Share to:

 

ข้อมูลผิดเกี่ยวกับโควิด-19

หลังมีการระบาดทั่วของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ก็ได้เกิดทฤษฎีสมคบคิด ข้อมูลผิด ๆ และข่าวปลอมเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด การแพร่กระจาย การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา และประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับโรคที่ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วทางสื่อสังคม ระบบส่งข้อความ[1] และสื่อมวลชน มีกระทั่งนักข่าวที่ถูกจับฐานเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการระบาดทั่ว อนึ่ง คนดัง นักการเมือง และผู้นำทางสังคมอื่น ๆ ก็ช่วยกันกระจายข้อมูลด้วย สำหรับสื่อภาษาอังกฤษ งานศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลพบว่า ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ น่าจะเป็นตัวขับข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการระบาดทั่วที่แรงสุด[2]

มีการหลอกลวงขายผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจโรค ป้องกันโรค และรักษาโรค "แบบมหัศจรรย์"[3] มีกลุ่มศาสนาหลายกลุ่มที่อ้างว่า ความเชื่อในศาสนานั้น ๆ จะป้องกันผู้เชื่อจากไวรัสได้[4] มีคนบางส่วนที่อ้างว่าไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพที่หลุดโดยอุบัติเหตุหรือโดยตั้งใจจากแล็บ เป็นอุบายควบคุมจำนวนประชากร เป็นจารกรรมหรือเป็นผลข้างเคียงของเครือข่ายมือถือแบบ 5 จี[5]

องค์การอนามัยโลกได้แถลง "การระบาดทั่วของข้อมูลผิด" (infodemic) เกี่ยวกับไวรัส ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพของชาวโลก[6] แล้วจึงประกาศการร่วมมือกับมูลนิธิวิกิมีเดียโดยอนุญาตให้ใช้อินโฟกราฟิกและสื่ออื่น ๆ ขององค์การเพื่อสู้กับข้อมูลผิด [7]

ชนิด แหล่งกำเนิด และผลกระทบ

ในวันที่ 30 มกราคม 2020 สำนักข่าวอังกฤษบีบีซีรายงานทฤษฎีสมคบคิดและคำแนะนำทางสุขภาพซึ่งไม่ดีเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเด่นในเวลานั้นรวมคำแนะนำทางสุขภาพผิด ๆ ที่แชร์ไปตามสื่อสังคมและระบบส่งข้อความ บวกกับทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ เช่นโรคเกิดจากซุปค้างคาว (จีน) และเกิดจากแผนการแพร่โรคระบาดที่อาศัยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยโรคติดต่อในสัตว์แห่งสหราชอาณาจักรคือ Pirbright Institute[8][9] ต่อมาในวันที่ 31 หนังสือพิมพ์อังกฤษเดอะการ์เดียนระบุตัวอย่างข้อมูลผิด ๆ 7 อย่าง เพิ่มทฤษฎีสมคบคิดว่าโรคเป็นอาวุธชีวภาพและโรคสัมพันธ์กับเทคโนโลยี 5 จีและเพิ่มคำแนะนำทางสุขภาพที่ผิดอื่น ๆ[10]

เพื่อเร่งแชร์ข้อมูลงานวิจัย นักวิจัยจำนวนมากจึงเริ่มใช้เว็บไซต์ที่พิมพ์ผลงานวิจัยก่อนตีพิมพ์รวมทั้ง arXiv bioRxiv medRxiv และ SSRN งานวิจัยสามารถโหลดขึ้นไปยังเซิร์ฟเวอร์โดยไม่มีการตรวจสอบโดยผู้รู้เสมอกันหรือผ่านกระบวนการทางบรรณาธิการอื่น ๆ เพื่อรับรองคุณภาพ งานวิจัยบางงานจึงมีส่วนกระจายทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ กรณีเด่นที่สุดก็คือเอกสารที่โหลดขึ้น bioRxiv อ้างว่าไวรัสโควิด-19 มีลำดับยีนจากไวรัสเอชไอวี หลังจากมีการคัดค้าน งานจึงถูกเพิกถอน[11][12][13] เอกสารแบบก่อนตีพิมพ์เกี่ยวกับโควิด-19 เช่นนี้ได้แชร์กันอย่างกว้างขวางออนไลน์โดยมีข้อมูลที่แสดงว่าสื่อใช้เอกสารในเรื่องนี้เกือบเป็น 10 เท่าเทียบกับเรื่องอื่น ๆ[14]

ตามงานศึกษาของสถาบันศึกษาวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ข้อมูลผิด ๆ เรื่องโควิด-19 โดยมากเป็น "การแปรรูปในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่และบ่อยครั้งเป็นเรื่องจริง จะถูกปั่น บิดเบือน เปลี่ยนบริบท หรือเปลี่ยนใหม่" โดยมีข้อมูลน้อยกว่าที่กุขึ้นแบบโคมลอย งานศึกษาบางส่วนพบว่า ข้อมูลผิด ๆ จากผู้นำในสังคมรวมทั้งนักการเมือง คนดัง และคนสำคัญอื่น ๆ แม้จะเป็นส่วนน้อยแต่ก็ได้การเผยแพร่เป็นส่วนมากไปตามสื่อสังคม ตามการจัดหมวดหมู่ของสถาบัน หมวดที่มีข้อมูลผิด ๆ มากสุด (ร้อยละ 39) เป็นข้ออ้างผิด ๆ หรือให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการกระทำหรือนโยบายเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งรัฐบาลและองค์กรสากลเช่น องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ[15]

การทดลองตามธรรมชาติ คือรูปแบบการทดลองที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีใครออกแบบหรือเข้าไปจัดการ ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรนากับการติดโรคและการตายที่เพิ่มขึ้น มีตัวอย่างเป็นข่าวทางทีวีคล้ายกันสองข่าวที่รายงานในเครือข่ายโทรทัศน์เดียวกัน ข่าวหนึ่งรายงานผลของโรคที่หนักกว่าโดยทำก่อนข่าวต่อมาอีกเดือนหนึ่ง พบว่า บุคคลและกลุ่มคนที่ดูข่าวหลังแล้วรายงานผลติดโรคและตายในอัตราสูงกว่า[16]

ข้อมูลผิด ๆ ถูกใช้โดยนักการเมือง กลุ่มสนับสนุน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศต่าง ๆ ในทางการเมือง คือเพื่อบอกปัดหน้าที่รับผิดชอบ โทษประเทศอื่น ๆ และเพื่อไม่ให้การตัดสินใจก่อนหน้านี้ของตนถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่บางครั้งก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย[17][18][19] ประเทศจำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่า กระจายข้อมูลผิด ๆ ในสื่อสังคมของประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างความตื่นตระหนก ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ บ่อนทำลายการอภิปรายทางประชาธิปไตย หรือเพื่อโปรโมตรูปแบบรัฐบาลของตน[20][21][22][23]

งานศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลซึ่งตรวจบทความภาษาอังกฤษ 38 ล้านบททั่วโลกพบว่า ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จที่แรงสุด[2]

แหล่งกำเนิด

จากแล็บจีน

ในการระบาดทั่วระยะแรก ๆ เกิดทฤษฎีสมคบคิดหนึ่งว่าสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นในจีนได้สร้างไวรัสขึ้นผ่านพันธุวิศวกรรม ต้นกำเนิดแหล่งหนึ่งของทฤษฎีนี้เป็นอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยจารกรรมของอิสราเอล (Dany Shoham) ผู้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อนุรักษนิยมอเมริกันเดอะวอชิงตันไทมส์เกี่ยวกับแล็บนี้[24][25] ภายหลังนักการเมืองอเมริกันจึงเริ่มกระจายข้อมูลผิดนี้ รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภา Tom Cotton, ประธานาธิบดีทรัมป์และเลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐไมก์ พอมเพโอ[25] ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งในแล็บคือ Li-Meng Yan ผู้หนีจากประเทศจีนแล้วสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่เจ้าหน้าที่จำนวนมากก็ได้ออกมาหักล้างทฤษฎีสมคบคิดนี้ รวมทั้งนักชีววิทยาชาวอเมริกัน Richard H. Ebright ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ Anthony Fauci นักวิทยาศาสตร์คนดังต่าง ๆ และชุมชนหน่วยจารกรรมสหรัฐ[25] แม้ทฤษฎีนี้จะกระจายไปทั่วในสื่อสังคม แต่การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ต่อมาก็ได้แสดงว่า ไวรัสมีแหล่งกำเนิดจากค้างคาว[26]

เป็นจารกรรมจีนที่ทำในแล็บแคนาดา

มีคนอ้างว่า นักวิทยาศาสตร์จีนได้ขโมยไวรัสโคโรนามาจากแล็บวิจัยไวรัสในแคนาดา แต่กระทรวงสาธารณสุขแคนาดา (Health Canada) และสำนักงานสาธารณสุขแคนาดากล่าวว่านี่ไม่มีมูลฐานความจริง[27] เรื่องนี้ดูจะกลายมาจาก[28] ข่าวในเดือนกรกฎาคม 2019[29] ซึ่งระบุว่า นักวิจัยจีนถูกระงับไม่ให้เข้าไปยังแล็บจุลชีววิทยาแห่งชาติแคนาดาในเมืองวินนิเพ็ก ซึ่งเป็นแล็บไวรัสวิทยาระดับ 4 หลังจากนักวิจัยจีนถูกตำรวจแห่งชาติ (Royal Canadian Mounted Police) สอบสวน แต่เจ้าหน้าที่แคนาดาก็ระบุว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารบุคลากรโดยไม่มีความเสี่ยงต่อประชาชน[29]

เพราะสำนักข่าวแห่งชาติแคนาดาซีบีซี (Canadian Broadcasting Corporation) รายงานข่าวตามที่ว่าปลายเดือนมกราคม 2020 สำนักข่าวจึงระบุว่ารายงานของสำนักข่าวไม่เคยอ้างว่า นักวิทยาศาสตร์สองคนที่ว่าเป็นจารบุคคลหรือว่าพวกเขานำไวรัสโคโรนาใด ๆ ไปยังแล็บที่อู่ฮั่น[28] แม้จะมีตัวอย่างจุลชีพก่อโรคที่ส่งจากแล็บในวินนิเพ็กไปยังนครปักกิ่งในวันที่ 31 มีนาคม 2019 แต่ก็ไม่ใช่ตัวอย่างไวรัสโคโรนา สำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติแคนาดากล่าวว่า การส่งตัวอย่างเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลกลางทุกอย่าง และก็ไม่เคยมีการระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกสอบสวนได้ส่งตัวอย่างที่ว่า อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ที่ถูกสอบสวนก็ไม่ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหน[27][30][31]

ในปลายเดือนมกราคม ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสงครามชีวภาพในสถาบันแบบ Think tank ของอิสราเอล (Begin-Sadat Center for Strategic Studies) เมื่อกล่าวถึงการแถลงการณ์ของเนโท ก็ได้ระบุความสงสัยทางจารกรรมว่าเป็นเหตุผลให้ไล่นักวิทยาศาสตร์ที่ว่าออกจากแล็บ แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าไวรัสโคโรนาถูกขโมยจากแล็บแคนาดาหรือเป็นผลของการวิจัยอาวุธชีวภาพเพื่อการทหารในประเทศจีน[32]

เป็นอาวุธชีวภาพของสหรัฐ

ตามหนังสือพิมพ์ The Economist ในลอนดอน มีทฤษฎีสมคบคิดมากมายในเน็ตของจีนว่า ซีไอเอสร้างโควิด-19 ขึ้นเพื่อทำลายจีน[33] ตามการสืบสวนของสำนักข่าวออนไลน์ ProPublica ทฤษฎีสมคมคิดและข้อมูลผิด ๆ เช่นนี้กระจายไปตามคำสั่งของสำนักข่าวของรัฐบาลจีน คือ China News Service[34] โดยหนังสือพิมพ์รัฐบาลจีนคือ Global Times และสำนักข่าวรัฐบาลจีน Xinhua News Agency ก็กระจายข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวแหล่งกำเนิดโรคโควิด-19 เช่นกัน[35] แต่สำนักข่าวอเมริกัน NBC News ก็ให้ข้อสังเกตว่ามีความพยายามหักล้างทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับสหรัฐที่ได้โพสต์ออนไลน์ เช่น เมื่อเสิร์ชคำว่า "Coronavirus is from the U.S." โดยมากก็จะได้บทความที่อธิบายว่าทำไมข้ออ้างเช่นนี้ไม่สมเหตุผล[36][A]

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวหาว่า รัสเซียได้รณรงค์สร้างข้อมูลผิด ๆ โดยใช้บัญชีสื่อสังคมเป็นพัน ๆ บัญชีของทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมเพื่อสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดอันไม่มีมูลซึ่งอ้างว่า ไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพของซีไอเอและสหรัฐกำลังทำสงครามทางเศรษฐกิจกับจีนด้วยไวรัส[49][50][51][B]

รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอิหร่าน (Reza Malekzadeh) ปฏิเสธทฤษฎีการก่อการร้ายทางชีวภาพ

ตามสถาบันวิจัยสื่อตะวันออกกลาง (Middle East Media Research Institute) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรในกรุงวอชิงตันดีซี มีนักข่าวภาษาอาหรับจำนวนมากที่ได้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดว่าไวรัสโควิด-19 ซาร์ส และไข้หวัดใหญ่ในสุกร ได้สร้างขึ้นแล้วกระจายอย่างตั้งใจเพื่อขายวัคซีนต่อต้านไวรัสนั้น ๆ โดยเป็น "ส่วนของสงครามทางเศรษฐกิจและทางจิตวิทยาที่สหรัฐทำต่อจีนโดยมุ่งทำให้จีนอ่อนแอและแสดงว่าเป็นประเทศล้าหลังและเป็นแหล่งเกิดโรค"[57]

ทฤษฎีเดียวกันก็รายงานในอิหร่านโดยเป็นส่วนของการโฆษณาชวนเชื่อของประเทศว่าไวรัสมีจุปประสงค์เพื่อ "ทำลายวัฒนธรรมและเกียรติยศของประเทศ"[58] แต่รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอิหร่านก็ปฏิเสธข้ออ้างว่าไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพ โดยชี้ในเดือนมีนาคม 2020 ว่า สหรัฐจะเสียหายอย่างมากจากโรค เขากล่าวว่า อิหร่านเป็นหนักก็เพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เพราะการไม่ระงับสายการบินได้แพร่เชื้อไวรัส และเพราะผู้ติดโรคต้น ๆ วินิจฉัยผิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่[59]

ทฤษฎีนี้ก็กระจายไปในประเทศฟิลิปปินส์ และเวเนซุเอลาด้วย

เกิดจากคนยิว

ในโลกมุสลิม

เครือข่ายข่าวของรัฐบาลอิหร่านคือ Press TV อ้างว่า พวกคนยิวได้พัฒนาสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาที่ร้ายแรงกว่าเพื่อใช้กับอิหร่าน[60] เช่นเดียวกัน สื่ออาหรับอื่น ๆ ก็ได้กล่าวหาอิสราเอลและสหรัฐว่า พัฒนาแล้วกระจายโควิด-19 ไข้หวัดนก และซาร์ส[61] ส่วนผู้ใช้เครือข่ายสังคมให้ทฤษฎีอื่น ๆ รวมทั้งอ้างว่า คนยิวได้สร้างโควิด-19 เพื่อล้มตลาดหลักทรัพย์โลกเพื่อทำกำไรโดยใช้ข้อมูลล่วงหน้า[62] มีแม้กระทั่งแขกผู้รับเชิญในรายการทีวีตุรกีซึ่งระบุทฤษฎีที่ดุเดือดยิ่งกว่านั้น คือคนยิวได้สร้างโควิด-19 ไข้หวัดนก ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก เพื่อ "เปลี่ยนโลก ยึดประเทศ และตอนประชากรโลก"[63]

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในอิสราเอลได้ก่อปฏิกิริยาเชิงลบในอิหร่าน อายะตุลลอฮ์ Naser Makarem Shirazi แห่งอิหร่านปฏิเสธข่าวว่า เขาได้ตัดสินว่าวัคซีนที่คนยิวทำจะจัดเป็นฮาลาล[64] โดยมีนักข่าวของ Press TV ได้ส่งข้อความทวิตเตอร์ว่า "ผมยอมเสี่ยงกับไวรัสดีกว่าใช้วัคซีนอิสราเอล"[65] ส่วนนักข่าวตุรกีคนหนึ่งอ้างว่า วัคซีนเช่นนั้นสามารถใช้เป็นอุบายทำหมันคนเป็นจำนวนมาก[66]

ในสหรัฐ

การประกาศเตือนของเอฟบีไอเกี่ยวกับการคุกคามของพวกขวาจัดที่ตั้งใจกระจายไวรัสโคโรนาไปยังคนกลุ่มจำเพาะ ๆ ได้กล่าวถึงการโทษคนยิวและผู้นำคนยิวว่า เป็นเหตุให้เกิดการระบาดทั่วและให้ต้องปิดรัฐต่าง [67]

องค์การนอกภาครัฐ Anti-Defamation League (ADL) ตีพิมพ์ข่าวและบล็อกเกี่ยวกับการต่อต้านคนยิวออนไลน์[68] รวมทั้งทฤษฎีสมบคบคิดและข้อมูลผิด ๆ เรื่องแหล่งกำเนิดของโควิด-19 การกระจายโรค การสร้างและการได้กำไรจากวัคซีนในบรรดาเรื่องต่าง ๆ แล้วเชื่อมมันกับเรื่องเท็จต่อต้านคนยิวที่ทำกันมาแล้วเป็นศตวรรษ ๆ โดยเฉพาะในช่วงกาฬโรคระบาด[69][70][71] ADL ยังโทษแพลตฟอร์มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก เพราะช่วยให้ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้กระจายไปเหมือนกับไวรัส โดยไม่ยอมตั้งนโยบายที่บังคับให้ลบข้อมูลเช่นนี้ออก ไม่บังคับใช้นโยบายการกลั่นกรองเนื้อความที่ก่อความเกลียดชังตามที่มีอยู่แล้ว และการล้มเหลวไม่สามารถจำกัดการขยายและกระจายเนื้อความเช่นนี้[72]

โทษคนมุสลิม

ในประเทศอินเดีย มีการโทษคนมุสลิมว่าเป็นผู้กระจายโรคหลังจากเกิดกรณีโรคในการประชุมทางศาสนาของกลุ่ม Tablighi Jamaat[73] มีรายงานถึงการด่าคนมุสลิมในสื่อสังคมและการทำร้ายคนมุสลิมในอินเดีย[74] มีข้ออ้างว่าคนมุสลิมกำลังขายอาหารที่ปนเปื้อนไวรัสโครโรนา และมัสยิดในเมืองปัฏนากำลังให้ที่หลบซ่อนแก่คนจากอิตาลีและอิหร่าน[75] ซึ่งล้วนแสดงแล้วว่าเป็นเท็จ[76]

ในสหราชอาณาจักร มีรายงานเกี่ยวกับกลุ่มขวาจัดที่โทษคนมุสลิมในการระบาดของไวรัสโคโรนา แล้วอ้างผิด ๆ ว่า มัสยิดก็ฝืนเปิดอยู่แม้หลังรัฐบาลได้ประกาศงดการชุมนุมคนแบบมีจำนวนมากทั่วประเทศ[77] ในสหรัฐ องค์การนอกภาครัฐ Anti-Defamation League (ADL) รายงานว่า มีความเดียดฉันท์ต่อต้านคนมุสลิมที่เนื่องกับไวรัสโคโรนา[78]

เป็นแผนจำกัดจำนวนประชากร

ตามสำนักข่าวบีบีซี มีสมาชิกยูทูบ (Jordan Sather) ที่ได้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดว่ามีการต่อต้านประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ (QAnon conspiracy theory) และสนับสนุนขบวนต่อต้านวัคซีน ได้อ้างอย่างผิด ๆ ว่า โรคระบาดเป็นแผนคุมจำนวนประชากรโดยสถาบันวิจัยทางชีวภาพแห่งสหราชอาณาจักรคือ Pirbright Institute ร่วมกับบิล เกตส์[8][79][80]

นักพยากรณ์อากาศชาวอังกฤษคนดังคนหนึ่ง (Piers Corbyn) ได้ระบุไวรัสโคโรนาว่าเป็น "ปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อล้มเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่" และกล่าวว่า "วัคซีนจะทำให้ถึงตาย" เป็นบุคคลที่แพทย์ออกทีวีคนดังอีกคนหนึ่ง (Hilary Jones) ได้เรียกเมื่อให้สัมภาษณ์ร่วมกับนักพยากรณ์อากาศในรายการทีวียามเช้าว่า เป็นบุคคลอันตราย[81]

เครือข่ายมือถือ 5 จี

เสาอากาศ 5 จีบางครั้งถูกเผาเพราะโทษกันอย่างผิด ๆ ว่าเป็นเหตุของโควิด-19
ช่างของบริษัทรักษาสายโทรศัพท์ในสหราชอาณาจักรร้องขอความเห็นใจจากกลุ่มต่อต้าน 5 จีในเฟซบุ๊กว่า ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครือข่ายมือถือ และการถูกแกล้งทำให้ตนทำงานคือดำรงรักษาสายโทรศัพท์และบรอดแบนด์ไม่ได้

ในเดือนกุมภาพันธ์ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นักทฤษฎีสมคบคิดในสื่อสังคมได้อ้างว่า ไวรัสโคโรนาสัมพันธ์กับเครือข่ายมือถือ 5 จี คืออ้างว่า การระบาดโรคในอู่ฮั่นและที่เรือสำราญ Diamond Princess เกิดจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของเทคโนโลยีไร้สายและของเครือข่ายมือถือ 5 จี และว่า เหตุการณ์ระบาดทั่วเป็นเรื่องกุเพื่ออำพรางความเจ็บป่วยที่มีเหตุจากระบบ 5 จี[82]

ในเดือนมีนาคม 2020 หมอทางเลือกอเมริกันผู้หนึ่ง (Thomas Cowan) ที่เคยฝึกเป็นแพทย์ปัจจุบันและปัจจุบันต้องทำงานแบบถูกคุมความประพฤติโดยคณะกรรมการแพทย์ของแคลิฟอร์เนียระบุว่า โควิด-19 เกิดจากระบบ 5 จี โดยอ้างหลักฐานว่า ประเทศในแอฟริกาไม่มีการระบาดทั่วอย่างสำคัญและแอฟริกาก็ไม่มีระบบ 5 จี[83][84] เขายังอ้างผิด ๆ ด้วยว่า ไวรัสเป็นของเสียจากเซลล์ที่กลายเป็นพิษเพราะสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และการระบาดทั่วของโรคไวรัสต่าง ๆ ตามประวัติศาสตร์เกิดพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยีวิทยุ[84] ต่อมาวิดีโอของหมอคนนี้ได้กระจายไปทั่วโดยได้รับการส่งต่อจากคนดัง ๆ รวมทั้งนักแสดงวูดดี แฮร์เรลสัน, นักแสดงจอห์น คูแซก และนักร้องเคอรี ฮิลสัน[85]

ทฤษฎีนี้ยังอาจถูกเผยแพร่โดยการรณรงค์สร้างข้อมูลเท็จแบบประสาน คล้ายกับที่องค์กรโน้มน้าวความคิดเห็นของรัสเซียคือ Internet Research Agency ได้ทำ[86] ต่อมาสำนักข่าวและองค์กรอื่น ๆ จึงได้หักล้างและติเตียนทฤษฎีนี้รวมทั้งรอยเตอร์ส[87] ยูเอสเอทูเดย์[88], องค์กรเช็คและแก้ความจริงของประเทศอังกฤษคือ Full Fact[89] และผู้อำนวยการของสมาคมสาธารณสุขอเมริกัน (American Public Health Association)[83][90]

ยังมีนักทฤษฎีสมคบคิดอีกคน (Mark Steele) ที่อ้างความรู้โดยตรงว่า ระบบ 5 จีสามารถสร้างอาการเหมือนกับที่ไวรัสก่อ[91] อดีตพยาบาลอีกผู้หนึ่งที่ถูกเลิกใบอนุญาตโดยคณะกรรมการแพทย์ทั่วไปอังกฤษ ก็ได้มาเป็นผู้สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดนี้อีกคนหนึ่ง โดยกล่าวมาเรื่อย ๆ ว่า อาการเช่นนี้เหมือนกับที่เกิดเมื่อถูกกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า[92]

ศาสตราจารย์ผู้อำนวยการของสถาบันให้บริการทางสาธารณสุของอังกฤษคือ NHS England จัดทฤษฎีที่สัมพันธ์เครือข่ายมือถือ 5 จีกับโควิด-19 ว่าเป็น "ข่าวปลอมชนิดแย่สุด"[93] เพราะไวรัสไม่สามารถแพร่ไปตามคลื่นวิทยุ และโควิด-19 ก็ได้กระจายและยังคงกระจายไปในประเทศที่ไม่มีเครือข่าย 5 จี[94]

มีไฟไหม้เสาร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัยถึง 20 กรณีในอังกฤษในช่วงสุดสัปดาห์เทศกาลอีสเตอร์ปี 2020[93] รวมทั้งในเมืองดาเก็นแฮมที่จับผู้ต้องสงสัยวางเพลิงได้ 3 คน ในเมืองฮัดเดอส์ฟีลด์ที่ไฟไหม้เสาโทรศัพท์ซึ่งหน่วยฉุกเฉินใช้ และในนครเบอร์มิงแฮมที่ไฟไหม้เสาโทรศัพท์ซึ่งให้บริการแก่โรงพยาบาลไนติงเกลของ NHS[93] ช่างโทรคมนาคมบางส่วนรายงานว่าถูกคุกคามด้วยความรุนแรงรวมทั้งจะแทงให้ถึงตาย โดยบุคคลที่เชื่อว่าตนทำงานกับเครื่อข่าย 5 จี[95] ในวันที่ 12 เมษายน 2020 มีการโทรเรียกตำรวจแห่งชาติและหน่วยดับเพลิงไปยังเสา 5 จีที่ถูกไฟไหม้ในประเทศไอร์แลนด์[96] ซึ่งตำรวจจัดว่าเป็นคดีวางเพลิง[96] จนกระทั่งรัฐมนตรีอังกฤษออกมากล่าวว่า ทฤษฎีว่าไวรัสโควิด-19 กำลังกระจายไปทางการสื่อสารไร้สายแบบ 5 จี เป็นเรื่อง "เหลวไลทั้งเพ และเหลวไหลอย่างเป็นอันตรายด้วย"[97]

จนถึงวันที่ 30 มีนาคม มีการวางเพลิง 29 ครั้งที่เสาโทรศัพท์มือถือในประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งกรณีที่มีข้อความเขียนไว้ว่า "Fuck 5G" ด้วย[98][99] มีเหตุการณ์ในประเทศไอร์แลนด์และไซปรัสด้วย[100] เฟซบุ๊กได้ลบบทความที่สนับสนุนให้ทำลายอุปกรณ์ 5 จี[101] ช่างที่ทำงานกับบริษัทลูกของบริติชเทเลคอมโพสต์ขอร้องในกลุ่มเฟซบุ๊กต่อต้าน 5 จีว่าอย่าทำการใด ๆ ต่อช่างเพราะไม่ได้เกี่ยวกับเครือข่ายมือถือ[102] กลุ่มสนับสนุนทางอุตสาหกรรม (Mobile UK) กล่าวว่า การกระทำเยี่ยงนี้มีผลต่อการดำรงรักษาเครือข่ายที่รับรองให้ทำงานจากบ้านและให้บริการแก่ผู้บริโภคที่อ่อนแอ แก่บริการฉุกเฉิน และแก่ รพ.[102]

มีวิดีโอที่ส่งต่ออย่างกว้างขวางซึ่งแสดงหญิงที่กล่าวหาพนักงานของบริษัทบรอดแบนด์ (Community Fibre) ว่าติดตั้งระบบ 5 จีโดยเป็นส่วนของแผนการฆ่าประชาชน[102] ในบรรดาบุคคลที่เชื่อว่าเครือข่าย 5 จีเป็นเหตุต่ออาการโควิด-19 ร้อยละ 60 ระบุว่า ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโดยมากมาจากยูทูบ[103] ในเดือนเมษายน 2020 ยูทูบประกาศว่าจะลดสื่อที่สัมพันธ์ระบบ 5 จีกับไวรัสโคโรนา[104] แต่วิดีโอทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับระบบ 5 จีโดยไม่กล่าวถึงไวรัสโคโรนาก็จะไม่ลบออก แม้ยังอาจจัดว่าเฉียดเส้นและดังนั้น ก็จะลบออกจากผลเสิร์ชแล้วทำให้เสียรายได้[104] นักทฤษฎีสมคบคิดผู้หนึ่ง (David Icke) ได้กระจายข้ออ้างที่ถูกดิสเครดิตแล้วไปตามวิดีโอ (ต่อมาถูกลบออก) ในยูทูบ, ใน Vimeo และในการสัมภาษณ์ทางช่องทีวีของรัฐ London Live ต่อมาจึงมีการเรียกร้ององค์กรผู้ควบคุมการดำเนินการ (คือ Ofcom) ให้เข้าไปจัดการ[105][106] ยูทูบใช้เวลาโดยเฉลี่ย 41 วันเพื่อลบวิดีโอเท็จเกี่ยวกับโควิดในช่วงครึ่งปีแรกของ 2020[107]

การรายงานการป่วยและการตายผิด 

ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างว่านับคนตายเกินจริง

ในเดือนสิงหาคม 2020 ประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ทวีตว่า จำนวนคนตายเนื่องกับโควิด-19 ที่รายงานในสหรัฐ จริง ๆ ร้อยละ 6 เท่านั้นเกิดจากโรค แต่ก็นับเอาแต่มรณบัตรที่ระบุโควิด-19 เท่านั้นว่าเป็นเหตุ ต่อมาในเดือนตุลาคม หัวหน้านักสถิติอัตราการตายที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) จึงกล่าวว่า มรณบัตรเหล่านั้นไม่ได้ระบุลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดที่นำไปสู่ความตาย ดังนั้น จึงไม่สมบูรณ์ แต่ซีดีซีประมวลข้อมูลการตายอาศัยการสอดส่องกรณีคนไข้ (case surveillance) บันทึกการตาย (vital record) และการตายเพิ่มผิดปกติ (mortality displacement)[108] ส่วนเว็บไซต์ FactCheck.org รายงานว่า แม้มรณบัตรเพียงร้อยละ 6 จะระบุโควิด-19 ว่าเป็นเหตุอย่างเดียวของการตาย โดยที่เหลือร้อยละ 94 มีภาวะอื่น ๆ ที่เป็นเหตุสนับสนุนให้ตาย แต่โควิด-19 ก็ระบุว่าเป็นเหตุการตายของมรณบัตรถึงร้อยละ 92 เพราะมันอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ รวมทั้งปอดบวมและกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน[109] ในกลางเดือนตุลาคม 2020 จำนวนคนตายเพราะโควิด-19 ในสหรัฐรายงานอยู่ที่ 218,511 ราย (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ), 219,681 ราย (มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์) และ 219,541 ราย (หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์)

ข้อมูลไม่ดี

ในสหรัฐ การรับมือกับการระบาดทั่วมีอุปสรรคเนื่องกับเทคโนโลยีที่ล้าสมัย (รวมทั้งเครื่องโทรสารและรูปแบบข้อมูลที่ส่งแลกเปลี่ยนกันไม่ได้)[110] การส่งและการบริหารข้อมูลที่ไม่ดี (หรือแม้แต่ไม่ได้ข้อมูลเลย) การไร้มาตรฐาน และการไร้ความเป็นผู้นำจากรัฐบาลกลาง[111] กฎหมายภาวะส่วนตัวยังเป็นปัญหาจนกระทั่งถึงขั้นว่า เป็นตัวยับยั้งการติดตามค้นหาคนที่มาสัมผัสกับผู้ป่วย[112] และข้อมูลที่จำเป็นบางครั้งกลับบิดเบือนอย่างจงใจในบางที่ เช่น ในรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐ[113]

จำนวนการตายที่ระบุว่าเป็นข่าวรั่ว

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ สำนักข่าว Taiwan News ตีพิมพ์บทความที่อ้างว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตจีน Tencent อาจพลาดทำข่าวรั่วแล้วแสดงอัตราการตายและการติดโรคจริง ๆ ในจีน คือสำนักข่าวระบุว่า ระบบ Tencent Epidemic Situation Tracker ได้แสดงกรณีติดโรคและจำนวนคนตายเป็นหลายเท่าของจำนวนทางการ โดยอ้างโพสต์เฟซบุ๊กของเจ้าของร้านขายเครื่องดื่มในไต้หวันและคนไต้หวันนิรนามอีกคนหนึ่ง[114] สำนักข่าวอื่น ๆ ก็ได้อ้างอิงบทความนี้จนกระจายไปอย่างกว้างขวางในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และ 4chan การกระจายข่าวได้จุดชนวนทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่ระบุว่า รูปตัวอย่างแสดงจำนวนการตายจริง ๆ ซึ่งต่างกับที่ระบุโดยทางการ[115] รองศาสตราจารย์แผนกสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์อธิบายว่า ตัวเลขจจากข่าวที่ "รั่ว" มาเช่นนี้ไม่สมเหตุผลและไม่สมกับความจริง เพราะโรคมีอัตราความตายทซึ่งต่ำกว่าที่ข่าวระบุมาก ส่วนโฆษกของ Tencent ตอบโดยอ้างว่า รูปนั้นสร้างขึ้น และมันประกอบด้วย "ข้อมูลผิด ๆ ที่เราไม่เคยตีพิมพ์"[116]

ต่อมาผู้เขียนข่าวเบื้องต้นก็ได้ให้สัมภาษณ์ทางทีวีแล้วยืนยันความเป็นจริงและความควรเป็นข่าวของข้อมูลรั่วเช่นนี้[115]

การเผาศพหมู่ในอู่ฮั่น

ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2020 มีรายงานในทวิตเตอร์ว่า มี "ข้อมูล" ที่แสดงว่ามีการปล่อยสารกำมะถันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเหนือเมืองอู่ฮั่น แล้วอ้างต่อไปว่า มีเหตุจากการเผาคนติดไวรัสโครนาที่เสียชีวิตโดยเผาเป็นหมู่ ซึ่งสำนักข่าวอื่น ๆ นำไปเผยแพร่ รวมทั้งสำนักข่าวอังกฤษแนวตื่นเต้น Daily Express, Daily Mail และสำนักข่าวไต้หวัน Taiwan News[117][115] เว็บไซต์ตรวจความจริง Snopes ต่อมาหักล้างข้อมูลผิด ๆ นี้ โดยชี้ว่าแผนที่ซึ่งใช้ในข้ออ้างไม่ใช่ค่าระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เหนือเมืองอู่ฮั่นในเวลาจริง เป็นเพียงแต่แบบจำลองที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นอาศัยข้อมูลตามประวัติและตามที่พยากรณ์[118]

ข้อมูลผิด ๆ เพื่อโจมตีไต้หวัน

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2020 สำนักข่าวรัฐบาลไต้หวันคือ Central News Agency รายงานว่า มีข้อมูลผิด ๆ เป็นจำนวนมากที่ปรากฏในเฟซบุ๊กซึ่งอ้างว่า การระบาดทั่วของโควิด-19 ในไต้หวันควบคุมไม่ได้ ว่ารัฐบาลได้ปกปิดการติดโรค และประธานาธิบดีไต้หวันไช่ อิงเหวินได้ติดโรค องค์กรตรวจสอบความจริงในไต้หวันเสนอว่า ข้อมูลผิด ๆ ในเฟซบุ๊กคล้ายกับที่พบในจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะใช้อักษรจีนตัวย่อและศัพท์ภาษาจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งองค์กรเตือนว่า จุดประสงค์ก็เพื่อโจมตีรัฐบาลไต้หวัน[119][120][121]

ในเดือนมีนาคม 2020 สำนักงานสืบสวนของกระทรวงยุติธรรมไต้หวันเตือนว่า จีนกำลังพยายามตัดทอนความเชื่อใจในข่าวจริงโดยวาดภาพรายงานของรัฐบาลไต้หวันว่าเป็นข่าวปลอม เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงได้รับคำสั่งให้ใช้ทุกวิถีทางเพื่อตรวจว่าบทความเหล่านี้สัมพันธ์กับคำสั่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนหรือไม่ แต่สำนักงานไต้หวันของจีนแผ่นดินใหญ่ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่าเป็นการโกหก และว่าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ากำลัง "กระตุ้นให้เกลียดกัน" ระหว่างจีนทั้งสองฝ่าย[122] แต่ตามหนังสือพิมพ์อเมริกันเดอะวอชิงตันโพสต์ จีนก็ได้รณรงค์ทำข้อมูลเท็จเพื่อโจมตีไต้หวันเป็นทศวรรษ ๆ แล้ว[123]

ส่วนผู้อำนวยการด้านวิจัยที่สถาบันเพื่ออนาคตอันเป็นสถาบัน think tank ได้วิเคราะห์โพสต์เหล่านั้นแล้วสรุปว่า โดยมากมาจากผู้ใช้ธรรมดา ๆ ในจีน ไม่ใช่มาจากรัฐ แต่เขาก็วิจารณ์รัฐบาลจีนในฐานะอนุญาตให้ข้อมูลผิด ๆ เหล่านั้นกระจายออกนอกประเทศ (ผ่านการตรวจพิจารณาของ Great Firewall) ซึ่งเขาจัดว่า "มุ่งร้าย"[124] ตามสำนักข่าว Taiwan News ข้อมูลผิด ๆ ถึง 1/4 เชื่อว่ามาจากจีน[125]

ในวันที่ 27 มีนาคม 2020 องค์กรไม่หวังผลกำไรที่รัฐบาลสหรัฐจัดตั้งในไต้หวันคือ American Institute in Taiwan ประกาศว่าจะร่วมมือกับศูนย์เช็คความจริงของไต้หวันเพื่อแก้ปัญหาข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับโควิด-19[126]

การใช้แผนที่ผิด 

ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ แผนที่ซึ่งเก่าแก่เป็นทศวรรษและแสดงการระบาดของไวรัสที่เป็นไปได้ของโปรเจ็กต์ World Population Project ถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ โดยสำนักข่าวออสเตรเลีย (รวมหนังสือพิมพ์แนวตื่นเต้นอังกฤษ คือ The Sun, Daily Mail และ Metro)[127] ซึ่งอ้างว่าเป็นแผนที่ระบุการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนาในปี 2020 แล้วต่อมาก็กระจายไปตามสื่อสังคมของสำนักข่าวเหล่านั้น ๆ แม้สำนักข่าวบางส่วนภายหลังจะลบแผนที่ออก บีบีซีก็รายงานว่ายังมีบางส่วนที่ยังคงแผนที่ไว้[127]

นางพยาบาลนักเปิดเผย

วันที่ 24 มกราคม 2020 มีวิดีโอเกี่ยวกับบุคคลที่ดูเหมือนกับพยาบาลจีนในมณฑลหูเป่ย์ที่กระจายไปทางออนไลน์[128] ซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ในอู่ฮั่นอันร้ายแรงกว่าที่รัฐบาลรายงาน คืออ้างว่าคนเกิน 90,000 คนได้ติดเชื้อไวรัสในจีน ว่าไวรัสอาจติดต่อจากคน ๆ เดียวไปยัง 14 คน (R0=14) และว่าไวรัสกำลังกลายพันธุ์เป็นรอบที่สอง[129] มีคนดูวิดีโอเป็นล้าน ๆ ครั้งในสื่อสังคมต่าง ๆ และกล่าวถึงในรายงานออนไลน์ต่าง ๆ มากมาย

บีบีซีระบุว่า ผิดจากคำบรรยายภาษาอังกฤษที่มีในวิดีโอรุ่นหนึ่ง หญิงผู้นี้ไม่ได้อ้างว่าเป็นพยาบาลหรือหมอ และเครื่องแบบและหน้ากากของเธอก็ไม่เหมือนกับของบุคลากรทางแพทย์ในมณฑลหูเป่ย์[8] ข้ออ้างเกี่ยวกับ R0=14 ก็ไม่เข้ากับการประเมินของผู้เชี่ยวชาญซึ่งให้ค่าประเมินระหว่าง 1.4-2.5 ในตอนนั้น[130] และการอ้างการติดเชื้อถึง 90,000 รายก็ไม่มีข้อพิสูจน์อะไร[8][129]

การลดใช้โทรศัพท์มือถือ

มีการระงับใช้โทรศัพท์มือถือถึง 21 ล้านรายสำหรับบริษัทโทรศัพท์มือถือใหญ่สุด 3 รายในจีน ซึ่งใช้เป็นหลักฐานผิด ๆ ว่าเกิดคนตายเป็นล้าน ๆ เพราะไวรัสโคโรนาในจีน[131] เพราะการะงับเกิดเนื่องกับเศรษฐกิจที่แย่ลงและการลดการติดต่อทางสังคมในช่วงการระบาดทั่ว[131]

Casedemic

ผู้ปฏิเสธโควิด-19 ได้ใช้คำว่า "casedemic" (แทน pandemic) โดยเป็นทฤษฎีสมคบคิดหนึ่งที่ว่า โควิด-19 ไม่เป็นอันตรายและจำนวนโรคซึ่งรายงานเป็นเพียงผลของการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้น แนวคิดนี้ดึงดูดใจนักปฏิบัติการต่อต้านวัคซีนเป็นพิเศษ ผู้ใช้แนวคิดเพื่ออ้างว่า ปฏิบัติการทางสาธารณสุขโดยเฉพาะวัคซีน ไม่จำเป็นเพื่อแก้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการระบาดทั่วจอมปลอม[132][133][134][135]

วิศวกรชื่อว่า Ivor Cummins ดูเหมือนจะเป็นคนบัญญัติคำนี้ขึ้นในเดือนสิงหาคม 2020 เป็นบุคคลนิยมในหมู่ผู้ปฏิเสธโควิด-19[132] ผู้สนับสนุนการแพทย์ทางเลือกคนหนึ่ง (Joseph Mercola) ได้นำคำนี้ไปใช้ เมื่อพูดเกินจริงถึงผลบวกเทียมที่ได้ในการตรวจโรคด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) เพื่อสร้างเรื่องเท็จว่า การตรวจเช่นนี้ไม่สมเหตุผล จริง ๆ แล้ว ปัญหาของ PCR เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่ก็ทำการเพื่อชดใช้ผลบวกเทียมแล้ว คำปฏิเสธโควิดเช่นนี้ยังละเลยการกระจายโรคแบบไร้อาการ จำนวนกรณีที่อาจไม่ได้ตรวจในช่วงเบื้องต้นของการระบาดทั่ว เทียบกับปัจจุบันที่ได้เพิ่มการตรวจและเพิ่มความรู้หลังจากช่วงนั้น และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตรวจด้วย PCR[132]

การกระจายโรค

จากมนุษย์สู่มนุษย์

วันที่ 3 มกราคม 2020 คณะกรรมการสาธารณสุขอู่ฮั่นได้แถลงการณ์ถึงอาการปอดบวมเหตุไวรัสชนิดใหม่ แต่กล่าวว่าโรคไม่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง[136]

ภูมิคุ้มกันหมู่ในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ปี 2019

วันที่ 31 มีนาคม 2020 นักอนุรักษนิยมชาวอเมริกันคนหนึ่ง (Victor Davis Hanson) ได้เผยแพร่ทฤษฎีว่า โควิด-19 อาจมีอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ฤดูใบไม้ตกของปี 2019 จึงทำให้เกิดระดับภูมิคุ้มกันหมู่ และสามารถอธิบายความแตกต่างของอัตราการติดเชื้อในเมืองต่าง ๆ เช่น นครนิวยอร์กเทียบกับลอสแอนเจลิส[137] ต่อมาจึงมีการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะลอสแอนเจลิสไทมส์อีกว่า มีหลักฐานที่แสดงว่า ไวรสัอาจมีอยู่ในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019[138] แต่การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมและทางสารภูมิต้านทานก็หักล้างแนวคิดว่าไวรัสมีอยู่ในสหรัฐก่อนเดือนมกราคม 2020[139][140][141][142]

คนไข้แรก

ในเดือนมีนาคม นักทฤษฎีสมคบคิดได้เริ่มข่าวลือเท็จว่า ทหารกองหนุนสหรัฐคนหนึ่ง (Maatje Benassi) เป็นคนไข้แรกของการระบาดทั่ว เพราะเธอได้ร่วมงานเกมโลกทหาร 2019 (2019 Military World Games) ก่อนที่โรคจะเริ่มระบาด แม้ว่าเธอจริง ๆ ไม่เคยตรวจพบไวรัส นักทฤษฎีสมคบคิดยังเชื่อมครอบครัวของเธอกับดีเจอิตาลีคนดัง Benny Benassi ทั้ง ๆ ที่ดีเจก็ไม่มีความสัมพันธ์กับเธอและก็ไม่เคยติดไวรัสด้วย[143]

ภูมิต้านทาน/ความอ่อนแอเพราะชาติพันธุ์

มีการอ้างว่าคนชาติพันธุ์บางชาติอ่อนแอหรือแข็งแรงต่อโควิด-19 ยิ่งกว่า แต่โควิด-19 ก็เป็นโรคสัตว์ที่ติดต่อมายังมนุษย์โรคใหม่ ดังนั้น จึงไม่มีกลุ่มมนุษย์ใด ๆ ที่อาจเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนกลุ่มอื่นได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีรายงานที่กระจายไปอย่างรวดเร็วผ่านเฟซบุ๊กว่า นักศึกษาแคเมอรูนในจีนหายจากโรคอย่างสิ้นเชิงเพราะมีเชื้อสายแอฟริกา แต่แม้นักศึกษาคนหนึ่งจะรักษาหาย แต่สื่ออื่น ๆ ก็ระบุว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า คนแอฟริกาทนต่อไวรัสยิ่งกว่า และการกล่าวเช่นนี้เป็นข้อมูลเท็จ[144] เลขาธิการกระทรวงสาธารณสุขเคนยาปฏิเสธตรง ๆ ข่าวลือที่ว่า "คนผิวดำจะไม่ติดไวรัสโคโรนา" แล้วประกาศกรณีแรกของเคนยาในวันที่ 13 มีนาคม[145] ข่าวลือนี้โทษว่าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาติดโรคและตายในอัตราสูงกว่า[146][147]

ยังมีการอ้างถึง "ภูมิคุ้มกันของคนอินเดีย" ต่อโควิด-19 อาศัยความเป็นอยู่ของคนอินเดีย (เช่น เป็นคนกินเจ) ซึ่งศาสตราจารย์ที่กลุ่มมหาวิทยาลัยการแพทย์อินเดียคือ All India Institute of Medical Sciences (AIIMS) กล่าวว่า "เหลวไหลโดยสิ้นเชิง" เขากล่าวว่า ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไวรัส-19 เพราะเป็นเชื้อใหม่ มันยังไม่ชัดเจนแม้กระทั่งว่าคนที่หายป่วยจากโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันที่คงยืน เพราะนี่เกิดกับไวรัสบางอย่าง ไม่เกิดกับบางอย่าง[148]

ผู้นำสูงสุดอิหร่านแอลี ฆอเมเนอีอ้างว่า สหรัฐได้ดัดแปลงไวรัสทางพันธุกรรมโดยเฉพาะ ๆ เพื่อใชักับคนอิหร่าน แล้วใช้ข้ออ้างเท็จนี้อธิบายว่าทำไมโควิด-19 จึงมีผลหนักต่ออิหร่าน แต่ก็ไม่ได้ให้หลักฐานอะไร [149][150]

นักวิจัยชาวจอร์แดนกลุ่มหนึ่งตีพิมพ์รายงานที่อ้างว่า คนอาหรับอ่อนแอต่อโควิด-19 น้อยกว่าเพราะมีการแปรผันทางพันธุกรรมอย่างหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงต่อคนตะวันออกกลาง[151]

การโทษคนพวกอื่นโดยชาติพันธุ์และศาสนา

มีคนถูกทำร้ายเพราะความเกลียดกลัวต่างชาติเนื่องกับโควิด-19 โดยคนร้ายโทษเหยื่ออาศัยความต่างกันทางชาติพันธุ์ว่า แพร่โควิด คนที่ดูเหมือนคนจีนอาจถูกทำร้ายทางกายและทางวาจาเนื่องกับโควิดในประเทศต่าง ๆ โดยบุคคลที่กล่าวหาคนจีนว่าแพร่ไวรัส[152][153][154] ในประเทศจีนเองก็มีการเลือกปฏิบัติ (เช่น การขับไล่และการไม่ให้บริการในร้านค้า) ต่อคนที่มาจากใกล้ ๆ อู่ฮั่น (ที่การระบาดทั่วได้เริ่ม) และต่อคนที่มองว่าไม่ใช่คนจีน (โดยเฉพาะคนแอฟริกา) เพราะรัฐบาลจีนได้โทษกรณีที่ยังเพิ่มขึ้นเนื่องกับการนำไวรัสเข้ามาใหม่จากต่างประเทศ (ทั้ง ๆ ที่ร้อยละ 90 ของกรณีเกิดใหม่เป็นคนถือหนังสือเดินทางจีน) โดยประเทศใกล้เคียงก็เลือกปฏิบัติต่อคนตะวันตกด้วย[155][156][157]

คนยังโทษคนกลุ่มอื่น ๆ ตามการแบ่งพวกทางสังคมที่มีอยู่แล้ว โดยบางครั้งอ้างกรณีโควิด-19 ของกลุ่มนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในอินเดีย มีคนโทษ หลีกเลี่ยง และเลือกปฏิบัติต่อคนมุสลิมอย่างกว้างขวาง (รวมการทำร้ายอย่างรุนแรง) โดยใช้ข้ออ้างซึ่งไร้มูลฐานว่า คนมุสลิมจงใจแพร่โควิด-19 และงานประชุมมุสลิมหนึ่งที่เกิดการติดต่อของโรคได้รับความสนใจจากประชาชนยิ่งกว่างานคล้าย ๆ ที่จัดโดยคนกลุ่มอื่นหรือโดยรัฐบาล[158] กลุ่มคนที่ถือคนขาวว่าดีสุดก็ได้โทษคนไม่ใช่คนขาวกลุ่มอื่น ๆ และสนับสนุนให้จงใจแพร่โรคแก่คนกลุ่มน้อยที่ตนไม่ชอบ เช่น คนยิว[159][160]

การกินซุปค้างคาว

สื่อข่าวบางแห่งรวมทั้งหนังสือพิมพ์แนวตื่นเต้นอังกฤษ Daily Mail และทีวีข่าวประจำชาติของรัสเซีย RT บวกกับบุคคลต่าง ๆ ได้ส่งต่อวิดีโอที่แสดงหญิงจีนกินค้างคาว แล้วบอกอย่างเป็นเท็จว่า ได้ถ่ายในอู่ฮั่นและเชื่อมมันกับโรคระบาด[161][162] แต่วิดีโอนี้เป็นคลิปที่ไม่เกี่ยวกันของนักเดินทางแล้วบล็อกวิดีโอชาวจีนผู้หนึ่ง (Wang Mengyun) ที่ได้กินซุปค้างคาวในประเทศเกาะคือ ปาเลา ในปี 2016[161][162][163][164] เธอยังได้โพสต์คำขอโทษในแพลตฟอร์ม Weibo[163][164] แล้วเล่าว่าเธอถูกทารุณกรรมและถูกขู่ทำร้าย[163] และระบุว่าเธอเพียงแต่ต้องการโชว์อาหารปาเลา[163][164]

การกระจายข้อมูลผิดเกี่ยวกับการกินคางค้าวจัดว่าเป็นความรู้สึกกลัวคนต่างชาติและเชื้อชาตินิยมโดยต่อต้านคนเอเชีย[165][166][167] นี้เทียบกับความจริงที่นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงแล้วว่า ไวรัสเกิดในค้างคาว แล้วกระจายไปยังสัตว์ถูกเบียนในระหว่างก่อนที่จะมาติดมนุษย์[165][168]

การชุมนุมใหญ่

นักการเมืองประชานิยมแนวอนุรักษ์นิยมเกาหลีใต้ผู้หนึ่ง (Jun Kwang-hun) ได้บอกผู้คล้อยตามว่า ไม่มีความเสี่ยงในการชุมนุมขนาดใหญ่เพราะไม่สามารถติดไวรัสกลางแจ้ง โดยผู้ติดตามจำนวนมากก็เป็นผู้สูงวัย[169]

ช่วงชีวิตของไวรัส

มีข้อมูลผิดที่กระจายไปว่า ไวรัสโควิด-19 มีช่วงชีวิตเพียง 12 ชม. และการอยู่บ้านเป็นเวลา 14 ชม. ในเคอร์ฟิวชานาตา (เคอร์ฟิวประชาชน) ของอินเดียก็จะทำลายโซ่การติดต่อ[170] โดยอีกข้อความหนึ่งอ้างว่า การอยู่เคอร์ฟิวชานาตาจะลดกรณีโควิดได้ร้อยละ 40[170]

ยุง

มีการอ้างว่า ยุงแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าจริง เพราะไวรัสโคโรนาแพร่เชื้อผ่านละอองน้ำลายและน้ำมูก[94]

เรื่องต่าง 

มีประกาศปลอมเรียกคืนสินค้าของบริษัทคอสต์โคที่กระจายไปยังสื่อสังคมและอ้างว่า กระดาษทิชชูยี่ห้อที่บริษัทเองจัดขายปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 เพราะผลิตในจีน แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าไวรัสสามารถรอดชีวิตบนผิววัสดุเป็นระยะเวลานาน (เช่น เมื่อขนส่งสินค้า) และบริษัทก็ไม่ได้เรียกคืนสินค้านั้นจริง [171][172][173]

มีประกาศปลอมที่อ้างว่ามาจากกระทรวงสุขภาพออสเตรเลียและระบุว่า ไวรัสโคโรนาสามารถกระจายไปตามปั๊มน้ำมัน ทุกคนจึงควรใส่ถุงมือเมื่อปั๊มน้ำมันใส่รถของตน [174]

มีการอ้างว่า การใส่รองเท้าในบ้านเป็นเหตุผลให้ไวรัสโคโรนากระจายตัวในอิตาลี[175]

ความปลอดภัยของเรือสำราญจากโรค

ไม่ว่าบริษัทเรือสำราญจะอ้างอย่างไรก็ตาม มีการติดโรคโควิดจำนวนมากในภูมิอากาศร้อน โดยประเทศต่าง ๆ ในแถบแคริบเบียน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอ่าวเปอร์เซียต่างก็ประสบผลกระทบจากโรคอย่างรุนแรง

ในเดือนมีนาคม 2020 หนังสือพิมพ์ Miami New Times รายงานว่า ผู้จัดการเรือสำราญนอร์เวย์ได้เตรียมคำตอบเพื่อชวนลูกค้าที่ยังกังวลให้จองที่เรือสำราญ รวมทั้งข้ออ้างซึ่ง "เป็นเท็จอย่างทนโท่" ว่า ไวรัสโคโรนา "สามารถรอดชีวิตได้แต่ในอุณหภูมิต่ำ ดังนั้น ทะเลแคริบเบียนจึงเป็นการเลือกที่ดีมากเมื่อไปเที่ยวเรือสำราญครั้งหน้าของคุณ" ว่า "นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางแพทย์ได้ยืนยันแล้วว่า อากาศอุ่นระดับฤดูใบไม้ผลิจะเป็นจุดยุติของไวรัสโคโรนา" และว่า "ไวรัสไม่สามารถรอดชีวิตในอุณหภูมิซึ่งอุ่นเป็นอย่างดี โดยเป็นอุณหภูมิเขตร้อนที่เรือสำราญของคุณจะแล่นไป"[176]

หวัดเป็นโรคประจำฤดู (คือมีน้อยกว่าในช่วงฤดูร้อน) ในบางประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด แม้โรคโควิด-19 อาจเป็นไปตามฤดูบ้าง แต่ก็ยังไม่ชัดเจน[177][178][179] ไวรัสโควิด-19 กระจายไปตามเส้นเดินทางสายการบินรวมทั้งที่ต่าง ๆ ในเขตร้อน[180] การระบาดของโรคในเรือสำราญเป็นเรื่องสามัญเพราะคนอายุมากกว่าอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิดและจับพื้นผิวที่คนอื่นได้จับ[181][182]

ดูเหมือนว่า โควิด-19 จะติดต่อได้ในทุกภูมิอากาศ[94] เพราะมีผลหนักต่อประเทศเขตร้อนหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เมืองดูไบ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียสตลอดปี และมีสนามบินที่อ้างว่ามีการขนส่งโดยสารนานาประเทศมากที่สุด มีการติดโรคเป็นพัน 

การป้องกัน

ประสิทธิผลของน้ำยาทำความสะอาดมือ สบู่ต้านแบคทีเรีย

การล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาทีเป็นวิธีทำความสะอาดมือซึ่งดีที่สุด รองลงมาก็คือน้ำยาทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 60[183]

ข้ออ้างว่าน้ำยาทำความสะอาดมือฆ่าเพียงแบคทีเรียแต่ไม่ฆ่าไวรัส และดังนั้น จึงไม่มีผลต่อโควิด-19 ได้กระจายไปอย่างกว้างขวางในทวิตเตอร์และสื่อสังคมอื่น ๆ แม้ประสิทธิผลของมันจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ แต่น้ำยาทำความสะอาดมือโดยมากก็ฆ่าไวรัสโควิด-19[184][185] ดังนั้น จึงแนะนำให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดมือ[94] แม้จะไม่เหมือนกับสบู่คือไม่ได้ผลสำหรับเชื้อโรคทุกอย่าง[186]

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐแนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที โดยระบุว่าเป็นวิธีทำความสะอาดมือซึ่งดีที่สุดในสถานการณ์โดยมาก แต่ถ้าไม่มีสบู่และน้ำ น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 60 ก็ใช้แทนได้ ยกเว้นถ้ามองเห็นได้ว่ามือไม่สะอาดหรือมีคราบน้ำมัน[183][187] ทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐและองค์การอาหารและยาสหรัฐต่างก็แนะนำสบู่ธรรมดา เพราะไม่มีหลักฐานว่า สบู่ต้านแบคทีเรียดีกว่า โดยยังมีหลักฐานที่จำกัดด้วยว่า อาจแย่กว่าในระยะยาว[188][189]

การใช้หน้ากากในที่สาธารณะ

ในเดือนกรกฎาคม 2020 หัวหน้าหน่วยงานทางสาธารณสุขสหรัฐคนหนึ่ง (U.S. Surgeon General) กระตุ้นให้คนใส่หน้ากากโดยยอมรับว่า การแก้ความที่รัฐบาลระบุก่อนหน้า (รวมทั้งตนเอง) ว่าหน้ากากไม่ได้ผลสำหรับสาธารณชนเป็นเรื่องยาก[190]

แม้เจ้าหน้าที่ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชีย จะแนะนำให้ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ แต่ในภูมิภาคอื่น ๆ รัฐบาลก็ให้คำแนะนำที่ขัดแย้งกันเองแล้วสร้างความสับสนแก่ประชาชน[191] รัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ เช่น ในสหรัฐ เบื้องต้นไม่สนใจให้สาธารณชนใช้หน้ากาก และมักให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดหรือไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับประสิทธิผลของหน้ากาก[192][193][194] แต่ก็มีผู้วิเคราะห์ซึ่งระบุเหตุการสื่อความต่อต้านหน้ากากเช่นนี้ว่า เป็นการบริหารการขาดแคลนของหน้ากาก เพราะรัฐบาลไม่ดำเนินการแก้ปัญหาเร็วพอ โดยให้ข้อสังเกตว่า ข้ออ้างเช่นนี้เกินวิทยาศาสตร์และไม่ใช่การโกหกธรรมดา [194][195][196][197]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 หัวหน้าหน่วยงานทางสาธารณสุขสหรัฐ (U.S. Surgeon General) ผู้เป็นวิสัญญีแพทย์คนหนึ่งทวีตว่า "จริง ๆ นะพวกคุณ จงหยุดซื้อหน้ากาก เพราะมันไม่มีผลป้องกันสาธารณชนจากการติดไวรัสโคโรนา" แต่ภายหลังก็ถอยจากจุดยืนนี้เมื่อหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าหน้ากากสามารถกำจัดการติดต่อของไวรัส[198][199] อนึ่ง ในวันที่ 12 มิถุนายน 2020 สมาชิกของหน่วยงานเฉพาะกิจไวรัสโคโรนาของทำเนียบขาวคนดังคือ นพ. (วิทยาภูมิคุ้มกัน) Anthony Fauci ก็ยืนยันว่า คนอเมริกันถูกบอกให้ไม่ใส่หน้ากากตั้งแต่ต้นเพราะหน้ากากขาดแคลน แล้วอธิบายว่าหน้ากากจริง ๆ มีผล[200][201][202][203]

สำนักข่าวบางแห่งอ้างว่า หลอดผ้าที่นำมาสวมคอให้อุ่น (neck gaiter) เมื่อเอามาใช้แทนหน้ากากเพื่อป้องกันโควิดความจริงแย่กว่าไม่ใส่มันเลย โดยตีความงานศึกษาหนึ่งผิด ๆ เพราะเป็นงานศึกษาที่แสดงวิธีการประเมินหน้ากาก และไม่ได้ประเมินประสิทธิภาพของหน้ากากในรูปแบบต่าง [204][205][206] งานศึกษายังได้ตรวจดูคนใส่หลอดผ้าที่ว่าซึ่งทำมาจากผ้าผสมโพลีเอสเตอร์และสแปนเด็กซ์เพียงรายเดียว ซึ่งจริง ๆ ไม่พอเป็นหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างที่สื่อข่าวว่า[205] งานศึกษาพบว่าหลอดผ้าดังว่า ซึ่งทำมาจากวัสดุที่บางและยืดได้ ดูเหมือนจะไม่มีประสิทธิภาพจำกัดละอองน้ำที่คนใส่พ่นออก ผู้เขียนงานศึกษานี้คนหนึ่งกล่าวว่า ผลที่ได้น่าจะเป็นเพราะวัสดุและไม่ใช่เพราะรูปแบบของผ้า โดยระบุว่า "หน้ากากที่ทำจากผ้าเช่นนั้นน่าจะมีผลเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด"[207] ผู้ร่วมเขียนงานศึกษานี้อีกคนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาพยายามใช้คำอย่างระมัดระวังแล้วในการสัมภาษณ์ แต่ข่าวนี้บิดเบือนอย่างควบคุมไม่ได้สำหรับงานศึกษาที่ตรวจสอบเทคนิคการวัด ไม่ใช่ทดสอบหน้ากาก[204]

ยังมีข้ออ้างผิด ๆ ที่กระจายไปว่า การใช้หน้ากากมีผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ลดออกซิเจนในเลือด[208] เพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด[209] และทำภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอ[210] มีข้ออ้างผิด ๆ ด้วยว่า หน้ากากก่อปอดบวมที่ดื้อยาปฏิชีวนะเพราะหน้ากากกันไม่ให้พ่นจุลชีพก่อโรคออกจากร่างกาย[211]

คนต่อต้านไม่ใส่หน้ากากยังใช้ข้ออ้างกำมะลอทางกฎหมายหรือทางสุขภาพเมื่อไม่ยอมใส่หน้ากาก[212] เช่นอ้างว่ากฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติกับคนพิการ (Americans with Disabilities Act) ยกเว้นตนให้ไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐต่อมาโต้ว่า กฎหมาย "ไม่ได้ยกเว้นคนพิการทุกอย่างจากการปฏิบัติตามข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยที่เป็นธรรมและจำเป็นต่อการดำเนินการที่ปลอดภัย"[213] กระทรวงยังประกาศเตือนเรื่องการใช้บัตรปลอมที่ "ยกเว้น" ผู้ถือให้ไม่ต้องใส่หน้ากาก โดยระบุว่าเป็นบัตรปลอมซึ่งกระทรวงไม่ได้ออกให้[214][215]

ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2020 ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์โรดรีโก ดูแตร์เต กล่าวว่า คนที่ไม่มีเครื่องมือทำความสะอาดอาจใช้แก๊สโซลีนเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อหน้ากากของตน[216] โดยกล่าวต่อไปว่า "สำหรับคนที่ไม่มีไลซอล ให้จุ่มมันในแก๊สโซลีนหรือน้ำมันดีเซล เพียงให้หาแก๊สโซลีนแล้วจุ่มมือ (ที่มีหน้ากาก) ลงในนั้น"[216] โฆษกของเขาต่อมาจึงต้องออกมาแก้ความนี้[216]

แอลกอฮอล์ (เอทานอลและเมทานอลที่เป็นพิษ)

ตรงข้ามกับที่รายงานในบางที่ การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ป้องกันโควิด-19 และสามารถเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพทั้งระยะสั้นและยาว[94] แอลกอฮอล์ที่ใช้ดื่มเป็นชนิดเอทานอล แอลกอฮอล์อื่น ๆ เช่น เมทานอล ซึ่งเป็นพิษอย่างรุนแรง อาจมีในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำอย่างแย่มาก[217]

อิหร่านมีรายงานเมทานอลเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากความเชื่อผิด ๆ ว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะรักษาหรือป้องกันไวรัสโคโรนา[218] เพราะแอลกอฮอล์สำหรับดื่มผิดกฎหมายในอิหร่าน แอลกอฮอล์ที่ทำเองอาจมีเมทานอล[219] ตามสื่อข่าวอิหร่านเดือนมีนาคม 2020 คนเกือบ 300 คนได้เสียชีวิตและเกินกว่าพันล้มป่วยเพราะเมทานอลเป็นพิษ แต่สำนักข่าวเอพีระบุว่ามีคนตาย 480 รายและมีคนป่วย 2,850 คน[220] จำนวนคนตายเนื่องกับเมทานอลเป็นพิษในอิหร่านได้เพิ่มเป็นเกิน 700 คนในเดือนเมษายน[221] เพราะสื่อสังคมอิหร่านกระจายเรื่องจากหนังสือพิมพ์ข่าวแนวตื่นเต้นอังกฤษว่า คนอังกฤษและอื่น ๆ หายจากไวรัสโคโรนาด้วยเหล้าวิสกี้ผสมน้ำผึ้ง[218][222] ซึ่งเมื่อรวมข่าวนี้กับการใช้น้ำยาทำความสะอาดมือที่เป็นแอลกอฮอล์ (ปกติเป็นเมทานอล) จึงได้ก่อความเชื่อผิด ๆ ว่า การดื่มแอลกอฮอล์แบบเข้มข้นสูงสามารถฆ่าไวรัส[218][219][220]

มีเหตุการณ์เช่นเดียวกันในตุรกี คือมีคนตุรกี 30 คนเสียชีวิตเพราะเมทานอลเป็นพิษอาศัยวิธีการรักษาไวรัสโคโรนาที่ผิด [223][224]

ในประเทศเคนยา ผู้ว่าการเมืองไนโรบีถูกวิเคราะห์พิจารณาเพราะรวมขวดคอนญักเล็ก ๆ กับห่อของแจก โดยอ้างผิด ๆ ว่า แอลกอฮอล์เป็น "น้ำยาทำความสะอาดคอ" และว่า เพราะผลงานวิจัย จึงเชื่อว่า "แอลกอฮอล์มีบทบาทสำคัญในการฆ่าไวรัสโคโรนา"[225][226]

ภูมิคุ้มกันของคนกินเจ

มีข้ออ้างออนไลน์ที่กระจายไปในอินเดียว่า คนกินเจมีภูมิคุ้มกันไม่ติดเชื้อไวรัสโครนา จนกระทั่งแฮชแท็ก #NoMeat_NoCoronaVirus กลายเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์[227] การกินเนื้อไม่มีผลต่อการติดโรคโควิด-19[228] รัฐมนตรีของอินเดีย (Fisheries, Dairying and Animal Husbandry) กล่าวว่า ข่าวลือนี้มีผลลบต่ออุตสาหกรรม เช่น ลดราคาของไก่จนเหลือแค่ 1/3[229]

ศาสนาเป็นเครื่องป้องกัน

กลุ่มศาสนาต่าง ๆ อ้างการคุ้มกันโรคเนื่องกับศรัทธาของตน จนบางกลุ่มไม่ยอมระงับการชุมนุมทางศาสนาที่รวมคนเป็นจำนวนมาก ในอิสราเอล คนยิว Ultra-Orthodox ตอนแรกไม่ยอมปิดสุเหร่ายิวและโรงเรียนสอนศาสนา โดยไม่สนใจข้อจำกัดของรัฐบาลเพราะ "คัมภีร์โทราห์จะป้องกันและรักษา"[230] ซึ่งทำให้เกิดอัตราการติดโรคเป็น 8 เท่าในบางกลุ่ม[231]

กลุ่มเคลื่อนไหวสอนศาสนาอิสลาม Tablighi Jamaat ได้จัดการชุมนุมคนเป็นจำนวนมาก (Ijtema) ในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถานที่ผู้เข้าร่วมเชื่อว่าอัลลอฮ์จะป้องกันพวกเขา จึงเพิ่มการติดโควิด-19 เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศเหล่านั้นและอื่น [232][233][234] ในนครโกม อิหร่าน หัวหน้าของสถานบูชา Fatima Masumeh Shrine สนับสนุนให้ผู้แสวงบุญมาเยี่ยมแม้จะมีผู้ร้องให้ปิด โดยอ้างว่า สถานบูชาเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงย่อมคุ้มกันรักษา[235]

ในเกาหลีใต้ โบสถ์ River of Grace Community Church ในจังหวัดคย็องกีได้แพร่ไวรัสหลังจากพ่นน้ำเกลือใส่ปากสมาชิกเพราะเชื่อว่าจะฆ่าไวรัส[236] ส่วนผู้นำของโบสต์ Shincheonji Church of Jesus ในนครบาลแทกูอวดอ้างว่า ไม่มีศาสนิกชนของโบสถ์เลยที่ติดเชื้อในเดือนกุมภาพันธ์เทียบกับคนเป็นร้อย ๆ ผู้กำลังเสียชีวิตในอู่ฮั่น ต่อมาจึงก่อการติดโรคซึ่งกระจายไปมากที่สุดในประเทศ[237][238]

ในประเทศแทนซาเนีย ประธานาธิบดีประเทศแทนที่จะห้ามการชุมนุมกันทางศาสนา กลับกระตุ้นให้ผู้มีศรัทธาไปยังโบสต์และมัสยิดโดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันพวกเขา เขากล่าวว่า ไวรัสโคโรนาเป็นซาตาน ดังนั้น "จึงไม่สามารถรอดชีวิตในพระกายของพระคริสต์ มันจะไหม้ไป" (โดยพระกายของพระคริสต์หมายถึงโบสถ์)[239][240]

ในประเทศโซมาเลีย มีเทพนิยายที่กำลังกระจายไปและอ้างว่า คนมุสลิมมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส[241]

แม้จะเกิดเหตุการณ์ระบาดทั่ว ในวันที่ 9 มีนาคม โบสถ์แห่งกรีซ (Church of Greece) ประกาศว่า พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้ที่ไปโบสถ์จะกินขนมปังชุบไวน์จากถ้วยเดียวกัน จะทำพิธีเช่นเดียวกันต่อไป[242] สภาสงฆ์ของโบสถ์กล่าวว่า พิธี "ไม่อาจเป็นเหตุของการกระจายโรค" โดยมีผู้นำที่กล่าวว่า ไวน์ไม่มีโทษเพราะเป็นเลือดเนื้อของพระคริสต์ และว่า "คนที่ไปยังพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์กำลังก้าวเข้าไปหาพระเจ้า ผู้มีอำนาจในการรักษา"[242] ดังนั้น โบสถ์จึงปฏิเสธการจำกัดไม่ให้คนคริสต์เข้าพิธีนี้[243] ซึ่งมีคนหลายกลุ่มที่เห็นด้วยรวมทั้งผู้สอนศาสนา[244] นักการเมือง และบุคลากรทางแพทย์[244][245] ส่วนสมาคมแพทย์โรงพยาบาลแห่งกรีซวิจารณ์บุคลากรแพทย์เหล่านั้นเพราะเอาความเชื่อขึ้นหน้าวิทยาศาสตร์[244] แต่ก็มีแพทย์กรีกผู้หนึ่งที่ตีพิมพ์งานทบทวนวรรณกรรมซึ่งอ้างว่า การแพร่โรคติดต่อในพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยเกิด แต่การมีข้อถกเถียงเช่นนี้ก็เท่ากับแบ่งพวกทางสังคม ทางการเมือง และผู้ชำนาญการทางแพทย์ของกรีซ[246]

โคเคน

ยาเสพติดคือ โคเคน ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19 มีทวีตหลายบทความที่อ้างว่า การสูดโคเคนจะฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาในช่องจมูก โดยข้อความได้กระจายไปทั่วยุโรปและแอฟริกา กระทรวงสุขภาพฝรั่งเศสจึงได้ประกาศหักล้างข้ออ้างเท็จนี้ว่า "ไม่เลย โคเคนไม่ได้ป้องกันโควิด-19 มันเป็นยาเสพติดซึ่งก่อผลข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ" องค์การอนามัยโลกก็หักล้างข้ออ้างนี้ด้วย[247]

การพ่นยาฆ่าเชื้อจากเฮลิคอปเตอร์

ในประเทศเอเชียบางประเทศ มีการอ้างว่า ควรจะอยู่บ้านในวันที่เฮลิคอปเตอร์พ่น "ยาฆ่าโควิด-19" เหนือบ้านและอาคาร ไม่เคยมีการพ่นยาเช่นนี้ ไม่มีแผนการ และจนถึงเดือนกรกฎาคม 2020 ก็ยังไม่มียาเพื่อใช้ในการนี้[248][249]

แรงสั่น

ในอินเดีย สื่อได้หักล้างแนวคิดว่าแรงสั่นจากการตบมือในเคอร์ฟิวชานาตา (เคอร์ฟิวประชาชน) จะฆ่าไวรัส[250] นักแสดงอมิตาภ พัจจันถูกตำหนิอย่างรุนแรงสำหรับทวีตของเขาบทความหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าแรงสั่นจากการตบมือและการเป่าหอยสังค์โดยเป็นส่วนของเคอร์ฟิวชานาตาในวันอาทิตย์จะลดหรือทำลายฤทธิ์ของไวรัสโคโรนาเพราะมันเป็นคืนมืดที่สุดของเดือน (Amavasya)[251]

อาหาร

ในอินเดีย ข่าวปลอมได้กระจายไปว่า องค์การอนามัยโลกเตือนไม่ให้กินกะหล่ำปลีเพื่อป้องกันการติดโรค ซึ่งจริง ๆ ไม่มีการเตือนเช่นนี้[252] ข้ออ้างว่า ผลอันเป็นพิษของต้น Datura (พืชประเภทลำโพงและมะเขือบ้า) สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ทำให้คน 11 คนต้องเข้า รพ. เพราะได้กินผลไม้ตามคำแนะนำของวิดีโอในติ๊กต็อกที่กระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวิธีป้องกันโควิด-19[253][254]

ข้อมูลผิดเกี่ยวกับวัคซีน

บทบาทของเอ็มอาร์เอ็นเอ

การใช้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอป้องกันโควิด-19 ได้เป็นเรื่องสร้างข้อมูลเท็จที่กระจายไปตามสื่อสังคม โดยอ้างผิด ๆ ว่า วัคซีนอาร์เอ็นเอจะเปลี่ยนดีเอ็นเอของคนที่ได้รับ[255] ใน รพ. รัฐวิสคอนซิน (สหรัฐ) เภสัชกรคนหนึ่งได้อ้างทฤษฎีสมคบคิดนี้ เมื่อจงใจเอาขวดวัคซีน 57 ขวดออกจากตู้แช่แข็งในเดือนธันวาคม 2020 แล้วต่อมาถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาอาญาฐานก่ออันตรายอย่างสะเพร่าและก่อความเสียหายต่อทรัพย์สิน[256]

ความเป็นหมัน

นักการเมืองและแพทย์ชาวเยอรมัน (Wolfgang Wodarg) บวกกับอดีตพนักงานบริษัทไฟเซอร์ (Michael Yeadon) ได้กระจายข่าวเท็จที่อ้างว่า วัคซีนโควิด-19 ทำหญิงให้เป็นหมัน แพทย์นักวิจารณ์กลุ่มคนต่อต้านวัคซีนคนหนึ่ง (David Gorski) เขียนว่า "ที่น่าเศร้าก็คือ คู่ที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์นี้กำลังเติมเชื้อให้แก่ความกลัวที่มีอยู่แล้วว่า วัคซีนโควิด-19 ใหม่ ๆ จะทำให้หญิงเป็นหมัน และกำลังทำการเช่นนี้อาศัยเรื่องเหลวไหลที่คิดเอา"[257]

วัคซีนโปลิโอเป็นพาหะของโควิด-19

สื่อสังคมในประเทศแคเมอรูนกระจายทฤษฎีสมคบคิดว่า วัคซีนโปลิโอมีโคโรนาไวรัส ทำให้การกำจัดโรคโปลิโอยุ่งยากขึ้นนอกเหนือไปจากปัญหาทางโลจิสติกส์และเงินทุนที่มีอยู่แล้วเนื่องกับการระบาดทั่ว[258]

อัมพาตแบบเบลล์

มีการกระจ่ายข่าวเท็จไปทางสื่อสังคมว่าวัคซีนโควิด-19 tozinameran (ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค) ก่ออัมพาตแบบเบลล์ แม้จะจริงว่าในช่วงการทดลอง อาสาสมัคร 4 คนใน 22,000 คนเกิดอัมพาตแบบเบลล์ แต่องค์การอาหารและยาสหรัฐก็ให้ข้อสังเกตว่า "ความถี่การเกิดอัมพาตแบบเบลล์ที่รายงานในกลุ่มได้วัคซีนสอดคล้องกับอัตราการเกิดโรคที่คาดหวังได้ในกลุ่มประชากรทั่วไป"[259] คือวัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดอัมพาตเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

การเพิ่มฤทธิ์ของไวรัสอาศัยสารภูมิต้านทาน

การเพิ่มฤทธิ์ของไวรัสอาศัยสารภูมิต้านทาน (Antibody-dependent enhancement ตัวย่อ ADE) เป็นปรากฏการณ์ที่สารภูมิต้านทานที่มีอยู่ทำให้ไวรัสสามารถติดเซลล์บางอย่างได้มากขึ้น แม้ ADE จะพบในการทดลองวัคซีนไวรัสโคโรนากับสัตว์ แต่จนถึงปลายเดือนธันวาคม 2020 ก็ยังไม่พบในการทดลองกับมนุษย์ แต่นักต่อต้านวัคซีนก็อ้าง ADE อย่างผิด ๆ ว่าเป็นเหตุผลควรให้เลี่ยงวัคซีนโควิด-19[257][260]

การอ้างว่ามีวัคซีนก่อนจะมีจริง 

มีโพสต์ทางสื่อสังคมหลายบทความที่สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดว่า ในระยะต้น ๆ ของการระบาดทั่ว ไวรัสนี้รู้จักกันอยู่แล้ว และวัคซีนต้านไวรัสก็มีแล้ว แต่เว็บไซต์เช็คความจริง PolitiFact และ FactCheck.org ระบุว่า ไม่มีวัคซีนโควิด-19 ในช่วงนั้น สิทธิบัตรลำดับยีนและวัคซีนที่อ้างกันต่าง ๆ ก็เป็นสิทธิบัตรเกี่ยวกับสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาอื่น ๆ เช่น ซาร์ส[261][262] องค์การอนามัยโลกรายงานว่า จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2020 แม้จะมีรายงานข่าวว่ากำลังค้นพบยาใหม่ ๆ แต่ก็ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล[263] รวมทั้งยาปฏิชีวนะและสมุนไพร[264]

ในเฟซบุ๊ก โพสต์หนึ่งที่กระจายไปทั่วในเดือนเมษายน 2020 อ้างว่า เด็กเซเนกัล 7 คนได้เสียชีวิตเพราะวัคซีนโควิด-19 แต่ก็ยังไม่มีวัคซีนเช่นนั้นที่อนุมัติให้ใช้ในมนุษย์ แม้จะมีบ้างที่กำลังทดลองทางคลินิกอยู่[265]

มีชิ้นส่วนทารกแท้งในวัคซีน

ในเดือนพฤศจิกายน 2020 มีข้ออ้างที่กระจายไปในเว็บว่า วัคซีนโควิด-19 AZD1222 ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและบริษัทแอสตราเซเนกามีเนื้อเยื่อจากทารกในครรภ์ที่ถูกทำแท้ง แม้จะจริงว่าสายพันธุ์เซลล์ที่ใช้พัฒนาวัคซีนสืบสายมาจากเซลล์ของเด็กที่ถูกทำแท้งในปี 1970 แต่วัคซีนเองก็ไม่มีโมเลกุลเช่นนี้อยู่เลย[266][267]

ข้อมูลการรักษาผิด 

มีโพสต์ในสื่อสังคมมากมายที่กระจายไปทั่วเกี่ยวกับวิธีการป้องกันรักษาโคโรนาไวรัสที่ไม่มีมูลฐานความจริง บางอย่างเป็นเล่ห์โกง บางอย่างเป็นอันตรายและไม่ถูกสุขภาพ[94][268]

โรงพยาบาล

ในสหรัฐ คนอนุรักษ์นิยมคนดังต่าง ๆ ในสหรัฐ (เช่น Richard Epstein)[269] ระบุว่าการระบาดทั่วไม่ได้แพร่หลายขนาดนั้นจริง ๆ เป็นการกล่าวเกินจริงเพื่อโจมตีประธานาธิบดีสหรัฐดอนัลด์ ทรัมป์ โดยมีบางคนผู้ชี้ที่จอดรถของ รพ. ที่ว่าง ๆ ว่าเป็นหลักฐานแสดงว่าการติดโรคเป็นเรื่องเกินจริง ถึงที่จอดรถจะว่างก็จริง แต่ รพ. ในทั้งนครนิวยอร์กและเมืองอื่น ๆ มีคนเป็นพัน ๆ ต้องเข้า รพ.[270]

สมุนไพร

ในจีน สื่อระดับชาติและที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าของต่าง ๆ ได้โฆษณาอย่างหนักในเรื่อง "งานวิจัยข้ามคืน" ของสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นและของวิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีนเกี่ยวกับสูตรยาสมุนไพรจีน (shuanghuanglian) จนทำให้เกิดการกวาดซื้อยาประเภทนี้[271]

ส่วนประธานาธิบดีของประเทศมาดากัสการ์ แอนดรี ราโจเอลินา เริ่มผลิตและโฆษณาเครื่องดื่มสมุนไพรจากพืชสกุล Artemisia โดยอ้างว่าเป็นยามหัศจรรย์ที่สามารถรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 แม้จะไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใด ๆ เลย แล้วยังส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาหลายประเทศด้วย[272][273]

วิตามิน

ในช่วงการระบาดทั่วของโควิด-19 ผู้ขายวิตามินซีได้รับจดหมายเตือนจากองค์การอาหารและยาสหรัฐมากกว่าผู้ขายยากลางบ้านประเภทอื่น [274]

มีข้ออ้างในสื่อสังคมประเทศไทยว่า อาหารเสริมคือวิตามินดีสามารถช่วงป้องกันโคโรนาไวรัส[275] จริง ๆ แล้ว แม้ศูนย์เวชปฏิบัติอิงหลักฐานที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจะให้ข้อสังเกตว่า "คำแนะนำในปัจจุบันก็คือประชากรทั้งหมดของสหราชอาณาจักรควรกินอาหารเสริมคือวิตามินดีเพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี" แต่ก็ "ไม่พบหลักฐานทางคลินิกใด ๆ ว่า อาหารเสริมคือวิตามินดีมีประโยชน์ป้องกันหรือรักษาโควิด-19"[276] ถึงกระนั้น การขาดวิตามินดีก็อาจเพิ่มความเสี่ยงการติดโรคโควิด และเพิ่มความรุนแรงของโรค[277]

การรักษาหวัดและไข้หวัดใหญ่

มีการอ้างว่าตำราอินเดียอายุ 30 ปีระบุแอสไพริน สารต้านฮิสตามีน และยาพ่นจมูกเป็นวิธีการรักษาโควิด-19 แต่ตำราจริง ๆ พูดถึงวงศ์ไวรัสโคโรนาแบบรวม [278]

มีข่าวลือที่กระจายไปตามสื่อสังคมคือซินล่างเวย์ปั๋ว เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ที่อ้างว่า ผู้เชี่ยวชาญจีนกล่าวว่า น้ำเกลือสามารถใช้ฆ่าไวรัสโคโรนาได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าน้ำเกลือมีผลเช่นนั้น[279]

ทวีตจากรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส (Olivier Véran) บวกกับประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสเอง และงานศึกษาเล็ก ๆ เชิงทฤษฎีในวารสารการแพทย์ The Lancet Respiratory Medicine ได้สร้างความวิตกว่ายาแก้อักเสบไอบิวพรอเฟนทำโรคโควิด-19 ให้แย่ลง ซึ่งกระจายไปอย่างกว้างขวางในสื่อสังคม แต่สำนักงานการแพทย์ยุโรป[280] และองค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้คนไข้โควิด-19 กินยาไอบิวพรอเฟนตามที่หมอสั่ง โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีอันตราย[281]

ผลิตภัณฑ์หรืออาหารสัตว์

นักปฏิบัติการทางการเมืองอินเดีย Swami Chakrapani และสมาชิกสภาของรัฐอัสสัม Suman Haripriya อ้างว่า การดื่มน้ำปัสสาวะของโคและการแปะอุจจาระโคที่ร่างกายสามารถรักษาโควิด-19[282][283] ส่วนหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกชาวอินเดีย Soumya Swaminathan ได้วิจารณ์นัการเมืองที่กระจายข่าวเท็จเช่นนี้โดยไม่มีมูลฐานความจริง[284]

ยาจีน

แนวทางการจัดการโควิดตั้งแต่ฉบับที่ 3 ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนแนะนำให้ใช้ยาจีนเพื่อรักษาโรค[285] ในอู่ฮั่น สำนักข่าว China Central Television รายงานว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ผลักดันให้ใช้ยาจีนชุดหนึ่งสำหรับกรณีโควิดทุกกรณีตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์[286] โดยมีสูตรหนึ่งที่ได้โปรโหมตในระดับชาติ[287] รพ. สนามในพื้นที่ก็มุ่งใช้ยาจีนอย่างโต้ง ๆ ตามสื่อของรัฐ จนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2020 คนไข้ร้อย 91.9 ในมณฑลหูเป่ย์ได้ใช้ยาจีน โดยมากถึงอัตราร้อยละ 99 สำหรับคนไข้ใน รพ. ภาคสนาม และร้อยละ 94 ในเขตกักตัวขนาดใหญ่[288] ในเดือนมีนาคม หนังสือพิมพ์อังกฤษ The Daily Telegraph มีหน้าแทรกเป็นโฆษณาจากหนังสือพิมพ์จีน People's Daily ซึ่งระบุว่ายาจีน "ช่วยสู้กับโคโรนาไวรัส"[289]

คลอโรควิน

มีการอ้างผิด ๆ ว่าได้ใช้ยาต้านมาลาเรียคือ คลอโรควิน เพื่อรักษาคนไข้กว่า 12,000 คนในไนจีเรีย[290]

Ivermectin

ในเดือนธันวาคม 2020 หัวหน้าคณะวุฒิสภาสหรัฐด้านความปลอดภัยของประเทศรอน จอนห์สัน (วิสคอนซิน พรรคริพับลิกัน) ได้ใช้การประชุมพิจารณาของวุฒิสภาเพื่อโปรโมตทฤษฎีสุดโต่งเกี่ยวกับโควิด-19[291] โดยมีพยานต่าง ๆ รวมทั้งหมอปอดและเวชบำบัดวิกฤติผู้กล่าวผิด ๆ ถึงยารักษาปรสิต ivermectin ว่าเป็นยามหัศจรรย์เพื่อใช้สู้กับโควิด-19 คลิปวิดีโอเรื่องสิ่งที่เขากล่าวได้กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในสื่อสังคม โดยมีคนดูเกินกว่าล้าน[292]

แพทย์วิมตินิยมท่านหนึ่งได้เขียนว่า การระบุยา ivermectin ว่าเป็น "การรักษามหัศจรรย์" สำหรับโควิด-19 เป็นเนื้อร้ายที่กระจายออกของทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับยาไฮดรอกซิคลอโรควิน โดยทฤษฎีระบุว่ามีผู้มีอำนาจนิรนามที่พยายามกดข่าวเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาเพื่อประโยชน์ชั่วของตนเอง[293]

การรักษาที่เป็นอันตราย

นักทฤษฎีสมคบคิดกลุ่ม QAnon บางคนโปรโหมตการบ้วนปากด้วย "Miracle Mineral Supplement" (อาหารเสริมที่เป็นเกลือแร่อัศจรรย์) เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคโควิด จริง ๆ นี่เป็นคลอรีนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการอุตสาหกรรมเช่นน้ำยาฟอกขาวเป็นต้น และอาจก่อปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิต องค์การอาหารและยาสหรัฐได้เตือนหลายครั้งว่าการดื่มยาที่ว่านี้เป็น "อันตราย" ซึ่งอาจทำให้ "อาเจียนอย่างรุนแรง" และ "ตับวายอย่างฉับพลัน"[294]

การรักษาที่ไม่ได้ตรวจ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 นักเทศน์คริสเตียนทางโทรทัศน์ Jim Bakker ได้โปรโหมตสารละลายทำด้วยเงินที่เขาขายทางเว็บไซต์ว่าเป็นยารักษาโควิด-19 ต่อมาหมอรักษาแนวธรรมชาติคนหนึ่งได้มาให้สัมภาษณ์ในรายการของเขาว่า ยานี้ "ยังไม่ได้ทดสอบกับสายพันธุ์โคโรนาไวรัสนี้ แต่ได้ทดสอบกับสายพันธุ์โคโรนาไวรัสอื่น ๆ แล้ว และสามารถกำจัดไวรัสได้ภายใน 12 ชม."[295] ต่อมา ทั้งองค์การอาหารและยาสหรัฐและอัยการรัฐนิวยอร์กก็ได้สั่งเขาให้หยุดระงับทำการ แล้วหลังจากนั้น รัฐมิสซูรีจึงฟ้องคดีเขาเกี่ยวกับการขายยา[296][297]

อัยการรัฐนิวยอร์กยังได้ออกคำสั่งให้ระงับทำการแก่ผู้ดำเนินการวิทยุอนุรักษนิยมขวาจัด Alex Jones ผู้ขายยาสีฟันมีส่วนผสมเป็นเงินที่เขาอ้างอย่างเป็นเท็จว่า สามารถฆ่าไวรัสโดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางได้ตรวจยืนยันแล้ว[298]

ในอินเดีย มีข้อมูลผิด ๆ ที่กระจายไปตามสื่อสังคมว่า รัฐบาลพ่นยาต่อต้านโคโรนาในช่วงเคอร์ฟิวชานาตา ซึ่งเป็นเคอร์ฟิวบังคับให้อยู่บ้านในอินเดีย[299] ส่วนครูโยคะ Ramdev อ้างว่า สามารถรักษาโคโรนาไวรัสโดยกรอกน้ำมันมัสตาร์ดในจมูก ซึ่งจะทำให้ไวรัสไหลเข้าไปในกระเพาะอาหารแล้วน้ำย่อยก็จะทำลายเชื้อ เขายังอ้างอีกด้วยว่าถ้ากลั้นหายใจได้หนึ่งนาที นี่หมายความว่าบุคคลไม่ได้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ไม่ว่าจะแบบมีอาการหรือไม่มี แต่ข้ออ้างทั้งสองก็ระบุว่าเท็จแล้ว[300][301]

หลังจากการเกิดเคสโควิดเป็นเค้สแรกในไนจีเรียวันที่ 28 กุมภาพันธ์ วิธีการรักษาที่ไม่ได้ทดสอบก็เริ่มกระจายไปทางแพลตฟอร์มสื่อสังคมรวมทั้งวอตส์แอปป์[302]

สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐได้จับนักแสดงคนหนึ่งฐานขายยารักษาโควิด-19 ปลอม[303]

การรักษาทางจิตวิญญาณ

นักเทศน์คริสเตียนทางโทรทัศน์อเมริกันอีกผู้หนึ่ง (Kenneth Copeland) ได้อ้างทางโปรแกรม "Standing Against Coronavirus" (ยืนหยัดกับโคโรนาไวรัส) ว่า เขาสามารถรักษาผู้ชมรายการให้หายจากโควิด-19 ผ่านทีวีโดยตรง คือผู้ชมเพียงแต่แตะจอโทรทัศน์เพื่อรับการรักษาทางจิตวิญญาณ[304][305]

อื่น 

ชื่อโรค

โพสต์ในสื่อสังคมและอินเทอร์เน็ตมีมได้อ้างว่า คำอักษรละตินว่า COVID-19 มาจากวลีภาษาอังกฤษว่า "Chinese Originated Viral Infectious Disease 19" (โรคติดต่อทางไวรัสซึ่งเกิดจากจีนที่ 19) หรืออะไรที่คล้าย ๆ กัน โดยหมายถึง "ไวรัสชนิดที่ 19 ซึ่งมาจากจีน"[306] แต่จริง ๆ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่อโรคโดยย่อคำดังต่อไปนี้ คือ CO ย่อมาจาก corona, VI ย่อมาจาก virus, D ย่อมาจาก disease และ 19 ระบุปีที่โรคเริ่มระบาด (31 ธ.ค. 2019)[307]

รายการการ์ตูนเดอะซิมป์สันส์ได้พยากรณ์โรคไว้แล้ว

โพสต์ว่า รายการการ์ตูนเดอะซิมป์สันส์ได้พยากรณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในปี 1993 โดยประกอบกับรูปที่แค็ปจากรายการ (โดยมีคำว่า "Corona Virus" ปิดทับคำเดิมว่า "Apocalypse Meow") แม้ต่อมาจะพบว่าเท็จ แต่เนื้อความของโพสต์ก็กระจายไปอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมแล้ว[308][309]

