Share to:

 

วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์

วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 18 กันยายน พ.ศ. 2551
(0 ปี 210 วัน)
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
ก่อนหน้าไชยา ยิ้มวิไล
ถัดไปณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 (77 ปี)

พลตำรวจโท วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ประวัติ

พลตำรวจโท วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 เป็นบุตรของ พันตำรวจตรี วิจิตร และนางประยูร สุกโชติรัตน์ มีบุตรชายทั้งหมด 2 คน คือ ดร. วรงค์ สุกโชติรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ ดร. ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์

การศึกษา

พลตำรวจโท วิเชียรโชติ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร (รุ่นที่ 8) จบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต (โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 24) โดยระหว่างที่เรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับเลือกเป็นหัวหน้านักเรียนและสอบได้ที่ 1 ประจำรุ่น จึงได้ทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาการบริหารงานยุติธรรม จาก มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกสาขาอาชญาวิทยา จาก Florida State University สหรัฐอเมริกา ซึ่งพลตำรวจโท ดร.วิเชียรโชติ เป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาเอกในสาขาวิชานี้[1]

นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาในประกาศนียบัตรและได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ

  • ประกาศนียบัตรหลักสูตร FBI จากสหรัฐอเมริกา
  • ประกาศนียบัตรนักบริหารชั้นสูงระหว่างประเทศ  จากประเทศออสเตรเลีย โดยทุนรัฐบาลออสเตรเลีย
  • ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.388)
  • ประกาศนียบัตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน (วพน. รุ่นที่ 1) สถาบันวิทยาการ พลังงาน
  • ประกาศนียบัตรหลักสูตร DAP และ DCP จาก IOD (สถาบันกรรมการบริษัทไทย)
  • ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนบพิตรพิมุข
  • นักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น (ประจำปี 2547)
  • ศิษย์เก่าดีเด่นผู้สร้างชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ในโอกาสมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 70 ปี)
  • ศิษย์เก่าผู้ทำคุณประโยชน์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (ระหว่างปี 2545-2547)
  • ได้รับการจารึกชื่อในแผ่นทองของ Hall of Fame โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ว่าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมและมีความประพฤติดีเยี่ยม

การทำงาน

พลตำรวจโท ดร.วิเชียรโชติ เริ่มรับราชการในตำแหน่งนายเวรเลขานุการกรมตำรวจ จนได้รับตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งอาทิ ผู้บังคับการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ ผู้บังคับกองวิจัยและพัฒนา และรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยพลตำรวจโท วิเชียรโชติ มีฉายาที่เพื่อนๆ เรียกคือ “ลูกมหาฯ” เนื่องจากบิดาเป็นอนุศาสนาจารย์และพลตำรวจโท วิเชียรโชติ มีนิสัยชอบเข้าวัด และยังได้ฉายา “หมวดน้ำส้ม” เนื่องจากเป็นคนไม่กินเหล้า

ต่อมาพลตำรวจโท วิเชียรโชติ ได้โอนย้ายมารับตำแหน่งอธิบดีกรมคุมประพฤติ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ชุดปี 2547-2548) ทำให้มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารกระบวนการยุติธรรมรอบด้าน

ในด้านการเมือง เคยดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งด้านวิชาการและบริหารต่างๆ อาทิ

  • กรรมการแห่งชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม (ก.ส.ย.)
  • กรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
  • กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
  • กรรมการอำนวยการ และประธานกรรมการตรวจสอบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
  • กรรมการธนาคาร และกรรมการบรรษัทภิบาลธนาคารกรุงไทย
  • กรรมการร่างแผนพัฒนาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและสวัสดิการสังคม ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • อนุกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน สำนักนายกรัฐมนตรี
  • นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการบริหารและการยุติธรรม ของวุฒิสภา
  • ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการคมนาคม ของวุฒิสภา
  • ผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ผู้บังคับการกองวิจัยและพัฒนา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ผู้บังคับการศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 54[2] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผลงานดีเด่น

