Share to:

 

อมเรศ ศิลาอ่อน

อมเรศ ศิลาอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดำรงตำแหน่ง
26 สิงหาคม พ.ศ. 2533 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533
นายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ก่อนหน้าสุบิน ปิ่นขยัน
ดำรงตำแหน่ง
14 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
ดำรงตำแหน่ง
6 มีนาคม พ.ศ. 2534 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2535
นายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน
ถัดไปอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ
ดำรงตำแหน่ง
18 มิถุนายน พ.ศ. 2535 – 22 กันยายน พ.ศ. 2535
ก่อนหน้าอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ
ถัดไปอุทัย พิมพ์ใจชน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 ธันวาคม พ.ศ. 2476 (91 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสนางภัทรา ศิลาอ่อน
บุตร3 คน

นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 4 สมัย ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ 2 สมัย และในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน 2 สมัย อดีตประธานองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)

ประวัติ

นายอมเรศ ศิลาอ่อน เกิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายแพทย์เอื้อม และนางใจสมาน ศิลาอ่อน (สกุลเดิม ชลานุเคราะห์) มีน้องชาย คือ นายแพทย์อมฤต ศิลาอ่อน บรรพบุรุษเป็นชาวนามาจากราชบุรี

ที่มาของนามสกุล “ศิลาอ่อน” เท่าที่ได้รับคำบอกเล่า เข้าใจว่าเป็นการรวมชื่อของบรรพบุรุษฝ่ายชาย คือ“ศิลา” และฝ่ายหญิง คือ “อ่อน” มาตั้งเป็นนามสกุล ภายหลังที่พระราชบัญญัติขนามนามสกุล พ.ศ. 2456 บังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อพ.ศ. 2458 ได้ไม่นาน[1]

นายอมเรศ ศิลาอ่อนสมรสกับ นางภัทรา ศิลาอ่อน (สกุลเดิม ไรวา) มีบุตรชาย 3 คน ได้แก่  นายวิทูร ศิลาอ่อน นายกำธร ศิลาอ่อน และนายพรวิช ศิลาอ่อน [2]

การศึกษา

นายอมเรศ ศิลาอ่อน เริ่มเข้าเรียนระดับอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ จบการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนกุลรัตน์วิทยาลัย และโรงเรียนจุลวิทยา เข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในระหว่างนั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ทางบ้านจึงส่งไปเรียนที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อหนีภัยสงคราม หลังสงครามสงบ เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ศึกษาต่อสายอาชีวะจนจบที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์

หลังจากนั้น บิดาได้ส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยเริ่มเรียนหลักสูตร General Certificate of Education (GCE) ซึ่งเป็นหลักสูตรปูพื้นฐานที่ Southend Municipal College สหราชอาณาจักร ก่อนจะเข้าศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ Manchester University สหราชอาณาจักร จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ในปี พ.ศ. 2500  ขณะทำงานที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด[3] บริษัทได้ส่งเข้าอบรมหลักสูตรการจัดการระดับสูง (Advanced Management Program) Harvard Business Schoolสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2517 สมัครเข้าเรียนหลักสูตรอภิธรรมบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์[4] จนจบหลักสูตร ได้รับประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต (ป.อบ.)เทียบเท่าระดับปริญญาตรี ในปี พ.ศ. 2555  และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาการจัดการ ในปี พ.ศ. 2556

การทำงาน

นายอมเรศ ศิลาอ่อน เริ่มทำงานที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ ประมาณ 3-4 เดือน จึงลาออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ ณ สหราชอาณาจักร

พ.ศ. 2500 หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสหราชอาณาจักรแล้ว ได้เข้ารับราชการประจำกองธนาธิการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

ระหว่าง พ.ศ. 2501-2510 เข้าทำงานกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด[5] ในตำแหน่งผู้จัดการฝึกหัด ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายภาคเหนือ จากนั้น บริษัทได้ส่งไปทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการภาคฝ่ายขาย บริษัทบริษัทลูซอนเชลล์ ประเทศฟิลิปปินส์ และฝึกงานระยะยาวกับ บริษัท เชลล์ (ออสเตรเลีย) จำกัด ภายหลังจากกลับมาประเทศไทย บริษัทได้เลื่อนตำแหน่งจนถึงตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออก คือ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขายและโฆษณา

ระหว่าง พ.ศ. 2510 - เมษายน พ.ศ. 2533 เข้าทำงานกับบริษัท ค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ต่อมา ได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหา บริษัท สยามคร้าฟท์ จำกัด ในตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ จนบริษัทฟื้นกลับมามีกำไร ภายหลัง ได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและวางแผน[6] และได้รับการปรับตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การตลาด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัดผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงิน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัดตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออก คือ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

