ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ม.ป.ช. ม.ว.ม. (เกิด 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509) ชื่อเล่น ทริป เป็นนักการเมืองและวิศวกรชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17[3] หลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2565 ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาเป็นที่รู้จักจากข้อเสนอสร้างทางรถไฟความเร็วสูงภายใต้กรอบวงเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท แต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป ชัชชาติยังมีภาพลักษณ์เป็นอินเทอร์เน็ตมีมในฐานะ รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี[4] จากภาพหิ้วถุงอาหารในปี พ.ศ. 2556 และทำให้เขาได้รับชื่อเสียงมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะบนสื่อสังคม ที่มีการนำภาพไปทำเป็นอินเทอร์เน็ตมีมในรูปแบบต่าง ๆ[5] ต่อมาเขาลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ในฐานะนักการเมืองอิสระ และได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยต่อมาเขาได้รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในฐานะผู้ว่าราชการจากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย แต่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียงหนึ่งเดือนก่อนที่ศูนย์จะถูกยุบไป ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็น กรรมการในคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ประวัติชัชชาติเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509[2] เป็นบุตรของพลตำรวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ถึงแก่กรรมแล้ว) กับจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (สกุลเดิม กุลละวณิชย์)(ถึงแก่กรรมแล้ว)[2] มีพี่ร่วมบิดามารดาสองคน ดังนี้[2]
ครอบครัวชัชชาติสมรสกับปรมินทร์ทิยา[6] (นามเดิม ปิยดา อัศวฤทธิภูมิ) พนักงานการบินไทย แต่หย่ากันแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2560[7] เขามีบุตรหนึ่งคน คือ แสนปิติ หรือแสนดี[8] บุตรของชัชชาติเป็นผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด ได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียมเมื่อ พ.ศ. 2545[9] ชัชชาติเล่าว่า ตนวิ่งเป็นระยะทาง 13 กิโลเมตรทุกวัน เพราะต้องการมีสุขภาพแข็งแรงเพื่ออยู่ดูแลบุตรที่หูหนวกให้ได้นานที่สุด และใช้ความทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้บุตรสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้ โดยในปัจจุบันเเสนดีหลังจบการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566[10] การศึกษาชัชชาติสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อด้านวิศวกรรมโยธา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ในปี พ.ศ. 2529 เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมโครงสร้างจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโครงสร้างจากมหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ภายหลังจบการศึกษาได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้เขายังสำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังสำเร็จการอบรมหลักสูตรอีกจำนวนหนึ่ง เช่น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง (มหานคร รุ่นที่ 4) วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท. รุ่นที่ 22)[11] เป็นต้น งานก่อนเข้าสู่การเมืองชัชชาติเคยทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้าง กับบริษัทสกิดมอร์, โอวิงส์ และเมอร์ริล[12]ที่สหรัฐอเมริกา[13] ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สินระหว่าง พ.ศ. 2548–2555 นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด[14] และในปี พ.ศ. 2551– 2555 เป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์[11] ชัชชาติในฐานะนักวิชาการ ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร[15] นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจนกระทั่ง พ.ศ. 2555 เขาได้รับการทาบทามทางโทรศัพท์ จากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แม้ทางมารดาจะไม่เห็นด้วย[16] แต่เขาก็ตกลงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555[17] จากการที่เขาเข้ามารับงานทางการเมืองเป็นครั้งแรก ทำให้ในช่วงแรกในตำแหน่งรัฐมนตรี เขากลายเป็นรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่รู้จักมากที่สุด[18] และจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา เขาก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555[19] ระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ ผลงานในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี เช่น การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อ ให้รองรับรถไฟความเร็วสูง[20], การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง[20], การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน, การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด[21], ให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา[22] ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 ชัชชาติเคยถูก กปปส. กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง[23] และในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เขาเป็นหนึ่งในตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมกับบรรดาแกนนำและตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ เพื่อหาทางออกประเทศ ที่จัดขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ชัชชาติกล่าวว่า หลังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ประกาศรัฐประหาร เขาถูกคลุมหัว มัดมือ และถูกนำตัวไปค่ายทหารที่จังหวัดปราจีนบุรี[24][25] โดยมีนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ถูกคุมในสถานที่เดียวกัน ชัชชาติได้รับการปล่อยตัวจากค่ายทหารในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา[25] หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในเดือนสิงหาคม–ธันวาคม พ.ศ. 2557 เขาเป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, จากนั้นในปี พ.ศ. 2558 เป็นกรรมการ บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ รวมถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์[11] และในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเขาเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แต่ชัชชาติชี้แจงว่าไม่ทราบเรื่องมาก่อน และยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560[26] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ชัชชาติได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัทข้างต้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในปีถัดมา[27] โดยเขาเป็นบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ[28] ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้วางตัวชัชชาติเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรคด้วย[29] ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ชัชชาติประกาศว่าเขาตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมในงานเปิดตัว เช่น ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, ดวงฤทธิ์ บุนนาค และพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นต้น บีบีซีไทยระบุว่าเขาได้รับการอนุมัติจากแกนนำพรรคเพื่อไทย และทักษิณ ชินวัตร ให้ลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรค[31] โดยทักษิณกล่าวในภายหลังว่าเขาเลือกวิถีทางการเมืองของตนเอง "เราต้องเคารพการตัดสินใจของเขา"[32] แต่ก็มีแกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย[33] ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เขาเปิดตัวลงสมัครอย่างเป็นทางการ ใช้ชื่อการรณรงค์หาเสียงว่า "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" ในการหาเสียง เขาเน้นด้านทรัพยากรมนุษย์ ระบบเส้นเลือดฝอย สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ[34][35] โดยมีนโยบายสำคัญ เช่น การสร้างเครือข่ายแผนที่จุดเสี่ยงอาชญากรรม พัฒนาระบบขนส่งมวลชน สร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งศิลปะและการเรียนรู้ เป็นต้น[36] นอกจากนี้เขายังมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาอยู่โดยยึดซิลิคอนแวลลีย์เป็นแบบอย่าง พร้อมกับชูแนวทางเป็นผู้นำแห่งความหวังที่ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง[37] เขาเป็นผู้สมัครหมายเลข 8 ในการรับเลือกตั้ง[38] และหาเสียงโดยใช้แนวทาง "หาเสียงแบบรักเมือง" เช่น ใช้ยานพาหนะไฟฟ้าทั้งหมดในการหาเสียง ลดขนาดและปริมาณของป้ายหาเสียง จัดพิมพ์เอกสารแนะนำตัวในรูปแบบหนังสือพิมพ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ และนำวัสดุที่ใช้ทำป้ายหาเสียงกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ต่อในทีมงาน เป็นต้น[39] เขาเป็นผู้สมัครคนแรกในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวที่ให้ทีมงานลดขนาดและจำนวนป้ายหาเสียงหลังได้รับเสียงวิจารณ์จากสาธารณะ รวมทั้งมีการออกแบบให้ป้ายหาเสียงสามารถเปลี่ยนเป็นกระเป๋าและชุดกันเปื้อนได้[40] เขาได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครกว่า 10,000 คน ซึ่งมาจากทั้ง 50 เขต