ชวรัตน์ ชาญวีรกูล
ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ม.ป.ช. ม.ว.ม. (เกิด 7 มิถุนายน พ.ศ. 2479) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หลังสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากถูกตัดสิทธิ์จากการเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนที่ถูกสั่งยุบลง นอกจากนี้ ยังเป็นประธานกรรมการบริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) ชวรัตน์เป็นบิดาของอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประวัติชวรัตน์ ชาญวีรกูล มีชื่อเล่นว่า "จิ้น" คนในสภานิยมเรียก "ปู่จิ้น" เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ภูมิลำเนา ณ จังหวัดพระนคร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน และได้ร่วมอบรมหลักสูตร Chairman 2000 รุ่นที่ 3/2001 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อีกทั้งอบรมหลักสูตร Directors Accreditation Program (DAP) รุ่นที่ 17/2004 สมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) เขาสมรสกับนางทัศนีย์ ชาญวีรกูล มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ มาศถวิน ชาญวีรกูล และหญิง 1 คน คือนางสาวอนิลรัตน์ ชาญวีรกูล การทำงานเขาเริ่มทำงานในสายธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2505 ได้ก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้น ใช้ชื่อว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (STECON) ก่อนจะรับงานสัมปทานระดับ "เมกะโปรเจกต์" ของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ พ.ศ. 2537 ผลงานที่สร้างชื่อ เช่น งานก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 12,260 ล้านบาท, ก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรี วงเงิน 4,325 ล้านบาท, งานโรงงานไฟฟ้าแก่งคอย 2,534 ล้านบาท, การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้ากรุงเทพใต้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,360 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ สัปปายะสภาสถาน วงเงิน 12,000 ล้านบาท การดำรงตำแหน่งทางการเมืองเขามีสายสัมพันธ์ทางการเมืองมาเป็นระยะเวลานาน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในปี พ.ศ. 2539 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ[1] ในโควตาพรรคชาติพัฒนา จากนั้นภายหลังพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง และทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ชวรัตน์ได้หันไปอยู่เบื้องหลังสนับสนุนอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชายซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดทักษิณ และเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยแทน แต่หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค ทำให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน รวมถึงอนุทิน ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในปี พ.ศ. 2551 ชวรัตน์จึงกลับมารับตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้งในสังกัดพรรคพลังประชาชน ซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย และชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในโควตาของกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข[2] ตามโควตาของอนุทิน ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลังจากที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากนายกรัฐมนตรี หลังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนเนื่องจากถูกยุบพรรค ชวรัตน์ได้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี[3] ต่อมา เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้น ชวรัตน์ก็ได้วางมือทางการเมือง[4] รางวัลและเกียรติยศ
ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดนเป็น นายกองใหญ่ชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อ พ.ศ. 2552[5] ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
อ้างอิง
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล
|