Share to:

 

ฟาโรห์ฮาคอร์

ฮาคอร์ หรือ ฮาการ์[3] หรือที่รู้จักกันอีกพระนามในภาษากรีกว่า อาคอริส หรือ ฮากอริส เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณจากราชวงศ์ที่ยี่สิบเก้า รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นจุดรุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ที่อ่อนแอและมีระยะเวลาปกครองอันสั้นนี้ โดยพระองค์ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 13 ปี ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของระยะเวลาทั้งหมดที่ราชวงศ์นี้ปกครองอียิปต์[4]

รัชสมัย

ความพยายามขึ้นมาสู่พระราชบัลลังก์

มีการถกเถียงมาเป็นระยะเวลายาวนานเกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของฟาโรห์ฮาคอร์และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างพระองค์กับฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ปกครองก่อนหน้าพระองค์ และดูเหมือนว่าจะมีแก่งแย่งอำนาจภายในราชวงศ์ขึ้นภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1[5] โดยพระราชบัลลังก์ที่ว่างลงนั้นก็ถูกอ้างสิทธิ์โดยผู้อ้างสิทธิ์ในพระราชบัลลังก์จำนวนสองพระองค์หรืออาจจะสามพระองค์คือ ฟาโรห์คาฮอร์, ฟาโรห์พซัมมูเธส และฟาโรห์ปริศนานามว่า มูธิส ซึ่งถูกกล่าวถึงเฉพาะในบทสรุปงานเขียนแอจิปเทียกาของยูเซเบียสแห่งซีซาเรีย ด้วยเหตุนี้ ฟาโรห์ฮาคอร์จึงถูกมองว่าเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ที่ถูกต้องและชอบธรรมของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 หรืออาจจะเป็นผู้ที่เข้ามาแย่งชิงพระราชบัลลังก์ที่มีไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายโลหิต

ในปี ค.ศ. 1986 จอห์น ดี. เรย์ ได้เสนอความเห็นว่า ฟาโรห์ฮาคอร์เป็นองค์รัชทายาทของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ซึ่งพระองค์ทรงครองราชย์อย่างราบรื่นจนถึงปีที่ 2 แห่งการครองราชย์ของพระองค์ พระองค์ทรงถูกฟาโรห์พซัมมูธิสขัออกจากพระราชบัลลังก์ แต่หลังจากผ่านไปอีกหนึ่งปี ฟาโรห์ฮาคอร์ก็ทรงสามารถยึดพระราชบัลลังก์อันชอบธรรมของพระองค์กลับคืนมาได้ด้วยการโค่นล้มพระราชอำนาจผู้แย่งชิงบัลลังก์ และพระองค์ยังคงทรงครองราชย์ต่อไปนับตั้งแต่วันบรมราชาภิเษกครั้งแรกของพระองค์ เพียงทรงแสร้งทำเป็นว่าการที่พระองค์ทรงขับออกจากพระราชบัลลังก์นั้นนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนฟาโรห์มูธิส มีส่วนเป็นบุคคลที่สามที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแย่งชิงพระราชบัลลังก์นี้ แต่ไม่ทราบถึงว่าพระองค์ทรงทำอะไรในช่วงเวลาดังกล่าว ถ้าหากพระองค์ทรงมีตัวตนอยู่จริง[6] โดยข้อสมมติฐานของเรย์ได้เป็นที่ยอมรับโดยนักไอยคุปต์วิทยาคนอื่นๆ เช่น อลัน บี. ลอยด์[7] และโทบี วิลกินสัน[3]

เพียงระยะเวลาไม่นานหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์ ฟาโรห์ฮาคอร์ก็ทรงถูกเรียกว่าเป็น "ผู้แย่งชิงพระราชบัลลังก์" โดยผู้สถาปนาราชวงศ์ต่อมาคือ ฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 แต่อย่างไรก็ตาม มีคนเสนอความเห็นว่า ฟาโรห์ฮาคอร์และฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 อาจจะทรงเป็นพระญาติกันไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งทั้งสองพระองค์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ที่กลับตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อกัน[5]

กิจกรรมภายในพระราชอาณาจักร

เมื่อพระองค์กลับขึ้นมาสู่พระราชบัลลังก์ได้อีกครั้ง ฟาโรห์ฮาคอร์ทรงได้ใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อยืนยันความถูกต้องและชอบธรรมในพระราชอำนาจของพระองค์[4] โดยมุ่งเน้นไปการที่พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1[5][8] ซึ่งยังไม่ทราบเป็นเรื่องจริงหรือเท็จแต่อย่างใด โดยพระองค์โปรดให้มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นและพระองค์ยังโปรดให้มีบูรณะปฏิสังขรณ์อนุสรณ์สถานซึ่งมากกว่าการบูรณะในช่วงรัชสมัยของผู้ปกครองก่อนหน้าพระองค์อีกด้วย[8]

ฟาโรห์ฮาคอร์โปรดให้สร้างวิหารสำหรับเรือศักด์สิทธิ์แห่งอามุน-ราขึ้นในเมืองคาร์นัก ใกล้กับบริเวณเสาแรก ซึ่งเริ่มสร้างโดยฟาโรห์พซัมมูธิส หรืออาจเป็นไปได้ว่าโดยฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1[9] พระองค์อาจโปรดให้สร้างศาสนวิหารในส่วนเหนือของซัคคารา ซึ่งต่อมาได้รับการบูรณะเพิ่มเติมภายหลังในรัชสมัยฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 2[10] โดยกิจกรรมการสร้างของพระองค์ได้รับการพิสูจน์อย่างดีในสถานที่ต่างๆ ในบริเวณอียิปต์บน (เช่น ลักซอร์, เมดิเนต ฮาบู, อัลคับ, เอ็ฏฏ็อด, เมดามุด, แอลเลเฟนไทน์) ในวิหารแห่งฮิบิสในโอเอซิสคัรเคาะ รวมถึงสถานที่อื่นๆ ในบริเวณอียิปต์กลาง[11]

ความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนภายนอก

เห็นได้ชัดว่า ฟาโรห์ฮาคอร์ทรงสานต่อพระราชนโยบายกับต่างดินแดนของฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 1 ในสุขนาฏกรรมเรื่องพลูตุสของอริสโตฟาเนส ซึ่งได้จัดการแสดงขึ้นในช่วง 388 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการกล่าวถึงพันธมิตรระหว่างชาวเอเธนส์กับชาวอียิปต์ ถึงแม้ว่าจะตั้งใจจะอ้างถึงการสนับสนุนของเอเธนส์ในการก่อกบฏของกษัตริย์อีวากอรัสที่ 1 แห่งไซปรัส ซึ่งตัวของกษัตริย์อีวากอรัสเองก็เป็นพันธมิตรกับฟาโรห์ฮาคอร์ ในการต่อต้านจักรวรรดิอะคีเมนิด และธีโอปอมปุสก็ยังกล่าวถึงการเป็นพันธมิตรระหว่างฟาโรห์ฮาคอร์และชาวพิซิเดีย การทำพันธสัญญาสงบศึกแห่งอันตัลซิดัสระหว่างชาวเปอร์เซียและชาวกรีก (ในช่วง 387 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากนั้นอียิปต์และไซปรัสยังคงเป็นคู่ต่อสู้เพียงฝ่ายเดียวของกษัตริย์อาร์ตาเซอร์ซีสที่ 3 ตามที่กล่าวโดยธีโอปอมปุสและออโรซิอุส หลังจากนั้นอีกหลายปีกลับมีความคลุมเครือ แต่ดูเหมือนว่าชาวเปอร์เซียโจมตีจะอียิปต์ครั้งแรกใน 385 ปีก่อนคริสตกาลและหลังจากระยะเวลาสามปีแห่งสงคราม ชาวอียิปต์ก็สามารถเอาชนะผู้รุกรานได้[12][13][14]

ในช่วง 381 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์ฮาคอร์ทรงส่งความช่วยเหลือ เงิน และกองเรือจำนวนห้าสิบลำ (แต่เห็นได้ชัดว่าไม่มีการส่งลูกเรือไปด้วย) ไปยังกษัตริย์อีวากอรัส เพื่อมีส่วนร่วมในการต่อต้านกษัตริย์จากจักรวรรดิอะคีเมนิด ซึ่งหลังจากการดำเนินการทางทหารที่ไม่ประสบความสำเร็จในอียิปต์ และในช่วงเวลาดังกล่าวกำลังมุ่งความสนใจไปที่เกาะไซปรัส อย่างไรก็ตาม ในช่วง 380 ปีก่อนคริสตกาลหรือในอีกหนึ่งปีต่อมา กษัตริย์อีวากอรัสได้เสด็จมายังอียิปต์เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ฟาโรห์ฮาคอร์ทรงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้การสนับสนุนพระองค์อีกต่อไปและส่งพระองค์กลับไปที่ไซปรัสด้วยเงินเพียงบางส่วน[15][16] ไม่นานหลังจากนั้น กษัตริย์อีวากอรัสก็ได้พ่ายแแพ้ต่อกษัตริย์อาร์ตาเซอร์ซีสที่ 3 แต่ฟาโรห์ฮาคอร์ทรงได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสปาร์ตาและกลอส ในขณะที่บุตรชายของนายพลชาวอียิปต์นามว่า ทาโมส ซึ่งเป็นผู้สวามิภักดิ์และสนับสนุนไซรัส ผู้เยาว์ ผู้ซึ่งอ้างสิทธ์ในพระราชบัลลังก์จักรวรรดิอะคีเมนิด ต่อต้านกษัตริย์อาร์ตาเซอร์ซีสที่ 3 ฟาโรห์ฮาคอร์ก็ทรงนำแม่ทัพชาบริอุสแห่งอาเธนส์เข้ามารับราชการภายในราชสำนักของพระองค์ แต่นายพลชาวเปอร์เซียนามว่า ฟาร์นาบาซูสที่ 2 ได้โน้มน้าวให้ชาวเอเธนส์เรียกตัวเขากลับมายังดินแดนกรีกดังเดิม[15]

การสวรรคตและการสืบสันตติวงศ์

ฟาโรห์ฮาคอร์เสด็จสวรรคตในช่วง 379 หรือ 378 ปีก่อนคริสตกาล[2] พระองค์ได้ทรงมอบพระราชบัลลังก์ของพระองค์ไว้กับฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2 ผู้เป็นพระราชโอรส อย่างไรก็ตาม ฟาโรห์เนเฟริเตสที่ 2 ทรงสามารถครองพระราชบัลลังก์ไว้ได้เพียงสีเดือนเท่านั้นก่อนที่จะทรงโดนโค่นล้มพระราชบัลลังก์ โดยนายพลกองทัพจากเมืองเซเบนนิโตส ซึ่งในภายหลังก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฟาโรห์พระนามว่า เนคทาเนโบที่ 1[3]

อ้างอิง

  1. Lloyd 1994, p. 358.
  2. 2.0 2.1 Depuydt 2006, p. 280.
  3. 3.0 3.1 3.2 Wilkinson 2010, p. 456.
  4. 4.0 4.1 Lloyd 1994, p. 340.
  5. 5.0 5.1 5.2 Grimal 1992, p. 373.
  6. Ray 1986, pp. 149–158.
  7. Lloyd 1994, p. 357.
  8. 8.0 8.1 Clayton 1994, p. 203.
  9. Lloyd 1994, p. 353.
  10. Lloyd 1994, p. 354.
  11. Grimal 1992, p. 374.
  12. Lloyd 1994, p. 347.
  13. Grimal 1992, pp. 374–375.
  14. Fine 1993, p. 358.
  15. 15.0 15.1 Lloyd 1994, p. 348.
  16. Grimal 1992, p. 375.

บรรณานุกรม

  • Clayton, Peter (1994). Chronicle of the Pharaohs. London: Thames & Hudson Ltd. ISBN 9780500050743.
  • Depuydt, Leo (2006). "Saite and Persian Egypt, 664 BC - 332 BC". ใน Hornung, Erik; Krauss, Rolf; Warburton, David A. (บ.ก.). Ancient Egyptian Chronology. Brill, Leiden/Boston. pp. 265–283. ISBN 978-90-04-11385-5.
  • Fine, John V. A. (1983). The Ancient Greeks: A critical history. Harvard University Press.
  • Grimal, Nicolas (1992). A History of Ancient Egypt. Oxford: Blackwell Books. p. 512. ISBN 9780631174721.
  • Lloyd, Alan B. (1994). "Egypt, 404–322 B.C.". ใน Lewis, D.M.; Boardman, John; Hornblower, Simon; และคณะ (บ.ก.). The Cambridge Ancient History (2nd ed.), vol. VI – The Fourth Century B.C. Cambridge University Press. pp. 337–360. ISBN 0-521-23348-8.
  • Ray, John D. (1986). "Psammuthis and Hakoris". The Journal of Egyptian Archaeology. 72: 149–158. doi:10.1177/030751338607200112. S2CID 192348366.
  • Wilkinson, Toby (2010). The Rise and Fall of Ancient Egypt. London: Bloomsbury. p. 672. ISBN 978-1-4088-10026.

แหล่งที่มาอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya