Share to:

 

การเมืองไทย

การเมืองไทย
ประเภทรัฐรัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ [a]
รัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ชื่อรัฐสภา
ประเภทสองสภา
สถานที่ประชุมสัปปายะสภาสถาน[b]
สภาสูง
ชื่อวุฒิสภา
ประธานมงคล สุระสัจจะ
ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์ตามการสรรหา และเป็นโดยตำแหน่ง 6 คน[c]
สภาล่าง
ชื่อสภาผู้แทนราษฎร
ประธานวันมูหะมัดนอร์ มะทา
ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา
ผู้แต่งตั้งการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดและบัญชีรายชื่อ
ฝ่ายบริหาร
ประมุขแห่งรัฐ
คำเรียกพระมหากษัตริย์
ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้แต่งตั้งการสืบราชสันตติวงศ์
หัวหน้ารัฐบาล
คำเรียกนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบันแพทองธาร ชินวัตร
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์ตามการลงมติเลือกของรัฐสภา[d]
คณะรัฐมนตรี
คำเรียกคณะรัฐมนตรีไทย
ชุดปัจจุบันคณะที่ 64
หัวหน้านายกรัฐมนตรี
รองหัวหน้ารองนายกรัฐมนตรี
ผู้แต่งตั้งพระมหากษัตริย์ตามความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี
สำนักงานใหญ่ทำเนียบรัฐบาล
กระทรวง20
ฝ่ายตุลาการ
ศาลศาลไทย
ศาลฎีกา
ประธานศาลอโนชา ชีวิตโสภณ
ที่ตั้งศาลที่ทำการศาลฎีกา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ศาลปกครองสูงสุด
ประธานศาลศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์
ที่ตั้งศาลศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานศาลศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ที่ตั้งศาลศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวซึ่งมีการปกครองในกรอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประมุขแห่งรัฐ ส่วนนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันคือ แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้ารัฐบาล รัฐบาลไทยเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติอยู่กับรัฐสภาไทย ซึ่งแบ่งเป็นสองสภาได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยมีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประมุขในส่วนของตน

ระบบการเมืองของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระบบหลายพรรคการเมือง ทำให้เกิดรัฐบาลผสมและรัฐบาลฝ่ายข้างน้อยซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เกิดได้บางครั้งในการเมืองระบบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดที่ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้เกิดระบบสองพรรคการเมือง ซึ่งพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์เป็นสองพรรคใหญ่ที่ครองที่นั่งในรัฐสภา อย่างไรก็ดี หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 การเมืองไทยกลับเข้าสู่ระบบหลายพรรคการเมืองอีกครั้ง

พัฒนาการการเมืองไทยเต็มไปด้วยเหตุการณ์รัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยมีรัฐประหารมากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย[1] พระมหากษัตริย์ยังคงมีพระราชอำนาจเหนือการเมืองในทางพฤตินัย และบทบาทดังกล่าวชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[2]: 378 

อีโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ยูนิตจัดประเทศไทยเป็น "กึ่งอำนาจนิยม" ในปี 2561[3]"

พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งปัจจุบันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประมุขแห่งรัฐของไทย ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยทางอำนาจสามฝ่ายของรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ อัครศาสนูปถัมภก และจอมทัพไทย พระมหากษัตริย์ทรงมีคณะองคมนตรีทำหน้าที่ถวายความเห็นในพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์และพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่งตั้งและให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แต่งตั้งและให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง

ในทางกฎหมายพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระราชอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำลายพระราชอำนาจโดยพฤตินัย ธงทอง จันทรางศุ เขียนถึงพระราชอำนาจนี้ว่า "แม้ว่าพระราชอำนาจดังกล่าวจะมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชอำนาจส่วนที่สำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน"[4]: 461  ทั้งยังทรงมีบทบาททางการเมืองไทยโดยเห็นได้จากการแทรกแซงในวิกฤตการณ์การเมือง และบางทีก็แทรกแซงการเมืองโดยตรงด้วย เช่น ในการรับรองคณะรัฐประหาร ซึ่งก็ปรากฏว่าบางทีพระมหากษัตริย์ก็ไม่รับรองคณะรัฐประหารเหมือนกันดังกบฏยังเติร์กในปี 2524

การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การสืบราชสันตติวงศ์มีลักษณะเป็นการโอนจากบิดาสู่บุตรตามหลักบุตรคนหัวปีเฉพาะที่เป็นชาย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฉบับปัจจุบันเปิดให้เสนอพระนามพระราชธิดาขึ้นสืบราชบัลลังก์ได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้

สภานิติบัญญัติ

รัฐสภาไทยเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ เป็นสภาระบบสองสภา อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รัฐสภามีหน้าที่อนุมัติงบประมาณและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เช่นเดียวกับระบบรัฐสภาส่วนใหญ่ อำนาจนิติบัญญัติส่วนใหญ่เป็นสิทธิของสภาล่างคือสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

