ เอเชียทรัสต์ นอกจากนี้เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับสมญานามจากสื่อมวลชน ว่า "ซูเปอร์เค" หรือ "ด็อกเตอร์เค" ประวัตินายเกษม จาติกวณิช เกิดวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2467 เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนบุตรธิดา 8 คนของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และองคมนตรีในรัชกาลที่ 7 สมรสกับ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช (สกุลเดิม ล่ำซำ บุตรสาวนายโชติ ล่ำซำ และนางน้อม (อึ้งภากรณ์)) มีบุตร-ธิดา 4 คน [1] ประวัติการศึกษาเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม 2 (เท่ากับประถมศึกษาปีที่ 6 ในปัจจุบัน) อายุได้ 12 ปี คุณพ่อได้ส่งไป เรียนต่อที่ โรงเรียนเซ็นต์สตีเฟ่น ฮ่องกง ได้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ นายพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กระทั่งเกิด สงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้การเรียนต้องหยุดชะงักลง เมื่อสงครามสงบจึงได้เดินทางกลับมาศึกษาต่อ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า และสาขาเครื่องกล ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2490 และเดินทางไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า ที่ มหาวิทยาลัยยูท่าห์ สหรัฐอเมริกา การทำงานในยุคแรกเมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาเข้ามารับราชการที่ กรมโรงงาน ซึ่งขณะนั้นมีหน้าที่ก่อสร้างเขื่อน ต่อมาหน้าที่การสร้างเขื่อน ได้โยกย้ายไปขึ้นกับ กรมชลประทาน ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ เกษม จาติกวณิช ย้ายไปทำงานที่กรมชลประทาน งานแรกที่รับผิดชอบ คือ การสร้างเขื่อนยันฮี หรือ เขื่อนภูมิพล โดยต้องทำรายงานเพื่อเสนอขอกู้เงินจาก ธนาคารโลก จำนวนถึง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่นับว่าสูงมากในสมัยนั้น และทำให้นายเกษมมีโอกาส ได้สะสมความรู้ในการบริหารโครงการ และบริหารการเงิน เป็นอย่างมาก หลังเขื่อนภูมิพลก่อสร้างแล้วเสร็จ นายเกษมก็ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการไฟฟ้ายันฮี ต่อมาได้สร้าง โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขึ้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ต่อมาเมื่อ การไฟฟ้ายันฮี กลายสภาพเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกษม จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าการ กฟผ. คนแรก ในระหว่างเป็นผู้ว่าการ กฟผ. นายเกษมได้รับการทาบทามให้ไปดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ แต่นายเกษมได้ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งที่ กฟผ.สำคัญกว่า ต่อมาในรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายเกษมได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[2] และในรัฐบาล เกรียงศักดิ์ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[3] ในฐานะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หลังจากลาออกจาก กฟผ. นายเกษมได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในคราวเดียวกันถึง 4 แห่งคือเป็น กรรมการอำนวยการไทยออยล์, ประธานกรรมการ บางจากปิโตรเลียม, ประธานกรรมการบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ และประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร แบงก์เอเชียทรัสต์ ผลงานโดดเด่นที่สุดของนายเกษมในการบริหาร 4 รัฐวิสาหกิจคือการบริหารไทยออยล์ จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันของภูมิภาคเอเชีย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถกู้เงินก้อนใหญ่เพื่อขยายกิจการ โดยไม่ต้องนำทรัพย์สินของ บริษัทไปค้ำประกัน ด้วยความเชื่อถือบรรดาเจ้าหนี้หลายราย โดยช่วงเวลาที่เกษมเข้าบริหารงานไทยออยล์ตั้งแต่ปี 2528-2540 ได้นำพาไทยออยล์ขึ้นเป็นบริษัทน้ำมันระดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย กระทั่งนิตยสาร Far Eastern Economic Review ตั้งฉายาให้เกษมเป็น "Energy Tzar" (แปลเป็นไทยได้ว่า "จ้าวแห่งพลังงาน") อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2540 พร้อมๆ กับราคาน้ำมันโลกตกต่ำ ทำให้ไทยออยล์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน ที่ทำให้หนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศทวีจำนวนสูงขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อคิดเป็นเงินบาท และเกษมได้ลาออกจาก ไทยออยล์ ในช่วงสิ้นปี 2540 นี้เอง การทำงานในยุคหลังต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ชื่อของ เกษม จาติกวณิช ที่หายไปช่วงหนึ่ง ได้กลับมาสู่กระแสข่าวอีกครั้งเมื่อได้ตอบรับคำเชิญของ นายคีรี กาญจนพาสน์ ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในวัย 67 ปี นายเกษมต้องรับภาระนำพา BTSC ฝ่ามรสุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ กรณีการใช้พื้นที่บริเวณสวนลุมพินีเป็นอู่จอดรถไฟฟ้า ที่ขยายตัวลุกลาม กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่สร้างความล่าช้าให้กับโครงการ และการต้องรับมือกับเหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการในขณะนั้น ทั้ง ร้อยเอกเฉลิม อยู่บำรุง, พล.ต.ท สล้าง บุนนาค, นายบุญชู โรจนเสถียร และ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช (ที่อยากให้สร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน) ระยะเวลาที่ยืดเยื้อเกินกำหนดของโครงการ และระยะทางที่ต้องสร้างเพิ่มขึ้นเกินกว่าแผนเดิม ได้สร้างปัญหาทางการเงินให้กับ BTSC อย่างใหญ่หลวง ซึ่งนายเกษมในฐานะที่เคยเจรจากับ ธนาคารโลก เพื่อขอกู้เงิน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาสร้างเขื่อนภูมิพลในอดีต สามารถทำให้ ธนาคารโลกยอมอนุมัติเงินกู้ให้กับโครงการรถไฟฟ้า BTS อีกทั้งยอมเข้าร่วมลงทุนในโครงการ โดยที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้มีส่วนในการช่วยค้ำประกันใดๆทั้งสิ้น และเป็นปัจจัยให้โครงการรถไฟฟ้าสายแรกของไทยสามารถเปิดให้บริการต่อสาธารณะได้สำเร็จ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร มาจนถึงปัจจุบัน ถึงแก่อนิจกรรมนายเกษมถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเวลา 11.30 น. ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยโรคเบาหวาน โรคติดเชื้อ ประจวบกับความชรา อย่างสงบ โดยได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพวันที่ 18 ตุลาคม เวลา 17.30 น. พร้อมรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 3 วัน และพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 25 ตุลาคม ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส [4] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|