สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (เกิด 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2504) ชื่อเล่น หน่อย เป็นนักการเมืองชาวไทย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย[1] และประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย[2] อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย[3] อดีตรัฐมนตรีเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และ ชวน หลีกภัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 และเคยร่วมประท้วงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประวัติสุดารัตน์เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 เป็นบุตรของสมพล เกยุราพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และเรณู เกยุราพันธ์ สุดารัตน์สมรสกับสมยศ ลีลาปัญญาเลิศ นักธุรกิจชาวไทย มีบุตรชาย 2 คน และบุตรหญิง 1 คน ดังนี้
สุดารัตน์จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Shi 41) และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ (MBA จาก GIBA) สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[4] สุดารัตน์ ยังได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์เชิดชูเกียรติคุณ) สาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จากสภามหาวิทยาลัยนครพนม และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น[5] การเมืองสุดารัตน์เข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 12 พรรคพลังธรรม (บางเขน, หลักสี่, ดอนเมือง, สายไหม, มีนบุรี, หนองจอก, คลองสามวา) ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งกรุงเทพมหานคร ต่อมาในปลายปีเดียวกันได้มีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง สุดารัตน์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 7 พรรคพลังธรรม (ลาดพร้าว, วังทองหลาง, บางกะปิ, บึงกุ่ม, คันนายาว, สะพานสูง) และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[6] ในรัฐบาลของชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 หรือ รัฐบาลชวน 1/1 ในปี พ.ศ. 2537 สุดารัตน์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคพลังธรรม และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม[7] ในรัฐบาลของชวน หลีกภัย หรือรัฐบาลชวน 1/2 ต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2538 สุดารัตน์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 7 พรรคพลังธรรม (บางกะปิ, บึงกุ่ม, วังทองหลาง, คันนายาว, สะพานสูง) และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือรัฐบาลบรรหาร 1 จนกระทั่งมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและมีการเลือกตั้งในปีถัดมา ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 สุดารัตน์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 7 (บางกะปิ, บึงกุ่ม, วังทองหลาง, คันนายาว, สะพานสูง) โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคพลังธรรม เพียงคนเดียวในสภาฯ ต่อมาเธอได้ลาออกจากพรรคพลังธรรม เพื่อไปจัดตั้ง กลุ่มพลังไทย ซึ่งเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขต พ.ศ. 2541[8] โดยมี สก. ของกลุ่มพลังไทยได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 13 คน[9] หลังสิ้นสุดการเลือกตั้ง สุดารัตน์ก็ได้รับเชิญให้ไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา ใน การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543 สุดารัตน์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามของพรรคไทยรักไทย นับเป็นครั้งแรกของพรรคที่ได้ลงสนามการเลือกตั้ง หากไม่นับการเลือกตั้งซ่อม สก. โดยสุดารัตน์ได้คะแนนรวมเป็นลำดับสอง พ่ายแพ้ให้กับ สมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีคะแนนเสียงมากกว่าเกือบสองเท่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 สุดารัตน์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลรับผิดชอบงานนโยบายสำคัญของรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) คือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้รับเลือกตั้งอีกสมัย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[10] จนกระทั่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี (30 พ.ค. 50 - 30 พ.ค. 55) เนื่องจากเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 ภายหลังพ้นกำหนดถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง สุดารัตน์ได้เข้ารับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย[11] โดยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 สุดารัตน์เป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย พร้อมกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ[12] รวมทั้งได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 2[13] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 สุดารัตน์ลาออกจากพรรคเพื่อไทย โดยระบุเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ 1. ความไม่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 2. มีการตั้งกรรมการและอนุกรรมการโดยกีดกันทีมของเธอ และ 3. การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่ไม่อนุญาตให้เธอลงพื้นที่ช่วยหาเสียง[14] จากนั้นในปี พ.ศ. 2564 ได้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย และดำรงตำแหน่งประธานพรรค ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565[15][16] โดยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 สุดารัตน์เป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคไทยสร้างไทย พร้อมกับสุพันธุ์ มงคลสุธี และศิธา ทิวารี[17] รวมทั้งได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และได้รับเลือกตั้ง โดยเป็น สส. ระบบบัญชีรายชื่อคนเดียวของพรรคไทยสร้างไทยในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26[18] แต่สุดารัตน์ทำหน้าที่ สส. เพียงแค่ 1 ครั้ง คือในการประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นก็ได้ประกาศลาออกจาก สส. เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นในพรรคได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน[19] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
บทบาททางสังคมสุดารัตน์ ได้จัดตั้งมูลนิธิผู้หญิงเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มผู้หญิงกับการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสถาบันผู้หญิงกับการเมือง (เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีความรู้ความเข้าใจในการเมือง ที่ถูกต้อง และสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น) และในปี พ.ศ. 2541 ได้จัดตั้งโครงการ “ไทยพึ่งไทย” เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกงานให้สามารถสร้างงานสร้างอาชีพของตนเองได้ในยามที่ประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2554 สุดารัตน์ รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโครงการ “หนึ่งใจ...ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสู้ภัยพิบัติแห่งชาติ” ของมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประธานกรรมการมูลนิธิไทยพึ่งไทย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการสถาบันสร้างไทย รางวัลเชิดชูเกียรติคุณ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ลำดับสาแหรก
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
Information related to สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ |