เทศบาลเมืองอโยธยา
อโยธยา เป็นเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไผ่ลิง ตำบลคลองสวนพลู และตำบลหันตรา เป็นเมืองที่ตั้งศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประวัติเมืองอโยธาในอดีตมีชื่อว่า "เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร" ซึ่งตั้งมาก่อนที่จะมีการตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเมืองอโยธยา มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรละโว้ในอดีต โดยเมืองได้เสื่อมอำนาจลงเนื่องจากการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรขอม เทศบาลเมืองอโยธยาได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2547[2] ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 มาตรา 10 "เทศบาลเมืองได้แก่ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่หนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ประกาศกระทรวงมหาดไทยนั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย" ที่ตั้งและอาณาเขตเมืองอโยธยา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลไผ่ลิง 7 หมู่บ้าน ตำบลคลองสวนพลู 2 หมู่บ้าน และตำบลหันตรา 1 หมู่บ้าน
ภูมิประเทศพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบ ไม่มีป่า ไม่มีภูเขา อยู่นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา โดยมีสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สะพานสมเด็จพระเอกาทศรถ และสะพานปรีดีธำรง เป็นสะพานทอดข้ามแม่น้ำป่าสักที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างเกาะเมือง เข้าสู่เทศบาลเมืองอโยธยา และมีทางรถไฟจากกรุงเทพมหานคร มุ่งสู่สายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแนวแบ่งเขตพื้นที่ของทั้งสองเทศบาล เมืองอโยธยายังมีลำคลองไหลผ่านหลายสาย อาทิ คลองปากข้าวสาร คลองดุสิต คลองหันตรา คลองกระมัง คลองกุฎีดาว คลองเตาอิฐ คลองไผ่ลิง คลองมเหยงค์ เป็นต้น ตราเทศบาลดวงตราเป็นรูปวงกลมมีขอบ ข้างบนระบุข้อความว่า "เทศบาลเมืองอโยธยา" และมีกิ่งใบโพธิ์ปรกลงมา ตรงกลางเป็นรูปวิหารและพระปรางค์ 3 องค์ ส่วนขอบข้างล่างเป็นรูปกำแพงเมือง และระบุข้อความว่า "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" การกำหนดตราเทศบาลแบบนี้ เนื่องจากเขตเทศบาลเมืองอโยธยามีประวัติความเป็นมาว่า เป็นที่ตั้งเมืองอโยธยาในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของประเทศไทย และในสมัยนั้น มีการสร้างวัดวาอารามขึ้นมากมายซึ่งยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนี้ รูปวิหารและพระปรางค์ 3 องค์ เป็นสัญลักษณ์แสดงความหมายทางประวัติศาสตร์ ความเจริญรุ่งเรือง และความสมบูรณ์ สำหรับกิ่งใบโพธิ์ที่ปรกลงมา เป็นตราสัญลักษณ์ของความร่มเย็นเป็นสุข ส่วนกำแพงเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นระเบียบเรียบร้อยในเขตเมืองอโยธยา อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |