สกลธี ภัททิยกุล
สกลธี ภัททิยกุล (เกิด 14 ตุลาคม พ.ศ. 2520) อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ[2] อดีตแกนนำ กปปส. และผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2565 ประวัติสกลธี เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2520[3] มีชื่อเล่นว่า จั้ม เป็นบุตรชายคนโตของ พลเอกวินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กับนางศศิณี ภัททิยกุล สกลธี จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่าและ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เคยรับราชการอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และถูกดึงตัวโดยจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ไปช่วยงานเป็นเลขานุการส่วนตัว ชีวิตส่วนตัว สกลธีสมรสกับนางนันท์นัดดา ภัททิยกุล มีบุตร 2 คน เป็นบุตรสาว 1 คนและบุตรชาย 1 คน นอกจากนี้สกลธี เคยเป็นผู้จัดการทีมมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ 2009 ที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว และเอเชียนเกมส์ 2010 ที่กว่างโจว ประเทศจีน การทำงานสกลธี เข้ารับราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ต่อมาได้ทำหน้าที่เลขานุการของจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 สกลธี ได้ลาออกจากราชการเพื่อไปสมัครลงรับเลือกตั้งกับทางพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจากการเป็นบุตรชายของ พลเอกวินัย เลขาธิการ คมช. จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คมช. แต่ทั้งนายสกลธี พลเอกวินัย และทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 สกลธี ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมหานคร เขต 4 คือ เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่ คู่กับบุญยอด สุขถิ่นไทย และอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 สกลธี ได้ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร เขต 11 คือ เขตหลักสี่ โดยมีคู่แข่งคือ สุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของเสนาะ เทียนทอง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในปี พ.ศ. 2561 สกลธีได้เข้าดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1215/2561[4] ลงนามโดย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง สืบต่อจาก พลตำรวจเอกชินทัต มีศุข ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561 วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561 สกลธีได้ไปร่วมงานเปิดตัว พรรคพลังประชารัฐ[5] ต่อมาในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562 สกลธีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ ประจำปี 2562 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์[6] แต่หลังจากนั้นในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 สกลธีก็ได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ[7] ในปี พ.ศ. 2565 สกลธีได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามผู้สมัครอิสระ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง สกลธีได้ปรากฏตัวในงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชารัฐ[8] ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566 ณ ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ[9] โดยสกลธีกลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง[10] และรับหน้าที่หัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครของพรรค ร่วมกับ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์[11] วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 สกลธีได้ประกาศผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและตำแหน่งอื่น ๆ ของพรรคพลังประชารัฐ [12] วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 สกลธีถือเป็นแนวร่วมคนสำคัญคนหนึ่งของ กปปส. ร่วมกับคนอายุคราวเดียวกัน คือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, ชุมพล จุลใส และพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์[13][14] ในกลางดึกของคืนวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 สกลธีได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวระหว่างเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหมายศาลที่ออกมาในข้อหาการชุมนุม แต่ได้ถูกประกันตัวไปในวงเงิน 600,000 บาท หลังจากนั้นไม่นานนัก[15] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|