Share to:

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ15 ตุลาคม พ.ศ. 2406
สิ้นพระชนม์1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 (75 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาห่วง ในรัชกาลที่ 4

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (15 ตุลาคม พ.ศ. 2406 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาห่วง ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน 2 พระองค์ คือ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (ต้นราชสกุล "ไชยันต์") และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญกมลสุขสวัสดิ์ ทรงเป็นพระอภิบาลในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย และทรงเป็นเจ้านายที่มีพระชันษายืนพระองค์หนึ่งในพระราชวงศ์จักรี

พระประวัติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 65 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาห่วง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน เบญจศก จ.ศ. 1125 ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2406 โดยได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระนามในการสมโภชเดือน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 ว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า บุษบัณบัวผัน" (สะกดด้วยคำว่า "บุษบัณ")

"สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ขอตั้งนามแก่บุตรีหญิงซึ่งเกิดแต่ห่วงเป็นมารดา ในวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน เบญจศก ปีที่ 33 ในรัชชกาลนี้ว่า พระเจ้าลูกเธอ บุษบัณบัวผัน วรรคบริวารเปนอาทิและอันตอักษร ขอพรคุรพระศรีรัตนตรัย และอำนาจเทวดาจงประสิทธิ์ เจริญชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สารสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคลศุภพิบุลยผลทุกประการ เทอญ

ตั้งนามมา ณ วันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 3 ค่ำ ปีกุน เบญจศก เป็นวันที่ 4566 ในรัชชกาลปัจจุบันนี้แล"

พร้อมกับได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระนามและพระราชทานพระพรเป็นคาถาภาษามคธ (เขียนด้วยตัวอักษรอริยกะ) กำกับพระราชหัตถเลขาฉบับภาษาไทยไว้ ซึ่งแปลความได้ว่า

"ธิดาของเราที่เรารักใคร่ เกิดโดยความสุขแต่มารดาชื่อห่วงนี้ จงมีชื่อว่าบุษบัณ (ปุสฺปณฺณา) และจงมีความสุขไม่มีโรค มั่งคั่งมีทรัพย์ใหญ่ ข้าศึกทั้งหลาย ไม่พึงครอบงำได้ และดำรงอยู่ในยศที่ตั้งแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประชุมสามรัตน ที่ราชธิดานั้นนับถือชอบแล้ว จงรักษาราชธิดานั้นทุกเมื่อ เทอญ"

ความหมายของพระนาม "บุษบันบัวผัน"

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ประทานพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) มีความตอนหนึ่งว่า "พระนาม บุษบันบัวผัน นั้นได้ความชัดว่าเปนดอกบัวแท้ ไม่ใช่ซ้ำคำ เปน ดอกบัวสาย แต่ บัวผัน กับ บัวเผื่อน ผิดกันอย่างไร ท่านมีความรู้พอจะบอกได้หรือไม่" [1] และพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ได้มีจดหมายกราบทูล ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ว่า "ส่วน บัวผัน กับ บัวเผื่อน ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับคำบอกเล่ามาว่า บัวเผื่อน ดอกแดง บัวผัน ดอกเขียวสีฟ้า มีกลิ่นหอมทั้งสองอย่าง ลำต้นและดอกทั้งสองชนิดเหมือนกับบัวสาย (เรียกอีกชื่อว่า บัวขม เพราะเหง้ามีรสขม) แต่เล็กกว่ามาก..." [2]

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จขึ้นเถลิงถวลัยราชสมบัติ ขณะนั้นทรงมีพระชันษาได้ 5 ปี ทรงเปลี่ยนพระฐานะมาเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน" โดยเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 การอบรมศึกษาของเจ้านายฝ่ายในก็ยังคงยึดแบบอย่างธรรมเนียมในรัชกาลที่ 4 ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "ความทรงจำ" เกี่ยวกับการศึกษาของพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 ไว้ว่า

"...ส่วนเจ้านายพระองค์หญิงนั้น ตั้งแต่โสกันต์แล้ว ก็ทรงศึกษาวิชาความรู้ชั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ นับแต่การศึกษาศีลธรรมและฝึกหัดวิชาการเรือน และเริ่มเรียนวิชาเฉพาะประเภทอันชอบพระอัธยาศัยสืบเนื่องไป จนอำนวยการต่าง ๆ ในหน้าที่ของขัตติยนารีได้โดยลำพังพระองค์ ข้อที่พระองค์ชายมีโอกาสเรียนราชการเพราะเข้าเฝ้าในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายพระองค์หญิงก็มีโอกาสศึกษาทางฝ่ายใน ได้ความรู้ทั้งราชประเพณีและระเบียบวินัยในสมาคมของกุลนารี จนสามารถรับหน้าที่ราชการฝ่ายในและฝึกสอนผู้อื่นสืบกันมา ที่ในพระราชวังจึงเป็นแหล่งสำหรับเรียนวิชามรรยาทสำหรับกุลสตรี เปรียบเหมือนวิทยาลัยอันเป็นที่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชอบส่งธิดาเข้าไปฝากให้ศึกษาในสำนักเจ้านายและผู้อื่นที่สามารถฝึกสอน คนทั้งหลายจึงชอบชมผู้หญิงชาววังมาแต่โบราณเพราะการที่ได้ศึกษานั้น..." [1]

เมื่อทรงพระเจริญวัยแล้ว ทรงพระดำเนินชีวิตตามอย่างขัตติยนารี มีตำหนักที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงมีหน้าที่ราชการอย่างใดเป็นพิเศษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงบันทึกถึง "้น้าบุษบัน" ไว้ความตอนหนึ่งว่า

"​วันจันทร์ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 เราตื่นก่อนโมง ไม่ได้เสด็จปทุมวัน ได้ยินว่าทางรถไปลำบาก กินข้าวแล้วเล่นอยู่ที่มุข สมเด็จแม่ประทมตื่น เราขึ้นไปเล่นอยู่ที่สมเด็จแม่ น้าประดิษฐา น้าบุษบันมาเฝ้าสมเด็จแม่ เล่นอยู่กับเรา..." [3]

ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน ในพระราชวังดุสิต

ในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระคลังข้างที่จัดซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จดคลองสามเสน ด้านตะวันออกจดทางรถไฟ เพื่อสร้างพระราชฐานที่ประทับสำหรับทรงสำราญพระราชอิริยาบถ พระราชทานนามว่า "วังสวนดุสิต" แต่แรกได้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราว ต่อมาเมื่อได้เสด็จมาประทับ ณ วังสวนดุสิต เป็นพระราชสำนักประจำ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งและท้องพระโรงสำหรับใช้เป็นที่ประทับและออกว่าราชการ มีการแบ่งพื้นที่ของเขตพระราชฐานออกเป็น "ฝ่ายหน้า" และ "ฝ่ายใน" เหมือนอย่างในพระบรมมหาราชวัง ในส่วนของเขตพระราชฐานชั้นใน มีการสร้างพระตำหนักและตำหนักพระราชทานพระมเหสีเทวี พระราชธิดา เจ้าจอมพระสนม ตลอดจนพระราชวงศ์ฝ่ายในบางพระองค์ ซึ่งในจำนวนนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักบริเวณ "เกาะสน" จำนวน 6 ตำหนัก พระราชทานพระเจ้าน้องนางเธอ 8 พระองค์ โดยตำหนักด้านเหนือ 3 หลัง หลังที่ 1 พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา หลังที่ 2 พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสด์ พระองค์เจ้าแขไขดวง หลังที่ 3 พระองค์เจ้ากาญจนากร ตำหนักด้านใต้ 3 หลัง หลังที่ 1 พระองค์เจ้าอรุณวดี หลังที่ 2 พระองค์เจ้านารีรัตนา พระองค์เจ้า​ประดิษฐาสารี และหลังที่ 3 พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน โดยมีการทำบุญขึ้นตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2451 [4]

การพระกุศล

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน ทรงบำเพ็ญพระกุศลเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะแก่สาธารณะหลายประการ อาทิ

  • พ.ศ. 2466 โปรดให้พิมพ์หนังสือ "ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓ ประกาศปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐" เนื่องในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 60 ปี ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2466[5]

สิ้นพระชนม์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ขณะพระชันษา 75 ปี เวลาบ่าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จไปสรงน้ำพระราชทานพระศพ ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นเจ้าพนักงานแต่งพระศพเชิญลงสู่พระโกศ และเชิญไปประดิษฐาน ณ หอนิเพธพิทยา [6]

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (15 ตุลาคม พ.ศ. 2406 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411)
  • พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. laika (2020-05-07). "๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น". vajirayana.org.
  2. laika (2020-05-07). "๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส". vajirayana.org.
  3. laika (2020-02-15). "พุทธศักราช ๒๔๒๗". vajirayana.org.
  4. laika (2019-08-30). "เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๖๙". vajirayana.org.
  5. admint (2016-11-19). "ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓". vajirayana.org.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482, เล่ม 56, ตอน 0ง, วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482, หน้า ุ684
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า และถวายบังคมพระบรมรูป เนื่องในวันคล้ายกับวันพระบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ตามสุริยตคติ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 16, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442, หน้า 498
  8. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 21, ตอน 32, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447, หน้า 570
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451, หน้า 1153
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 28, ตอน 0 ง, 23 เมษายน พ.ศ. 2454, หน้า 130
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469, หน้า 3114
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2011-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 55, ตอน 0 ง, 16 มกราคม พ.ศ. 2481, หน้า 3421
Kembali kehalaman sebelumnya