ระหว่าง พฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2533 รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)[7] ซึ่งก่อตั้งโดย คุณภัทรา ศิลาอ่อน และพี่น้องตระกูล “ไรวา” ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์[8][9]

งานด้านการเมือง

ในปี พ.ศ. 2533 นายอมเรศ ศิลาอ่อนได้รับการติดต่อจาก มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 45 ในโควต้าที่นั่งของพรรคกิจสังคม แทนนายสุบิน ปิ่นขยัน ซึ่งถูกปรับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเป็นการดึงผู้บริหารจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพมารับตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อปรับภาพลักษณ์รัฐบาลให้ดีขึ้น ผลงานเด่นเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบส่งออกจากระบบโควต้ามันสำปะหลังให้เป็นการประมูลบางส่วน และการแก้ไขปัญหาปูนซีเมนต์ขาดแคลนในประเทศ[10]

หลังจากเกิดความวุ่นวายหลายครั้งพลเอกชาติชายตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2533  เพื่อเปิดทางให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี ภายหลังไม่สามารถเจรจากันได้ แต่แล้วในวันรุ่งขึ้น พลเอกชาติชายก็ได้รับการสนับสนุนให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม ในการนี้ พลเอกชาติชายตัดสินใจตัดพรรคร่วมรัฐบาลออกไปได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมวลชน และสหประชาธิปไตย โดยดึงพรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร และพรรคปวงชนชาวไทย ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล นายอมเรศ ศิลาอ่อน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 46 แม้ว่าเดิมจะมาจากโควต้าที่นั่งของพรรคกิจสังคมก็ตาม[11][12]

หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เกิดการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. นายอมเรศ ศิลาอ่อน ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการคลัง ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และนำบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถและมีภาพลักษณ์ที่ดีมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมทั้งนายอมเรศ ศิลาอ่อน ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 47[13] นายอมเรศและคณะรัฐมนตรีร่วมผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ออกมาหลายฉบับ อาทิเช่น กฎหมายธุรกิจประกันภัย เป็นต้น แต่ภารกิจหลักของรัฐบาลนี้ คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป[14]

ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 เสร็จสิ้น รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน จึงหมดวาระ แต่เกิดกระแสต่อต้านประท้วงอย่างรุนแรง จากการที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนำมาสู่การใช้กำลังปราบปราม ที่เรียกกันว่า ”เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ”ภายหลัง พรรคการเมืองเสียงข้างมากสนับสนุน พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กลับตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทน นายอานันท์จึงจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพียง 105 วัน เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ รัฐมนตรีส่วนใหญ่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก รวมทั้งนายอมเรศ ศิลาอ่อนซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 49โดยมีเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น คือ การประกาศ “เขตการค้าเสรีอาเซียน” หรืออาฟตา (ASEAN Free Trade  Area : AFTA)[15]

งานด้านการศึกษา

นายอมเรศ ศิลาอ่อน ให้ความสำคัญด้านการศึกษา เริ่มต้นจากสมัยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด[16] ได้มีนักศึกษาแพทย์เขียนจดหมายบรรยายถึงความยากลำบากในการเล่าเรียน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาแพทย์ นายอมเรศจึงรวบรวมเงินจากเพื่อนนักเรียนนอกประมาณ 20 คน มอบเป็นค่าเล่าเรียนแก่นักศึกษาแพทย์ผู้นั้น จนปัจจุบันเป็นแพทย์ประจำอยู่ต่างจังหวัด

ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อนจากอัสสัมชัญพาณิชย์มาชักชวนตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษา คือ “มูลนิธิโรเกชั่น”[17] เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่บราเธอร์โรเกชั่น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ ในเบื้องต้น ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ที่ยากจน และเปลี่ยนมาให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ที่ร่ำเรียนวิชาชีพครู โดยเฉพาะครูคณิตศาสตร์และครูภาษาอังกฤษที่ยังขาดแคลนอยู่

ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เห็นว่า นายอมเรศสนใจเรื่องการศึกษา จึงชักชวนให้ไปเป็นประธานกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หลังจากนั้น ดร.รุ่ง แก้วแดง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษามาชักชวนให้ไปเป็นประธานกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. มีฐานะเป็นองค์กรมหาชน ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งของประเทศไทย ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา นอกจากนั้น นายอมเรศยังเคยดำรงตำแหน่งในอีกหลายองค์กรการศึกษา อาทิ กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งปัจจุบันได้ลาออกหมดทุกตำแหน่งแล้ว

ศึกษาธรรมะ

นายอมเรศ ศิลาอ่อน เริ่มต้นศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรม เมื่ออายุ 45 ปี จากการที่นายวรากร ไรวา น้องชายของภรรยา (ภัทรา ศิลาอ่อน)  จัดฝึกสมาธิที่บ้านไรวา[18] ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี  โดยเชิญคุณแม่สิริ กรินชัยมาเป็นวิปัสสนาจารย์ จากนั้น นายอมเรศจึงเริ่มฝึกสมาธิ เริ่มปฏิบัติธรรม ถือศีล 5 ฝึกกรรมฐานกับอาจารย์อีกหลายท่าน เช่น พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ท่านอู จานาก้า (เชมเย สยาดอ) พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานังกโร พระอาจารย์ทิวา อาภากโร อาจารย์ดิษกฤต สาสนเวชช์ เป็นต้น

ภายหลังจากฝึกกรรมฐานไปได้ระยะหนึ่ง นายอมเรศเกิดคำถามทางธรรมหลายประการที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยเฉพาะเรื่องพระอภิธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของหลักคำสอน อันเป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น เป็นส่วนที่เป็นพระอภิธรรมถึง 42,000 พระธรรมขันธ์ โดยเนื้อหาของพระอภิธรรมสอนอยู่ 4 อย่าง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมาก[19]

นายอมเรศสมัครเข้าเรียนหลักสูตรการเรียนการสอนพระอภิธรรม ของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งประกอบด้วย 9 ชั้นได้แก่ ชั้นที่ 1 จูฬอาภิธรรมิกะตรี (ใช้เวลาศึกษา 6 เดือน)ชั้นที่ 2 จูฬอาภิธรรมิกะโท (ใช้เวลาศึกษา 6 เดือน)ชั้นที่ 3 จูฬอาภิธรรมิกะเอก (ใช้เวลาศึกษา 6 เดือน)ชั้นที่ 4 มัชฌิมอาภิธรรมมิกะตรี (ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน)ชั้นที่ 5 มัชฌิมอาภิธรรมมิกะโท (ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน)ชั้นที่ 6 มัชฌิมอาภิธรรมมิกะเอก (ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน)ชั้นที่ 7 มหาอาภิธรรมมิกะตรี (ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน)ชั้นที่ 8 มหาอาภิธรรมมิกะโท (ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน) ชั้นที่ 9 มหาอาภิธรรมมิกะเอก (ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน)จนจบหลักสูตร รวมใช้เวลาในการศึกษาจนจบหลักสูตรทั้ง 9 ชั้น 7 ปี 6 เดือนได้รับประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต (ป.อบ.) เทียบเท่าระดับปริญญาตรี เมื่อ พ.ศ. 2555 และศึกษาพระไตรปิฏกต่อกับอาจารย์พรชัย เจริญดำรงเกียรติ (อาจารย์ดิษกฤต สาสนเวชช์) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน[20]

งานด้านสังคมและงานบริหาร

ในด้านสังคม นายอมเรศ ศิลาอ่อน เคยทำหน้าที่นายกสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เลขาธิการกิตติมศักดิ์สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาหลายองค์กร อาทิ สมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมศิษย์เก่าอัสสัมชัญพาณิชย์วิทยาลัย

ในด้านงานบริหาร นายอมเรศ ศิลาอ่อน เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ อดีตประธานองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ กรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาราช สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ประธานบริษัทสามารถ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยาจำกัด ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เป็นต้น

คดีความ

หลังวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือที่เรียกรู้จักกันทั่วไปว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” นำไปสู่การระงับการดำเนินกิจการสถาบันการเงินไทย รวม 58 แห่ง และได้มีการตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ขึ้นชุดแรกเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540  ในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กำกับดูแลสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้สุจริต รวมทั้งชำระบัญชีของสถาบันการเงินในกรณีที่ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มาขอร้องให้นายอมเรศช่วยดูแลองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หลังจากดำเนินการได้ระยะหนึ่ง เกิดปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง นายอมเรศและกรรมการทั้งหมดจึงขอลาออก ต่อมา พ.ศ. 2541 นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ขอให้นายอมเรศกลับไปรับตำแหน่งประธาน ปรส. อีกครั้ง โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์มารับรองว่า "ถ้าคุณอมเรศรับ ผมรับรองว่าจะไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง"[21]

ภายหลังจาก ปรส. ได้ประมูลขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มีการกล่าวหาคณะกรรมการและผู้บริหารของปรส.ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. รวม 6 เรื่องผลการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรณีกล่าวหาคณะกรรมการปรส.และผู้บริหาร ปรส. คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป จำนวน 3 เรื่อง และมีมติไม่ยกขึ้นพิจารณา เนื่องจากเป็นกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจำนวน 1 เรื่อง

ต่อมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ พร้อมพวกรวม 6 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 จากกรณีไม่เรียกเก็บเงินงวดแรกในการขายสินทรัพย์ให้กับบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ จำนวน 2,304 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เมื่อปี 2541ซึ่งศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ 2 ปี ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-6 ยกฟ้อง ต่อมาเมื่อปี 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยกฟ้องนายอมเรศ และนายวิชรัตน์ในปี พ.ศ. 2559 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีที่เขา ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และนายวิรัตน์ วิจิตรวาทการ ในฐานะเลขาธิการ ปรส. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีขายสินทรัพย์สถาบันการเงิน 56 แห่ง โดยพิพากษาให้จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี

นายอมเรศได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ที่ผ่านมาตนทำงานเพื่อส่วนร่วมมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีและประธาน ปรส. หลังจากนี้ตนจะกลับไปบอกลูกหลานว่าไม่แนะนำให้ทำงานเพื่อส่วนรวม หรือถ้าคิดจะทำอะไรให้ส่วนรวมก็ต้องคิดให้ดีๆ และจะต้องเตรียมป้องกันตัวให้ดี”[22]

ผลงานหนังสือ

  • พ.ศ. 2556 ทำดีแล้ว...อย่าหวั่นไหว[23]
  • พ.ศ. 2558 เด็กรู้ไหม? ทำทานอย่างไรได้บุญมาก ปู่อมเรศสอนธรรม[24]
  • นายอมเรศ ศิลาอ่อน ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี 2559 ประเภทสารคดี จากผลงาน “เด็กรู้ไหม? ทำทานอย่างไรได้บุญมาก ปู่อมเรศสอนธรรม”[25]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

อ้างอิง

  1. อมเรศ ศิลาอ่อน, ทำดีแล้ว...อย่าหวั่นไหว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิตยสารแพรว อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556. หน้า 8.
  2. เปิดบ้าน “ศิลาอ่อน” ชวนคุยทุกเรื่อง เต็มอิ่มกับรสชาติความสุขที่ไม่เคยเปลี่ยน Link
  3. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
  4. "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-03. สืบค้นเมื่อ 2019-10-03.
  5. บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
  6. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
  7. บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เก็บถาวร 2019-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. พระบรมราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และตั้งรัฐมนตรี (ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ๑๗ ราย และตั้งรัฐมนตรี จำนวน ๒๐ ราย)
  9. เปิดอาณาจักร ตำนาน S&P จากร้านตึกแถวสู่บริษัทหมื่นล้าน Link
  10. อมเรศ ศิลาอ่อน, ทำดีแล้ว...อย่าหวั่นไหว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิตยสารแพรว อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556. หน้า 143.
  11. การเมืองไทยสมัยชาติชาย จากเปรม-บ้านพิษณุโลก-รถโมบาย สู่รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 Link
  12. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๕ ราย)
  13. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๔ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2015-06-25.
  14. อานันท์ ปันยารชุน Link[ลิงก์เสีย]
  15. อมเรศ ศิลาอ่อน, ทำดีแล้ว...อย่างหวั่นไหว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิตยสารแพรว อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556. หน้า 158.
  16. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
  17. มูลนิธิโรเกชั่น
  18. บ้านไรวา เก็บถาวร 2019-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  19. อมเรศ ศิลาอ่อน นักธุรกิจผู้ขยันหาอาหารทางใจ Link
  20. อภิธรรมโชติกะวิทยาลัยสอนอภิธรรมระดับปริญญาตรี เรียนฟรีจนจบ Link
  21. อมเรศ ศิลาอ่อน, ทำดีแล้ว...อย่าหวั่นไหว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิตยสารแพรว อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556. หน้า 181.
  22. ฏีกาจำคุก'อมเรศ ศิลาอ่อน' คดีไฟแนนซ์เน่า/ชี้ทำดีไม่ได้ดี Link
  23. รายละเอียดหนังสือทำดีแล้ว..อย่าหวั่นไหว
  24. รายละเอียดหนังสือ เด็กรู้ไหม? ทำทานอย่างไรได้บุญมาก
  25. รายชื่อหนังสือที่ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปี 2559 เก็บถาวร 2019-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  26. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  27. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
ก่อนหน้า อมเรศ ศิลาอ่อน ถัดไป
สุบิน ปิ่นขยัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ครม. 4547)
(26 สิงหาคม 2533 – 22 มีนาคม 2535)
อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ
อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ครม. 49)
(10 มิถุนายน 2535 – 23 กันยายน 2535)
อุทัย พิมพ์ใจชน
Kembali kehalaman sebelumnya