Share to:

 

เกียดเป๋ง

เกียดเป๋ง (จี๋ เปิ่น)
吉本
ภาพวาดเกียดเป๋งสมัยราชวงศ์ชิง
แพทย์หลวง (太醫令)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 218 (218)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจโฉ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
เสียชีวิตค.ศ. 218
บุตร
  • เกียดเมา
  • เกียดบก
อาชีพแพทย์
ชื่ออื่น
  • จี๋ไท่ (吉太)
  • จี๋ผิง (吉平)

เกียดเป๋ง (เสียชีวิต ค.ศ. 218) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จี๋ เปิ่น (จีน: 吉本; พินอิน: Jí Běn) เป็นแพทย์หลวงที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน ในปี ค.ศ. 208 เกียดเป๋งร่วมกับพรรคพวกหลายคนก่อกบฏขึ้นในเมืองหลวงฮูโต๋ แต่กบฏได้ถูกปราบปราม ผู้ร่วมก่อการรวมถึงเกียดเป๋งได้ถูกจับกุมและถูกประหาร

ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก เกียดเป๋งร่วมมือกับตังสินและพรรคพวกในปี ค.ศ. 200 หวังโค่นล้มอำนาจของโจโฉ เกียดเป๋งวางแผนสังหารโจโฉโดยการวางยาพิษ แต่โจโฉรู้ทันจึงจับเกียดเป๋ง รวมไปถึงตังสินและผู้ร่วมก่อการไปประหารชีวิต

ชื่อของเกียดเป๋ง

ในความเป็นจริง ชื่อของเกียดเป๋ง (吉本 จี๋เปิ่น) คือ "พี" (; ) ที่ชื่อของเกียดเป๋งถูกบันทึกเพี้ยนไปเป็น "เปิ่น" (; Běn) ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการพ้องกับชื่อ "พี" ที่เป็นชื่อตัวของเฉา พีหรือโจผี (จีน: 曹丕; พินอิน: Cáo Pī) จักรพรรดิองค์แรกของวุยก๊ก นอกจากนี้ตัวอักษรจีนของ "พี" ในชื่อของเกียดเป๋งอาจเขียนเป็น 㔻 แทนที่จะเป็น 丕 เนื่องจากมีหลายครั้งที่มีการบันทึก 㔻 ผิดเป็น 丕 [a]

ประวัติ

เกียดเป๋งทำงานเป็นแพทย์หลวง (太醫令 ไท่อีหลิ่ง) ในราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในรัชสมัยของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของอัครมหาเสนาบดีโจโฉ และพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นเพียงผู้ปกครองแต่ในนามเท่านั้น ในปี ค.ศ. 216 พระเจ้าเหี้ยนเต้สถาปนาโจโฉขึ้นดำรงตำแหน่งวุยอ๋อง (魏王 เว่ย์หวาง) และให้โจโฉสถาปนาแคว้นวุยในภาคเหนือของจีนโดยอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ฮั่นแต่เพียงในนาม [1]

เมื่อปลายปี ค.ศ. 217 หรือต้นปี ค.ศ. 218 เกียดเป๋งวางแผนก่อกบฏในเมืองหลวงฮูโต๋ร่วมกับผู้ร่วมก่อการหลายคนได้แก่ เกงจี (耿紀 เกิ่งจี้) อุยหลง (韋晃 เหวย์หฺว่าง) กิมหัน (金禕 จินอี) และบุตรชายของเกียดเป๋งคือเกียดเมา (吉邈 จี๋เหมี่ยว) ชื่อรอง เหวินหรัน (文然) และเกียดบก (吉穆 จี๋มู่) ชื่อรอง ซือหรัน (思然) โดยมีแผนการจะสังหารอองปิด (王必 หวังปี้) ขุนนางของโจโฉในตำแหน่งจ๋างสื่อ (長史) จากนั้นจะเข้าควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้ โจมตีแคว้นวุยของโจโฉ และประสานกับเล่าปี่ ขุนศึกผู้ควบคุมดินแดนภาคตะวันตกของจีนที่เป็นศัตรูของโจโฉ ขณะนั้นกวนอูขุนพลของเล่าปี่กำลังได้เปรียบโจหยินขุนพลของโจโฉในการรบที่เมืองอ้วนเสีย ส่วนตัวโจโฉนั้นอยู่ไกลถึงเมืองเงียบกุ๋น และได้มอบหมายให้อองปิดรักษาเมืองฮูโต๋ [2]

