ข้อโต้เถียงเรื่องอาหารดัดแปรพันธุกรรม
ข้อโต้เถียงเรื่องอาหารดัดแปรพันธุกรรม (อังกฤษ : Genetically modified food controversies ) เป็นความขัดแย้งกันในเรื่องการบริโภคอาหาร และผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ๆ ที่ทำมาจากพืชดัดแปรพันธุกรรม ไม่ใช่จากพืชปลูกโดยวิธีตามที่เคยทำมาก่อน (คือแบบธรรมดา) และในเรื่องการใช้พันธุวิศวกรรม แบบอื่น ๆ ในกระบวนการผลิตอาหาร
เป็นความขัดแย้งกันระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ องค์กรควบคุมของรัฐ องค์การนอกภาครัฐ และนักวิทยาศาสตร์
ข้อโต้เถียงสำคัญรวมทั้ง
แม้ว่าสาธารณชนจะกังวลว่า การบริโภคอาหารดัดแปรพันธุกรรมอาจเป็นอันตราย แต่ก็มีมติที่คล้องจองกันโดยทั่วไปจากนักวิทยาศาสตร์ ว่า อาหารวางขายในตลาดที่มาจากพืชเหล่านี้ เสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ไม่มากไปกว่าอาหารธรรมดา[ 1] [ 2] [ 3]
ยังไม่เคยมีรายงานที่เชื่อถือได้ว่า มีผลเสียหายต่อสุขภาพมนุษย์เนื่องจากอาหารดัดแปรพันธุกรรม[ 4] [ 5] [ 6]
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมักจะเป็นห่วงเรื่องโอกาสความเสียหายต่อระบบนิเวศ มากกว่า
ส่วนองค์กรควบคุมอาหารจะตรวจสอบความปลอดภัยเริ่มที่การประเมินว่า อาหารพันธุวิศวกรรมนั้นสมมูลอย่างสำคัญ (substantial equivalence) กับอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเช่นนั้น ที่ยอมรับกันแล้วว่าเหมาะสมเพื่อการบริโภคของมนุษย์หรือไม่[ 7] [ 8] [ 9] [ 10]
แม้ว่า การขึ้นป้ายอาหารว่า เป็นผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (genetically modified organism หรือ GMO) จะบังคับใช้ในหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้บังคับใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา นอกจากนั้นแล้ว องค์การอาหารและยาของสหรัฐ ยังไม่ยอมรับความแตกต่างกันระหว่างอาหารจาก GMO กับอาหารที่ไม่ใช่อีกด้วย
องค์กรที่ต่อต้าน GMO เช่น Organic Consumers Association, Union of Concerned Scientists , และกรีนพีซ อ้างว่า ความเสี่ยงต่าง ๆ ยังไม่ได้ศึกษาและควบคุมให้ดี นอกจากนั้นแล้ว ยังตั้งความสงสัยในความเป็นกลางขององค์กรของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแล
นอกจากองค์กรเหล่านี้ ยังมีสมาคมเกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ ที่อ้างว่า ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับผลระยะยาวต่อสุขภาพมนุษย์ และดังนั้น จึงเสนอให้บังคับการขึ้นป้ายอาหาร[ 11] [ 12]
หรือให้ระงับการใช้ไว้ช่วยคราว[ 13] [ 14] [ 15]
ประเด็นความกังวลรวมทั้งการปะปนกันระหว่างผลิตภัณฑ์อาหาร GMO และที่ไม่ใช่[ 16]
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม[ 13] [ 15]
ความเข้มงวดของกระบวนการควบคุม[ 14] [ 17]
และการรวมอำนาจการควบคุมแหล่งอาหารของบริษัทที่ผลิตและขายสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม [ 13]
ความรู้สึกของประชาชนชาวตะวันตก
กลุ่มผู้บริโภคที่สนใจเรื่องคุณภาพอาหาร ได้เกิดชื่อเสียงเด่นดังก่อนแม้การประดิษฐ์อาหารดัดแปรพันธุกรรม ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990
นิยาย เกี่ยวกับความยากลำบากของชีวิตคนต่างด้าว เรื่อง The Jungle นำไปสู่กฎหมายสำคัญฉบับแรกเกี่ยวกับอาหารและยาของสหรัฐในปี ค.ศ. 1906[ 18]
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความกังวลเรื่องความบริสุทธิ์และ "ความเป็นธรรมชาติ" ของอาหาร ที่พัฒนามาจากความกังวลเรื่องความสะอาดที่กล่าวถึงในนิยาย กลายเป็นประเด็นต่าง ๆ รวมทั้ง
คือในที่สุด สาธารณชนได้กลายมาเห็นอาหารดัดแปรว่า "ไม่เป็นธรรมชาติ" ซึ่งเป็นความเอนเอียงทางประชาน แบบเทิดทูน (halo effect) แบบตรงข้าม ตามแนวคิดทางจิตวิทยา [ 19]
โดยมีความรู้สึกเฉพาะคือพันธุวิศวกรรมกำลังคุกคามกระบวนการชีวภาพตามธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์มีจุดจำกัดที่จะเข้าใจผลลบที่อาจจะเกิดขึ้น[ 20]
ส่วนความรู้สึกด้านตรงกันข้ามก็คือ พันธุวิศวกรรม ความจริงเป็นวิวัฒนาการจากวิธีการคัดเลือกพันธุ์ ที่ทำกันมาแล้วเป็นเวลานาน[ 21]
งานสำรวจต่าง ๆ แสดงว่า สาธารณชนกังวลว่า การบริโภคอาหารดัดแปรพันธุกรรม มีอันตราย[ 22] [ 23] [ 24]
ว่า เทคโนโลยีชีวภาพ มีความเสี่ยง
ว่า ควรจะสืบหาข้อมูลเพิ่มขึ้น
และว่า ผู้บริโภคควรจะเลือกได้ว่าจะเสี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์หรือไม่[ 25] [ 25] [ 26]
คือ ความรู้สึกพื้น ๆ ทั่ว ๆ ไปที่มีอยู่แล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีกำลังเร่งเร็วยิ่งขึ้น และไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นจุดเด่นในประเด็นนี้เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงต่ออาหาร[ 25]
ผู้ที่ขับเคลื่อนความรู้สึกว่าอันตรายของสาธารณชนในสหรัฐ รวมทั้งสื่อเช่นโอปราห์ วินฟรีย์ [ 23] [ 27]
องค์กรเช่น Organic Consumers Association (สมาคมผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์)[ 28]
กรีนพีซ (โดยเฉพาะในเรื่องข้าวทอง )[ 29]
และ Union of Concerned Scientists (สหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย)[ 24] [ 30] [ 31] [ 32] [ 33]
ยังมีกลุ่มศาสนา ที่กังวลว่า อาหารที่ได้จากเทคโนโลยีเช่นนี้ จะเหมาะสมกับคำสอนของศาสนาหรือไม่
แต่ว่าโดยปี พ.ศ. 2544 ก็ยังไม่มีอาหารที่กำหนดว่าไม่ควรโดยกลุ่มชนยิว หรือกลุ่มชนอิสลาม [ 34]
แต่ว่าก็ยังมีคนยิวเป็นบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย[ 35]
มีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (เช่น Friends of the Earth)[ 36]
ที่จัดพันธุวิศวกรรมว่าเป็นประเด็นน่าเป็นห่วงโดยทั่วไปทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเมือง
แต่ก็มีกลุ่มอื่น ๆ ด้วย (เช่น GMWatch) ที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านพืชดัดแปรพันธุกรรมโดยเฉพาะหรือโดยหลัก[ 37] [ 38]
ประชามติคนตะวันตก
ในปี พ.ศ. 2546 วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ ที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน รายงานว่าโครงการ Public Perceptions of Agricultural Biotechnologies in Europe (ความรู้สึกสาธารณชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ในยุโรป ตัวย่อ PABE) ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่โดยสหภาพยุโรป พบว่า[ 39]
สาธารณชนทั้งไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธ GMO
แต่พบว่า ประชาชนมีคำถามสำคัญเกี่ยวกับ GMO คือ[ 40]
ทำไมเราต้องใช้ GMO
ใครได้รับผลประโยชน์ในการใช้
ใครตัดสินว่าควรพัฒนาใช้ และตัดสินอย่างไร
ทำไมจึงไม่มีการแจ้งการใช้ GMO ในอาหารที่ดีกว่านี้ ก่อนที่จะออกสู่ตลาด
ทำไมเราจึงไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ในการซื้อหรือไม่ซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้
โอกาสผลระยะยาวที่ไม่สามารถเปลี่ยนคืนได้ ได้รับการประเมินอย่างจริงจังแล้วหรือไม่ และโดยใคร
องค์กรควบคุมของรัฐ มีอำนาจเพียงพอหรือไม่ที่จะควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างมีประสิทธิผล
ใครต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้
กฎควบคุมขององค์กรของรัฐสามารถบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ใครจะเป็นคนรับผิดชอบถ้ามีปัญหาที่รู้ก่อนไม่ได้เกิดขึ้น
PABE ยังพบด้วยว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของประชาชนไม่ได้เปลี่ยนความเห็น เพราะว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ตอบปัญหาเหล่านี้[ 40]
และว่า ประชาชนไม่ได้เรียกร้องให้มีความเสี่ยงเป็นศูนย์ และตระหนักเป็นอย่างดีว่า ชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ต้องนำมาดุลกัน แล้วประเมินเทียบกับผลประโยชน์ที่พึงได้
สิ่งที่ประชาชนร้องเรียกก็คือ การประเมินความเสี่ยงที่ตรงกับความจริงยิ่งขึ้น โดยองค์กรควบคุมของรัฐและโดยผู้ผลิต GMO[ 40]
ในปี พ.ศ. 2549 มีการตีพิมพ์งานปฏิทัศน์ของงานสำรวจต่าง ๆ ในสหรัฐระหว่างปี พ.ศ. 2544-2550[ 41]
ซึ่งแสดงว่า ความรู้คนอเมริกันเกี่ยวกับอาหารและสัตว์ดัดแปรพันธุกรรม น้อยมากในช่วงงานสำรวจ
เช่น มีการประท้วงมะเขือเทศ ดัดแปรพันธุกรรมของบริษัท Calgene (ปัจจุบันเป็นส่วนของบริษัทมอนแซนโต ) โดยเข้าใจอย่างผิด ๆ ว่า มะเขือเทศมียีน ของปลา เป็นการสับสนกับมะเขือเทศยีนปลา (Fish tomato) ของบริษัท DNA Plant Technology ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตแบบตัดต่อพันธุกรรมข้ามพันธุ์ (transgenic) ที่ไม่ได้วางตลาด[ 42] [ 43]
ส่วนงานสำรวจในปี พ.ศ. 2550 ขององค์กรอาหารของประเทศออสเตรเลียนิวซีแลนด์ (Food Standards Australia New Zealand) พบว่า ในออสเตรเลียที่บังคับการขึ้นป้าย[ 44]
ประชาชนส่วนน้อยในอัตรา 27% จะตรวจดูป้ายเพื่อดูว่ามีองค์ประกอบดัดแปรพันธุกรรมในผลิตภัณฑ์อาหารที่จะเริ่มซื้อหรือไม่[ 45]
งานปฏิทัศน์งานสำรวจผู้บริโภคชาวยุโรปในปี พ.ศ. 2552 สรุปว่า ความรู้สึกต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมในยุโรป ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ[ 46]
และผู้ที่ให้คำตอบแก่งานสำรวจประมาณ 80% "ไม่ได้หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ดัดแปรพันธุกรรมอย่างจงใจเมื่อไปช็อปปิ้ง"
ในปี พ.ศ. 2553 งานสำรวจความเห็นประชาชนของสหภาพยุโรป เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ พบว่า[ 47]
พืชดัดแปรพันธุกรรมประเภทที่ก็สามารถทำได้ด้วยโดยวิธีธรรมดา จะทำให้เกิดปฏิกิริยาจากประชาชนน้อยกว่าพืชที่ทำโดยการตัดต่อพันธุกรรม (transgenic) ซึ่งใช้ยีน จากสปีชีส์ ที่แตกต่างกันอย่างมากทางอนุกรมวิธาน [ 48]
ในปี พ.ศ. 2553 งานสำรวจในสหรัฐพบว่า ผู้บริโภค 34% เป็นห่วงกังวลอย่างมากหรืออย่างยิ่งเรื่องอาหารดัดแปรพันธุกรรม แต่มีอัตราลดลง 3% จากปี 2551[ 49]
ผลที่พบแตกต่างกันระหว่างเพศ คือ 10% ของผู้ชายเป็นห่วงอย่างยิ่ง เทียบกับ 16% ในหญิง และมี 27% ของชายที่ไม่ห่วงเรื่องนี้เลย เทียบกับ 16% ในหญิง
ในงานสำรวจปี พ.ศ. 2556 โดยหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ พบว่า คนอเมริกัน 93% ต้องการให้ขึ้นป้ายอาหารดัดแปรพันธุกรรม[ 50]
แต่หลังจากมีการให้รางวัลอาหารโลก ปี พ.ศ. 2556 กับพนักงานของบริษัทพืชดัดแปรพันธุกรรมมอนแซนโต และ Syngenta[ 51]
ประชาชนในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ก็ลงประชามติ ปฏิเสธการบังคับขึ้นป้ายอาหารดัดแปรพันธุกรรม[ 52]
ถ้าเป็นคำถามที่ว่า "อาหาร GMO ปลอดภัยที่จะบริโภคหรือไม่" ความเห็นของสาธารณชนและของนักวิทยาศาสตร์สมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ (American Association for the Advancement of Science ตัวย่อ AAAS เป็นสมาคมวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดในโลก) แตกต่างกันมาก คือประชาชน 37% เห็นว่าปลอดภัย แต่นักวิทยาศาสตร์ 88% เห็นว่าปลอดภัย[ 53]
การประชาสัมพันธ์และการประท้วง
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 กลุ่มที่ชื่อว่า "Take the Flour Back (เอาแป้งคืนมา)" ประท้วงแผนงานของกลุ่ม Rothamsted Experimental Station (ปัจจุบันเรียกว่า Rothamsted Research) ที่อยู่ในประเทศอังกฤษ ที่จะทดลองข้าวสาลี ดัดแปรพันธุกรรมที่สามารถขับเพลี้ยสกุล Aphididae ออกได้[ 54]
นักวิจัยได้เขียนจดหมายไปหาชนในกลุ่มเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ขอให้ระงับการประท้วงที่กำหนดจะทำในวันที่ 27[ 55]
แต่สมาชิกในกลุ่มกล่าวว่า กลุ่มเป็นห่วงเรื่องการหลุดออกไปสู่ธรรมชาติของพืชทดลอง โดยอ้างตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐและแคนาดา[ 56]
ต่อมา Rothamsted Research และองค์กรกุศลที่โปรโหมตความรู้วิทยาศาสตร์ของประชาชน Sense About Science จึงได้จัดช่วงคำถาม-คำตอบ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับโอกาสที่เหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้น[ 57]
วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 กลุ่ม "March Against Monsanto (สวนสนามต่อต้านมอนแซนโต)" นัดชุมนุมกันเพื่อประท้วง[ 58]
ในเมืองบัวโนสไอเรส และเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก
ส่วนในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่า มีคนชุมนุมประท้วงกันถึง 6,000 คน[ 59]
และก็มีคนหลายร้อยสวนสนามประท้วงในนครลอสแอนเจลิส [ 60]
ตามทีวีช่องหนึ่ง มีคนเป็นร้อยชุมนุมประท้วงในเมืองคิตเชเนอร์ รัฐออนแทรีโอ [ 61]
แม้ว่าจำนวนผู้ประท้วงรวมทั้งหมดทั่วโลกจะไม่ชัดเจน แต่ประเมินว่ามี "หลายแสน"[ 62]
จนกระทั่งถึง "2 ล้าน"[ 59] [ 63]
และตามผู้จัดการประท้วง มีคนมาชุมนุมประท้วงในเมือง 436 เมือง ในประเทศ 52 ประเทศ[ 64] [ 65]
ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 บริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ การเกษตรจึงริเริ่มโครงการที่เรียกว่า GMO Answers (คำตอบ GMO) เพื่อตอบคำถามของผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา[ 66]
โครงการริเริ่มนี้มีผู้เชี่ยวชาญอาชีพต่าง ๆ ช่วยตอบคำถาม เริ่มตั้งแต่เกษตรกรธรรมดา เกษตรกรอินทรีย์ ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมเกษตรกรรม นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์ นักโภชนาหาร และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่เป็นผู้จัดตั้งองค์กรอุตสาหกรรม Council for Biotechnology Information ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้เงินทุนกับโครงการริเริ่ม[ 67]
บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพผู้จัดตั้งรวมทั้ง BASF, ไบเออร์ , Dow AgroSciences, DuPont Pioneer, มอนแซนโต และ Syngenta[ 68]
ในเดือนตุลาคม 2556 กลุ่มที่เรียกว่า European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility (เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ยุโรปเพื่อความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ตัวย่อ ENSSER) ได้เผยแพร่คำแถลงการณ์ว่า ยังไม่มีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม[ 69]
ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ประมาณ 200 คนในสาขาต่าง ๆ ที่ลงลายเซ็นร่วมด้วยภายในอาทิตย์แรกที่เผยแพร่[ 51]
และกลายเป็นคำแถลงการณ์ที่นิยมใช้โดยกลุ่มต่อต้าน GMO ต่าง ๆ[ 70] [ 71] [ 72]
แต่นี่เป็นคำแถลงการณ์ที่ขัดแย้งกับมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ดังที่ AAAS และงานศึกษาต่าง ๆ ได้แจ้ง[ 1] [ 2] [ 3]
การทำลายทรัพย์สินและการข่มขู่
มีองค์กรปฏิบัติการหัวรุนแรงต่าง ๆ เช่น Earth Liberation Front, กรีนพีซ , และอื่น ๆ ที่ทำลายทรัพย์สินของผู้ที่ทำงานวิจัยสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม โดยทำกระจายไปทั่วโลก[ 73] [ 74] [ 75] [ 76] [ 77]
ในประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศยุโรปอื่น ๆ โดยปี พ.ศ. 2557 ผู้ประท้วงได้ทำลายงานทดลองพืชแล้ว 80 งานที่ทำโดยสถาบันวิชาการหรือรัฐ[ 78]
ในบางกรณี ก็ยังมีคำข่มขู่และความรุนแรงกระทำต่อบุคคลและทรัพย์สินอีกด้วย[ 78]
เช่นในปี พ.ศ. 2542 นักปฏิบัติการหัวรุนแรงวางเพลิงแล็บเทคโนโลยีชีวภาพที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต ทำลายงานที่ทำมานานหลายปี และทรัพย์สินมูลค่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15 ล้านบาท)[ 79]
ในปี พ.ศ. 2526 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้ฟ้องศาล มีผลยังการทดสอบภาคสนามของแบคทีเรียลดการเกาะของน้ำแข็ง (Ice-minus bacteria) ให้ล่าช้า[ 80]
แต่ในปี พ.ศ. 2530 แบคทีเรียที่ว่านี้ ก็กลายเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMO) ที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างแรก[ 81]
หลังจากสเปรย์แบคทีเรียลงในสวนสตรอว์เบอร์รี ทดสอบในรัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วตามด้วยการสเปรย์ลงบนต้นอ่อนมันฝรั่ง [ 82]
ผู้ประท้วงก็ได้ถอนพืชที่ปลูกในสนามทดสอบทั้งสองออก แต่ก็มีการปลูกทดแทนในวันต่อมา[ 81]
ในปี พ.ศ. 2554 กรีนพีซต้องจ่ายค่าเสียหาย เมื่อสมาชิกได้บุกรุกเข้าไปในสถานที่ของ Australian scientific research organization (CSIRO) แล้วทำลายแปลงข้าวสาลี ดัดแปรพันธุกรรมแปลงหนึ่ง
ผู้พิพากษากล่าวว่า กรีนพีซไม่มีความจริงใจโดยใช้สมาชิกอ่อนอาวุโสเพื่อทำการ มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้โทษมาถึงตน
แล้วให้คำพิพากษารอการลงโทษเป็นเวลา 9 เดือนแก่จำเลย[ 73] [ 83] [ 84]
วันที่ 8 สิงหาคม 2556 ผู้ประท้วงได้ถอนพืชในแปลงทดลองข้าวทอง ในประเทศฟิลิปปินส์ [ 85] [ 86]
แต่มีอดีตผู้ปฏิบัติการหัวรุนแรงที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือนายมาร์ค ไลนาส[ 87]
ได้เขียนบทความให้สำนักข่าว Slate ว่า กลุ่มย่อยนำโดยองค์กรหัวรุนแรงคือ Kilusang Magbubukid ng Pilipinas (KMP) เป็นตัวการทำลายทรัพย์สิน ในขณะที่ผู้ประท้วงอื่น ๆ ได้แต่ดูอย่างตระหนกตกใจ[ 88]
ส่วนองค์กรการกุศลเพื่อคนตาบอด Helen Keller International แจ้งว่า ข้าวทองออกแบบมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการขาดวิตามินเอ ที่ทำให้เด็กตายหรือตาบอดเป็นแสน ๆ คนต่อปีในประเทศกำลังพัฒนา [ 89]
สิ่งตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์
การตีพิมพ์ข้อมูลความปลอดภัยและผลของอาหารดัดแปรพันธุกรรม มักจะทำให้เกิดการขัดแย้ง
กรณีแรก ๆ กรณีหนึ่ง เกิดขึ้นในปี 2542 เมื่อวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เนเจอร์ พิมพ์ผลงานที่แสดงพิษภัยที่อาจจะมีของข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม (Bt maize) กับแมลงผีเสื้อ
ซึ่งมีผลเป็นความวุ่นวายในสาธารณชนและเป็นการประท้วง
แต่ว่า โดยปี 2544 ได้มีงานศึกษาที่ติดตามมาอีกหลายงานที่สรุปว่า "ละอองเรณู ของ Bt maize ชนิดสามัญต่าง ๆ ไม่มีพิษต่อตัวอ่อนของผีเสื้อพันธุ์ Danaus plexippus (Monarch butterfly) ในระดับความเข้มข้น ที่ผีเสื้อจะพบจริง ๆ ในสนาม" ซึ่งปิดประเด็นปัญหาในเรื่องนั้น[ 90]
นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นห่วง จึงเริ่มตรวจสอบวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์แล้วแสดงปฏิกิริยาที่ชัดเจน ทั้งโดยส่วนตัวทั้งในสาธารณชน เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของความเห็นที่ตนเห็นว่าคลาดเคลื่อน เพื่อป้องกันการคัดค้านจากสาธารณชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไร้เหตุผล[ 90]
ในปี 2556 บทความหนึ่งในนิตยสารวิทยาศาสตร์ Scientific American ให้ข้อสังเกตว่า มีเพียงนักชีววิทยา เป็นส่วนน้อยกระจิริด ที่ได้ตีพิมพ์เหตุข้อกังวลเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรม แต่ก็กล่าวด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุน GMO ในการผลิตอาหาร มักจะให้ความสำคัญกับเหตุข้อกังวลเหล่านั้นน้อยไป[ 91]
ก่อนปี พ.ศ. 2553 นักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการทำงานวิจัยกับพืชหรือเมล็ดพืชดัดแปรพันธุกรรรม ไม่สามารถจะทำได้เพราะว่ามีสัญญาผู้ใช้ (end-user agreement) ที่จำกัดเกินไป
ต่อมาก็เกิดนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านข้อจำกัดเช่นนั้น
แล้วส่งคำแถลงการณ์ไปยังสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ในปี 2552 โดยประท้วงว่า
"เพราะเหตุที่เข้าถึงได้อย่างจำกัด จึงไม่สามารถจะทำงานวิจัยที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงและที่ถูกต้องตามกฎหมาย เกี่ยวกับคำถามสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้"[ 92]
บทความบรรณาธิการในปี 2552 ของนิตยสาร Scientific American อ้างนักวิทยาศาสตรผู้หนึ่งผู้กล่าวว่า มีงานศึกษาหลายงานที่ได้รับอนุมัติจากบริษัท แต่ต่อมาก็ถูกห้ามไม่ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานเมื่อไม่แสดงผลที่น่าชอบใจ
คณะบรรณาธิการจึงเสนอให้ EPA บังคับว่า การอนุมัติพืชดัดแปรพันธุกรรมจะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัทเปิดโอกาสให้นักวิจัยอิสระเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่องานวิจัยได้อย่างไม่จำกัด แม้ว่าคณะบรรณาธิการจะเห็นด้วยกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา [ 93]
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2552 สมาคมการค้าเมล็ดอเมริกัน (American Seed Trade Association) ตกลงที่จะ "อนุญาตผู้วิจัยสาธารณะ ให้มีอิสระมากขึ้นในการศึกษาผลกระทบของพืชดัดแปรพันธุกรรมที่ใช้ทำอาหาร"
โดยมีบริษัทเซ็นให้สัญญาแบบรวม ๆ ที่จะอนุญาตงานวิจัยเช่นนี้ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากรู้สึกดีต่ออนาคต[ 94]
โดยมีนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งจาก Agricultural Research Service (ARS) ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ได้กล่าวไว้ว่า "[สัญญานี้] ดีและเฉพาะเจาะจงมาก ARS จะสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยทั่วไปตามที่ต้องการ"
แต่ว่า ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางพวกที่ยังเป็นห่วงกังวลว่า สัญญานี้จะมีผล "เปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมงานวิจัยที่เต็มไปด้วยการกีดขวางและความไม่ไว้วางใจ" ได้หรือไม่[ 92]
คือความจริงมอนแซนโต ก็ได้มีสัญญางานวิจัย (คือ Academic Research Licenses - สัญญาอนุญาตงานวิจัยวิชาการ) กับมหาวิทยาลัย ประมาณ 100 แห่งอยู่แล้ว ที่อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย สามารถทำงานวิจัยกับผลิตภัณฑ์ดัดแปรพันธุกรรมของบริษัท โดยที่บริษัทไม่เข้าไปควบคุมจัดการ[ 95]
โดยปี พ.ศ. 2546 การทดสอบภาคสนามของพืชดัดแปรพันธุกรรมได้ลดลง 87% จากปี 2541 เนื่องจากการถอนตัวของบริษัทต่าง ๆ เพราะเหตุ "สถานกาณ์ทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจน การยอมรับผลิตภัณฑ์แปรพันธุกรรมในระดับต่ำของสาธารณชน และตลาดที่ไม่แน่นอน" และการตัดงบประมาณให้ทุนจากภาครัฐ[ 96]
งานปฏิทัศน์ ปี 2556 กับสิ่งตีพิมพ์ 1,783 บทความระหว่างปี 2545-2556 เกี่ยวกับพืชและอาหารดัดแปรพันธุกรรมพบว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีอันตรายจากการใช้พืชดัดแปรพันธุกรรมที่วางตลาดแล้วในเวลานั้น ๆ[ 97]
และ Biology Fortified, Inc. (เรียกสั้น ๆ ว่า Biofortified) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไร อิสระ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลความจริงและสนับสนุนการอภิปรายประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเรื่องพันธุศาสตร์ และพันธุวิศวกรรม [ 98]
ได้วางแผนเพื่อเพิ่มสิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ รวมกับงานที่รวบรวมโดยงานปฏิทัศน์ปี 2556 ในฐานข้อมูล ขององค์กรซึ่งรวบรวมงานศึกษาเกี่ยวกับพืชดัดแปรพันธุกรรม เป็นฐานข้อมูลที่เรียกว่า GENERA[ 99] [ 100]
มีงานวิเคราะห์ ในปี 2554 ที่ปฏิทัศน์งานศึกษา 94 งานที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน เกี่ยวกับความปลอดภัยของ GMO เพื่อประเมินว่าความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ (conflicts of interest) มีสหสัมพันธ์ กับผลที่แสดง GMO ในทางบวกหรือไม่
แล้วพบว่าแม้ว่าจะไม่มีสหสัมพันธ์ระหว่างการขัดกันทางผลประโยชน์กับผลที่ได้ (p = 0.631) แต่ว่าก็ยังมีสหสัมพันธ์ระหว่างความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม (คือมีความขัดแย้งกันทางอาชีพ) กับผลของการศึกษา (p < 0.001)[ 101]
แต่ว่า ในบรรดางานศึกษา 94 งาน 52% ไม่ได้แจ้งเรื่องแหล่งเงินทุน 10% จัดว่า "กำหนดไม่ได้" ในเรื่องความขัดแย้งกันทางอาชีพ และในบรรดางาน 43 งานที่มีความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์หรือทางอาชีพ งาน 28 งานเป็นแบบ "compositional"
และตามอดีตนักปฏิบัติการหัวรุนแรงผู้หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกันทางอาชีพและผลบวกที่ได้ อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะว่า บริษัทมักจะว่าจ้างผู้ทำงานอิสระ เพื่อทำงานศึกษาต่อเมื่อพบผลบวกในงานวิจัยที่ทำในบริษัทแล้ว
แต่ว่าถ้ามีผลลบ ก็จะไม่ทำการศึกษาต่อ ๆ ไปในเรื่องนั้น ๆ[ 102]
ดังนั้น งานวิจัยที่บริษัทว่าจ้าง จะมีโอกาสสูงกว่าที่แสดงผลบวก
สุขภาพ
มีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ ว่า อาหารดัดแปรพันธุกรรม ที่วางตลาดแล้วในบัดนี้ ไม่ได้เสี่ยงสูงกว่าอาหารธรรมดา[ 1] [ 2] [ 3] [ 4] [ 91] [ 103] [ 104] [ 105]
คือไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลลบในประชากรมนุษย์[ 4] [ 5] [ 6]
สมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ (American Association for the Advancement of Science ตัวย่อ AAAS) ซึ่งเป็นสมาคมทางวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก และเป็นผู้พิมพ์นิตยสาร Science ในปี 2555 อ้างว่า "การบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ได้เสี่ยงกว่าอาหารเดียวกันที่มีส่วนผสมมาจากพืชที่พัฒนาขึ้นผ่านวิธีธรรมดา"[ 1]
สมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) วิทยาศาสตรบัณฑิตสถานแห่งชาติ (National Academies of Sciences) และราชสมาคมการแพทย์ (Royal Society of Medicine) ล้วนแต่กล่าวว่า ยังไม่มีการรายงานผลลบต่อสุขภาพมนุษย์เนื่องกับอาหารดัดแปรพันธุกรรม ผ่านวรรณกรรมที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน [ 4] [ 5] [ 6]
โครงการ ENTRANSFOOD เป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ให้ทุนโดยคณะกรรมาธิการยุโรป และจัดตั้งขึ้นเพื่อให้วางแผนโปรแกรมงานวิจัย เพื่อจัดการปัญหาความกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับความปลอดภัยและคุณค่าของเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตร[ 106]
