บังทอง
บังทอง (ค.ศ. 179 – 214)[a] หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า ผาง ถ่ง ( ; จีนตัวย่อ: 庞统; จีนตัวเต็ม: 龐統; พินอิน: Páng Tǒng) มีชื่อรองว่า ชื่อ-ยฺเหวียน (จีน: 士元; พินอิน: Shìyuán) เป็นนักการเมืองชาวจีน เป็นที่ปรึกษาของขุนศึกเล่าปี่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน บังทองในวัยเยาว์มักถูกผู้อื่นมองข้ามเพราะมีรูปร่างหน้าตาธรรมดา แต่สุมาเต๊กโชนับถือบังทองอย่างมากเรียกบังทองว่าเป็น "มงกุฎของบัณฑิตแห่งแดนใต้" บังทองเรียนตำรากับสุมาเต๊กโชพร้อมกับจูกัดเหลียง ชีซีและเอี่ยงลอง แล้วได้รับฉายาว่า "ฮองซู" (鳯雛 เฟิ่งฉู) แปลว่า "หงส์ดรุณ" ด้วยความที่บังทองมีท่าทีเป็นมิตรจึงได้รับราชการเป็นนักประเมินบุคคลในเมืองลำกุ๋น เมื่อพิจารณาบุคคลใด ๆ จะความสำคัญกับคุณธรรมมากกว่าความสามารถและส่งเสริมให้พวกเขาช่วยเหลือผู้อื่น บังทองรับราชการกับจิวยี่เป็นเวลาสั้น ๆ ได้ผูกมิตรเป็นเพื่อนกับลกเจ๊ก, กู้ เช่า และจวนจ๋อง ก่อนจะเข้าร่วมกับเล่าปี่ในปี ค.ศ. 209 หลังจากที่เล่าปี่ได้ขึ้นเป็นเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว เล่าปี่ตั้งให้บังทองมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยตามคำแนะนำของโลซกและจูกัดเหลียง และเลื่อนขึ้นเป็นที่ปรึกษาการทหารขุนพลองครักษ์ บังทองแนะนำเล่าปี่ให้ยึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว แล้วได้ติดตามเล่าปี่ไปร่วมการศึกที่เอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) รบกับขุนศึกเล่าเจี้ยง แต่บังทองถูกสังหารโดยเกาทัณฑ์ลูกหลงระหว่างการรบที่อำเภอลกเสีย (ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของนครกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน) ในปี ค.ศ. 214[2] ชีวประวัติช่วงต้นบังทองเป็นชาวเมืองซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) มณฑลเกงจิ๋ว ในวัยเยาว์บังทองเป็นคนที่ดูธรรมดาและเรียบง่าย ไม่เป็นที่สนใจมากนัก เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (เมื่ออายุราว 19 ปี) ได้ไปเยี่ยมสุมาเต๊กโช (ซือหม่า ฮุย ชื่อรอง เต๋อเชา) ผู้มีชื่อเสียงในการแนะนำผู้มีความสามารถ ทั้งคู่มาที่ต้นหม่อน สุมาเต๊กโชปีนขึ้นไปเก็บผลหม่อน ส่วนบังทองนั่งอยู่ด้านล่าง ทั้งคู่สนทนากันตลอดทั้งวันจนย่ำค่ำ สุมาเต๊กโชเห็นว่าบังทองเป็นบุคคลไม่ธรรมดาจึงเรียกบังทองว่าเป็น "มงกุฎของบัณฑิตแห่งแดนใต้" (南州士之冠冕 หนานโจวชื่อจือกวันเหมี่ยน) ตั้งแต่นั้นมาบังทองก็เริ่มมีชื่อเสียงในหมู่บัณฑิต[สามก๊กจี่ 2] บังทองได้รับการตั้งฉายานามว่า "ฮองซู" (鳳雛 เฟิ่งฉู; มีความหมายว่า "หงส์ดรุณ") จากบังเต๊กก๋ง (龐德公 ผาง เต๋อกง) ผู้เป็นอา เช่นเดียวกับจูกัดเหลียงที่มีฉายานามว่า "ฮกหลง" (臥龍 วั่วหลง; มีความหมายว่า "มังกรหลับ") และสุมาเต๊กโชที่มีฉายานามว่า "ฉุ่ยจิ้ง" (水鏡; มีความหมายว่า "กระจกน้ำ")[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 1] บังเต๊กก๋งอาของบังทองเป็นชาวเมืองซงหยงเช่นกัน บังเต๊กก๋งรู้จักกันกับจูกัดเหลียง จูกัดเหลียงมักคำนับบังเต๊กก๋งด้วยความเคารพอย่างสูงเมื่อไปเยี่ยมที่บ้าน ครั้งหนึ่งบังเต๊กก๋งข้ามแม่น้ำไกซุย (沔水 เหมียนสุ่ย) เพื่อไปไหว้สักการะสุสานบรรพบุรุษ สุมาเต๊กโชไปเยี่ยมที่บ้านของบังเต๊กก๋ง จึงเรียกภรรยาและลูก ๆ ของบังเต๊กก๋งและบอกให้เตรียมอาหารสำหรับแขกคนสำคัญที่มีเพียงชีซีที่รู้จัก ซึ่งจะมาพบเขาและบังเต๊กก๋ง ภรรยาและลูก ๆ ของบังเต๊กก๋งทำตามคำของสุมาเต๊กโชด้วยความเคารพ ต่อมาไม่นานบังเต๊กก๋งกลับมาและยืนต้อนรับแขกแม้ไม่รู้ว่าแขกที่มานี้เป็นใคร ให้ความสนิทใกล้ชิดเหมือนเป็นครอบครัวและไม่มีการแบ่งแยกระหว่างแขกและเจ้าบ้าน สุมาเต๊กโชมีอายุน้อยกว่าบังเต๊กก๋งสิบปี จึงปฏิบัติต่อบังเต๊กก๋งเหมือนเป็นพี่ชาย เรียกบังเต๊กก๋งด้วยความนับถือว่าบังก๋ง (龐公 ผางกง) จนทำให้ผู้คนคิดว่าชื่อ "บังก๋ง" เป็นชื่อรองของบังเต๊กก๋ง แต่ความจริงไม่ใช่[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 2] บุตรชายของบังเต๊กก๋งชื่อว่า ผาง ชานหมิน (龐山民) ก็เป็นผู้มีชื่อเสียงเช่นกัน และได้แต่งงานกับพี่สาวคนรองของจูกัดเหลียง ภายหลังได้รับราชการในตำแหน่งหฺวังเหมินลี่ (黃門吏) แต่เสียชีวิตขณะยังหนุ่ม บุตรชายของผาง ชานหมินชื่อผาง ฮฺว่าน (龐渙) ชื่อรอง ชื่อเหวิน (世文) มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองจังเกอ (牂牁太守 จังเกอไท่โฉฺ่ว) ระหว่างปี ค.ศ. 280 ถึง 289 เมื่อบังทองอยู่ในวัยเยาว์ยังไม่มีใครให้ความสนใจบังทอง มีเพียงบังเต๊กก๋งที่ประเมินบังทองไว้สูง เมื่อบังทองอายุสิบแปดปี บังทองถูกส่งมาพบสุมาเต๊กโช หลังจากสุมาเต๊กโชสนทนากับบังทองก็ถอนใจพูดว่า “บังเต๊กก๋งมองคนออกจริง ๆ เด็กผู้นี้คือผู้มีคุณธรรมสูงส่งอย่างแท้จริง”[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 3] รับราชการเป็นนักประเมินบุคคลภายหลังบังทองเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง (功曹 กงเฉา) ในเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอเจียงหลิง มณฑลหูเป่ย์) บังทองเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือและให้คำปรึกษา จึงได้รับการเสนอชื่อให้มาทำหน้าที่เป็นนักประเมินบุคคล เมื่อบังทองประเมินผู้คน จะให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรมประจำตนมากกว่าเรื่องความสามารถ บังทองชอบบทเรียนด้านจริยธรรมและพยายามรักษามาตรฐานทางศีลธรรมให้สูงอยู่เสมอ เมื่อถูกขอให้ประเมินบุคคลก็มักจะยกย่องเกินจริง[สามก๊กจี่ 3] เวลานั้นผู้คนไม่เข้าใจจึงถามบังทองว่าทำไมจึงยกย่องผู้คนเกินจริง บังทองตอบว่า:
รับใช้จิวยี่ในปี ค.ศ. 209 จิวยี่ ขุนพลของขุนศึกซุนกวน เข้ายึดเมืองลำกุ๋นหลังชนะในยุทธการที่กังเหลง หลังจิวยี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองลำกุ๋น บังทองได้เข้ารับราชการกับจิวยี่ เมื่อจิวยี่เสียชีวิตในปี ค.ศ. 210 บังทองร่วมในขบวนคุ้มกันโลงศพกลับไปกังตั๋งและเข้าร่วมในพิธีศพ ขุนนางหลายคนของกังตั๋งได้ยินชื่อเสียงของบังทอง เมื่อบังทองกำลังจะออกเดินทางกลับเกงจิ๋ว เหล่าขุนนางจึงมารวมตัวพบบังทองที่ประตูตะวันตก (昌門 ชางเหมิน) ในขุนนางเหล่านั้น บังทองได้พบและเป็นเพื่อนกับลกเจ๊ก กู้ เช่า (บุตรชายของโกะหยง) และจวนจ๋อง บังทองยังประเมินแต่ละคนแยกกัน โดยประเมินลกเจ๊กไว้ว่าเป็น "ม้าที่วิ่งไม่เร็วแต่มีขวัญกำลังใจแข็งแกร่ง" ประเมินกู้ เช่าว่าเป็น "โคที่ร่างกายอ่อนแอ แต่แบกสัมภาระไปได้ไกล"[สามก๊กจี่ 5] จากนั้นจึงเปรียบจวนจ๋องว่าเป็นดั่งฟ่าน จื่อเจา (樊子昭) แห่งเมืองยีหลำ (หรู่หนัน) กล่าวว่าเป็นคนใจกว้างผู้ชื่นชมบุรุษที่น่านับถือ[สามก๊กจี่ 6] พวกเขาต่างพึงพอใจต่อการประเมินของบังทอง มีบางคนถามบังทองว่า "นั่นหมายความว่าลกเจ๊กดีกว่ากู้ เช่าหรือ" บังทองตอบว่า "แม้ว่าม้าจะวิ่งเร็ว แต่รับน้ำหนักได้เพียงคนหนึ่งคน โคสามารถเดินทางได้ 300 ลี้ต่อวัน สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าคนหนึ่งคน!" ภายหลังกู้ เช่าถามบังทองว่า "ท่านมีชื่อเสียงในฐานะผู้เก่งในการประเมินบุคคล ระหว่างเราสองคนท่านคิดว่าใครดีกว่ากัน" บังทองตอบว่า "ข้าไม่ดีเท่าท่านในเรื่องการคบหาสมาคมกับผู้คนและการประเมินคนเหล่านั้น แต่เมื่อเป็นเรื่องการเมืองและกลยุทธ์ ดูเหมือนข้าจะนำหน้าท่านไปหนึ่งวัน" กู้ เช่าเห็นด้วยกับบังทองก็ยิ่งสนิทกับบังทองมากขึ้น[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 4] ก่อนที่บังทองจะจากไป ลกเจ๊กและกู้ เช่าบอกเขาว่า "เมื่อแผ่นดินกลับมาสงบสุข เราอยากจะสนทนากับท่านเกี่ยวกับผู้มีชื่อเสียง" ทั้งคู่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับบังทอง[สามก๊กจี่ 7] รับใช้เล่าปี่ที่เกงจิ๋วบังทองกลายมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ หลังจากเล่าปี่ได้ขึ้นเป็นเจ้ามณฑลของมณฑลเกงจิ๋วในปี ค.ศ. 210 เริ่มแรกบังทองรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ) และนายอำเภอ (縣令 เซี่ยนลิ่ง) ของอำเภอลอยเอี๋ยง (耒陽 เหล่ยหยาง) แต่ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งเพราะทำงานได้ไม่ดี โลซกขุนพลของซุนกวนเขียนหนังสือถึงเล่าปี่ แนะนำว่าบังทองเป็นผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ควรช่วงใช้ในภารกิจที่สำคัญ ไม่ควรให้มาจัดการพื้นที่เล็ก ๆ จูกัดเหลียง นักยุทธศาสตร์ของเล่าปี่ก็แนะนำบังทองเช่นกัน เล่าปี่จึงไปพบกับบังทอง ก็รู้สึกประทับใจในความสามารถและวางใจมอบหมายในเรื่องสำคัญ เล่าปี่รับบังทองมาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยสำนักส่วนกลาง (治中從事 จื้อจงฉงชื่อ) เล่าปี่ปฏิบัติต่อบังทองอย่างให้เกียรติรองลงมาจากจูกัดเหลียง ภายหลังแต่งตั้งทั้งบังทองและจูกัดเหลียงเป็นขุนพลราชองครักษ์ที่ปรึกษาทัพ (軍師中郎將 จวินชือจงหลางเจี้ยง)[สามก๊กจี่ 8] ขณะร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ เล่าปี่ถามบังทองว่า "ครั้งหนึ่งท่านทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองของโจฺว กงจิ่น[b] ก่อนหน้านี้เมื่อข้าไปยังแดนง่อ ข้าได้ยินว่าเขาลอบยุจ้งโหมว[c] ให้กักตัวข้า นี่เป็นเรื่องจริงหรือ ผู้ใดอยู่ด้วยนายย่อมต้องซื่อสัตย์ต่อนายอย่างถึงที่สุด" บังทองยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เล่าปี่จึงถอนใจพูดว่า "เวลานั้นข้าตกอยู่ในอันตรายและพวกเขาได้ช่วยข้าไว้ ข้าจึงไม่อาจปฏิเสธคำเชิญและเกือบหนีไม่พ้นเงื้อมมือของจิวยี่! ผู้มีสติปัญญาความสามารถในแผ่นดินนี้สามารถมองทะลุอุบายของอีกคนออก ก่อนที่ข้าจะไป ขงเบ้ง[d]มองอุบายนี้ออกจึงคัดค้านสุดใจ แต่ข้าไม่ฟังเพราะข้าเห็นว่าข้าเป็นแนวป้องกันทางทิศเหนือของจ้งโหมว เขาจึงต้องการความช่วยเหลือของข้า ข้าไม่ได้สงสัยเขาเลย นี่เป็นการเข้าถ้ำเสือโดยแท้ เป็นแผนที่เสี่ยงมาก"[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 5] ช่วยเหลือเล่าปี่ในการยึดครองเอ๊กจิ๋วราวปี ค.ศ. 210 บังทองโน้มน้าวเล่าปี่ให้เข้ายึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) อาศัยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของเอ๊กจิ๋วในการช่วงชิงอำนาจกับโจโฉ บังทองกล่าวว่า:
เล่าปี่ตอบว่า:
บังทองตอบว่า:
เล่าปี่จึงปฏิบัติตามคำแนะนำของบังทอง[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 8] ในปี ค.ศ. 211 เล่าปี่นำทัพจากเกงจิ๋วไปยังเอ๊กจิ๋ว อ้างว่าเพื่อช่วยเล่าเจี้ยงเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋วในการต้านกับบุกของขุนศึกเตียวฬ่อแห่งเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) จูกัดเหลียงยังคงอยู่รักษาเกงจิ๋วด้านหลังในขณะที่บังทองติดตามเล่าปี่ไปเอ๊กจิ๋ว[สามก๊กจี่ 9] เล่าเจี้ยงต้อนรับเล่าปี่ที่อำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน) บังทองโน้มน้าวเล่าปี่ให้ใช้โอกาสนี้จับตัวเล่าเจี้ยงและบังคับให้ยกมณฑลเอ๊กจิ๋วให้ แต่เล่าปี่ปฏิเสธเพราะตนเพิ่งเข้ามาเอ๊กจิ๋วใหม่ ๆ ยังไม่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคง ภายหลังเล่าเจี้ยงเดินทางกลับไปยังเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) เมืองเอกของมณฑลเอ๊กจิ๋ว[สามก๊กจี่ 10] แนะนำเล่าปี่รบกับเล่าเจี้ยงบังทองเสนอแผนสามข้อให้เล่าปี่เลือก:
บังทองบอกเล่าปี่ว่าถ้าใช้เวลาตัดสินใจนานเกินไปและไม่ทำอะไรสักอย่างจะตกอยู่ในอันตรายและไม่อาจรอดได้ [สามก๊กจี่ 11] เล่าปี่ตัดสินใจเลือกปฏิบัติตามแผนขั้นกลาง สังหารเอียวหวยและโกภาย นำกองกำลังมุ่งไปยังเซงโต๋ พิชิตได้ดินแดนหลายแห่งของเล่าเจี้ยงไปตลอดทาง[สามก๊กจี่ 12] ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเล่าปี่ระหว่างการศึกเมื่อเล่าปี่แสดงออกซึ่งความยินดีระหว่างงานเลี้ยงที่อำเภอโปยเสียเพื่อฉลองความสำเร็จ ได้กล่าวว่าวันนี้ควรเป็นวันรื่นเริง บังทองตำหนิว่า "เฉลิมฉลองระหว่างการรุกรานดินแดนของคนอื่นไม่เป็นสิ่งที่ผู้ทรงคุณธรรมควรทำเลย" เล่าปี่กำลังเมาสุราก็โต้กลับด้วยความโกรธว่า "จิวบูอ๋อง (โจวอู่หวัง) ก็ชื่นชมยินดีหลังชัยชนะเหนือติวอ๋อง (โจ้วหวัง) นี่ไม่ใช่แบบอย่างของผู้ทรงคุณธรรมหรอกหรือ ท่านกล่าวผิดไปแล้ว ออกไปเดี๋ยวนี้!"[สามก๊กจี่ 13] หลังบังทองออกไป เล่าปี่กลับมารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่พูดออกไปจึงให้เชิญบังทองกลับมา บังทองกลับมายังที่นั่งและไม่พูดอะไร ทำตัวเหมือนปกติ เล่าปี่ถามว่า "ที่ทุ่มเถียงกันเมื่อครู่ ท่านคิดว่าใครเป็นฝ่ายผิด" บังทองตอบว่า "ทั้งท่านและข้าต่างก็ผิดกันทั้งคู่" เล่าปี่หัวเราะ แล้วงานเลี้ยงก็ดำเนินต่อไป[สามก๊กจี่ 14] สี จั้วฉื่อวิจารณ์เหตุการณ์นี้ว่า:
เผย์ ซงจือเสริมว่า :
เสียชีวิตภายหลังบังทองเข้าร่วมในศึกรบกับกองกำลังของเล่าเจี้ยงที่อำเภอลกเสีย (雒縣 ลั่วเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของนครกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน) บังทองเสียชีวิตหลังถูกยิงด้วยเกาทัณฑ์ลูกหลงในระหว่างการรบขณะอายุ 36 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เล่าปี่เสียใจอย่างสุดซึ้งกับการเสียชีวิตของบังทองและจะร้องไห้ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงบังทอง บังทองได้รับบรรดาศักดิ์ย้อนหลังระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหฺว) หลังเล่าปี่ขึ้นเป็นจักรพรรดิและสถาปนารัฐจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 221[สามก๊กจี่ 15] ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 260 พระเจ้าเล่าเสี้ยนโอรสของพระเจ้าเล่าปี่ แต่งตั้งย้อนหลังให้บังทองเป็น "จิ้งโหว" (靖侯)[สามก๊กจี่ 16] เล่าปี่ให้สร้างศาลและสุสานอุทิศแก่บังทองใกล้อำเภอลกเสีย ศาลและสุสานนี้ปัจจุบันตั้งอยู่เขตเมืองไป่หม่ากวัน (白馬關鎮) อำเภอหลัวเจียง มณฑลเสฉวน ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ศาลและสุสานกลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองในระดับชาติ[3] ถัง เกิงกล่าวถึงการเสียชีวิตของบังทองในงานเขียนของถัง เกิง (唐庚) บัณฑิตในยุคราชวงศ์ซ่ง ที่ชื่อว่า "กรณีเบ็ดเตล็ดสามก๊ก" (三國雜事 ซานกั๋วจ๋าชื่อ) มีการเขียนแสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตของบังทองขณะอายุยังไม่มาก รำลึกว่าขณะที่จูกัดเหลียงและบังทองเป็นเพื่อนร่วมสำนัก จูกัดเหลียงเสียชีวิตขณะอายุค่อนข้างน้อยที่ 53 ปี ส่วนบังทองเสียชีวิตไปก่อนแล้วตั้งแต่ 20 ปีก่อน จากนั้นจึงให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าในปี ค.ศ. 219 เมื่อเล่าปี่ได้รับตำแหน่งเป็น "ฮันต๋งอ๋อง" นั้นยังเป็นปีเดียวกันกับที่กวนอูเสียชีวิต[e] ปีถัดมา ค.ศ. 220 ฮองตงและหวดเจ้งเสียชีวิต ปีถัดมาอีก ค.ศ. 221 เตียวหุยเสียชีวิต[f] ปีถัดมาอีก ค.ศ. 222 ม้าเฉียวและม้าเลี้ยงเสียชีวิต[g][4] ก่อนที่รากฐานจะสมบูรณ์ ผู้กล้าก็หายไปทีละคนราวกับว่าพวกเขาถูกลักพาตัวไป ปีถัดมา ค.ศ. 223 เมื่อเล่าเสี้ยนขึ้นครองบัลลังก์ ในหมู่ผู้กล้าเหลือเพียงจูกัดเหลียงและจูล่งที่ยังอยู่ เจ็ดปีต่อมา ค.ศ. 229 จูล่งเสียชีวิต ส่วนจูกัดเหลียงชีวิตในอีก 5 ปีถัดมา ค.ศ. 234 ในเวลานี้ ผู้สร้างความสำเร็จในอดีต (勳舊 ซฺวินจิ้ว) ล้วนจากไปแล้ว[5] หวดเจ้งเพิ่งจะอายุ 44 ปี ม้าเฉียว 46 ปี และม้าเลี้ยง 34 ปี เตียวหุยกล่าวกันว่าอายุน้อยกว่าทั้งเล่าปี่และกวนอู เนื่องจากกวนอูอายุมากกว่าเตียวหุยหลายปี น่าจะอายุราวห้าสิบปีขึ้นไปขณะเสียชีวิต ฮักจุ้นเสียชีวิตขณะอายุเพียง 39 ปี[6] บุคคลที่โดดเด่นเหล่านี้ล้วนเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ที่ยอดเยี่ยมแต่มีชีวิตที่สั้น ในขณะที่เจียวจิ๋ว[h] มีอายุมากว่าเจ็ดสิบปี ด้วยเหตุนี้เป็นที่กระจ่างว่าสวรรค์ไม่โปรดราชวงศ์ฮั่นอีกต่อไป[7] ครอบครัวและทายาทหลังการเสียชีวิตของบังทอง เล่าปี่ตั้งให้บิดาของบังทอง (ซึ่งไม่มีการบันทึกชื่อในประวัติศาสตร์) ให้เป็นขุนนางที่ปรึกษา (議郎 อี้หลาง) และภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นขุนนางที่ปรึกษาผู้เสนอคำค้าน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) จูกัดเหลียงปฏิบัติต่อบิดาของบังทองด้วยความเคารพอย่างสูง[สามก๊กจี่ 17] บังทองมีน้องชายชื่อ ผาง หลิน (龐林) รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในที่ว่าการมณฑลเกงจิ๋ว (荊州治中從事 จิงโจฺวจื้อจงฉงชื่อ) เข้าร่วมในยุทธการที่อิเหลงในปี ค.ศ. 221–222 ร่วมกับขุนพลอุยก๋วนรับผิดชอบป้องกันฝั่งเหนือของแม่น้ำจากการโจมตีที่อาจจะมีโดยวุยก๊กรัฐศัตรูของจ๊กก๊ก หลังเล่าปี่พ่ายแพ้ต่อลกซุนขุนพลของซุนกวนในยุทธการที่อิเหลง ผาง หลินและอุยก๋วนถูกแยกโดดเดี่ยวจากทัพที่เหลือของเล่าปี่และไม่สามารถกลับจ๊กก๊กได้ จึงจำต้องนำกองกำลังของตนยอมสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก ผาง หลินรับราชการเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองกิลกกุ๋น (鉅鹿郡 จวี้ลู่จวิ้น) ในวุยก๊ก และได้รับบรรดาศักดิ์โหว[สามก๊กจี่ 18] ภรรยาของผาง หลินเป็นน้องสาวของสี เจิน ในปี ค.ศ. 208 ภรรยาของผาง หลินถูกแยกจากผาง หลิน เมื่อขุนศึกโจโฉนำทัพรุกรานเกงจิ๋วและยึดซงหยง ก่อนจะกลับมาอยู่ร่วมกับผาง หลินอีกครั้งในปี ค.ศ. 222 เมื่อผาง หลินและอุยก๋วนเข้าด้วยวุยก๊กหลังยุทธการที่อิเหลง ในช่วงเวลา 14 ปีที่อยู่แยกกัน ภรรยาของผาง หลินยังค่อซื่อสัตย์ต่อสามีและเลี้ยงดูลูกสาวด้วยตนเอง จักรพรรดิวุยก๊กโจผียกย่องคุณธรรมของภรรยาผาง หลิน และพระราชทานของขวัญให้[อรรถาธิบายสามก๊กจี่ 11] บังทองมีบุตรชายชื่อ ผาง หง (龐宏) ชื่อรอง จวี้ชื่อ (巨師) ผาง หงรับราชการในราชสำนักจ๊กก๊ก มีชื่อเสียงเรื่องความมัธยัสถ์และการพูดตรงไปตรงมา ผาง หงมีเรื่องขัดแย้งกับเฉิน ตี (陳袛) ขุนนางตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) เฉิน ตีวิพากย์วิจารณ์ผาง หง และขัดขวางผาง หงไม่ให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ผาง หงเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองฝูหลิง (涪陵郡 ฝูหลิงจวิ้น)[สามก๊กจี่ 19] คำวิจารณ์ตันซิ่ว (เฉิน โชฺ่ว) ผู้เขียนชีวประวัติบังทองในสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) วิจารณ์บังทองไว้ดังนี้: "บังทองเป็นผู้มีเสน่ห์และเก่งในการคบหากับผู้อื่น หมั่นศึกษาคัมภีร์ซึ่งทำให้เขาเชี่ยวชาญในการวางแผนการ ในช่วงเวลานั้นชาวมณฑลเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋วต่างเห็นว่าเขามีพรสวรรค์พิเศษ เมื่อเทียบกับขุนนางจากวุยก๊กแล้ว บังทองคล้ายคลึงกับซุนฮกและซุนฮิว ส่วนหวดเจ้งเทียบได้กับเทีย (หยก) และกุย (แก)[สามก๊กจี่ 20] หยาง ซี่เขียนวิจารณ์บังทองไว้ดังนี้: "ที่ปรึกษาการทหารที่แสดงออกอย่างกระจ่างแจ้งทั้งความสง่าและคุณธรรม อุทิศชีวิตเพื่อถางเส้นทางให้เจ้านาย ในใจมีความภักดีและเสนอความคิดเห็นอยู่เสมอ แต่จากการกระทำอันชอบธรรมทั้งหมดนั้น