ภูมิธรรม เวชยชัย
ภูมิธรรม เวชยชัย ม.ว.ม. ป.ช. (เกิด 5 ธันวาคม พ.ศ. 2496) ชื่อเล่น อ้วน เป็นนักการเมืองชาวไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เศรษฐา ทวีสิน ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ[2] อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ประวัติภูมิธรรม เวชยชัย เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดธนบุรี มีชื่อเล่นว่า อ้วน สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนทวีธาภิเศก ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2518 และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2527 และได้ผ่านการศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ใน พ.ศ. 2547 ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ รศ.อภิญญา เวชยชัย อดีตอาจารย์ประจําคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การทำงานภูมิธรรมเป็นรองผู้อำนวยการโครงการอาสาสมัคร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ต่อมาได้หันเหมาทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ประจำสำนักประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือชินวัตร ในระหว่าง พ.ศ. 2540 - 2541 งานการเมืองภูมิธรรมเริ่มเข้าสู่งานการเมืองตัังแต่เป็นนิสิตจุฬา เมื่อครั้งเหตุการณ์ เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา ภูมิธรรมถูกขนานนามว่า “สหายใหญ่” [3][4] ภายหลังเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ใน พ.ศ. 2544 และเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ประจำ รศ. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และเป็นรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กระทั่งได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อ พ.ศ. 2548[5] ซึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้นำเสนอพระราชกฤษฎีกา ต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ให้ยุบเลิกองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) โดยให้เหตุผลว่า มีปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีหนี้สินสะสมกว่า 1,800 ล้านบาท และไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจขนส่งของเอกชน[6][7] ต่อมาใน พ.ศ. 2550 เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549[8] ต่อมาใน พ.ศ. 2555 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย[9] และได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค ในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555[10] ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 21[11] ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 4[12] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 100 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน[13] ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566 เศรษฐาได้มอบหมายให้เขาเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560[14][15] และในเดือนมกราคมปีถัดมาเขาได้เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567[16] ต่อมาตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567 ปานปรีย์ พหิทธานุกร ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[17] ส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศไม่มีทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการ ภูมิธรรมจึงรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทน[18] ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีโดยขาดคุณสมบัติของความเป็นรัฐมนตรี จึงทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง ภูมิธรรมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่หนึ่ง จึงทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายหลังเสร็จสิ้นการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 16 สิงหาคม[19] เดือนถัดมาเขาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นับเป็นพลเรือนที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนที่สองซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อจากสุทิน คลังแสง และเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รางวัลและเกียรติยศ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|