ENTRANSFOOD สรุปว่า "วิธีการทดสอบแบบผสมที่มีอยู่ เป็นระบบการทดสอบที่สมควร สามารถใช้ประเมินความปลอดภัยของพืชแปรพันธุกรรมได้"[ 107]
ดังนั้น ในปี 2553 ผู้อำนวยการของหน่วยการวิจัยและนวัตกรรมของคณะกรรมาธิการยุโรปจึงรายงานว่า "ข้อสรุปหลักที่ได้จากงานวิจัยกว่า 130 โครงการ ที่ทำเป็นเวลานานกว่า 25 ปี ทำโดยกลุ่มนักวิจัยอิสระกว่า 500 กลุ่ม ก็คือ เทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะ GMO ไม่ได้เสี่ยงกว่าเทคโนโลยีเพาะพันธุ์พืชแบบธรรมดา"[ 2] : 16
การเปรียบเทียบระหว่างการเพาะพันธุ์พืชแบบธรรมดา (conventional) กับแบบแปรพันธุ์โดยวิธี transgenesis (โดยใช้ยีนจากสิ่งมีชีวิตตระกูลอื่น) และ cisgenesis (โดยใช้ยีนจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติใกล้ชิด)
แต่ว่า มติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ และขององค์กรควบคุมของรัฐชี้ว่า ต้องพัฒนาเทคโนโลยีและกฎระเบียบ ที่ใช้ในการทดสอบ[ 5] [ 108]
สิ่งมีชีวิตทั้งแบบ transgenesis (โดยใช้ยีนจากสิ่งมีชีวิตตระกูลอื่น) และ cisgenesis (โดยใช้ยีนจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติใกล้ชิด) ยังมีการทดสอบเหมือนกัน
ในปี 2555 กลุ่ม GMO ขององค์กรควบคุมความปลอดภัยอาหารยุโรป (European Food Safety Authority ตัวย่อ EFSA) กล่าวว่า "อันตรายที่ไม่เคยมีมาก่อน" อาจจะเกิดขึ้นสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตแบบ transgenesis[ 109]
Substantial equivalence (ความสมมูลอย่างสำคัญ)
ผลิตภัณฑ์เกษตรธรรมดาโดยมาก มาจากการจัดการพันธุกรรมผ่านกระบวนการผสมพันธุ์แบบข้ามพันธุ์ (cross-breeding) และแบบลูกผสม (hybridization)[ 110] [ 111] [ 112]
รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควบคุมการวางตลาดและการปล่อยอาหารดัดแปรพันธุกรรมเป็นกรณี ๆ
ประเมินความเสี่ยงและมีกฎควบคุมที่ต่าง ๆ กัน
ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปมีความแตกต่างกันที่สำคัญ
พืชผลที่ไม่ใช้เป็นอาหารจะไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อเป็นอาหาร[ 113]
อาหารดัดแปรพันธุกรรมจะไม่ทดสอบในมนุษย์ก่อนวางตลาด เพราะไม่ใช่สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ และไม่ได้มุ่งหมายให้บริโภคเฉพาะปริมาณเป็นระยะ ๆ จึงทำให้การศึกษาแบบคลินิก นั้นยากขึ้น[ 9]
เจ้าหน้าที่องค์กรควบคุมจะตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของยีน ที่สัมพันธ์กับโปรตีนที่เป็นผล และผลของโปรตีนเช่นนั้นต่ออาหาร[ 114]
เจ้าหน้าที่ควบคุมจะเช็คว่า อาหารดัดแปรพันธุกรรมนั้นสมมูลอย่างสำคัญ (substantial equivalence) กับอาหารธรรมดา เพื่อจะตรวจจับผลลบที่ไม่ได้ตั้งใจ[ 7] [ 8] [ 9]
โปรตีนใหม่ที่ต่างไปจากโปรตีนในอาหารปกติ หรือความผิดปกติอย่างอื่นที่พบในการเปรียบเทียบ จะต้องผ่านการวิเคราะห์ทางด้านพิษวิทยา ต่อไป[ 9]
ในปี 2542 นักวิชาการที่ Rowett Research Institute ในประเทศสกอตแลนด์ เตือนว่า การทดสอบโดยความสมมูลอย่างสำคัญ "อาจจะมีปัญหาในบางกรณี" และการทดสอบความปลอดภัยที่มีในปัจจุบัน อาจจะปล่อยสารอันตรายเข้าสู่ระบบเก็บส่งอาหารของมนุษย์[ 115]
ในปีเดียวกับมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่วิจารณ์ว่า ระเบียบมาตรฐานที่ว่านี้เป็นผลของงานวิทยาศาสตร์เทียม ที่มีเหตุมาจากการเมืองและการวิ่งเต้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และเพื่อช่วยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพให้ลดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการทดสอบความปลอดภัย
แล้วเสนอว่า ให้ทดสอบอาหารดัดแปรพันธุกรรมทางชีววิทยา ทางพิษวิทยา และทางวิทยาภูมิคุ้มกัน อย่างเข้มงวด และให้ทิ้งมาตรฐานความสมมูลอย่างสำคัญไปเสีย[ 116]
ต่อมาข้อวิจารณ์นี้ถูกวิจารณ์ว่า บิดเบือนประวัติ[ 117]
บิดเบือนข้อมูลที่มีอยู่ และมีเหตุผลที่ไม่ดี[ 118]
มีนักวิชาการท่านอื่นอีก (รวมทั้ง Kuiper) ที่อ้างว่า ข้อวิจารณ์พูดถึงการประเมินความปลอดภัยอย่างง่าย ๆ เกินไป และการทดสอบความสมมูลนั้น เป็นอะไรที่มากกว่าการทดสอบโดยเคมี และอาจจะรวมการทดสอบความเป็นพิษด้วย[ 10] [ 119]
แต่ก็ยังมีนักวิชาการอื่นอีกที่สนับสนุนกฎหมายเพื่อทดแทนมาตรฐานความสมมูลอย่างสำคัญ ด้วยการศึกษาความปลอดภัยแบบอื่น ๆ[ 120]
นักวิชาการ Kuiper ตรวจสอบกระบวนการนี้เพิ่มเติมในปี 2545 แล้วพบว่า ความสมมูลอย่างสำคัญไม่ได้วัดความเสี่ยงสัมบูรณ์ (absolute risk) แต่กำหนดความแตกต่างกันระหว่างผลิตภัณฑ์ใหม่กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ เขาอ้างว่า การกำหนดความแตกต่างเช่นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมในกระบวนการประเมินความปลอดภัย[ 10]
และว่า "แนวคิดเกี่ยวกับความสมมูลอย่างสำคัญ เป็นเครื่องมือที่พอเพียงในการกำหนดปัญหาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แปรพันธุกรรมที่มีผลิตภัณฑ์ธรรมดาที่คล้ายกัน"
แต่เขาก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า มาตรฐานนี้ประยุกต์ใช้ได้ยากโดยเหตุผลต่าง ๆ รวมทั้งความจริงว่า อาหารธรรมดาก็มีสารเคมีที่เป็นพิษ หรือก่อมะเร็ง และอาหารที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าปลอดภัย
การขาดความรู้ที่สมบูรณ์เกี่ยวกับอาหารธรรมดา อาจหมายความว่า อาหารดัดแปรอาจจะแตกต่างกันโดยสิ่งที่ไม่ใช่สารอาหาร (anti-nutrient) และโดยพิษธรรมชาติที่ยังกำหนดไม่ได้ในพืชดั้งเดิม ซึ่งอาจจะทำให้การทดสอบไม่สามารถตรวจจับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตราย[ 10]
นอกจากนั้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกก็อาจจะตรวจไม่เจอเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ข้าวโพด ที่เสียหายเพราะแมลงมักจะมีพิษเห็ดรา fumonisins ในระดับสูง เป็นสารก่อมะเร็ง เกิดจากเห็ดรา ทีเกาะไปตามหลังของแมลงแล้วเติบโตขึ้นในข้าวโพดตรงที่แมลงกัดกิน
งานศึกษาหลายงานแสดงว่า ข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม Bt maize มีระดับ fumonisins ที่ต่ำกว่าข้าวโพดธรรมดาที่เสียหายเพราะแมลง[ 121] [ 122]
มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (เวิ้ร์กฉ็อป) และการประชุมปรึกษาหารือหลายครั้งที่จัดโดยองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา องค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ทำงานรวบรวมข้อมูลและพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารธรรมดา เพื่อใช้ประเมินอาหารดัดแปรพันธุกรรม[ 108] [ 123]
งานสำรวจสิ่งตีพิมพ์ในปี 2554 ที่เปรียบเทียบคุณสมบัติภายในของพืชดัดแปรพันธุกรรมและพืชธรรมดา (โดยตรวจสอบจีโนม proteome และ metabolome) สรุปว่า พืชดัดแปรพันธุกรรมมีผลกระทบต่อการแสดงออกของยีน หรือต่อโปรตีนและระดับเมทาบอไลท์ ในระดับที่ต่ำกว่าพืชที่เพาะพันธุ์แบบธรรมดา[ 124]
งานปฏิทัศน์ปี 2556 ต่อมาเสนอว่า การดัดแปรพันธุ์แบบ transgenesis เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในระดับที่น้อยกว่าเทคนิคการเพาะพืชธรรมดา เพราะว่า การเพาะพืชธรรดาเปลี่ยนแปลงยีนในระดับที่สูงกว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงแบบต่าง ๆ รวมทั้งการกลายพันธุ์ การหลุดหาย การแทรก (insertion) และการจัดแจงใหม่ (rearrangement) เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงโดยพันธุวิศวกรรมที่จำกัด ซึ่งบ่อยครั้งเปลี่ยนแค่ยีน เดียว
นอกจากนั้นแล้ว องค์การอาหารและยาของสหรัฐยังพบว่า งาน 148 งานที่องค์กรประเมินทั้งหมด มีความสมมูลอย่างสำคัญกับพืชธรรมดา และเจ้าหน้าที่ควบคุมญี่ปุ่นก็พบความสมมูลในงานทั้งหมด 189 งานที่รัฐตรวจสอบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะสืบสายพันธุ์รวมกันหลายอย่าง
ความสมมูลที่พบเช่นนี้รับการยืนยันโดยงานที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน กว่า 80 ชิ้น
ดังนั้น ผู้เขียนงานปฏิทัศน์จึงอ้างว่า การศึกษาแบบ compositional equivalence ที่บังคับให้ทำในพืชดัดแปรพันธุกรรมเท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำต่อไปเพราะเพียงเหตุผลว่า มีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ให้เมื่อเริ่มใช้วิธีนี้ในปี 2536[ 125]
ภูมิแพ้
ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงยีนที่รู้จักกันดีก็คือการก่อสารก่อภูมิแพ้
ดังนั้น การทดสอบสารภูมิแพ้จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ต้องผ่านการทดสอบตามกฎควบคุม
และองค์กรต่อต้าน GMO เช่น European Green Party และกรีนพีซ มักจะเน้นกล่าวถึงความเสี่ยงนี้[ 126]
แต่ว่างานปฏิทัศน์ในปี 2548 ที่ทบทวนการทดสอบสารภูมิแพ้พบว่า "ยังไม่มีโปรตีนเทคโนโลยีชีวภาพในอาหารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้"[ 127]
ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลก็บังคับให้อาหารดัดแปร มีการทดสอบตรวจดูสารภูมิแพ้ก่อนที่จะวางตลาด[ 128]
ผู้สนับสนุน GMO ให้ข้อสังเกตว่า เพราะว่ามีการบังคับให้ทดสอบความปลอดภัย ความเสี่ยงการปล่อยพันธุ์พืชที่มีสารก่อภูมิแพ้หรือสารพิษใหม่ ๆ จะน้อยกว่ากระบวนการเพาะพันธุ์พืชธรรมดา ที่ไม่บังคับให้มีการทดสอบเลย
นอกจากนั้นแล้ว พันธุวิศวกรรม มีผลกระทบต่อการแสดงออกของยีน หรือต่อโปรตีนและระดับเมทาบอไลท์ น้อยกว่าการเพาะพันธุ์พืชแบบธรรมดา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนพันธุ์พืชแบบไม่สามารถทำให้เฉพาะเจาะจง[ 124]
และนักพิษวิทยา ก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า "อาหารธรรมดาไม่ใช่ไม่เสี่ยง (เพราะว่า) สารก่อภูมิแพ้มีอยู่ในอาหารธรรมดาทั้งชนิดที่มีอยู่แล้วและทั้งที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ
ยกตัวอย่างเช่นมีการวางตลาดลูกกีวี ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรปในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ซึ่งในขณะนั้นไม่ปรากฏสารก่อภูมิแพ้ใด ๆ แต่ว่า ทุกวันนี้ มีคนที่แพ้ผลไม้ชนิดนี้"[ 129]
นอกจากนั้นแล้ว การแปรพันธุกรรมยังสามารถกำจัดสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาจจะลดความเสี่ยงการแพ้อาหาร[ 130]
เช่นในปี 2546 มีการทดสอบถั่วเหลือง พันธุ์ลดสารภูมิแพ้ แล้วพบว่า ไม่มีสารก่อภูมิแพ้สำคัญ ๆ ในถั่วแปรพันธุกรรมที่พบในถั่วธรรมดา[ 131]
วิธีการเดียวกันก็ทดลองแล้วในหญ้า สกุล Lolium ซึ่งปกติมีละอองเรณู ที่เป็นเหตุสำคัญของโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ในกรณีนี้ มีการสร้างหญ้าดัดแปรพันธุกรรมที่สืบลูกหลานได้ โดยไม่มีสารก่อภูมิแพ้หลัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสร้างหญ้าปราศจากสารก่อภูมิแพ้นั้นเป็นไปได้[ 132]
บริษัท GMO ได้ระงับผลิตภัณฑ์ GMO ที่พบว่าทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ก่อนที่จะวางตลาด
เช่นในต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 บริษัท Pioneer Hi-Bred (ปัจจุบันเป็น Dupont Pioneer) พยายามปรับปรุงสารอาหารในถั่วเหลืองเพื่อเลี้ยงสัตว์โดยเติมยีน จากต้นบราซิลนัต
แต่เพราะว่ามีคนที่แพ้ถั่ว บริษัทจึงได้ทดสอบการเกิดภูมิแพ้ทั้งแบบ in vitro (คือในสถานการณ์เทียม) ทั้งแบบเจาะผิวหนังทดสอบ
แล้วพบว่า ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรมทำให้เกิดภูมิแพ้[ 133]
บริษัทจึงระงับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น[ 134] [ 135]
ต่อมาในปี 2548 องค์กร Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation (องค์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ) แห่งประเทศออสเตรเลีย ได้พัฒนาถั่วลันเตา ต้านทานโรคขึ้น แต่พบว่าทำให้เกิดภูมิแพ้ในหนู[ 136]
ดังนั้น องค์กรจึงได้ระงับงานที่ทำกับพืชพันธุ์นี้อย่างทันที
กรณีเหล่านี้ ได้ใช้เป็นหลักฐานว่า การแปรพันธุกรรมสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดหวังและเป็นอันตรายในอาหาร แต่ก็ใช้เป็นหลักฐานด้วยว่า การทดสอบความปลอดภัยสามารถป้องกันระบบเก็บส่งอาหารได้[ 6]
ในเหตุการณ์เรียกคืนผลิตภัณฑ์ข้าวโพด Starlink ปี 2543 ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา เกิดปนเปื้อนด้วยข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมที่มีโปรตีน ของแบคทีเรียบาซิลลัสทูริงเยนซิส (Bt) คือ โปรตีน Cry9C
แล้วต่อมาก็พบในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้วย[ 137] : 20–21
ข้าวโพดชนิดนี้ความจริงได้รับอนุมัติเฉพาะให้เป็นอาหารสัตว์เท่านั้น ด้วยเหตุว่า Cry9C สามารถดำรงอยู่ในระบบย่อยอาหาร ได้นานกว่าโปรตีนชนิดอื่น ๆ ของ Bt ซึ่งทำให้เกิดความเป็นห่วงเรื่องความเป็นสารภูมิแพ้ของผลิตภัณฑ์[ 138]
เหตุการณ์เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2543 เมื่อองค์กรตรวจสอบอาหาร (Genetic ID) ที่จัดตั้งโดยกลุ่มต่อต้าน GMO ตรวจพบข้าวโพด Starlink ในผลิตภัณฑ์ของบริษัท Taco Bell ในซูเปอร์มาร์เก็ต จึงมีผลให้บริษัทเรียกคืนผลิตภัณฑ์ แล้วในที่สุดบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาก็เรียกคืนผลิตภัณฑ์ของตนทั้งที่ตรวจพบ Starlink ทั้งที่เรียกคืนเป็นการระวังล่วงหน้า ทั้งหมดรวมกันกว่า 300 ผลิตภัณฑ์[ 139] [ 140] [ 141]
บริษัท Aventis จึงได้เลิกขายข้าวโพดชนิดนี้โดยสมัครใจเองในเดือนตุลาคม 2543[ 142]
ในปี 2545 อาหารที่สหประชาชาติ และประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งไปช่วยประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกากลาง ก็พบว่าปนเปื้อนด้วยข้าวโพด StarLink เหมือนกัน อาหารช่วยเหลือจึงถูกปฏิเสธ[ 143]
ตั้งแต่ปี 2544 ก็มีการจับตรวจโปรตีนของ Starlink Bt ได้ต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงปี 2547 จึงไม่พบโปรตีนนี้อีกในระบบเก็บส่งอาหารของสหรัฐ[ 144]
ในปี 2548 องค์กรต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม GeneWatch UK และกรีนพีซ ก่อตั้งทะเบียนการปนเปื้อนด้วยสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GM Contamination Register)[ 145]
ในช่วงที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control) ประเมินรายงานเกี่ยวกับปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อข้าวโพด StarLink แล้วตัดสินว่าไม่มีปฏิกิริยาภูมิแพ้เกิดขึ้น[ 146] [ 147]
การถ่ายทอดยีนในแนวราบให้สัตว์
การถ่ายทอดยีนในแนวราบ (horizontal gene transfer) เป็นการถ่ายทอดยีน จากสิ่งมีชีวิต อย่างหนึ่ง ไปยังอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช่โดยการสืบพันธุ์
การถ่ายทอดยีนเช่นนี้ระหว่างพืชดัดแปรพันธุกรรม กับสัตว์ มีความเสี่ยงน้อยมาก และโดยมากคาดหวังได้ว่าจะน้อยกว่าอัตราพื้นฐาน (background rate)[ 148]
งานวิจัยสองงานเกี่ยวกับผลของการเลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารดัดแปรพันธุกรรม พบว่า ไม่มี recombinant DNA หรือโปรตีนแปลกปลอมหลงเหลืออยู่ในอวัยวะ หรือในเนื้อเยื่อ ของสัตว์[ 149] [ 150]
แต่มีงานวิจัยอื่นที่พบดีเอ็นเอ ของแบคทีริโอฟาจ M13, ยีนโปรตีนเรืองแสงสีเขียว (green fluorescent protein), และยีนเอนไซม์ rubisco ในเลือดและเนื้อเยื่อของสัตว์[ 151] [ 152]
และในปี 2555 ก็มีงานวิจัยหนึ่งที่เสนอว่าไมโครอาร์เอ็นเอ จากข้าว มีอยู่แต่ต่ำมาก ในซีรั่มของมนุษย์และสัตว์[ 153]
แต่ว่ามีงานวิจัยหลายงานอื่น ๆ ที่คัดค้าน[ 154] [ 155]
คือพบว่า มีการถ่ายทอดไมโครอาร์เอ็นเอจากพืช ในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ ไปยังเลือดของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตแบบจำลอง (model organism) 3 อย่างที่ทดลอง
ความกังวลอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยีนดื้อยาปฏิชีวินะที่ใช้ทั่วไปเป็นเครื่องหมายดีเอ็นเอ (genetic marker) ในพืชดัดแปรพันธุกรรม อาจถ่ายทอดไปยังแบคทีเรีย อันตราย ซึ่งจะกลายเป็นแบคทีเรียดื้อยา[ 156] [ 157] : 250
งานวิจัยปี 2547 ในอาสาสมัครมนุษย์ตรวจสอบว่า ยีนตัดต่อ (transgene) จากถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม จะถ่ายทอดไปยังแบคทีเรียที่อยู่ในทางเดินอาหาร มนุษย์หรือไม่
แม้โดยปี 2555 นี่ก็ยังเป็นงานศึกษาอาหารดัดแปรพันธุกรรมในมนุษย์เพียงแค่งานเดียว
แต่ก่อนการบริโภคอาหารดัดแปร มีการตรวจพบยีนตัดต่อที่ว่าในอาสาสมัคร 3 คน จาก 7 คน ผู้ที่ตัดลำไส้ ออกเพราะเหตุผลทางการแพทย์
แต่เพราะว่า ไม่มีการถ่ายทอดยีนที่เพิ่มขึ้นหลังจากการบริโภคถั่วเหลืองดัดแปร นักวิจัยจึงสรุปว่า ไม่มีการถ่ายทอดยีนจากการบริโภคอาหาร
และในอาสาสมัครที่มีลำไส้ปกติ ยีนตัดต่อก็ไม่สามารถรอดผ่านทางเดินอาหารไปได้[ 158]
นอกจากนั้นแล้ว ยีนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในพันธุวิศวกรรม ก็มีอยู่ในเชื้อโรคมากมายตามธรรมชาติอยู่แล้ว[ 159]
ตัวยาปฏิชีนะเองก็เป็นยาที่ใช้โดยทั่วไปในการเลี้ยงสัตว์ [ 159]
ถึงแม้ว่าแพทย์จะไม่ได้สั่งใช้สำหรับมนุษย์โดยทั่วไป[ 160]
งานศึกษาการเลี้ยงสัตว์
งานปฏิทัศน์ที่ศึกษางานวิจัยการเลี้ยงสัตว์โดยมากไม่พบผลอะไร
งานปฏิทัศน์ในปี 2557 พบว่า สมรรถภาพของสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารดัดแปรพันธุกรรม คล้ายกับสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารธรรมดา[ 161]
งานปฏิทัศน์ในปี 2555 ของงานศึกษาระยะยาว 12 งาน และงานหลายชั่วยุค (multigenerational) 12 งาน ที่ทำโดยแล็บวิจัยของรัฐสรุปว่า ไม่เคยพบปัญหาความปลอดภัยสืบเนื่องจากการบริโภคอาหารแปรพันธุกรรม[ 162]
ส่วนงานปฏิทัศน์ในปี 2552 พบว่า แม้ว่างานศึกษาโดยมากจะสรุปว่า อาหารดัดแปรไม่แตกต่างในเรื่องโภชนาการ และไม่เป็นพิษต่อสัตว์ แต่ก็ยังมีรายงานเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเชิงลบในระดับเซลล์ที่เกิดจากอาหารดัดแปรบางอย่าง
ดังนั้น งานปฏิทัศน์จึงสรุปว่า "ต้องพยายามตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การบริโภคอาหารดัดแปรพันธุกรรมมีโอกาสน้อยที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ"[ 163]
งานปฏิทัศน์ในปี 2552 งานหนึ่งสรุปว่า ผลงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรมแสดงว่า "อาหารอาจเป็นเหตุเกิดพิษอะไรบางอย่างเช่นต่อตับ ตับอ่อน ไต หรือระบบสืบพันธุ์ และอาจเปลี่ยนตัวแปรต่าง ๆ ทางเลือด ทางชีวเคมี และทางภูมิคุ้มกัน "[ 164]
แต่การตอบสนองต่องานปฏิทัศน์นี้ต่อมาในปีเดียวกันและปีต่อมาให้ข้อสังเกตว่า ผู้เขียนงานพุ่งจุดสนใจไปที่บทความที่มีความเอนเอียง เพื่อไม่ให้ทำการดัดแปร และที่ถูกคัดค้านปฏิเสธมาแล้วโดยบทความที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน อื่น ๆ[ 165] [ 166] [ 167]
งานปฏิทัศน์ปี 2548 สรุปว่า อาหารที่ดัดแปรเพียงแค่ยีนหนึ่ง ๆ จะเหมือนกันทางด้านโภชนาการและความปลอดภัยกับอาหารที่ไม่ได้ดัดแปร แต่ให้ข้อสังเกตว่า อาหารที่มียีนหลายยีนดัดแปร ยากกว่าที่จะทดสอบและควรจะต้องมีการศึกษาในสัตว์เพิ่มขึ้น[ 149]
งานปฏิทัศน์การทดสอบเลี้ยงอาหารสัตว์ปี 2547 ไม่พบความแตกต่างอะไร ๆ ในบรรดาสัตว์ที่กินพืชดัดแปรพันธุกรรมหรือกินพืชธรรมดา[ 168]
งานปฏิทัศน์ปี 2550 โดยโดมิงโก (JL Domingo) ที่ค้นฐานข้อมูล ของ PubMed โดยใช้บทค้นหา 12 บท พบว่า "จำนวนการอ้างอิง" เรื่องความปลอดภัยของพืชผลแปรพันธุกรรมนั้น "มีความจำกัดอย่างน่าแปลกใจ" และตั้งกระทู้ว่า ความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรมเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วหรือไม่
แล้วยืนยันว่า ข้อสรุปของงานเหมือนกับงานปฏิทัศน์ที่มีก่อน 3 งานอื่น ๆ[ 169]
แต่ว่า นักวิชาการท่านหนึ่งอ้างว่า มีงานวิจัยถึง 692 งานในปี 2550 เกี่ยวกับพืชผลดัดแปรพันธุกรรมและความปลอดภัยของอาหาร และอัตราสิ่งตีพิมพ์เช่นนี้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีที่ผ่าน ๆ มา[ 170]
แล้วให้ข้อคิดว่า งานวิจัยการดัดแปรพันธุกรรมต้องอาศัยหลักวิชาหลายสาขา ซึ่งทำให้การค้นหางานศึกษาเป็นเรื่องซับซ้อน จึงต้องใช้บทค้นหาเป็นจำนวนมาก (เขาใช้เกินกว่า 300) และต้องใช้ฐานข้อมูลหลายฐาน
ต่อมาในปี 2554 โดมิงโกและเพื่อนร่วมงาน ทบทวนวรรณกรรมวิทยาศาสตร์อีกและกล่าวว่า แม้ว่าจะมีงานศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญจากจำนวนที่พบในปี 2549 แต่งานโดยมากทำโดยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่จะวางตลาดพืชดัดแปรพันธุกรรมที่ศึกษาเหล่านั้น[ 171]
งานศึกษาในมนุษย์
แม้ว่าจะมีกลุ่มชนและบุคคลต่าง ๆ ที่เรียกร้องให้ทดสอบอาหารดัดแปรพันธุกรรมในมนุษย์[ 172]
แต่ก็มีอุปสรรคหลายอย่างที่จะทำงานเช่นนี้
สำนักงานบัญชีกลางสหรัฐ (General Accounting Office) ที่ทบทวนการทำงานขององค์การอาหารและยาของสหรัฐเนื่องด้วยอาณัติจากรัฐสภา, กลุ่มงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์กรต่าง ๆ ขององค์การอนามัยโลก ล้วนแต่กล่าวว่า การศึกษาระยะยาวในมนุษย์เกี่ยวกับผลของอาหารดัดแปรพันธุกรรมไม่สามารถทำได้
โดยเหตุผลรวมทั้งการไม่มีเหตุผลสมควรที่จะทำการศึกษา การขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับผลระยะยาวของอาหารธรรมดา ปฏิกิริยาหลายหลากที่มนุษย์มีต่ออาหาร และความเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกแยะผลต่อสุขภาพจากอาหารระหว่างอาหารดัดแปรพันธุกรรมกับอาหารธรรมดา ซึ่งอาหารธรรมดาก็มีโทษต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ อยู่แล้วด้วย[ 173] [ 174]
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีหลักจริยธรรม ที่จะต้องปฏิบัติตามในงานวิจัยกับมนุษย์
คือ สิ่งที่ทดลองต้องมีโอกาสเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ผู้รับการทดลอง เช่น เป็นการรักษาโรค หรือมีประโยชน์ทางโภชนาการ (และดังนั้น จึงทดสอบสารพิษกับมนุษย์ไม่ได้)[ 175]
นักวิชาการท่านหนึ่งอ้างว่า "ข้อจำกัดทางจริยธรรมและทางเทคนิคในการทดสอบในมนุษย์ และความจำเป็นในการทำเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความใส่ใจพอสมควร"[ 176]
แต่ว่า อาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการอาจจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้
เช่น มีการทดสอบข้าวทอง ในมนุษย์เกี่ยวกับประโยชน์ทางโภชนาการ ซึ่งก็คือมีวิตามินเอ เพิ่ม[ 177] [ 178] [ 179]
งานศึกษาที่ก่อความขัดแย้ง
Pusztai affair (กรณีพูซตาย)
ในปี 2542 ดร. Arpad Pusztai (พูซตาย) ตีพิมพ์บทความที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน บทความแรกที่แสดงว่า มีผลลบในการบริโภคอาหารดัดแปรพันธุกรรม
คือ ดร. พูซตายเลี้ยงหนูด้วยมันฝรั่ง แปรพันธุ์ด้วยยีน Galanthus nivalis agglutinin (GNA) จากพืชหยาดหิมะ ทำให้ต้นมันฝรั่งสามารถสังเคราะห์โปรตีน เลกติน (lectin) ได้[ 180]
ในช่วงนั้น มีการแปรพันธุ์หลายอย่างที่สามารถทำให้พืชสามารถสังเคราะห์เลกตินได้ แต่เลกตินจาก GNA มีโอกาสน้อยที่สุดที่จะมีผลลบต่อมนุษย์[ 181]
เลกทินมีฤทธิ์เป็นพิษ โดยเฉพาะต่อเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว ในท้อง[ 182]
ดร. พูซตายรายงานในวารสารการแพทย์ เดอะแลนเซ็ต ว่า มีความแตกต่างอย่างสำคัญต่อความหนาของเซลล์บุผิวที่ท้อง แต่ไม่มีความแตกต่างในเรื่องการเติบโตหรือระบบภูมิคุ้มกัน [ 180] [ 183]
แต่ในวันที่ 22 มิถุนายน 2541 ดร. พูซตายให้สัมภาษณ์ออกทีวีรายการ World in Action ว่า หนูที่เลี้ยงด้วยมันฝรั่งเติบโตอย่างผิดปกติ และมีระบบภูมคุ้มกันที่อ่อนแอ[ 184]
ซึ่งมีผลเป็นความแตกตื่นในสื่อ
ต่อมา สถาบัน Rowett Institute ให้พักงาน ดร. พูซตาย
แล้วดำเนินการว่า มีความประพฤติไม่ชอบ แล้วยึดข้อมูลการทดลองและห้ามเขาไม่ให้พูดต่อสาธารณะ[ 185]
ต่อมาทั้งสถาบันและราชสมาคมแห่งลอนดอน ได้ทบทวนงานของเขา แล้วสรุปว่า ข้อมูลหลักฐานไม่สนับสนุนข้อสรุปของเขา[ 181] [ 186] [ 187]
งานของ ดร.พูซตายถูกวิจารณ์ว่า มีการดำเนินการกับหนูกลุ่มควบคุม อย่างไม่สมบูรณ์ และว่า หนูที่ได้แต่อาหารมันฝรั่งย่อมจะมีปัญหาขาดโปรตีน[ 188]
ดร. พูซตายโต้ว่า อาหารของทุกกลุ่มมีปริมาณโปรตีนและพลังงาน เท่ากัน และหนูก็กินอาหารเท่ากัน[ 183]
ข้าวโพด Bt
งานศึกษาปี 2554 เป็นงานแรกที่ตรวจสอบสหสัมพันธ์ ระหว่างการรับพิษของ Bt ของแม่กับเด็ก โดยกำหนดระดับการรับสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และเมทาบอไลท์ที่เกี่ยวข้องกับสาร
ผู้ทำการวิจัยรายงานการมีอยู่ของสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ที่ใช้คู่กับอาหารดัดแปร ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และไม่ตั้ง และในทารกในครรภ์[ 189] [ 190]
ต่อมา ทั้งบทความและสื่อที่เสนอข่าว ถูกวิจารณ์ว่ากล่าวเกินผลที่พบในงาน[ 191] [ 192]
องค์กรมาตรฐานอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (FSANZ) กล่าวถึงปัญหานี้ตรง ๆ ว่า ประสิทธิภาพการทดสอบโปรตีนฆ่าแมลง Cry1Ab (เกิดจากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ) ด้วยวิธี ELISA ที่ใช้ในงานศึกษา ยังไม่มีการตรวจสอบยืนยัน และไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า อาหารแปรพันธุกรรมเป็นแหล่งกำเนิดของโปรตีนฆ่าแมลง
องค์กรยังเสนออีกด้วยว่า ถ้าแม้พบ Cry1Ab จริง ๆ แหล่งของมันก็น่าจะมาจากอาหารธรรมดาและอาหารอินทรีย์มากกว่า[ 193]
Séralini affair (กรณีเซราลินี)
ในปี 2550 2552 และ 2554 ศ.ดร.เซราลินี ตีพิมพ์งานวิจัยแบบวิเคราะห์ใหม่ โดยใช้ข้อมูลการทดลองเลี้ยงหนูของบริษัทมอนแซนโต ที่เลี้ยงด้วยข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม 3 ชนิด คือ ข้าวโพดทนแมลง MON 863 กับ MON 810 และข้าวโพดทนสารกำจัดวัชพืช "ไกลโฟเสต " พันธุ์ NK603
เขาได้สรุปว่า ข้อมูลแสดงว่ามีความเสียหายต่อตับ ไต และหัวใจ [ 194] [ 195] [ 196]
ต่อจากนั้น องค์กรควบคุมความปลอดภัยอาหารยุโรป (EFSA) สรุปขัดกันว่า ค่าความแตกต่างที่พบอยู่ในขอบเขตปกติ[ 197]
EFSA ยังกล่าวด้วยว่า การวิเคราะห์ ทางสถิติ ของงานนั้นผิดพลาด[ 198] [ 199] [ 200]
โดยข้อสรุปของ EFSA ได้รับการยืนยันสนับสนุนโดย FSANZ[ 201] [ 202] [ 203]
โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางพิษวิทยา [ 204]
และโดยองค์กรอิสระของประเทศฝรั่งเศส High Council of Biotechnologies Scientific Committee[ 205]
ต่อมาในปี 2555 แล็บของ ศ.เซราลินี ตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ Food and Chemical Toxicology
ที่ตรวจสอบผลระยะยาวของการเลี้ยงหนูด้วยข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมทนสารไกลโฟเสต ข้าวโพดธรรมดาที่ฉีดไกลโฟเสต และข้าวโพดที่รวมพันธุ์ทั้งสอง โดยเลี้ยงหนูในระดับต่าง ๆ[ 206] [ 207] [ 208]
บทความสรุปว่า หนูที่เลี้ยงด้วยข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมมีปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง รวมทั้งความเสียหายต่อตับ ไต และการเกิดเนื้องอกขนาดใหญ่[ 206]
งานศึกษานี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และ ศ.เซราลินีเอง ก็จัดการแถลงข่าวก่อนที่จะตีพิมพ์บทความ โดยประกาศการพิมพ์หนังสือและการสร้างภาพยนตร์ ในการแถลงข่าวนั้นด้วย[ 209]
เขาอนุญาตให้นักข่าวเข้าถึงบทความก่อนการแถลงข่าวนั้นได้ ต่อเมื่อนักข่าวเซ็นสัญญารักษาความลับ ที่นักข่าวจะไม่สามารถสื่อการตอบสนองจากนักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ต่อบทความ ก่อนที่บทความจะตีพิมพ์[ 210]
การแถลงข่าวมีผลเป็นการออกสื่อที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่าง GMO, ไกลโฟเสต และโรคมะเร็ง [ 211]
การเผยแพร่ข่าวเช่นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ท่านอื่น ๆ วิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะเรื่องไม่ให้สื่อพิมพ์ความคิดเห็นที่คัดค้าน[ 211] [ 212] [ 213]
ข้อวิจารณ์รวมทั้งการวิเคราะห์ทางสถิติที่ไม่มีกำลัง[ 214]
และหนูทดลองพันธุ์ Sprague-Dawley ไม่เหมาะสมกับการศึกษาแบบทั้งชีวิต (เทียบกับการศึกษาทางพิษวิทยาที่จะสั้นกว่าและเหมาะกับพันธุ์หนู) เพราะว่าหนูโดยทั่วไปมักจะเกิดมะเร็ง โดยมีงานศึกษาหนึ่งที่พบว่า หนูกว่า 80% เกิดมะเร็งโดยปกติ[ 215] [ 216] [ 217] [ 218]
และเพราะแนวทางปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แนะนำให้ให้ใช้หนู 65 ตัวต่อการทดลอง แทนที่จะใช้แค่ 10 ตัวในการทดลองเหมือนของ ศ.เซราลินี[ 217] [ 218] [ 219]
ข้อวิจารณ์อื่นรวมทั้งความไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณอาหารและอัตราการเติบโตของตัวอย่าง[ 220] [ 221]
การไม่มีข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณยากับการตอบสนอง (เช่น ตัวเมียที่ได้ยา 3 เท่าจากมาตรฐานมีจำนวนเนื้องอกที่น้อยลง)[ 222]
และการไม่แสดงกลไกการเพิ่มขึ้นของเนื้องอก[ 223]
บัณฑิตยสถานแห่งชาติประเทศฝรั่งเศส 6 สถาบัน แถลงข่าวร่วมกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยติเตียนทั้งงานศึกษาและวารสารที่ตีพิมพ์งานนั้น[ 224]
วารสารที่ตีพิมพ์ผลงานเบื้องต้น ได้ตีพิมพ์จดหมายวิจารณ์เป็นจำนวนมาก โดยมีไม่กี่ฉบับที่ให้ความสนับสนุน[ 225]
องค์กรควบคุมความปลอดภัยอาหารแห่งชาติประเทศต่าง ๆ ทบทวนดูผลงาน แล้วล้วนแต่ไม่ยอมรับผลงาน[ 226] [ 227] [ 228] [ 229] [ 230] [ 231] [ 232] [ 233]
ในเดือนมีนาคม 2556 ศ.เซราลินีตอบข้อวิจารณ์เหล่านั้นในวารสารเดียวกันที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เป็นประเด็น[ 234]
และก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์ 2-3 คนที่สนับสนุนคำตอบของเขา[ 91] : 5
แต่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2556 บรรณาธิการ ของวารสาร ได้ถอนคืนผลงานดั้งเดิม[ 207] [ 208]
ภายใต้การประท้วงของ ศ.เซราลินี และกลุ่มผู้สนับสนุน[ 235] [ 236]
หลังจากนั้นในปี 2557 งานศึกษานั้นก็ได้ตีพิมพ์ใหม่ในวารสารอีกฉบับหนึ่งคือ Environmental Sciences Europe โดยมีข้อมูลดิบที่ ศ.เซราลินีตอนแรกปฏิเสธที่จะเปิดเผย[ 237]
สิ่งแวดล้อม
พืชผลดัดแปรพันธุกรรมก็ปลูกในไร่เหมือนกับพืชทั่วไป
ในที่ที่ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิต ที่กินพืช และกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบโซ่อาหาร
ละอองเรณู ของพืชจะกระจายไปในสิ่งแวดล้อมเหมือนกับพืชอื่น ๆ
ซึ่งทำให้เกิดความกังวลถึงผลของพืชต่อสิ่งแวดล้อม ผลซึ่งรวมทั้งการถ่ายเทของยีน (gene flow) การดื้อยาฆ่าวัชพืชและแมลง และการปล่อยแก๊สเรือนกระจก
สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมาย (Non-target)
ประโยชน์สำคัญในการใช้พืชผลดัดแปรพันธุกรรมก็เพื่อควบคุมแมลง ผ่านการแสดงออกของยีน cry (crystal delta-endotoxins) และ Vip (vegetative insecticidal proteins) จากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt)
ซึ่งเป็นโปรตีน ที่เป็นพิษต่อแมลงอื่น ๆ นอกจากแมลงที่เป็นเป้าหมายเช่น หนอนเจาะข้าวโพดยุโรป (European corn borer)
แต่ว่ามีการใช้โปรตีนของ Bt เป็นยาฆ่าแมลงอินทรีย์ในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2481 และประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2501 โดยไม่มีรายงานว่ามีผลเสียอะไรอื่น ๆ[ 238]
โปรตีน Cry เป็นพิษเฉพาะเจาะจงกับผีเสื้อ (แมลง)
ทำงานโดยยึดจับกับหน่วยรับความรู้สึก ของเยื่อหุ้มเซลล์ ที่ทางเดินอาหารส่วนกลาง มีผลให้เซลล์แตก
ดังนั้น สิ่งมีชีวิตใดที่ไม่มีหน่วยรับความรู้สึกที่สมควรในทางเดินอาหาร ก็จะไม่ได้รับผลจากโปรตีน และจะไม่มีผลเสียจาก Bt[ 239] [ 240]
นอกจากนั้นแล้ว องค์กรควบคุมของรัฐจะประเมินโอกาสที่พืชดัดแปรพันธุกรรมจะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตไม่ใช่เป้าหมาย ก่อนที่จะอนุมัติให้วางขาย[ 241] [ 242]
ในปี 2542 มีงานวิจัยที่อ้างว่า ในห้องแล็บ ละอองเรณู จากข้าวโพด Bt ที่ตกลงบนพืชวงศ์นมตำเลีย สกุล Asclepias (milkweed) ซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของตัวอ่อนผีเสื้อสปีชีส์ Danaus plexippus (Monarch butterfly) มีอันตรายต่อผีเสื้อ[ 243]
ต่อมามีกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันในสหรัฐและแคนาดาตลอดสองปี เพื่อศึกษาผลของละอองเรณูทั้งในห้องแล็บทั้งในภาคสนาม เป็นผลงานวิจัยประเมินความเสี่ยงปี 2544 ที่สรุปว่า ความเสี่ยงต่อผีเสื้อไม่มีนัยสำคัญ[ 244]
งานทบทวนวรรณกรรมในปี 2545 สรุปว่า "การปลูกข้าวโพดลูกผสม Bt พันธุ์ปัจจุบันอย่างกว้างขวางเพื่อพาณิชย์ ไม่ได้สร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรของผีเสื้อ Monarch" แล้วให้ข้อสังเกตว่า แม้จะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมมากมายขนาดนี้ ประชากรของผีเสื้อก็กำลังเพิ่มพูนขึ้น[ 245]
แต่ต่อมาในปี 2555 กลับพบว่า ยาฆ่าวัชพืชไกลโฟเสต ที่ใช้กับพืชดัดแปรพันธุกรรมฆ่าต้น milkweed ซึ่งเป็นอาหารชนิดเดียวของผีเสื้อ และดังนั้นโดยปี 2558 ประชากรผีเสื้อในสหรัฐอเมริกาได้ลดลงประมาณ 90%[ 246] [ 247]
งานวิจัยปี 2552 พบว่า พิษของ Bt มีผลต่อสิ่งมีชีวิตไม่ใช่เป้าหมาย โดยทั่วไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติใกล้ชิดของเป้าหมาย[ 248]
โดยทั่วไปแล้ว การรับสารจะเกิดขึ้นเนื่องจากการบริโภคส่วนของพืช เช่นละอองเรณู หรือเศษพืช หรือบริโภคสัตว์ที่กินพืช
แต่ว่า ก็มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่วิจารณ์วิธีการวิเคราะห์ของงาน โดยกล่าวว่า "พวกเราเป็นห่วงอย่างยิ่งถึงวิธีที่ไม่เหมาะสมที่ใช้ในงาน ถึงการไม่แสดงถึงบริบทของระบบนิเวศ และถึงการรณรงค์ของผู้เขียนว่า การศึกษาในแล็บเกี่ยวกับสัตว์ขาปล้อง ควรจะทำและตีความหมายอย่างไร"[ 249]
ความหลากหลายทางชีวภาพ
ความหลายหลากทางพันธุกรรมของพืชผล อาจลดลงได้เนื่องจากมีพันธุ์ดัดแปรที่เก่งกว่า ที่สามารถขับพันธุ์อื่น ๆ ไม่ให้อยู่รอดได้
ยังมีผลโดยอ้อมที่สามารถเกิดกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกด้วย
คือ สารเคมีเกษตรที่ใช้สามารถมีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการดัดแปรอาจจะทำให้ต้องใช้สารเคมีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพราะว่าจำเป็นสำหรับพันธุ์พืชใหม่ หรือว่าเพราะการดื้อยาเกิดเพิ่มขึ้นในศัตรูพืช ทำให้ต้องใช้สารเคมีในจำนวนเพิ่มขึ้น
ผลงานศึกษาต่าง ๆ ที่เปรียบเทียบความหลายหลายทางกรรมพันธุ์ของต้นฝ้าย พบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา ความหลากหลายไม่เพิ่มขึ้นก็เหมือนเดิม แต่ในประเทศอินเดีย ความหลากหลายกลับลดลง
มีการให้เหตุผลว่า สหรัฐและอินเดียแตกต่างกันเพราะว่า มีพืชดัดแปรหลายพันธุ์ในสหรัฐมากกว่าในอินเดีย[ 250]
งานทบทวนผลของพืชผลแบบ Bt ต่อระบบนิเวศของดินพบว่า โดยทั่วไปแล้ว พืชดัดแปร "ดูเหมือนจะไม่มีผลที่แน่นอน ที่มีนัยสำคัญ ที่เป็นระยะยาวต่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ (microbiota) และฤทธิ์ของพวกสิ่งมีชีวิตในดิน"[ 251]
ความหลายหลากของวัชพืชปรากฏกว่าลดลงในการทดลองในระดับฟารม์ ทั้งในสหราชอาณาจักร และประเทศเดนมาร์ก เมื่อเปรียบพืชดัดแปรที่ทนต่อยาฆ่าวัชพืช เทียบกับพืชธรรมดา[ 252] [ 253]
การทดลองในสหราชอาณาจักรบอกเป็นนัยว่า ความหลากหลายของนกอาจจะเกิดผลลบเนื่องจากมีเมล็ดวัชพืชเป็นอาหารลดลง[ 254]
คือ ข้อมูลฟารม์ที่ตีพิมพ์แล้วแสดงว่า นกที่กินเมล็ดวัชพืชปรากฏว่ามีมากกว่าในกรณีที่ไม่ได้ฉีดยาฆ่าวัชพืช (ที่ข้าวโพดธรรมดาทนไม่ได้) ซึ่งนักวิจัยแจ้งว่า น่าจะเป็นเพราะอาหารของนกลดลงถ้าฉีดยาฆ่าวัชพืชสำหรับพืชดัดแปรพันธุกรรม[ 255]
งานศึกษาในปี 2555 พบสหสัมพันธ์ ระหว่างการลดลงของวัชพืชวงศ์นมตำเลีย สกุล Asclepias (milkweed) ในไร่สหรัฐที่ใช้พืชดัดแปรทนยาฆ่าวัชพืชไกลโฟเสต กับการลดประชากรของผีเสื้อ (monarch butterfly) ในประเทศเม็กซิโก [ 256]
หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า งานศึกษานี้ตั้งแนวความคิดแบบสุดโต่งที่ว่า บางทีวัชพืชในไร่นาควรจะอนุรักษ์เอาไว้[ 257]
งานศึกษาปี 2005 ที่ออกแบบเพื่อเลียนแบบผลของการฉีดยาเกินต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยใช้สารเคมีเกษตร 4 อย่าง คือ carbaryl (ยี่ห้อ Sevin), malathion, กรด 2,4-ไดคลอโรฟีนอกซีแอซีติก (2,4-D) และไกลโฟเสต เป็นการทดลองทีสร้างระบบนิเวศ เทียมในถังขนาดใหญ่แล้ว ฉีดสารเคมีแต่ละอย่างในอัตราสูงสุดตามคำแนะนำของผู้ผลิต แล้วพบว่า ความอุดมสมบูร์ณของสปีชีส์ ลดลง 15% สำหรับ carbaryl ลดลง 30% สำหรับ malathion ลดลง 22% สำหรับไกลโฟเสต แต่ 2,4-D ไม่มีผล[ 258]
จึงกลายเป็นงานศึกษาที่ใช้โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยเป็นหลักฐานว่า การใช้สารเคมีเกษตรมีผลลบที่ไม่ตั้งใจต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ[ 259]
ศัตรูพืชขั้นทุติยภูมิ
งานศึกษาหลายงานพบการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของศัตรูพืชทุติยภูมิภายใน 2-3 ปีที่เริ่มใช้ฝ้าย Bt
ในประเทศจีน งานวิจัยในปี 2553 พบว่า ปัญหาหลักก็คือแมลงในวงศ์ Miridae[ 260] [ 261]
ซึ่งในบางกรณีนักวิจัยได้กล่าวว่า "หักประโยชน์ที่ได้จากการปลูกฝ้าย Bt อย่างสิ้นเชิง"[ 262]
ส่วนงานวิจัยในปี 2552 ในเมืองจีนสรุปว่า การเพิ่มขึ้นของศัตรูพืชทุติยภูมิขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและฝนที่ตกในพื้นที่ และเกิดขึ้นในหมู่บ้านประมาณครึ่งหนึ่งในงานศึกษา
และการใช้ยาฆ่าแมลงทุติยภูมิที่เพิ่มขึ้น มีปริมาณน้อยกว่าปริมาณยาฆ่าพืชทั้งหมดที่ประหยัดได้เนื่องจากการปลูกฝ้าย Bt[ 263]
ส่วนงานวิจัยในปี 2554 ที่สำรวจไร่นา 1,000 แห่งที่เลือกโดยสุ่มในจังหวัด 5 จังหวัดในเมืองจีนพบว่า การลดปริมาณยาฆ่าศัตรูพืชที่เป็นผลจากการปลูกฝ้าย Bt อยู่ในระดับที่น้อยกว่าที่รายงานในงานวิจัยในที่อื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนสมมติฐาน ที่ว่า จะต้องใช้ยาฆ่าศัตรูพืชมากขึ้นในระยะยาวเพื่อควบคุมศัตรูพืชทุติยภูมิเช่น แมลงวงศ์ Aphididae, Tetranychidae, และสกุล Lygus [ 264]
ในประเทศอินเดีย ก็พบปัญหาคล้ายกัน แต่กับเพลี้ยแป้ง [ 265] [ 266]
และแมลงวงศ์ Aphididae[ 267]
การถ่ายเทของยีน (gene flow)
ยีน จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม สามารถถ่ายเทไปยังสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เหมือนกับยีนธรรมดา
เป็นกระบวนการธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นในพืชผลทุกอย่างที่ปล่อยละอองเกสรให้ไปหาตัวเมียตามธรรรมชาติ
ลักษณะสืบสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่สามารถถ่ายทอดไปยังพืชที่อยู่ใกล้ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสปีชีส์ เดียวกัน หรือญาติใกล้เคียงกัน โดยมีการถ่ายเทยีน 3 แบบ คือ crop-to-crop, crop-to-weedy และ crop-to-wild.
crop-to-crop เป็นการถ่ายทอดยีนจากพืชผลดัดแปรพันธุกรรมไปยังพืชผลที่ไม่ได้ดัดแปร
crop-to-weedy เป็นการถ่ายทอดยีนไปยังวัชพืช
ส่วน crop-to-wild เป็นการถ่ายทอดยีนไปยังพืชหรือพืชผลที่ไม่ได้เพาะปลูก[ 268]
มีความเป็นห่วงว่าการถ่ายทอดยีนจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมไปยังพืชอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดวัชพืชต่าง ๆ ที่ทนต่อยาฆ่าวัชพืช[ 269]
อาจปนเปื้อนกับพืชผลธรรมดาที่ปลูกอยู่ใกล้ ๆ หรืออาจสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศ [ 270] [ 271]
และนี่ก็จะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงหลัก ถ้าสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมสามารถอยู่รอดได้เก่ง และสามารถเพิ่มพูนจำนวนแล้วอยู่รอดได้เองในประชากรธรรมชาติ[ 272]
ให้สังเกตว่า กระบวนการถ่ายทอดยีนจาก GMO ไปยังพืชธรรมชาติ เพื่อเกิดเป็นพืชที่ดื้อยา เป็นพัฒนาการที่ต่างไปจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่สร้างความต้านทานยาฆ่าศัตรูพืชให้กับพืชและแมลง
ในประเทศโดยมาก งานศึกษาทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนจะอนุมัติให้วางตลาดขาย GMO ซึ่งจะต้องมีแผนการเฝ้าตรวจเพื่อกำหนดผลที่ไม่ได้คาดหวังของการถ่ายทอดยีน
ในงานศึกษาปี 2547 นักวิจัยพบโปรตีน Bt ในพืชธรรมดาที่ปลูกเลี้ยงศัตรูพืช (refuge) มีจุดประสงเพื่อไม่ให้เกิดความต้านทานต่อยาฆ่าศัตรูพืชที่ขายพร้อมกับ GMO เป็นผลที่บอกเป็นนัยว่า มีการถ่ายทอดยีนจากพืชดัดแปรพันธุกรรม[ 273]
ในงานศึกษาปี 2548 นักวิจัยในองค์กรของรัฐ Centre for Ecology and Hydrology รายงานหลักฐานแรกว่ามีการถ่ายทอดยีนในแนวราบ (horizontal gene transfer) จากพืชทนยาฆ่าศัตรูพืชไปยังวัชพืช แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าพืชเหล่านั้นอยู่รอดไปจนถึงฤดูเพาะปลูกต่อไป[ 274]
ในปี 2550 กระทรวงเกษตรสหรัฐได้ปรับบริษัท Scotts Miracle-Gro 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16.25 ล้านบาท) เมื่อพบดีเอ็นเอ ดัดแปรของหญ้าเลี้ยงสัตว์สปีชีส์ Agrostis stolonifera ในพืชอื่นที่อยู่ในสกุล เดียวกัน[ 275]
และในหญ้าท้องถิ่นอื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไปถึง 21 กม. จากสถานที่ทดสอบ ซึ่งเป็นการปล่อยเนื่องจากการตัดหญ้าแล้วลมพัดพาไป[ 276]
ในปี 2552 ประเทศเม็กซิโก ออกกฎควบคุมข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม[ 277]
แต่เพราะว่าเม็กซิโกเป็นศูนย์ความหลายหลาก (center of diversity) ของข้าวโพด จึงเกิดความกังวลถึงผลของข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมต่อพันธุ์ต่าง ๆ ในท้องที่[ 278] [ 279]
งานศึกษาในปี 2544 พบว่า ข้าวโพด Bt ได้ผสมพันธุ์กับข้าวโพดธรรมดาในเม็กซิโก[ 280]
แต่ว่า ข้อมูลในงานศึกษานั้นต่อมาปรากฏว่า เป็นข้อมูลเทียม (artifact) และวารสารที่พิมพ์งานศึกษาคือ เนเจอร์ ก็กล่าวว่า "หลักฐานที่มี ไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุให้ควรตีพิมพ์ผลงานดั้งเดิม" แม้ว่าจะไม่ได้ถอนคืนงานศึกษา[ 281]
งานศึกษาขนาดใหญ่ต่อมาในปี 2548 ไม่พบหลักฐานว่า มียีนที่ถ่ายทอดจากพืชดัดแปรในรัฐวาฮากา [ 282]
แต่ว่า ก็มีผู้เขียนท่านอื่น ๆ (เช่นในงานปี 2552) ที่อ้างว่า พบหลักฐานของการถ่ายทอดยีน[ 283]
งานศึกษาในปี 2553 แสดงว่า ประมาณ 83% ของพืชหรือวัชพืชวงศ์ผักกาด ที่ตรวจสอบ มียีนดัดแปรที่ทนยาฆ่าวัชพืช[ 284] [ 285] [ 286]
นักวิจัยกล่าวว่า การขาดรายงานถึงการกระจายของยีนในสหรัฐแสดงว่า การควบคุมดูแลและการเฝ้าสังเกตไม่เพียงพอ[ 287]
รายงานปี 2553 กล่าวว่า การเกิดขึ้นของวัชพืชที่ดื้อไกลโฟเสต อาจมีผลให้พืชผลดัดแปรพันธุกรรมหมดประสิทธิภาพ นอกจากชาวเกษตรที่ใช้ไกลโฟเสตพร้อมกับวิธีการกำจัดวัชพืชอื่น ๆ[ 288] [ 289]
วิธีหนึ่งเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมก็คือการใช้เทคโนโลยี genetic use restriction technology (GURT) หรือที่รู้จักกันว่า Terminator[ 290]
เทคโนโลยีที่ยังไม่ได้วางตลาดนี้ ทำให้สามารถผลิตพืชผลที่มีเมล็ดสืบพันธุ์ไม่ได้ จึงสามารถป้องกันการปล่อยลักษณะสืบสายพันธุ์ไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ แต่ว่า กลุ่มที่เป็นห่วงเรื่องระบบเก็บส่งอาหารแสดงความกังวลว่า เทคโนโลยีจะถูกใช้เพื่อจำกัดการเข้าถึงเมล็ดที่สืบพันธุ์ได้[ 291] [ 292]
ส่วนแนวคิดเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า T-GURT (หรือ Traitor) จะไม่ทำให้เมล็ดเป็นหมัน แต่จะบังคับให้สเปรย์สารเคมีชนิดหนึ่งต่อพืชแปรพันธุกรรมเพื่อให้ลักษณะสืบสายพันธุ์ของพืชดัดแปรออกฤทธิ์ได้[ 290] [ 293]
แต่ก็มีกลุ่มสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ (เช่น Rural Advancement Foundation International) ที่แสดงความคิดว่า ความปลอดภัยของอาหารและของสิ่งแวดล้อมต้องมีการทดสอบยิ่ง ๆ ขึ้นก่อนที่จะวางขาย T-GURT[ 293]
พืชผลดัดแปรที่หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม
เมล็ดแปรพันธุ์ที่หลุดเข้าไปสู่ไร่นาข้างเคียง แล้วเกิดการปนกันของผลผลิตที่ได้ เป็นประเด็นปัญหาของเกษตรกรที่ส่งผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศที่ไม่ยอมรับสินค้า GMO[ 294] [ 295]
ในปี 2542 นักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยอ้างว่า ได้พบข้าวสาลีแปรพันธุกรรมทนไกลโฟเสตในระบบการขนส่งข้าว แม้ว่าจะยังไม่ได้รับอนุมัติให้ขาย และให้ปลูกในแปลงทดลองเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่าพืชหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร[ 296]
ในปี 2543 มีการพบข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม StarLink ของบริษัท Aventis (ปัจจุบันเป็นบริษัท Bayer CropScience) ในตลาดและร้านอาหารสหรัฐ
มีผลเป็นเป็นการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ข้าวโพด ที่เริ่มเมื่อผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาหาร Taco Bell ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ปรากฏว่า มีข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม
ต่อมาข้าวโพดพันธุ์นี้จึงหยุดวางตลาด[ 139] [ 140]
และบริษัทก็ได้งดลงทะเบียนเพื่อขายพันธุ์ต่าง ๆ ของข้าวโพด StarLink โดยอาสาเอง[ 142]
ในปี 2549 ข้าวจากสหรัฐที่ส่งไปยังยุโรปถูกระงับ เมื่อพบข้าวแปรพันธุ์แบบ LibertyLink แม้ว่าจะเป็นพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้วางตลาด[ 297]
แต่กรมตรวจสอบสุขภาพพืชของกระทรวงเกษตรสหรัฐไม่สามารถกำหนดเหตุของการปนเปื้อนได้[ 298]
ในเดือนพฤษภาคม 2556 มีการพบข้าวสาลีแปรพันธุกรรมทนต่อไกลโฟเสต ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้วางตลาด[ 299]
ในนาของรัฐออริกอน ที่ปลูกข้าวสาลีพันธุ์ฤดูใบไม้ร่วง
เป็นข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมที่ผลิตโดยบริษัทมอนแซนโต ที่ทดสอบภาคสนามระหว่างปี 2541-2548
ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวสาลีของสหรัฐซึ่งมีมูลค่า 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 253,000 ล้านบาท) ในปี 2555[ 300]
จึงมีผลให้บริษัทถอนการทดสอบผลิตภัณฑ์
ต่อมาประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้หยุดซื้อข้าวสาลีพันธุ์ฤดูใบไม้ร่วง เพราะประเด็นปัญหาที่ผู้รณรงค์อาหารอินทรีย์ได้ยกขึ้น[ 301] [ 302] [ 303]
โดยวันที่ 30 สิงหาคม 2556 แม้ว่า ที่มาของข้าวสาลีดัดแปรพันธุกรรมจะยังไม่ชัดเจน แต่ว่า ประเทศเหล่านั้นก็ได้ดำเนินการซื้อผลิตภัณฑ์ต่อไปแล้ว[ 304] [ 305]
การอยู่ร่วมกับพืชผลธรรมดา
สหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายบังคับการอยู่ร่วมกันของเกษตรกรรมที่ปลูกพืชอินทรีย์ พืชธรรมดา หรือพืชดัดแปรพันธุกรรม
แต่อาศัยระบบที่ซับซ้อนแต่ไม่เข้มงวดโดยมีองค์กรรัฐบาลกลาง 3 องค์กร (คือ องค์กรอาหารและยา องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และองค์กรของกระทรวงเกษตร) และกฎหมายคอมมอนลอว์ ว่าด้วยการละเมิดสิทธิในระดับรัฐ ที่ควบคุมดูแลการอยู่ด้วยกัน[ 306]
เลขาธิการกระทรวงเกษตรได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพและเกษตรกรรมในศตวรรรษที่ 21 (AC21) เพื่อศึกษาปัญหาของการปลูกร่วมกันแล้วให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหา
โดยมีสมาชิกจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ กลุ่มเกษตรกร อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช ผู้ผลิตอาหาร รัฐบาลระดับรัฐ กลุ่มผู้บริโภคและพัฒนาชุมชน กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มนักวิชาการ
AC21 ให้ข้อแนะนำดังต่อไปนี้คือ
ให้มีงานศึกษาที่ประเมินโอกาสความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชาวเกษตรอินทรีย์
ให้มีโปรแกรมประกันพืชผลเพื่อลดปัญหาความเสียหายแบบรุนแรง
ให้มีโปรแกรมการศึกษาเพื่อสอนให้ชาวเกษตรอินทรีย์ทำสัญญากำหนดผลที่ต้องการกับผู้รับซื้อก่อนการปลูกพืช
ให้ชาวเกษตร GMO ที่อยู่ใกล้ไร่เกษตรกรรมธรรมดาปฏิบัติการให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการกระจายตัวของพืชดัดแปรพันธุกรรมโดยไม่ตั้งใจ
คือ โดยทั่วไปแล้ว รายงานนี้สนับสนุนให้มีระบบการเกษตรที่หลากหลายสนับสนุนพืชหลายชนิด[ 307] [ 308]
ส่วนสหภาพยุโรป มีกฎหมายโดยเฉพาะบังคับการปลูกร่วมกันและการสืบหาต้นตอได้ (traceability)
แม้ว่า การสืบหาต้นตอได้จะเป็นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับอาหารคนและสัตว์ในประเทศโดยมาก แต่การหาต้นตอของ GMO ได้ เป็นเรื่องที่ยากกว่าเพราะว่ามีกฎหมายที่เคร่งครัดกว่าในเรื่องการไม่ปะปนกัน
ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา อาหารธรรมดาและอาหารอินทรีย์ทั้งของคนและสัตว์สามารถมีอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่อนุมัติแล้วถึง 0.9% โดยไม่ต้องขึ้นป้าย[ 309]
แต่ว่า ถ้ามีร่องรอยของพืชที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ การส่งในครั้งนั้นอาจถูกปฏิเสธได้[ 309] [ 310]
องค์กรควบคุมของรัฐต้องสามารถสืบหาต้นตอ ตรวจจับและแยกแยะ GMO ได้ ดังนั้น ประเทศหลายประเทศและกลุ่มที่สนใจ จึงได้ก่อตั้งองค์การนอกภาครัฐ คือ Co-Extra เพื่อพัฒนาวิธีการเหล่านั้น[ 311] [ 312]
การใช้สารเคมี
ยาฆ่าศัตรูพืช
ยาฆ่าศัตรูพืช เป็นสารที่มีจุดประสงค์เพื่อล่อแล้วทำลาย หรือบรรเทาศัตรูพืช[ 313]
งานวิเคราะห์อภิมาน ปี 2557 ที่ตรวจดูงานศึกษาดั้งเดิม 147 งานที่สำรวจไร่นาและการทดลองภาคสนามสรุปว่า การใช้เทคโนโลยีแปรพันธุกรรมได้ลดระดับการใช้สารเคมีฆ่าศัตรูพืชโดย 37% โดยมีผลในพืชผลที่ทนแมลง ดีกว่าพืชผลที่ทนยาฆ่าวัชพืช[ 314]
ยาฆ่าวัชพืช
การพัฒนาพืชทนไกลโฟเสต ได้ เปลี่ยนรูปแบบการใช้ยาฆ่าวัชพืชโดยลดยาที่คงทนอยู่ได้นานกว่า มีพิษสูงกว่าเช่น atrazine metribuzin และ alachlor และลดระดับปริมาณและผลลบของน้ำพัดผ่านผิวดินที่นำยาฆ่าศัตรูพืชไป[ 315]
แต่ว่าก็ยังมีงานศึกษาปี 2555 (โดย ดร.ชาลส์ เบ็นบรุก) ที่เผยแพร่กันอย่างกว้างขวางที่สรุปว่า การกระจายตัวของวัชพืชที่ดื้อไกลโฟเสตได้เพิ่มการใช้ยาฆ่าวัชพืชในสหรัฐอเมริกา[ 316] [ 317]
โดยอ้างว่า มีการใช้ยาเพิ่มขึ้น 23% (0.3 กก./เฮกตาร์ ) สำหรับถั่วเหลือง ระหว่างปี 2539-2549 43% (0.9 กก./เฮกตาร์) สำหรับฝ้าย ระหว่างปี 2539-2553 และมีการใช้ยาลดลง 16% (0.5 กก./เฮกตาร์) สำหรับข้าวโพด ระหว่างปี 2539-2553[ 316]
แต่ว่า ก็มีผู้วิจารณ์ว่า การศึกษานี้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาว่า ไกลโฟเสตมีพิษน้อยกว่ายาฆ่าวัชพืชอื่น ๆ และดังนั้น ความเป็นพิษสุทธิอาจจะลดลงแม้ว่าการใช้ยาฆ่าวัชพืชจะมีปริมาณสูงขึ้น[ 318] [ 319]
นอกจากนั้นแล้ว นักเศรษฐศาสตร์เกษตรจากบริษัทให้คำปรึกษา PG Economics (คือนายเกรแฮม บรุกส์) ยังตำหนิผู้วิจัยว่า ใช้ค่าประเมินยาฆ่าวัชพืชที่คิดเอง เพราะว่า ข้อมูลที่ใช้ในงานศึกษา ดังที่ได้จากกรมสถิติการเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Statistics Service) ไม่ได้แยกแยะพืชผลแปรพันธุกรรมและที่ไม่ได้แปร
นอกจากนั้นแล้ว นายบรุกส์ยังได้ตีพิมพ์งานศึกษาในปีเดียวกันที่พบว่า การใช้พืชดัดแปรพันธุกรรมได้ลดทั้งปริมาณยาฆ่าศัตรูพืชและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยา ซึ่งไม่ตรงกับผลงานของ ดร.เบ็นบรุก[ 320] [ 321]
นายบรุกส์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ดร.เบ็นบรุก มีข้อสันนิษฐานที่ "มีอคติและไม่ถูกต้อง"[ 322]
ยาฆ่าแมลง
ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมของฝ้ายและข้าวโพด Bt ก็คือ ลดระดับการใช้สารเคมีฆ่าแมลง[ 323] [ 324]
งานศึกษาโดยบริษัทให้คำปรึกษา PG Economics สรุปว่า การใช้ยาฆ่าศัตรูพืชทั่วโลกลดลง 286,000 ตันในปี 2549 และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของยาโดยประมาณ 15%[ 325]
งานในปี 2555 ที่สำรวจไร่นาขนาดเล็กในประเทศอินเดีย ระหว่างปี 2545-2551 สรุปว่า การปลูกฝ้าย Bt ทำให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้นและลดการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชลง[ 326]