กลับได้รับความตายสนองตอบคุณธรรม"[สามก๊กจี่ 21] ในนิยายสามก๊กบังทองปรากฏในฐานะตัวละครในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนิยาย บังทองมีบทบาทเป็นนักยุทธศาสตร์การทหารที่เก่งกาจเทียบเท่ากับจูกัดเหลียง สุมาเต๊กโชแนะนำบังทองและจูกัดเหลียงในฐานะผู้มีความสามารถในการช่วยเล่าปี่โดยพูดว่า "อันฮกหลง (มังกรหลับ) กับฮองซู (หงส์ดรุณ) สองคนนี้ถ้าได้มาเปนที่ปรึกษาด้วยแต่ผู้ใดผู้หนึ่ง ก็อาจสามารถจะคิดอ่านปราบปรามศัตรูแผ่นดินให้สงบได้"[8][9] ในตอนที่ 47[i] ก่อนยุทธการที่เซ็กเพ็ก เจียวก้านแนะนำบังทองให้โจโฉ บังทองเสนอ "กลห่วงโซ่" (連環計 เหลียนหฺวันจี้) ให้กับโจโฉ แผนนี้คือการเชื่อมโยงเรือรบของโจโฉเข้าด้วยกันด้วยโซ่เหล็กที่แข็งแรง เพื่อทำให้ลำเรือมั่นคงมากขึ้นเวลาแล่น รวมถึงลดการเมาเรือของทหารโจโฉเพราะเรือโคลงเคลง แผนนี้ทำให้โจโฉพ่ายแพ้ในยุทธนาวีเพราะไม่สามารถแยกเรือออกจากกันได้ทันกาลขณะถูกโจมตีด้วยไฟ เมื่อเรือลำหนึ่งถูกจุดไฟ เรือลำอื่น ๆ ที่เชื่องโยงกันก็จะไหม้ไฟเช่นกัน[11][10][12] การเสียชีวิตของบังทองระหว่างการศึกระหว่างเล่าปี่และเล่าเจี้ยงถูกดัดแปลงเสริมแต่งอย่างมากในตอนที่ 63[j] ในช่วงเริ่มต้นของยุทธการที่อำเภอลกเสีย ก่อนที่เล่าปี่และบังทองจะแยกกองกำลังเข้าโจมตีแบบสองทาง ม้าของบังทองเกิดพยศและสะบัดบังทองตกจากหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ดูเป็นลางร้าย เล่าปี่จึงให้บังทองยืมม้ามีชื่อเสียงของตนที่ชื่อเต๊กเลา (的盧 ตี้หลู) แต่เต๊กเลานั้นเป็นม้าที่เชื่อกันว่านำโชคร้ายมาสู่ผู้ขี่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยช่วยชีวิตเล่าปี่มาก่อนก็ตาม เตียวหยิมขุนพลของเล่าเจี้ยงผู้วางแผนซุ่มโจมตีใกล้อำเภอลกเสียสังเกตเห็นม้าเต๊กเลาแล้วเข้าใจผิดว่าผู้ขี่คือเล่าปี่ จึงสั่งทหารเกาทัณฑ์ให้ยิงไปที่ผู้ขี่ม้าเต๊กเลา บังทองถูกเกาทัณฑ์หลายดอกยิงเสียบร่างและเสียชีวิตในที่นั้น สถานที่ที่บังทองเสียชีวิตเรียกว่า "ลกห้องโห" (落鳳坡 ลั่วเฟิ่งพัว) หรือ"เนินหงส์ร่วง"[14][13] ในวัฒนธรรมสมัยนิยมบังทองปรากฏเป็นตัวละครที่สามารถเล่นได้ในซีรีส์วิดีโอเกมของโคเอ ได้แก่ ไดนาสตีวอริเออส์, วอริเออส์โอโรจิ และ ไดนาสตีแทกติกส์ บังทองเป็นลูกศิษย์อัจฉริยะลำดับที่ 6 จากทั้งหมด 8 คนของอาจารย์คันฉ่องวารี (สุมาเต๊กโช) ในการ์ตูนจีน หงสาจอมราชันย์ หมายเหตุ
ดูเพิ่มอ้างอิงอ้างอิงจากสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ)
อ้างอิงจากอรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้)
รายการอ้างอิงอื่น ๆ
บรรณานุกรม
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ บังทอง |