เกียดเมานำผู้ติดตามของตระกูลเกียดและผู้ร่วมการคนอื่น ๆ รวมพันคนเข้าโจมตีค่ายของอองปิดในเวลาเวลากลางคืนและจุดไฟขึ้นที่ประตู กิมหันเป็นคนที่อองปิดไว้วางใจมากจึงทำให้กิมหันได้โอกาสส่งจารชนเข้าไปแฝงตัวในค่ายของอองปิดก่อนที่เริ่มก่อการ ในระหว่างการโจมตี อองปิดถูกเกาทัณฑ์ได้รับบาดเจ็บที่แขนจึงหนีออกจากค่ายไปหลบภัยที่บ้านของกิมหันโดยที่ไม่รู้ว่ากิมหันคือหนึ่งในผู้ร่วมก่อการ คนรับใช้ของกิมหันเข้าใจว่าอองปิดเป็นเกียดเมาจึงตอบอองปิดไปว่า "หวังจ๋างสื่อ (อองปิด) ตายแล้วหรือ แผนของท่านสำเร็จผลแล้ว!" อองปิดได้ยินดังนั้นจึงหนีไปทางประตูทิศใต้ของเมืองฮูโต๋ ในที่สุดด้วยความช่วยเหลือของขุนพลเหยียนควัง (嚴匡) อองปิดได้นำกำลังกลับไปโจมตีพวกกบฏและปราบจลาจลได้เป็นผลสำเร็จ เกียดเป๋งและผู้ร่วมก่อการถูกจับกุมและถูกนำตัวไปประหารชีวิตในข้อหากบฏ ส่วนอองปิดเสียชีวิตด้วยพิษบาดแผลจากเหตุการณ์จลาจลในอีกหลายวันต่อมา [3][4]

ในนิยาย สามก๊ก

เกียดเป๋งปรากฏเป็นตัวละครในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ตอนที่ 23 ตรงกับใน สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 21 ในวรรณกรรมได้เปลี่ยนชื่อของเกียดเป๋งจากเดิมที่เป็น "จี๋เปิ่น" มาเป็น "จี๋ไท่" (จีน: 吉太; พินอิน: Jí Tài) และมีชื่อรองว่า "ผิง" (平) จึงนิยมเรียกกันว่า "จี๋ผิง" (จีน: 吉平; พินอิน: Jí Píng)[5] ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงแปลชื่อจี๋ผิงเป็นชื่อสำเนียงฮกเกี้ยนว่า "เกียดเป๋ง"

เมื่อตังสินรับพระราชโองการลับของพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่เขียนด้วยเลือดที่มีรับสั่งให้คิดการกำจัดโจโฉ ตังสินจึงรวบรวมผู้ร่วมก่อการปรึกษากันจะกำจัดโจโฉ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ จนกระทั่งศักราชเจี้ยนอันปีที่ 5 (ค.ศ. 200) ตังสินล้มป่วย พระเจ้าเหี้ยนเต้จึงส่งเกียดเป๋งไปดูแล

วันหนึ่งตังสินชวนเกียดเป๋งมากินโต๊ะ ตังสินได้เผลอหลับไปแล้วฝันว่าตนสังหารโจโฉได้สำเร็จจนเผลอละเมอออกมาและสะดุ้งตื่น เกียดเป๋งได้ยินตังสินละเมอด่าโจโฉจึงแกล้งบอกกับตังสินว่าจะนำเนื้อความที่แจ้งโจโฉ ตังสินได้ยินก็ตกใจพูดไม่ออก เกียดเป๋งจึงบอกว่าตนแกล้งลองใจตังสินแล้วถามถึงเรื่องที่ตังสินกำลังคิดการ แต่ตังสินยังไม่ไว้ใจเกียดเป๋งจึงยังไม่กล้าบอก เกียดเป๋งจึงกัดนิ้วมือตัวเองกระทำสาบาน ตังสินเห็นเกียดเป๋งกัดนิ้วแสดงความจริงใจจึงนำราชโองการลับของพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้เกียดเป๋งดูแล้วเล่าเรื่องให้ฟังทุกประการ เกียดเป๋งจึงอาสาจะสังหารโจโฉโดยบอกแผนการว่า "โจโฉนั้นมักปวดศีรษะ หาข้าพเจ้าไปรักษาหายเนืองๆ อยู่ ถ้าโจโฉป่วยอีกครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะไปรักษาแล้วประกอบยาใส่ยาพิษประสมลงให้โจโฉกิน โจโฉก็จะตาย การซึ่งข้าพเจ้าคิดนี้เห็นจะไม่ยากแก่ทแกล้วทหาร" จากนั้นเกียดเป๋งก็ลาเพื่อไปเตรียมการ

