เจริญ เชาวน์ประยูร
เจริญ เชาวน์ประยูร (25 กันยายน พ.ศ. 2477 – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2567) เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 6 สมัย และอดีตรองหัวหน้าพรรคเอกภาพ ประวัติเจริญ เชาวน์ประยูร เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2477 เป็นบุตรของร้อยตำรวจโท จันทร์ กับนางบุญศรี เชาวน์ประยูร อาศัยอยู่บ้านย่านวัดพญาเม็งราย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลอำเภอขุนยวม ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนแม่สะเรียง "บริพัตรศึกษา" จังหวัดแม่ฮ่องสอนเนื่องจากขณะนั้นบิดารับราชการตำรวจที่อำเภอแม่สะเรียง ต่อมาเมื่อบิดาเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2489 จึงย้ายกลับมาเรียนต่อ ระดับเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ต่อมาได้ศึกษาวิชาครูด้วยตนเองด้วยการสมัครสอบจนได้รับประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2502 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะรัฐศาสตร์ (การเมืองการปกครอง) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้นายเจริญ เชาวน์ประยูร ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชนและทางการเกษตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัย Gregorio Araneta University Foundation ประเทศฟิลิปปินส์ โดยความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาวัฒนธรรมและการกีฬาของประเทศฟิลิปปินส์ เจริญ เชาวน์ประยูร สมรสกับอำไพ เชาวน์ประยูร มีบุตร-ธิดารวม 4 คน เจริญ เชาวน์ประยูร ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2567 สิริอายุ 89 ปี[1] การทำงานนายเจริญ ได้เริ่มทำงานเป็นครูที่โรงเรียนบูรณศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2498 จนได้รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ เมื่ออายุ 27 ปี เข้าสู่งานการเมืองระดับท้องถิ่น โดยการสมัครได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสุขาภิบาลช้างเผือก เป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เขตเลือกตั้งอำเภอแม่ริม 3 สมัย และได้รับตำแหน่งประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่ (2521 - 2522) เคยทำงานร่วมกับนายเลิศ ชินวัตร นายปรีดา พัฒนถาบุตร ต่อมาได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2522 สังกัดพรรคกิจสังคม ซึ่งได้รับเลือกตั้งเนื่องจากตอนเป็นครูโรงเรียนบูรณศักดิ์ จึงได้รับคะแนนจากลูกศิษย์จำนวนมาก เอาชนะเจ้าบุญเลิศ ณ เชียงใหม่ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ จากนั้นได้รับเลือกตั้งในอีก 5 สมัยต่อมา คือ สมัยที่สองในปี พ.ศ. 2526 สังกัดพรรคกิจสังคม ในปี พ.ศ. 2529 ได้เข้าร่วมงานกับพรรคกิจประชาคม[2] แต่ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2529 สังกัดพรรคสหประชาธิปไตย ที่มีนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2529 เขาได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนน 101,480 คะแนน มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของประเทศ รองจากณรงค์ วงศ์วรรณ และนิพนธ์ พร้อมพันธุ์[3] ในปี พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคเอกภาพ โดยได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค[4] และปี พ.ศ. 2535 ได้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีธรรม[5] ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2535 ได้รับเลือกตั้งในสังกัดพรรคชาติพัฒนา[6] นายเจริญ เคยได้รับตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ[7] นอกจากนี้เคยได้รับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร[8] เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องพม่ากักตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เมื่อปี พ.ศ. 2535[9] ในปี 2539 เจริญลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 4 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง[10] ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 นายเจริญ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัดพรรคราษฎร[11] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเป็นอันดับที่ 3 รองจากนายยงยุทธ สุวภาพ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายทวีศักดิ์ สุภาศรี จากพรรคไทยรักไทย และได้คะแนนใกล้เคียงกับนายณรงค์ นิยมไทย จากพรรคความหวังใหม่ คือประมาณ 2 พันคะแนนเศษ[12][13] นายเจริญ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2549 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|