พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดี หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบีเอตริศภัทรายุวดี[1] (5 ธันวาคม พ.ศ. 2419 – 30 กันยายน พ.ศ. 2456) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 19 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแสง โดยพระนาม "บีเอตริศภัทรายุวดี" ทรงตั้งตามเจ้าหญิงเบียทริซ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร พระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดีเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแสง (สกุลเดิม กัลยาณมิตร) ธิดาพระยาไชยวิชิต (ช่วง กัลยาณมิตร)[2] พระนาม ภัทรายุวดี มีความหมายว่า หญิงสาวผู้ประเสริฐ[3] มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระชนนี ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศรวงศ์วรราชกุมาร,[2] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภางค์นิพัทธพงศ์[4] และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ[5] ตามลำดับ พระนาม "บีเอตริศภัทรายุวดี" ทรงตั้งตามเจ้าหญิงเบียทริซ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศเจ้าของพระนาม[3][6] พระองค์มีที่ประทับอยู่ภายในพระราชวังดุสิตซึ่งถูกแบ่งอย่างเป็นสัดส่วนแก่พระมเหสี บาทบริจาริกา และพระเจ้าลูกเธอ ที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระองค์เจ้าภัทรายุวดีเรียกว่าสวนหนังสือใหญ่[7] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดีประชวรวัณโรคภายใน แพทย์ได้ถวายการรักษา พระอาการทรงบ้างทรุดบ้าง กระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 11.21 น. ของวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2456 ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง สิริพระชันษา 36 ปี[8] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2457[1] พระกรณียกิจและความสนพระทัยพระองค์มีศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเขียนชมเชยพระองค์เจ้าภัทรายุวดีไว้ว่า "เปนผู้พอพระหฤทัยทรงสดับธรรมเทศนามาก ทรงแล้วจดบันทึกใจความแห่งพระธรรมเทศนานั้นไว้ เพื่อสู่ผู้อื่นอ่าน"[9] และปรากฏพระกรณียกิจเกี่ยวกับพระศาสนาในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พร้อมด้วยพระองค์เจ้าภัทรายุวดีและพระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุได้ประทานเงิน 240 บาทสำหรับการปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดารารามในมณฑลกรุงเก่า[10] ต่อมาช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2450 พระองค์ได้ประทานเงินจำนวน 2,136 บาทสำหรับปฏิสังขรณ์วัดสมุหประดิษฐ์ อำเภอสาวไห้ เมืองสระบุรี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ปู่ของเจ้าจอมมารดาแสงเป็นผู้สร้าง[11] แต่ต่อมาพระองค์มีพระประสงค์จะจัดตั้งโรงเรียนไทยขึ้นในวัดดังกล่าว พระยาพิไชยรณรงค์สงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีจึงจัดศาลาโรงธรรมในวัดดังกล่าวขึ้นเป็นโรงเรียน พระองค์เจ้าภัทรายุวดีประทานนามโรงเรียนนี้ว่า "โรงเรียนประถมสมุหประดิษฐ์" เปิดสอนวันแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมปีเดียวกัน โดยพระองค์เจ้าภัทรายุวดีจะประทานเงินอุดหนุนโรงเรียนไว้ทุกหกเดือน หกเดือนละ 20 บาท[12] พระองค์ทรงพระนิพนธ์หนังสือธรรมะได้แก่ หนังสือพระนิพนธ์และธรรมเทศนา และหนังสือปรารภการฟังธรรม ซึ่งทรงนิพนธ์จากการสดับพระธรรมเทศนา โดยทรงบรรยายประโยชน์ของการฟังธรรมไว้ว่า "การฟังธรรมจะเกิดประโยชน์ได้ ก็จะต้องอาศัยความตรึกตรองพิจารณาในธรรมนั้น ๆ ให้เข้าใจ จนเกิดความเชื่อความจริงใจ ว่า พระธรรมวินัยนี้สามารถจะล่วงทุกข์ได้จริง จึงจะเปนเหตุให้กระตือรือร้นในการปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟังมาแล้วนั้น ๆ"[9] หนังสือธรรมะของพระองค์ถูกตีพิมพ์ในช่วงที่ยังทรงพระชนม์อย่างน้อยสองครั้งโดยไม่เปิดเผยพระนาม แต่หลังการสิ้นพระชนม์จึงมีการระบุพระนามของพระองค์เจ้าภัทรายุวดีในฐานะผู้แต่งในหนังสืออนุสรณ์งานพระศพของพระองค์เอง[9] ด้านการแพทย์ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2452 พระองค์ได้ประทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสามเสน 20 บาท[13] และอีกครั้งเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปีถัดมา เพราะบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันประสูติ[14] วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2454 พระองค์เจ้าภัทรายุวดีและพระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุประทานเงินแจกแก่คนไข้ในโรงพยาบาลคนเสียจริต 20.10 บาท และประทานเงินบำรุงโรงพยาบาลอีก 40 บาท[15] พระเกียรติยศ
พระอิสริยยศ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
สถานที่เนื่องจากพระนาม
พงศาวลี
อ้างอิง
|