ตังไทฮอ
ต่งชื่อ (จีน: 董氏; สำเนียงฮกเกี้ยนว่า "ตังสี"; แปลว่า "นางต่ง/ตัง"; สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 189) เป็นสตรีจากสกุลต่ง (董) ซึ่งเป็นภริยาของขุนนางผู้หนึ่งในราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของประเทศจีน ภายหลังบุตรชายได้ครองราชย์เป็นฮั่นหลิงตี้ (漢靈帝; ฮกเกี้ยนว่า "ฮั่นเลนเต้") ต่งชื่อจึงได้ดำรงตำแหน่งพระมารดา เรียก "หฺวังไท่โฮ่ว" (皇太后; ฮกเกี้ยนว่า "ฮองไทเฮา"; แปลว่า "มหาราชเทวี") ครั้นหฺวังจื่อเปี้ยน (皇子辯; ฮกเกี้ยนว่า "หองจูเปียน"; แปลว่า "ราชบุตรเปี้ยน/เปียน") พระโอรสของฮั่นหลิงตี้ และหลานของนาง ได้ครองราชย์ต่อ ต่งชื่อจึงได้เป็นพระเจ้าย่า เรียกว่า "ไท่หฺวังไท่โฮ่ว" (太皇太后; ฮกเกี้ยนว่า "ไทฮองไทเฮา"; แปลว่า "อัครมหาราชเทวี") ตามลำดับ แต่นิยมเรียกขานว่า "ต่งไท่โฮ่ว" (董太后; ฮกเกี้ยนว่า "ตังไทเฮา/ไทฮอ"; แปลว่า "มหาเทวีต่ง/ตัง") ต่งไท่โฮ่วถูกดูแคลนอยู่เสมอที่มีที่มาต่ำต้อยแล้วได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงเพราะโชคช่วย นอกจากนี้ ในรัชกาลฮั่นหลิงตี้ ต่งไท่โฮ่วยังมีปัญหากับลูกสะใภ้ คือ เหอหฺวังโฮ่ว (何皇后; ฮกเกี้ยนว่า "โฮฮองเฮา"; แปลว่า "ราชเทวีเหอ/โฮ") พระมเหสีของฮั่นหลิงตี้ เพราะเหอหฺวังโฮ่วประสงค์ให้หฺวังจื่อเปี้ยน พระโอรสของตน ได้ครองราชย์ต่อ แต่ต่งไท่โฮ่วต้องการให้หลานคนเล็ก คือ หฺวังจื่อเสีย (皇子協; ฮกเกี้ยนว่า "หองจูเหียบ"; แปลว่า "ราชบุตรเสีย/เหียบ") พระโอรสอีกพระองค์ของฮั่นหลิงตี้ซึ่งประสูติแต่หวังชื่อ (王氏; ฮกเกี้ยนว่า "อองสี"; แปลว่า "นางหวัง/ออง") ได้ครองราชย์มากกว่า ครั้นฮั่นหลิงตี้สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 189 โดยมิได้ทรงกำหนดรัชทายาทไว้ หฺวังจื่อเปี้ยน ในฐานะพระโอรสพระองค์โต ได้ครองราชย์ต่อ และเหอหฺวังโฮ่วก็ได้ดำรงตำแหน่งพระมารดา (หฺวังไท่โฮ่ว) พระนางกับพระเชษฐา คือ เหอ จิ้น (何進; ฮกเกี้ยนว่า "โฮจิ๋น") ซึ่งคุมกองทัพ อาศัยโอกาสนี้ถอดต่งไท่โฮ่วออกจากฐานันดรศักดิ์ทั้งหมด ไม่ช้าหลังจากนั้น ต่งไท่โฮ่วประชวรสิ้นพระชนม์ ซึ่งผู้คนทั่วไปเห็นว่า เป็นฝีมือเหอหฺวังโฮ่ว พระชนม์บ้านเกิดของต่งชื่อ คือ เหอเจี้ยนจฺวิ้น (河間郡; ฮกเกี้ยนว่า "โฮเกงกุน"; แปลว่า "เขตเหอเจี้ยน/โฮเกง") ปัจจุบันอยู่บริเวณนครชางโจว ในมณฑลเหอเป่ย์ (河北省; ฮกเกี้ยนว่า "โฮปัก") ต่งชื่อเป็นภริยาของหลิว ฉาง (劉萇) ขุนนางบรรดาศักดิ์ "เจี่ยตู๋ถิงโหฺว" (解犢亭侯) หลิว ฉาง เป็นเหลนของหลิว คาย (劉開) พระโอรสพระองค์ที่หกของฮั่นจางตี้ (漢章帝) จักพรรดิราชวงศ์ฮั่น[1] ต่งชื่อกับสามีมีบุตรชาย คือ หลิว หง (劉宏) เกิดเมื่อ ค.ศ. 156 แต่ทั้งคู่จะมีบุตรคนอื่น ๆ อีกหรือไม่ ไม่ปรากฏ[2] ภายหลัง หลิว ฉาง เสียชีวิต หลิว หง จึงได้สืบบรรดาศักดิ์ "เจี่ยตู๋ถิงโหฺว" ใน ค.ศ. 168 ฮั่นหฺวันตี้ (漢桓帝) จักรพรรดิพระองค์ที่ 27 ของราชวงศ์ฮั่น สิ้นพระชนม์ และไร้รัชทายาท พระมเหสี คือ โต้วไท่โฮ่ว (竇太后) ทรงรับหลิว หง วัย 12 ปี เป็นพระโอรสบุญธรรม และให้หลิว หง ครองราชย์ต่อเป็นฮั่นหลิงตี้ภายใต้การสำเร็จราชการของโต้วไท่โฮ่วเอง เมื่อได้เป็นจักรพรรดิแล้ว ฮั่นหลิงตี้ทรงตั้งหลิว ฉาง พระบิดา ขึ้นเป็นเจ้า เรียก "เซี่ยวเหรินหฺวัง" (孝仁皇; แปลว่า "กษัตริย์ผู้การุญกตัญญู") ส่วนพระมารดา คือ ต่งชื่อ ก็ทรงตั้งเป็นเจ้า เรียก "เชิ่น-ยฺเหวียนกุ้ยเหริน" (慎園貴人; แปลว่า "กุ้ยเหรินแห่งสวนเชิ่น") ครั้น ค.ศ. 169 โต้วไท่โฮ่วถูกถอดจากอำนาจ ฮั่นหลิงตี้ทรงให้ข้าหลวงไปเชิญต่งชื่อ พระมารดา เข้ามาอยู่ที่วังหย่งเล่อ (永樂宮) ในพระนครลั่วหยาง (洛阳; ฮกเกี้ยนว่า "ลกเอี๋ยง") และทรงเฉลิมพระนามพระมารดาเป็น "เซี่ยวเหรินหฺวังโฮ่ว" (孝仁皇后; แปลว่า "ราชเทวีผู้การุญกตัญญู") แต่นิยมเรียกกันว่า "ต่งไท่โฮ่ว" (มหาเทวีต่ง) นอกจากนี้ ฮั่นหลิงตี้ยังทรงตั้งต๋ง ฉ่ง (董寵) พระเชษฐาของพระมารดา เป็นขุนนางบรรดาศักดิ์ "จื๋อจินอู๋" (執金吾) แต่ภายหลัง ต๋ง ฉ่ง ถูกจับฐานแอบอ้างพระเสาวนีย์ของต่งไท่โฮ่ว และถูกจำคุกจนเสียชีวิตอยู่ในเรือนจำ[3] ต่งไท่โฮ่วมิได้เกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดิน กระทั่งโต้วไท่โฮ่วสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 172 ต่งไท่โฮ่วจึงทรงแนะนำให้พระโอรสแสวงหาประโยชน์ด้วยการขายตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่งผลให้ระบบราชการเสื่อมทรามและเกิดการฉ้อฉลอย่างกว้างขวาง ต่อมาใน ค.ศ. 188 ต่ง จ้ง (董重) หลานชายของต่งไท่โฮ่ว ซึ่งดำรงตำแหน่ง "เว่ย์เว่ย์" (衛尉) บัญชาการทหารรักษาพระองค์ ได้เลื่อนเป็น "เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน" (驃騎將軍; แปลว่า "แม่ทัพอานขาว") บัญชาการทหารกว่าหนึ่งพันกอง[4] ใน ค.ศ. 181 หวังชื่อ พระสนมของฮั่นหลิงตี้ ซึ่งมีฐานันดรศักดิ์ว่า "หวังเหฺม่ย์เหริน" (王美人; ฮกเกี้ยนว่า "อองบิหยิน"; แปลว่า "เหฺม่ย์เหริน/บิหยิน(แซ่)หวัง/ออง") ประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่งให้แก่ฮั่นหลิงตี้ คือ หฺวังจื่อเสีย แต่เหอหฺวังโฮ่ว พระมเหสีของฮั่นหลิงตี้ ซึ่งประสูติพระโอรส คือ หฺวังจื่อเปี้ยน ทรงวางยาพิษฆ่าหวังชื่อ ต่งไท่โฮ่วจึงทรงนำหฺวังจื่อเสียมาเลี้ยงดูแทน[5] เนื่องจากเหอหฺวังโฮ่วปรารถนาจะให้พระโอรสของตน คือ หฺวังจื่อเปี้ยน ได้ครองราชย์ต่อ ขณะที่ต่งไท่โฮ่วก็ประสงค์จะให้หฺวังจื่อเสีย ผู้เป็นหลาน ได้ครองราชย์ต่อ ทำให้ต่งไท่โฮ่วกับเหอหฺวังโฮ่ขัดแย้งกันบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ต่งไท่โฮ่วยังมักทรงเรียกร้องให้ฮั่นหลิงตี้กำหนดตัวรัชทายาท แต่ฮั่นหลิงตี้ก็มิได้ทรงกระทำกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 189[6] เมื่อสิ้นฮั่นหลิงตี้แล้ว ต่งไท่โฮ่วทรงวางแผนกับขันทีนาม เจี่ยน ชั่ว (蹇碩; ฮกเกี้ยนว่า "เกียนสิด") จะให้หฺวังจื่อเสียได้ครองราชย์ แต่เหอหฺวังโฮ่ว กับพระเชษฐา คือ เหอ จิ้น ดำเนินแผนการตัดหน้า สามารถยกหฺวังจื่อเปี้ยนขึ้นครองราชย์ได้ก่อน เหอหฺวังโฮ่วจึงได้เป็นพระมารดาของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เมื่อหฺวังจื่อเปี้ยนได้ครองราชย์แล้ว ทั้งต่งไท่โฮ่วและเหอหฺวังโฮ่ทรงพยายามจะสอดเข้ามาในราชกิจการแผ่นดิน จนขัดแย้งกันหนักขึ้น ที่สุดแล้ว ต่งไท่โฮ่วทรงวางแผนจะอาศัยกำลังทหารของต่ง จ้ง มากำจัดฝ่ายเหอหฺวังโฮ่ว แต่เหอหฺวังโฮ่วทรงทราบเสียก่อน และทรงแจ้งไปยังเหอ จิ้น พระเชษฐา กับเหอ เหมียว (何苗) พระญาติ ฝ่ายเหอหฺวังโฮ่วจึงตัดสินใจชิงกำจัดต่งไท่โฮ่วก่อน[7] โดยเหอ เหมียว หาเหตุผลมาขับต่งไท่โฮ่วออกจากวังหย่งเล่อกลับไปบ้านเกิด ซึ่งที่ประชุมขุนนางเห็นชอบด้วย ระหว่างนั้น เหอ จิ้น ส่งทหารไปล้อมบ้านต่ง จ้ง เพื่อจับกุม และต่ง จ้ง ฆ่าตัวตาย ข่าวการตายของต่ง จ้ง ผู้เป็นหลาน ทำให้ต่งไท่โฮ่วโทมนัสหนัก จนประชวรลงและสิ้นพระชนม์ แต่คนทั้งหลายเห็นว่า เป็นฝีมือเหอหฺวังโฮ่ว พระศพของต่งไท่โฮ่วถูกส่งกลับบ้านเกิดไปฝังกับศพของหลิว ฉาง พระสวามี ในสุสานเชิ่น (慎陵)[8] อ้างอิง
บรรณานุกรม
|