แต่แล้วเคงต๋อง (秦慶童 ฉินชิ่งถง) คนรับใช้ของตังสินได้ทรยศนายนำความลับที่ตังสินคิดการไปบอกโจโฉรวมถึงเรื่องที่เกียดเป๋งกัดนิ้วกระทำสาบาน วันต่อมาโจโฉจึงแกล้งทำเป็นปวดศีรษะเรียกเกียดเป๋งมารักษา เกียดเป๋งปรุงยาโดยแอบใส่ยาพิษลงไปแล้วยกมาให้โจโฉบอกให้กินขณะยายังร้อน โจโฉจึงตอบว่า "ท่านเป็นหมอหลวงก็ย่อมรู้ขนบธรรมเนียมอยู่ทุกประการ ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระประชวร หมอถวายยา ขุนนางผู้สนิทก็ได้เทียบก่อน แม้บิดาผู้ใดป่วย หมอนั้นประกอบยาให้กิน บุตรนั้นก็ย่อมชิมเสียก่อน บัดนี้ตัวเราเป็นมหาอุปราช ตัวท่านเป็นหมอสนิทรักใคร่แก่เรา ท่านประกอบยาให้เรากิน ควรที่ท่านกินให้เราเห็นก่อนเราจึงจะกินได้" เกียดเป๋งเห็นว่าโจโฉรู้เรื่องตนคิดการสังหารแล้วจึงบังคับจะเอายากรอกปากโจโฉ โจโฉปัดถ้วยยากระเด็นไปถูกอิฐจนอิฐนั้นแตกไปด้วยฤทธิ์ของยาพิษ

โจโฉจึงให้ทหารจับตัวเกียดเป๋งไปโบยตีทรมานอย่างหนักเพื่อบังคับให้เกียดเป๋งซัดทอดผู้ร่วมก่อการ แต่เกียดเป๋งไม่ยอมซัดทอด ต่อมาโจโฉให้นำตัวเกียดเป๋งไปที่บ้านตังสิน แล้วให้ทรมานเกียดเป๋งต่อหน้าตังสินบังคับให้ซัดทอดอีก เกียดเป๋งทนการทรมานไม่ไหวจึงขอให้โจโฉแก้มัดแล้วจะยอมสารภาพ โจโฉให้ทหารแก้มัดเกียดเป๋ง เกียดเป๋งลุกขึ้นหันหน้าไปทางพระราชวังถวายบังคมแล้วร้องว่า "ตัวข้าพเจ้าเป็นข้าราชการในแผ่นดิน บัดนี้มีศัตรูทำจลาจลต่อราชสมบัติ ข้าพเจ้าคิดจะทำนุบำรุงแผ่นดิน บัดนี้ไม่สมความคิด" แล้วเกียดเป๋งก็เอาศีรษะโขกพื้นบันไดจนเสียชีวิต โจโฉสั่งให้ทหารหั่นร่างเกียดเป๋งเป็นชิ้นๆ ต่อมาโจโฉสั่งให้จับกุมตัวตังสินและผู้ร่วมก่อการทุกคนพร้อมทั้งครอบครัวนำไปประหารชีวิต (ยกเว้นเล่าปี่และม้าเท้งที่ออกจากเมืองหลวงไปแล้ว) [6] [7]

ในวรรณกรรมสามก๊ก ตอนที่ 69 ตรงกับใน สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 55 มีเหตุการณ์ที่เกงจีร่วมกับ อุยหลง กิมหัน เกียดเมา และเกียดบก ก่อจลาจลขึ้นในเมืองฮูโต๋ แต่ไม่มีเกียดเป๋งเป็นผู้ร่วมก่อการเหมือนในประวัติศาสตร์ มีเพียงเกียดเมาและเกียดบกที่ร่วมก่อการเพื่อแก้แค้นโจโฉที่สังหารเกียดเป๋งผู้เป็นบิดา [8][9]

ความนิยมในรูปแบบอื่น ๆ

ภาพยนตร์
  • ในภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2555 เรื่อง โจโฉ (พินอิน: Tóng Què Tái, อังกฤษ: The Assassins) ตัวละครเกียดเป๋งรับบทแสดงโดยเหยา หลู่ (姚橹)
ละครโทรทัศน์
  • ในละครโทรทัศน์ สามก๊ก ปี พ.ศ. 2537 ตัวละครเกียดเป๋งรับบทแสดงโดยติง จื้อเฉิง (丁志誠)
  • ในละครโทรทัศน์ สามก๊ก ปี พ.ศ. 2553 ตัวละครเกียดเป๋งรับบทแสดงโดยเหริน เสฺวไห่ (任學海)

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. 《三國志集解》在《三國志·武帝紀》提及太醫令吉本時說:
    • 趙一清曰:《後漢書·耿秉傳》作“吉㔻”,注“或作'平'”,則“本”字誤也。
    • 惠棟曰:隸法,“㔻”、“平”字相似,《三輔決錄》又作“本”也。
    • 《三國志辨誤》曰:東漢杜操字伯度,魏代避諱,易為“杜度”。裴氏引《決錄》注,本子邈、穆之字亦具載,而獨逸本字,殆亦以字易名,如杜度之例,故不可並書耶。
    • 李慈銘曰:㔻、本二字,每易相亂,如《後漢書·循吏傳》劉寵父丕,而《續漢書》作“本”是也。
    • 弼按:《常林傳》注引《魏略》、《鄧艾傳》注引《世語》均作“吉本”,或魏臣避文帝諱,改㔻為本,陳《志》仍其舊文也。

    《三國志·文帝紀》在提及文帝名諱時說:
    • 潘眉曰:闞澤雲“不十為丕”,字當作“㔻”,今作“丕”者,非。
    • 胡玉縉曰:潘說非也。 《說文·一部》:丕,大也。從一,不聲。段注:丕,隸書中直引長,故云“丕之字不十”。漢《石經》作“㔻”,可證。非與“丕”殊字也。段說甚瞭,潘氏以隸變駁篆文,顛矣。

อ้างอิง

  1. ([二十一年]夏五月,天子進公爵為魏王。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  2. (三輔決錄注曰:時有京兆金禕字德禕,自以世為漢臣,自日磾討莽何羅,忠誠顯著,名節累葉。覩漢祚將移,謂可季興,乃喟然發憤,遂與耿紀、韋晃、吉本、本子邈、邈弟穆等結謀。紀字季行,少有美名,為丞相掾,王甚敬異之,遷侍中,守少府。邈字文然,穆字思然,以禕慷慨有日磾之風,又與王必善,因以閒之,若殺必,欲挾天子以攻魏,南援劉備。時關羽彊盛,而王在鄴,留必典兵督許中事。) อรรถาธิบายจากบันทึกซานฝูเจฺหว่ลู่จู้ ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  3. (文然等率雜人及家僮千餘人夜燒門攻必,禕遣人為內應,射必中肩。必不知攻者為誰,以素與禕善,走投禕,夜喚德禕,禕家不知是必,謂為文然等,錯應曰:「王長史已死乎?卿曹事立矣!」必乃更他路奔。一曰:必欲投禕,其帳下督謂必曰:「今日事竟知誰門而投入乎?」扶必奔南城。會天明,必猶在,文然等衆散,故敗。後十餘日,必竟以創死。) อรรถาธิบายจากบันทึกซานฝูเจฺหว่ลู่จู้ ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  4. (二十三年春正月,漢太醫令吉本與少府耿紀、司直韋晃等反,攻許,燒丞相長史王必營,必與潁川典農中郎將嚴匡討斬之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 1.
  5. แพทย์หญิงกัลยา สุพันธุ์วณิช.สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ เล่มต้น. สำนักพิมพ์เกลอเรียน. 2556.
  6. สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 23
  7. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 21
  8. สามก๊ก (ซันกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 69
  9. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 55
Kembali kehalaman sebelumnya