  • เป็นคณะทำงานจัดทำโครงสร้างและกฎหมาย ในการปฏิรูประบบราชการของกระทรวงยุติธรรมภายหลังจากศาลยุติธรรมแยกออกไปจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว จนเกิดโครงสร้างใหม่ของกระทรวงยุติธรรมในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม โดยการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในกระทรวงยุติธรรมและจัดกิจกรรมใหม่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นระเบียบที่ครบวงจรตามหลักสากล
  • เป็นหัวหน้าคณะทำงานทำโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้นักเรียนนายร้อยตำรวจเรียนหลักสูตรนิติศาสตร์คู่ขนานกันไปรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเรียนเพิ่มกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกประมาณ 50 หน่วยกิต รวมถึงผู้ที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หลักสูตร 4 ปีไปแล้วทั้งหมดด้วย โดยเริ่มในปีการศึกษา 2544 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อการพัฒนาตำรวจในวิชาชีพสอบสวนและกฎหมายสามารถสอบเป็นเนติบัณฑิตได้
  • เป็นผู้ร่างแผนพัฒนาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เข้าบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2524 และจัดทำแผนกรมตำรวจแม่บทฉบับที 1 สำเร็จ เป็นเหตุให้ตำรวจมีแผนประจำปีและแผนงานโครงการต่างๆ  เกิดขึ้นต่อมา
  • เป็นผู้สร้างและนำระบบ Online Computer เข้าไปใช้ในกองตรวจคนเข้าเมือง โดยขอความร่วมมือจากรัฐบาล Australia เมื่อ พ.ศ. 2526 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มี Online Computer ใช้ในงาน Immigration จนประเทศสิงคโปร์ต้องส่งคนมาขอดูงาน
  • เป็นคณะทำงานปรับปรุงวิทยาการตำรวจจนทำให้เกิดระบบวิทยาการตำรวจที่ทันสมัย
  • เป็นผู้ก่อตั้งกองกำกับการศูนย์ประมวลข่าวสารกรมตำรวจ ซึ่งต่อมายกฐานะเป็น กองบังคับการศูนย์ข้อมูลสนเทศ (ศูนย์ Computer) และได้เป็นผู้บังคับการคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2535

การสอนและผู้บรรยาย

เป็นอาจารย์บรรยายหรือวิทยากรพิเศษทุกสถาบันการศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฯลฯ

คดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปี 2547-2548

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปี 2547-2548 นี้ได้ถูกกล่าวหาว่าได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงประชุมกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลและคณะบุคคลนั้นเป็นความผิด ในขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ขณะนั้น ก็ได้มีการออกระเบียบในลักษณะเดียวกันมาก่อน อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ทั้งหมดก็แสดงเจตจำนงลาออกจากหน้าที่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2547 ในระหว่างการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อมิให้เป็นที่ครหาว่าใช้อำนาจหน้าที่ในการแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรม

ต่อมาเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และพ้นกำหนดรอการลงโทษเมื่อ 26 พฤษภาคม 2550 ท่ามกลางข้อกังขาว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกระเบียบลักษณะเดียวกันก่อนหน้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับไม่ได้รับการตัดสินว่าผิด โดย พล.ต.อ.วศิษฐ เดชกุญชร คอลัมน์นิสต์ชื่อดังในสมัยนั้น ได้เขียนลงหนังสือพิมพ์มติชนโดยตั้งข้อสันนิษฐานว่าคดีนี้เกิดจากกระบวนการที่ต้องการล้มล้างคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้โดยกลุ่มบุคคลที่ถูกสอบสวนโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้และอาจถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้หยุดทำงานจนคดีหมดอายุความ

ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2550 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้างมลทินเสมือนไม่เคยมีความผิดตามกฎหมาย โดยมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อพ.ศ. 2550

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. ประวัติส่วนตัว วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์
  2. เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๑๘๗, ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗
ก่อนหน้า วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ถัดไป
ไชยา ยิ้มวิไล
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - 18 กันยายน พ.ศ. 2551)
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya