รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7–8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ[2] นำกำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐประหารดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่างพันธมิตรกลุ่มจอมพล แปลก พิบูลสงคราม และกลุ่มนิยมเจ้า เพื่อโค่นอำนาจของกลุ่มปรีดี พนมยงค์ (ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกเสรีไทยและทหารเรือบางส่วน) โดยอาศัยช่องจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรรายงานว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารด้วย[1] ผลของรัฐประหารทำให้กลุ่มปรีดีและคณะราษฎรหมดอำนาจไป และแม้จอมพล แปลก พิบูลสงครามจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้นแต่ก็ไม่ได้มีฐานอำนาจของตนเอง การเมืองไทยต่อมาอยู่ในช่วง "ผู้นำสามเส้า" จนถึงปี 2500 เหตุการณ์ชนวนเหตุรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ซึ่งสืบอำนาจต่อจากรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งกันในชาติได้ อันมีสาเหตุหลักจากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกอบกับมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ เช่น การนำเงินไปซื้อจอบเสียมแจกจ่ายให้ราษฎรทำการเกษตร ทว่าความปรากฏภายหลังว่าเป็นจอบเสียมที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเรียกกันว่า "กินจอบกินเสียม" เป็นต้น ในขณะนั้นมีข่าวลือและความเป็นไปได้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า อาจเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น สำหรับตัวพลเรือตรีถวัลย์ แล้ว เมื่อนักข่าวซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ตอบว่า "ก็นอนรอการปฏิวัติอยู่แล้ว" เพราะมั่นใจในศักยภาพของรัฐบาลตัวเองว่ามีผู้บัญชาการทหารบก (พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส) ให้การสนับสนุนอยู่[3] ความเคลื่อนไหวในการเตรียมรัฐประหารประกอบด้วยพันธมิตรทางการเมืองระหว่างกลุ่มจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ที่เสียอำนาจไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กับกลุ่มนิยมเจ้า โดยมีการเคลื่อนไหวเพื่อกล่าวหาปรีดีว่าเป็นผู้บงการเหตุสวรรคต[4]: 62 ขณะเดียวกันรัฐบาลสายปรีดีเสียการสนับสนุนจากสหรัฐเนื่องจากได้ร่วมมือกับเวียดมินห์ในหลายทาง เช่น ส่งมอบอาวุธให้ในทางลับ และวางแผนร่วมมือกันจัดตั้งองค์การความร่วมมือสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อรองกับชาติมหาอำนาจ กอปรกับแนวความคิดของปรีดีโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม[4]: 60–1 จอมพล ผิน ชุณหะวัณ แกนนำรัฐประหาร อ้างว่า สาเหตุหนึ่งที่ต้องก่อการเพราะปรีดีเตรียมประกาศชื่อผู้ลอบปลงพระชนม์ และตั้งสาธารณรัฐ[4]: 65 ลำดับเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้ เดิมทีกำหนดให้เกิดขึ้นในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่ทว่า พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ทราบเสียก่อน จึงมีคำสั่งเรียกให้นายทหารทุกชั้นเข้ามารายงานตัว คณะผู้ก่อการจึงเลื่อนกำหนดเดิมให้เร็วขึ้นหนึ่งวัน โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน เมื่อกองกำลังรถถังส่วนหนึ่งบุกเข้าไปที่ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เพื่อควบคุมตัวนายกรัฐมนตรีถวัลย์ซึ่งอยู่ในงานราตรีการกุศล และรถถังอีกส่วนหนึ่งบุกเข้าไปประตูทำเนียบท่าช้างวังหน้าเพื่อควบคุมตัวปรีดี พนมยงค์ แต่ปรีดีได้หลบหนีไปก่อนหน้านั้นไม่นานด้วยเรือ ครอบครัวปรีดีขณะนั้นเหลือเพียงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยา และลูก ๆ เท่านั้น เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พลโท ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้แถลงต่อสื่อมวลชนด้วยสภาพน้ำตานองหน้าว่า ทำไปเพราะความจำเป็น จนได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" หรือ "บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล" และเรียกกลุ่มของตนเองว่า "คณะทหารแห่งชาติ" รวมทั้งได้แต่งตั้ง จอมพล แปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยุติบทบาททางการเมืองไปแล้วในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ สาเหตุของรัฐประหารในครั้งนี้ ได้ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 (หรือเรียก "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม") ปฏิกิริยาจากนั้นคณะทหารแห่งชาติ จึงให้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน คณะทหารแห่งชาติได้ตั้งสภาขึ้นมา ใช้ชื่อว่า "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก พันตรี ควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่ทว่า ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารในกลุ่มคณะทหารแห่งชาติสี่คน ก็ได้บีบบังคับให้พันตรี ควง อภัยวงศ์ ลาออก และแต่งตั้งจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชหัตถเลขาแสดงความพอพระราชหฤทัยกับเหตุการณ์หลังได้รับทูลว่า ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ[5] นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เอกราชได้ลงข่าวพาดหัวว่า "ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว" โดยอ้างคำสัมภาษณ์ของพลโท กาจ กาจสงครามว่า เขาเป็นผู้ถวายโทรเลขรายงานแผนรัฐประหารต่อพระองค์ด้วยตนเอง[4]: 64–65 ในเบื้องต้น สหรัฐประณามรัฐประหารและไม่รับรองรัฐบาลใหม่ แต่อีกไม่กี่เดือนให้หลัง เมื่อคณะทหารแห่งชาติเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากควง อภัยวงศ์เป็นจอมพล แปลก พิบูลสงครามในปี 2491 สหรัฐก็กลับให้การรับรองรัฐบาล และคืนความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหาร[6]: 187 การศึกษาในอดีตมักยกความจำเป็นของสหรัฐในการมีพันธมิตรทางทหารเพื่อจำกัดลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าว[6]: 188 ผลกระทบผลจากรัฐประหารในครั้งนี้ ได้พลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ทำให้พวกเสรีนิยมและลัทธิรัฐธรรมนูญหมดอำนาจ[6]: 187 มีการวิเคราะห์ว่า รัฐบาลพันตรี ควง อภัยวงศ์ แม้จะได้รับการแต่งตั้งและเลือกตั้งมา ก็ไม่มีอำนาจและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ที่คณะนายทหาร ซึ่งหลังจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งก่อตั้งมาก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็มีความแตกแยกกันเองภายในพรรค สืบเนื่องจากการพิจารณาการขึ้นเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลจอมพล แปลก ของสมาชิกพรรคบางคน ทำให้สมาชิกพรรคหลายคนได้ลาออก เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เลขาธิการพรรค, เลียง ไชยกาล, สุวิชช พันธเศรษฐ, โชติ คุ้มพันธ์ เป็นต้น ถือเป็นความแตกแยกกันของพรรคเป็นครั้งแรก[7] ผลของรัฐประหารยังขจัดกลุ่มอำนาจเก่าของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้แก่ ขบวนการเสรีไทยและคณะราษฎรสายพลเรือน ให้สิ้นไปจากเวทีการเมือง รัฐประหารดังกล่าวเป็นการชิงตัดหน้าแผนของรัฐบาลในการปราบปรามผู้ต่อต้าน ทำให้ขั้วอำนาจปรีดีกระจัดกระจายอย่างฉับพลัน[4]: 66 แต่พันธมิตรทางการเมืองของเขายังพยายามต่อต้านโดยคิดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และการโฆษณาต่อต้านรัฐบาลในพระนครและภาคอีสาน จนคณะรัฐประหารใช้กฎหมายเข้าปราบปราม[4]: 66–7 ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|