สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ [จัน-ทอน-มน-ทน][I] (24 เมษายน พ.ศ. 2398 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 จากอหิวาตกโรค ขณะมีพระชันษาได้เพียง 8 ปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ต่อมาซึ่งเป็นพระเชษฐภาดาได้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ พระประวัติพระชนม์ชีพช่วงต้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 ตรงกับวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2398 มีพระยศแต่แรกประสูติคือ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล เป็นพระราชธิดาลำดับที่สิบหกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่สองในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระองค์มีพระเชษฐาและพระอนุชา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี และสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์[1] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดพระราชพิธีรับพระสุพรรณบัตรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการจัดกระบวนแห่อย่างพระราชพิธีโสกันต์ใหญ่ เมื่อถึงเวลาพระฤกษ์ อาลักษณ์จารึกพระสุพรรณบัตรลงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี" เมื่อวันเสาร์ เดือน 2 ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2405 กระทั่งวันพุธ เดือน 2 ขึ้น 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2405 ได้รับพระสุพรรณบัตรและสรงตามฤกษ์ มีการตั้งกระบวนแห่ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ช่วงบ่ายก็แห่เครื่องชมพูมาสมโภชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จรับพระกรและส่ง[2] กล่าวกันว่าพระบรมชนกนาถทรงเลี้ยงดูด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง เวลาเสด็จไปไหนก็ทรงอุ้มหรือวางไว้บนตัก หากเวลาเสวยน้ำนมก็จะให้พระพี่เลี้ยงบีบจากถันลงถ้วยน้ำชา แล้วทรงป้อนด้วยช้อนทองขนาดเล็ก[3] เมื่อเจริญวัยขึ้นก็ร่วมเสวยพระกระยาหารทุกวันโดยพระบิดาจะให้ประทับบนตักแล้วทรงป้อนกระยาหารให้ เมื่อจะเสด็จประพาสไปที่ใดก็จะมีเจ้าฟ้าจันทรมณฑลติดตามไปด้วยเสมอ[3] ชาววังล้วนรักใคร่สรรเสริญ และเรียกพระองค์ว่า "ฟ้าหญิง"[3] และปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระราชบิดาเรียกพระองค์ว่า "นางหนูลูกรำเพย"[4] สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลเป็นพระราชกุมารีที่เฉลียวฉลาด ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง 3 ชันษาก็ทรงเรียนรู้วรรณคดีไทยอย่างดี[3] เมื่อเริ่มทรงพระอักษรภาษาอังกฤษกับแอนนา ลีโอโนเวนส์ ก็โปรดปรานทรงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและสามารถตรัสได้อย่างคล่องแคล่วในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน[3] เรื่องราวดังกล่าวปรากฏในงานเขียนของลีโอโนเวนส์ที่อ้างว่าพระองค์ทรงตรัสไว้ในห้องเรียน ความว่า "เธอสอนฉันวาดเขียนได้ไหม นั่งในชั้นของเธอนี่ช่างสบายกว่าเรียนภาษาสันสกฤตมากนัก ครูสันสกฤตของฉันไม่เหมือนครูอังกฤษ เขาหักมือฉันเวลาทำผิด ฉันไม่ชอบสันสกฤต ชอบภาษาอังกฤษมากกว่า หนังสือของเธอมีรูปสวย ๆ มากมายเหลือเกิน แหม่มจ๋า วันหนึ่งพาฉันไปเที่ยวเมืองอังกฤษด้วยได้ไหม"[5] ลีโอโนเวนส์จึงกราบทูลว่า พระราชบิดาคงไม่มีพระบรมราชานุญาตเป็นแน่ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลก็ทรงรับสั่งว่า "จะทรงอนุญาตแน่นอน พระองค์ทรงปล่อยให้ฉันทำอะไรตามใจ เธอรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง พระบิดาทรงรักฉันมากที่สุด พระองค์จะทรงอนุญาตเป็นแน่"[5] สิ้นพระชนม์ขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดีมีพระชันษาได้เพียง 8 ปี ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดร้ายแรงขึ้นในกรุงเทพมหานคร[6] วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 อหิวาตกโรคได้ระบาดเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง นางทาสในตึกที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลได้ล้มเจ็บและตายพร้อมกันสามคน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลเองก็ประชวร[6] และสิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 แรม 12 ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช 1225 ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 สร้างความโศกาอาดูรแก่พระบิดายิ่งนัก ลีโอโนเวนส์ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวนี้ไว้ว่าเมื่อเธอไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว "ก็พบพระองค์ยกพระหัตถ์ทั้งสองปิดพระพักตร์กันแสงอยู่ผู้เดียว ทรงตรัสเรียกพระธิดาด้วยถ้อยคำอ่อนโยน"[7] ต่อมาเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลสถิตในพระโกศทอง แห่ไปประดิษฐานบนหอธรรมสังเวชในพระบรมมหาราชวัง[8] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2406 ออกพระเมรุพร้อมกับพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 2[9] ลางแห่งก็ว่ามีพระราชพิธีดังกล่าวระหว่างวันที่ 16-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2407[10] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมพระชนกชนนี โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิพระขนิษฐาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์[11] [วิ-สุด-กะ-สัด] เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427[12] พระอิสริยยศ
พระอนุสรณ์
พงศาวลีเชิงอรรถI. ^ พระนามพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีจะมีพระนามที่สอดคล้องกัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์ → จันทรมณฑล → จาตุรนต์รัศมี → ภาณุรังษีสว่างวงศ์ ดังนั้นพระนาม "จันทรมณฑล" จึงอ่านว่า จัน-ทอน-มน-ทน เพื่อให้สอดคล้องกับจุฬาลงกรณ์ อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|