แผนฟินแลนด์
แผนฟินแลนด์ หรือ ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ หรือ ปฏิญญาฟินแลนด์ เป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกโดยปราโมทย์ นาครทรรพ ทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในบทความของปราโมทย์ นาครทรรพ ระบุว่า แผนนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ที่ประเทศฟินแลนด์ กล่าวหาว่าทักษิณ ชินวัตรได้สมคบคิดกับอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อล้มล้างราชวงศ์จักรี ยึดอำนาจการปกครองราชอาณาจักรไทย ก่อตั้งสาธารณรัฐคอมมิวนิสต์ และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทฤษฎีนี้ได้ส่งผลกระทบในด้านลบ และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของทักษิณ แม้ไม่เคยมีผู้ใดแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าแผนสมคบคิดนี้มีจริง ทักษิณและอดีตผู้นำและผู้ร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ปฏิเสธในเวลาต่อมาว่าแผนสมคบคิดนี้ไม่มีจริง และฟ้องร้องดำเนินคดีกับปราโมทย์ นาครทรรพ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองซึ่งก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ได้อ้างแผนการดังกล่าวเป็นสาเหตุของรัฐประหาร[1] จนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกปราโมทย์ นาครทรรพเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณาจากกรณีดังกล่าว เบื้องหลังการประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรขยายวงกว้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2548-2549 โดยมีหลายปัจจัยประกอบกันเป็นเหตุผลในการขับไล่ รวมไปถึงการปรากฏตัวในพิธีทำบุญที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 การยกเลิกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ซึ่งมีสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นผู้ดำเนินรายการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 แผนที่จะส่งมอบการควบคุมโรงเรียนรัฐบาลให้แก่ประชาคมท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 การขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 และการกล่าวหาว่าทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำลายศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549[2][3][4][5][6] ทฤษฎีสมคบคิดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ก่อนหน้างานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นเจ้าของนั้น ได้ตีพิมพ์รายละเอียดของทฤษฎี "แผนฟินแลนด์" "ปฏิญญาฟินแลนด์" หรือ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์" ซึ่งเนื้อหาในบทความกล่าวหาว่าทักษิณ ชินวัตรและอดีตผู้นำนักศึกษาในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงพุทธทศวรรษ 2510 ได้พบปะกันในประเทศฟินแลนด์ใน พ.ศ. 2542 เพื่อริเริ่มแผนการเพื่อจัดตั้งการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียว ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐและจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด บทความ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนเปลี่ยนการปกครองไทย ?" ความยาว 5 ตอน เขียนขึ้นโดยปราโมทย์ นาครทรรพ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 17, 19, 22, 23 และ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณได้ขยายรวมไปถึงสมาชิกพรรคไทยรักไทยคนอื่นด้วย ได้แก่ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, จาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี, สุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, อดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้งหมดเคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา[7] ทฤษฎีดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมไปถึงผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกวุฒิสภา โสภณ สุภาพงษ์ นักเขียน และผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ถาวร เสนเนียม[8][9] อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวไม่มีหลักฐานยืนยันเพื่อสนับสนันการกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด สนธิกล่าวว่าแหล่งข่าวของเขาเป็นผู้ "เอาใจออกห่าง" ในพรรคไทยรักไทย[10] รายละเอียดเนื้อหาของแผนฟินแลนด์ ระบุว่าทักษิณ ชินวัตรได้สมคบคิดกับอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยึดอำนาจการปกครอง และก่อตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ ประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงในแผนฟินแลนด์ ประกอบด้วย
การดัดแปลงและการปฏิเสธจากทฤษฎีดั้งเดิม ได้มีการดัดแปลงทฤษฎีดังกล่าวเป็นอื่นด้วย รวมไปถึงการอ้างว่าแผนการนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มโพ้นทะเลซึ่งมีเจตนาจะล้มล้างราชวงศ์จักรี การอ้างว่าการยุบรวมสื่อเป็นองค์ประกอบหลักของทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว การอ้างว่าแผนการดังกล่าวมีเจตนาที่จะรักษารูปแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จนเหลือเพียงในนามเท่านั้น และการอ้างว่ากฎหมายได้รับการออกแบบมาเพื่อการกระจายอำนาจการปกครองออกจากศูนย์กลางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ของไทยเพิ่มยิ่งขึ้น และการอ้างว่าทักษิณต้องการสถาปนารัฐบาลตามรูปแบบของประเทศประชาธิปไตยตะวันตก[12][9] การดัดแปลงอีกแบบหนึ่งอ้างว่าผู้สมรู้ร่วมคิดกับทักษิณเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ภูมิธรรม เวชยชัย และได้ปรับใช้ทฤษฎีของมาร์กซิสต์ดั้งเดิมเพื่อกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักไทยในการส่งเสริมทุนนิยม การอ้างดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยระหว่างพุทธทศวรรษ 2510 ยังคงเป็นสังคมกึ่งศักดินา และมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมทุนนิยมอันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์ได้ทำงานร่วมกับทักษิณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยเต็มตัว ทำลายสิ่งที่เหลือของยุคศักดินา และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในขณะเดียวกับที่สร้างเผด็จการพรรคการเมืองเดียว เพื่อที่จะสร้างเผด็จการสังคมนิยมในอนาคต[13] การกล่าวหาดังกล่าวถูกปฏิเสธจากทักษิณ ชินวัตร และผู้นำพรรคไทยรักไทย รวมไปถึงสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีและพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช[8][14] ผลที่ตามมาการกล่าวหาได้ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความนิยมของทักษิณและรัฐบาล ทักษิณจำต้องใช้เวลาและทุนทางการเมืองของตน เพื่อป้องกันความเสียหาย โดยอธิบายจุดยืนของเขา และสาบานว่าเขาจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์[15] ในบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านทักษิณทรงอิทธิพล เดอะ เนชั่น เขียนว่า
เดอะ เนชั่นยังได้กล่าวต่อไปว่าแผนฟินแลนด์ ไม่ว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่การอุทธรณ์ของราชวงศ์กลาย ๆ ก็เพียงพอที่จะสร้างความเสียหายแก่พรรคไทยรักไทย[17] นักวิจารณ์หลายคนได้เปรียบเทียบความคล้ายกันระหว่างการกล่าวหาแผนการฟินแลนด์กับการกล่าวหาที่ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามการเดินขบวนนักเรียนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งในบริบทของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นอาจสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อรัฐประหาร[18][19][20] กองทัพไทยประสบความสำเร็จในการรัฐประหารโค่นรัฐบาลทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งหนึ่งในคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองได้อ้างเหตุผลของรัฐประหารว่าทักษิณหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์[1] การฟ้องร้องและคำตัดสิน30 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ทักษิณ ชินวัตรพร้อมกับธนา เบญจาธิกุล ทนายความจากพรรคไทยรักไทย ได้ยื่นฟ้องสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการ ขุนทอง ลอเสรีวานิช คอลัมนิสต์ ปราโมทย์ นาครทรรพ ผู้บริหาร เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรงค์ และเว็บมาสเตอร์ ปัญจภัทร อังคสุวรรณ ในข้อหาหมิ่นประมาท การฟ้องร้องมีเนื้อหากล่าวหาว่าบทความดังกล่าวมีเจตนาทำลายพรรคไทยรักไทยและอนาคตทางการเมืองของทักษิณโดยการทำให้สาธารณชนเชื่อว่าพรรคมีแผนการล้มล้างราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การฟ้องร้องดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และอ้างว่าทักษิณพยายามเซ็นเซอร์สื่อ[7] คดีแผนฟินแลนด์มีความคืบหน้าที่ศาลอาญา โดยในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พยานโจทย์ได้ประกาศชื่อพยานฝ่ายโจทก์จำนวน 12 คน ระบุชื่อ สุขุม นวลสกุล เป็นพยานปากที่ 1 ร้อยตำรวจเอก นิติภูมิ นวรัตน์ เป็นพยานปากที่ 2 สมัคร สุนทรเวช เป็นพยานปากที่ 4 พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ เป็นพยานปากที่ 6[21] 25 มีนาคม พ.ศ. 2552 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1747/2549 ที่ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสนธิและพวกเป็นจำเลยรวม 11 คน โดยมีความเห็นว่า แม้จะมีการกล่าวถึงปฏิญญาฟินแลนด์ แต่ไม่มีการยืนยันว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะมีจริงหรือไม่ ซึ่งแม้การกล่าวเสวนาของจำเลยจะใช้ถ้อยคำที่เกินเลยไปบ้าง แต่ก็เป็นไปในลักษณะของการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะ ตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้ง 11 ราย[22] วันเดียวกัน ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.1818/2549 ที่ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องปราโทย์ นาครทรรพและบริษัท แมเนเจอร์ มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 5 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา กรณีการพิมพ์บทความ "ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนเปลี่ยนการปกครองไทย ?" ศาลพิพากษาให้จำคุกนายปราโมทย์ และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนจำเลยคนอื่น ศาลให้ยกฟ้องเพราะเห็นว่าไม่มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว[23] วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.1818/2549 ที่ศาลชั้นต้นพิจารณายกฟ้อง โดยโจทก์ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย ทั้งนี้ เพราะปราโมทย์ นาครทรรพ จำเลย กำลังพักรักษาตัวอยู่ที่ต่างประเทศ แพทย์ไม่อนุญาตให้เดินทางกลับ ศาลพิเคราะห์เห็นว่าจำเลยดังกล่าวมีเหตุจำเป็นและคู่ความทั้งหมดไม่คัดค้าน จึงนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม[24] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|