สภาผู้แทนราษฎร

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎรไทยประกอบด้วยสมาชิก 500 คน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม คือ สมาชิก 350 คนได้รับการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด และ 150 คนมาจากระบบบัญชีรายชื่อโดยใช้ระบบที่นั่งปรับระดับ (leveling seat) ซึ่งยึดตามระบบการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนี สมาชิกมีวาระ 4 ปีหรือจนมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎรสามารถริเริ่มร่างพระราชบัญญัติ มีอำนาจให้สัตยาบันหรือปฏิเสธพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร และให้จัดการเลือกตั้งใหม่

วุฒิสภา

วุฒิสภาเป็นสภาสูง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีสมาชิก 250 คนมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองในรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นผู้แต่งตั้ง 194 คน เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน และมาจากการสรรหาจากกลุ่มอาชีพ 50 คน สมาชิกมีวาระ 5 ปี วุฒิสภาไทยที่วาระสั้นที่สุดได้แก่ วุฒิสภาไทย ชุดที่ 11

วุฒิสภามีอำนาจน้อยกว่าสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ สามารถใช้สิทธิยับยั้งร่างกฎหมายได้ แต่สภาผู้แทนราษฎรสามารถกลับสิทธิยับยั้งดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ได้รับมติเห็นชอบเมื่อครั้งการลงประชามติในปี 2559 ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[5]ในปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ใน วุฒิสภาไทย ชุดที่ 13

ฝ่ายบริหาร

รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลและประมุขฝ่ายบริหารโดย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นายกรัฐมนตรีมาจากการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 (และวุฒิสภาชุดแรกหลังรัฐธรรมนูญปี 2560) โดยใช้คะแนนเสียงข้างมาก ปกติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอ ซึ่งบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับเลือกตั้งและไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

เช่นเดียวกับการปกครองระบบรัฐสภาในประเทศอื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยึดระบบเวสต์มินสเตอร์ของสหราชอาณาจักร) ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา หากรัฐสภาผ่านมติไม่ไว้วางใจ รัฐบาลจะต้องลาออกทั้งคณะหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ สมาชิกรัฐสภาถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยผู้คุมเสียงในสภา (whip) ซึ่งพยายามคอยดูให้แน่ใจว่าสมาชิกออกเสียงตามนโยบายของพรรค หากรัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาแล้ว ย่อมมีโอกาสน้อยที่จะแพ้คะแนนเสียงจนไม่สามารถผ่านกฎหมายได้

นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าจำนวนทั้งสิ้น 20 กระทรวง สมาชิกคณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบร่วมกัน หมายความว่า เห็นชอบกับมติคณะรัฐมนตรีทุกมติ

ฝ่ายตุลาการ

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ณ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2563 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 7,850 แห่ง[6]

พรรคการเมือง

ณ 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีพรรคการเมืองจดทะเบียนในประเทศไทยทั้งหมด 86 พรรค[7]และยังมีสถานะเป็นพรรคการเมือง[8]

ระบบพรรคการเมืองของไทยส่วนใหญ่เป็นระบบหลายพรรค กล่าวคือ มักไม่ค่อยมีพรรคการเมืองพรรคเดียวครองเสียงข้างมากในสภาจนสามารถตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวได้ การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคที่เรียกว่า รัฐบาลผสมหรือรัฐบาลฝ่ายข้างน้อย

ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สร้างระบบการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขตละคน ส่งผลให้พรรคใหญ่ได้เปรียบในการเลือกตั้ง[9][10][11][12][13] ทำให้ระบบการเมืองมีแนวโน้มเปลี่ยนไปเป็นระบบสองพรรค ซึ่งในช่วงพุทธทศวรรษ 2540 พรรคไทยรักไทย (ต่อมาคือ พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย) และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสองพรรคการเมืองใหญ่สุดในสภา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ฉบับปัจจุบันกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้ในปี 2566 ได้พรรคการเมืองจำนวน 18 พรรคได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

พัฒนาการการเมืองไทย

สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา ยังไม่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองนับแต่นั้น ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475 สถาปนาสภาผู้แทนราษฎรโดยโดยกำหนดให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหลังพ้น 10 ปีหรือประชากรเกินกึ่งหนึ่งของประเทศสำเร็จการศึกษาชั้นประถม แต่ก่อนหน้านั้นคณะราษฎรจะเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกไปพลางก่อน[14]: 44–5, 59  ปลายปี 2475 (นับศักราชแบบเก่า) เกิดความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อเสนอการวางแผนเศรษฐกิจ "สมุดปกเหลือง" ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทำให้พระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก สั่งยกเลิกการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและปรับคณะรัฐมนตรี

แต่อีกไม่ถึงสองเดือนต่อมา พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นำคณะทหารยึดอำนาจการปกครอง เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร ในปีเดียวกัน มีการเลือกตั้งโดยอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทย ประเทศไทยเป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง นับว่ามีก่อนประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือบางประเทศ แต่ในขณะนั้นยังมีคำสั่งห้ามพรรคการเมืองอยู่และผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัครอิสระ ผลทำให้ได้สภาฯ ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมกึ่งหนึ่งและนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกกึ่งหนึ่ง[14]: 123  ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องอำนาจของรัฐบาลในการแต่งตั้งสมาชิกสภาฯ และอำนาจของสภาฯ ในการลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์ ทำให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติ[14]: 126  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลสืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ต่อตามกฎมณเฑียรบาล แต่เนื่องจากยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงมีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวม 5 ปี รัฐบาลสามารถปราบปรามกบฏบวรเดชในปี 2476 ผ่านการเลือกตั้งอีกสองครั้ง คือ ในปี 2480 และปี 2481

เนื่องจากพระยาพหลพลพยุหเสนาไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก จอมพล แปลก พิบูลสงคราม จึงสืบตำแหน่งต่อมา ในปี 2483 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อขยายระยะเวลาที่สมาชิกสภาฯ มาจากการแต่งตั้งจาก 10 ปีเป็น 20 ปี[14]: 141  เขาปกครองประเทศแบบเด็ดขาด ในปี 2485 มีการขยายวาระของสภาฯ เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้[14]: 143  จอมพล ป. พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายสงครามเพื่อให้บุคคลที่นิยมฝ่ายสัมพันธมิตรที่ใกล้ชนะสงครามดำรงตำแหน่งแทน หลังสงคราม มีการยุบสภาฯ ที่มีอายุถึงแปดปีแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2489 ในปีเดียวกัน มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2489 หลังสมาชิกสภาฯ เห็นว่าประชาชนได้รับการศึกษามากพอแล้ว[14]: 150, 153  รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีสองสภาและสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีรัฐบาลพลเรือนที่ไม่มั่นคงโดยมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีผู้สนับสนุนปรีดี พนมยงค์หลายคน รัฐประหารในปี 2490 ถอนโคนนักการเมืองสายปรีดี และนับเป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร จอมพล ป. กลับคืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดในเวลานั้นอีกสองคน ได้แก่ เผ่า ศรียานนท์ และสฤษดิ์ ธนะรัชต์

สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยไม่มีการแยกใช้อำนาจ

รัฐประหารในปี 2500 นำโดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำให้จอมพล ป. หมดอำนาจ ในช่วงแรกเขาให้ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากรัฐบาลบริหารประเทศไม่ราบรื่นเพราะกลไกรัฐสภา เขาจึงรัฐประหารอีกในปี 2501 ครั้งนี้เขายกเลิกรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ และปกครองประเทศในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ระบอบการปกครองนี้บ้างมีผู้เรียกว่า "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ"[14]: 176  นอกจากนี้ยังฟื้นฟูพระราชอำนาจและบทบาททางสังคมของพระมหากษัตริย์ สฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 2506 แล้วถนอมได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2511 หลังจากกระบวนการร่างกว่า 9 ปี และกลับมามีรัฐสภาช่วงสั้น ๆ จนมีรัฐประหารในปี 2514 ซึ่งยกเลิกรัฐสภาอีก ความไม่พอใจที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับการพัฒนาทางการเมืองที่ล่าช้าทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลนำกำลังเข้าปราบปรามจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ปี 2516

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้าแทรกแซงในวิกฤตการณ์ ถนอมถูกบีบให้ลาออก สัญญา ธรรมศักดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอีกครั้ง ในช่วงนั้นมีการเปิดเสรีทางการเมืองอย่างมากที่เรียก "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในอินโดจีนที่คอมมิวนิสต์มีอิทธิพลในลาว กัมพูชาและเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านฝ่ายซ้าย การเลือกตั้งในปี 2518 และ ปี 2519 ทำให้ได้รัฐบาลผสมที่ไม่มั่นคง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สลับกันครองอำนาจ ในเดือนตุลาคม 2519 กลุ่มฝ่ายขวากล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ลงเอยด้วยการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519

เปรม ติณสูลานนท์เป็นนากยรัฐมนตรี 8 ปีในระบอบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"

ในวันเดียวกันนั้นยังเกิดรัฐประหารด้วย ผลทำให้ธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งใช้นโยบายขวาจัด เกิดความแตกแยกในประเทศและรัฐบาลเสื่อมความนิยมจนมีรัฐประหารอีกครั้งในปี 2520 เพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่ของเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและผู้ลี้ภัยอินโดจีน เช่นเดียวกับกำลังเวียดนามพยายามโจมตีข้ามชายแดนเข้ามา ทำให้ถูกบีบให้ลาออกก่อนมีรัฐประหาร ในปี 2523 เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2531 ชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี จากความขัดแย้งภายในกองทัพ ทำให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับเขารัฐประหารในปี 2534 นำโดยสุจินดา คราประยูร จากการที่สุจินดาตระบัดสัตย์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ในปี 2535 จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และสุจินดาถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง

กลางปี 2540 เกิด "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ซึ่งโค่นรัฐบาลบรรหารและชวลิต ในปีเดียวกันยังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นปี 2544 ทักษิณ ชินวัตรนำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งภายหลังมีการยุบรวมพรรคการเมืองหลายพรรคเข้ากับพรรคไทยรักไทย และต่อมาพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2548จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ แนวนโยบายประชานิยมของเขาทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมากในชนบท เนื่องจาก รัฐบาลในอดีตที่ผ่านมานั้นการประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งส่วนมาก มักมีนโยบายที่คล้ายกัน หรือถึงจะแตกต่างก็ไม่สู้จะสำคัญนัก มิหนำซ้ำนโยบายต่างๆ ยังเป็นสิ่งที่ครอบจักรวาลอีกด้วย อาทิ จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี จะทำให้เศรษฐกิจมีความมั่นคง จะส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาวชน[15]

แต่อภิชน ข้าราชการและชนชั้นกลางในเมืองคัดค้านเขา การประท้วงนำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 ตามมาด้วยรัฐประหารในปีเดียวกัน นับแต่นั้นการเมืองไทยอยู่ในวิกฤตการเมืองระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านทักษิณ ชินวัตร หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่า สมัคร สุนทรเวชนำพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพันธมิตรของทักษิณชนะการเลือกตั้งอีก ในปี 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม จนเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้มีการรวบรวมเสียงในสภาเพื่อเลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นพลเอกเปรมและพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อำนวยความสะดวกหรือสั่งการโดยตรงให้มีการซื้อตัวกลุ่มเพื่อนเนวิน[16]: 87  ระหว่างอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติประท้วงรัฐบาลโดยขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในปี 2552 และชุมนุมในกรุงเทพมหานครในปี 2553 เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่

อภิสิทธิ์ยุบสภาในปี 2554 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ นำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง สองปีแรกถือว่ารัฐบาลค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่ในปี 2556 หลังรัฐบาลพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการประท้วงโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) สุดท้ายมีรัฐประหารในปี 2557 มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน มีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งดูแลการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามแผนนี้ หลังเลื่อนมาหลายครั้ง สุดท้ายมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยพรรคเพื่อไทยได้ครองเสียงข้างมาก วันที่ 5 มิถุนายน 2562 รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 ที่มาจากการแต่งตั้ง ลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย[17]

ระบอบอำนาจนิยมในระบบรัฐสภา

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ทหารยังคงอำนาจผ่าน วุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 ส่งผลให้เกิด รัฐบาลผสม 19 พรรค และ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 ซึ่งมีจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรคการเมือง จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุดนับตั้งแค่เปลี่ยนระบอบการปกครอง[18]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ฉบับปัจจุบัน ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2566 การเมืองไทยถึงจุดที่ถดถอยกล่าวคือฝ่ายประชาธิปไตยร่วมมือกับฝ่ายเผด็จการในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ที่ถูก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารจับมือกับพรรคของทหารที่กระทำการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โค่นล้มพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566​ และผลักดันให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านโดยก่อนหน้านี้ ทักษิณ ชินวัตร[19] แพทองธาร ชินวัตร[20] ชลน่าน ศรีแก้ว[21]และเศรษฐา ทวีสินได้กล่าวว่าจะไม่นำพรรคของทหารมาร่วมรัฐบาลแต่สุดท้ายก็เอาพรรคพลังประชารัฐซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมรัฐบาล

โดยให้ตำแหน่งบุคคลสำคัญทั้งสองพรรคในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 มากถึงร้อยละ 21 จากคณะรัฐมนตรีทั้งหมดหนึ่งในนั้นคือ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นน้องชายของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

รวมถึงเชิญพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตสมาชิก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเข้าร่วมเป็นฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ให้ความเห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26[22]เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่า วุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 ซึ่งส่วนมากเป็นทหารได้ให้เสียงสนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2567 รัฐบาลตอบแทนการสนับสนุนดังกล่าวโดยให้แม่ทัพภาคที่ 2 เป็น กรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ในขณะที่บุตรชายพลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด[23]ภายใต้คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63

อนึ่งนับตั้งแต่​การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 พรรคที่ได้รับคณะเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับสองได้รับการจัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอดพรรคที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ในปี พ.ศ. 2566 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 54 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 และ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 เป็นคนเดิมมากถึงสามรายได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล สมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ในปี พ.ศ. 2566 เฉพาะ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินเป็นคนเดิมมากถึง 10 ราย[24]แม้มีการปรับคณะรัฐมนตรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 จำนวนรัฐมนตรีที่มาจากรัฐบาลก่อนหน้าก็มีมากถึง 10 ราย ต่อมามีการแต่งตั้ง ศาสตราจารย์ วิษณุ เครืองาม เป็น ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ ส่งผลให้มีการใช้บริการของคนหน้าเดิมมากขึ้นเป็น 11 ราย

ในปีดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้รับตำแหน่ง องคมนตรี นับเป็นคนที่ 6 ที่มีตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ได้เป็นองคมนตรี และนับเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว

แม้ว่ามีการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 แต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งคณะองคมนตรีไทยที่มาจากคณะรัฐประหารมากถึง 7 รายซึ่งเท่ากับมากกว่าหนึ่งในสามของคณะองคมนตรีไทยมาจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ในเดือนกันยายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2567 ได้เกิดเรื่องที่หลายฝ่ายตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย นอกจากนั้น แพทองธาร ชินวัตร ยังให้ตำแหน่งรัฐมนตรี แก่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ พี่ชาย เนวิน ชิดชอบ ต่อมานาย จตุพร พรหมพันธุ์ และนาย สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกาศว่าจะจัดตั้งมวลชนขับไล่รัฐบาล[25] อีกเหตุการณ์ที่ทำให้หลายฝ่ายตกใจคือนาย เนวิน ชิดชอบ มีกำหนดการเข้าพบ ทักษิณ ชินวัตร สาเหตุที่หลายฝ่ายตกใจมากเพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นศัตรูกับพรรคเพื่อไทย จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นศัตรูกับ นาย สนธิ ลิ้มทองกุล และ นาย เนวิน ชิดชอบ ก็เป็นศัตรูกับ ทักษิณ ชินวัตร กันมาตลอดยาวนานกว่าทศวรรษ[26]การเมืองไทยช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 ถูกกล่าวถึงว่าเป็นยุคของสีน้ำเงินกล่าวคือยุคที่พรรคภูมิใจไทยมีอำนาจมากที่สุด ผ่าน วุฒิสภาไทย ชุดที่ 13 อีกทั้งมีอำนาจใน คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 รวมถึงข้าราชการประจำกระทรวงมหาดไทย (ประเทศไทย)[27]

ตระกูลชินวัตร

การเมืองไทยนั้นตระกูลชินวัตร มีบทบาททางการเมืองไทยมากที่สุดกล่าวคือ มีนายกรัฐมนตรีนามสกุลชินวัตรมากถึงสามคน ที่สุดแล้วฝ่ายที่ต่อต้าน ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันเนื่องจากมีพระบรมราชโองการอภัยโทษ[28]โดยลดโทษจำคุกลงเหลือเพียงหนึ่งปีภายหลังที่ ทักษิณ ชินวัตร มาถึง ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองเพียง 10 วันเท่านั้น การเมืองไทยเกิดการชุมนุมหลายครั้งที่อ้างว่าจะกำจัดอิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร ที่แต่สุดแล้ว แม้แต่ลูกพรรคของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังให้เสียงสนับสนุน แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ในทางการเมืองตระกูลชินวัตรปกครองประเทศไทยยาวนานกว่า 9 ปี โดยเป็นที่รับทราบว่า เศรษฐา ทวีสิน และ ภูมิธรรม เวชยชัยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากตระกูลชินวัตร


รัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรมีความจำเป็นในการเมืองไทยหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เพื่อกำหนดกติกาหรือรูปแบบการปกครองประเทศ เนื่องจากเป็นวิวัฒนาการแบบเฉียบพลัน[14]: 7–8  กฎหมายธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามนั้น กำหนดให้ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กำหนดหลักการแยกใช้อำนาจ กำหนดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ในระบอบดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์การที่มีอำนาจสูงสุด[14]: 40–3  รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้กันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐสภาเป็นสภาเดียวและสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละกึ่งหนึ่ง จนในรัฐธรรมนูญปี 2489 กำหนดให้มีสองสภา และสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (แต่สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม)[14]: 194  รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุสั้นเพียงหนึ่งปีก็ถูกยกเลิกไปในรัฐประหารปี 2490 รัฐประหารดังกล่าวส่งผลให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2492 ซึ่งเริ่มมีการบรรจุแนวนโยบายแห่งรัฐด้วย[14]: 197  รัฐธรรมนูญปี 2490 และ 2492 มีการเพิ่มพระราชอำนาจอย่างสำคัญ เช่น พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ ทรงสามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กึ่งหนึ่ง[29]: 47 

หลังรัฐประหารในปี 2501 โดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศปลอดรัฐธรรมนูญและคำสั่งคณะปฏิวัติถือเป็นกฎหมายสูงสุด[14]: 156  มีการประการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2502 ระหว่างรอมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่แท้จริงแล้วใช้บังคับกันประมาณ 10 ปี นับว่านานกว่ารัฐธรรมนูญถาวรหลายฉบับ รัฐธรรมนุญกำหนดให้มีสภาเดียว คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่รัฐสภาไปด้วย โดยสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติทั้งหมด[14]: 161, 171  สฤษดิ์ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญสั่งประหารชีวิตคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม[14]: 174  แม้แต่ถนอม กิตติขจรก็ใช้อำนาจดังกล่าวยึดทรัพย์สฤษดิ์ตกเป็นของแผ่นดินด้วย[14]: 177  รัฐธรรมนูญปี 2511 กำหนดให้มีสองสภา โดยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีสมาชิกถึงสามในสี่ของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจเปิดอภิปรายทั่วไปและเสนอร่างพระราชบัญญัติได้เฉกเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[14]: 203–4  แต่ใช้ได้ไม่นานก็ถูกยกเลิกไปในรัฐประหารปี 2514 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2515 แทน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2515 และ 2519 มีมาตราที่ให้อำนาจเต็มที่แก่นายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2502[14]: 180–2 

