ประเทศปาปัวนิวกินี
ปาปัวนิวกินี (อังกฤษ: Papua New Guinea; ตอกปีซิน: Papua Niugini; ฮีรีโมตู: Papua Niu Gini) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี[11] (อังกฤษ: Independent State of Papua New Guinea; ตอกปีซิน: Independen Stet bilong Papua Niugini; ฮีรีโมตู: Independen Stet bilong Papua Niu Gini) เป็นประเทศในแถบโอเชียเนีย เป็นพื้นที่ทางตะวันออกของเกาะนิวกินี (พื้นที่ทางตะวันตกเป็นของประเทศอินโดนีเซีย) ตั้งอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย และอยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะโซโลมอน มีเมืองหลวงซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้คือพอร์ตมอร์สบี เป็นประเทศเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกด้วยพื้นที่ 462,840 ตารางกิโลเมตร (178,700 ตารางไมล์)[12] และเป็นประเทศสังเกตการณ์ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตั้งแต่ ค.ศ. 1976[13] หลังจากถูกปกครองโดยมหาอำนาจภายนอก 3 ชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427 ปาปัวนิวกินีได้ก่อตั้งอธิปไตยของตนขึ้นในปี 2518 หลังอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลียร่วม 60 ปี ซึ่งเริ่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปาปัวนิวกินีได้กลายเป็นอาณาจักรที่เป็นอิสระในปี 2518 โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุข และกลายเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ ปาปัวนิวกินีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก โดยมีภาษาในประเทศเท่าที่รู้จักถึง 851 ภาษา ในจำนวนนี้มี 11 ภาษาที่ไม่มีผู้พูดอีกต่อไป[5] และยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพื้นที่ชนบทมากที่สุด เนื่องจากมีเพียง 13.25% ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในใจกลางเมืองใน ค.ศ. 2019[14] ประชากรส่วนใหญ่มากกว่า 8,000,000 คนอาศัยอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งมีความหลากหลายพอ ๆ กับภาษา[15] ประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสำรวจน้อยที่สุดในเชิงวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ และเป็นที่เชื่อกันว่ายังมีชนเผ่าท้องถิ่นรวมถึงพันธุ์พืชและสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการค้นพบจำนวนมาก[16] ปาปัวนิวกินีจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ[17] เกือบ 40% ของประชากรใช้ชีวิตตามธรรมชาติโดยไม่สามารถเข้าถึงโลกภายนอกได้[18] คนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการทำฟาร์ม ค้าขาย และเกษตรกรรม วิถีชีวิตทางสังคมของพวกเขาผสมผสานศาสนาดั้งเดิมเข้ากับแนวปฏิบัติสมัยใหม่ รัฐบาลปกป้องและให้ความสำคัญต่อชีวิตในชุมชนท้องถิ่น ปาปัวนิวกีนิเป็นสมาชิกของ ประชาคมแปซิฟิก, The Pacific Islands Forum[19] และเครือจักรภพแห่งประชาชาติ[20] นิรุกติศาสตร์ศัพท์ papua มีที่มาจากศัพท์พื้นเมืองเก่าที่ไม่ทราบต้นกำเนิด[21] ส่วน "New Guinea" (Nueva Guinea) เป็นศัพท์บัญญัติที่ Yñigo Ortiz de Retez นักสำรวจจักรวรรดิสเปนสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1545 เนื่องจากเขาสังเกตเห็นว่าผู้คนในเกาะนี้มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมคล้ายกับผู้คนที่เขาเคยเห็นบริเวณชายฝั่งกินีของทวีปแอฟริกา และคำว่า กินี ยังมีรากศัพท์มาจากภาษาโปรตุเกส Guiné ซึ่งหมายถึง "ดินแดนแห่งคนผิวดำ" ประวัติศาสตร์หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า มนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะนิวกินีประมาณ 42,000 ถึง 45,000 ปีก่อน คาดว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพออกจากทวีปแอฟริกา[22] นักเดินเรือชาวโปรตุเกสและสเปนเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ในปี 2427 (ค.ศ. 1884) เยอรมันได้เข้ายึดภาคตะวันออกเหนือของเกาะ รวมทั้งเกาะบูเกนวิลล์ (Bougainville) และในปี 2431 (ค.ศ. 1888) สหราชอาณาจักรได้เข้ายึดครองในส่วนใต้ของเกาะ เรียกว่า British New Guinea ส่วนเยอรมนีเข้าครอบครองส่วนเหนือของเกาะอย่างสมบูรณ์ในปี 2442 (ค.ศ. 1899) และเรียกส่วนนี้ว่า German New Guinea จากนั้นในปี 2457 (ค.ศ. 1914) กองทัพออสเตรเลียได้เข้ายึดครองส่วนที่เป็น German New Guinea และปกครองเกาะทั้งสองส่วนจนกระทั่งปี 2484 (ค.ศ. 1941) ญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดและเป็นผู้ปกครองเกาะจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 (ค.ศ. 1945) จากนั้น ในปี 2492 (ค.ศ. 1949) ปาปัวและนิวกินีตกอยู่ในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติภายใต้ The Papua and New Guinea Act โดยมีออสเตรเลียเป็นผู้ดูแล และเรียกดินแดนนี้ว่า Territory of Papua and New Guinea ต่อมา ในปี 2515 (ค.ศ. 1972) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea) พร้อมทั้งจัดการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐมนตรีคือ Sir Micheal Somare ซึ่งเป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราชจากออสเตรเลีย และทำให้ปาปัวนิวกินีได้รับเอกราชในปี 2518 (ค.ศ. 1975) การเมืองระบบรัฐสภาเป็นแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเดียว[23] เรียกว่า “รัฐสภาแห่งชาติ” (National Parliament) ปัจจุบันมีสมาชิก 109 คน โดย 89 คนมาจากการเลือกตั้งทั่วไป (open electorates) และที่เหลืออีก 20 คน มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด (provincial electorates) วาระ 5 ปี รูปแบบการปกครอง แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับชาติ (National) ระดับจังหวัด (Provincial) และระดับท้องถิ่น (Local) รัฐบาลท้องถิ่น (Provincial Government) ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง โดยรัฐบาลกลางจะแทรกแซงกิจการด้านการบริหาร การคลัง และอื่น ๆ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการโดยอิสระ[24] ภูมิศาสตร์ด้วยขนาด 462,840 ตารางกิโลเมตร (178,704 ตารางไมล์) ทำให้ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 54 ของโลก และประเทศที่เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3[12] ตั้งอยู่ทิศเหนือของประเทศออสเตรเลีย ทิศตะวันตกติดกับประเทศอินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินีมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ และมีภูเขาและภูเขาไฟจำนวนมาก พื้นที่ราบเป็นป่าดิบชื้น และทุ่งหญ้าสะวันนา พืชสำคัญคือ มะพร้าว ปาล์ม และเตย เศรษฐกิจประเทศปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล ทองคำ ทองแดง น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ รายได้หลักของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมการประมง เหมืองทองแดง เหมืองทองคำ และการท่องเที่ยว ส่วนด้านเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกกาแฟ โกโก้ และมะพร้าว ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศนิวซีแลนด์ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ น้ำมันดิบ กาแฟ ทองแดง ซุง กาแฟ และสัตว์ทะเล ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง ส่วนประกอบรถยนต์ อาหาร และเชื้อเพลิง รัฐบาลควบคุมสถานะการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจได้รับผลดีจากผลผลิตเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ ทอง น้ำมันดิบ ทองแท่ง เป็นผลให้การส่งออกในช่วงไตรมาสของปีขยายตัวร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่าในปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลและเศรษฐกิจโดยรวมจะเติบโตในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม ในเดือน มี.ค. 2549 UN ได้เสนอปรับสถานะการพัฒนาของปาปัวนิวกินีจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ซึ่ง นรม. Sir Michael ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขยายการส่งออก (Export-led economy) แสวงหาความร่วมมือกับประเทศในเอเชีย (look north) และมีบทบาทนำในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก (Work Pacific) การลงนามความตกลงทางการค้ากับนิวซีแลนด์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ทำให้ปาปัวนิวกินีส่งออกสินค้าเกษตร เช่น มะพร้าว เผือก ขิง ไปยังตลาดนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ปาปัวนิวกินียังได้รับโควตาการส่งออกปลาทูน่าไปยังตลาด EU เพิ่มขึ้น ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าของเอเปกครั้งที่ 12 ปาปัวนิวกินีตอบรับที่จะยกเลิกการอุดหนุนสินค้าส่งออกทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2556 ประชากรปาปัวนิวกินี ประกอบด้วยชนหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ชาวเมลานีเชีย ปาปัว เนกริด ไมโครนีเชีย และพอลินีเชีย มีภาษาทางการเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่มีคนพูดได้น้อย ส่วนมากจะพูดตอกปีซินซึ่งเป็นภาษาครีโอล แต่อย่างไรก็ตาม ประชากรประเทศนี้มีประมาณ 5 ล้านคน และมีภาษามากกว่า 800 ภาษา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นหลัก แต่ก็มีลัทธิศาสนาตามความเชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย อายุขัยเฉลี่ยในปาปัวนิวกินีคือ 64 ปีสำหรับผู้ชาย และ 68 ปีสำหรับผู้หญิง[25] การใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านสุขภาพในปี 2014 คิดเป็น 9.5% ของการใช้จ่ายทั้งหมด มีแพทย์ห้าคนต่อประชากร 100,000 คนในช่วงต้นทศวรรษ 2000 อัตราการตายของมารดาในปี 2010 ต่อการเกิด 100,000 คนในปาปัวนิวกินีคือ 250 เมื่อเปรียบเทียบกับ 311.9 ในปี 2551 และ 476.3 ในปี 2533 อัตราการเสียชีวิตอายุต่ำกว่า 5 ปี ต่อการเกิด 1,000 คนคือ 69 ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศขาดโอกาสทางการศึกษา[26] และเป็นประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำเป็นอันดับต้น ๆ วัฒนธรรมประเทศปาปัวนิวกินีประกอบไปด้วยชนเผ่าเป็นจำนวนมาก มีภาษากว่า 800 ภาษาทำให้มีสังคมแบบชนเผ่าอย่างมากในประเทศ ทำให้มีประเพณีที่แตกต่างกันถึง 200 ประเพณี เช่น เหล่าชาวบ้านชนเผ่าซิมบูรวมตัวกันแปลงร่างเป็นมนุษย์โคลน มาร่วมงานเทศกาลแสดงวัฒนธรรมประจำปี ครั้งที่ 46 ในเมืองเมาท์ ฮาเกน งานนี้เป็นการรวมตัวของชนเผ่าในประเทศปาปัวนิวกินีทั้งหมด ที่จะนำเอกลักษณ์และความโดดเด่นเฉพาะตัวมาแสดงแลกเปลี่ยนกัน ถือว่าเป็นงานรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดงานหนึ่งของโลก อาหารของปาปัวนิวกินีเป็นอาหารที่หลากหลายแบบดั้งเดิมที่พบในภาคตะวันออกของเกาะนิวกินี ประชากรประมาณ 80% พึ่งพาการเกษตรแบบยังชีพดังนั้น พลังงานอาหารและโปรตีนที่บริโภคในปาปัวนิวกินีมีการผลิตในท้องถิ่นในขณะที่มีการนำเข้าที่สมดุล อาหารหลักในปาปัวนิวกินีรวมถึงพืชรากกล้วยและสาคู และอาหารทะเลโดยเฉพาะปลาดิบ การคมนาคมการคมนาคมในประเทศปาปัวนิวกินีถูกจำกัดอย่างมากด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขา การเดินทางด้วยเครื่องบินจึงเป็นการเดินทางที่สำคัญในปาปัวนิวกินี เมืองหลวงพอร์ตมอร์สบีไม่มีถนนเชื่อมต่อถึงเมืองใหญ่อื่นๆ และหลายหมู่บ้านบนภูเขาสามารถเดินทางไปได้ด้วยเครื่องบินเล็กหรือเดินเท้าเท่านั้น ท่าอากาศยานนานาชาติแจ็คสันส์เป็นท่าอากาศยานหลักของปาปัวนิวกินี อยู่ห่างจากพอร์ตมอร์สบี 8 กิโลเมตร ประเทศปาปัวนิวกินีมีสนามบิน 561 สนามบิน โดยมีเพียง 21 สนามบินที่ลาดยาง[3] ประเทศปาปัวนิวกินีมีถนนทั้งหมด 9,349 กิโลเมตรโดยมากกว่าครึ่งไม่ได้ลาดยาง[3] ทางหลวงที่ยาวที่สุดในปาปัวนิวกินียาว 700 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมือง Lae ที่ชายฝั่งกับเมือง Tari บนภูเขา ท่าเรือหลักของประเทศอยู่เมืองพอร์ตมอร์สบี และ Lae อ้างอิง
ข้อมูลบทความนี้รวมข้อความจากงานที่มีเนื้อหาเสรี (free content) ลิขสิทธิ์ภายใต้ CC BY-SA IGO 3.0 ข้อความนำมาจาก UNESCO Science Report: towards 2030, 535–555, UNESCO, UNESCO Publishing. อ่านเพิ่ม
ข้อมูลปฐมภูมิ
แหล่งข้อมูลอื่นรัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป
|