อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี (เกิด 26 มีนาคม พ.ศ. 2521) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตเลขาธิการพรรคกล้า อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย[1] อดีตกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ปัจจุบันสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นประธานกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม[2] ประวัติอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เกิดวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2521 ชื่อเล่น เอ๋[3] เป็นบุตรของนายสมพงศ์ สุวรรณภักดี อดีตอัยการ กับนางภคินี สุวรรณภักดี อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารมหานคร อรรถวิชช์ สมรสกับพิณ สุวรรณภักดี (สกุลเดิม บูรพชัยศรี) มีบุตร 2 คน[4] อรรถวิชช์ มีงานอดิเรกคือ การสะสมรถโบราณ โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็น เลขาธิการสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย และเป็นเลขาธิการที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกด้วย[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้แล้วยังมีค่ายมวยเป็นของตัวเอง ชื่อ "ส.สุวรรณภักดี" ที่มีนักมวยในสังกัดเป็นแชมเปี้ยนของเวทีมวยลุมพินีในรุ่นแบนตัมเวต (118 ปอนด์) คือขวานเพชร ส.สุวรรณภักดี[5] การศึกษาอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล รุ่น 75 (ศิษย์เก่าดีเด่น) ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นรหัส 38 (ศิษย์เก่าดีเด่น)[6] ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายการเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยบอสตัน[7] ประเทศสหรัฐ และ ปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (ศิษย์เก่าดีเด่น)[8] นอกจากนั้น เขายังผ่านการศึกษาอบรมอีกหลายหลักสูตร เช่น ประกาศนียบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ ประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี ประกาศนียบัตรชั้นสูงหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า ประกาศนียบัตร หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน ประกาศนียบัตร หลักสูตรการพัฒนากรรมการบริษัทมืออาชีพ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) DCP รุ่น107 ประกาศนียบัตร หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง มหานคร รุ่น 3 ประกาศนียบัตร หลักสูตรนักบริหารระดับสูง “ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม” นมธ.รุ่น1 อรรถวิชช์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แนะนำให้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโท[ต้องการอ้างอิง] จนสำเร็จการศึกษาในสาขากฎหมายการเงินการธนาคารจาก มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐ การทำงานอรรถวิชช์ เคยรับราชการสังกัดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง[9] มีผลงานเด่น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน การกำกับดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลให้อยู่ในระดับร้อยละ 28 ต่อปี การกำกับธุรกิจบัตรเครดิต[10] และการควบรวมกิจการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม ธนาคารทหารไทย และธนาคารดีบีเอสไทยทนุ รวมถึงงานร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร หลายฉบับ พ.ศ. 2550 อรรถวิชช์ ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 4 คือ เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่ สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ โดยร่วมทีมกับบุญยอด สุขถิ่นไทย และสกลธี ภัททิยกุล พ.ศ. 2554 อรรถวิชช์ ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 9 คือ เขตจตุจักร สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2556 อรรถวิชช์ เข้ารับตำแหน่งกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 9 ธันวาคม[11] พ.ศ. 2558 อรรถวิชช์ เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[12] (หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร) วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 อรรถวิชช์โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563 เพื่อไปร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่กับกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากพรรคมาแล้วก่อนหน้านั้น โดยได้กราบลาชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่อรรถวิชช์ให้ความเคารพนับถือเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563[13] วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 9.30 น. อรรถวิชช์ที่ได้รับมอบหมายจากกรณ์ จาติกวณิชพร้อมผู้ร่วมก่อตั้ง 5 คน เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่[14] โดยมีชื่อพรรคว่า พรรคกล้า[15] ซึ่งมีกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนอรรถวิชช์ เป็นเลขาธิการพรรค[16] วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564 พรรคกล้า ประกาศส่งอรรถวิชช์ ลงเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 9 คือ เขตจตุจักร, หลักสี่[17] แทนสิระ เจนจาคะ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพ[18] โดยการเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2565[19] ซึ่งผลปรากฏว่า อรรถวิชช์ไม่ได้รับเลือกตั้ง[20] วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 อรรถวิชช์ ในฐานะเลขาธิการพรรคกล้า ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค และกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ลาออกจากพรรคกล้า แล้วไปสังกัดพรรคชาติพัฒนา โดยกล่าวว่า ตนยังสังกัดพรรคกล้า จะไปข้องเกี่ยวไม่ได้ กฎหมายพรรคการเมืองก็ระบุไว้ชัดเจน โดยตนก็ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการพรรคกล้า เพื่อจัดประชุมใหญ่พรรคในเดือนนี้ให้แล้วเสร็จ[21] อันหมายถึงการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2565 ของพรรคกล้า ที่จัดขึ้นในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565 โดยผลของการประชุมได้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคกล้าชุดใหม่ ซึ่งไม่มีชื่อของอรรถวิชช์แต่อย่างใด[22] วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2565 อรรถวิชช์ พร้อมด้วยกรณ์ จาติกวณิช และ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่เคยจะลงรับสมัครในนามพรรคกล้า เกือบ 40 คน ปรากฏตัวในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคชาติพัฒนา ซึ่งในการประชุมพรรคชาติพัฒนา ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น ชาติพัฒนากล้า[23] วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565 อรรถวิชช์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ในการประชุมใหญ่สามัญของพรรคชาติพัฒนากล้า[24] วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566 อรรถวิชช์ ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า[25] ก่อนที่จะลาออกจากพรรคชาติพัฒนากล้า ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2566[26] วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 อรรถวิชช์ พร้อมตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 10,000 รายชื่อ เสนอร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร[27] วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2567 อรรถวิชช์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการบริษัท เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด[28] วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2567 อรรถวิชช์ เปิดเผยว่า ตอนนี้ตนมาช่วยดูงานด้านกฎหมายให้พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะมีความสนิทสนมกับพีระพันธุ์ตั้งแต่สมัยอยู่พรรคประชาธิปัตย์[29] วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567 อรรถวิชช์ ได้เปิดตัวเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติโดยเข้ามาเป็นทีมกฎหมายของพรรค[30] วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2567 เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามแต่งตั้งให้อรรถวิชช์ เป็นประธานกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม[2] ทรัพย์สินในปี พ.ศ. 2557 เขาเคยชี้แจงต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าตนมีทรัพย์สิน 201 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับทรัพย์สินของภรรยาและบุตรจะมี 366.7 ล้านบาท หนี้สิน 1.7 ล้านบาท พร้อมกับชี้แจงว่ามีรายได้ 202,217 บาทต่อเดือน เป็นเงินกองทุนเลี้ยงชีพ และค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์[31] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|