รัฐธรรมนูญปี 2517 ได้ชื่อว่าทำให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง[14]: 205  โดยมาจากการร่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการเลือกตั้ง มีการบัญญัติสิทธิใหม่ เช่น สิทธิไม่ให้ถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เสรีภาพในการพูดและโฆษณา[14]: 207–8  ทั้งมีการอุปถัมภ์พรรคการเมืองโดยให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกภาพผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง[14]: 211  มีการกำหนดผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก[14]: 212  รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มีบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและมีจำนวนสามในเจ็ดของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการสืบทอดอายุของรัฐบาลทหาร[14]: 214–5  อีกทั้งอำนาจของ ส.ว. ก็มีเท่ากับ ส.ส. และรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งหรือเป็น ส.ส.[14]: 217  สำหรับพรรคการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์ให้มีพรรคการเมืองน้อยพรรค จึงมีข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งกีดกันพรรคการเมืองขนาดเล็ก[14]: 219–223 

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (พ.ศ. 2535) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ[30] เช่นเดียวกับความเป็นประชาธิปไตยในตัวกฎหมาย นอกจากนี้ยังบัญญัติให้สมาชิกทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีการรับรองสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตามกฎหมาย และมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นและพรรคการเมืองใหญ่สามารถคว้าที่นั่งในการเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมากอีกทั้งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีจำนวนมาตรามากที่สุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หลังลงประชามติ มีเนื้อหาเน้นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านองคกรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง

ภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2556-2557 เกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ภายใต้การควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองหลายครั้ง บทเฉพาะกาลเป็นเงื่อนไขกำหนดให้คณะทหารได้เปรียบทางการเมืองและมีความชอบธรรมในการปกครองโดยมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรรองรับ[14]: 214 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นโยบายการต่างประเทศของไทยรวมไปถึงการสนับสนุนอาเซียน เน้นเสถียรภาพในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพอันยาวนานกับสหรัฐ

ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทเต็มในองค์กรทั้งระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจทุกปี ความร่วมมือในภูมิภาคกำลังดำเนินการทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมืองและวัฒนธรรม ประเทศไทยยังได้ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก[31], บุรุนดี[32] และปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน[33] อีกด้วย

การเข้าร่วมองค์การการเมืองระหว่างประเทศ

ADB, APEC, ARF, ASEAN, BIMSTEC, BIS, CD, CICA, CP, EAS, FAO, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), MIGA, NAM, OAS (observer), OIC (observer), OIF (observer), OPCW, OSCE (partner), PCA, PIF (partner), UN, UNAMID, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNMOGIP, UNOCI, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO

ปัญหาการเมืองปัจจุบัน

บทบาทของกองทัพ

ใน พ.ศ. 2567 เกิดกระแสเรียกร้องรัฐประหารในประเทศไทยอีกครั้ง[34] เนื่องจาก ทักษิณ ชินวัตร ถูกอัยการสูงสุดฟ้องร้องว่ากระทำการผิดกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย รวมทั้งรัฐบาลมีโครงการกู้มาแจก และนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทนายถุงขนมสองล้าน[35] เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้านผู้นำเหล่าทัพเลือกที่จะเงียบมากกว่าปฏิเสธว่าจะไม่มีการรัฐประหาร ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลงต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี[36]

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" กฎหมายไทยสมัยใหม่บรรจุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2453), มีการเพิ่มให้การ "ดูหมิ่น" เป็นความผิด และเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และมีการเพิ่มโทษครั้งล่าสุดในปี 2519 ในประมวลกฎหมายไม่มีนิยามว่าพฤติการณ์แบบใดเข้าข่าย "หมิ่นประมาท" หรือ "ดูหมิ่น" มีการตีความอย่างกว้างขวางซึ่งสะท้อนสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ เฉกเช่นพระมหากษัตริย์ในสมัยศักดินาหรือสมบูรณาญาสิทธิราช ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังตีความว่า กฎหมายห้ามครอบคลุมถึงการวิจารณ์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์[37] มีข้อโต้แย้งว่า ความผิดต่อองคมนตรีเข้าข่ายความผิดนี้หรือไม่ อนึ่ง ในปี 2556 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ด้วย[38]

