จำลอง ศรีเมือง
พลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตนักการเมือง และ อดีตนายทหารบกชาวไทย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ 2 สมัย ผู้ก่อตั้ง และอดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมคนแรก เป็นแกนนำของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 มีชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหาจำลอง" หรือ "มหา 5 ขัน" ขณะที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเรียกว่า "ลุงจำลอง" ประวัติจำลอง ศรีเมือง เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ที่ย่านสำเหร่ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันเป็นแขวงสำเหร่ เขตธนบุรี) บิดามีอาชีพค้าปลาสดชื่อ สมนึก ชุณรัตน์ ส่วนมารดาชื่อ บุญเรือน ประกอบอาชีพแม่ค้าเร่ ตั้งแต่ พล.ต. จำลอง ยังแบเบาะบิดาได้เสียชีวิตลง และต่อมามารดาได้สมรสใหม่กับ โชศน์ ศรีเมือง ซึ่งเป็นที่มาของนามสกุล ศรีเมือง ที่ พล.ต. จำลอง ใช้ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ กับชื่อเล่น จำลองนั้นเดิมมีชื่อเล่นว่า “หนู” แต่พอเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็ถูกเพื่อนฝูงตั้งให้ใหม่ว่า “จ๋ำ” ขณะที่ชื่อ “ลอง” นั้น เป็นชื่อเล่นที่คนอื่น ๆ ทั่วไปมักใช้เรียกขาน ส่วนที่มีคำว่า “มหา” เรียกก่อหน้าชื่อ เพราะ พล.ต. จำลอง เป็นผู้ที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม เมื่อครั้งอุปสมบทก็ศึกษาทางธรรมอย่างจริงจัง และเคยออกมาระบุว่าตนเองปฏิบัติตนสมถะ นอนไม้กระดานแผ่นเดียว แม้แต่การอาบน้ำก็จะใช้น้ำเพียง 5 ขัน จึงได้ฉายาว่า “มหา 5 ขัน” และมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ สวมเสื้อม่อฮ่อมเป็นประจำ โดยสวมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 และไว้ผมสั้นเกรียน ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ พ.ต.หญิง ศิริลักษณ์ เขียวละออ โดยที่ไม่มีบุตรด้วยกัน ภายหลังได้ร่วมกันทำกิจกรรมสังคมหลาย ๆ อย่าง ทั้งด้านการปฏิบัติธรรม เรื่องการกินอาหารมังสวิรัติ ดูแลสุนัขจรจัด รวมถึงจัดตั้งโรงเรียนผู้นำ และจำลอง เป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่ามีความใกล้ชิดและเป็นสมาชิกคนสำคัญของสำนักสันติอโศก การศึกษาพล.ต. จำลอง เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทศบาล 27 วัดราชวรินทร์ สำเหร่ ซึ่งปัจจุบันคือโรงเรียนวัดราชวรินทร์ สังกัดกรุงเทพมหานครจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2490 จึงได้สอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของฝั่งธนบุรีในขณะนั้น โดยสามารถสอบคัดเลือกได้ที่ 1 และสามารถสอบไล่ได้ที่ 1 ทุกปีจนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2496 พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ได้สอบเข้าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมนายร้อยและโรงเรียนเตรียมนายเรือ ซึ่งพล.ต. จำลอง ศรีเมือง สามารถสอบเข้าได้ทั้ง 3 แห่ง โดยเฉพาะที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยสามารถสอบเข้าได้ที่ 1 แต่ด้วยการเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยจะประหยัดกว่า เพราะเป็นนักเรียนนายร้อยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าเครื่องแต่งกาย รวมถึงถ้าเรียนเก่งก็จะได้รับเงินเดือนด้วย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง จึงเลือกเข้าศึกษาที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยและต่อด้วยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7 หลังเรียนจบชั้น ม.6 จำลอง จึงตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยที่ก็สอบได้ และจบ จปร.รุ่น 7/2 เนื่องจากสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยจำลอง กับพวกไปจัดฉายภาพยนตร์หารายได้ซื้ออุปกรณ์กีฬาและดนตรีเข้าสโมสรนักเรียนนายร้อย แต่การกระทำดังกล่าวไปผิดในข้อหาขัดคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งขณะนั้นคือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงถูกปลดจากหัวหน้านักเรียนนายร้อยเป็นนักเรียนลูกแถว และถูกลงโทษให้รับกระบี่ช้าออกไป ไม่พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น ๆ ราชการทหารต่างประเทศเวียดนามหลังจากจบการศึกษาแล้ว ใน พ.ศ. 2511 ในระหว่างสงครามเวียดนาม จำลองในขณะมียศ ร้อยเอก สังกัดเหล่าทหารสื่อสาร ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายยุทธการ กองพลทหารอาสาสมัคร (ผลัดที่ 3) ลาวได้เข้าไปปฏิบัติการพิเศษในประเทศลาว ณ ยุทธภูมิภูผาที ในชื่อรหัสว่า"โยธิน"มีวีรกรรมในการป้องกันสถานีเรดาห์จากการยึดครองของคอมมิวนิสต์จนได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษภูผาที"[1] ชีวิตนักการเมืองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำลอง เริ่มชีวิตทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขกฎหมายทำแท้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำลอง มีชื่อเสียงโดดเด่นขึ้นมาหลังจากลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2528 เบอร์ 8 ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” โดยชนะได้รับคะแนนเสียง 408,233 คะแนน ถึงขนาดที่วงคาราบาว แต่งเพลงให้ชื่อ "มหาจำลองรุ่น 7" การชนะการเลือกตั้งในสมัยนั้นทำให้ท่านได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่เกิดในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครก่อนผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่เกิดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านอื่นๆ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 จึงก่อตั้ง พรรคพลังธรรม ขึ้น โดยสื่อมักเรียกขานกันว่าเป็น “พรรคพลังผัก” เนื่องจากสนับสนุนให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินอาหารมังสวิรัติ กระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลองในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นกระแส “จำลองฟีเวอร์” และเรียกกันติดปากว่า "มหาจำลอง" ชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า ฯ อีกสมัยในปี พ.ศ. 2533 โดยได้รับคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยคือ นายเดโช สวนานนท์ ถึง 419,894 คะแนน แต่ก่อนที่จะครบวาระ 4 ปี ก็ลาออก และผันตัวเองสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ พฤษภาทมิฬในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคพลังธรรมได้รับคะแนนความนิยมสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพ ฯ โดยสามารถกวาดที่นั่งได้ถึง 32 ที่นั่งจาก 35 ที่นั่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จำลอง เป็นแกนนำคนสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล พล.อ. สุจินดา คราประยูร โดยถูกจับกุมตัวกลางที่ชุมนุมเมื่อบ่ายวันทื่ 18 พฤษภาคม และในวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสองเข้าเฝ้า โดยมีพระราชดำรัสสำคัญถึงการต่อสู้กันรังแต่จะทำให้บ้านเมืองพินาศ[2] หลังจากนั้น จำลอง ก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองตามที่เคยได้ให้สัญญาไว้เมื่อครั้งชุมนุม ซึ่งหลังจากนี้ได้มีกระแสเสียงกล่าวหาว่า "จำลองพาคนไปตาย" จากฝ่ายตรงข้าม ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จำลอง ศรีเมือง ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 50 และได้ให้การสนับสนุน กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อจากตน จำลองเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟฟ้าธนายง สายสุขุมวิท และสายสีลม โดยมอบหมายให้ กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ทำการศึกษาเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ถูกยกเลิกไปในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และให้สัมปทานแก่บริษัท ธนายง ทำการก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลียนไทย รถไฟฟ้าธนายง เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยที่มีการก่อสร้าง ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น รถไฟฟ้าบีทีเอส มีชื่อทางการว่า รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เปิดการเดินรถเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 จำลอง ศรีเมือง ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีพร้อมกับรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบาย สปก. 4-01 ของพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้ ชวน หลีกภัย ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้น สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตรจากนั้นเมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรก ก็ด้วยการสนับสนุนของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง. โดยในปี 2537 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสังกัดพรรคพลังธรรมของพล.ต. จำลอง อีกด้วย. พล.ต. จำลอง มีภาพของการเป็นผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมา. จากนั้น พล.ต.จำลอง ก็ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพ ฯ อีกสมัยในปี พ.ศ. 2539 แต่ทว่าคราวนี้ พล.ต. จำลอง ไม่อาจชนะการเลือกตั้งได้เหมือนเมื่ออดีต เมื่อเป็นฝ่ายพ่ายการเลือกตั้งไปอย่างขาดลอย โดยแพ้ให้แก่ นายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้สมัครด้วยกัน. จากนั้นมาบทบาททางการเมืองของ พล.ต. จำลอง ศรีเมืองก็ค่อย ๆ ลดลง โดยเจ้าตัวได้ก่อตั้งโรงเรียนผู้นำ อบรมบุคลากรที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมต่อไปในอนาคตขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อย่างสมถะอยู่ที่นั่น[3] แต่เมื่อมีข่าวคราวเกี่ยวกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พล.ต. จำลอง ก็ยังคงเป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่ เช่น คดีซุกหุ้น พล.ต. จำลอง ก็เป็นหนึ่งบุคคลที่เข้าร่วมฟังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในห้องพิพากษาด้วย. พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ. 2547 เมื่อเป็นผู้สนับสนุน นายมานะ มหาสุวีระชัย ผู้สมัครอิสระเบอร์ 5 อดีต ส.ส.พรรคพลังธรรม และประชาธิปัตย์ แต่นายมานะก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[4] จากนั้น พล.ต. จำลอง ก็ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อเป็นผู้ประท้วงไม่ให้เบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้น โดยเจ้าตัวอ้างเพื่อเหตุศีลธรรมของสังคม[5] เข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในสถานการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 จำลอง ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 5 แกนนำเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแกนนำอีก 4 คนคือ สนธิ ลิ้มทองกุล พิภพ ธงไชย สมศักดิ์ โกศัยสุข และ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ โดยมี สุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย จำลอง ได้เปิดแถลงข่าวเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเวลาต่อมา ในระหว่างการชุมนุม 193 วัน เมื่อปี พ.ศ. 2551 พล.ต.จำลอง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ขณะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ถนนพระราม 5 เขตดุสิต เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม จำลอง มีบทบาทในการดูแลการชุมนุมและความปลอดภัย เนื่องจากเคยเป็นผู้นำในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มักจะเรียกร้องให้ผู้ขึ้นเวทีปราศรัยนั้นใช้วาจาที่สุภาพ ไม่ก้าวร้าว จนถึงขนาดเคยตำหนิ นายภูวดล ทรงประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวร่วมคนหนึ่งของพันธมิตรฯ บนเวทีมาแล้ว หลังจากที่นายภูวดลปราศรัยเสร็จ [6] ภายหลังการชุมนุมเสร็จสิ้น ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้น พล.ต.จำลองไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคด้วย แต่กล่าวว่าจะให้การสนับสนุนเต็มที่[7][8] เบ็ดเตล็ด
รางวัลและเกียรติยศพล.ต. จำลอง ศรีเมือง ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนเป็นนายกองเอก เมื่อ พ.ศ. 2529[9] เครื่องราชอิสริยาภรณ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
อ้างอิง
ดูเพิ่มแหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ จำลอง ศรีเมือง
|