Share to:

 

ราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์

ราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์

ราว 1725 ปีก่อนคริสตกาล–ราว 1650 ปีก่อนคริสตกาล
ส่วนที่แรเงาสีส้ม หมายถึง ดินแดนที่อาจจะอยู่ภายใต้การควบคุมของราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ ตามข้อมูลของรีฮอล์ต[1]
ส่วนที่แรเงาสีส้ม หมายถึง ดินแดนที่อาจจะอยู่ภายใต้การควบคุมของราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ ตามข้อมูลของรีฮอล์ต[1]
เมืองหลวงอวาริส
ภาษาทั่วไปภาษาอียิปต์
ศาสนา
ศาสนาอียิปต์โบราณ
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ยุคประวัติศาสตร์ยุคสัมฤทธิ์
• ก่อตั้ง
ราว 1725 ปีก่อนคริสตกาล
• สิ้นสุด
ราว 1650 ปีก่อนคริสตกาล
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชวงศ์ที่สิบสองแห่งอียิปต์
ราชวงศ์ที่สิบสามแห่งอียิปต์
ราชวงศ์ที่สิบห้าแห่งอียิปต์
ราชวงศ์ที่สิบหกแห่งอียิปต์
ราชวงศ์อไบดอส

ราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ เป็นกลุ่มของผู้ปกครองแห่งอียิปต์โบราณที่ปกครองในสมัยช่วงระหว่างกลางครั้งที่สองเหนือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ โดยปกครองอยู่ประมาณระหว่าง 75 (ประมาณ 1725 – 1650 ปีก่อนคริสตกาล) ถึง 155 ปี (ประมาณ 1805 – 1650 ปีก่อนคริสตกาล) ขึ้นอยู่กับนักวิชาแต่ละคน และเมืองอวาริสน่าจะเป็นเมืองหลวงประจำราชวงศ์[1] ราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ปรากฏอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับราชวงศ์ที่สิบสาม ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมมฟิส[ต้องการอ้างอิง] ผู้ปกครองที่ได้รับการยืนยันแล้วบางพระองค์ของราชวงศ์ที่สิบสี่นั้น (เสนอความเห็นโดยคิม รีฮอล์ต) จะถูกระบุโดยนักไอยคุปต์วิทยาว่ามีเชื้อสายชาวคานาอัน (คนกลุ่มเซมิติก) เนื่องจากที่มาของพระนามของผู้ปกครองและเจ้าชายบางพระองค์ เช่น อิปกู (มาจากภาษากลุ่มเซมิติกตะวันตก แปลว่า "ความสง่างาม"), ยากบิม ("ia-ak-bi-im" ซึ่งเป็นพระนามจากภาษาอะมอไรต์), กาเรห์ (มาจากภาษาเซมิติกตะวันตก แปลว่า "คนหัวล้าน") หรือ ยาคุบ-ฮาร์[1] พระนามที่เกี่ยวข้องกับนิวเบียก็ถูกบันทึกไว้ในสองพระนามเช่นกัน คือ เนเฮซี (แปลว่า "ชาวนูเบีย") และพระนางตาติ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองในราชวงศ์ไม่ได้ถูกเรียกว่า "ผู้ปกครองต่างดินแดน" หรือ "กษัตริย์ผู้เลี้ยงแกะ" ตามในบันทึกพระนามแห่งตูริน[2]

ลำดับตามเวลา

ในบางครั้งราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์อาจจะจัดรวมเข้ากับราชวงศ์ที่สิบเอ็ด, สิบสอง และสิบสาม ในช่วงเวลาของสมัยราชอาณาจักรกลางของอียิปต์ ถึงแม้ว่าราชวงศ์ที่สิบสี่จะอยู่จะคาบเกี่ยวบางส่วนกับราชวงศ์ที่สิบสาม และราชวงศ์ที่สิบห้า ในช่วงใดช่วงหนึ่งหรือทั้งสองช่วงเป็นอย่างน้อย โดยทั่วไปแล้ว ราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์จะถูกจัดกลุ่มช่วงเวลาเดียวกันกับราชวงศ์ที่สิบสาม, สิบห้า, สิบหก และสิบเจ็ด ในช่วงเวลาของสมัยช่วงระหว่างกลางครั้งที่สอง

ปรากฏช่องว่างเพียงพอในการศึกษาเกี่ยวกับราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องของตำแหน่งตามลำดับเวลา และอาจจะแตกต่างกันไปมากถึง 75 ปีขึ้นอยู่กัผู้ที่ศึกษา คิม รีฮอล์ต นักไอยคุปต์วิทยาได้เสนอความเห็นว่าว่าราชวงศ์ที่สิบสี่นั้นได้สถาปนาขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ที่สิบสอง ราวประมาณ 1805 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ช่วงระหว่างหรือหลังการปกครองของฟาโรห์โซเบคเนเฟรูไม่นาน เขาเชื่อว่าชาวคานาอันในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ฝั่งตะวันออกได้ประกาศอิสรภาพของพวกเขาและขัดขวางความพยายามที่เป็นไปได้จากฟาโรห์แห่งเมมฟิสจากราชวงศ์ที่สิบสาม เพื่อกอบกู้พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกลับมาอยู่ในอำนาจ จากข้อมูลของรีฮอล์ต ราชวงศ์ที่สิบสี่เริ่มปกครองตั้งแต่ 1805 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งล่มสลายภายใต้ราชวงศ์ที่สิบห้าแห่งอียิปต์ที่ปกครองโดยชาวฮิกซอส เมื่อราว 1650 ปีก่อนคริสตกาล รวมเป็นระยะเวลา 155 ปี

แต่ข้อสมมติฐานดังกล่าวถูกโต้แย้งโดยนักไอยคุปต์วิทยาบางคน เช่น มันเฟรด เบียตัค, ดาฟนา เบน-ทอร์ และเจมส์ และซูซาน อัลเลน ซึ่งได้โต้แย้งว่า ราชวงศ์ที่สิบสี่ไม่สามารถถูกสถาปนาขึ้นก่อนช่วงกลางของราชวงศ์ที่สิบสามหรือประมาณ 1720 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากรัชสมัยของฟาโรห์โซเบคโฮเทปที่ 4[3][4] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาโต้แย้งว่า หลักฐานจากชั้นต่างๆ ที่ค้นพบตราประทับจากช่วงราชวงศ์ที่สิบสี่นั้น สรุปได้ว่าราชวงศ์ที่สิบสี่นั้นอยู่ร่วมสมัยกับราชวงศ์ที่สิบสามเท่านั้นในช่วงครึ่งศตวรรษหลังจากนั้น กล่าวคือ หลังจากช่วง 1700 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ มันเฟรด เบียตัค ยังระบุช่วงเวลาของจารึกและอนุสาวรีย์ของฟาโรห์เนเฮซี ซึ่งอาจจะเป็นผู้ปกครองพระองค์ที่สองของราชวงศ์ที่สิบสี่ โดยย้อนไปจนถึงประมาณ 1700 ปีก่อนคริสตกาลอีกด้วย[5]

ภายหลังจากรัชสมัยอันสั้นอย่างยิ่งของฟาโรห์เนเฮซีนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่รวมถึง มันเฟรด เบียตัค และคิม รีฮอล์ต เห็นพ้องต้องกันว่าบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ได้รับผลกระทบจากความอดอยากที่ยืดเยื้อและโรคระบาดอาจจะกินเวลาจนถึงช่วงราชวงศ์ที่สิบสี่ล่มสลาย[1][6] ความอดอยากแบบเดียวกันนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อราชวงศ์ที่สิบสาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงและฟาโรห์ที่ขึ้นมาปกครองเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จำนวนมากในช่วง 50 ปีหลังจากจากสถาปนาราชวงศ์ที่สิบสี่ในช่วงระหว่าง 1700 จนถึง 1650 ปีก่อนคริสตกาล สถานภาพที่อ่อนแอของทั้งสองราชวงศ์อาจจะอธิบายได้ในบางส่วนว่าเหตุใดพวกเขาจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองชาวฮิกซอสที่ขึ้นมามีอำนาจใหม่อย่างรวดเร็วในราว 1650 ปีก่อนคริสตกาล[1]

ศูนย์กลางอำนาจการปกครอง

มาเนโธได้ระบุว่า ราชวงศ์ที่สิบสี่มีฟาโรห์ปกครองจำนวนมากถึง 76 พระองค์ ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองโซอิสมากกว่าที่จะเป็นเมืองอวาริส แต่อย่างไรก็ตาม คิม รีฮอล์ต นักไอยคุปต์วิทยาตั้งข้อสังเกตว่า ในบันทึกพระนามแห่งตูรินได้กล่าวถึงฟาโรห์เพียงจำนวนประมาณ 56 พระองค์เท่านั้น และไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะบันทึกฟาโรห์ได้มากกว่า 70 พระองค์ และรีฮอล์ตยังชี้ให้เห็นถึง การขุดค้นที่เมืองอวาริส ซึ่งเผยให้เห็นการมีอยู่ของพระราชวังขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยช่วงระหว่างกลางครั้งที่สอง และลานแห่งหนึ่งมีรูปสลักของฟาโรหฺหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีขนาดใหญ่กว่าสองเท่า และมีลักษณะที่ไม่ใช่แบบพื้นเมืองอียิปต์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ รีฮอล์ต และนักไอยคุปต์วิทยาส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่า เมืองอวาริสเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของราชวงศ์ที่สิบสี่แทนที่จะเป็นเมืองโซอิส[1]

พระราชอาณาจักรและความสัมพันธ์กับต่างแดน

ไม่ทราบขอบเขตพระราชอาณาจักรที่ชัดเจนของราชวงศ์ที่สิบสี่ เนื่องจากความขาดหลักฐานอย่างอนุสรณ์สถานโดยทั่วไป ในการศึกษาสมัยช่วงระหว่างกลางครั้งที่สอง คิม รีฮอล์ตได้สรุปว่าดินแดนที่ควบคุมโดยตรงโดยราชวงศ์ที่ราชวงศ์ที่สิบสี่อย่างกว้างจะกินอาณาเขตทั้งในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ โดยมีพรมแดนตั้งอยู่ใกล้กับเมืองอธริบิสในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฝั่งตะวันตก และเมืองบูบาสทิสในทางทิศตะวันออก[1]

ตราประทับที่เกี่ยวข้องราชวงศ์ที่สิบสี่นั้นถูกค้นพบในบริเวณอียิปต์กลางและอียิปต์บน ซึ่งเป็นอาณาเขตของราชวงศ์ที่สิบสามทั้งหมด และไกลออกไปทางตอนใต้ถึงเมืองดุนกูลา ไกลจากแก่งน้ำตกที่สามของแม่น้ำไนล์ ในทางเหนือ มีการพบตราประทับในทางตอนใต้ของลิแวนต์ โดยส่วนใหญ่อยู่ตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กระทั่งไกลออกไปทางเหนือถึงเทล คาบรี (ทางตอนเหนือของอิสราเอลในปัจจุบันใกล้ชายแดนเลบานอน)[1] ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของการค้าสำคัญที่ดำเนินการระหว่างราชวงศ์ที่สิบสาม นครรัฐคานาอัน และนิวเบีย[1] โดยรีฮอล์ตได้เสนอความเห็นที่ว่า ฟาโรห์เชชิ ซึ่งเขาเห็นว่าพระองค์เป็นผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่สิบสี่ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชาวนิวเบียพระนามว่า ตาติ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรคุช[1]

ผู้ปกครอง

ลำดับผู้ปกครองของราชวงศ์นี้ได้ถูกกำหนดตามบันทึกพระนามแห่งตูริน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ยกเว้นสำหรับผู้ปกครองห้าพระองค์แรกซึ่งระบุไว้ด้านล่าง[1] พระนามของผู้ปกครองดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ในบันทึกพระนามแห่งตูริน (ยกเว้นเพียงพระนามเดียว) และรีฮอล์ตได้เสนอความเห็นที่ว่า ผู้ปกครองห้าพระองค์ดังก่างอาจจะถูกกล่าวในส่วนที่เสียหายของบันทึกพระนาม โดยเอกสารต้นฉบับเป็นการคัดลอกบันทึกพระนามอีกแห่งหนึ่งในช่วงสมัยรามเสส[1] รีฮอล์ตได้ระบุฟาโรห์ห้าพระองค์แรกจากการแบ่งกลุ่มของตราประทับ อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของเขายังเป็นที่ถกเถียงกันในการศึกษาของเบ็น-ทอร์เกี่ยวกับชั้นหิน ซึ่งมีการค้นพบตราประทับของฟาโรห์ห้าพระองค์แรก เบ็น ทอร์ได้สรุปว่ารัชสมัยของฟาโรห์เชชิ อัมมู และยากบิมได้เริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของราชวงศ์ที่สิบห้าแห่งอียิปต์ และไม่ร่วมสมัยกับราชวงศ์ที่สิบสาม ตามคำกล่าวของเบ็น ทอร์ ฟาโรห์เหล่านี้น่าจะเป็นข้าหลวงที่รองมาจากฟาโรห์ชาวฮิกซอสที่เข้าปกครองเหนือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์[3]

ฟาโรห์จากราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ (ยังเป็นที่ถกเถียง)
พระนาม รูปภาพ รัชสมัย คำอธิบาย
ยากบิม เซคาเอนเร 1805 ปีก่อนคริสตกาล – 1780 ปีก่อนคริสตกาล หรือหลัง 1650 ปีก่อนคริสตกาล มีการโต้แย้งในตำแหน่งตามลำดับเวลา อาจเป็นข้าหลวงของราชวงศ์ที่สิบห้า
ยา'อัมมู นุบวอเซอร์เร 1780 ปีก่อนคริสตกาล – 1770 ปีก่อนคริสตกาล มีการโต้แย้งในตำแหน่งตามลำดับเวลา
กาเรห์ คาวอเซอร์เร 1770 ปีก่อนคริสตกาล – 1760 ปีก่อนคริสตกาล มีการโต้แย้งในตำแหน่งตามลำดับเวลา
'อัมมู อาโฮเทปเร 1760 – 1745 ปีก่อนคริสตกาล หรือหลัง 1650 ปีก่อนคริสตกาล มีการโต้แย้งในตำแหน่งตามลำดับเวลา อาจเป็นข้าหลวงของราชวงศ์ที่สิบห้า
เชชิ มาอาอิบเร 1745 ปีก่อนคริสตกาล – 1705 ปีก่อนคริสตกาล หรือหลัง 1650 ปีก่อนคริสตกาล ปรากฏหลักฐานเป็นตราประทับแมลงสคารับจำนวนมากว่า 300 ชิ้น พระองค์อาจจะทรงอภิเษกสมรสกับพระนางตาติ ซึ่งมาจากราชอาณาจักรคุช และมีการโต้แย้งในตำแหน่งตามลำดับเวลา อาจเป็นข้าหลวงของราชวงศ์ที่สิบห้า

ผู้ปกครองต่อไปนี้ไม่ได้เป็นที่ถกเถียง ซึ่งอ้างอิงมาจากบันทึกพระนามแห่งตูริน และผู้ปกครองบางพระองค์ในจำนวนนี้ ก็ยืนยันมาจากแหล่งข้อมูลร่วมสมัยเช่นกัน:

ฟาโรห์จากราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ (ไม่เป็นที่ถกเถียง)
พระนาม รูปภาพ รัชสมัย คำอธิบาย
เนเฮซิ อาอาเซเร 1705 ปีก่อนคริสตกาล ทรงเป็นฟาโรห์ที่ปรากฏหลักฐานยืนยันที่ดีที่สุดในบรรดาฟาโรห์ในราชวงศ์ โดยปรากฏพระนามของพระองค์บนอนุสาวรีย์สองแห่งที่เมืองอวาริส ซึ่งพระนามของพระองค์ แปลว่า "ชาวนิวเบีย"[7]
คาเคเรวเร 1705 ปีก่อนคริสตกาล -
เนบเอฟอาวเร 1704 ปีก่อนคริสตกาล ในบันทึกพระนามแห่งตูรินได้ระบุว่า พระองค์ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน กับอีก 15 วัน
เซเฮบเร ในบันทึกพระนามแห่งตูรินได้ระบุว่า พระองค์ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 3 ปี [สูญหาย] เดือน กับอีก 1 วัน
เมอร์ดเจฟาเร สิ้นสุดเมื่อ 1699 ปีก่อนคริสตกาล ค้นพบหลักฐานยืนยันเป็นจารึกศิลาเพียงชิ้นเดียวจากซาฟต์ อัล-ฮินนาในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ[8]
เซวัดต์คาเรที่ 3 ในบันทึกพระนามแห่งตูรินได้ระบุว่า พระองค์ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 1 ปี
เนบดเจฟาเร สิ้นสุดเมื่อ 1694 ปีก่อนคริสตกาล -
เวบเอนเร สิ้นสุดเมื่อ 1693 ปีก่อนคริสตกาล -
ไม่ทราบ พระนามสูญหายไปจากบันทึกพระนามแห่งตูริน
[...]ดเจฟาเร -
[...]เวบเอนเร สิ้นสุดเมื่อ 1690 ปีก่อนคริสตกาล -
อาวอิเรที่ 2 -
เฮอร์อิบเร -
เนบเซนเร ค้นพบหลักฐานยืนยันเป็นแจกันที่ปรากฏพระนามครองพระราชบัลลังก์ของพระองค์ พระองค์ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 5 เดือนเป็นอย่างน้อย
ไม่ทราบ พระนามสูญหายไปจากบันทึกพระนามแห่งตูริน
[...]เร
เซเคเปอร์เอนเร ทรงเป็นหนึ่งในฟาโรห์จากราชวงศ์ที่สิบสี่ที่ไม่เป็นข้อถกเถียง ซึ่งเป็นที่ทราบจากแหล่งข้อมูลร่วมสมัย (รวมถึงฟาโรห์เนเฮซิ, ฟาโรห์เนบเซนเร และฟาโรห์เมอร์ดเจฟาเร)
ดเจดเคเรวเร -
ซาอังค์อิบเรที่ 2 -
เนเฟอร์ตุม[...]เร -
เซคเอม[...]เร -
คาเคมูเร -
เนเฟอร์อิบเร -
อิ[...]เร -
คาคาเร -
อาคาเร -
ฮาปุ[...] เซเมนเอนเร -
อนาติ ดเจดคาเร -
บับนุม [...]คาเร -
ไม่ทราบ 8 บรรทัดได้สูญหายไปจากบันทึกพระนามแห่งตูริน
เซเนเฟอร์...เร -
เมน[...]เร -
ดเจด[...]เร -
ไม่ทราบ 3 บรรทัดได้สูญหายไปจากบันทึกพระนามแห่งตูริน
อิงค์ [...] -
'อ[...] -
อะโพฟิสที่ 1 (?) -
ไม่ทราบ 5 บรรทัดได้สูญหายไปจากบันทึกพระนามแห่งตูริน

และสุดท้ายนี้ ผู้ปกครองอีกหลายพระองค์ที่ได้รับการยืนยันจากวัตถุโบราณร่วมสมัยที่ไม่ปรากฏพระนามในบันทึกพระนามแห่งตูริน ซึ่งอาจจะมีอายุย้อนถึงช่วงราชวงศ์ที่สิบสี่[1] หรือราชวงศ์ที่สิบห้า[9] ตัวตนและตำแหน่งตามลำดับเวลายังไม่แน่ชัด:

อาจจะเป็นฟาโรห์จากราชวงศ์ที่สิบสี่แห่งอียิปต์ (ยังไม่แน่ชัด)
พระนาม รูปภาพ หลักฐานยืนยัน
นูยา ค้นพบตราประทับสคารับจำนวน 1 ชิ้น
เชเนห์ ค้นพบตราประทับสคารับจำนวน 3 ชิ้น
เชนเชค ค้นพบตราประทับสคารับจำนวน 1 ชิ้น
วาซาด ค้นพบตราประทับสคารับจำนวน 5 ชิ้น
คามูเร ค้นพบตราประทับสคารับจำนวน 2 ชิ้น
ยาคาเรบ ค้นพบตราประทับสคารับจำนวน 2 ชิ้น
เมอร์วอเซอร์เร ยากุบ-ฮาร์ ค้นพบตราประทับสคารับจำนวน 27 ชิ้น

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 Kim Ryholt, The Political Situation in Egypt during the Second Intermediate Period, Museum Tusculanum Press, (1997)
  2. Ilin-Tomich, Alexander (2016). "Second Intermediate Period". UCLA Encyclopedia of Egyptology: 3.
  3. 3.0 3.1 Bulletin of the American Schools of Oriental Research (BASOR) 315, 1999, pp.47-73.
  4. Janine Bourriau, "The Second Intermediate Period (c.1650-1550 BC)" in Ian Shaw (ed.) The Oxford History of Ancient Egypt, Oxford University Press, 2000. pp.192 & 194
  5. Bourriau, "The Second Intermediate Period," pp.178-179, 181
  6. Manfred Bietak, "Egypt and Canaan During the Middle Bronze Age," BASOR, 281 (1991), pp. 21-72, esp. p. 38, available online
  7. Darrell D. Baker, The Encyclopedia of the Pharaohs: Volume I - Predynastic to the Twentieth Dynasty 3300–1069 BC, Stacey International, ISBN 978-1-905299-37-9, 2008, p. 277
  8. Kenneth Kitchen: Ramesside Inscriptions, Blackwell Publishing 1993, ISBN 0631184279, p.546
  9. Daphna Ben-Tor: Scarabs, Chronology, and Interconnections: Egypt and Palestine in the Second Intermediate Period, Volume 27 of Orbis biblicus et orientalis / Series archaeologica: Series archaeologica, Academic Press Fribourg 2007, ISBN 978-3-7278-1593-5, excerpts available online

บรรณานุกรม

  • K.S.B. Ryholt (1998). The Political Situation in Egypt During the Second Intermediate Period, C1800-1550 BC. Museum Tusculanum Press. ISBN 8772894210.
  • K.A. Kitchen (1993). Ramesside Inscriptions. Blackwell Publishing. ISBN 0631184279.
Kembali kehalaman sebelumnya