ส่วนงานที่เสนอวิธีการคำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2535 แล้วอัปเดตเป็นประจำ บอกเป็นนัยว่า การใช้ยาฆ่าแมลงต่อฝ้ายและข้าวโพดระหว่างปี 2539-2548 ลดลง 35,600 ตันโดยนับแค่ตัวยาสำคัญ (active ingredient) ซึ่งเกือบเท่ากับปริมาณที่ใช้ปีต่อปีในสหภาพยุโรป [ 327]
ส่วนงานวิจัยปี 2555 กับฝ้าย Bt ในจังหวัด 6 จังหวัดด้านเหนือของประเทศจีน ระหว่างปี 2533-2553 สรุปว่า การปลูกฝ้ายแปรพันธุกรรมได้ลดการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชลงครึ่งหนึ่ง เพิ่มปริมาณของด้วงเต่าลาย แมงมุม และแมลงอันดับ Neuroptera ขึ้นสองเท่า (ซึ่งล้วนแต่เป็นแมลงที่โดยมากพิจารณาว่าให้ประโยชน์กับเกษตรกรรม) และขยายประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมให้แก่พืชผลที่อยู่ใกล้ ๆ รวมทั้งข้าวโพด ถั่วลิสง และถั่วเหลือง [ 328] [ 329]
แมลงดื้อยา
การดื้อยา จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ถ้าประชากรพืชหรือแมลงถูกกดดันภายใต้กระบวนการคัดเลือก ที่เกิดจากการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชชนิดเดียวซ้ำ ๆ[ 330]
ในเดือนพฤศจิกายน 2552 นักวิทยาศาสตร์ของมอนแซนโต พบว่า แมลงสปีชีส์ Pectinophora gossypiella (pink bollworm) ดื้อยาต่อฝ้าย Bt รุ่นแรก ในส่วนต่าง ๆ ของรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย เป็นฝ้ายที่มีการแสดงออกของยีน Bt Cry1Ac ซึ่งเป็นการดื้อยา Bt กรณีแรกที่มอนแซนโตยืนยันได้[ 331] [ 332]
ต่อมาการดื้อยาเช่นกันก็พบในประเทศออสเตรเลีย จีน และสหรัฐอเมริกา [ 333]
วิธีอย่างหนึ่งที่สามารถใช้หน่วงการเกิดขึ้นของการดื้อ Bt ก็คือ การปลูกพืชธรรมดาเลี้ยงศัตรูพืช (refuge) เพื่อทำยีนดื้อยาให้เจือจาง
อีกวิธีหนึ่งก็คือ การสร้างพืชผลที่มียีน Bt หลายยีนที่ยิงเป้าไปที่ตัวรับความรู้สึก (receptor) แบบต่าง ๆ ของแมลง[ 334]
ในปี 2555 การทดสอบภาคสนามในรัฐฟลอริดา แสดงว่า หนอนสปีชีส์ Spodoptera frugiperda (fall armyworm) ดื้อยาของข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมผลิตโดยบริษัท Dupont และ Dow ซึ่งพบในครั้งแรกในเปอร์โตริโก ในปี 2549 มีผลให้บริษัททั้งสองเลิกขายผลิตภัณฑ์ในที่นั้น[ 335]
นอกจากนั้นแล้ว หนอนเจาะข้าวโพดยุโรป (European corn borer) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของ Bt ก็สามารถพัฒนาเป็นแมลงดื้อยาได้เช่นกัน[ 336]
เศรษฐกิจ
คุณค่าทางเศรษฐกิจ ของอาหารแปรพันธุกรรมเป็นประโยชน์สำคัญอย่างหนึ่งของพืช รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ด้วย[ 337] [ 338] [ 339]
งานศึกษาในปี 2553 พบว่า ข้าวโพด Bt ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐระหว่างปี 2538-2552 ในมลรัฐ 5 รัฐในสหรัฐ
แต่ว่า ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้ (ประเมินที่ 4,300 ล้านเหรียญ) กลับเกิดกับเกษตรกรที่ไม่ได้ใช้ข้าวโพด Bt
เพราะว่า ประชากรหนอนเจาะข้าวโพดยุโรปลดลง เนื่องจากประสบกับข้าวโพด Bt ทำให้มีหนอนน้อยลงที่จะทำลายข้าวโพดธรรมดาที่อยู่ใกล้ ๆ กัน[ 340] [ 341]
นักเศรษฐศาสตร์เกษตรคำนวณว่า "กำไรทั่วโลกเพิ่มขึ้น 240.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6,091 ล้านบาท) ในปี 2539 จากกำไรทั้งหมดนี้ เกษตรกรชาวอเมริกันได้แชร์ใหญ่ที่สุด (59%) บริษัทขายเมล็ดพันธุ์มอนแซนโตได้แชร์ใหญ่รองต่อมา (21%) ตามมาด้วยผู้บริโภคชาวอเมริกัน (9%) ตามมาด้วยกลุ่มต่าง ๆ ในโลกที่เหลือ (6%) และบริษัทขายเชื้อพันธุ์ Delta and Pine Land (5%)"[ 342]
งานศึกษาที่กว้างขวางในปี 2555 ของบริษัทให้คำปรึกษา PG Economics สรุปว่า พืชผลแปรพันธุกรรมเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรทั่วโลก 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 441,000 ล้านบาท) ในปี 2553 โดยครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้ได้[ 343]
ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยคัดค้านเรื่องผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้ เนื่องจากความแพร่หลายของผู้สังเกตการณ์ที่มีอคติ และการไม่มีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
พืชผล Bt หลักที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาก็คือฝ้าย
งานปฏิทัศน์ในปี 2549 ของฝ้าย Bt ทำโดยนักเศรษฐศาสตร์เกษตรสรุปว่า "แม้ว่าจะดูสดใส บัญชีงบดุลโดยทั่วไปแล้วปน ๆ กันไป รายได้แตกต่างกันมากโดยปี โดยประเภทไร่นา และโดยภูมิภาค"[ 344]
แต่ว่า อดีตผู้ปฏิบัติการณ์หัวรุนแรงที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือมารค์ ไลนาส ได้กล่าวว่า การปฏิเสธพันธุวิศวกรรม โดยสิ้นเชิง "เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล และอาจจะมีผลลบต่อประโยชน์ของคนที่ยากจนกว่าและต่อสิ่งแวดล้อม"[ 345]
ในปี 2556 คณะกรรมการให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของบัณฑิตยสถานยุโรป (European Academies Science Advisory Council ตัวย่อ EASAC) เรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) อนุญาตการพัฒนาเทคโนโลยีแปรพันธุกรรมสำหรับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถการทำเกษตรกรรมยั่งยืน และเพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูก ทรัพยากรน้ำและสารอาหารอื่น ๆ ที่น้อยกว่า
นอกจากนั้นแล้ว EASAC ยังวิจารณ์ "ระบบควบคุมที่เปลืองเวลามากและมีค่าใช้จ่ายสูง" ของ EU แล้วกล่าวว่า EU ล้าหลังในการใช้เทคโนโลยีแปรพันธุกรรม[ 346]
เกษตรระดับอุตสาหกรรม
พืชผลแปรพันธุกรรมเป็นหลักสำคัญในเกษตรกรรมระดับอุตสาหกรรม (intensive crop farming) ซึ่งอาจใช้ระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยว ใช้ยาฆ่าวัชพืชและยาฆ่าศัตรูพืช ใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้พลังงานจำนวนมหาศาลและต้องพึ่งระบบชลประทาน
มีผู้ต่อต้านสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม บางท่าน ที่ปฏิบัติต่อเกษตรกรรรมระดับอุตสาหกรรมและพืชดัดแปรพันธุกรรม โดยเป็นประเด็นใกล้เคียงกัน และเรียกร้องให้มีข้อปฏิบัติทางเกษตรกรรมที่ลดประเด็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม[ 347] [ 348] [ 349] [ 350] [ 351]
ส่วนผู้สนับสนุนชี้ว่า พืชดัดแปรพันธุกรรมให้ผลผลิตสูง มีราคาต่ำ ให้ทางเลือกมากกว่า และอ้างว่า เทคโนโลยีนี้จำเป็นต่อการเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[ 352] [ 353] [ 354] [ 355]
ประเทศกำลังพัฒนา
มีความเห็นแย้งกันเกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งข้ออ้างว่า จำเป็นต้องเพิ่มเสบียงอาหาร[ 356] [ 357] [ 358]
และวิธีดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น
ยังมีนักวิมตินิยมที่อ้างว่า การขาดแคลนอาหารดังที่ปรากฏ มีเหตุจากการแจกจ่ายอาหารและการเมือง ไม่ใช่เพราะการผลิต[ 359] [ 360] [ 361] : 73
นักวิทยาศาสตร์บางพวกเสนอว่า ปฏิวัติสีเขียว (การปฏิวัติการผลิตพืชผลทำให้ได้ผลมากขึ้นอย่างมหาศาล) ครั้งที่สอง ซึ่งรวมการใช้พืชดัดแปรพันธุกรรม เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อที่จะผลิตอาหารได้เพียงพอ[ 362] [ 363] : 12
โอกาสที่อาหารดัดแปรพันธุกรรมจะช่วยประเทศกำลังพัฒนา เป็นเรื่องที่องค์กรของธนาคารโลก คือ International Assessment of Agricultural Science and Technology for Development (IAASTD) รับรู้ แต่ว่า โดยปี 2551 IAASTD ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการแก้ปัญหาควรจะเป็นอย่างไร[ 364]
นักวิจารณ์พวกอื่นกล่าวว่า โลกมีคนมากมายอย่างนี้ก็เพราะว่าการปฏิวัติสีเขียวครั้งที่สองเริ่มใช้ข้อปฏิบัติทางเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน มีผลให้เกิดคนมากกว่าที่โลกจะสามารถรับรองได้[ 365]
มีนักวิจารณ์อื่นอีกที่กล่าวว่า แม้ว่า การใช้เทคโนโลยีแปรพันธุกรรมจะสามารถเลี้ยงประชากรโลกปัจจุบันได้ แต่เพราะว่าเป็นระบบที่ต้องใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ ในที่สุดราคาเชื้อเพลิงและอาหารก็จะเพิ่มสูงขึ้นในระดับหายนะ[ 366]
ข้อจำกัดในการใช้ในประเทศกำลังพัฒนาที่อ้างรวมทั้งการเข้าถึงได้ยาก อุปกรณ์มีราคาแพง และสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ที่มีผลลบต่อประเทศกำลังพัฒนา
อุปสรรคอื่น ๆ รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิบัตร สัญญาการใช้เพื่อการค้า และปัญหาอื่น ๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนามี ในการเข้าถึงทรัพยากรเกี่ยวกับพันธุกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ
สนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรมของพืชสำหรับอาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture) พยายามที่จะแก้ปัญหานี้ แต่ผลที่ได้ยังไม่สม่ำเสมอ
ดังนั้น "พืชผลกำพร้า" อย่างเช่น หญ้าสปีชีส์ Eragrostis tef ข้าวฟ่าง ถั่วฝักยาว และพืชเฉพาะพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา ก็ยังได้รับความสนใจน้อย[ 367]
ในหนังสือปี 2543 การหยุดความโหยหิวในโลก: ความหวังในเทคโนโลยีชีวภาพและภัยจากความบ้าคลั่งต่อต้านวิทยาศาสตร์ [ 368]
ของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้มีชื่อว่าเป็นบิดาของปฏิวัติสีเขียวคือ ดร.นอร์แมน บอร์ล็อก มีเนื้อความที่นักวิชาการหลายท่านยังยอมรับว่าเป็นจริงแม้ในปี 2553[ 369]
มีการกล่าวถึงหนังสือของ ดร.บอร์ล็อก ว่า
ดร. บอร์ล็อกเห็นว่า พืชผลดัดแปรพันธุกรรมเป็นธรรมชาติและปลอดภัยเท่า ๆ กับข้าวสาลีที่ใช้ทำขนมปังทุกวันนี้ และเขาก็ยังเตือนสตินักวิทยาศาสตร์เกษตรว่า พวกเขามีหน้าที่ทางจริยธรรมที่จะยืนหยัดต่อต้านพวกที่คัดค้านวิทยาศาสตร์ และที่จะเตือนผู้มีอำนาจออกนโยบายว่า ความไม่มั่นคงเกี่ยวกับอาหารในระดับโลกจะไม่สามารถแก้ได้โดยไม่มีเทคโนโลยีใหม่นี้ และการไม่สนใจความจริงที่ว่านี้ จะทำให้การแก้ปัญหาในอนาคตยากที่จะสำเร็จผลได้
ผลผลิต
ผลผลิตข้าวโพดในสหรัฐไม่เพิ่มขึ้นจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1930 เมื่อการใช้พืชพันธุ์ลูกผสม แบบธรรมดาเริ่มเพิ่มผลผลิตขึ้นประมาณ .8 bushel/เอเคอร์ /ปี ระหว่าง ค.ศ. 1937-1955
ต่อจากนักนั้น วิธีการปลูกรวมทั้งพันธุ์ที่ดีขึ้น ปุ๋ย ยาฆ่าศัตรูพืช การใช้เครื่องกล เพิ่มอัตราการเพิ่มผลิตเป็น 1.9 bushel/เอเคอร์/ปี
และในปีหลังจากการผลิตข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม อัตราการเพิ่มเพิ่มขึ้นเป็น 2.0 bushel/เอเคอร์/ปี[ 370]
ในสหรัฐอเมริกา ผลผลิตเฉลี่ยข้องข้าวโพดอยู่ที่ 174.2 bushel/เอเคอร์ ในปี 2557[ 371]
พืชผลดัดแปรพันธุกรรมที่วางตลาดแล้วมีลักษณะสืบสายพันธุ์ (trait) ที่ลดความเสียหายจากแมลงและวัชพืช[ 372] [ 373]
ทั้งพืชผลและสัตว์ที่กำลังได้รับการพัฒนา ล้วนแต่มีการแสดงออกของยีน ที่เพิ่มผลผลิต[ 374]
ผลิตภัณฑ์ที่ใกล้จะวางตลาดก็คือ ปลาแซลมอน แปรพันธุกรรม ที่ผลิตฮอร์โมน การเติบโตได้เองมีผลเป็นการโตเร็วได้ 2 เท่า[ 375]
งานปฏิทัศน์ปี 2557
งานปฏิทัศน์ปี 2557 ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาสรุปว่า พืชผลดัดแปรพันธุกรรมมีผลบวกต่อเกษตรกรรม[ 314]
เป็นงานวิเคราะห์อภิมาน ที่พิจารณางานวิจัยภาษาอังกฤษทั้งหมดที่เคยตีพิมพ์ เกี่ยวกับผลทางเกษตรและทางเศรษฐกิจของพืช ระหว่างปี 2538 จนถึงเดือนมีนาคม 2557
งานศึกษาพบว่า พืชผลทนยาฆ่าวัชพืชมีค่าใช้จ่ายในการผลิตน้อยกว่าพืชธรรมดา ในขณะที่พืชผลทนแมลงที่ลดระดับการใช้ยาฆ่าแมลง จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเพื่อซื้อพันธุ์พืช จึงมีค่าใช้จ่ายเท่ากับพืชธรรมดา[ 376]
ผลผลิตเพิ่มขึ้น 9% สำหรับพืชทนยาฆ่าวัชพืช และเพิ่มขึ้น 25% สำหรับพืชทนแมลง
เกษตรกรที่ใช้พืชดัดแปรพันธุกรรมทำกำไรได้ 69% สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้
งานปฏิทัศน์ยังพบอีกด้วยว่า พืชผลดัดแปรพันธุกรรมช่วยเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา โดยเพิ่มผลผลิตประมาณ 14%[ 376]
ผู้วิจัยรวมงานศึกษาบางงานที่ไม่มีการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน และงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รายงานขนาดตัวอย่าง (sample sizes)
ผู้วิจัยพยายามแก้ความผิดพลาดที่มาจากความเอนเอียงในการตีพิมพ์ (publication bias) โดยรวมเอางานที่ไม่ได้พิมพ์ในวารสารวิชาการ
การมีข้อมูลเป็นจำนวนมากทำให้ผู้วิจัยสามารถควบคุมตัวแปรกวน เช่นการใช้ปุ๋ยในงานนี้ได้
นอกจากนั้นแล้ว ผู้วิจัยยังสรุปว่า แหล่งเงินทุนงานวิจัยไม่ได้มีผลต่อผลงานวิจัย[ 376]
งานปฏิทัศน์ปี 2553
บทความในปี 2553 ที่สนับสนุนโดยสมาคมการค้าเกษตร CropLife International สรุปผลของงานวิจัยที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน 49 งาน[ 377] [ 378]
โดยเฉลี่ยแล้ว มีการเพิ่มผลผลิตในอัตรา 6% สำหรับเกษตรกรในประเทศพัฒนาแล้ว และ 29% สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
การไถนาลดลง 25-58% สำหรับถั่วเหลืองที่ทนยาฆ่าวัชพืช
คือพืชที่ทนไกลโฟเสต ทำให้เกษตรกรปลูกพืชเป็นแนวชิดต่อกันยิ่งขึ้น เพราะว่าไม่ต้องควบคุมวัชพืชด้วยการไถนา[ 379]
การใช้ยาฆ่าแมลงสำหรับพืช Bt ลดลง 14-76% และเกษตรกร 72% ทั่วโลกประสบผลบวกทางเศรษฐกิจ
งานปฏิทัศน์ปี 2552
ในปี 2552 กลุ่ม Union of Concerned Scientists (สหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านพันธุวิศวกรรม และการโคลน สัตว์เลี้ยงเป็นอาหาร สรุปงานวิจัยที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน เกี่ยวกับผลผลิตที่ได้จากถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมในสหรัฐ[ 380]
ว่า วิธีการเกษตรกรรมอื่น ๆ มีผลต่อผลผลิตในระดับชาติเมื่อเร็ว ๆ นี้ มากกว่าพันธุวิศวกรรม
งานวิจัยรัฐวิสคอนซิน
งานวิจัยที่มีลักษณะการตีพิมพ์ที่ไม่ทั่วไปโดยเป็นจดหมายถามตอบแทนที่จะเป็นบทความ ตรวจสอบข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมออกแบบเพื่อให้มีการแสดงออกของยีน 4 อย่างคือ ทนต่อหนอนเจาะข้าวโพดยุโรป ทนต่อหนอนรากข้าวโพด (corn rootworm) ทนต่อไกลโฟเสต และทนต่อกลูโฟสิเนต แบบทีละอย่าง ๆ หรือแบบผสมผสานกันในแปลงปลูกพืชรัฐวิสคอนซิน ระหว่างปี 2533-2553[ 381]
แล้วพบว่า ผลผลิตที่ได้ปีต่อปีแตกต่างกันน้อยกว่าพืชธรรมดา โดยมีการเพิ่มผลผลิต 0.8-4.2 bushel/เอเคอร์ โดยที่พันธุ์ทนหนอนเจาะข้าวโพดยุโรปเพิ่มขึ้น +6.4 bushel/เอเคอร์ พันธุ์ทนกลูโฟสิเนตเพิ่มขึ้น +5.76 พันธุ์ทนไกลโฟเสตลดลง -5.98 และพันธุ์ทนหนอนรากข้าวโพดลดลง -12.22
งานศึกษาพบการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างยีนในพันธุ์ที่มีการแปรพันธุ์หลายลักษณะ โดยที่ผลรวมกันที่ได้แตกต่างจากการบวกผลของลักษณะสายพันธุ์แต่ละอย่างเข้าด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่น การรวมลักษณะสายพันธุ์ทนต่อหนอนเจาะข้าวโพดยุโรปกับลักษณะทนต่อกลูโฟซิเนตเพิ่มผลผลิตเพียงแค่ 3.13 bushel/เอเคอร์ ซึ่งน้อยกว่าพันธุ์ที่มีลักษณะต่างหาก ๆ สองพันธุ์รวมกัน[ 382]
สภาวะการตลาด
มีบริษัทไม่กี่บริษัทที่ครองตลาดอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช ล้วนแต่เป็นบริษัทที่รวมหน่วยธุรกิจตามแนวยืน (vertically integrated)[ 383] [ 384]
ในปี 2554 บริษัทเพียงแค่ 10 บริษัทควบคุม 73% ของตลาดโลก[ 385]
ในปี 2544 กระทรวงเกษตรสหรัฐรายงานว่า การรวมตัวบริษัทแม้จะนำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากขนาด แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า การที่บริษัทบางบริษัทได้ขายหน่วยธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์พืช ทำให้การอยู่รอดของบริษัทรวมธุรกิจเหล่านี้ ยังเป็นที่น่าสงสัย[ 386]
นักเศรษฐศาสตร์สองท่าน ผู้เป็นแขกรับเชิญให้พูดใน AgBio Forum[ 387]
อ้างว่า อำนาจการตลาดของบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชอาจจะเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่สังคม ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งราคาที่ดูจะไม่อำนวย เพราะว่า "แม้ว่า การตั้งราคาแตกต่างกันจะบ่อยครั้งพิจารณาว่า เป็นความบิดเบือนการตลาดที่ไม่น่าปรารถนา แต่มันอาจจะเพิ่มประโยชน์โดยรวม (ให้กับสังคม) ด้วยการเพิ่มผลผลิตโดยรวม และด้วยการวางจำหน่ายในตลาดที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์นี้โดยประการอื่น"[ 388]
การครองตลาดช่วยให้บริษัทสามารถตั้งหรือมีอิทธิพลในการตั้งราคา กำหนดกติกา และเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่ ๆ
และช่วยให้มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลในการออกนโยบายต่าง ๆ[ 389] [ 390]
ในเดือนมีนาคมปี 2553 กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงเกษตรสหรัฐประชุมกันเพื่อพิจารณาการแข่งขันกันในตลาดของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช
หัวหน้าแผนกการป้องกันการผูกขาดขอองกระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า กำลังตรวจสอบว่า มีการใช้สิทธิบัตร ของเมล็ดพันธุ์พืชแปรพันธุ์โดยไม่ชอบหรือไม่[ 391]
ประเด็นปัญหาที่สำคัญก็คือ สัญญาอนุญาตให้ใช้ลักษณะสายพันธุ์ทนต่อไกลโฟเสต ของบริษัทมอนแซนโต ที่พบในถั่วเหลือง 93% ที่ปลูกในสหรัฐปี 2552[ 392]
มีกลุ่มเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ที่คัดค้านเกษตรกรรมแบบบริษัทกว่า 250 คนที่จัดการประชุมหมู่บ้านก่อนการประชุมของรัฐ เพื่อประท้วงการซื้อบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นอิสระโดยมอนแซนโต แล้วจดสิทธิบัตรและขึ้นราคาเมล็ดพันธุ์พืช[ 391]
ทรัพย์สินทางปัญญา
โดยธรรมดาทั่วไปแล้ว เกษตรกรของทุก ๆ ชาติเก็บเมล็ดพันธุ์พืชของตนเองเพื่อเพาะปลูกในปีต่อไป
แต่ว่า เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 มีการใช้พืชลูกผสม อย่างกว้างขวางในประเทศพัฒนาแล้ว และเมล็ดพืชเหล่านี้ต้องซื้อปีต่อปีจากผู้ผลิต[ 393]
คือลูกหลานของข้าวโพดลูกผสม แม้ว่าจะไม่เป็นหมัน แต่ก็จะสูญเสียประโยชน์ (heterosis) ที่ได้จากพันธุ์ลูกผสม
นี่เป็นเหตุหลักที่จะไม่ปลูกเมล็ดพันธุ์พืชรุ่นที่สอง
แต่ว่า สำหรับพืชผลแปรพันธุกรรมเช่นถั่วเหลือง บริษัทเมล็ดพันธุ์จะใช้สัญญาบังคับโดยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายเกี่ยวกับการมอบการครอบครองทรัพย์ (bailment) เพื่อป้องกันเกษตรกรไม่ให้ปลูกเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้
ยกตัวอย่างเช่น ใบอนุญาตการมอบการครอบครองทรัพย์ของบริษัทมอนแซนโตจะห้ามการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ และบังคับให้ผู้ซื้อเซ็นสัญญาใบอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรต่างหาก[ 394] [ 395]
บริษัทผู้ผลิตกล่าวว่า จำเป็นที่จะป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ของเมล็ดพันธุ์พืช เพราะเป็นหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นบริษัท และเพื่อเป็นทุนสำหรับการพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
บริษัทดูปองท์ใช้เงินครึ่งหนึ่งจากงบประมาณการวิจัยและพัฒนา 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 61,000 ล้านบาท) สำหรับเกษตรกรรมในปี 2554[ 396]
ในขณะที่มอนแซนโตใช้จ่าย 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557[ 397]
แต่ผู้ไม่เห็นด้วยเช่นกลุ่มกรีนพีซ กล่าวว่า กฎหมายสิทธิบัตรให้อำนาจทางเกษตรกรรมกับบริษัทมากเกินไป[ 398]
และศูนย์เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศ (Center for Ecoliteracy) อ้างว่า "การจดสิทธิบัตรสำหรับเมล็ดพันธุ์พืชให้อำนาจกับบริษัทมากเกินไป ในเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตของทุกคน"[ 399]
ส่วนรายงานปี 2543 ภายใต้การสนับสนุนของบัณฑิตยสถานนานาชาติกล่าวว่า "ถ้าสิทธิของเครื่องมือ (ทางกฎหมาย)เหล่านี้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดและทั่วไป และไม่มีการอนุญาตให้ใช้ หรือให้ใช้ฟรีในประเทศกำลังพัฒนา โอกาสการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแปรพันธุกรรมที่อธิบายมาก่อนแล้ว ก็จะไม่ให้ประโยชน์กับประเทศด้อยพัฒนาเป็นระยะเวลายาวนาน" (คือจนกระทั่งสิทธิบัตรหมดอายุ)[ 400]
บ.มอนแซนโต ได้จดสิทธิบัตรพืชพันธุ์ของตน และบังคับให้เกษตรกรผู้เลือกที่จะซื้อเมล็ดพืชของ บ. เซ็นสัญญาให้ใช้สิทธิ โดยบังคับให้เก็บหรือขายพืชผลที่ปลูกเท่านั้น ไม่ให้ปลูกใหม่[ 156] : 213 [ 401]
โดยที่ บ. มีประวัติฟ้องคดีละเมิดสิทธิบัตรในศาลต่อเกษตรกร 145 รายเริ่มแต่ปี 2540 แต่มี 11 รายเท่านั้นที่สู้คดีในศาล[ 402]
และใน 11 คดีเหล่านั้น เกษตรกรล้วนแต่อ้างว่า เกิดการปนเปื้อนที่ไม่ได้ตั้งใจเพราะเหตุการถ่ายเทของยีน แต่ บ. ได้ชนะคดีเหล่านั้นทั้งหมด[ 402]
หัวหน้าแผนกมนุษยสัมพันธ์ของมอนแซนโตแคนาดากล่าวว่า "มันไม่ใช่ และไม่เคยใช่ นโยบายของมอนแซนโตแคนาดาที่จะบังคับใช้สิทธิบัตรของพืชผล Roundup Ready ถ้ามันเกิดขึ้นในแปลงเกษตรกรโดยอุบัติเหตุ แต่ต่อเมื่อมีการละเมิดสิทธิทั้งที่รู้และตั้งใจเท่านั้น ที่มอนแซนโตจะดำเนินการ"[ 403]
ในปี 2552 มอนแซนโตประกาศว่า หลังจากสิทธิบัตรถั่วเหลืองหมดอายุลงในปี 2557 บ. จะไม่ห้ามเกษตรกรไม่ให้ปลูกเมล็ดถั่วเหลืองที่เป็นผลผลิตอีกต่อไป[ 404]
ตัวอย่างของการฟ้องศาลเช่นนี้คือคดีบริษัทมอนแซนโตแคนาดากับนายชไมเซอร์ [ 405]
ซึ่งเป็นคดีที่เข้าใจผิดกันอย่างกว้างขวาง[ 406]
คือในปี 2540 นายเพอร์ซี ชไมเซอร์ ผู้เป็นเกษตรกรที่ปลูกและเพาะพันธุ์พืชวงศ์ผักกาด ในเมืองบรูโน รัฐซัสแคตเชวัน พบว่าแปลงพืชของเขาแปลงหนึ่งดื้อต่อยาฆ่าวัชพืช Roundup
เขาไม่ได้ซื้อเมล็ดพันธุ์เช่นนี้ ซึ่งพัดเข้ามาในที่ของเขาจากแปลงข้างเคียง
ต่อมาเขาเก็บผลผลิตจากแปลงนั้น แล้วก็เก็บไว้ที่หลังรถกระบะ[ 405] : ย่อหน้า 61 & 62
ก่อนปีเพาะปลูก 2541 ปีต่อไป ผู้แทนของ บ.มอนแซนโตได้แจ้งนายชไมเซอร์ว่า การใช้พืชผลอันนี้เพื่อปลูกพืชจะเป็นการละเมิดสิทธิบัตร แล้วยื่นข้อเสนอให้ใบอนุญาตแก่เขา ซึ่งเขาปฏิเสธ[ 405] : ย่อหน้า 63 [ 407]
ตามศาลสูงสุดของประเทศแคนาดา แม้ว่าหลังจากการคุยกันเช่นนี้ "นายชไมเซอร์ก็ยังนำเอาผลผลิตที่เก็บไว้ที่รถกระบะไปยังโรงงานบำบัดเมล็ด แล้วบำบัดพืชผลนั้นเพื่อจะใช้เมล็ด และเมื่อบำบัดแล้ว มันก็ไม่สามารถจะใช้อะไรอย่างอื่นได้อีก นายชไมเซอร์ปลูกเมล็ดที่บำบัดในไร่ 9 แปลง เต็มเนื้อที่ประมาณ 1,000 เอเคอร์ (ประมาณ 2,529 ไร่) การทดสอบที่เป็นอิสระต่อ ๆ กันทำโดยผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ยืนยันว่า พืชวงศ์ผักกาดที่นายชไมเซอร์เพาะปลูกในปี 2541 95-98% เป็นพันธุ์ทนยา Roundup"[ 405] : ย่อหน้า 63-64
หลังจากการคุยกันนอกศาลระหว่างนายชไมเซอร์กับมอนแซนโตล้มเหลว มอนแซนโตฟ้องนายชไมเซอร์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรแล้วชนะคดีในศาลเบื้องต้น
ต่อมานายชไมเซอร์ได้อุทธรณ์ต่อศาลและแพ้คดี แล้วจึงยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดแคนาดาอีก ซึ่งในปี 2547 ตัดสินโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้มอนแซนโตชนะ โดยกล่าวว่า "มันชัดเจนในการสืบคดีของศาลชั้นต้นว่า ผู้อุทธรณ์เก็บ ปลูก เก็บเกี่ยว แล้วขายผลผลิตจากต้นพืชที่มียีนและเซลล์พืชที่มอนแซนโตได้จดสิทธิบัตร"[ 405] : ย่อหน้า 68
การค้าขายระหว่างประเทศ
พืชผลดัดแปรพันธุกรรมเป็นจุดชนวนหนึ่งของข้อพิพาทในประเทศที่ส่งอาหารออกขายว่า การเริ่มใช้พืชผลดัดแปรพันธุกรรมจะเป็นอันตรายต่อการส่งสินค้าออกไปยังประเทศอื่นหรือไม่[ 408]
ในประเทศแคนาดา ปี 2553 การส่งแฟลกซ์ (ต้นไม้คล้ายป่าน) ไปยังยุโรปถูกปฏิเสธ เมื่อพบร่องรอยของแฟลกซ์แปรพันธุกรรมที่ยังอยู่ในขั้นทดลอง[ 409]
ซึ่งมีผลให้สมาชิกรัฐสภาท่านหนึ่งเสนอกฎหมาย (C-474) ที่บังคับให้ "มีงานวิเคราะห์เกี่ยวกับโอกาสผลลบที่มีต่อการส่งออก ก่อนที่จะอนุญาตให้ขายเมล็ดพันธุ์พืชแปรพันธุกรรมใหม่ ๆ"[ 410]
ส่วนผู้คัดค้านอ้างว่า "การรวมมาตรฐานทางสังคม-เศรษฐกิจที่เข้มงวดเข้ากับระบบการควบคุมที่มีมูลฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์ อาจเป็นเหตุระงับการลงทุนทำงานวิจัย (เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ) ของเอกชน เพราะว่า ถ้าบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพไม่เห็นผลตอบแทนจากการลงทุน ก็จะลงทุนงบประมาณการวิจัยของตนในเรื่องอื่น ๆ"[ 409]
ต่อมาในปี 2554 กฎหมายไม่ผ่านรัฐสภาโดยมีคะแนนเสียง 97-176[ 411]
กฎหมายการควบคุม
การติดฉลากอาหารGMO
เขียว-บังคับการขึ้นป้าย แดง-ห้ามการนำเข้าและการปลูกพืชผลแปรพันธุกรรม
ในปี 2557 มีประเทศ 64 ประเทศที่บังคับให้ขึ้นป้ายอาหารดัดแปรพันธุกรรมทั้งหมด[ 412] [ 413]
สหภาพยุโรป [ 414] [ 415]
ประเทศญี่ปุ่น [ 416]
ออสเตรเลีย [ 417]
นิวซีแลนด์ [ 417]
รัสเซีย [ 418]
จีน [ 419]
อินเดีย [ 420]
และไทย [ 421] [ 422]
ล้วนแต่บังคับให้ใช้ฉลากอาหาร GMO
โดยเดือนธันวาคม 2558 ประเทศอิสราเอล ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบังคับฉลากอาหารที่มีส่วนผสมจาก GMO[ 423]
และมีเขตปกครองอื่น ๆ ที่อนุญาตให้ขึ้นป้ายโดยสมัครใจ หรือว่ามีแผนที่จะบังคับให้ขึ้นป้าย[ 424] [ 425] [ 426]
สมาคมสาธารณสุขอเมริกัน (American Public Health Association)[ 427]
สมาคมแพทย์อังกฤษ (British Medical Association)[ 11]
และสมาคมสาธารณสุขออสเตรเลีย[ 12]
สนับสนุนให้บังคับขึ้นฉลากอาหาร
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อ้างว่า การบังคับให้ขึ้นฉลากและการสืบหาต้นตอได้ จำเป็นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ ป้องกันการโฆษณาลวง[ 414]
และช่วยอำนวยการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ถ้าพบผลลบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม[ 415]
แต่งานศึกษาปี 2550 เกี่ยวกับกฎหมายให้ขึ้นฉลากพบว่า เมื่อบังคับให้ขึ้นฉลาก มีผลิตภัณฑ์น้อยที่จะยังมีส่วนผสมแปรพันธุกรรม
ประเทศที่ส่งอาหารออกเช่นสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และแคนาดา อนุญาตให้ขึ้นป้ายโดยอาสา ส่วนประเทศที่นำอาหารเข้าโดยทั่วไปบังคับให้ขึ้นป้าย[ 428]
ในประเทศสหรัฐอเมริกา การขึ้นป้าย GMO ไม่บังคับโดยองค์การอาหารและยาตราบเท่าที่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อม และความคาดหวังของผู้บริโภคเพราะการบรรจุผลิตภัณฑ์[ 429] [ 430] [ 431]
สมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association ตัวย่อ AMA)[ 4]
และสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ (American Association for the Advancement of Science ตัวย่อ AAAS)[ 1]
ต่างต่อต้านการบังคับขึ้นฉลากเพราะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ถึงอันตราย
AMA กล่าวว่า การขึ้นฉลากแม้โดยอาสาก็ยังชักนำให้เข้าใจผิด นอกจากจะมีการให้ข้อมูลอื่น ๆ กับผู้บริโภคอย่างจริงจัง
ส่วน AAAS กล่าวว่า การบังคับให้ขึ้นฉลาก "ก็จะเป็นเพียงการชักนำผู้บริโภคให้เข้าใจผิด และทำให้ตื่นตระหนกอย่างผิด ๆ"
การพยายามให้ขึ้นป้ายไม่ได้เป็นไปตามหลักฐานว่าอาหารแปรพันธุกรรมมีอันตรายจริง ๆ
คือจริง ๆ แล้ว (ข้อมูล)วิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนมากว่า การปรับปรุงพืชผลโดยใช้เทคนิคระดับโมเลกุลของเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ปลอดภัย
แต่ว่า ความพยายามเหล่านั้น มีเหตุจากองค์ประกอบต่าง ๆ เริ่มจากความเห็นเรื้อรังว่า อาหารเช่นนี้ "ไม่เป็นธรรมชาติ" เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง และอาจจะเป็นอันตราย จนไปถึงความต้องการที่จะได้เปรียบในการแข่งขัน โดยออกกฎหมายให้ติดป้ายที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้ตระหนกตกใจ
สิ่งที่เข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเหตุผลเพื่อขึ้นป้ายก็คือ พืชผลแปรพันธุกรรมนั้นไม่ได้ทดสอบ
มีความพยายามหลายครั้งหลายหนที่จะออกกฎหมายการขึ้นป้ายในสหรัฐ โดยเฉพาะในระดับมลรัฐ[ 432]
สมาคมสาธารณสุขรัฐอิลลินอย [ 433]
และสมาคมการแพทย์รัฐอินเดียนา [ 434]
ล้วนแต่กล่าวว่า
การไม่มีฉลากทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถสืบสาวความเป็นพิษหรือภูมิแพ้ที่เป็นปฏิกิริยาต่อ หรือสืบสาวผลลบทางสุขภาพอื่น ๆ จาก อาหารแปรพันธุกรรม[ 433] [ 434]
ความพยายามแรกสุดเกิดขึ้นในปี 2545 ในรัฐออริกอน แต่ไม่ผ่านรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงในอัตรา 7 ต่อ 3 และเมื่อต้นปี 2555 มีรัฐสภาของ 18 มลรัฐที่อภิปรายเรื่องการออกฎหมายบังคับการขึ้นป้าย[ 435]
ในปี 2555 ชาวรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกเสียงปฏิเสธกฎหมายที่บังคับการขึ้นป้าย (California Proposition 37)[ 436] [ 437]
ในปี 2556 รัฐคอนเนตทิคัต ออกฎหมายบังคับการขึ้นป้ายเป็นฉบับแรกในสหรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่า จะไม่มีผลจนกระทั่งรัฐอื่น ๆ ออกกฎหมายตาม[ 438]
ในปีเดียวกัน ชาวรัฐวอชิงตัน ลงมติปฏิเสธกฎหมายบังคับให้ขึ้นป้าย[ 439] [ 440]
โดยเดือนกันยายนปีเดียวกัน ยังมีการอภิปรายถึงกฎหมายขึ้นป้ายในรัฐไม่ต่ำกว่า 20 รัฐในสหรัฐ[ 441]
ในวันที่ 9 มกราคม 2556 รัฐเมน ออกกฎหมายบังคับการขึ้นป้าย โดยมีเงื่อนไขคล้ายกับของรัฐคอนเนตทิคัต[ 442]
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 มีกฎหมายร่างบังคับการขึ้นป้ายในวุฒิสภา ของรัฐแคลิฟอร์เนีย [ 443] [ 444]
ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน รัฐเวอร์มอนต์ ออกกฎหมายบังคับการขึ้นป้าย[ 412] [ 445]
ความเป็นกลางขององค์กรควบคุมกฎหมาย
กลุ่มต่าง ๆ ที่ต่อต้านการอนุมัติสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หรือการใช้เป็นอาหาร ได้ตั้งข้อสงสัยว่า องค์กรควบคุมของรัฐสนิทสนมกับบริษัทที่ต้องการให้อนุมัติผลิตภัณฑ์ของตนเกินไปหรือไม่[ 33] [ 38]
ผู้ต่อต้านในสหรัฐ ได้ประท้วงการตั้งนักวิ่งเต้นในตำแหน่งสูง ๆ ภายในองค์การอาหารและยา (ตัวย่อ FDA)
เช่นในปี 2534 นักวิ่งเต้นของมอนแซนโต คนหนึ่ง (Michael R. Taylor) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปรึกษาอาวุโสของ FDA เกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร
ต่อมาเมื่อลาจากตำแหน่งแล้ว เขาได้กลายเป็นรองประธานคนหนึ่งในบริษัท
ต่อมาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 เขากลับไปทำงานกับรัฐบาลอีกโดยเป็นผู้ปรึกษาอาวุโสของกรรมาธิการขององค์กร[ 446]
ในปี 2554 เมื่อเกิดกรณีเรียกคืนข้าวโพด Starlink บุคลากรขององค์การไม่แสวงหาผลกำไร "ศูนย์ความปลอดภัยอาหาร (Center for Food Safety)" ได้วิจารณ์สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ ว่า ตอบสนองต่อปัญหาช้า[ 447]
และวิจารณ์ทั้งองค์กรและบริษัท Aventis CropScience (ปัจจุบัน Sanofi) เพราะคำแถลงการณ์ว่า ทั้งสององค์กรไม่ได้คาดหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น[ 447]
คณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพแคนาดาที่ทำหน้าที่ทบทวนกฎหมายควบคุมของแคนาดาระหว่างปี 2542-2546 ถูกตำหนิโดยกลุ่มสิ่งแวดล้อมและกลุ่มพลเมืองต่าง ๆ ว่า ไม่ได้เป็นผู้แทนเพื่อสาธารณประโยชน์ในทุก ๆ ด้าน และใกล้ชิดกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากเกินไป[ 448]
สมาชิกโดยมากของคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติจีนมีส่วนร่วมในเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งทำให้เกิดคำวิจารณ์ว่า ไม่เป็นตัวแทนเพื่อสาธารณประโยชน์ที่กว้างขวางเพียงพอ[ 449]
ข้อขัดแย้งโดยคดีฟ้องร้องและโดยการควบคุม
สหรัฐอเมริกา
มีการฟ้องคดีในศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ 4 คดี ต่อกรมตรวจสอบสุขภาพของสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service ตัวย่อ APHIS) ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ที่มีหน้าที่ดูแลควบคุมพืชดัดแปรพันธุกรรม
คือคดี 2 คดีเนื่องด้วยการทดสอบภาคสนามของหญ้าทนยาฆ่าวัชพืชในรัฐออริกอน และข้าวโพด และอ้อย ที่สามารถผลิตยาได้ในรัฐฮาวาย กับอีก 2 คดีเนื่องด้วยการยกเลิกกฎบังคับถั่วอัลฟัลฟา แปรพันธุกรรม[ 450]
และต้นน้ำตาลบีท (Sugar beet) แปรพันธุกรรม[ 451]
APHIS แพ้ทั้ง 4 คดีในศาลเบื้องต้น โดยผู้พิพากษาตัดสินว่า ไม่ทำตามนโยบายที่ตั้งไว้ในกฎหมาย
แต่ว่า ต่อมาศาลสูงสุดของสหรัฐยกเลิกการห้ามถั่วอัลฟัลฟาแปรพันธุกรรมทั่วประเทศ[ 452]
ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงอนุญาตให้ลดกฎข้อบังคับของต้นน้ำตาลบีทแปรพันธุกรรม[ 453]
หลังจากที่ APHIS เตรียมคำแถลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของถั่วอัลฟัลฟาและต้นน้ำตาลบีท การยกเลิกกฎบังคับจึงได้รับการอนุมัติ[ 454] [ 455]
ในปี 2557 ชนในเทศมณฑลเมาวี ในรัฐฮาวาย ออกเสียงให้ระงับการผลิตและการวิจัยสิ่งมีชีวิตแปรพันธุกรรมอย่างชั่วคราว
โดยให้ลงโทษทั้งจำและปรับถ้าฝ่าฝืนโดยเจตนา และไม่จำกัดเพียงแค่เกษตรกรรมเพื่อการค้าเท่านั้น[ 456] [ 457]
โดยมีปชามติผ่านกฎหมายในอัตรา 50.2% ต่อ 47.9%[ 458]
สหภาพยุโรป
จนกระทั่งถึงคริต์ทศวรรษ 1990 กฎหมายควบคุมในยุโรปเข้มงวดน้อยกว่าในสหรัฐ[ 459]
ในปี 2541 (ค.ศ. 1998) ข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม Bt (พันธุ์ MON810) ที่ทนต่อหนอนเจาะข้าวโพดยุโรป ได้รับอนุมัติให้ใช้เพื่อการเพาะปลูกสำหรับการค้าในยุโรป
แต่ว่าในช่วงนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับอาหารที่ไม่ใช่ GMO หลายอย่างที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวลด้านความปลอดภัยของอาหารโดยทั่ว ๆ ไป แล้วทำให้ประชาชนเสื่อมความเชื่อใจในการดูแลตรวจสอบของรัฐบาล
โดยมีปัญหาโรควัวบ้า ระบาดเป็นเรื่องดังที่สุด[ 460]
ดังนั้น ในปี 2541 สหภาพยุโรปจึงระงับการอนุมัติสิ่งมีชีวิตแปรพันธุกรรมชั่วคราวโดยปริยาย เป็นการรอให้แก้กฎบังคับที่มีอยู่แล้ว
ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 การอนุมัติพืชผลแปรพันธุกรรมของรัฐบาลสหรัฐทำให้ชาวยุโรปวิตกกังวล มีผลเป็นการลดการส่งออกจากสหรัฐไปยังยุโรป
คือ "ก่อนปี 2540 การส่งออกข้าวโพดไปยังยุโรปอยู่ในอัตรา 4% ของการส่งออกสหรัฐทั้งหมด โดยมีรายได้ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ยกตัวอย่างเช่น ก่อนปี 2540 สหรัฐขายข้าวโพดประมาณ 1.75 ล้านตันต่อปีให้แก่ประเทศสเปน และโปรตุเกส แต่ในช่วงปี 2540 และ 2541 สเปนซื้อข้าวโพดน้อยกว่า 1/10 ของที่เคยซื้อปีก่อน โดยที่โปรตุเกสไม่ได้ซื้อเลย"[ 460]
ในเดือนพฤษภาคม 2546 สหรัฐและประเทศอื่น ๆ อีก 12 ประเทศ ส่งคำร้องเรียนไปยังองค์การการค้าโลก ว่า สหภาพยุโรปละเมิดสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ เพราะห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรสหรัฐโดยการห้ามอาหารแปรพันธุกรม[ 461]
และอ้างว่า กระบวนการดูแลควบคุมของสหภาพยุโรปเนิ่นช้า และใช้มาตรฐานที่ไม่มีเหตุผลเพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่า พืชผลเหล่านั้นปลอดภัย
กรณีนี้มีการวิ่งเต้นโดยบริษัทมอนแซนโต และ Aventis (ปัจจุบัน Sanofi-Aventis) แห่งประเทศฝรั่งเศส และโดยกลุ่มเกษตรกรรมสหรัฐต่าง ๆ เช่น สมาคมผู้ปลูกข้าวโพดแห่งชาติ (National Corn Growers Association)
ในเดือนมิถุนายน 2546 รัฐสภายุโรป จึงเซ็นสัญญาระเบียบการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ของสหประชาชาติ ซึ่งควบคุมการค้าอาหารแปรพันธุกรรมระหว่างประเทศ และในเดือนต่อมา อนุมัติกฎบังคับให้มีการขึ้นป้ายและการสืบหาต้นตอได้ โดยมีเงื่อนไขที่แต่ละประเทศสมาชิกจะสามารถเลือกทำได้
การอนุมัติสิ่งมีชีวิตแปรพันธุกรรมใหม่ ๆ จึงเริ่มขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคม 2547
แม้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตแปรพันธุกรรมที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่นั้น แต่การอนุมัติก็ยังเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันมาก และประเทศหลายประเทศก็ได้เลือกใช้เงื่อนไขที่จะไม่ทำ
ต่อมาในปี 2549 องค์การการค้าโลก ตัดสินว่า กฎจำกัดที่มีก่อนปี 2547 เป็นการละเมิดสนธิสัญญา[ 462] [ 463]
แม้ว่า คำตัดสินจะไม่มีผลอะไรทันที เนื่องจากการห้ามชั่วคราวได้ยกเลิกไปแล้ว
ในช่วงท้ายปี 2550 เอกอัครราชทูต สหรัฐประจำประเทศฝรั่งเศสแนะนำ "นโยบายแก้เผ็ด" เพื่อตอบโต้ประเทศฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป ในเรื่องการห้าม GMO ของฝรั่งเศสและเรื่องความเปลี่ยนแปลงนโยบายของยุโรปต่อพืชผลแปรพันธุกรรม เนื้อความนี้มาจากข้อความรั่วระหว่างสถานทูตกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่เผยแพร่โดยวิกิลีกส์ [ 464] [ 465]
ประเทศยุโรป 20 ประเทศจาก 28 ประเทศ (รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ) ไม่ยอมให้ปลูก GMO จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมปี 2558[ 466] [ 467]
ต่อเป็นนี้เป็นรายการประเทศยุโรปที่ห้ามไม่ให้ปลูก GMO
ออสเตรเลีย
ในเดือนพฤษภาคมปี 2557 ศาลสูงสุดของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ยกฟ้องคดี มาร์ช์กับแบกซเตอร์ (Marsh v. Baxter)[ 468] [ 469]
โจทก์คือเกษตรกรอินทรีย์นายสตีฟ มาร์ช และจำเลยคือนายไมเคิล แบกซเตอร์ ผู้เป็นเกษตรกรเพื่อนบ้านมาทั้งชีวิต ผู้ปลูกพืชวงศ์ผักกาด แปรพันธุกรรม[ 470]
คือในปลายปี 2553 นายมาร์ชพบเมล็ดพืชผลของนายแบ็กซ์เตอร์ในแปลงของเขา
แล้วต่อมาพบพืชแปรพันธุกรรมกำลังเจริญเติบโตขึ้น
เมื่อเขารายงานว่าพบเมล็ดและพืชไปยังสำนักงานการรับรองอาหารอินทรีย์
พืชผลประมาณ 70% ในไร่ประมาณ 3 พันไร่ของเขาจึงไม่ได้การรับรองจากสำนักงาน[ 468]
นายมาร์ชจึงฟ้องนายแบ็กซ์เตอร์ในศาลโดยกล่าวหาว่า วิธีการเก็บเกี่ยวพืชผลของนายแบ็กซ์เตอร์ไม่ได้มาตรฐานและทำอย่างปล่อยปละละเลย เพราะว่า ได้ปนเปื้อนไร่ของเขาอย่างกว้างขวาง[ 468]
แต่ศาลพิพากษาวินิจฉัยว่า
มีต้นผักกาดประมาณ 245 ต้นที่ลมพัดเข้าไปในไร่ของนายมาร์ช[ 469] : 2
วิธีการเก็บเกี่ยวของนายแบ็กซ์เตอร์ "เป็นวิธีการเก็บเกี่ยวธรรมดาและเป็นที่ยอมรับ"[ 469] : 5
ในปี 2554 มีผักกาดแปรพันธุกรรมเกิดขึ้นเอง 8 ต้นในไร่ของนายมาร์ช ซึ่งเมื่อถูกถอนออก ก็ไม่พบผักกาดแปรพันธุกรรมอีกในปีต่อ ๆ มา[ 469] : 4
การสูญเสียการรับรองพืชอินทรีย์นั้น เกิดจากกฎเกณฑ์ขององค์กร NASAA (สมาคมเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งชาติออสเตรเลีย) ที่ประยุกต์ใช้กับผู้ปลูกพืชอินทรีย์ของ NSAAA ในกรณี GMO อย่างผิดพลาดในเวลานั้น[ 469] : 4
การไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่เชื่อถือได้ ทำให้การขอห้ามวิธีการเก็บเกี่ยวของนายแบ็กซ์เตอร์เป็นกรณีที่อ่อนมาก[ 469] : 6
ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 นายมาร์ชประกาศว่าตนได้ร้องอุทธรณ์ต่อศาล[ 471]
โดยเหตุผลหนึ่งว่า ตนถูกปรับ $803,989 (ประมาณ 24,407,885 บาท[ 472] )
การฟังความคดีอุทธรณ์เริ่มขึ้นวันที่ 23 มีนาคม 2558 แต่เลื่อนออกไปในวันที่ 25 เพื่อสืบความว่า การสู้คดีของนายแบ็กซ์เตอร์ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน
จากบริษัทขายเมล็ดพันธุ์พืชคือมอนแซนโต และ/หรือจากสมาคม Pastoralists and Graziers Association of Western Australia หรือไม่ และดังนั้น ค่าเสียหายที่ปรับนายมาร์ชไม่ควรจะรวมค่าใช้จ่ายที่มือที่ 3 ได้ช่วยออกให้นายแบ็กซ์เตอร์แล้ว[ 473] [ 474]
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกฎหมายควบคุม
พืชดัดแปรพันธุกรรม แรกสุดทำด้วยยวิธี transgenesis คือโดยใช้ยีน ของอีกสิ่งมีชีวิต หนึ่ง และบางครั้งใช้แบคทีเรีย เพื่อถ่ายโอนยีน
ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พืชผ่านกรรมวิธีเช่นนี้จะอยู่ใต้การควบคุมของกระทรวงเกษตร (USDA)[ 475] [ 476]
แต่ต่อมาในปี 2553 เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ใหม่ ๆ เช่น การตัดต่อจีโนม (genome editing) ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนจีโนม พืชได้โดยไม่ต้องเพิ่มยีนจากสิ่งมีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น พืชทำโดยวิธีนี้ จึงพ้นจากการควบคุมของกระทรวงเกษตร[ 475]
จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายควบคุมจะต้องเปลี่ยนเพื่อให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ[ 475]
ข้อโต้เถียงในแอฟริกา
ในปี 2545 แม้ว่าจะอยู่ในเหตุการณ์ทุพภิกขภัย ประเทศแซมเบีย ก็ยังปฏิเสธอาหารช่วยเหลือฉุกเฉินจากต่างประเทศที่มีพืชผลดัดแปรพันธุกรรม โดยอาศัยหลักระวังไว้ก่อน [ 477]
แต่ในการประชุมในเมืองหลวงประเทศเอธิโอเปีย คืออาดดิสอาบาบา เลขาธิการบริหารของคณะกรรมการเศรษฐกิจแอฟริกาของสหประชาชาติ ได้สนับสนุนให้ประเทศในแอฟริการับอาหารดัดแปรพันธุกรรม และแสดงความไม่ชอบใจต่อความเห็นเชิงลบของสาธารณชนต่อเทคโนโลยีชีวภาพ[ 478]
งานวิจัยต่าง ๆ ในประเทศยูกันดา แสดงว่า กล้วยดัดแปรพันธุกรรมมีโอกาสสูงที่จะช่วยลดความยากจนในชนบท แต่ว่าชาวเมืองที่มีรายได้สูงกว่าอาจจะไม่ยอมรับ[ 479] [ 480]
มีนักวิจารณ์ที่อ้างว่า การส่งอาหารของสหรัฐไปยังแอฟริกาใต้เป็นการโปรโหมตให้ยอมรับพืชผลแปรพันธุกรรม มากกว่าเป็นการช่วยบรรเทาความหิวโหย
คือ สหรัฐได้อุปถัมภ์เรื่องอาหารภายใต้วิกฤติอาหารที่มีมาตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 2000
แต่ว่า หลังจากที่ประเทศแอฟริกาบางประเทศเริ่มรู้ว่า อาหารที่ส่งมีข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม ก็เลยเริ่มปฏิเสธความช่วยเหลือและไม่แจกจ่ายอาหารที่ส่งไปให้แล้ว
นักวิจารณ์โจทสหรัฐว่า "ฉวยประโยชน์จากทุพภิกขภัย ในแอฟริกาโดยทำเป็นการประชาสัมพันธ์"
ส่วนสหรัฐกล่าวโต้ตอบว่า ประเทศยุโรปปล่อยให้ชาวแอฟริกันเป็นล้าน ๆ ประสบทั้งความหิวและความอดอยากเนื่องจาก "ความกลัวไร้เหตุผลในเรื่องความเสี่ยงที่เป็นเพียงแต่ความคิดพิสูจน์ยังไม่ได้"
สหรัฐมีนโยบายแม้ก่อนจะเกิด GMO ที่จะส่งพืชผลสหรัฐเป็นอาหารช่วยเหลือ โดยไม่ได้ซื้อพืชผลจากประเทศที่อยู่ใกล้ ๆ ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ
เป็นนโยบายซึ่งมีผู้อ้างว่า มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าของยุโรป[ 481]
ข้อโต้เถียงในอินเดีย
อินเดีย เป็นประเทศเกษตรโดยมีประชากร 60% ที่มีรายได้โดยตรงหรือโดยอ้อมจากเกษตรกรรม
ระหว่างปี 2538-2556 มีเกษตรกร 296,438 คนที่ฆ่าตัวตาย หรือโดยเฉลี่ย 16,469 คนต่อปี[ 482]
ในช่วงเวลาเดียวกัน มีคน 9.5 ล้านคนที่ตายต่อปีในอินเดียจากเหตุอื่น ๆ รวมทั้งทุพโภชนาการ โรค การฆ่าตัวตายที่ไม่เกี่ยวกับเกษตร หรือประมาณ 171 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน[ 483]
นักปฏิบัติการและนักวิชาการให้เหตุผลที่ขัดแย้งกัน เช่น เพราะมรสุม เพราะมีหนี้มาก เพราะ GMO เพราะนโยบายของรัฐ เพราะสุขภาพจิตที่ไม่ดี เพราะเรื่องส่วนตัว และเพราะปัญหาทางครอบครัว[ 484] [ 485] [ 486]
มีแม้กระทั่งการโจทว่า รัฐต่าง ๆ ทำข้อมูลการฆ่าตัวตายของเกษตรกรลวง[ 487]
ฝ้าย แปรพันธุกรรมในรัฐมหาราษฏระ กรณาฏกะ และทมิฬนาฑู เพิ่มผลผลิตโดยเฉลี่ย 42% ในปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้เพาะปลูกโดยทั่ว ๆ ไป
แต่ว่า ความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในรัฐอานธรประเทศ ในปีเดียวกันไม่ได้เพิ่มผลผลิตในรัฐ เพราะว่าไม่ใช่พันธุ์ทนแล้ง[ 488]
แต่พันธุ์ทนแล้งก็ได้พัฒนาขึ้นในภายหลัง และโดยปี 2554 88% ของฝ้ายทั้งหมดมาจากพืชดัดแปรพันธุกรรม โดยหลักเพราะเสียหายจากแมลงน้อย[ 489]
แม้ว่าจะมีข้อมูลที่ไม่ลงรอยกัน[ 490]
แต่ก็มีหลักฐานว่าเกษตรกรฝ้ายแปรพันธุกรรมได้ผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางสิ่งแวดล้อม[ 491] [ 492]
งานวิจัยระหว่างปี 2545-2551 เกี่ยวกับผลทางเศรษฐกิจของฝ้ายแปรพันธุกรรมในอินเดียพบว่า ฝ้าย Bt ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น ให้กำไรที่มากขึ้น และเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของเกษตรกรรายย่อย ๆ[ 493]
แต่ว่า ในเมื่อเร็ว ๆ นี้ หนอนฝ้ายพันธุ์ Helicoverpa armigera เกิดดื้อยาที่ผลิตโดยฝ้าย Bt
ดังนั้น ในปี 2555 รัฐมหาราษฏระ จึงให้เลิกปลูกฝ้าย Bt แล้วสั่งให้นักวิชาการอิสระทำการศึกษาทางสังคมเศรษฐกิจ[ 494]
ในเดือนตุลาคม 2552 องค์กรควบคุมของรัฐอนุมัติมะเขือยาว Bt
แต่ต่อมาภายหลังการประท้วงจากนักวิทยาศาสตร์บางพวก กลุ่มเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม จึงระงับการอนุมัติชั่วคราวเริ่มที่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นช่วงระยะเวลา "ที่จำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อใจและความมั่นใจให้แก่ประชาชน"[ 495] [ 496] [ 497]
โดยวันที่ 1 มกราคม 2556 อาหารที่มี GMO ต้องขึ้นป้าย
คือมีกฎว่า "อาหารทุกชุดที่มีอาหารแปรพันธุกรรมจะต้องมีอักษรว่า 'GM' ที่ด้านบนสุดของป้ายหลัก" โดยมีผลต่อผลิตภัณฑ์ 19 ชนิดรวมทั้งขนมปัง ธัญพืช ถั่ว และอื่น ๆ[ 498]
แต่กฎหมายนี้มีการคัดค้านทั้งจากกลุ่มพิทักษผู้บริโภคและจากอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป โดยทั้งสองเป็นห่วงว่าไม่มีการออกกฎเกณฑ์ที่ช่วยในการบังคับกฎหมาย[ 420] [ 498]
วันที่ 21 มีนาคม 2557 รัฐบาลอินเดียอนุมัติพืชผลแปรพันธุกรรม 10 ชนิดอีกครั้ง แล้วอนุญาตให้ทดสอบพืชแปรพันธุกรรมภาคสนามรวมทั้งข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด [ 499]
เชิงอรรถและอ้างอิง
↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6
↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 A decade of EU-funded GMO research (2001-2010) (PDF ) . Directorate-General for Research and Innovation. Biotechnologies, Agriculture, Food. European Union. 2010. doi :10.2777/97784 . ISBN 978-92-79-16344-9 . "The main conclusion to be drawn from the efforts of more than 130 research projects, covering a period of more than 25 years of research, and involving more than 500 independent research groups, is that biotechnology, and in particular GMOs, are not per se more risky than e.g. conventional plant breeding technologies." (p. 16)
↑ 3.0 3.1 3.2
Ronald, Pamela (2011). "Plant Genetics, Sustainable Agriculture and Global Food Security" . Genetics . 188 (1): 11–20. doi :10.1534/genetics.111.128553 . PMC 3120150 . PMID 21546547 .
↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4
"Report 2 of the Council on Science and Public Health: Labeling of Bioengineered Foods" (PDF) . American Medical Association. p. 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2012-09-07. Bioengineered foods have been consumed for close to 20 years, and during that time, no overt consequences on human health have been reported and/or substantiated in the peer-reviewed literature."
↑ 5.0 5.1 5.2 5.3
Committee on Identifying and Assessing Unintended Effects of Genetically Engineered Foods on Human Health, Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, Board on Agriculture and Natural Resources, Board on Life Sciences, Division on Earth and Life Studies, National Research Council (2004). Safety of Genetically Engineered Foods: Approaches to Assessing Unintended Health Effects . The National Academies Press. pp. R9-10. doi :10.17226/10977 . ISBN 978-0-309-09209-8 . สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 . In contrast to adverse health effects that have been associated with some traditional food production methods, similar serious health effects have not been identified as a result of genetic engineering techniques used in food production. This may be because developers of bioengineered organisms perform extensive compositional analyses to determine that each phenotype is desirable and to ensure that unintended changes have not occurred in key components of food. {{cite book }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ ) 10 MB PDF
↑ 6.0 6.1 6.2 6.3
Key, S; Ma, JK; Drake, PM (2008-06). "Genetically modified plants and human health" . J R Soc Med . 101 (6): 290–8. doi :10.1258/jrsm.2008.070372 . PMC 2408621 . PMID 18515776 . +pp 292-293. "Foods derived from GM crops have been consumed by hundreds of millions of people across the world for more than 15 years, with no reported ill effects (or legal cases related to human health), despite many of the consumers coming from that most litigious of countries, the USA." CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ 7.0 7.1 "The safety of genetically modified foods produced through biotechnology" . Toxicological Sciences . 71 : 2–8. 2003-01. doi :10.1093/toxsci/71.1.2 . PMID 12520069 .
↑ 8.0 8.1 "Substantial Equivalence in Food Safety Assessment" (PDF) . Council for Biotechnology Information. 2001-03-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2009-02-06.
↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 Winter, CK; Gallegos, LK (2006). "Safety of Genetically Engineered Food (ANR Publication 8180)" (PDF ) . University of California Agricultural and Natural Resource Service. {{cite web }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Kuiper, HA; Kleter, GA; Noteborn, HP; Kok, EJ (2002-12). "Substantial equivalence--an appropriate paradigm for the safety assessment of genetically modified foods?". Toxicology . 181–182: 427–31. doi :10.1016/S0300-483X(02)00488-2 . PMID 12505347 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ 11.0 11.1
"Genetically modified food and health: A second interim statement" (PDF) . British Medical Association Board of Science and Education. 2004-03. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑ 12.0 12.1 {{cite web |title = GENETICALLY MODIFIED FOODS |year = 2007 |url = http://www.phaa.net.au/documents/policy/GMFood.pdf เก็บถาวร 2014-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน |publisher = Public Health Association of Australia |url-access=subscription
↑ 13.0 13.1 13.2 "Statement on Genetically Modified Organisms in the Environment and the Marketplace" . Canadian Association of Physicians for the Environment. 2013-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2014-03-26. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑ 14.0 14.1
"IDEA Position on Genetically Modified Foods" . Irish Doctors' Environmental Association. สืบค้นเมื่อ 2014-03-25 .
↑ 15.0 15.1
"Genetically Modified Maize: Doctors' Chamber Warns of "Unpredictable Results" to Humans" . PR Newswire. 2015-12-11.
↑ "Proposals for managing the coexistence of GM, conventional and organic crops - Response to the Department for Environment, Food and Rural Affairs consultation paper" (PDF) . Chartered Institute of Environmental Health. 2006-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2017-05-25. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑
"Report 2 of the Council on Science and Public Health: Labeling of Bioengineered Foods" (PDF) . American Medical Association. 2012. p. 7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2012-09-07. To better detect potential harms of bioengineered foods, the Council believes that pre-market safety assessment should shift from a voluntary notification process to a mandatory requirement.
↑ Swann, John P. "The 1906 Food and Drugs Act and Its Enforcement" . FDA History - Part I. U.S. Food and Drug Administration. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2010-05-28. สืบค้นเมื่อ 2013-04-10 .
↑ Konnikova, Maria (2013-08-08). "The Psychology of Distrusting G.M.O.s" . the New Yorker. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑ "GM Contamination Register Official Website" . Gmcontaminationregister.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2005-06-05. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ Borel, Brooke (2012-11-01). "Can Genetically Engineered Foods Harm You?" . Huffington Post. สืบค้นเมื่อ 2013-09-07 .
↑
doi :10.1038/497005b This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
↑ 23.0 23.1
Harmon, Amy (2014-01-05). "Lonely Quest for Facts on Genetically Modified Crops" . The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑ 24.0 24.1
Johnson, Nathanael (2013-07-08). "The genetically modified food debate: Where do we begin?" . Grist.org . สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑ 25.0 25.1 25.2 Hunt, Lesley (2004). "Factors determining the public understanding of GM technologies" (PDF) . AgBiotechNet . 6 (128): 1–8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2013-11-02. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
Lazarus, Richard J (1991). "The Tragedy of Distrust in the Implementation of Federal Environmental Law" . Law and Contemporary Problems . 54 (4): 311–74. doi :10.2307/1191880 . JSTOR 1191880 .
↑ Kloor, Keith (2012-10-19). "Liberals Turn a Blind Eye to Crazy Talk on GMOs" . Discover Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2019-11-19. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Hughlett, Mike. "Firebrand activist leads organic consumers association" . Witchita Eagle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-12-03.
↑ doi :10.1126/science.1245017 This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
↑
Wendel, JoAnna (2013-09-10). "Scientists, journalists and farmers join lively GMO forum" . Genetic Literacy Project.
↑ Kloor, Keith (2014-08-22). "On Double Standards and the Union of Concerned Scientists" . Discover Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2019-11-20. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑ "Alternatives to Genetic Engineering" . Alternatives to Genetic Engineering. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2015-10-30. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 . Biotechnology companies produce genetically engineered crops to control insects and weeds and to manufacture pharmaceuticals and other chemicals. The Union of Concerned Scientists works to strengthen the federal oversight needed to prevent such products from contaminating our food supply.
↑ 33.0 33.1
Marden, Emily (2003-01-05). "Risk and Regulation: U.S. Regulatory Policy on Genetically Modified Food and Agriculture" (PDF ) . Boston College Law Review . 44 (3). สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 . By the late 1990s, public awareness of GM foods reached a critical level and a number of public interest groups emerged to focus on the issue. One of the early groups to focus on the issue was Mothers for Natural Law ("MFNL"), an Iowa-based organization that aimed to ban GM foods from the market....The Union of Concerned Scientists ("UCS"), an alliance of 50,000 citizens and scientists, has been another prominent voice on the issue.... As the pace of GM products entering the market increased in the 1990s, UCS became a vocal critic of what it saw as the agency’s collusion with industry and failure to fully take account of allergenicity and other safety issues.
↑ "Food Biotechnology in the United States: Science, Regulation, and Issues" (PDF) . Congressional Research Service: The Library of Congress. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2009-12-28. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Grunpeter, Marlene-Aviva (2013-08-05). "GMOs, A Global Debate: Israel a Center for Study, Kosher Concerns" . Epoch Times . [ลิงก์เสีย ]
↑ "Genetic engineering" . Friends of the Earth.
↑ "GE-Agriculture" . The Institute of Science in Society.
↑ 38.0 38.1 "About GMWatch" . GMWatch.
↑ "Public Perceptions of Agricultural Biotechnologies in Europe (PABE) - Introduction" . PABE. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26 .
↑ 40.0 40.1 40.2 Marris, Claire (2003). "Public views on GMOs: deconstructing the myths". EMBO teports . 2 (7): 545–548. doi :10.1093/embo-reports/kve142 .
↑ "Memo from The Mellman Group, Inc. to The Pew Initiative On Food And Biotechnology" (PDF) . Review Of Public Opinion Research . 2006-11-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2011-05-05.
↑
Addario, Jennie (2002-03-16). "Why the debate over genetically modified organisms and other complex science stories freak out newspapers" . Ryerson Review of Journalism. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 .
↑
Chamberlain, Sara (1997-08-05). "Sara Chamberlain Dissects The Food That We Eat And Finds Some Alarming Ingredients. Article On Genetically Engineered/modified Foods For New Internationalist Magazine" . New Internationalist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2015-11-21. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11 . What would you think if I said that your dinner resembles Frankenstein an unnatural hodgepodge of alien ingredients? Fish genes are swimming in your tomato sauce, microscopic bacterial genes in your tortillas, and your veg curry has been spiked with viruses.
↑ "Genetically modified (GM) foods" . Food Standards Australia and New Zealand. 2012-10-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-04-11. สืบค้นเมื่อ 2012-11-05 .
↑ "Consumer Attitudes Survey 2007, A benchmark survey of consumers' attitudes to food issues" . Food Standards Australia New Zealand. 2008-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2011-02-17. สืบค้นเมื่อ 2012-11-05 .
↑ "Opposition decreasing or acceptance increasing?: An overview of European consumer polls on attitudes to GMOs" . GMO Compass . 2009-04-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-10-08. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑ Gaskell, G (2010-10). "Europeans and Biotechnology in 2010: Winds of change? A report to the European Commission's Directorate-General for Research" (PDF ) . European Commission Directorate-General for Research.
↑ Gaskell, G; Allansdottir, A; Allum, N; Castro, P; Esmer, Y; Fischler, C; Jackson, J; Kronberger, N; Hampel, J; Mejlgaard, N; Quintanilha, A; Rammer, A; Revuelta, G; Stares, S; Torgersen, H; Wager, W; Allansdottir; Allum; Castro; Esmer; Fischler; Jackson; Kronberger; Hampel; Mejlgaard; Quintanilha; Rammer; Revuelta; Stares; Torgersen; Wager (2011-02). "The 2010 Eurobarometer on the life sciences". Nat. Biotechnol . 29 (2): 113–4. doi :10.1038/nbt.1771 . PMID 21301431 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ "Deloitte 2010 Food Survey—Genetically Modified Foods" (PDF) . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2010-12-27. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑ Kopicki, Allison (2013-07-28). "Strong Support for Labeling Modified Foods" . The New York Times.
↑ 51.0 51.1 Fusaro, Dave (2013-11-07). "European Scientists Ask for GMO Research" . Food Processing. สืบค้นเมื่อ 2015-12-13 .
↑ Shapiro, Nina (2013-10-24). "GMOs: Group Refutes Claim of 'Scientific Consensus' " . Seattle Weekly . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-10-28. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Cary Funk, Lee Rainie (2015-01-29). "Public and Scientists' Views on Science and Society" (PDF) . pewinternet.org . Pew Research Center. p. 37. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2015-04-29. สืบค้นเมื่อ 2015-04-28 . Fully 88% of AAAS scientists say it is generally safe to eat genetically modified (GM) foods compared with 37% of the general public who say the same, a gap of 51 percentage points. Link to key data เก็บถาวร 2019-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
↑ "European activists link up to draw the line against GM" . Take the Flour Back Press Release. 2012-05-27.
↑ Driver, Alistair (2012-05-02). "Scientists urge protestors not to trash GM trials" . Farmers Guardian.
↑ "GM wheat trial belongs in a laboratory" . BBC News . 2012-05-02.
↑ "Don't Destroy Research Q & A" . Sense About Science . 2012-07-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-10-18. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Protesters Rally Against U.S. Seed Giant And GMO Products" . The Huffington Post. 2013-05-25.
↑ 59.0 59.1 "Protesters around the world march against Monsanto paper = USA Today" . Associated Press. 2013-05-26. สืบค้นเมื่อ 2013-06-18 .
↑ Xia, Rosanna (2013-05-25). "Hundreds in L.A. march in global protest against Monsanto, GMOs" . Los Angeles Times .
↑ "March Against Monsanto' comes to King Street in Kitchener" . CTV Television Network. 2013-05-25.
↑ Harmon, Amy (2013-07-27). "A Race to Save the Orange by Altering Its DNA" . The New York Times.
↑
ให้สังเกตว่าผู้เขียนไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ที่มีเทคนิคที่ดีในการประเมินจำนวนผู้มาชุมนุม มีแหล่งอ้างอิงจำนวนหนึ่งที่รายงานว่ามีจำนวนหลายแสน แต่แหล่งอ้างอิงโดยมากกล่าวตามสำนักข่าว AP ที่ใช้จำนวนที่อ้างโดยผู้จัดการประท้วง
↑
"Millions march against Monsanto in over 400 cities" . Yahoo News . 2013-05-25.
↑
Quick, David (2013-05-26). "More than 100 participate in Charleston's March Against Monsanto, one of 300+ in world on Saturday" . The Post and Courier . สืบค้นเมื่อ 2013-06-18 .
↑ Pollack, Andrew. "Seeking Support, Biotech Food Companies Pledge Transparency" . New York Times. สืบค้นเมื่อ 2014-06-19 .
↑ "Experts" . GMO Answers. สืบค้นเมื่อ 2014-06-19 .
↑ "The Council for Biotechnology Information: Founding Members" . GMO Answers. สืบค้นเมื่อ 2014-06-28 .
↑ "Statement: No scientific consensus on GMO safety" . European Network of Scientists for Social and Environmental Responsibility. 2013-10-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-11-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Who benefits from gm crops? an industry built on myths" (PDF ) . Friends of the Earth. 2014.[ลิงก์เสีย ]
↑
"Physicians for Social Responsibility Support Labeling of GMO Foods" . Physicians for Social Responsibility. 2013.
↑ "Health risks posed by genetically modified foods" . DRZE. 2015.[ลิงก์เสีย ]
↑ 73.0 73.1
Haro von Mogel, Karl (2013-06-24). "GMO crops vandalized in Oregon" . Biology Fortified.
↑
"Fighting GM Crop Vandalism With a Government-Protected Research Site" . Science Daily. สืบค้นเมื่อ 2013-02-28 .
↑
"Scientists speak out against vandalism of genetically modified rice" . Australian Broadcasting Corporation . 2013-09-20.
↑
Abrams, Lindsay (2013-09-30). "Vandals hack down Hawaii's genetically modified papaya trees: The destruction is believed to have been the work of anti-GMO activists" . Salon . Papaya vandals strike again
↑
Haro von Mogel, Karl. "Oregon: Genetically modified crops vandalized" . Genetic Literacy roject. สืบค้นเมื่อ 2013-06-25 .
↑ 78.0 78.1 Kuntz, Marcel (2012). "Destruction of public and governmental experiments of GMO in Europe". GM crops & food . 3 (4): 258–264. doi :10.4161/gmcr.21231 .
↑ Bailey, Ronald (2001-01). "Dr. Strangelunch Or: Why we should learn to stop worrying and love genetically modified food" . The Reason .
↑ Bratspies, Rebecca (207). "Some Thoughts on the American Approach to Regulating Genetically Modified Organisms" (PDF) . Kansas Journal of Law and Public Policy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2015-12-13. สืบค้นเมื่อ 2015-12-13 .
↑ 81.0 81.1 "GM crops: A bitter harvest?" . BBC News . 2002-06-14.
↑ Maugh, Thomas H. II (1987-06-09). "Altered Bacterium Does Its Job : Frost Failed to Damage Sprayed Test Crop, Company Says" . Los Angeles Times .
↑
"Greenpeace activists in costly GM protest" . Sydney Morning Herald. 2012-08-02. สืบค้นเมื่อ 2013-11-08 .
↑
"GM crop destroyers given suspended sentences" . Canberra Times. 2012-11-19. สืบค้นเมื่อ 2013-11-08 .
↑
Amy Harmon (2013-08-24). "Golden Rice: Lifesaver?" (News Analysis) . The New York Times . สืบค้นเมื่อ 2013-08-25 .
↑
Michael Slezak (2013-08-09). "Militant Filipino farmers destroy Golden Rice GM crop" . NewScientist . สืบค้นเมื่อ 2013-10-26 .
↑ "How I Got Converted to G.M.O. Food" . The New York Times. 2015-04-24. สืบค้นเมื่อ 2015-05-28 .
↑ Lynas, Mark (2013-08-26). "The True Story About Who Destroyed a Genetically Modified Rice Crop" . Slate .
↑ " 'Golden rice' GM trial vandalised in the Philippines" . BBC News. 2013-08-09.
↑ 90.0 90.1 Waltz, Emily (2009). "GM crops: Battlefield". Nature . 461 (7260): 27–32. doi :10.1038/461027a . PMID 19727179 .
↑ 91.0 91.1 91.2
Freedman, David H. (2013-08-26). "The Truth about Genetically Modified Food" . Scientific American. despite overwhelming evidence that GM crops are safe to eat, the debate over their use continues to rage, and in some parts of the world, it is growing ever louder.
↑ 92.0 92.1 Bruce Stutz (2010-07-01). "Wanted: GM Seeds for Study" . Seed Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2010-07-05. as a result of restrictive access, no truly independent research can be legally conducted on many critical questions regarding the technology
↑
"Do seed companies control GM crop research?" . Scientific American. 2009-08.
ดั้งเดิมพิมพ์โดยใช้ชื่อบทความ "A seedy practice"
↑ Waltz, Emily (2010-10). "Monsanto relaxes restrictions on sharing seeds for research" (PDF) . Nature Biotechnology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2016-10-01. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Unearthed: Are patents the problem?" . Washington Post . สืบค้นเมื่อ 2014-10-26 .
↑ doi :10.1038/nbt0503-468 This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
↑ doi :10.3109/07388551.2013.823595 This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand Full Article PDF (387 KB)
↑ "About page" . Biofortified.org. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14 .
↑ Haro von Mogel, Karl (2013-10-25). "Making sense of lists of studies" . Biofortified.
↑ "2000+ Reasons Why GMOs Are Safe To Eat And Environmentally Sustainable" . Forbes. 2013-10-14.
↑ Diels, Johan; Cunha, Mário; Manaia, Célia; Sabugosa-Madeira, Bernardo; Silva, Margarida (2011). "Association of financial or professional conflict of interest to research outcomes on health risks or nutritional assessment studies of genetically modified products". Food Policy . 36 (2): 197–203. doi :10.1016/j.foodpol.2010.11.016 .
Full Article PDF (211 KB)
↑ Marc Brazeau. "About Those Industry Funded GMO Studies" . สืบค้นเมื่อ 2015-12-14 . [ลิงก์เสีย ]
↑
"Food safety: 20 questions on genetically modified foods" . World Health Organizatio. สืบค้นเมื่อ 2012-12-22 .
↑
"The State of Food and Agriculture 2003-2004. Agricultural Biotechnology: Meeting the Needs of the Poor" . Rome: Food and Agriculture Organization of the United Nations. 2004. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14 . Currently available transgenic crops and foods derived from them have been judged safe to eat and the methods used to test their safety have been deemed appropriate. These conclusions represent the consensus of the scientific evidence surveyed by the ICSU (2003) and they are consistent with the views of the World Health Organization (WHO, 2002). These foods have been assessed for increased risks to human health by several national regulatory authorities (inter alia, Argentina, Brazil, Canada, China, the United Kingdom and the United States) using their national food safety procedures (ICSU). To date no verifiable untoward toxic or nutritionally deleterious effects resulting from the consumption of foods derived from genetically modified crops have been discovered anywhere in the world (GM Science Review Panel). Many millions of people have consumed foods derived from GM plants - mainly maize, soybean and oilseed rape - without any observed adverse effects (ICSU).
↑ แหล่งอื่น ๆ
"Contrary to popular belief". Nature Biotechnology . 31 (9): 767. 2013. doi :10.1038/nbt.2700 . PMID 24022131 .
"Are there health hazards for the consumer from eating genetically modified food?" (PDF) . Union der Deutschen Akademien der Wissenschaften (German Union of Academies of Science and Humanities) Commission Green Biotechnology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2013-12-11. food derived from GM plants approved in the EU and the US poses no risks greater than those from "conventional" food. On the contrary, in some cases food from GM plants appears to be superior with respect to health.
French Academy of Sciences French Academy of Sciences Announces Support For Genetically Modified Crops , French Academy of Science. "Les plantes génétiquement modifiées" . French Academy of Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-29. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .{{cite web }}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์ ) , Décembre 2002.
"Les plantes génétiquement modifiées" . French Academy of Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2009-05-29. ดูคำสรุปภาษาอังกฤษที่ "French Academy of Sciences Announces Support For Genetically Modified Crops" . CropBiotech Net. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14 .
สมาคมวิทยาศาสตร์อิตาลี 14 สมาคมตีพิมพ์เอกสารนี้ ACCADEMIA NAZIONALE DELLE SCIENZE, DETTA DEI XL. "Sicurezza alimentare e OGM (Food Safety and GMO)" (PDF) . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14 . GMOs on the market today, having successfully passed all the tests and procedures necessary to authorization, are to be considered, on the basis of current knowledge, to be safe for use in human and animal foods.
Haspel, Tamar (201-10-15). "Genetically modified foods: What is and isn't true" . Washington Post.
Winter CK and Gallegos LK (2006). Safety of Genetically Engineered Food. เก็บถาวร 2015-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน University of California Agriculture and Natural Resources Communications, Publication 8180.
Winter, CK; Gallegos, LK. "Safety of Genetically Engineered Food" (PDF) . University of California Agriculture and Natural Resources Communications (Publication 8180). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2015-04-12. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 . {{cite web }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
Miller, Henry (2009). "A golden opportunity, squandered" (PDF) . Trends in Biotechnology . 27 (3): 129–130. doi :10.1016/j.tibtech.2008.11.004 . PMID 19185375 .
Li, Quan; McCluskey, Jill; Wahl, Thomas (2004). "Effects of information on consumers' willingness to pay for GM-corn-fed beef" . Journal of Agricultural and Food Industrial Organization . 2 (2): 1–16. doi :10.2202/1542-0485.1058 .
"New Genetics, Food and Agriculture: Scientific Discoveries - Societal Dilemmas (2003)" . International Council for Science. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-07-30. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 . Currently available genetically modified foods are safe to eat." Their benefits include "improved nutritional quality", "removing allergens and/or toxic compounds from certain foods (e.g. peanuts)", "Pest tolerant crops can be grown with lower levels of chemical pesticides, resulting in reduced chemical residues in food, and less exposure to pesticides. Disease resistant crops may have lower levels of potentially carcinogenic mycotoxins.
Paarlberg, Robert (2010-11). "GMO foods and crops: Africa's choice". New Biotechnology . 27 (5): 609–613. doi :10.1016/j.nbt.2010.07.005 .
↑ "EU project publishes conclusions and recommendations on GM foods" . CORDIS - Community Research and Development Information Service. 2005-01-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-10-20. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ König, A; Cockburn, A; Crevel, RW; Debruyne, E; Grafstroem, R; Hammerling, U; Kimber, I; Knudsen, I; Kuiper, HA; Peijnenburg, AA; Penninks, AH; Poulsen, M; Schauzu, M; Wal, JM (2004-07). "Assessment of the safety of foods derived from genetically modified (GM) crops". Food Chem. Toxicol . 42 (7): 1047–88. doi :10.1016/j.fct.2004.02.019 . PMID 15123382 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ 108.0 108.1 "Consensus Document on Molecular Characterisation of Plants Derived from Modern Biotechnology" (PDF ) . OECD. 2010.
↑ EFSA Panel on Genetically Modified Organisms (GMO) (2012). "Scientific opinion addressing the safety assessment of plants developed through cisgenesis and intragenesis". EFSA Journal . 10 (2): 12561. doi :10.2903/j.efsa.2012.2561 .
↑
"Safety Evaluation of Foods Derived by Modern Biotechnology: Concepts and Principles" (PDF) . Organisation for Economic Co-operation and Development. สืบค้นเมื่อ 2009-06-21 .
↑
König, A.; Cockburn, A.; Crevel, R.W.R.; Debruyne, E.; Grafstroem, R.; Hammerling, U.; Kimber, I.; Knudsen, I.; Kuiper, H.A.; Peijnenburg, A.A.C.M.; Penninks, A.H.; Poulsen, M.; Schauzu, M.; Wal, J.M. (2004-07-01). "Assessment of the safety of foods derived from genetically modified (GM) crops". Food and Chemical Toxicology . 42 (7): 1047–1088. doi :10.1016/j.fct.2004.02.019 . PMID 15123382 .
↑
Schauzu, Marianna. "The concept of substantial equivalence in safety assessment of foods derived from genetically modified organisms" (PDF ) . AgBiotechNet 2000. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14 .
↑ van Eijck, Paul (2010-03-10). "The History and Future of GM Potatoes" . PotatoPro . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ doi :10.2903/j.efsa.2011.2150 This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand Full Article PDF (420 KB)
↑ "UK GM expert calls for tougher tests" . BBC . 1999-09-07.
↑ Millstone, E; Brunner, E; Mayer, S (1999-10). "Beyond 'substantial equivalence' ". Nature . 401 (6753): 525–6. Bibcode :1999Natur.401..525M . doi :10.1038/44006 . PMID 10524614 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Burke, D (1999-10). "No GM conspiracy". Nature . 401 (6754): 640–1. Bibcode :1999Natur.401..640. . doi :10.1038/44262 . PMID 10537098 .
↑ Trewavas, A; Leaver, CJ (1999-10). "Conventional crops are the test of GM prejudice". Nature . 401 (6754): 640. Bibcode :1999Natur.401..640T . doi :10.1038/44258 . PMID 10537097 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Gasson, MJ (1999-11). "Genetically modified foods face rigorous safety evaluation". Nature . 402 (6759): 229. Bibcode :1999Natur.402..229G . doi :10.1038/46147 . PMID 10580485 .
↑ Keeler, Barbara; Lappe, Marc (2001-01-07). "Some Food for FDA Regulation" . Los Angeles Times .
↑ Ostry, V; Ovesna, J; Skarkova, J; Pouchova, V; Ruprich, J. (2010). "A review on comparative data concerning Fusarium mycotoxins in Bt maize and non-Bt isogenic maize". Mycotoxin Res . 26 (3): 141–5. doi :10.1007/s12550-010-0056-5 . PMID 23605378 . {{cite journal }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Ackerman, Jennifer (2002-05). "enetically Modified Foods" . National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2008-04-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "OECD harmonization webpage" . Oecd.org. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ 124.0 124.1 Ricroch, AE; Bergé, JB; Kuntz, M (2011-04). "Evaluation of genetically engineered crops using transcriptomic, proteomic, and metabolomic profiling techniques" . Plant Physiol . 155 (4): 1752–61. doi :10.1104/pp.111.173609 . PMC 3091128 . PMID 21350035 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Herman, Rod A.; Price, William D. (2013). "Unintended Compositional Changes in Genetically Modified (GM) Crops: 20 Years of Research" . Journal of Agricultural and Food Chemistry . 61 : 130225161039001. doi :10.1021/jf400135r . Hence, compositional equivalence studies uniquely required for GM crops may no longer be justified on the basis of scientific uncertainty.
Full Article PDF (282 KB)
↑ Bennett, Drake (2006-05-07). "Our allergies, ourselves" . Boston Globe.
↑ Lehrer, SB; Bannon, GA (2005-05). "Risks of allergic reactions to biotech proteins in foods: perception and reality". Allergy . 60 (5): 559–64. doi :10.1111/j.1398-9995.2005.00704.x . PMID 15813800 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ "Food Safety Evaluation: The Allergy Check" . GMO Compass. 2006-02-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-01-03. สืบค้นเมื่อ 2015-12-15 .
↑ Hollingworth, RM; และคณะ (2003). "The safety of genetically modified foods produced through biotechnology" . Toxicol Sci . 71 (1): 2–8. doi :10.1093/toxsci/71.1.2 . PMID 12520069 .
↑ Herman EM (2003-05). "Genetically modified soybeans and food allergies" . J. Exp. Bot . 54 (386): 1317–9. doi :10.1093/jxb/erg164 . PMID 12709477 .
↑ Herman, EM; Helm, RM; Jung, R; Kinney, AJ (2003-05). "Genetic modification removes an immunodominant allergen from soybean" . Plant Physiol . 132 (1): 36–43. doi :10.1104/pp.103.021865 . PMC 1540313 . PMID 12746509 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Bhalla, PL; Swoboda, I; Singh, MB (1999-09). "Antisense-mediated silencing of a gene encoding a major ryegrass pollen allergen" . Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A . 96 (20): 11676–80. Bibcode :1999PNAS...9611676B . doi :10.1073/pnas.96.20.11676 . PMC 18093 . PMID 10500236 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Nordlee, JA; Taylor, SL; Townsend, JA; Thomas, LA; Bush, RK (1996-03). "Identification of a Brazil-nut allergen in transgenic soybeans". N. Engl. J. Med . 334 (11): 688–92. doi :10.1056/NEJM199603143341103 . PMID 8594427 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Leary, Warren (1996-03-04). "Genetic Engineering of Crops Can Spread Allergies, Study Shows" . The New York Times .
↑
Streit, L.G.; และคณะ (2001). "Association of the Brazil nut protein gene and Kunitz trypsin inhibitor alleles with soybean protease inhibitor activity and agronomic traits". Crop Sci . 41 (6): 1757–1760. doi :10.2135/cropsci2001.1757 .
↑ Prescott, VE; Campbell, PM; Moore, A; Mattes, J; Rothenberg, ME; Foster, PS; Higgins, TJ; Hogan, SP (2005-11). "Transgenic expression of bean alpha-amylase inhibitor in peas results in altered structure and immunogenicity". Journal of Agricultural and Food Chemistry . 53 (23): 9023–30. doi :10.1021/jf050594v . PMID 16277398 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Taylor, Michael R; Tick, Jody S. "StarLink Case: Issues for the Future" (PDF) . Resources for the Future, Pew Initiative on Food and Biotechnology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2013-09-21. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 . {{cite web }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ "xecutive Summary: EPA Preliminary Evaluation of Information Contained in the October 25, 2000 Submission from Aventis Cropscience" (PDF ) . EPA. 2000-11. p. 3. While EPA had no specific data to indicate that Cry9C was an allergen, the protein expressed in StarLink corn did exhibit certain characteristics (i.e. relative heat stability and extended time to digestion) that were common to known food allergens such as those found in peanuts, eggs, etc. EPA’s concern was that StarLink corn may be a human food allergen and in the absence of more definitive data, EPA has not made a decision whether or not to register the human food use.
↑ 139.0 139.1 King D; Gordon A. (2000-09-23). "Contaminant found in Taco Bell taco shells. Food safety coalition demands recall" . Friends of the Earth (Press release). Washington, DC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2000-12-09. สืบค้นเมื่อ 2001-11-03 .
↑ 140.0 140.1
Fulmer, Melinda (2000-09-23). "Taco Bell Recalls Shells That Used Bioengineered Corn" . Los Angeles Times .
↑
"Corn-Recall Cost Could Reach Into the Hundreds of Millions" . Wall Street Journal . 2000-11-03.
↑ 142.0 142.1 Carpenter, Janet E; Gianessi, Leonard P (2001). "Agricultural Biotechnology: Updated Benefit Estimates" (PDF) . National Center for Food and Agricultural Policy. สืบค้นเมื่อ 2015-12-15 . {{cite web }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Clapp, Jennifer (2012). Hunger in the Balance: The New Politics of International Food Aid . Cornell University Press. pp. 196 . ISBN 9780801464409 .
↑ "Millers agree: Testing corn for StarLink not adding to food safety" . North American Millers' Association (Press release). 2008-04-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2008-09-05.
↑ "GM Contamination Register Official Website" . GM Contamination Register. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2005-06-05. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26 .
↑ "StarLink Corn" . Department of Soil and Crop Sciences at Colorado State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2020-02-12. สืบค้นเมื่อ 2004-03-11 .
↑ "StarLink Corn: What Happened" . University of California, Davis. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2006-09-01. สืบค้นเมื่อ 2013-08-12 .
↑ Keese, Paul (2008). "Risks from GMOs due to Horizontal Gene Transfer". Environmental Biosafety Research . 7 (3): 123–49. doi :10.1051/ebr:2008014 . PMID 18801324 .
↑ 149.0 149.1 Flachowsky, Gerhard; Chesson, Andrew; Aulrich, Karen (2005). "Animal nutrition with feeds from genetically modified plants" (PDF) . Archives of Animal Nutrition . 59 (1): 1–40. doi :10.1080/17450390512331342368 . PMID 15889650 . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
{{cite journal }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Brigulla, M; Wackernagel, W (2010-04). "Molecular aspects of gene transfer and foreign DNA acquisition in prokaryotes with regard to safety issues". Appl. Microbiol. Biotechnol . 86 (4): 1027–41. doi :10.1007/s00253-010-2489-3 . PMID 20191269 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Guertler, P; Paul, V; Albrecht, C; Meyer, HH (2009-03). "Sensitive and highly specific quantitative real-time PCR and ELISA for recording a potential transfer of novel DNA and Cry1Ab protein from feed into bovine milk". Anal Bioanal Chem . 393 (6–7): 1629–38. doi :10.1007/s00216-009-2667-2 . PMID 19225766 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Zhang, Lin; Hou, Dongxia; Chen, Xi; Li, Donghai; Zhu, Lingyun; Zhang, Yujing; Li, Jing; Bian, Zhen; Liang, Xiangying; Cai, Xing; Yin, Yuan; Wang, Cheng; Zhang, Tianfu; Zhu, Dihan; Zhang, Dianmu; Xu, Jie; Chen, Qun; Ba, Yi; Liu, Jing; Wang, Qiang; Chen, Jianqun; Wang, Jin; Wang, Meng; Zhang, Qipeng; Zhang, Junfeng; Zen, Ke; Zhang, Chen-Yu (2011). "Exogenous plant MIR168a specifically targets mammalian LDLRAP1: Evidence of cross-kingdom regulation by microRNA" . Cell Research . 22 (1): 107–26. doi :10.1038/cr.2011.158 . PMC 3351925 . PMID 21931358 .
↑
Snow, Jonathan W.; Hale, Andrew E.; Isaacs, Stephanie K.; Baggish, Aaron L.; Chan, Stephen Y. (2013). "Ineffective delivery of diet-derived microRNAs to recipient animal organisms". RNA Biology . 10 (7): 1107–16. doi :10.4161/rna.24909 . PMID 23669076 .
↑
Witwer, Kenneth W.; McAlexander, Melissa A.; Queen, Suzanne E.; Adams, Robert J. (2013). "Real-time quantitative PCR and droplet digital PCR for plant miRNAs in mammalian blood provide little evidence for general uptake of dietary miRNAs: Limited evidence for general uptake of dietary plant xenomiRs". RNA Biology . 10 (7): 1080–6. doi :10.4161/rna.25246 . PMID 23770773 .
↑ 156.0 156.1
Uzogara, Stella G. (2000). "The impact of genetic modification of human foods in the 21st century". Biotechnology Advances . 18 (3): 179–206. doi :10.1016/S0734-9750(00)00033-1 . PMID 14538107 .
↑
Nelson, Gerald C, บ.ก. (2001). Genetically Modified Organisms in Agriculture: economics and politics . Academic Press. ISBN 9780080488868 . สืบค้นเมื่อ 2013-05-12 .
↑ Netherwood, T; Martín-Orúe, SM; O'Donnell, AG; Gockling, S; Graham, J; Mathers, JC; Gilbert, HJ (2004-02). "Assessing the survival of transgenic plant DNA in the human gastrointestinal tract" (PDF ) . Nat. Biotechnol . 22 (2): 204–9. doi :10.1038/nbt934 . PMID 14730317 . เก็บ (PDF) จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-15. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ 159.0 159.1 Käppeli, O (1998). "How safe is safe enough in plant genetic engineering?". Trends in Plant Science . 3 (7): 276–281. doi :10.1016/S1360-1385(98)01251-5 .
↑ Bakshi, Anita (2003). "Potential Adverse Health Effects of Genetically Modified Crops" (PDF ) . Journal of Toxicology and Environmental Health, Part B . 6 (3): 211–226. doi :10.1080/10937400306469 . เก็บ (PDF) จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-02. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Van Eenennaam, A. L.; Young, A. E. (2014-09-02). "Prevalence and impacts of genetically engineered feedstuffs on livestock populations" . Journal of Animal Science . 92 : 4255–78. doi :10.2527/jas.2014-8124 . PMID 25184846 .
↑ Snell, Chelsea; Bernheim, Aude; Bergé, Jean-Baptiste; Kuntz, Marcel; Pascal, Gérard; Paris, Alain; Ricroch, Agnès E. (2012). "Assessment of the health impact of GM plant diets in long-term and multigenerational animal feeding trials: A literature review". Food and Chemical Toxicology . 50 (3–4): 1134–48. doi :10.1016/j.fct.2011.11.048 . PMID 22155268 .
↑ Magaña-Gómez, Javier A; De La Barca, Ana M (2009). "Risk assessment of genetically modified crops for nutrition and health". Nutrition Reviews . 67 (1): 1–16. doi :10.1111/j.1753-4887.2008.00130.x . PMID 19146501 .
↑ Dona, Artemis; Arvanitoyannis, Ioannis S. (2009). "Health Risks of Genetically Modified Foods". Critical Reviews in Food Science and Nutrition . 49 (2): 164–75. doi :10.1080/10408390701855993 . PMID 18989835 .
↑ Klaus, Amman (2009-08-31). "Human and Animal Health - Rebuttal to a Review of Dona and Arvanitoyannis 2009, part one" . uropean Federation of Biotechnology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2010-10-02. สืบค้นเมื่อ 2010-10-28 .
↑
Klaus, Amman (2009). "Rebuttal to a review of Dona and Arvanitoyannis 2009" (PDF ) . สืบค้นเมื่อ 2010-10-28 .
↑
Rickard, Craig (2009). "Letter to the Editor". Critical Reviews in Food Science and Nutrition . 50 (1): 85–91, author reply 92-5. doi :10.1080/10408390903467787 . PMID 20047140 .
↑ Aumaitre A (2004). "Safety assessment and feeding value for pigs, poultry and ruminant animals of pest protected (Bt) plants and herbicide tolerant (glyphosate, glufosinate) plants: interpretation of experimental results observed worldwide on GM plants" . Italian Journal of Animal Science . 3 (2): 107–121. doi :10.4081/ijas.2004.107 . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2016-01-18. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Domingo, JL (2007). "Toxicity studies of genetically modified plants: a review of the published literature". Crit Rev Food Sci Nutr . 47 (8): 721–33. doi :10.1080/10408390601177670 . PMID 17987446 .
↑ Vain, Philippe (2007). "Trends in GM crop, food and feed safety literature" (PDF) . Nature Biotechnology . 25 (6): 624–6. doi :10.1038/nbt0607-624b . PMID 17557092 . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2012-03-19. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Domingo, José L.; Giné Bordonaba, Jordi (2011). "A literature review on the safety assessment of genetically modified plants". Environment International . 37 (4): 734–42. doi :10.1016/j.envint.2011.01.003 . PMID 21296423 .
↑ "Physicians and Scientists for Responsible Application of Science and Technology Official Website" . Psrast.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-06-03. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑
"GAO-02-566 Report to Congressional Requesters: Genetically Modified Foods" (PDF ) . United States General Accounting Office. 2002-05-23. pp. 30–32. สืบค้นเมื่อ 2015-12-15 .
↑
"Safety Aspects of Genetically Modified Foods of Plant Origin. Report of a Joint FAO/WHO Expert Consultation on Foods Derived from Biotechnology" (PDF ) . Geneva, Switzerland: FAO/WHO. 2000b. สืบค้นเมื่อ 2015-12-15 .
↑ Wendler, David (2012-09-20). Zalta, Edward N. (บ.ก.). "The Ethics of Clinical Research" . The Stanford Encyclopedia of Philosophy.
↑ Germolec, Dori R.; Kimber, Ian; Goldman, Lynn; Selgrade, Maryjane (2002). "Key Issues for the Assessment of the Allergenic Potential of Genetically Modified Foods: Breakout Group Reports" . Environmental Health Perspectives . 111 (8): 1131–9. doi :10.1289/ehp.5814 . PMC 1241563 . PMID 12826486 .
↑
doi :10.3945/ajcn.2008.27119 This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
Full Article PDF (360 KB)
↑
Tang, G.; Hu, Y.; Yin, S.-a.; Wang, Y.; Dallal, G. E.; Grusak, M. A.; Russell, R. M. (2012). "-Carotene in Golden Rice is as good as -carotene in oil at providing vitamin a to children" . American Journal of Clinical Nutrition . 96 (3): 658–64. doi :10.3945/ajcn.111.030775 . PMC 3417220 . PMID 22854406 .
↑
Segal, Corinne (2012-09-20). "Alleged ethics violations surface in Tufts-backed study" . Tufts Daily.
↑ 180.0 180.1 Ewen, Stanley WB; Pusztai, Arpad (1999). "Effect of diets containing genetically modified potatoes expressing Galanthus nivalis lectin on rat small intestine". เดอะแลนเซ็ต . 354 (9187): 1353–4. doi :10.1016/S0140-6736(98)05860-7 . PMID 10533866 .
↑ 181.0 181.1 "Rowett Research Institute: Audit Report Overview" . Rowett Research Institute Press Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2002-05-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Vasconcelos, Ilka M; Oliveira, José Tadeu A (2004). "Antinutritional properties of plant lectins". Toxicon . 44 (4): 385–403. doi :10.1016/j.toxicon.2004.05.005 . PMID 15302522 .
↑ 183.0 183.1 Enserink M (1999-10). "Transgenic food debate. The Lancet scolded over Pusztai paper". Science . 286 (5440): 656a-656. doi :10.1126/science.286.5440.656a . PMID 10577214 .
↑ Enserink, M. (1998). "SCIENCE IN SOCIETY: Institute Copes with Genetic Hot Potato". Science . 281 (5380): 1124b. doi :10.1126/science.281.5380.1124b .
↑ Randerson, J (2008-01-15). "Arpad Pusztai: Biological divide" . The Guardian .
↑ Murray, Noreen (1999-06-01). "Review of data on possible toxicity of GM potatoes" (PDF) . The Royal Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2021-11-19. สืบค้นเมื่อ 2010-11-28 .
↑ Key, S.; Ma, J. K-C; Drake, P. M. (2008). "Genetically modified plants and human health" . JRSM . 101 (6): 290–8. doi :10.1258/jrsm.2008.070372 . PMC 2408621 . PMID 18515776 .
↑ Kuiper HA; Noteborn HP; Peijnenburg AA (October 1999). "Adequacy of methods for testing the safety of genetically modified foods". Lancet . 354 (9187): 1315–16. doi :10.1016/S0140-6736(99)00341-4 . PMID 10533854 . S2CID 206011261 .
↑ Aris, Aziz; Leblanc, Samuel (2011). "Maternal and fetal exposure to pesticides associated to genetically modified foods in Eastern Townships of Quebec, Canada" (PDF) . Reproductive Toxicology . 31 (4): 528–33. doi :10.1016/j.reprotox.2011.02.004 . PMID 21338670 . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2016-03-12. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
Poulter, Sean (2011-05-20). "GM food toxins found in the blood of 93% of unborn babies" . Daily Mail . London. สืบค้นเมื่อ 2012-02-07 .
↑
"Many Women, no Cry - OGM : environnement, santé et politique" (ภาษาอังกฤษ และ ฝรั่งเศส). Marcel-kuntz-ogm.over-blog.fr. 2012-01-16. สืบค้นเมื่อ 2012-02-07 .
↑ "FSANZ response to study linking Cry1Ab protein in blood to GM foods" . Food Standards Australia New Zealand. 2011-05-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-01-03. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑ "FSANZ response to study linking Cry1Ab protein in blood to GM foods" . FSANZ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-01-03. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Séralini, GE; Cellier, D; de Vendomois, JS (2007-05). "New analysis of a rat feeding study with a genetically modified maize reveals signs of hepatorenal toxicity". Arch. Environ. Contam. Toxicol . 52 (4): 596–602. doi :10.1007/s00244-006-0149-5 . PMID 17356802 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
De Vendômois, JS; Roullier, F; Cellier, D; Séralini, GE (2009). "A comparison of the effects of three GM corn varieties on mammalian health" . Int J Biol Sci . 5 (7): 706–26. doi :10.7150/ijbs.5.706 . PMC 2793308 . PMID 20011136 . {{cite journal }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Séralini, Gilles-Eric; Mesnage, Robin; Clair, Emilie; Gress, Steeve; De Vendômois, Joël; Cellier, Dominique (2011). "Genetically modified crops safety assessments: Present limits and possible improvements". Environmental Sciences Europe . 23 : 10. doi :10.1186/2190-4715-23-10 .
↑ "Statement of the Scientific Panel on Genetically Modified Organisms on the analysis of data from a 90-day rat feeding study with MON 863 maize" (PDF ) . European Food Safety Authority.
↑
"EFSA review of statistical analyses conducted for the assessment of the MON 863 90-day rat feeding study". EFSA Journal . 5 (6). doi :10.2903/j.efsa.2007.19r .
↑
"EFSA Minutes of the 55th Plenary Meeting of the Scientific Panel on Genetically Modified Organisms Held on 27-28 January 2010 IN Parma, Italy, Annex 1, Vendemois et al 2009" (PDF) . European Food Safety Authority report. สืบค้นเมื่อ 2010-11-11 .
↑
doi :10.2903/j.efsa.2011.2438 This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
Full Article PDF (288 KB)
↑ "Review of the report by Séralini et al., (2007): "New analysis of a rat feeding study with a genetically modified maize reveals signs of hepatorenal toxicity" " . FSANZ final assessment report. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-09-02. สืบค้นเมื่อ 2010-11-11 .
↑ "FSANZ reaffirms its risk assessment of genetically modified corn MON 863" . FSANZ fact sheets 2007. 2010-07-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2011-06-29. สืบค้นเมื่อ 2010-11-11 .
↑ "Feeding studies and GM corn MON863" . Food Standards Australia New Zealand. 2012-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-10-25. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑ Doull, J; Gaylor, D; Greim, HA; Lovell, DP; Lynch, B; Munro, IC (2007-11). "Report of an Expert Panel on the reanalysis by of a 90-day study conducted by Monsanto in support of the safety of a genetically modified corn variety (MON 863)". Food Chem. Toxicol . 45 (11): 2073–85. doi :10.1016/j.fct.2007.08.033 . PMID 17900781 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ "Opinion relating to the deposition of 15 December 2009 by the Member of Parliament, François Grosdidier, as to the conclusions of the study entitled "A comparison of the effects of three GM corn varieties on mammalian health" " . English translation of French High Council of Biotechnologies Scientific Committee document. สืบค้นเมื่อ 2010-11-11 .
↑ 206.0 206.1 Séralini, GE; Clair, E; Mesnage, R; Gress, S; Defarge, N; Malatesta, M; Hennequin, D; de Vendômois, JS (2012-09). "Long term toxicity of a Roundup herbicide and a Roundup-tolerant genetically modified maize". Food and Chemical Toxicology . 50 (11): 4221–31. doi :10.1016/j.fct.2012.08.005 . PMID 22999595 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ ) (Retracted)
↑ 207.0 207.1
Allen, Kate (2013-11-28). "Science journal retracts French study on GM foods" . Toronto Star . สืบค้นเมื่อ 2013-11-28 .
↑ 208.0 208.1
"Elsevier Announces Article Retraction from Journal Food and Chemical Toxicology" . Elsevier. สืบค้นเมื่อ 2013-11-29 .
↑ "Tous cobayes? (2012) - IMDb" . IMDB . IMDB.com.
↑ Lumley, Thomas (2012-09-20). "Roundup scare" . Stats Chat.
↑ 211.0 211.1
"Poison postures" . Nature . 489 (7417): 474. 2012. doi :10.1038/489474a . PMID 23025010 .
↑ Séralini, Gilles-Eric (2012). Tous Cobayes !: OGM, pesticides et produits chimiques . Editions Flammarion. ISBN 9782081262362 .
↑ Zimmer, Carl (2012-09-21). "From Darwinius to GMOs: Journalists Should Not Let Themselves Be Played" . Discovery Magazine blog, The Loom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-09-21. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Hirschler, Ben (2012-09-19). "UPDATE 3-Study on Monsanto GM corn concerns draws scepticism" . Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-09-20. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Kniss, Andrew (2012-09-19). "Explanation of rat study" . Control Freaks Blog. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-01-24. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
Suzuki, H; Mohr, U; Kimmerle, G (1979-10). "Spontaneous endocrine tumors in Sprague-Dawley rats". J. Cancer Res. Clin. Oncol . 95 (2): 187–96. doi :10.1007/BF00401012 . PMID 521452 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ 217.0 217.1 "Mortality and In-Life Patterns in Sprague-Dawley" (PDF) . Huntingdon Life Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2013-10-01. สืบค้นเมื่อ 2012-10-26 .
↑ 218.0 218.1 "Sprague Dawley" (PDF) . Harlan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2014-10-25. สืบค้นเมื่อ 2012-10-26 .
↑
Butler, Declan (2012). "Hyped GM maize study faces growing scrutiny". Nature . 490 (7419): 158. doi :10.1038/490158a . PMID 23060167 .
↑
"Study on Monsanto GM corn concerns draws skepticism" . Reuters . 2012-09-20.
↑
"Study linking GM crops and cancer questioned" . New Scientist . 2012-09-19.
↑ Elizabeth Finkel (2012-10-09). "GM corn and cancer: the Séralini affai" .
↑ "French scientists question safety of GM corn" . Washington Post Blog. 2012-09-19.
↑ "Avis des Académies nationales d'Agriculture, de Médecine, de Pharmacie, des Sciences, des Technologies, et Vétérinaire sur la publication récente de G.E. Séralini et al. sur la toxicité d'un OGM" (PDF) . Académie des sciences. 2012-10-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2015-04-17. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "RETRACTED: Long term toxicity of a Roundup herbicide and a Roundup-tolerant genetically modified maize" . Food and Chemical Toxicology . 53 : 473–474. 2013-05-03. doi :10.1016/j.fct.2012.10.041 . สืบค้นเมื่อ 2014-05-02 .
↑ "A study of the University of Caen neither constitutes a reason for a re-evaluation of genetically modified NK603 maize nor does it affect the renewal of the glyphosate approval] German Federal Institute for Risk Assessment (BfR)" . Germany: The Federal Institute for Risk Assessment. 2012-10-01. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-18. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "BVL prüft Rattenfütterungsstudie mit gentechnisch verändertem Mais und glyphosathaltigen Pflanzenschutzmitteln (Seralini et al. 2012)" [BVL checks rat feeding study with a genetically modified maize and glyphosate pesticide (Seralini et al. 2012.)]. Germany: The German Federal Office of Consumer Protection and Food Safety (BVL). 2012-10-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2017-09-10. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"French panel rejects study linking GM corn to cancer" . France: Agence France Presse. 2012-10-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-02-01.
↑
"VIB concludes that Séralini study is not substantiated" . Belgium: VIB Life Sciences Research Institute. 2012-10-08.
↑ "GMO study fails to meet scientific standards" . Denmark: Technical University of Denmark, Danish National Food Institute. 2012-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-01-18. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Response to Séralini paper" . Food Standards Australia New Zealand. 2013-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-01-18. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
Garcia, Jose Fernando (2012). "CTNBio Considered Opinion on Sep. 2012 publication of Seralini et al" (PDF ) . Brazillian Ministry of Science Technology and Innovation, National Biosafety Technical Commission. สืบค้นเมื่อ 2012-12-07 .
↑ * (Press release with summary of findings) "EFSA publishes initial review on GM maize and herbicide study" . European Food Safety Authority. 2012-10-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2015-07-19. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Séralini, GE; Mesnage, R; Defarge, N (2013-03). "Answers to critics: Why there is a long term toxicity due to a Roundup-tolerant genetically modified maize and to a Roundup herbicide". Food and Chemical Toxicology . 53 : 476–483. doi :10.1016/j.fct.2012.11.007 . PMID 23146697 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
"Controversial Seralini GMO-rats paper to be retracted" . Retraction Watch. 2013-11-28.
↑
"Paper Tying Rat Cancer to Herbicide Is Retracted" . New York Times . 2013-11-28.
↑ Séralini, Gilles-Eric; Clair1, Emilie; Mesnage1, Robin; Gress, Steeve; Defarge, Nicolas; Malatesta, Manuela; Hennequin, Didier; Spiroux de Vendômois, Joël (2014-06-24). "Republished study: long-term toxicity of a Roundup herbicide and a Roundup-tolerant genetically modified maize" . Environmental Sciences Europe . 26 : 14. doi :10.1186/s12302-014-0014-5 . สืบค้นเมื่อ 2014-10-24 .
↑ "History of Bt" . University of California. สืบค้นเมื่อ 2010-02-08 .
↑
Hall, H. "Bt corn: is it worth the risk?" . The Science Creative Quarterly.
↑
Dorsch, J.A; Candas, M; Griko, N.B; Maaty, W.S.A; Midboe, E.G; Vadlamudi, R.K; Bulla Jr, L.A (2002). "Cry1A toxins of Bacillus thuringiensis bind specifically to a region adjacent to the membrane-proximal extracellular domain of BT-R1 in Manduca sexta:" . Insect Biochemistry and Molecular Biology . 32 (9): 1025–36. doi :10.1016/S0965-1748(02)00040-1 . PMID 12213239 .
↑
Romeis, Jörg; Hellmich, Richard L.; Candolfi, Marco P.; Carstens, Keri; De Schrijver, Adinda; Gatehouse, Angharad M. R.; Herman, Rod A.; Huesing, Joseph E.; McLean, Morven A.; Raybould, Alan; Shelton, Anthony M.; Waggoner, Annabel (2010). "Recommendations for the design of laboratory studies on non-target arthropods for risk assessment of genetically engineered plants" . Transgenic Research . 20 (1): 1–22. doi :10.1007/s11248-010-9446-x . PMC 3018611 . PMID 20938806 .
↑
Romeis, Jörg; Bartsch, Detlef; Bigler, Franz; Candolfi, Marco P; Gielkens, Marco M C; Hartley, Susan E; Hellmich, Richard L; Huesing, Joseph E; Jepson, Paul C; Layton, Raymond; Quemada, Hector; Raybould, Alan; Rose, Robyn I; Schiemann, Joachim; Sears, Mark K; Shelton, Anthony M; Sweet, Jeremy; Vaituzis, Zigfridas; Wolt, Jeffrey D (2008). "Assessment of risk of insect-resistant transgenic crops to nontarget arthropods". Nature Biotechnology . 26 (2): 203–8. doi :10.1038/nbt1381 . PMID 18259178 .
↑ Losey, John E.; Rayor, Linda S.; Carter, Maureen E. (1999). "Transgenic pollen harms monarch larvae". Nature . 399 (6733): 214. doi :10.1038/20338 . PMID 10353241 .
↑ Sears, MK; Hellmich, RL; Stanley-Horn, DE; Oberhauser, KS; Pleasants, JM; Mattila, HR; Siegfried, BD; Dively, GP (2001-10). "Impact of Bt corn pollen on monarch butterfly populations: a risk assessment" . Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A . 98 (21): 11937–42. Bibcode :2001PNAS...9811937S . doi :10.1073/pnas.211329998 . JSTOR 3056827 . PMC 59819 . PMID 11559842 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Gatehouse, AM; Ferry, N; Raemaekers, RJ (2002-05). "The case of the monarch butterfly: a verdict is returned". Trends Genet . 18 (5): 249–51. doi :10.1016/S0168-9525(02)02664-1 . PMID 12047949 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
The Guardian (2015). "US launches plan to halt decline of monarch butterfly" .
↑ Pleasants, John M.; Oberhauser, Karen S. (2012). "Milkweed loss in agricultural fields because of herbicide use: effect on the monarch butterfly population" (PDF) . Insect Conservation and Diversity . doi :10.1111/j.1752-4598.2012.00196.x . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2014-09-04. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Lövei, GL; Andow, DA; Arpaia, S (2009-04). "Transgenic insecticidal crops and natural enemies: a detailed review of laboratory studies". Environmental. Entomology . 38 (2): 293–306. doi :10.1603/022.038.0201 . PMID 19389277 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Shelton, AM; Naranjo, SE; Romeis, J; Hellmich, RL; Wolt, JD; Federici, BA; Albajes, R; Bigler, F; Burgess, EP; Dively, GP; Gatehouse, AM; Malone, LA; Roush, R; Sears, M; Sehnal, F (2009-06). "Setting the record straight: a rebuttal to an erroneous analysis on transgenic insecticidal crops and natural enemies". Transgenic Res . 18 (3): 317–22. doi :10.1007/s11248-009-9260-5 . PMID 19357987 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Carpenter, JE (2011). "Impact of GM crops on biodiversity". GM Crops . 2 (1): 7–23. doi :10.4161/gmcr.2.1.15086 . PMID 21844695 .
↑ Icoz, Isik; Stotzky, Guenther (2008). "Fate and effects of insect-resistant Bt crops in soil ecosystems". Soil Biology and Biochemistry . 40 (3): 559–586. doi :10.1016/j.soilbio.2007.11.002 .
↑
Bohan, D. A; Boffey, C. W.H; Brooks, D. R; Clark, S. J; Dewar, A. M; Firbank, L. G; Haughton, A. J; Hawes, C.; Heard, M. S; May, M. J; Osborne, J. L; Perry, J. N; Rothery, P.; Roy, D. B; Scott, R. J; Squire, G. R; Woiwod, I. P; Champion, G. T (2005). "Effects on weed and invertebrate abundance and diversity of herbicide management in genetically modified herbicide-tolerant winter-sown oilseed rape". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences . 272 (1562): 463–474. doi :10.1098/rspb.2004.3049 .
↑
Strandberg, Beate; Bruus Pedersen, Marianne; Elmegaard, Niels (2005). "Weed and arthropod populations in conventional and genetically modified herbicide tolerant fodder beet fields". Agriculture, Ecosystems & Environment . 105 : 243–253. doi :10.1016/j.agee.2004.03.005 .
↑ Gibbons, D. W; Bohan, D. A; Rothery, P.; Stuart, R. C; Haughton, A. J; Scott, R. J; Wilson, J. D; Perry, J. N; Clark, S. J; Dawson, R. J.G; Firbank, L. G (2006). "Weed seed resources for birds in fields with contrasting conventional and genetically modified herbicide-tolerant crops". Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences . 273 (1596): 1921–1928. doi :10.1098/rspb.2006.3522 .
↑ Chamberlain, D.E.; Freeman, S.N.; Vickery, J.A. (2007). "The effects of GMHT crops on bird abundance in arable fields in the UK". Agriculture, Ecosystems & Environment . 118 : 350–356. doi :10.1016/j.agee.2006.05.012 .
↑ Pleasants, John M.; Oberhauser, Karen S. (2013). "Milkweed loss in agricultural fields because of herbicide use: Effect on the monarch butterfly population". Insect Conservation and Diversity . 6 (2): 135–144. doi :10.1111/j.1752-4598.2012.00196.x .
↑ "In Midwest, Flutters May Be Far Fewer" . The New York Times . 2011-07-11.
↑ Relyea RA (2005). "The Impact of Insecticides and Herbicides on The Biodiversity and Productivity of Aquatic Communities" (PDF) . Ecological Applications . 15 (2): 618–627. doi :10.1890/03-5342 . PMID 17069392 . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2017-08-12. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Common Herbicide Lethal to Wetland Species" . Conservation Magazine . 2009-07-29.
↑
Lu, Y; Wu, K; Jiang, Y; Xia, B; Li, P; Feng, H; Wyckhuys, KA; Guo, Y (2010-05). "Mirid bug outbreaks in multiple crops correlated with wide-scale adoption of Bt cotton in China". Science . 328 (5982): 1151–4. Bibcode :2010Sci...328.1151L . doi :10.1126/science.1187881 . PMID 20466880 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Lang, Susan (2006-07-25). "Profits die for Bt cotton in China" . Cornell Chronicle . สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑ Wang, Shenghui; Just, David R.; Andersen, Pinstrup-Andersen (2008). "Bt-cotton and secondary pests". International Journal of Biotechnology . 10 (2/3): 113–21. doi :10.1504/IJBT.2008.018348 .
↑ Wang, Zi-jun; Lin, Hai; Huang, Ji-kun; Hu, Rui-fa; Rozelle, Scott; Pray, Carl (2009). "Bt Cotton in China: Are Secondary Insect Infestations Offsetting the Benefits in Farmer Fields?". Agricultural Sciences in China . 8 : 83–90. doi :10.1016/S1671-2927(09)60012-2 .
↑ Zhao, JH; Ho, P; Azadi, H (2012-08). "Erratum to: Benefits of Bt cotton counterbalanced by secondary pests? Perceptions of ecological change in China". Environ Monit Assess . 184 (11): 7079. doi :10.1007/s10661-012-2699-5 . PMID 22864609 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Goswami, Bhaskar (2007-09). "Making a meal of Bt cotton" . InfoChange . สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑
"Bug makes meal of Punjab cotton, whither Bt magic?" . Indo-Asian News Service. 2007-09-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2007-09-08. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑ Stone, Glenn Davis (2011). "Field versus Farm in Warangal: Bt Cotton, Higher Yields, and Larger Questions" . World Development . 39 (3): 387–98. doi :10.1016/j.worlddev.2010.09.008 .
↑ doi :10.1641/0006-3568 (2005)055[0669:GFFGMR 2.0.CO;2]This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
Full Article PDF (4.85 MB)
↑ Conner, AJ; Glare, TR; Nap, JP (2003-01). "The release of genetically modified crops into the environment. Part II. Overview of ecological risk assessment". Plant J . 33 (1): 19–46. doi :10.1046/j.0960-7412.2002.001607.x . PMID 12943539 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
"An Entrepreneur Bankrolls a Genetically Engineered Salmon" . The New York Times . 2012-05-22.
↑
Buck, Eugene H. (2011-06-07). "Genetically Engineered Fish and Seafood: Environmental Concerns" (PDF ) . Congressional Research Service. สืบค้นเมื่อ 2012-09-03 .
↑ "Genetically Modified Plants: Out-crossing and Gene Flow" . GMO Compass. 2006-12-012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2011-05-05. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Chilcutt, Charles; Tabashnik, BE. (2004-05-18). "Contamination of refuges by Bacillus thuringiensis toxin genes from transgenic maize" . Proceedings of the National Academy of Science of the United States of America . 101 (20): 7526–7529. Bibcode :2004PNAS..101.7526C . doi :10.1073/pnas.0400546101 . PMC 419639 . PMID 15136739 .
↑ "Scientists play down 'superweed' " . BBC . 2005-07-25.
source report PDF
↑ Watrud, LS; Lee, EH; Fairbrother, A; Burdick, C; Reichman, JR; Bollman, M; Storm, M; King, G; Van de Water, PK (2004-10). "Evidence for landscape-level, pollen-mediated gene flow from genetically modified creeping bentgrass with CP4 EPSPS as a marker" . Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A . 101 (40): 14533–8. Bibcode :2004PNAS..10114533W . doi :10.1073/pnas.0405154101 . PMC 521937 . PMID 15448206 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Pollack, Andrew (2011-07-06). "U.S.D.A. Ruling on Bluegrass Stirs Cries of Lax Regulation" . New York Times. สืบค้นเมื่อ 2015-02-26 .
↑ "Mexico: controlled cultivation of genetically modified maize" . GMO Compass. 2009-06-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-10-05. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"Warning issued on GM maize imported to Mexico - SciDev.Net" . Science and Development Network. 2004-11-10.
↑
"GM maize found 'contaminating' wild strains - SciDev.Net" . Science and Development Network. 2001-11-30.
↑ Quist, D; Chapela, IH (2001-11). "Transgenic DNA introgressed into traditional maize landraces in Oaxaca; Mexico". Nature . 414 (6863): 541–3. doi :10.1038/35107068 . PMID 11734853 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Kaplinsky, N; Braun, D; Lisch, D; Hay, A; Hake, S; Freeling, M (2002-04). "Biodiversity (Communications arising): maize transgene results in Mexico are artefacts". Nature . 416 (6881): 601–2, discussion 600, 602. Bibcode :2002Natur.416..601K . doi :10.1038/nature739 . PMID 11935145 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Ortiz-Garcia, S.; Ezcurra, E.; Schoel, B.; Acevedo, F.; Soberon, J.; Snow, A. A. (2005). "Absence of detectable transgenes in local landraces of maize in Oaxaca, Mexico (2003-2004)" . Proceedings of the National Academy of Sciences . 102 (35): 12338–43. Bibcode :2005PNAS..10212338O . doi :10.1073/pnas.0503356102 . PMC 1184035 . PMID 16093316 .
↑ Piñeyro-Nelson, A; Van, Heerwaarden, J; Perales, HR; Serratos-Hernández, JA; Rangel, A; Hufford, MB; Gepts, P; Garay-Arroyo, A; Rivera-Bustamante, R; Alvarez-Buylla, ER (2009-02). "Transgenes in Mexican maize: molecular evidence and methodological considerations for GMO detection in landrace populations" . Mol. Ecol . 18 (4): 750–61. doi :10.1111/j.1365-294X.2008.03993.x . PMC 3001031 . PMID 19143938 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
"First Wild Canola Plants With Modified Genes Found in United States" . Arkansas Newswire . University of Arkansas. 2010-08-06. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑
"Genetically Modified Canola 'Escapes' Farm Fields" . NPR. สืบค้นเมื่อ 2011-02-08 .
↑
"GM plants 'established in the wild' " . BBC News . 2010-08-06.
↑ "GM crops are on the move" . HighBeam Research. 2011-11-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-10-11. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"Genetically Engineered Crops Benefit Many Farmers, but the Technology Needs proper Management to Remain Effective" . National Academy of Siences. 2010-04-13.
↑
"Biotech Crops Are Good For Earth, Report Finds" . Npr.org. 2010-04-13. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ 290.0 290.1 "Transgenic Crops: An Introduction and Resource Guide" . Cls.casa.colostate.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2011-01-28. สืบค้นเมื่อ 2010-03-08 .
↑
"Terminator gene halt a 'major U-turn' " . BBC News . 1999-10-05.
↑
"BIODIVERSITY: Don't Sell "Suicide Seeds", Activists Warn" . Inter Press Service . 2006-03-21.
↑ 293.0 293.1
Masood, Ehsan (1999). "Compromise sought on 'Terminator' seed technology" . Nature . 399 (6738): 721. doi :10.1038/21491 .
↑
Pollack, M; Shaffer, G (2009). When Cooperation Fails: the international law and politics of genetically modified foods . Oxford University Press. pp. 275 . ISBN 978-0-19-956705-8 .
↑
"Farmers Fight to Save Organic Crops" . The Progressive Magazine. 2001-09.
↑ "Genetically Altered Wheat Flagged - Thailand Detects Shipment Not Cleared for Commercial Sales" . Spokane, WA: Institute for Argriculture and Trade Policy. 1999-10-18.
↑ "Attack of the mutant rice" . Fortune Magazine . 2007-07-02.
↑ "APHIS Report of LibertyLink Rice Incidents" (PDF) . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2013-07-21. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ Andy Coghlan (2013-06-03). "Monsanto modified wheat mystery deepens in Oregon" . New Scientist.
↑ "Monsanto Modified Wheat Not Approved by USDA Found in Field" . Bloomberg News . 2013-05-29.
↑
Reuters (2013-05-29). "Unapproved Monsanto GMO Wheat Found in Oregon" . CNBC. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑
Allison M (2013-06-05). "Japan's wheat-import suspension worries state growers" . Seattle Times. สืบค้นเมื่อ 2013-06-05 .
↑
"Modified Wheat Is Discovered in Oregon" . The New York Times . 2013-05-29.
↑ "Source of GMO wheat in Oregon remains mystery" . Associated Press . 2013-08-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-09-14. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"Wheat scare leaves farmers in limbo" . Seattle Times . 2013-06-20.
↑ Baram, Michael (2011). "Governing Risk in GM Agriculture" . ใน Baram, Michael; Bourrier, Mathilde (บ.ก.). Governance of GM Crop and Food Safety in the United States . Cambridge University Press. pp. 15–56. {{cite book }}
: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์ )
↑
"AC21 Wants USDA to Investigate Crop Insurance for Genetic Harm To Organic Crops" . Food Safety News. 2012-11-12.
↑ "Enhancing Coexistence: A Report of the AC21 to the Secretary of Agriculture" (PDF) . USDA Advisory Committee on Biotechnology and 21st Century Agriculture. 2012-11-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ 309.0 309.1 Czarnak-Klos, Marta (2010). "Best Practice documents for coexistence of Genetically Modified Crops with Conventional and Organic Crops" (PDF) . JRC, European Commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2013-05-21. สืบค้นเมื่อ 2012-10-13 .
↑
"EU caught in quandary over GMO animal feed imports" . Reuters . 2007-12-07.
↑ "CO-EXTRA - GM and Non-GM Supply Chains: Their CO-EXistence and TRAceability" . USDA National Agriculture Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-12-16. สืบค้นเมื่อ 2015-12-23 .
↑
"Research - Food Quality and Safety in Europe - Projects - KEEPING TRACK OF GMOs" . europa.eu .
↑ "About Pesticides" . U.S Environmental Protection Agency. สืบค้นเมื่อ 2015-05-31 .
↑ 314.0 314.1 Klümper, W; Qaim, M (2014). "A meta-analysis of the impacts of genetically modified crops". PLOSNE . 9 (11): e111629. doi :10.1371/journal.pone.0111629 . PMID 25365303 .
↑ Shipitalo, MJ; Malone, RW; Owens, LB (2008). "Impact of Glyphosate-Tolerant Soybean and Glufosinate-Tolerant Corn Production on Herbicide Losses in Surface Runoff". Journal of Environment Quality . 37 (2): 401–8. doi :10.2134/jeq2006.0540 . PMID 18268303 . {{cite journal }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ 316.0 316.1
Benbrook, Charles M (2012). "Impacts of genetically engineered crops on pesticide use in the U.S. -- the first sixteen years". Environmental Sciences Europe . 24 : 24. doi :10.1186/2190-4715-24-24 .
↑
"How GMOs Unleashed a Pesticide Gusher" . 2012-10-03.
↑ Kloor, Keith (2012-10-03). "When Bad News Stories Help Bad Science Go Viral" . Discover . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2015-05-31. สืบค้นเมื่อ 2015-05-31 .
↑
Mestel, Rosie (2012-10-24). "Examining the scientific evidence against genetically modified foods" . Los Angeles Times . สืบค้นเมื่อ 2015-05-31 .
↑
↑ Entine, Jon (2012-10-12). "Scientists, Journalists Challenge Claim that GM Crops Harm the Environment" . Forbes . สืบค้นเมื่อ 2015-05-31 .
↑ Peeples, Lynne (2012-10-04). "Pesticide Use Proliferating With GMO Crops, Study Warns" . Huffington Post . สืบค้นเมื่อ 2015-05-31 .
↑
Roh, JY; Choi, JY; Li, MS; Jin, BR; Je, YH (2007-04). "Bacillus thuringiensis as a specific, safe, and effective tool for insect pest control". J. Microbiol. Biotechnol . 17 (4): 547–59. PMID 18051264 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Marvier, M; McCreedy, C; Regetz, J; Kareiva, P (2007-06). "A meta-analysis of effects of Bt cotton and maize on nontarget invertebrates". Science . 316 (5830): 1475–7. doi :10.1126/science.1139208 . PMID 17556584 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
↑ Krishna, Vijesh V.; Qaim, Matin (2012). "Bt cotton and sustainability of pesticide reductions in India". Agricultural Systems . 107 : 47–55. doi :10.1016/j.agsy.2011.11.005 .
↑ Kovach, J; Petzoldt, C; Degni, J; Tette, J. "A Method to Measure the Environmental Impact of Pesticides" . New York State Agricultural Experiment Station. สืบค้นเมื่อ 2008-11-23 . {{cite web }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
"GM crops good for environment; study finds" . The Guardian . 2012-06-13.
↑
Lu, Yanhui; Wu, Kongming; Jiang, Yuying; Guo, Yuyuan; Desneux, Nicolas (2012). "Widespread adoption of Bt cotton and insecticide decrease promotes biocontrol services". Nature . 487 (7407): 362–5. doi :10.1038/nature11153 . PMID 22722864 .
↑ Neuman, William; Pollack, Andrew (2010-05-04). "U.S. Farmers Cope With Roundup-Resistant Weeds" . The New York Times . p. B1. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑
"Cotton in India" . Monsanto. 2010-05-05.
↑
Bagla P (2010-03). "India. Hardy cotton-munching pests are latest blow to GM crops". Science . 327 (5972): 1439. Bibcode :2010Sci...327.1439B . doi :10.1126/science.327.5972.1439 . PMID 20299559 .
↑ Tabashnik, Bruce E; Gassmann, Aaron J; Crowder, David W; Carriére, Yves (2008). "Insect resistance to Bt crops: Evidence versus theory". Nature Biotechnology . 26 (2): 199–202. doi :10.1038/nbt1382 . PMID 18259177 .
↑ Christou, Paul; Capell, Teresa; Kohli, Ajay; Gatehouse, John A.; Gatehouse, Angharad M.R. (2006). "Recent developments and future prospects in insect pest control in transgenic crops". Trends in Plant Science . 11 (6): 302–8. doi :10.1016/j.tplants.2006.04.001 . PMID 16690346 .
↑ "DuPont-Dow Corn Defeated by Armyworms in Florida: Study" . Bloomberg News . 2012-11-16.
↑ "(Section) Can European corn borer develop resistance to Bt corn? in the Bt Corn & European Corn Borer" . University of Minnesota Extension. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-09-28. สืบค้นเมื่อ 2015-12-23 .
↑
"Economic Impact of Transgenic Crops in Developing Countries" . Agbioworld.org. สืบค้นเมื่อ 2011-02-08 .
↑
Areal, F. J.; Riesgo, L.; Rodríguez-Cerezo, E. (2012). "Economic and agronomic impact of commercialized GM crops: A meta-analysis". The Journal of Agricultural Science . 151 : 7–33. doi :10.1017/S0021859612000111 .
↑
Finger, Robert; El Benni, Nadja; Kaphengst, Timo; Evans, Clive; Herbert, Sophie; Lehmann, Bernard; Morse, Stephen; Stupak, Nataliya (2011). "A Meta Analysis on Farm-Level Costs and Benefits of GM Crops". Sustainability . 3 (12): 743–762. doi :10.3390/su3050743 .
↑
Hutchison, WD; Burkness, EC; Mitchell, PD; Moon, RD; Leslie, TW; Fleischer, SJ; Abrahamson, M; Hamilton, KL; Steffey, KL; Gray, ME; Hellmich, RL; Kaster, LV; Hunt, TE; Wright, RJ; Pecinovsky, K; Rabaey, TL; Flood, BR; Raun, ES (2010-10). "Areawide suppression of European corn borer with Bt maize reaps savings to non-Bt maize growers". Science . 330 (6001): 222–5. Bibcode :2010Sci...330..222H . doi :10.1126/science.1190242 . PMID 20929774 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ "High-Tech Corn Fights Pests at Home and Nearby" . Sci-Tech today . 2010-10-08.[ลิงก์เสีย ]
↑ Falck-Zepeda, José Benjamin; Traxler, Greg; Nelson, Robert G. (2000). "Surplus Distribution from the Introduction of a Biotechnology Innovation" . American Journal of Agricultural Economics . 82 (2): 360–9. doi :10.1111/0002-9092.00031 . JSTOR 1244657 .
↑ CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Smale, M; Zambrano, P; Cartel, M (2006). "Bales and balance: A review of the methods used to assess the economic impact of Bt cotton on farmers in developing economies" (PDF) . AgBioForum . 9 (3): 195–212. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 . {{cite journal }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ Lynas, Mark (2010-11-04). "What the Green Movement Got Wrong: A turncoat explains" . The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-10-03. สืบค้นเมื่อ 2010-11-05 .
↑ "Planting the future: opportunities and challenges for using crop genetic improvement technologies for sustainable agriculture (EASAC policy report 21)" . European Academies Science Advisory Council. 2013-06-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-06-03. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Jonathan Latham's Second Interview on talkradioeurope" . Bioscience Resource Project News . 2013-04-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-10-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"Can Biotech Food Cure World Hunger?" . The New York Times . 2009-10-26. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑
"Interview with Jeremy Rifkin" . PBS . สืบค้นเมื่อ 2015-12-23 .
↑
"Modern Agriculture: Ecological impacts and the possibilities for truly sustainable farming" . Agroecology in Action. สืบค้นเมื่อ 2015-12-23 .
↑
Muehlbauer, Gary J; Feuillet, Catherine, บ.ก. (2009). "Genetics and Genomics of the Triticeae". Plant Genetics and Genomics: Crops and Models . Springer. ISBN 978-0-387-77488-6 . {{cite book }}
: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์ )
↑
"Giving Thanksfor Contemporary Agriculture" (PDF ) . Top Farmer Crop Workshop Newsletter. 2009-11.
↑ "Modern Agriculture and Its Benefits - Trends, Implications and Outlook" (PDF) . Global Harvest Initiative. 2010-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2016-02-04. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"Who we are" . Monsanto. สืบค้นเมื่อ 2015-12-23 .
↑ "Our purpose" . Bayer CropScience. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-10-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"The State of Food Insecurity in the World" (PDF ) . Food and Agricultural Organization of the United Nations. 2010. สืบค้นเมื่อ 2011-08-11 .
↑
"A Warming Planet Struggles to Feed Itself" . 'The New York Times . 2011-06-05.
↑
"Half the world's population faces major food crisis by 2100, Science study finds" . Stanford University New . 2009-01-08.
↑
Lappé, Frances Moore; Collins, Joseph; Rosset, Peter; Esparza, Luis (1998). World Hunger: Twelve Myths . Grove Press. p. 224. ISBN 978-0-8021-3591-9 .
↑
Boucher, Douglas H. (1999). The Paradox of Plenty: Hunger in a Bountiful World . Food First Books. p. 342. ISBN 978-0-935028-71-3 .
↑
Avise, John C (2004). The Hope, Hype and Reality of Genetic Engineering: Remarkable Stories from Agriculture, Industry, Medicine and the Environment (2nd ed.). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-803790-3 . สืบค้นเมื่อ 2013-05-12 .
↑
Raney, Terri; Pingali, Prabhu (2007-09). "Sowing a Gene Revolution" . Scientific American . สืบค้นเมื่อ 2014-10-26 .
↑
Lal, Rattan; Hobbs, Peter R; Uphoff, Norman; และคณะ, บ.ก. (2004). Sustainable Agriculture and the International Rice-Wheat System . CRC Press. ISBN 9780824754914 . สืบค้นเมื่อ 2013-05-12 .
↑ Kiers, E. T.; Leakey, R. R. B.; Izac, A.-M.; Heinemann, J. A.; Rosenthal, E.; Nathan, D.; Jiggins, J. (2008). "ECOLOGY: Agriculture at a Crossroads". Science . 320 (5874): 320–1. doi :10.1126/science.1158390 . PMID 18420917 .
↑ "The Global Food Crisis: The End of Plenty" . National Geographic . 2009-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Pfeiffer, D. (2006). Eating Fossil Fuel: Oil, Food, and the Coming Crisis in Agriculture .
↑ Naylor, Rosamond L.; Falcon, Walter P.; Goodman, Robert M.; Jahn, Molly M.; Sengooba, Theresa; Tefera, Hailu; Nelson, Rebecca J. (2004). "Biotechnology in the developing world: A case for increased investments in orphan crops". Food Policy . 29 : 15–44. doi :10.1016/j.foodpol.2004.01.002 .
↑ Borlaug, N.E. (2000), "Ending world hunger: the promise of biotechnology and the threat of antiscience zealotry", Plant Physiology , 124 : 487–490, doi :10.1104/pp.124.2.487
↑ Kagale, Sateesh; Rozwadowski, Kevin (2010-10). "Global Food Security: The Role of Agricultural Biotechnology Commentary" (PDF ) . Plant Physiology . Saskatoon, Saskatchewan: Saskatoon Research Centre, Agriculture and Agri-Food Canada. 154 : 1. สืบค้นเมื่อ 2014-01-12 .
↑ Nielsen, R.L. (Bob) (2012-08). "Historical Corn Grain Yields for Indiana and the U.S." Corny News Network . Purdue University. สืบค้นเมื่อ 2014-10 .
↑ "Feed grains yearbook tables - recent" . National Agricultural Statistics Service. 2014-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-10-26. สืบค้นเมื่อ 2014-10 .
↑
Kaphengst, Timo; Nadja El Benni; Clive Evans; Robert Finger; Sophie Herbert; Stephen Morse; Nataliya Stupak (2010). "Assessment of the economic performance of GM crops worldwide" (PDF) . Report to the European Commission, March 2011. {{cite web }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Wesseler, Justus, บ.ก. (2005). Environmental Costs and Benefits of Transgenic Crops . Springer Netherlands. ISBN 978-1-4020-3247-9 .
↑ Dunwell, Jim M. (2013). "Transgenic cereals: Current status and future prospects". Journal of Cereal Science . 59 : 419–434. doi :10.1016/j.jcs.2013.08.008 .
↑ Moskvitch, Katia (2013-01-23). "Salmon steak from GM fish could soon be on your plate" . BBC News .
↑ 376.0 376.1 376.2 "Genetically modified crops - Field research" . Economist . 2014-11-08. สืบค้นเมื่อ 2014-11 .
↑
Carpenter, Janet E (2010). "Peer-reviewed surveys indicate positive impact of commercialized GM crops". Nature Biotechnology . 28 (4): 319–21. doi :10.1038/nbt0410-319 . PMID 20379171 .
Full Article PDF (620.44 KB)
↑
Carpenter, Janet (2010). "Peer-reviewed surveys indicate positive impact of commercialized GM crops - Slide presentation of article in Nature Biotechnology; 28, 319 - 321 (2010)" . สืบค้นเมื่อ 2010-10-25 .
↑ "Roundup Ready soybean trait patent nears expiration in 2014" . Hpj.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-05-18. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ "Failure to Yield" (PDF) . Union of Concerned Scientists USA. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2014-08-12. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Do GM Crops Really Have Higher Yields?" . Mother Jones . สืบค้นเมื่อ 2014-10-26 .
↑ Shi, Guanming; Chavas, Jean-Paul; Lauer, Joseph (2013). "Commercialized transgenic traits, maize productivity and yield risk". Nature Biotechnology . 31 (2): 111–4. doi :10.1038/nbt.2496 . PMID 23392505 .
↑ Hayenga, Marvin (1998). "Structural change in the biotech seed and chemical industrial complex" . AgBioForum . 1 (2): 43–55. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
Who Owns Nature? Corporate Power and the Final Frontier in the Commodification of Life . ETC Group. 2008. p. 11.
↑ Who will control the Green Economy? . ETC Group. 2011. p. 22.
↑ "Concentration and Technology in Agricultural Input Industries" . USDA. 2001-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-10-26. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "AgBioForum - Powerbase" . Powerbase.info. 2010-05-18. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ Acquaye, Albert K. A.; Traxler, Greg 2005. "Monopoly power, price discrimination, and access to biotechnology innovations" . AgBioForum . 8 (2&3): 127–33. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-11-19. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"Concentrated Market Power and Agricultural Trade (EcoFair Trade Dialog Discussion Paper #1)" (PDF ) . Institute for Arigculture and Policy. 2006-09-13. p. 18. สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .
↑
Who Owns Nature? Corporate Power and the Final Frontier in the Commodification of Life . ETC Group. 2008. p. 14.
↑ 391.0 391.1 "Farm groups call on U.S. to "bust up big ag" " . Reuters . 2010-03-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-07-25. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Monsanto's Seed Patents May Trump Antitrust Claims (Update2)" . Bloomberg News . 2010-03-12.
↑ "Agricultural Research Service: Improving Corn" . History of Research at the U.S. Department of Agriculture and Agricultural Research Service. 2008-06-06.
↑
"Monsanto Technology Stewardship Agreement 2011" (PDF ) . สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .
↑
"Syngenta Stewardship Agreement" (PDF ) . Syngenta. สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .
↑ "Dupont 2011 Annual Report (10-K Filing)" . Dupont. p. 2-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-04-12. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Monsanto Investors's page" . Monsanto.com. สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .
↑ Goodman, Amy (2012-10-24). "Michael Pollan: California's Prop 37 Fight to Label GMOs Could Galvanize Growing U.S. Food Movement" . Democracy Now! . สืบค้นเมื่อ 2012-10-26 .
↑ "Discussion Guide for the film Food Inc" (PDF) . Center for Ecoliteracy. p. 73. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2012-02-15. สืบค้นเมื่อ 2014-10 .
↑ "Transgenic Plants and World Agriculture" (PDF) . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2005-12-15.
↑
Mechlem, Kerstin; Raney, Terry (2007). "Agricultural Technology and the Right to Food". ใน Francioni, Francesco (บ.ก.). Biotechnologies and International Human Rights . Hart Publishing. pp. 156 . ISBN 1-84113-703-0 .
↑ 402.0 402.1 "Saved Seed and Farmer Lawsuits" . Monsanto. 2008-11-03. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ "Schmeiser Wants to Take It to The Supreme Court" . CropChoice News. 2002-09-09.
↑ POLLACK, ANDREW (2009-12-17). "As Patent Ends, a Seed's Use Will Survive" . New York Times . สืบค้นเมื่อ 2014-10 .
↑ 405.0 405.1 405.2 405.3 405.4 "Canadian Supreme Court Decision" . Scc.lexum.org. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 .
↑ McHughen, A; Wager, R (2010). "Popular misconceptions: agricultural biotechnology". N Biotechnol . 27 (6): 724–8. doi :10.1016/j.nbt.2010.03.006 . PMID 20359558 . The fear about a company claiming ownership of a farmer’s crop based on the inadvertent presence of GM pollen grain or seed is...widespread and ...unfounded. {{cite journal }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
"Monsanto Wins Patent Case On Plant Genes" . The New York Times . 2004-05-22.
↑ doi :10.1093/erae/29.1.155 This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
↑ 409.0 409.1 "Agriculture Committee continues study on biotechnology while Bill C-474 is debated" . iPolitics. 2011-02-02.
↑ "Private Member's Bill C-474" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-02-28. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26 .
↑ "Bill to Reform Approval Process for GM Seeds Voted Down" (PDF) . This Week in Canadian Agriculture Issue 4 . USDA Foreign Agriculture Service: Global Agriculture Information Network (GAIN). 2011-02-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2017-02-03. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ 412.0 412.1 "How GMO labeling came to pass in Vermont" . Burlington Free Press . 2014-04-27.
↑ "CAST Issue Paper Number 54: The Potential Impacts of Mandatory Labeling for Genetically Engineered Food in the United States" . Council for Argricultural Science and Technology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2016-04-14. สืบค้นเมื่อ 2015-12-25 .
↑ 414.0 414.1
"Regulation (EC) No 1829/2003 of the European Parliament and of the Council of 22 September 2003 On Genetically Modified Food And Feed" (PDF ) . The European Parliament and the Council of the European Union. 2003-09-22. The labelling should include objective information to the effect that a food or feed consists of, contains or is produced from GMOs. Clear labelling, irrespective of the detectability of DNA or protein resulting from the genetic modification in the final product, meets the demands expressed in numerous surveys by a large majority of consumers, facilitates informed choice and precludes potential misleading of consumers as regards methods of manufacture or production
↑ 415.0 415.1
"Regulation (EC) No 1830/2003 of the European Parliament and of the Council of 22 September 2003 concerning the traceability and labelling of genetically modified organisms and the traceability of food and feed products produced from genetically modified organisms and amending Directive 2001/18/EC" (PDF ) . THE EUROPEAN PARLIAMENT AND THE COUNCIL OF THE EUROPEAN UNION. 2003-09-22. (3) Traceability requirements for GMOs should facilitate both the withdrawal of products where unforeseen adverse effects on human health, animal health or the environment, including ecosystems, are established, and the targeting of monitoring to examine potential effects on, in particular, the environment. Traceability should also facilitate the implementation of risk management measures in accordance with the precautionary principle. (4) Traceability requirements for food and feed produced from GMOs should be established to facilitate accurate labelling of such products
↑ "ご指定のページは見つかりませんでした。" . Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2015-03-08. สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .
↑ 417.0 417.1 Food Standards Australia New Zealand (2012). "Labelling of GM Foods" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-04-11. สืบค้นเมื่อ 2013-03-14 .
↑ "Duma approves tougher GMO labeling rules" . RT English .
↑ "Restrictions on Genetically Modified Organisms: China" . loc.gov .
↑ 420.0 420.1 Anne Sewell for the DIgital Journal. Jan 11, 2013 GMO labeling signed into law in India
↑ "3 ปีติดฉลาก GMOs คนไทยยังเสี่ยงอาหารผีดิบ" . ผู้จัดการออนไลน์. 2006-05-12.[ลิงก์เสีย ]
↑
"GMOs การดัดแปรพันธุกรรม" . หมอชาวบ้าน. 2004-10-01.
↑ "Restrictions on Genetically Modified Organisms: Israel" . Library of Congress. สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .
↑ Gruère, Guillaume P.; Rao, S. R. (2007). "A Review of International Labeling Policies of Genetically Modified Food to Evaluate India's Proposed Rule" . AgBioForum . 10 (1): 51–64. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-11-19. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "GM labelling advisory" . Food Standards Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-08-07. สืบค้นเมื่อ 2008-04-07 .
↑
Schiffman, Richard (2012-06-13). "How California's GM food referendum may change what America eats" . The Guardian . London. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10 .
↑ "Support of the Labeling of Genetically Modified Foods" . AMERICAN PUBLIC HEALTH ASSOCIATION. 2001-01-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-10-29. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Gruère, G.P; Rao, S.R. (2007). "A review of international labeling policies of genetically modified food to evaluate India's proposed rule" . AgBioForum. pp. 51–64. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .
↑
Scatasta, Sara; Wesseler, Justus; Hobbs, Jill (2007). "Differentiating the consumer benefits from labeling of GM food products". Agricultural Economics . 37 (2–3): 237–242. doi :10.1111/j.1574-0862.2007.00269.x .
↑
"Want to Know If Your Food Is Genetically Modified? Across the country, an aggressive grassroots movement is winning support with its demands for GMO labeling. If only it had science on its side" . The Atlantic . 2014-05-14.
↑ Van Eenennaam, Alison; Chassy, Bruce; Kalaitzandonakes, Nicholas; Redick, Thomas (2014). "The Potential Impacts of Mandatory Labeling for Genetically Engineered Food in the United States" (PDF) . Council for Agricultural Science and Technology (CAST) . 54 (2014–04). ISSN 1070-0021 . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2014-05-29. สืบค้นเมื่อ 2014-05-28 . To date, no material differences in composition or safety of commercialized GE crops have been identified that would justify a label based on the GE nature of the product.
↑ "Battle Brewing Over Labeling of Genetically Modified Food" . The New York Times . 2012-05-24.
↑ 433.0 433.1 "Labeling of Foods Containing Genetically Engineered Ingredients" . Illinois Public Health Association. 2011. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-26. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ 434.0 434.1 "Supporting Legislation and / or Regulations that Require Clearly Labeling Food with Genetically Engineered Ingredients" (PDF) . Resolution 509 - A11: American Medical Assocation. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2015-09-10. สืบค้นเมื่อ 2015-12-24 .{{cite web }}
: CS1 maint: location (ลิงก์ )
↑ "Conn. bill looks to add labels to engineered food" . Associated Press . 2012-02-22.
↑
Vaughan, Adam (2012-11-07). "Prop 37: Californian voters reject GM food labeling" . London: guardian.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2012-11-07 .
↑
"California General Election, Tuesday, November 6, 2012: Official Voter Information Guide" (PDF ) . State of California. สืบค้นเมื่อ 2012-10-26 .
↑ Connecticut Approves Labeling Genetically Modified Foods
↑
"Initiative to the Legislature 522 Concerns labeling of genetically-engineered foods" . wa.gov .
↑ Gillam, Carey (2013-11-08). "After Washington GMO label battle, both sides eye national fight" . Chicago Tribune . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2013-11-11. สืบค้นเมื่อ 2013-11-10 .
↑ "Editorial: Mandatory labels for genetically modified foods are a bad idea" . Scientific American . 2013-09-06.
↑ Herling Daniel J.; Mintz; Levin; Cohn; Ferris; Glovsky; Popeo, P.C. (2014-01-12). "As Maine Goes, So Goes The Nation? Labeling for Foods Made with Genetically Modified Organisms (GMOs)" . The National Law Review . สืบค้นเมื่อ 2014-03-08 .
↑
"The California Right To Know Genetically Engineered Food Act.SENATE BILL No. 1381" (PDF) . 2014-02-21.
↑
Mintz, Levin, Cohn, Ferris, Glovsky and Popeo, P.C., Daniel J. (2014-03-04). "California Reenters the Genetically Modified Organism (GMO) Food Labeling Arena, This Time Through the Legislature" . The National Law Review . สืบค้นเมื่อ 2014-03-06 . {{cite news }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
"Vermont gov signs law to require labels on GMO foods" . The Burlington Free Press . 2014-05-08.
↑ "Noted Food Safety Expert Michael R. Taylor Named Advisor to FDA Commissioner" . FDA News . 2009-07-07.
↑ 447.0 447.1 Pollack, Andrew (2001-09-04). "Altered Corn Surfaced Earlier" . The New York Times. p. 1.
↑ Prudham, Scott; Morris, Angela (2006). "Making the Market 'Safe' for GM Foods: The Case of the Canadian Biotechnology Advisory Committee" . Studies in Political Economy . 78 : 145–75.
↑ Chen, Mao; Shelton, Anthony; Ye, Gong-yin (2011). "Insect-Resistant Genetically Modified Rice in China: From Research to Commercialization". Annual Review of Entomology . 56 : 81–101. doi :10.1146/annurev-ento-120709-144810 . PMID 20868281 .
↑ McHughen, Alan; Smyth, Stuart (2007). "US regulatory system for genetically modified \genetically modified organism (GMO), rDNA or transgenic crop cultivars". Plant Biotechnology Journal . 6 (1): 071024233955001-???. doi :10.1111/j.1467-7652.2007.00300.x . PMID 17956539 .
↑ "Judge Revokes Approval of Modified Sugar Beets" . The New York Times . 2010-08-13.
↑ "Monsanto et al. v Geertson Seed Farms et al. (Decision no 09-475)" (PDF) . Supreme Court of the United States. 2010-06-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2016-01-13. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "United States Court of Appeals for the Ninth Circuit. No. 10-17719, D.C. No. 3:10-cv-04038-JSW" (PDF ) . United States Court of Appeals. 201-02-25.
↑ "Roundup Ready® Sugar Beet News" . USDA Animal and Plant Health Inspection Service. 2012-08-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-12-01. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "USDA - Roundup Ready® Alfalfa Environmental Impact Statement (EIS)" . United States Department of Agriculture. 2010-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2008-09-24. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "The Federal and State Cases" . SHAKA Movement. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-18. สืบค้นเมื่อ 2015-12-26 .
↑
Joaquin, Tannya (2014-10-07). "Voters to decide on Maui GMO debate in one month" . Hawaii News Now . สืบค้นเมื่อ 2014-10-18 .
↑ Shikina, Robert (2014-11-05). "Voters adopt GMO ban" . Honolulu Star-Advertiser . สืบค้นเมื่อ 2014-11-05 .
↑ "The Regulation of Gmos in Europe and the United States: A Case-Study of Contemporary European Regulatory Politics" . Council of Foreign Relations. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-10-18. สืบค้นเมื่อ 2015-12-26 .
↑ 460.0 460.1 ".S. vs. EU: An Examination of the Trade Issues Surrounding Genetically Modified Food" (PDF) . Pew Initiative on Food and Biotechnology. 2005-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2012-09-27. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ Rao, VS (2015). Transgenic Herbicide Resistance in Plants . CRC Press. p. 351. ISBN 978-1-4665-8738-0 .
↑ "EU GMO ban was illegal, WTO rules" . Euractive.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2008-09-07. สืบค้นเมื่อ 2007-05-23 .
↑
"Approval and Marketing of Biotech Products (Disputes DS291, 292, 293)" (PDF ) . WTO. สืบค้นเมื่อ 2011-10-07 .
↑ Ludwig, Mike (2010-12-021). "WikiLeaks: US Ambassador Planned "Retaliation" Against France Over Ban on Monsanto Corn" . Truthout. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-11. สืบค้นเมื่อ 2011-01-11 .
↑ Stapleton, Craig (2007-12-14). "France and the WTO ag biotech case" . วิกิลีกส์ . แม่แบบ:Cablegate . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-26. สืบค้นเมื่อ 2010-12-26 .
↑ "Majority of EU nations seek opt-out from growing GM crops" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2015-10-07. สืบค้นเมื่อ 2015-10-07 .
↑
"It's Official: 19 European Countries Say 'No' to GMOs" . สืบค้นเมื่อ 2015-10-07 .
↑ 468.0 468.1 468.2 "Baxter wins GM case" . The Land . 2014-05-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ 469.0 469.1 469.2 469.3 469.4 469.5 (CIV%201561%20of%202012)%2028%20May%202014.pdf "Supreme Court of Western Australia Judgement Summary: Marsh v Baxter [2014] WASC 187 (Civ 1561 Of 2012)" (PDF ) . Supreme Court of Western Australia. [ลิงก์เสีย ]
↑ "Steve Marsh and the Bad Seeds" . Global Mail . 2014-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2015-02-24. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"Media statement: Marsh v Baxter appeal" . Slater & Gordon Lawyers. 2014-06-18.
↑ "HISTORIC LOOKUP-803989 Australian Dollar Rates table" . X-RATES. สืบค้นเมื่อ 2019-01-18 .
↑ "GM cost appeal on hold" . Farm Weekly . 2015-03-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"GM canola farmer says Pastoralists and Graziers Association set up 'fighting fund' to 'help with legal costs' " . ABC News (Australia) . 2015-03-28.
↑ 475.0 475.1 475.2
"By 'Editing' Plant Genes, Companies Avoid Regulation" . the New York Times . 2015-01-01.
↑
"US regulation misses some GM crops Gaps in oversight of transgenic technologies allow scientists to test the waters for speciality varieties" . Nature News . 2013-08-20.
↑ "Zambia and Genetically Modified Food Aid. Case Study #4-4 of the Program: "Food Policy for Developing Countries: The Role of Government in the Global Food System" " (PDF) . University of Minnesota. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF ) เมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑ "Agriculture". Asia-Pacific Biotech News . 07 (25): 1613–1620. 2003. doi :10.1142/S0219030303002623 .
↑
Kikulwe, Enoch M.; Wesseler, Justus; Falck-Zepeda, Jose (2011). "Attitudes, perceptions, and trust. Insights from a consumer survey regarding genetically modified banana in Uganda". Appetite . 57 (2): 401–13. doi :10.1016/j.appet.2011.06.001 . PMID 21704665 .
↑
Kikulwe, Enoch M.; Birol, Ekin; Wesseler, Justus; Falck-Zepeda, José (2011). "A latent class approach to investigating demand for genetically modified banana in Uganda". Agricultural Economics . 42 (5): 547–560. doi :10.1111/j.1574-0862.2010.00529.x .
↑ Zerbe, N. (2004-01). "Feeding the famine? American food aid and the GMO debate in Southern Africa" (PDF) . Food Policy . 29 (6): 593–608. doi :10.1016/j.foodpol.2004.09.002 . สืบค้นเมื่อ 2014-10-27 .
↑ "Have India's farm suicides really declined?" .
↑ Jha, P (2006). "Prospective study of one million deaths in India: rationale, design, and validation results" . PLoS Med . 3 (2): e18. doi :10.1371/journal.pmed.0030018 . PMID 16354108 .
↑
Gruère, G; Sengupta, D (2011). "Bt cotton and farmer suicides in India: an evidence-based assessment," . The Journal of Development Studies . 47 (2): 316–337.
↑
Schurman, R (2013). "Shadow space: suicides and the predicament of rural India". ournal of Peasant Studies . 40 (3): 597–601.
↑
Das, A (2011). "Farmers' suicide in India: implications for public mental health" . International Journal of Social Psychiatry . 57 (1): 21–29.
↑ "P Sainath: How states fudge the data on declining farmer suicides" .
↑ Qaim, Matin; Subramanian, Arjunan; Naik, Gopal; Zilberman, David (2006). "Adoption of Bt Cotton and Impact Variability: Insights from India". Review of Agricultural Economics . 28 : 48–58. doi :10.1111/j.1467-9353.2006.00272.x . JSTOR 3700846 .
↑ James, C (2011). "ISAAA Brief 43, Global Status of Commercialized Biotech/GM Crops: 2011" . ISAAA Briefs . Ithaca, New York: International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications (ISAAA). สืบค้นเมื่อ 2012-06-02 .
↑ "onsanto's Bt Cotton Kills the Soil as Well as Farmers" . Global Research.ca Centre for research on Globalization. 200-02-24.
↑ R.M. Bennett, Y. Ismael, U. Kambhampati, and S. Morse (2005-01-26). "Economic Impact of Genetically Modified Cotton in India" . Agbioforum.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2017-08-13. สืบค้นเมื่อ 2013-05-30 . {{cite web }}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑
Subramanian, Arjunan; Qaim, Matin (2010). "The Impact of Bt Cotton on Poor Households in Rural India" . Journal of Development Studies . 46 (2): 295–311. doi :10.1080/00220380903002954 .
↑ Kathage, J; Qaim, M; Qaim (2012-07). "Economic impacts and impact dynamics of Bt (Bacillus thuringiensis) cotton in India" . Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America . 109 (29): 11652–6. Bibcode :2012PNAS..10911652K . doi :10.1073/pnas.1203647109 . PMC 3406847 . PMID 22753493 . CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์ )
↑ "Maharashtra State Revokes Monsanto's Cotton Seed License" . Environment News Servic . 2012-08-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2016-01-18. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22 .
↑
"India says no to first GM food crop" . Agence France-Presse (AFP) . New Delhi. 2010-02-09.
↑
"India puts on hold first GM food crop on safety grounds" . BBC News Online. 2010-02-09. สืบค้นเมื่อ 2010-02-09 .
↑
"Govt says no to Bt brinjal for now" . The Times of India . 2010-02-09. สืบค้นเมื่อ 2010-02-09 .
↑ 498.0 498.1 "GM food labelling comes into force amid fears over 'lack of planning' " . The Daily Mail . London. 2013-01-01. สืบค้นเมื่อ 2013-03-03 .
↑ "Govt regulator paves way for field trials of GM food crops including wheat, rice and maize - The Times of India" . The Times Of India .
แหล่งข้อมูลอื่น
ทั่วไป
ค้าน
สนับสนุน
ภาครัฐ
การแพทย์และวิทยาศาสตร์