และอาสาสมัครดังกล่าวได้ร่วมเสนอนโยบายการหาเสียงด้วย[41] นอกจากนี้ ยังมีผู้มีชื่อเสียงร่วมลงพื้นที่ด้วย เช่น พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา[42] และปวีณา หงสกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์[43] เป็นต้น ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ชัชชาติเลือกที่จะไม่ตั้งเวทีปราศรัยใหญ่แบบเดียวกับผู้สมัครบางส่วน แต่ใช้วิธีแสดงวิสัยทัศน์ตามย่านเศรษฐกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ได้แก่ สยาม, สีลม, ไชนาทาวน์–เยาวราช และย่านบางลำพู–ข้าวสาร แทน[44] โดยเขาใช้ลังไม้หนึ่งใบตั้งเป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เลือกช่วงวันศุกร์เย็นซึ่งมีการจราจรติดขัด รวมถึงใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลักในการเคลื่อนย้ายจากจุดต่อจุด[45] ผลการเลือกตั้ง ชัชชาติได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนที่มาเป็นอันดับ 1 คือ 1,386,215 คะแนน ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และมากกว่าคะแนนรวมของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เหลือทั้งหมด[24] วิศรุต สินพงศพร จากเวิร์คพอยท์ทูเดย์ วิเคราะห์สาเหตุที่คะแนนเสียงของชัชชาติถล่มทลายในการเลือกตั้งมีเหตุผลหลายประการ รวมถึงการที่ลงสมัครในนามอิสระ, ผลงานในสมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ถูกสกัดกั้นไว้, วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน, จำนวนผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กที่มากกว่าผู้สมัครคนอื่น และการเตรียมตัวยาวนานสองปีครึ่งก่อนการเลือกตั้ง[30] ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครวันแรกหลังการเลือกตั้ง มีภาพชัชชาติลงพื้นที่ตรวจคลองลาดพร้าวพร้อมกับวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และว่าที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ชุดที่ 13 จากพรรคก้าวไกลอีกจำนวนหนึ่ง[46] แต่ชัชชาติปฏิเสธการดึงวิโรจน์เข้าร่วมทีม พร้อมบอกว่าวิโรจน์สามารถ "ไปได้อีกไกล"[47] ในวันที่ 24 พฤษภาคม เขาให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมกับคณะรัฐมนตรี แต่ให้ความเห็นว่าควรปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562[48] ในการเลือกตั้ง ชัชชาติถูกร้องเรียนในเรื่องการนำป้ายเลือกตั้งมาทำกระเป๋าผ้า และการดูถูกระบบราชการ[49] อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้งในอีก 9 วันต่อมา[50] ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ชัชชาติได้เข้ารับหนังสือรับรองการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง[51] จากนั้นจึงเดินทางไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และลงนามรับมอบงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากปลัดกรุงเทพมหานคร[52] พร้อมเปิดตัวคณะผู้บริหารชุดใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วยอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักกิจกรรมเพื่อสังคม[53] วันเดียวกันเขาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรุงเทพมหานครเหลืองบประมาณเพียง 94 ล้านบาท โดยเขาระบุว่าสามารถทำงานได้ด้วยงบประมาณไม่มาก[54] วันที่ 4 มิถุนายน ชัชชาติไปเยี่ยมสำนักระบายน้ำ และได้รับแจ้งว่างบประมาณในปี พ.ศ. 2565 ที่เหลืออยู่ของกรุงเทพมหานครสามารถลอกคลองได้เพียง 2 จากทั้งหมด 1,980 แห่ง[55] เขาชี้แจงในวันต่อมาว่าตัวเลขข้างต้นเป็นคลองใหญ่ที่รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ ส่วนคลองย่อยนั้นรับผิดชอบโดยสำนักงานเขตซึ่งมีการขุดลอกไปมากแล้ว เมื่อรวมกับคลองใหญ่ก็คงมีมากกว่าที่ได้รับรายงาน นอกจากนี้ ชัชชาติยังยอมรับว่าตนเองก็มีส่วนผิดที่ถามกลางการออกอากาศสดในวันดังกล่าว[56] ชัชชาติเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเขาเข้าร่วมงานแถลงข่าวงานบางกอกนฤมิตไพรด์ ซึ่งเป็นงานพาเรดของกลุ่ม LGBTQ+[57] รวมถึงได้เข้าร่วมขบวนดังกล่าวในวันจัดงาน[58] และยังกล่าวสนับสนุนให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครแต่งกายตามเพศวิถีอีกด้วย[59] วันที่ 20 มิถุนายน เขาลงพื้นที่ติดตามการลอกท่อของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการ 530 กิโลเมตร ระยะเวลา 3 เดือน และยังมีแผนลอกท่อของกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2565 อีก 2,800 กิโลเมตร เขายังเปิดเผยว่าได้ปรึกษากับ ศบค. เรื่องการขอยกเลิกมาตรการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งในกรุงเทพมหานคร แต่ในเวลานั้น ศบค. ยังไม่อนุมัติ โดยอ้างว่าสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 ยังมีต่ำ[60] วันที่ 24 มิถุนายน เขาลงนามคำสั่งอนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้ 7 พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ[61] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 เขาจัดกิจกรรมหนังกลางแปลง โดยระบุว่าเป็นการส่งเสริมศิลปะและเศรษฐกิจรากหญ้า[62] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ วิจารณ์การรับมืออุทกภัยในกรุงเทพมหานครของชัชชาติว่ายังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เชื่อมั่นการทำงาน และยังไม่มีแผนรองรับแบบผู้บริหาร[63] ขณะที่นักวิชาการมองว่าจะโทษผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้ เพราะวิธีการรับมืออุทกภัยก็ใช้แบบเดียวกันมาตั้งแต่ครั้ง พ.