ศิธา ทิวารี
นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี (เกิด 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507) ชื่อเล่น ปุ่น เป็นนักการเมืองและอดีตนายทหารอากาศชาวไทย อดีตเลขาธิการ และอดีตประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรคไทยสร้างไทย[1] อดีตผู้ประสานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)[2] อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย และเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 อดีตสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย โดยลาออกจากพรรคไทยสร้างไทยในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566[3] ประวัตินาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 เป็นบุตรของมานพ ทิวารี กับ หม่อมราชวงศ์จารุวรรณ ทิวารี (ราชสกุลเดิม: วรวรรณ) เป็นพระนัดดาของหม่อมเจ้าดุลภากร วรวรรณ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมอินทร์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเซนต์ดอมินิก รุ่นที่ 15, มัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24 (ตท.24) โดยเป็นประธานรุ่น[4] และปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต จากโรงเรียนนายเรืออากาศ ศิธาสมรสกับอาทิกา ท่อแก้ว ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น และมิสมอเตอร์โชว์ ปี 2005[5] เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2550 มีบุตรด้วยกัน 4 คน[6] 1 ในนั้นคือ มินนี่ ศิธรินทร์ ทิวารี การทำงานหลังจากจบการศึกษาเขาได้เข้ารับราชการในสังกัดกองทัพอากาศ เป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ F-5 และ นักบินเครื่องขับไล่ F-16 มีสัญญาณเรียกขานว่า เจแปน (Japan) ซึ่งพ้องกับชื่อเล่นคือปุ่น[7] โดยรับราชการเป็นนักบินกว่า 8 ปี จนได้รับตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากราชการ คือ รองหัวหน้าแผนกแผนร่วม กองนโยบายและแผน กรมยุทธการ กองทัพอากาศ[8] ระหว่างที่รับราชการเคยมีผลงานในวงการบันเทิง เช่น ร่วมแสดงในละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2538 โดยการชักชวนของยุรนันท์ ภมรมนตรี รวมถึงถ่ายแบบนิตยสารและโฆษณา จากนั้นจึงลาออกจากราชการมาลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคไทยรักไทย[9] และได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[10] และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง[11] โดยมีชื่อที่ได้รับการเรียกอย่างไม่เป็นทางการจากสื่อมวลชนและ บุคคลทั่วไปว่า "ผู้พันปุ่น" ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549[12] ภายหลังเขาได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับหน้าที่ผู้ประสานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ต่อมาได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย และเข้าร่วมงานกับพรรคไทยสร้างไทย ในปี พ.ศ. 2565 ศิธา ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ในสังกัดพรรคไทยสร้างไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ปีต่อมาเขาลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งใหญ่เดือนพฤษภาคม ในสังกัดพรรคเดิม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นกัน ภายหลังการเลือกตั้ง ศิธามีบทบาททางการเมืองในสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์ จนได้รับการกล่าวถึงในสังคมออนไลน์และเรียกฉายาว่า "แด๊ดดี้ศิธา"[13] ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2566 นาวาอากาศตรีศิธาได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย[14] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ผลงานละครโทรทัศน์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ลำดับสาแหรก
อ้างอิง
|