สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล (เกิด 27 เมษายน พ.ศ. 2494) อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง 9 สมัย อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ปัจจุบันสังกัดพรรคภูมิใจไทย และเป็นบิดาของภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ประวัติสมศักดิ์ เกิดวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2494 ที่ตำบลห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีชื่อเล่นว่า "หมู" จึงมักถูกเรียกว่า "ตือ" หรือ "เสี่ยตือ" ในเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย ด้านครอบครัวสมรสกับนางรวีวรรณ ปริศนานันทกุล (สกุลเดิม: ฉัตรบริรักษ์) มีบุตร-ธิดา 4 คน ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง และสส.อ่างทอง เขต 2, นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง เขต 1, นายภคิน ปริศนานันทกุล อดีต สส.อ่างทอง และนางสาวธนยา ปริศนานันทกุล จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี ระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และระดับปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเมืองนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอ่างทอง 9 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เคยดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2538 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2540 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2542 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล มีบทบาทโดดเด่นจากการทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าทำหน้าที่ได้อย่างดี เป็นธรรม เป็นกลางแก่ทุกฝ่ายมติสื่มวลชนสายรัฐสภา ให้ฉายาว่า "คนดีศรีสภา" ต่อมา พ.ศ. 2551 นายสมศักดิ์ ได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[1] เมื่อ พ.ศ. 2551 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย[2] ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค แต่นายสมศักดิ์ ก็ยังนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม ส.ส. ซึ่งสื่อมวลชนให้ชื่อกลุ่มแกนนำนี้ว่า "8ส.+ส.พิเศษ" อันประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สุวิทย์ คุณกิตติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สนธยา คุณปลื้ม และสรอรรถ กลิ่นประทุม ส่วน ส.พิเศษ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์[3] ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 3[4] เมื่อ พ.ศ. 2561 เขาได้ลาออกจากพรรคชาติไทยพัฒนา แล้วไปสมัครสมาชิกพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับทายาท 3 คน ในปีเดียวกัน คดีความเมื่อ พ.ศ. 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นร้องต่อศาลว่านายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลตัดสินให้ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี[5] ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ โดยให้ยึดบ้านที่ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มูลค่าประมาณ 16,000,000 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน[6][7] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|