มีการตีความ "ดูหมิ่น" กว้างขวางมากขึ้นนับแต่พุทธทศวรรษ 2520 คณะรัฐประหารมักอ้างกรณีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์เพื่อรัฐประหาร หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีการพิจารณาความผิดดังกล่าวมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังรัฐประหารปี 2557 มีการเปลี่ยนให้ศาลทหารพิจารณาคดีดังกล่าว และในปี 2558 ลงโทษจำคุกจำเลยคนหนึ่ง 60 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเพราะยอมรับสารภาพ นับเป็นโทษสูงสุดที่เคยมีมา อีกทั้งมีการพิจารณาคดีลับด้วย กฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "โหดร้ายป่าเถื่อน"[39] บ่อนทำลายกฎหมายไทย ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์[37] บางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์พระองค์ได้และไม่เคยตรัสให้เอาผู้วิจารณ์เข้าคุก[14]

ในปี พ.ศ. 2567 การเสนอแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ส่งผลให้พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญระบุในคำวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้

สถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกำลังดำเนินอยู่ในสามจังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม อย่างไรก็ดี บางครั้งมีการลุกลามมาถึงบางอำเภอของจังหวัดสงขลา เหตุการณ์บานปลายหลังปี พ.ศ. 2544 โดยมีการกลับกำเริบในปี 2547 ระหว่างปี 2547–2554 มีผู้เสียชีวิต 4,500 คนและได้รับบาดเจ็บ 9,000 คน ลักษณะการก่อเหตุมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้แค้นมากขึ้น และเป็นการโจมตีไม่เลือกลดลง[40] กลุ่มก่อความไม่สงบในระยะแรกมีเป้าหมายเพื่อแยกตัวออกเป็นอิสระ เช่น BNPP และ PULO ผู้นำท้องถิ่นเรียกร้องอัตตาณัติระดับหนึ่งแก่ภูมิภาคปัตตานีอย่างต่อเนื่อง และขบวนการผู้ก่อการกำเริบแยกตัวออกบางส่วนเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพ อย่างไรก็ดี หลังความรุนแรงรอบใหม่ในปี 2544 แม้ยังไม่ทราบกลุ่มก่อความไม่สงบแน่ชัด แต่มีการชี้ว่า GMIP, BRN-C และ RKK (กลุ่มติดอาวุธของ BRN) เป็นผู้นำการก่อเหตุ ซึ่งบางรายงานระบุว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ แต่ต้องการทำให้ภูมิภาคปัตตานีปกครองไม่ได้[41]

ภูมิภาคสามจังหวัดภาคใต้ดังกล่าวนั้นเดิมเป็นรัฐสุลต่านปตานีซึ่งปกครองตนเองมาก่อน จนเมื่อมีการกลืนวัฒนธรรมทำให้เกิดความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่ปี 2491[42] เป็นการก่อกำเริบการแยกออกทางเชื้อชาติและศาสนาในภูมิภาคมลายูปัตตานี[43] มีความรุนแรงเพื่อแบ่งแยกดินแดนระดับต่ำในภูมิภาคดังกล่าวแล้วหลายทศวรรษ

เชิงอรรถ

  1. ในรัฐธรรมนูญเรียก "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
  2. เลิกใช้ประชาธิปไตย 5 สิงหาคม 2562 แม้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ
  3. เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 194 คน และมาจากการสรรหาใน 10 กลุ่มอาชีพ จำนวน 50 คน
  4. บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Fisher, Max (December 3, 2013). "Thailand has had more coups than any other country. This is why". Washington Post. สืบค้นเมื่อ August 28, 2018.
  2. Veerayooth Kanchoochat & Kevin Hewison. (2016). Introduction: Understanding Thailand’s Politics, Journal of Contemporary Asia, 46:3, 371-387, DOI: 10.1080/00472336.2016.1173305
  3. The Economist Intelligence Unit (8 January 2019). "Democracy Index 2018: Me Too?". The Economist Intelligence Unit. สืบค้นเมื่อ 13 January 2019.
  4. ชิตบัณฑิตย์, ชนิดา. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (1 ed.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 9789748278575.
  5. ชำแหละ 250 สว. – จับตาหนุนสืบอำนาจ
  6. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. กระทรวงมหาดไทย. "สรุปข้อมูล อปท ทั่วประเทศ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dla.go.th/work/abt/index.jsp 2556. สืบค้น 8 กันยายน พ.ศ. 2563.
  7. [1]
  8. ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่
  9. "บทความ ดร.ปริญญา : การนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้ในประเทศไทย." Prachatai. N.p., n.d. Web. 07 Jan. 2015.
  10. "“ทักษิณ” สั่ง “2 เจ๊” คุมปฏิบัติการทวงคืนอำนาจ ชน คมช.แบบมีชั้นเชิง-ชี้ ทรท.ต้องชนะเลือกตั้ง." Manager Online. N.p., n.d. Web. 07 Jan. 2015.[ลิงก์เสีย]
  11. "สัมภาษณ์พิเศษ “สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” - เลือกตั้งแบบเยอรมนีดียังไง? หากใช้จริง ใครได้ ใครเสีย?" Matichon. N.p., n.d. Web. 7 Jan. 2015.[ลิงก์เสีย]
  12. "นครินทร์เตรียมเสนอสูตรเลือกตั้งแบบเยอรมัน." Posttoday. N.p., n.d. Web. 07 Jan. 2015.[ลิงก์เสีย]
  13. "11 ตุลาคม พ.ศ. 2540." ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า. สถาบันพระปกเกล้า, n.d. Web. 7 Jan. 2015.
  14. 14.00 14.01 14.02 14.03 14.04 14.05 14.06 14.07 14.08 14.09 14.10 14.11 14.12 14.13 14.14 14.15 14.16 14.17 14.18 14.19 14.20 14.21 14.22 14.23 14.24 14.25 เศรษฐบุตร, นรนิติ (2550). รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 352. ISBN 9789745719996.
  15. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 161-162.
  16. Federico Ferrara (2010). Thailand Unhinged: Unraveling the Myth of a Thai-Style Democracy. Singapore: Equinox Publishing.
  17. "House, Senate elect Prayut Thailand's new prime minister". Bangkok Post. 6 June 2019. สืบค้นเมื่อ 20 June 2019.
  18. ประกาศแล้ว ยุบสภา ปิดฉากรัฐบาลผสม 19 พรรค ‘เยอะสุดใน ปวศ.’
  19. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/190077 "ทักษิณ" สงสัยให้ไปรวมกับพรรคที่ปฏิวัติ ใครคิด ใครจะทำแบบนั้น]
  20. “แพทองธาร” ประกาศลั่นเมืองปทุม ปิดสวิตช์ ส.ว..ศ. และ 3 ป.
  21. ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตาม “สัจจะ” แต่ไม่ทิ้งตำแหน่ง สส.-ว่าที่ รมว.สาธารณสุข
  22. "เสรีพิศุทธ์" เปิดใจ "เสียสละ" ลาออก สส.หลีกทางเบอร์ 2
  23. พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทสส.
  24. จากรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ถึงรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เปิดโฉม หน้าเก่าใน ครม.ใหม่
  25. ‘พายัพ’ มั่นใจ ‘สนธิ-จตุพร’ จุดไม่ติด แนะ อย่าดันทุรัง ก่อม็อบไล่รัฐบาล
  26. พท. ชี้ เนวิน พบ ทักษิณ เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เย้ย ไพบูลย์ ฝันได้ แต่อย่าทำประเทศเสียโอกาส
  27. มท. เด็ก ‘เน’ เข้าวิน สายบ้านใหญ่บุรีรัมย์ตบเท้าผงาดคุมกรมใหญ่
  28. พระบรมราชโองการที่ ๑/๒๕๖๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 40 ข หน้า 1 วันที่ 1 กันยายน 2566
  29. ใจจริง, ณัฐพล (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188.
  30. Kittipong Kittayarak, The Thai Constitution of 1997 and its Implication on Criminal Justice Reform เก็บถาวร 2007-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  31. ส่องโลก. ปฏิบัติการเปี่ยมมนุษยธรรมในอิรัก[ลิงก์เสีย]. อ้างจาก วารสารกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนเมษายน 2547. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  32. ทีมข่าวความมั่นคง คม ชัด ลึก. ผ่าภารกิจ"กองทัพไทย"ในดาร์ฟูร์!"รักษาสันติภาพก็เหมือนได้ซ้อมรบ". สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  33. กองบัญชาการกองทัพไทย. บทความประชาสัมพันธ์ กองกำลังกองทัพไทยในภารกิจรักษาสันติภาพผสมสหประชาชาติ-สหภาพแอฟริกาในดาร์ฟูร์[ลิงก์เสีย]. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  34. กระแสรัฐประหาร 2567
  35. เปิดที่มาฉายา 'ทนายถุงขนม' ของ 'พิชิต ชื่นบาน'
  36. ดัชนีต่ำสุดในรอบเกือบ4ปี
  37. 37.0 37.1 ส.ศิวรักษ์ ชี้ รปห.-112 ล้วนกระทบสถาบันกษัตริย์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
  38. "คำพิพากษาคดีหมิ่นฯ อดีตกษัตริย์ ผิด ม. 112". Prachatai. 2013-11-14. สืบค้นเมื่อ 2013-11-15.
  39. Amy Sawaitta Lefevre (2013-03-21). "Thai TV Show Draws Army Wrath for Lese-Majeste Debate". Reuters. สืบค้นเมื่อ 2013-03-27.
  40. Abuza, p. 1
  41. Zachary Abuza, The Ongoing Insurgency in Southern Thailand, INSS, p. 20
  42. "Thailand/Malay Muslims (1948-present)". University of Central Arkansas. สืบค้นเมื่อ 30 August 2015.
  43. International Herald Tribune, "Police say bomb at soccer match in southern Thailand wounds 14 officers", 14 June 2007

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya