เทศบาลเมืองกำแพงเพชร (จังหวัดกำแพงเพชร)
กำแพงเพชร เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรมของจังหวัดกำแพงเพชร มีฐานะเป็นเทศบาลเมืองตั้งอยู่ภายในอำเภอเมืองกำแพงเพชร มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลในเมืองทั้งตำบล ในอดีตเคยเป็นเมืองเก่าแก่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย เทศบาลเมืองกำแพงเพชรมีพื้นที่ประมาณ 14.9 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,312.5 ไร่ มีประชากรรวมทั้งสิ้น 28,125 คน (เดือนธันวาคม 2564)[1] ประวัติศาสตร์ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง และมีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไตรตรึงษ์ เทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงเป็นเมืองยุทธศาสตร์มีหลักฐานที่แสดงให้เห็น ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ วัดโบราณ มีหลักฐาน ให้สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมือง คือ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม โดยเมืองนครชุมสร้างขึ้นก่อน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง พระเจ้าเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์สุโขทัย เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1800 ต่อมาสมัยพระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง[ต้องการอ้างอิง] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกเรื่อง กำแพงเมืองไว้ว่า เป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่ มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังทรงวินิจฉัยว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองเดียวกับเมืองชากังราว[2] แต่ปัจจุบันมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป[3] ปัจจุบันเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะมีโบราณสถานเก่าแก่ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงหลายแห่งรวมอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534[4] เมืองกำแพงเพชรได้รับการจัดตั้งขึ้นในฐานะเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งได้ตราขึ้นไว้วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2479 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งมีพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 0 ก วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2479[5] โดยมีหลวงมนตรีราชเป็นนายกเทศมนตรีกับนายยรรยง อินทรเกษมเป็นปลัดเทศบาลคนแรก และได้ใช้เรือนรับรองของจังหวัดเป็นอาคารสำนักงานแห่งแรก ต่อมาได้มีการสร้างศาลากลางจังหวัดแห่งใหม่ใน พ.ศ. 2504 ทางเทศบาลเมืองกำแพงเพชรจึงขอใช้อาคารศาลากลางจังหวัดหลังเดิมเป็นสำนักงานเทศบาล จนกระทั่งใน พ.ศ. 2521 เมื่อมีผู้อุทิศมอบที่ดินบริเวณถนนวิจิตร 1 จึงได้สร้างอาคารสำนักงานขึ้นใหม่ และเปิดทำการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ต่อมาใน พ.ศ. 2550 ได้เกิดการขยายตัวของเมือง การได้รับมอบภารกิจถ่ายโอนจากส่วนกลาง และการเพิ่มขึ้นของประชากรภายในท้องถิ่น เป็นเหตุทำให้มีราษฎรที่มาติดต่อราชการเป็นจำนวนมาก สำนักงานหลังเก่าไม่อาจสามารถรองรับได้สะดวก จึงมีการจัดสร้างอาคารสำนักงานขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยตั้งอยู่บริเวณถนนเลี่ยงเมืองกำแพงเพชร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[6] แต่เดิมเทศบาลเมืองกำแพงเพชรมีพื้นที่การปกครองทั้งหมด 4.5 ตารางกิโลเมตร ต่อมาเมื่อมีชุมชนอยู่หนาแน่น ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลที่ต่อเนื่องกัน จึงเป็นการสมควรในการปรับปรุงเขตเทศบาลใหม่ เพื่อขยายเขตให้เทศบาลได้ปกครองและทะนุบำรุงท้องถิ่น จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจรในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 83 ตอนที่ 21 ก วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2509[7] ขยายเขตจากพื้นที่เดิม 10.4 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ตารางกิโลเมตร ภูมิศาสตร์เมืองกำแพงเพชรตั้งทางตอนกลางค่อนไปทางทิศเหนือของจังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ 14.9 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในเมืองทั้งตำบล อยู่ในบริเวณตอนบนของภาคกลางของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ระยะทาง 358 กิโลเมตร เมืองกำแพงเพชรมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมือง โดยพื้นที่ของเมืองทางทิศเหนือจะเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พื้นที่ทางตอนกลางและใต้จะเป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญของเมือง แหล่งที่อยู่อาศัยที่หนาแน่น สถานที่ราชการ และสถานศึกษา อาณาเขตติดต่อเทศบาลเมืองกำแพงเพชรมีอาณาเขตติดต่อกับเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ดังนี้[8]
ภูมิอากาศ
การศึกษา
การคมนาคม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ เมืองกำแพงเพชร
|