Share to:

 

เสม พริ้งพวงแก้ว

เสม พริ้งพวงแก้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 – 3 มีนาคม พ.ศ. 2523
นายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ก่อนหน้าบุญสม มาร์ติน
ถัดไปทองหยด จิตตวีระ
ดำรงตำแหน่ง
11 มีนาคม พ.ศ. 2524 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2526
นายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ก่อนหน้าทองหยด จิตตวีระ
ถัดไปมารุต บุนนาค
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด31 พฤษภาคม พ.ศ. 2454
กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (100 ปี)
โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร
ศาสนาพุทธ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 — 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2523, พ.ศ. 2524 - 2526[1] และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขหลายสมัย เป็นนายแพทย์ผู้บุกเบิกการแพทย์ชนบท และการแพทย์สมัยใหม่ ผู้ร่วมจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติ

ประวัติ

เสม เกิดที่บ้านแถวถนนรองเมือง ซอย 4 (ปัจจุบันเรียกซอย 1) อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ในขั้นปฐมศึกษาเรียนที่โรงเรียนวัดบรมนิวาส และเข้าเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 8 ในระหว่างเรียน นายเสมได้รับทุนการเรียนประเภทหมั่นเรียนมาโดยตลอด

เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้ว โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ นายเสมได้เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อ ปี พ.ศ. 2478 หลังจบการศึกษาแพทย์ปริญญาแล้ว เสมได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ยังได้ไปร่วมประชุมและดูงานในประเทศต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา บราซิล สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ออสเตรีย นิวซีแลนด์รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเสมยังได้ศึกษาด้านทันตกรรม เพิ่มเติมจากศาสตราจารย์สี สิริสิงห์ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในชนบทได้ด้วย

เสมสมรสกับ แฉล้ม พริ้งพวงแก้ว พยาบาลคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่า 70 ปี มีบุตรชายด้วยกัน 3 คน และบุตรหญิง 2 คน หนึ่งในนั้นคือ ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยาม เจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัทดีไซน์ 103 ที่มีชื่อเสียง โดยแฉล้มถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. 2549

ถึงแก่อนิจกรรม

นายแพทย์เสม ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น.ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่โรงพยาบาลราชวิถี สิริอายุรวม 100 ปี 1 เดือน 8 วัน จากการติดเชื้อในกระแสเลือด มีภาวะช็อก และไตวาย

การทำงาน

หลังจบการศึกษาด้านการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2478 เสมได้ออกไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด โดยไปจัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคอหิวาตกโรคจนโรคสงบลง ในปีต่อมาก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทศบาลนครสวรรค์ เป็นเวลา 2 ปี และได้เริ่มงานศัลยกรรมและงานทันตกรรมเป็นครั้งแรกในชนบท

ชีวิตการทำงานในเชียงราย

ช่วงชีวิตที่สมบุกสมบันและลำบากที่สุดในการทำงานของเขาคือที่ จังหวัดเชียงราย เมื่อย้ายมาประจำที่จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 2480 ก็ต้องมารณรงค์ร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัดคือ พระพนมนครานุรักษ์ และกรมการจังหวัด รวมทั้งธรรมการจังหวัด คือ บ. บุญค้ำ เพื่อนร่วมงานบุกเบิกซึ่งต่อมาเขาได้ช่วยชีวิตไว้ระหว่างสงคราม ร่วมกับพ่อค้าประชาชนร่วมกันบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดจนเป็นผลสำเร็จ แม้จะใช้เวลามากกว่า 10 ปี โรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงรายจึงได้รับการตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคของประชาชนทั้งสิ้น

เชียงราย เมื่อ 70 ปีก่อนนั้นขาดแคลนนายแพทย์มาก บ้านเมืองและโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พร้อม ข้าราชการ โดยเฉพาะคณะกรมการจังหวัดในสมัยนั้นจึงต้องร่วมมือกันทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง พ.ศ. 2484-พ.ศ. 2488 เสมต้องทำงานอย่างหนักเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นนายแพทย์ที่ทุกคนต้องพึ่งพา แม้กระนั้น เขาก็ยังสามารถวางรากฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไว้มากพอสรุปได้ดังนี้

ธนาคารเลือดแห่งแรกและการสาธารณสุขขั้นมูลฐานของเชียงราย

เมื่อ พ.ศ. 2493 เสมได้จัดตั้งธนาคารเลือดขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่จังหวัดเชียงราย ได้จัดทำสถานีอนามัยที่มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วไปทำหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานเป็นครั้งแรกที่กิ่งอำเภอแม่สาย อำเภอเทิง อำเภอเชียงของและอำเภอพะเยา และจัดให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลออกเยี่ยมประชาชนในวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ

กิจกรรมทางการแพทย์ในระหว่างสงคราม

นอกจากการปฏิบัติราชการยามปกติแล้ว ในช่วงสงครามอินโดจีน เสมได้ร่วมปฏิบัติการสงครามเรียกร้องดินแดนคืน พ.ศ. 2483 มีการทดลองใช้น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยชีวิตผู้ขาดน้ำในป่าลึกระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการศึกษาต้นกาสามปีก (Vitex peduncularis) ในการรักษาโรคไข้จับสั่นในทหารและพลเรือน การศึกษาต้นโมกหลวง (Holarrhena pubescens) ในการรักษาโรคบิดมีตัว (amoebic dysentery) ในทหารและพลเรือน การเตรียมควินินไฮโดรคลอไรด์รักษาไข้จับสั่นขึ้นสมอง และการเตรียม morphine ใช้ในโรงพยาบาล

ช่วงกลางแห่งชีวิต-การย้ายเข้ากรุงเทพฯ

เสมเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงรายอย่างหาที่เปรียบได้ยาก ความมุมานะและความคิดริเริ่มต่าง ๆ ทำให้เชียงรายมีความเจริญด้านการแพททย์มากขึ้น จึงนับเป็นข้าราชการที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่ง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ออกคำสั่งย้ายเสมจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง หน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท (ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลราชวิถี) และได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เป็นลำดับ ได้แก่ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัยแพทย์ ได้ติดต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขอผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาศึกษาโรค Thalassemia ในประเทศไทย ได้ร่วมสร้างผลงานจนได้เป็นศาสตราจารย์ไทยที่เป็นผู้ชำนาญการในโรคนี้จนปัจจุบันรู้จักกันทั่วโลก มีการจัดคณะแพทย์และพยาบาลมาช่วยพัฒนาการปฏิบัติการทางด้านศัลยกรรมที่โรงเรียนแพทย์ และร่วมมือกับ ศาสตราจารย์เบน ไอซแมนส์ แต่งตำราศัลยศาสตร์ทั่วไปด้วยเงินทุน M.S.A.

ในปี พ.ศ. 2494 เริ่มจัดตั้งธนาคารเลือดแห่งแรกในพระนครโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การ M.S.A. สหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยมีเลือดให้ผู้ป่วยเป็นชนิดเลือดสดและน้ำเหลืองแห้งทั้งแข็งและเป็นผง ส่งให้โรงพยาบาลทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ได้เปิดการอบรมเจ้าหน้าที่พยาบาลเป็นผู้ชำนาญในการถ่ายเลือด โดยศึกษา 1 ปี ในตำแหน่งชั้นตรี พร้อมกับผลิตตำราเพื่อตั้งและบริหารธนาคารเลือดในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพระนครและชนบท จากนั้นได้จัดตั้งโรงเรียนพยาบาลวิสัญญีทางการให้ยาระงับความรู้สึกทั่วประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปีนี้ ศึกษาเป็นเวลา 1 ปี ได้ตำแหน่งชั้นตรี มีการสร้างตำราวิสัญญีพยาบาลเป็นคู่มือในการศึกษาจนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 44 มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนพันกว่ารายทำงานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ในปัจจุบัน กิจการการสอนการอบรมทางประสบการณ์ได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นในปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา

ต่อมา พ.ศ. 2494พ.ศ. 2503 ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์ กรมการแพทย์ เริ่มต้นที่โรงพยาบาลกลาง โดยอธิบดีกรมการแพทย์ เมื่อ พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย พันโทนิตย์ เวชวิศิษฎ์ (หลวงเวชวิศิษฎ์) ผู้เชิญ มณี สหัสสานนท์ แห่งโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นอาจารย์ผู้ปกครอง กิจการได้เจริญก้าวหน้าเมื่อย้ายโรงเรียนมาอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลหญิง ได้มีการส่งครูพยาบาลไปเรียนต่างประเทศ จากนั้นในปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลออสเตรเลีย โดย Lord Casey ข้าหลวงใหญ่รัฐบาล ออสเตรเลียเชิญไปหารือด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ แล้วจัดรถพยาบาลจำนวน 78 คัน ให้ทุกโรงพยาบาลในประเทศ ใน พ.ศ. 2504

กำเนิดโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลเด็ก

พ.ศ. 2496 – 2500 กรมการแพทย์ ได้เสนอให้เร่งสร้างโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลเด็ก และวิทยาลัยพยาบาลผดุงครรภ์ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข มีโอกาสได้รับบริการทั่วหน้าได้ เนื่องจากโรงพยาบาลหญิงมีเด็กคลอดวันละ 50 – 70 คน เด็กจำนวน 20,000 คน คลอดที่โรงพยาบาลแห่งนี้ทุกปี เด็กคลอดมีทั้งเด็กมีร่างกายปกติและมีร่างกายพิการ ทางราชการจึงเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลเด็กขึ้นในพื้นที่ 20 ไร่ ติดกับโรงพยาบาลหญิง เพื่อศึกษาและให้บริการแก่ประชาชนวัยเด็กที่มีความสำคัญต่อชาติเมื่อ พ.ศ. 2497 ในปี พ.ศ. 2500 ประชากรเด็กเพิ่มปีละ 3.3 ในร้อยคน รัฐบาลเห็นความสำคัญในการให้บริการแก่เด็กไทย โดยนอกจาการสร้างโรงพยาบาลเด็กแล้วก็สร้างสถานอนุเคราะห์เด็กที่บ้านราชวิถีขึ้นด้วย

การฝึกแพทย์ประจำบ้าน

จำนวนแพทย์ที่มีความรู้เรื่องเด็กมีความจำเป็น โรงพยาบาลเด็กด้วยความร่วมมือของ W.H.O. ได้จัดการอบรมแพทย์โรคเด็กขึ้นใน พ.ศ. 2500 เป็นการฝึกแพทย์ประจำบ้าน (Residency Training) ขึ้นในประเทศไทย ใช้เวลาเรียนติดต่อกันอีก 3 ปี เป็นต้นมาจนปัจจุบัน

การจดทะเบียนและเวชเบียน

พ.ศ. 2497 W.H.O. องค์การอนามัยโลกเห็นความสำคัญของระบบการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ จึงส่ง ศาสตราจารย์ ดร. วู๊ดบิวรี (Prof. Woodbury Ph.D.) ผู้เชี่ยวชาญทางการสถิติที่ปฏิบัติงานติดตามผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังการทิ้งระเบิดปรมาณู ที่ทำและติดตามทะเบียนผู้ป่วยที่ถูกแสงและมีชีวิตอยู่จนเป็นผลดีต่อทางราชการ ให้มาเป็นผู้ริเริ่มจัดการเวชเบียนผู้ป่วยขึ้นเป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลเด็ก โดยใช้เครื่อง IBM เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนเป็นแบบอย่างจนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลเด็กได้จัดส่งนายแพทย์ไทยไปเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้ปริญญาเอกทางนี้มาทำงานในประเทศ โดยเริ่มที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

การสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดและการตั้งวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติ

  • ภายใน 4 ปีรัฐบาลสามารถสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ครบทุกจังหวัด
  • พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งสมาคมศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (International College of Surgeons – Thai) ทำให้ศัลยแพทย์ทั่วโลกได้รู้จักการเรียนและปฏิบัติงานทางศัลยกรรมในประเทศดีพอที่จะส่งศัลยแพทย์ไปศึกษาวิชาศัลยกรรมในต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ในสมาคม International Society of Surgery ซึ่งเป็นสมาคมศัลยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ทำให้ศัลยแพทย์ทั่วไปในโลกเข้าใจขีดการปฏิบัติงานและการฝึกอบรมศัลยแพทย์ไทยดียิ่งขึ้น
  • เปิดการประชุมและสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศ เริ่มขึ้นต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

เวชสารการแพทย์และผลงานอื่น ๆ

ปัจฉิมวัย-การเป็นแพทย์เวชปฏิบัติส่วนตัว

การปฏิบัติวิชาชีพแพทย์ทั้งในภูมิภาคและในกรุงเทพฯ ที่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมานานทำให้เสมตัดสินใจออกจากราชการมา เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเป็นเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2506พ.ศ. 2516) โดยมีสำนักงานอยู่ที่ เลขที่ 103 ถนนสุขุมวิท ระหว่างซอย 5 และซอย 7 โดยแบ่งพื้นที่ชั้นบนให้บุตรชายที่เป็นสถาปนิกใช้เป็นสำนักงานออกแบบ ซึ่งต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองในชื่อของ “บริษัทดีไซน์ 103” ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน และในช่วงนี้เอง เขาก็ยังได้ใช้ชีวิตในปัจฉิมวัยทำคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างมากมาย ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษาและการเมือง อาทิ

งานการเมือง

นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดโครงสร้างใหม่ในกระทรวงสาธารณสุขและการกระจายอำนาจโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติด้วยความร่วมมือของ W.H.O. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี[2] และรัฐบาลของพลเอก เปรม[3]

นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานกรรมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการผลักดันให้มีการสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ จำนวน 660 แห่ง สนับสนุนหลักการ “สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543” (Health for all by the year 2000) สนับสนุนหลัก 10 ประการของการสาธารณสุขมูลฐานให้สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543 และมีการจัดทำ จ.ป.ฐ. ความจำเป็นพื้นฐาน 8 ตัว ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมใช้เป็นหลัก

เกียรติยศ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

นายแพทย์เสม ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่

หนังสือที่รำลึก

  • มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและองค์การอนามัยโลก จัดพิมพ์หนังสือ “เกียรติประวัติแพทย์ไทย ฝากไว้ให้ชนรุ่นหลัง ชีวิตและงานของนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว” (สิงหาคม 2537)
  • โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จัดพิมพ์หนังสือเสม พริ้งพวงแก้ว ในโอกาสครบ 60 ปี ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง
  • หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอาคารอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 27 สิงหาคม 2540 นายประกอบ ดำริชอบ นายอำเภออัมพวา กล่าวถึงผลงานของเสมที่สร้างโรงพยาบาลเอกเทศ พ.ศ. 2478

บุคคลดีเด่น

อ้างอิง

  1. รายนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขอดีต-ปัจจุบัน เก็บถาวร 2011-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ทางการกระทรวงสาธาณสุข (สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2554)
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๗ ราย)
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและตั้งรัฐมนตรี (ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน ๒๖ ราย)
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๑, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๗๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๒๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑๐, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๔๐, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า เสม พริ้งพวงแก้ว ถัดไป
บุญสม มาร์ติน (ครั้งแรก)
ทองหยด จิตตวีระ (ครั้งที่ 2)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 (ครั้งแรก)
11 มีนาคม พ.ศ. 2524 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 (ครั้งที่ 2))
ทองหยด จิตตวีระ (ครั้งแรก)
มารุต บุนนาค (ครั้งที่ 2)
Kembali kehalaman sebelumnya