ศ. 2554 คือ "สู้กันดาบหน้า"[64] ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ระหว่างที่ชัชชาติไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมย่านอุดมสุข เขาระบุว่าการก่อสร้างและซ่อมแซมอุโมงค์ระบายน้ำในบริเวณดังกล่าวใช้เวลานาน แต่จะทยอยเปิดใช้งานในส่วนที่ก่อสร้างเสร็จก่อน[65] ภาพลักษณ์ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ชัชชาติมีภาพลักษณ์เป็นรัฐมนตรีติดดิน เช่น ซ้อนจักรยานยนต์รับจ้าง[67] โหนรถเมล์[68] นั่งรถสองแถว โดยสารรถไฟ ออกตรวจราชการในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อตรวจปัญหาด้วยตนเอง[69] หลายครั้งที่เขาไปตรวจงานตามองค์กรของรัฐโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า[40] ซึ่งเมื่อเขาได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ยังยึดแนวทางเช่นเดิม[70] สำหรับในโลกออนไลน์ ความนิยมได้เริ่มขึ้นมาจากรูปภาพหนึ่งที่ชัชชาติเข้าไปทำบุญใส่บาตรภายในวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์[71] โดยมีลักษณะสวมเสื้อแขนกุด หิ้วถุงอาหาร และเดินด้วยเท้าเปล่า หลังจากภาพนี้ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต มีผู้คนตัดต่อภาพล้อเลียน รวมถึงเลียนแบบท่าทางในรูปดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และได้รับการกล่าวขนานนามว่าเป็น "บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" จนกระทั่งมีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับชัชชาติโดยเฉพาะ[72] ซึ่งเมื่อชัชชาติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็มีเกมบนเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับตัวเขาเองด้วยเช่นกัน[73] สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยยังเกาะกระแสดังกล่าว โดยโพสต์ภาพยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตฯ พันผ้าพันแผลที่มือหลังชนมือกับชัชชาติอีกด้วย[74] ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เขามีภาพลักษณ์ประนีประนอม ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์ว่าอาจแก้ไขปัญหาบางอย่างของกรุงเทพมหานครไม่ได้[75] ในการปราศรัยคืนวันเลือกตั้ง เขากล่าวตอนหนึ่งว่า "เมื่อไหร่ที่ประชาชนทะเลาะ เกลียด กลัวซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์ คนเรานั้นเห็นต่างกันได้ ขออย่าสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน นี่คือบทเรียนสำคัญ"[76] เขายังกล่าวถึงข้าราชการกรุงเทพมหานครให้เร่งทำความเข้าใจนโยบายของตน[76] ทำให้มีข่าวว่าข้าราชการกรุงเทพมหานครหลายพื้นที่มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว[77][78] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ในงานระลึกการถูกลักพาตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในเพื่อนของวันเฉลิมระบุว่าภาพถ่ายที่เป็นมีมอินเทอร์เน็ตของชัชชาตินั้น วันเฉลิมเป็นคนถ่าย[66] ต่อมามีภาพเขาปรากฏตัวที่ตลาด(นัด)ราษฎร ในย่านทองหล่อ ซึ่งกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมร่วมงานด้วย ชัชชาติแนะนำให้พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ชุมนุมของกลุ่มราษฎร "ใจเย็น ๆ" และเรียนให้จบ พร้อมกับอุดหนุนสินค้าในงานอีกจำนวนหนึ่ง[79] ในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขาถูกโจมตีเรื่องการถ่ายทอดสดผ่านสัญญาณต่อเนื่องขณะทำงาน และถูกกล่าวหาว่า "สร้างภาพ" แต่เขายืนยันว่าทำไปเพื่อให้เห็นการทำงานจริง หากไม่ชอบก็ไม่ต้องดู[80] ผู้สนับสนุนเขายังถูกตั้งคำถามว่าสนับสนุนชัชชาติทั้งที่ไม่มีผลงานหรือไม่[81] ทรัพย์สินใน พ.ศ. 2558 ชัชชาติยื่นบัญชีทรัพย์สินจำนวน 72.30 ล้านบาทต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[82] ครึ่งหนึ่งเป็นมูลค่าของที่ดินในเขตพระโขนง จำนวนสองแปลง ซึ่งจิตต์จรุง มารดาของเขา โอนกรรมสิทธิ์ให้ก่อนหน้านั้น[83] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ลำดับสาแหรก
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|