ประเทศแอลจีเรีย
แอลจีเรีย (อังกฤษ: Algeria; อาหรับ: الجزائر, ออกเสียง: [al.d͡ʒazaːʔir]; ฝรั่งเศส: Algérie) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแอลจีเรีย (อังกฤษ: People's Democratic Republic of Algeria; อาหรับ: الجمهورية الجزائرية الديمقراطية الشعبية; ฝรั่งเศส: République algérienne démocratique et populaire) เป็นประเทศในแอฟริกาเหนือ มีอาณาเขตทางตะวันออกเฉียงเหนือจรดประเทศตูนิเซีย ทางตะวันออกจรดประเทศลิเบีย ทางตะวันออกเฉียงใต้จรดประเทศไนเจอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้จรดประเทศมาลีและประเทศมอริเตเนีย และทางตะวันตกจรดประเทศโมร็อกโก รวมถึงหลายกิโลเมตรของพื้นที่ที่ยึดครองมาได้บางส่วน คือ เวสเทิร์นสะฮารา แอลจีเรียได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอัลมัฆริบในแอฟริกาเหนือ มีสภาพภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และทะเลทรายสะฮาราครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ทางตอนใต้ ประเทศแอลจีเรียมีพื้นที่ 2,381,741 ตารางกิโลเมตร (919,595 ตารางไมล์), จึงเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของโลกเและเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา 200 เท่าของประเทศที่เล็กที่สุดในทวีปอย่างแกมเบีย[10] ด้วยจำนวนประชากร 44 ล้านคน แอลจีเรียจึงเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับที่ 10 ในแอฟริกา และเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 32 ของโลก แอลจีเรียมีเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือแอลเจียร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดบนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในศตวรรษของการอพยพของชาวอาหรับไปยังภูมิภาคอัลมัฆริบนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรในแอลจีเรีย และสเปนได้ขยายอาณานิคมซึ่งนำไปสู่การสถาปนาเขตผู้สำเร็จราชการแห่งแอลเจียร์ใน ค.ศ. 1516 ซึ่งเป็นรัฐที่ดูดดึงผู้คนจากทั่วทั้งดินแดนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้เมืองหลวงของแอลเจียร์เป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุด ร่ำรวยที่สุด และมีความหลากหลายมากที่สุดในโลก ความอ่อนแอในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ฝรั่งเศสรุกรานใน ค.ศ. 1830 และแอลจีเรียกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1848 และเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปมากกว่าหนึ่งล้านคน ในขณะที่ชาวแอลจีเรียพื้นเมืองยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของดินแดนนี้ โดยคาดว่าประชากรเหล่านี้ลดลงถึงหนึ่งในสามเนื่องจากการสงคราม โรคภัยไข้เจ็บ และความอดอยาก[11] การสังหารหมู่ที่เซติฟและเกลมาใน ค.ศ. 1945 เป็นจุดเปลี่ยนในความสัมพันธ์แอลจีเรีย-ฝรั่งเศส และเป็นจุดชนวนให้เกิดสงครามแอลจีเรียซึ่งสิ้นสุดลงด้วยการที่แอลจีเรียได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 และการประกาศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนในวันที่ 25 กันยายนในปีเดียวกัน ภาษาราชการของประเทศแอลจีเรียคือภาษาอาหรับและภาษาทามาไซต์ ประชากรส่วนใหญ่ของแอลจีเรียเป็นชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับแอลจีเรียเป็นภาษาพูดหลัก ภาษาฝรั่งเศสยังเป็นภาษาที่ใช้ในบางบริบท แต่ไม่มีสถานะเป็นทางการ แอลจีเรียเป็นสาธารณรัฐระบบกึ่งประธานาธิบดี โดยมีเขตเลือกตั้งท้องถิ่นประกอบด้วย 58 จังหวัด ซึ่งเรียกเป็นภาษาในท้องถิ่นว่า วิลายะฮ์ แอลจีเรียเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคในแอฟริกาเหนือ และเป็นประเทศที่มีอำนาจปานกลางในกิจการระดับโลก มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงที่สุดในบรรดาประเทศในทวีปแอฟริกาทั้งหมด และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในทวีป โดยอิงจากการส่งออกพลังงานเป็นส่วนใหญ่ แอลจีเรียมีปริมาณสำรองน้ำมันมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับที่ 9 โซนาทราช ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของชาติ เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา โดยเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติจำนวนมากไปยังยุโรป กองทัพของแอลจีเรียเป็นหนึ่งในกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา และมีงบประมาณทางทหารที่มากที่สุดในทวีป แอลจีเรียเป็นสมาชิกของสหภาพแอฟริกา สันนิบาตอาหรับ องค์การความร่วมมืออิสลาม โอเปก สหประชาชาติ และสหภาพอาหรับอัลมัฆริบซึ่งแอลจีเรียเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ประวัติศาสตร์กลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกคือชาวเบอร์เบอร์ จากนั้นจึงมีชาวฟินิเชีย ชาวโรมันและชาวอาหรับเข้ามา ต่อมา แอลจีเรียอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันในช่วง พ.ศ. 2061 - 2373 จากนั้นจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส แม้จะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมฝรั่งเศสมาก แต่ชาวอาหรับในแอลจีเรียคงทำสงครามแบบกองโจรต่อต้านฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง จนฝรั่งเศสยอมถอนตัวจากแอลจีเรีย โดยแอลจีเรียได้รับเอกราชเมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 อาห์เม็ด เบลล์ เบลลา เป็นผู้นำในช่วง พ.ศ. 2505 - 2508 จากนั้นถูกคณะทหารปฏิวัติ พ.ศ. 2510 แอลจีเรียประกาศสงครามกับอิสราเอล และหันไปผูกมิตรกับสหภาพโซเวียตปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นเหตุให้ประชาชนก่อการจลาจลเมื่อ พ.ศ. 2531 รัฐบาลปราบปรามด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตไป 500 คน พ.ศ. 2532 แอลจีเรียประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2562 เกิดการประท้วงประธานาธิบดีวัย 82 ปี ครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตรายเดียวจากโรคหัวใจล้มเหลว ประชากร
ประชากรส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาอาหรับ ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ชาวเบอร์เบอร์ ภาษาในประเทศแอลจีเรีย มีภาษาอาหรับ เป็นภาษาราชการ ภาษาอื่นได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเบอร์เบอร์ ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาประจำชาติ มีศาสนาคริสต์และอื่น ๆ ในสัดส่วนน้อย
หมายเหตุ
อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิตำรา Wikijunior:Countries A–Zมีหน้าในหัวข้อ Algeria
|