ธนบัตร 20 ปอนด์ของสหราชอาณาจักร

ทวีตหนึ่งได้เริ่มอินเทอร์เน็ตมีมว่า ธนบัตร 20 ปอนด์ของสหราชอาณาจักรมีรูปเสาส่งสัญญาณของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 จี และไวรัสโควิด-19 ต่อมาเฟซบุ๊กและยูทูบจึงได้ลบบทความที่สร้างกระแสนี้ และองค์กรเช็คความจริงต่าง ๆ ก็ได้ระบุว่า เป็นรูปประภาคารมาร์เกต (Margate Lighthouse) และสิ่งที่ระบุว่า "ไวรัส" ก็คือขั้นบันไดที่พิพิธภัณฑ์ศิลป์เทตบริเตน[310][311][312]

การโจมตีเรือโรงพยาบาล

รัฐบาลกลางสหรัฐได้ส่งเรือโรงพยาบาล USNS Mercy (T-AH-19) ไปที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสเพื่อเป็น โรงพยาบาลสำรองสำหรับภูมิภาค ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2020 พนักงานขับรถไฟได้ตั้งใจทำให้รถไฟขนส่งสินค้าตกรางเพื่อเข้าชนเรือ รพ. แต่ก็ไม่สำเร็จโดยไม่มีผู้บาดเจ็บอะไร ๆ[313][314] ตามอัยการของรัฐบาลกลาง พนักงานสงสัยว่าเรือจริง ๆ มีจุดมุ่งหมายอย่างอื่นเกี่ยวกับโควิด-19 หรือเป็นการเข้ายึดเมืองของรัฐบาล[315]

การกลับคืนของสัตว์ป่า

ในช่วงการระบาดทั่ว มีรูปปลอมหรือทำให้เข้าใจผิด หรือรายงานข่าวเกี่ยวกับผลทางสิ่งแวดล้อมของโรค ที่ได้แชร์ไปตามแหล่งข่าวคลิกเบตและสื่อสังคม[316] โพสต์ที่มาจากซินล่างเวย์ปั๋วและกระจายไปทางทวิตเตอร์อ้างว่า มีโขลงช้างที่ลงไปยังหมู่บ้านที่เป็นเขตกักตัวในมณฑลยูนนานของประเทศจีน กินไวน์ข้าวโพดจนเมา แล้วไปสลบไสลอยู่ที่สวนน้ำชา[317] ส่วนรายงานข่าวในจีนเองหักล้างข้ออ้างว่าช้างกินไวน์จนเมาโดยให้ข้อสังเกตว่า ช้างป่าเป็นเรื่องสามัญในหมู่บ้านนั้น และภาพที่ส่งต่อดั้งเดิมถ่ายมาจากศูนย์วิจัยช้างเอเชียแห่งยูนนานในเดือนธันวาคม 2019[316]

หลังจากมีรายงานว่าภาวะมลพิษได้ลดลงในอิตาลีเพราะการล็อกดาวน์ ก็เกิดภาพที่ระบุอย่างไม่จริงว่า เป็นภาพหงส์และโลมาว่ายน้ำอยู่ในคลองเมืองเวนิส แล้วภาพต่อมาก็กระจายไปตามสื่อสังคม ในที่สุดก็พบว่าภาพหงส์ถ่ายที่เกาะ Burano (อิตาลี) ซึ่งพบหงส์อย่างสามัญ ส่วนคลิปโลมาถ่ายที่ท่าเรือในแคว้นซาร์ดิเนียซึ่งห่างกันเป็นร้อย กิโลเมตร[316] และสำนักงานนายกเทศมตรีเวนิสก็อธิบายว่า น้ำคลองใสเพราะไม่มีเรือแล่นกวนตะกอนให้ลอยขึ้นมา ไม่ใช่เพราะมลภาวะได้ลดลงดังที่กล่าว[318]

หลังจากการล็อกดาวน์ในอินเดีย มีคลิปวิดีโอที่ระบุอย่างไม่จริงว่ามีชะมดพันธุ์ Viverra civettina (Malabar large-spotted civet) ที่อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว และจัดว่าเสี่ยงอย่างวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ กำลังเดินทอดน่องอยู่ในถนนของเมือง Meppayur (ประชากรประมาณ 27,000 คน) รัฐเกรละ โดยคลิปได้กระจายไปทั่วสื่อสังคม ต่อมาผู้เชี่ยวชาญจึงระบุว่า ชะมดในคลิปเป็นชะมดเช็ดที่สามัญ[319] มีคลิปวิดีโออีกคลิปที่ระบุอย่างเป็นเท็จว่ามีวาฬหลังค่อมที่ได้กลับคืนสู่ทะเลอาหรับโดยถ่ายจากฝั่งของเมืองมุมไบ (อินเดีย) หลังจากปิดเส้นทางเดินเรือ ต่อมาจึงพบว่า วิดีโอนี้ถ่ายในปี 2019 แถบทะเลชวา (อินโดนีเซีย)[320]

ไวรัสโควิดจะอยู่ในกายตลอดไป

มีการอ้างผิด ๆ ว่า คนที่ติดโควิด-19 จะมีไวรัสในกายตลอดชีวิต จริง ๆ แม้จะยังไม่มีวิธีรักษา แต่คนที่ติดเชื้อโดยมากก็ฟื้นตัวจากโรคแล้วกำจัดไวรัสออกจากร่างกาย[94]

ความพยายามสู้กับข่าวเท็จ

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 องค์การอนามัยโลกได้ระบุถึงการระบาดทั่วของข้อมูลเท็จ (massive infodemic) โดยกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสมากมายที่รายงานแต่เป็นเท็จ จึงทำให้ยากในการได้แหล่งข้อมูลและข้อปฏิบัติที่เชื่อถือได้เมื่อจำเป็น องค์การระบุว่า เพราะมีความต้องการข้อมูลที่ทันการและเชื่อถือได้ จึงได้สร้างหน่วยกำจัดเรื่องโกหกซึ่งมีทีมตรวจตราแล้วตอบสนองต่อข้อมูลผิด ๆ ผ่านเว็บไซต์และหน้าสื่อสังคมขององค์การ[321][322][323] องค์การอนามัยโลกได้หักล้างข้ออ้างหลายอย่างโดยเฉพาะ ๆ ว่าเป็นเท็จ รวมทั้งข้ออ้างว่า สามารถบอกได้ว่าติดไวรัสหรือไม่โดยเพียงแค่กลั้นลมหายใจ ว่าการดื่มน้ำมาก ๆ จะป้องกันไวรัส และว่าการกลั้วคอด้วยน้ำเกลือป้องกันการติดเชื้อ[324]

สื่อสังคม

ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และกูเกิลประกาศว่าบริษัทจะทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกเพื่อแก้ปัญหาข้อมูลผิด[325] เฟซบุ๊กระบุในบล็อกว่า จะลบเนื้อความที่องค์การสุขภาพโลกและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ ระบุว่า ผิดนโยบายเนื้อความเท็จที่เป็นอันตราย[326] เฟซบุ๊กยังให้องค์การอนามัยโลกโฆษณาฟรีอีกด้วย[327] ถึงกระนั้น หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์คาดว่า แสงอาทิตย์อาจฆ่าไวรัส หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ก็พบ "กลุ่มเฟซบุ๊ก 780 กลุ่ม หน้าเฟซบุ๊ก 290 หน้า บัญชีอินสตาแกรม 9 บัญชี และทวีตเป็นพัน ๆ ข้อความที่ส่งเสริมการบำบัดด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต" โดยเป็นเนื้อความที่บริษัทเหล่านี้ไม่ยอมลบออกจากแพลตฟอร์มของตน [328] ในวันที่ 11 สิงหาคม 2020 เฟซบุ๊กลบโพสต์ 7 ล้านข้อความที่มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19[329]

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 บริษัทแอมะซอนได้ลบสินค้าเกินกว่าล้านที่อ้างว่ารักษาหรือป้องกันโคโรนาไวรัส และลบสินค้าสุขภาพเป็นหมื่น ๆ ที่มีราคา "สูงกว่าที่ขายในหรือนอกแอมะซอนมาก" ถึงกระนั้น ตามบีบีซี ก็ยังมีสินค้ามากมายที่ "ยังขายในราคาสูงกว่าปกติ" ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์[330]

มีตัวอย่างข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นล้าน ๆ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง [331] นักวิจัยข่าวปลอมให้ข้อสังเกตว่า มีข่าวลือที่เริ่มในจีน แล้วต่อมากระจายไปยังเกาหลีใต้และสหรัฐ ทำให้มหาวิทยาลัยเกาหลีหลายแห่งได้เริ่มการรณรงค์ที่ทำในภาษาหลายภาษา คือ "Facts Before Rumors" (ความจริงแทนที่ข่าวลือ) เพื่อประเมินข้ออ้างสามัญ ๆ ที่พบออนไลน์[332][333][334][335]

วิกิพีเดีย

สื่อได้ยกย่องความครอบคลุมข้อมูลโควิด-19 ของวิกิพีเดียและการสู้กับการใส่ข้อมูลเท็จในบทความอาศัยการรณรงค์ของ Wiki Project Med Foundation และของ WikiProject Medicine ในบรรดากลุ่มต่าง [336][337][338] องค์การอนามัยโลกได้ร่วมงานกับวิกิพีเดียโดยอนุญาตให้ใช้กราฟและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อช่วยสู้กับข้อมูลเท็จ โดยมีแผนจะใช้วิธีเช่นเดียวกันสำหรับโรคติดต่อต่าง ๆ ในอนาคต[339]

หนังสือพิมพ์และวารสารวิชาการ

หนังสือพิมพ์ที่ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนอ่าน (เพย์วอลล์) ก็ได้งดใช้เพย์วอลล์สำหรับข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 บางส่วนหรือทั้งหมด[340][341] สำนักพิมพ์งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็อนุญาตให้ใช้งานเป็นการเข้าถึงแบบเปิด (คือฟรี)[342]

ชุมชนนักวิทยาศาสตร์ แม้จะตั้งใจพิมพ์งานวิชาการที่มีคุณภาพ ก็เริ่มมีปัญหาเพราะเกิดงานวิจัยคุณภาพต่ำหรือเป็นเท็จ ทำให้ต้องถอนงานหลายงานเกี่ยวกับโควิด-19 แล้วทำให้งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่สมเหตุผลและเชื่อถือได้น่าสงสัยไปด้วย[343] บล็อก Retraction Watch มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับบทความโควิด-19 ที่ถูกเพิกถอน[344]

การตรวจพิจารณา

รัฐบาลจำนวนหนึ่งได้ทำการส่งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสให้ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจรวมขนาดการแพร่ขยายการติดไวรัส ความไม่พร้อมรับมือกับไวรัส หรือวิธีการต่อสู้กับไวรัส

กระทรวงมหาดไทยตุรกีได้จับกุมผู้ใช้สื่อสังคมต่าง ๆ ที่ได้ "เล็งเป้าเจ้าหน้าที่และกระจายความตื่นตระหนกและความกลัวโดยระบุว่า ไวรัสได้กระจายไปอย่างกว้างขวางในตุรกีโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการอย่างสมควร"[345] ส่วนกองทัพอิหร่านระบุว่า ได้จับกุมคน 3,600 คนเพราะ "กระจายข่าวลือ" เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในประเทศ[346] ในกัมพูชา บุคคลที่แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการกระแพร่กระจายของโควิด-19 ได้ถูกจับในข้อหากระจายข่าวเท็จ[347][348] รัฐสภาแอลจีเรียออกกฎหมายเกี่ยวกับการออกข่าวปลอมที่เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของชาติ[349]

ในประเทศฟิลิปปินส์[350] จีน[351] อินเดีย[352][353] อียิปต์[354] เอธิโอเปีย[355] บังกลาเทศ[356] โมร็อกโก[357] ปากีสถาน[358] ซาอุดีอาระเบีย[359] โอมาน[360] อิหร่าน[361] เวียดนาม ลาว[362] อินโดนีเซีย[353] มองโกเลีย[353] ศรีลังกา[363] เคนยา แอฟริกาใต้[364] โกตดิวัวร์[365] โซมาเลีย[366] มอริเชียส[367] ซิมบับเว[368] ไทย[369] คาซัคสถาน[370] อาเซอร์ไบจาน[371] มอนเตเนโกร[372] เซอร์เบีย[373][374] มาเลเซีย[375] สิงค์โปร์[376][377] และฮ่องกง มีคนถูกจับฐานกระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการระบาดทั่วของโควิด-19[378][353] สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ทำการกระจายข่าวปลอมและข่าวลือเกี่ยวกับการระบาดทั่วให้มีโทษทางอาญา[379] พม่าได้ปิดไม่ให้ดูเว็บไซต์ข่าว 221 แห่ง[380] รวมทั้งสำนักข่าวสำคัญหลายแห่ง[381]

เล่ห์โกง

องค์การอนามัยโลกได้เตือนว่ามีอาชญากรที่หลอกว่าตนเป็นตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกและต้องการข้อมูลส่วนตัวจากเหยื่อโดยทำผ่านอีเมลหรือโทรศัพท์[382] อนึ่ง คณะกรรมการสื่อสารกลางสหรัฐ (FCC) แนะนำไม่ให้ผู้บริโภคกดลิงก์ของอีเมลที่น่าสงสัย และไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวทางอีเมล ทางข้อความ หรือทางโทรศัพท์[383] และคณะกรรมการการค้ากลางสหรัฐ (FTC) ยังเตือนว่ามีเล่ห์โกงทางสาธารณกุศลเกี่ยวกับการระบาดทั่ว จึงแนะนำไม่ให้ผู้บริโภคบริจาคทานโดยใช้เงิน บัตรของขวัญ หรือการโอนเงินทางบัญชี[384]

บริษัทความมั่นคงไซเบอร์คือ Check Point ระบุว่า มีการโจมตีแบบฟิชชิงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อให้เหยื่อติดตั้งไวรัสคอมพิวเตอร์ โดยส่งเป็นอีเมลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาและมีไฟล์ติดมาด้วย และอาจใช้ชื่อโดเมนที่ทำให้เข้าใจผิดเช่น "cdc-gov.org" แทน "cdc.gov" (ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ) หรือแม้แต่ทำเว็บไซต์หลอกโดยเลียนแบบเว็บไซต์เดิม จนถึงเดือนมีนาคม 2020 มีชื่อโดเมนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาเกิน 4,000 ชื่อที่ได้ลงทะเบียน[385]

เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐนิวเจอร์ซีย์ (สหรัฐ) ได้รายงานถึงอาชญากรผู้เคาะประตูบ้านแล้วอ้างว่า มาจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ แล้วพยายามขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงหรือหลอกโกงเหยื่อโดยทำทีเหมือนจะให้ข้อมูลเพื่อป้องกันสาธารณชนจากไวรัสโคโรนา[386]

มีลิงก์ที่ส่งไปตามอินเทอร์เน็ตโดยบอกว่าเป็นแผนที่ไวรัสโคโรนาของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ แต่ความจริงนำส่งไปยังเว็บไซต์หลอกที่กระจายมัลแวร์[387][388]

ตั้งแต่รัฐบาลกลางสหรัฐได้ออกกฎหมายช่วยเหลือประชาชนเพราะการระบาดทั่ว อาชญากรได้หลอกลวงหาประโยชน์โดยบอกให้คนจ่ายเงินตนล่วงหน้าเพื่อรับเงินช่วยเหลือ ดังนั้น สำนักงานสรรพากรสหรัฐจึงแนะนำให้ผู้บริโภคใช้ลิงก์หรือเว็บไซต์ทางการของสำนักงานเท่านั้นเพื่อยื่นข้อมูล โดยไม่ให้ตอบทางข้อความ อีเมล หรือโทรศัพท์[389] จากนั้น บริษัทการเงินต่าง ๆ รวมทั้งธนาคาร[390] บริษัทให้กู้[391] รวมทั้งบริษัทประกันสุขภาพ[392] ก็ได้แนะนำเช่นเดียวกันในเว็บไซต์ของตน

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

  1. ทฤษฎีสมคบคิดเป็นภาษาจีนหลายทฤษฎีมากจากช่วงที่โรคซาร์สระบาดและได้อ้างว่าซาร์สเป็นอาวุธชีวภาพ ทฤษฎีเช่นนี้ได้โผล่ขึ้นมาอีกในช่วงโควิด-19 ระบาดโดยรายละเอียดได้เปลี่ยนไป มีคนกล่าวว่า บริษัทบริการระบุลำดับจีโนมที่ตั้งในจีนคือ BGI Group ได้ขายข้อมูลทางพันธุกรรมของคนจีนไปให้สหรัฐ ซึ่งได้สร้างไวรัสอันตั้งเป้าที่จีโนมของชาวจีนโดยเฉพาะ [37] ในวันที่ 26 มกราคม เว็บไซต์ที่คลั่งไคล้การทหารจีน Xilu ได้ตีพิมพ์บทความโดยอ้างว่า สหรัฐได้สร้างไวรัสลูกผสมเพื่อเล็งเป้าคนจีนให้ได้อย่างแม่นยำ[38][39] ซึ่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธุ์จึงถูกลบออก ต่อมาบทความนี้ถูกบิดเบือนไปอีกในสื่อสังคมไต้หวันซึ่งอ้างว่า "เว็บไซต์การทหารสุดยอดยอมรับว่า ไวรัสโคโรนาใหม่เป็นอาวุธชีวภาพที่จีนทำ"[40] ศูนย์ตรวจความจริงในไต้หวันได้หักล้างทั้งบทความดั้งเดิมและบทความที่ต่อ ๆ มา โดยแสดงว่า บทความดั้งเดิมบิดเบือนข้อสรุปจากงานวิจัยที่สมเหตุผลในวารสารวิทยาศาสตร์จีน Science China Life Sciences ซึ่งไม่ได้กล่าวว่าไวรัสได้ผ่านพันธุวิศวกรรม[40] แล้วอธิบายว่าความจริงเว็บไซต์ Xilu เป็นข่าวทหารแนวตื่นเต้น/ข่าวลือที่บริษัทเอกชนได้ตั้งขึ้น ไม่ได้มาจากกองทัพจีน[40] บทความบางบทความในเว็บไซต์จีนยอดนิยมยังตั้งความสงสัยกับนักกีฬาทหารสหรัฐที่ร่วมงาน 2019 Military World Games (เกมโลกทหาร 2019) ซึ่งดำเนินไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2019 ว่าเป็นผู้ปล่อยไวรัส พวกเขาอ้างว่าการไม่ค่อยใส่ใจและการแพ้อย่างผิดปกติของนักกีฬาสหรัฐในเกมแสดงว่า อาจไปที่นั่นโดยเหตุผลอื่นและจริง ๆ อาจเป็นผู้ทำการสงครามชีวภาพ โพสต์เช่นนี้ยังระบุว่า นักกีฬาได้อยู่ใกล้ ๆ กับตลาดขายส่งอาหารทะเล Huanan Seafood Wholesale Market ซึ่งเป็นแหล่งเกิดโรคแรกสุด[41] ต่อมาในเดือนมีนาคม 2020 โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน Zhao Lijian ได้ยืนยันทฤษฎีสมคบนี้[42][43][44][45] ในวันที่ 13 รัฐบาลสหรัฐจึงเชิญให้เอกอัครราชทูตจีนในนครวอชิงตัน ดีซีไปคุยกันในเรื่องนี้[46] ในช่วงเดือนต่อมา นักทฤษฎีสมคบคิดได้เพ่งความสนใจไปที่ทหารบกกองหนุนสหรัฐคนหนึ่ง คือทหารหญิงที่แข่งกีฬาจักรยานโดยอ้างว่าเธอเป็นคนไข้กรณีแรก (patient zero) ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ชายคนหนึ่งชื่อ George Webb เป็นผู้กระจายทฤษฎีนี้ เป็นบัญชียูทูบที่มีคนติดตามถึง 100,000 คน และสื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน[47] รวมทั้งหนังสือพิมพ์ Global Times[48] ก็นำความเท็จนี้ไปขยายกระจายเพิ่มขึ้น
  2. ผู้ช่วยเลขาธิการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้กล่าวว่า "เจตนาของรัสเซียก็เพื่อสร้างความไม่สามัคคี และตัดทอนสถาบันและพันธมิตรของสหรัฐโดยทำจากภายใน" และ "โดยกระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา กลุ่มคนที่มุ่งร้ายชาวรัสเซียก็กำลังเลือกคุกคามความปลอดภัยของมวลชนอีกครั้งหนึ่งโดยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการตอบสนองต่อโรคของโลก"[49] แต่รัสเซียก็ปฏิเสธข้อหานี้โดยกล่าวว่า "นี่เป็นเรื่องเท็จอย่างจงใจ"[52] ตามวารสารการต่างประเทศประจำสหรัฐฉบับหนึ่ง (The National Interest) แม้รัฐบาลรัสเซียโดยตรงจะไม่ได้ผลักดันทฤษฎีสมคบคิดว่า ไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพของสหรัฐ แต่สื่อของรัสเซียอื่น ๆ ก็ไม่ได้ทำตามเช่นเดียวกัน[53] สำนักข่าว Zvezda ที่ได้ทุนจากกระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า "ไวรัสโคโรนา - สงครามชีวภาพอเมริกันต่อรัสเซียและจีน" โดยอ้างว่า ไวรัสมุ่งทำลายเศรษฐกิจจีน เพื่อทำให้อ่อนแอสำหรับการต่อรองทางการค้าครั้งต่อไป[53] นักการเมืองชาตินิยมจัดและหัวหน้าพรรคการเมืองรัสเซียคนหนึ่ง (Vladimir Zhirinovsky) อ้างในรายการวิทยุมอสโกหนึ่งว่า ไวรัสเป็นการทดลองของเดอะเพนตากอนและบริษัทยา ส่วนนักการเมืองอีกคน (Igor Nikulin) ได้ออกรายการทางโทรทัศน์และสื่ออื่น ๆ และอ้างว่า อู่ฮั่นถูกเลือกโจมตีก็เพราะมีแล็บไวรัสที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 4 จึงสามารถใช้กลบเกลื่อนปฏิบัติการของเดอะเพนตากอนกับซีไอเอ โดยใช้กุว่าเป็นการทดลองทางชีวภาพของจีนที่หลุดออก[53] เอกสารของสหภาพยุโรปหนึ่งอ้างว่า สื่อรัสเซียได้รณรงค์ถึง 80 ครั้งเพื่อกระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการระบาดทั่ว[54] ตามหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจทางการสื่อสารของสหภาพยุโรป คือ East StratCom Task Force สำนักข่าวสปุตนิกที่รัฐบาลรัสเซียให้งบประมาณสนับสนุนได้ตีพิมพ์เรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้ง ว่าไวรัสอาจประดิษฐ์ขึ้นในประเทศลัตเวีย ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนใช้ไวรัสเพื่อจัดการการรประท้วงในฮ่องกง ว่าไวรัสได้ปล่อยอย่างตั้งใจเพื่อลดจำนวนคนชราในประเทศอิตาลี ว่าไวรัสมีเป้าที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองคือ Yellow Vests และการคาดเดาอื่น ๆ อีกมากมาย สาขาของสำนักข่าวสปุตนิกในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งอาร์มีเนีย เบลารุส สเปน และตะวันออกกลางก็สร้างเรื่องคล้ายกันเช่นนี้ด้วย[55][56]

อ้างอิง

{{รายการอ้างอิ นำข้อมูลไปใช้ง |30em}}

แหล่งข้อมูลอื่น

  • LaFrance, Adrienne (June 2020). "The Prophecies of Q". The Atlantic.
  • Lytvynenko, Jane (2020-05-21). "Coronavirus Pseudoscientists And Conspiracy Theorists". BuzzFeed News. สืบค้นเมื่อ 2020-10-26.
  • Ulloa, Jazmine (2020-05-06). "How memes, text chains, and online conspiracies have fueled coronavirus protesters and discord". The Boston Globe.
  • Uscinski, Joseph E.; Enders, Adam M. (2020-04-30). "The Coronavirus Conspiracy Boom". The Atlantic.
  • Zhang, Sarah (2020-05-24). "We Don't Even Have a COVID-19 Vaccine, and Yet the Conspiracies Are Here". The Atlantic.

แหล่งข้อมูลอื่น

  1. Murphy, Hannah; Di Stefano, Mark; Manson, Katrina (2020-03-20). "Huge text message campaigns spread coronavirus fake news". Financial Times.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 Stolberg, Sheryl Gay; Weiland, Noah (2020-10-22). "Study Finds 'Single Largest Driver' of Coronavirus Misinformation: Trump" – โดยทาง NYTimes.com. (Study)
  3. Affairs, Office of Regulatory (2021-01-04). "Fraudulent Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Products". FDA (ภาษาอังกฤษ).
  4. Kowalczyk, Oliwia; Roszkowski, Krzysztof; Montane, Xavier; Pawliszak, Wojciech; Tylkowski, Bartosz; Bajek, Anna (2020-12-01). "Religion and Faith Perception in a Pandemic of COVID-19". Journal of Religion and Health (ภาษาอังกฤษ). 59 (6): 2671–2677. doi:10.1007/s10943-020-01088-3. ISSN 1573-6571. PMC 7549332. PMID 33044598.
  5. "COVID: Top 10 current conspiracy theories". Alliance for Science (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.
  6. Kassam, Natasha (2020-03-25). "Disinformation and coronavirus". The Interpreter. Lowy Institute.
  7. McNeil, Donald G. (2020-10-22). "Wikipedia and W.H.O. Join to Combat Covid-19 Misinformation". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2020-10-25.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "China coronavirus: Misinformation spreads online about origin and scale". BBC News. 2020-01-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-04. สืบค้นเมื่อ 2020-02-10.
  9. Shmerling, Robert H. (2020-02-01). "Be careful where you get your news about coronavirus". Harvard Health Blog. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
  10. Taylor, Josh (2020-01-31). "Bat soup, dodgy cures and 'diseasology': the spread of coronavirus misinformation". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-02. สืบค้นเมื่อ 2020-02-03.
  11. Majumder, Maimuna S; Mandl, Kenneth D (2020-03-24). "Early in the epidemic: impact of preprints on global discourse about COVID-19 transmissibility". The Lancet. 8 (5): e627–e630. doi:10.1016/S2214-109X(20)30113-3. PMC 7159059. PMID 32220289.
  12. Oransky, Ivan; Marcus, Adam (2020-02-03). "Quick retraction of a faulty coronavirus paper was a good moment for science". Stat. สืบค้นเมื่อ 2020-04-21.
  13. Rogers, Adam (2020-01-31). "Coronavirus Research Is Moving at Top Speed - With a Catch". Wired. ISSN 1059-1028. สืบค้นเมื่อ 2020-02-13.
  14. Besançon, Lonni; Peiffer-Smadja, Nathan; Segalas, Corentin; Jiang, Haiting; Masuzzo, Paola; Smout, Cooper; Deforet, Maxime; Leyrat, Clémence (2020), Open Science Saves Lives: Lessons from the COVID-19 Pandemic, doi:10.1101/2020.08.13.249847, S2CID 221141998
  15. Brennen, J. Scott; Simon, Felix; Howard, Philip N.; Nielsen, Rasmus Kleis (2020-04-07). "Types, sources, and claims of COVID-19 misinformation". Reuters Institute. สืบค้นเมื่อ 2020-04-21.
  16. Bursztyn, Leonardo; Rao, Aakaash; Roth, Christopher; Yanagizawa-Drott, David (2020-04-19). "Misinformation During a Pandemic". Becker Friedman Institute for Economics at the University of Chicago. สืบค้นเมื่อ 2020-04-21.
  17. Wilson, Jason. "Disinformation and blame: how America's far right is capitalizing on coronavirus". The Grenadian.
  18. "Analysis: Is China finding scapegoats in its coronavirus narrative?". BBC Monitoring.
  19. Broderick, Ryan (2020-04-22). "Scientists Haven't Found Proof The Coronavirus Escaped From A Lab in Wuhan. Trump Supporters Are Spreading The Rumor Anyway". Buzzfeed News.
  20. Rankin, Jennifer (2020-06-10). "EU says China behind 'huge wave' of Covid-19 disinformation". The Guardian.
  21. Galloway, Anthony (2020-06-16). "Foreign Minister Marise Payne hits out at Chinese, Russian 'disinformation'". The Sydney Morning Herald.
  22. "Iran-Linked Group Caught Spreading COVID-19 'Disinformation' On Facebook And Instagram". Forbes. 2020-04-15.
  23. Emmot, Robin (2020-03-18). "Russia deploying coronavirus disinformation to sow panic in West, EU document says". Reuters.
  24. Polidoro, Massimo (July–August 2020). "Stop the Epidemic of Lies! Thinking about COVID-19 Misinformation". Skeptical Inquirer. Vol. 44 no. 4. Amherst, New York: Center for Inquiry. pp. 15–16.{{cite magazine}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  25. 25.0 25.1 25.2 Brewster, Jack. "A Timeline Of The COVID-19 Wuhan Lab Origin Theory". Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-01-11.
  26. Zoumpourlis, V; Goulielmaki, M; Rizos, E; Baliou, S; Spandidos, DA (October 2020). "The COVID‑19 pandemic as a scientific and social challenge in the 21st century". Molecular Medicine Reports (Review). 22 (4): 3035–3048. doi:10.3892/mmr.2020.11393. PMC 7453598. PMID 32945405.
  27. 27.0 27.1 Yates, Karen; Pauls, Jeff. "Online claims that Chinese scientists stole coronavirus from Winnipeg lab have 'no factual basis'". Canadian Broadcasting Corporation. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 2020-01-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-08. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  28. 28.0 28.1 Broderick, Ryan (2020-01-31). "A Pro-Trump Blog Doxed A Chinese Scientist It Falsely Accused Of Creating The Coronavirus As A Bioweapon". BuzzFeed News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-10. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  29. 29.0 29.1 Pauls, Karen Pauls (2019-07-14). "Chinese researcher escorted from infectious disease lab amid RCMP investigation". Canadian Broadcasting Corporation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-03-18.
  30. Yates, Karen; Pauls, Jeff. "Chinese scientists have stolen the coronavirus from the Winnipeg laboratory and the online rumors are'unfounded' Chinese translation: 中国科学家从温尼伯实验室中窃取 冠状病毒的网络传言'没有事实根据'". Canadian Broadcasting Corporation. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 2020-01-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-01. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  31. Spencer, Saranac Hale (2020-01-28). "Coronavirus Wasn't Sent by 'Spy' From Canada". Factcheck.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-30. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  32. Shoham, Dany (2020-01-29). "China and Viruses: The Case of Dr. Xiangguo Qiu". Begin-Sadat Center for Strategic Studies.
  33. "China's rulers see the coronavirus as a chance to tighten their grip". The Economist. 2020-02-08. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-29. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
  34. Kao, Jeff; Li, Mia Shuang (2020-03-26). "How China Built a Twitter Propaganda Machine Then Let It Loose on Coronavirus". ProPublica. สืบค้นเมื่อ 2020-03-31.
  35. Dodds, Laurence (2020-04-05). "China floods Facebook with undeclared coronavirus propaganda ads blaming Trump". The Telegraph. ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2020-04-05.
  36. "Coronavirus rumors - and misinformation - swirl unchecked in China". NBC News. สืบค้นเมื่อ 2020-03-31.
  37. 中國家長指稱「武漢肺炎是美國投放病毒」 網友傻爆眼 [Chinese parents claim that "Wuhan pneumonia is a virus delivered by the United States" netizens are stupid] (ภาษาChinese (China)). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-19.
  38. 武汉病毒4个关键蛋白被替换,可精准攻击华人 [Four key proteins of Wuhan virus have been replaced, which can accurately attack Chinese]. 西陆网 (ภาษาChinese (China)). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-11. สืบค้นเมื่อ 2020-02-07.
  39. Riechmann, Deb (2020-03-12). "Trump officials emphasize that coronavirus 'Made in China'". Associated Press.
  40. 40.0 40.1 40.2 "【錯誤】網傳「代表中國解放軍最高權力機構中央軍事委員會的網站『西陸戰略』發表一篇文章,改口承認(武漢)病毒是人工合成」?" [Misinformation alert, rumor that top PLA website Xilu admitted virus is bio-engineered]. Taiwan Fact Checking Organization (ภาษาจีน). 2020-02-13.
  41. 为什么武汉这场瘟疫,必须得靠解放军? [Why does Wuhan have to rely on the PLA?] (ภาษาChinese (China)). 红歌会网. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 2020-02-21.
  42. Cheng, Ching-Tse. "China's foreign ministry accuses US military of bringing virus to Wuhan". Taiwan News. สืบค้นเมื่อ 2020-03-13.
  43. Budryk, Zack (2020-03-12). "China, pushing conspiracy theory, accuses US Army of bringing coronavirus to Wuhan". The Hill. สืบค้นเมื่อ 2020-03-13.
  44. Tang, Didi. "China accuses US of bringing coronavirus to Wuhan". The Times. สืบค้นเมื่อ 2020-03-13.
  45. Westcott, Ben; Jiang, Steven (2020-03-14). "Chinese diplomat promotes coronavirus conspiracy theory". CNN. สืบค้นเมื่อ 2020-04-27.
  46. "US summons China's ambassador to Washington over coronavirus conspiracy theory". Al Arabiya English. 2020-03-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-16. สืบค้นเมื่อ 2020-03-14.
  47. O'Sullivan, Donie (2020-04-27). "Exclusive: She's been falsely accused of starting the pandemic. Her life has been turned upside down". CNN. สืบค้นเมื่อ 2020-04-27.
  48. Vallejo, Justin (2020-04-28). "'It's like waking up from a bad dream': Coronavirus 'patient zero' conspiracy target breaks silence". The Independent. สืบค้นเมื่อ 2021-01-11.
  49. 49.0 49.1 Glenza, Jessica (2020-02-22). "Coronavirus: US says Russia behind disinformation campaign". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-25. สืบค้นเมื่อ 2020-02-25.
  50. "Coronavirus: Russia pushing fake news about US using outbreak to 'wage economic war' on China, officials say". South China Morning Post. Agence France-Presse. 2020-02-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-23. สืบค้นเมื่อ 2020-02-27.
  51. Ng, Kate (2020-02-23). "US accuses Russia of huge coronavirus disinformation campaign". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-24. สืบค้นเมื่อ 2020-02-27.
  52. "Coronavirus: Russia denies spreading US conspiracy on social media". BBC. 2020-02-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-25. สืบค้นเมื่อ 2020-02-25.
  53. 53.0 53.1 53.2 Episkopos, Mark (2020-02-07). "Some in Russia Think the Coronavirus Is a U.S. Biological Weapon". The National Interest. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-23. สืบค้นเมื่อ 2020-02-27.
  54. "Russia deploying coronavirus disinformation to sow panic in West, EU document says". Reuters. 2020-03-18. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-19.
  55. "'Russophobic': Kremlin Denies Evidence of Russian COVID-19 Disinformation Campaign". polygraph.info. 2020-03-19. สืบค้นเมื่อ 2020-03-31.
  56. "Sputnik: Coronavirus Could be Designed to Kill Elderly Italians". EU vs Disinformation. 2020-03-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-21. สืบค้นเมื่อ 2020-03-29.
  57. "Arab Writers: The Coronavirus Is Part Of Biological Warfare Waged By The U.S. Against China". Middle East Media Research Institute. 2020-02-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-09. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
  58. "Iran Cleric Blames Trump For Coronavirus Outbreak in Religious City". Radio Farda. 2020-02-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-23. สืบค้นเมื่อ 2020-02-26.
  59. Fazeli, Yaghoub (2020-03-14). "Coronavirus: Iran's deputy health minister rejects biological warfare theory". Al Arabiya English. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-17.
  60. Frantzman, Seth (2020-03-08). "Iran's regime pushes antisemitic conspiracies about coronavirus". The Jerusalem Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-10. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  61. "Arab media accuse US, Israel of และ coronavirus conspiracy against China". The Jerusalem Post. 2020-02-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-01. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  62. Connelly, Irene. "Online anti-Semitism thrives around coronavirus, even on mainstream platforms". The Forward.
  63. Cortellessa, Eric (2020-03-14). "Conspiracy theory that Jews created virus spreads on social media, ADL says". The Times of Israel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-14. สืบค้นเมื่อ 2020-03-14.
  64. Joffre, Tzvi (2020-03-16). "Iranian cleric denies approving use of coronavirus vaccine from Israel". The Jerusalem Post.
  65. "Would a Zionist coronavirus cure be Halal? Iranian cleric says yes". The Jerusalem Post. 2020-03-15.
  66. Edmunds, Donna Rachel (2020-03-18). "Coronavirus is a Zionist plot, say Turkish politicians, media, public". The Jerusalem Post.
  67. Margolin, Josh (2020-03-23). "White supremacists encouraging their members to spread coronavirus to cops, Jews, FBI says". ABC News. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
  68. "Coronavirus: Extremist Anti-Israel Rhetoric". ADL. 2020-05-19. สืบค้นเมื่อ 2020-05-25.
  69. "Coronavirus: Antisemitism". ADL. 2020-04-22. สืบค้นเมื่อ 2020-05-25.
  70. "Coronavirus Crisis Elevates Antisemitic, Racist Tropes". ADL. 2020-03-17. สืบค้นเมื่อ 2020-05-25.
  71. Oster, Marcy (2020-02-07). "ADL: Coronavirus outbreak sparks antisemitic conspiracy theories". The Jerusalem Post. สืบค้นเมื่อ 2020-05-25.
  72. "ADL Calls for Platforms to Take Action to Address Hate Online During Pandemic". 2020-05-08. สืบค้นเมื่อ 2020-05-25.
  73. "India's Coronavirus Outbreak Stokes Islamophobia as Muslims blamed for spreading infection". Newsweek. 2020-04-03. สืบค้นเมื่อ 2020-04-06.
  74. Datta, Pinak Pani. "Coronavirus outbreak sparks racist attacks on people from North East, stokes Islamophobia on social media". Firstpost.
  75. Jha, Nishita (2020-04-03). "A Cluster Of Coronavirus Cases Can Be Traced Back to a Single Mosque And Now 200 Million Muslims Are Being Vilified". Buzzfeed News.
  76. Jha, Priyanka (2020-03-28). "No, foreign nationals from Italy, Iran weren't hiding in Patna mosque to avoid coronavirus testing". Firstpost. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-15. สืบค้นเมื่อ 2021-02-23.
  77. Parveen, Nazia (2020-04-05). "Police investigate UK far-right groups over anti-Muslim coronavirus claims". The Guardian.
  78. "Islamophobes React to Coronavirus Pandemic with Anti-Muslim Bigotry". 2020-04-30. สืบค้นเมื่อ 2020-05-25.
  79. Broderick, Ryan (2020-01-23). "QAnon Supporters And Anti-Vaxxers Are Spreading A Hoax That Bill Gates Created The Coronavirus". BuzzFeed News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-30. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  80. Goodman, Jack (2020-06-19). "Bill Gates and the lab targeted by conspiracy theorists". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2020-09-21.
  81. Gregory, Andy (2020-09-01). "You are dangerous': Piers Corbyn confronted on air by Dr Hilary after £10,000 fine for anti-lockdown protest". The Independent. สืบค้นเมื่อ 2020-12-15.
  82. Cellan-Jones, Rory (2020-02-26). "Coronavirus: Fake news is spreading fast". BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-17. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
  83. 83.0 83.1 Wynne, Kelly (2020-03-19). "Youtube Video Suggests 5G Internet Causes Coronavirus and People Are Falling For It". Newsweek. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
  84. 84.0 84.1 Nicholson, Katie; Ho, Jason; Yates, Jeff (2020-03-23). "Viral video claiming 5G caused pandemic easily debunked". Canadian Broadcasting Corporation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-26. สืบค้นเมื่อ 2020-03-26.
  85. Satariano, Adam; Alba, Davey (2020-04-10). "Burning Cell Towers, Out of Baseless Fear They Spread the Virus". The New York Times.
  86. Gallagher, Ryan (2020-04-09). "5G Virus Conspiracy Theory Fueled by Coordinated Effort". Bloomberg News. สืบค้นเมื่อ 2020-04-12.
  87. "False claim: 5G networks are making people sick, not Coronavirus". Reuters. 2020-03-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-20. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
  88. O'Donnell, Bob (2020-03-21). "Here's why 5G and coronavirus are not connected". USA Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-21. สืบค้นเมื่อ 2020-03-22.
  89. Krishna, Rachael (2020-03-13). "These claims about the new coronavirus and 5G are unfounded". Full Fact. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-20. สืบค้นเมื่อ 2020-03-22.
  90. Finley, Taryn (2020-03-16). "No, Keri Hilson, 5G Did Not Cause Coronavirus". HuffPost. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-19. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
  91. Large, Megan Lily (2020-04-08). "My Dad Got Hoaxed By the Anti-5G Conspiracy Movement". VICE. สืบค้นเมื่อ 2020-09-09.
  92. Ellis, Rosa; Kennedy, Dominic (2020-09-12). "Kate Shemirani: antivax leader is banned nurse who fears 5G network". The Times.
  93. 93.0 93.1 93.2 "Mast fires surge in the UK over Easter weekend amid 5G-coronavirus conspiracy theories". Irish Examiner. Press Association. 2020-04-14.
  94. 94.0 94.1 94.2 94.3 94.4 94.5 94.6 "Myth busters". who.int. World Health Organization.
  95. "Coronavirus: 'Murder threats' to telecoms engineers over 5G". BBC News. 2020-04-23. สืบค้นเมื่อ 2020-04-23.
  96. 96.0 96.1 Maguire, Stephen (2020-04-13). "Gardaí suspect fires at 5G masts were deliberate after coal found". TheJournal.ie. สืบค้นเมื่อ 2020-04-14.
  97. "5G coronavirus conspiracy theory is dangerous fake nonsense, UK says". Reuters Technology News. 2020-04-04.
  98. "Brand bij vier zendmasten: 'Heel sterk vermoeden van brandstichting'" [Fire at four transmission towers: 'Very strong suspicion of arson']. Nederlandse Omroep Stichting (ภาษาดัตช์). 2020-04-10. สืบค้นเมื่อ 2020-04-11.
  99. "Extra beveiliging bij zendmasten na brandstichting" [Extra security at cell towers after arson]. Nederlandse Omroep Stichting (ภาษาดัตช์). 2020-05-29. สืบค้นเมื่อ 2020-05-30.
  100. Fildes, Nic; Di Stefano, Mark; Murphy, Hannah (2020-04-16). "How a 5G coronavirus conspiracy spread across Europe". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 2020-04-16.
  101. Waterson, Jim; Hern, Alex (2020-04-06). "At least 20 UK phone masts vandalised over false 5G coronavirus claims". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2020-04-11.
  102. 102.0 102.1 102.2 Waterson, Jim (2020-04-03). "Broadband engineers threatened due to 5G coronavirus conspiracies". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2020-04-05.
  103. Allington, Daniel; Duffy, Bobby; Wessely, Simon; Dhavan, Nayana; Rubin, James (2020-06-09). "Health-protective behaviour, social media usage and conspiracy belief during the COVID-19 public health emergency". Psychological Medicine: 1–7. doi:10.1017/S003329172000224X. PMC 7298098. PMID 32513320. S2CID 219550692.
  104. 104.0 104.1 Hern, Alex (2020-04-05). "YouTube moves to limit spread of false coronavirus 5G theory". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2020-04-05.
  105. Kelion, Leo (2020-04-07). "Coronavirus: YouTube tightens rules after David Icke 5G interview". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2020-06-12.
  106. "YouTube Says It Will Remove 5G Misinformation After People Burn Cell Towers". extremetech.com - ExtremeTech.
  107. "Covid-related misinformation on YouTube: The spread of misinformation videos on social media and the effectiveness of platform policies". Computational Propaganda Project. Computational Propaganda Project. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-18. สืบค้นเมื่อ 2020-11-01.
  108. Aschwanden, Christie (2020-10-20). "Debunking the False Claim That COVID Death Counts Are Inflated". scientificamerican.com. Scientific American. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-28. สืบค้นเมื่อ 2020-10-31.
  109. Spencer, Saranac Hale (2020-09-01). "CDC Did Not 'Admit Only 6%' of Recorded Deaths from COVID-19". FactCheck.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-11-23.
  110. Kliff, Sarah (2020-07-13). "Bottleneck for U.S. Coronavirus Response: The Fax Machine Before public health officials can manage the pandemic, they must deal with a broken data system that sends incomplete results in formats they can't easily use". NYT. สืบค้นเมื่อ 2020-10-29.
  111. Vestal, Christie (2020-08-04). "Bad data is bogging down the COVID-19 fight; US 'needs to change,' experts say". USA Today. สืบค้นเมื่อ 2020-10-29.
  112. Piller, Charles (2020-07-16). "Data secrecy is crippling attempts to slow COVID-19's spread in U.S., epidemiologists warn". Science Magazine.
  113. Tahir, Darius (2020-05-28). "Bad state data hides coronavirus threat as Trump pushes reopening". msn.com.
  114. Everington, Keoni (2020-02-02). "Tencent may have accidentally leaked real data on Wuhan virus deaths". Taiwan News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-17. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
  115. 115.0 115.1 115.2 Hioe, Brian; Wooster, Lars (2020-02-12). "Taiwan News Publishes COVID-19 Misinformation as Epidemic Speads". New Bloom Magazine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-29. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
  116. Sharma, Ruchira (2020-02-11). "A massively shared story about the 'real' Coronavirus death toll is fake: Here's how we know". iNews. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-29. สืบค้นเมื่อ 2020-02-29.
  117. "These aren't satellite images and they don't show evidence of mass cremations in Wuhan". FullFact. 2020-02-13.
  118. Kasprak, Alex (2020-02-24). "Do Sulfur Emissions from Wuhan, China, Point to Mass Cremation of Coronavirus Victims?". Snopes.
  119. 武漢肺炎疫情謠言多 事實查核中心指3大共同點 [There are many rumors about the Wuhan pneumonia epidemic, the fact-checking center points to 3 common points] (ภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวัน). Central News Agency. 2020-02-26.
  120. "Virus Outbreak: Chinese trolls decried for fake news". Taipei Times. 2020-02-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-01. สืบค้นเมื่อ 2020-03-12.
  121. "Taiwan accuses China of waging cyber 'war' to disrupt virus fight". Reuters. 2020-02-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-01. สืบค้นเมื่อ 2020-03-12.
  122. Lee, Yimou; Blanchard, Ben (2020-03-03). "'Provocative' China pressures Taiwan with fighters, fake news amid virus outbreak". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-05. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05. 'We have been told to track if the origins are linked to instructions given by the Communist Party, using all possible means,' the official said, adding that authorities had increased scrutiny on online platforms, including chat rooms.
  123. Fifield, Anna. "Russia's disinformation campaign in the U.S. has nothing on China's efforts in Taiwan". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  124. "With Odds Against It, Taiwan Keeps Coronavirus Corralled". NPR. สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  125. "One-fourth of coronavirus misinformation in Taiwan comes from Chinese trolls: CIB". Taiwan News. สืบค้นเมื่อ 2020-03-31.
  126. Yun-yu, Chen; Mazzetta, Matthew. "AIT partners with local group to combat COVID-19 disinformation". focustaiwan.tw. Focus Taiwan. สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  127. 127.0 127.1 Reality Check team (2020-02-19). "How a misleading coronavirus map went global". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-19. สืบค้นเมื่อ 2020-02-19.
  128. Luo, Peiqi; Liao, Yingkai (2020-01-30). "泛科學:關於新冠肺炎的20個傳言,哪些是真哪些是假?" [Pan Science: 20 rumors about new coronary pneumonia, which are true and which are false?]. The Initium (ภาษาจีน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-02. สืบค้นเมื่อ 2020-02-27.
  129. 129.0 129.1 Ghaffary, Shirin (2020-01-31). "Facebook, Twitter, and YouTube struggle with coronavirus hoaxes". Vox. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-08. สืบค้นเมื่อ 2020-02-07.
  130. "武汉肺炎:随疫情扩散全球的五大假新闻" [The misinformation that gone viral with the virus]. BBC China (ภาษาจีน). 2020-01-29.
  131. 131.0 131.1 Lajka, Arijeta (2020-03-30). "Drop in cellphone users in China wrongly attributed to coronavirus deaths". Associated Press.
  132. 132.0 132.1 132.2 Gorski DH (2020-11-23). "There is no COVID-19 'casedemic.' The pandemic is real and deadly". Science-Based Medicine.
  133. Douthat, Ross (2020-10-20). "Opinion | Trump Is Giving Up". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2020-10-21.
  134. "FBD changes wording of business insurance policies amid fight over virus payouts". The Irish Times (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-10-11.
  135. "Ontario has drawn its COVID-19 red line. What now?". TVO.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-10-11.
  136. "China pneumonia outbreak: Mystery virus probed in Wuhan". BBC. 2020-01-03.
  137. Hanson, Victor David (2020-03-31). "Coronavirus: The California Herd". National Review. สืบค้นเมื่อ 2020-07-30.
  138. St. John, Paige (2020-04-11). "New signs suggest coronavirus was in California far earlier than anyone knew". The Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2020-07-30.
  139. Thomas, MD, Liji (2020-04-14). "California COVID-19 herd immunity theory debunked". News Medical. สืบค้นเมื่อ 2020-06-22.
  140. Moench, Mallory (2020-04-11). "Unlikely that California has 'herd immunity' to the coronavirus". San Francisco Chronicle. สืบค้นเมื่อ 2020-06-22.
  141. Hu, Jane C. (2020-04-10). "No, You Did Not Get COVID-19 in the Fall of 2019". Slate.
  142. Rana, Preetika (2020-04-25). "Has Coronavirus Been in California Since the Fall? Researchers Investigate". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2020-06-22.
  143. O'Sullivan, Donie (2020-04-27). "Exclusive: She's been falsely accused of starting the pandemic. Her life has been turned upside down". CNN Business. สืบค้นเมื่อ 2020-05-20.
  144. "Black people aren't more resistant to novel coronavirus". AFP Fact Check. 2020-02-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-16. สืบค้นเมื่อ 2020-02-16.
  145. Alberti, Mia; Feleke, Bethlehem (2020-03-13). "Minister rejects false rumors that 'those with black skin cannot get coronavirus' as Kenya records first case". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-19. สืบค้นเมื่อ 2020-03-15.
  146. Poston, Ben; Barboza, Tony; Jennings, Angel (2020-04-07). "L.A. releases first racial breakdown of coronavirus fatalities; blacks have higher death rate". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2020-04-10.
  147. Barfield Berry, Deborah (2020-04-07). "Black people dying from coronavirus at much higher rates in cities across the USA". USA Today. สืบค้นเมื่อ 2020-04-10.
  148. "Vegetarian food, Indian immunity won't prevent Covid-19, says Anand Krishnan". The Indian Express. 2020-03-15.
  149. "Coronavirus: Iran's leader suggests US cooked up 'special version' of virus to target country". The Independent. 2020-03-22.
  150. "Iran's Khamanei refuses US help to fight coronavirus, citing conspiracy theory". France 24. 2020-03-22.
  151. "Jordanian scientists claim Arabs less likely to contract coronavirus". The Jerusalem Post | JPost.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-11-29.
  152. Zhou, Naaman (2020-04-17). "Survey of Covid-19 racism against Asian Australians records 178 incidents in two weeks". The Guardian.
  153. Tavernise, Sabrina; Oppel Jr, Richard A. (2020-03-23). "Spit On, Yelled At, Attacked: Chinese-Americans Fear for Their Safety". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2020-03-23.
  154. "Fear of coronavirus fuels racist sentiment targeting Asians". Los Angeles Times. 2020-02-03. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
  155. Sui, Celine. "China's Racism Is Wrecking Its Success in Africa".
  156. Kuo, Lily; Davidson, Helen (2020-03-29). "'They see my blue eyes then jump back' - China sees a new wave of xenophobia". The Guardian.
  157. Anthony, Immanuel (2020-04-09). "Africans evicted from Chinese hotels over COVID-19 fears". The News-Chronicle. สืบค้นเมื่อ 2020-04-12.
  158. Kolkata, Hannah Ellis-Petersen Shaikh Azizur Rahman in (2020-04-13). "Coronavirus conspiracy theories targeting Muslims spread in India". The Guardian.
  159. "World - as-world-struggles-to-stop-deaths-far-right-celebrates-covid-19". MSN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-27.
  160. Olivarius, Kathryn (2020-04-12). "The Dangerous History of Immunoprivilege". The New York Times.
  161. 161.0 161.1 Palmer, James (2020-01-27). "Don't Blame Bat Soup for the Wuhan Virus". Foreign Policy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-03. สืบค้นเมื่อ 2020-02-03.
  162. 162.0 162.1 Taylor, Josh (2020-01-30). "Bat soup, dodgy cures and 'diseasology': the spread of coronavirus misinformation". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-08. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  163. 163.0 163.1 163.2 163.3 O'Neill, Marnie (2020-01-29). "Chinese influencer Wang Mengyun, aka 'Bat soup girl' breaks silence". news.au. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-08. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  164. 164.0 164.1 164.2 Gaynor, Gerren Keith (2020-01-28). "Coronavirus: Outrage over Chinese blogger eating 'bat soup' sparks apology". Fox News Channel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-04. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  165. 165.0 165.1 Sharma, Gouri (2020-03-05). "Why are there so many conspiracy theories around the coronavirus?". Al Jazeera. สืบค้นเมื่อ 2020-03-31.
  166. Romm, Tony (2020-03-01). "Millions of tweets peddled conspiracy theories about coronavirus in other countries, an unpublished U.S. report says". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-09. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  167. Hussain, Suhauna (2020-02-03). "Fear of coronavirus fuels racist sentiment targeting Asians". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-05. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  168. Brueck, Hilary (2020-02-27). "14 bogus claims about the coronavirus, including a fake coconut-oil cure and a false link to imported packages". Business Insider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-03-07.
  169. Khatouki, Christopher. "Clandestine Cults and Cynical Politics: How South Korea Became the New Coronavirus Epicenter". thediplomat.com. The Diplomat. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-13. สืบค้นเมื่อ 2020-03-12.
  170. 170.0 170.1 Ratna. "Fact Check: Social media users give misleading twist to PM Modi's concept of 'Janta curfew'". India Today. สืบค้นเมื่อ 2020-03-22.
  171. "Costco is not recalling bath tissue due to novel coronavirus contamination". AFP Fact Check. 2020-03-13. สืบค้นเมื่อ 2020-03-29.
  172. "Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)". Centers for Disease Control and Prevention. 2020-02-11. สืบค้นเมื่อ 2020-03-29.
  173. "Coronavirus can stay infectious for days on surfaces. But it's still okay to check your mail". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2020-03-29.
  174. "Australia's Department of Health did not issue a warning that 'using petrol pumps can spread COVID-19'". AFP Fact Check. 2020-03-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-31. สืบค้นเมื่อ 2020-04-03.
  175. "Hoax circulates online that people wearing shoes indoors triggered hike in COVID-19 cases in Italy". AFP Fact Check. 2020-04-09.
  176. Cardona, Alexi C. (2020-03-11). "Leaked Emails: Norwegian Pressures Sales Team to Mislead Potential Customers About Coronavirus". Miami New Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-12. สืบค้นเมื่อ 2020-03-12.
  177. Gander, Kashmira (2020-02-11). "Could Coronavirus Really Be Killed by Hot Weather? Scientists Weigh In". Newsweek. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-10. สืบค้นเมื่อ 2020-03-12. Dr. Ravinder Kanda, senior lecturer in evolutionary genomics at Oxford Brookes University, U.K., told Newsweek: 'Little is known about the seasonal dynamics of this particular virus—we cannot take it for granted that the warmer weather will simply drive the virus out of existence.'
  178. Gunia, Amy (2020-02-28). "Will Warmer Weather Stop the Spread of the Coronavirus? Don't Count on It, Say Experts". Time. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-09. สืบค้นเมื่อ 2020-03-12. Dr. Nancy Messionnier of the Centers for Disease Control and Prevention, warned against assuming the number of cases will slow as the weather warms. 'I think it's premature to assume that,' she said during a call with reporters on February 12. 'We haven't been through even a single year with this pathogen.'
  179. Farber, Madeline (2020-02-20). "Will the coronavirus die out as the weather warms?". Fox News Channel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-05. สืบค้นเมื่อ 2020-03-12. 'We hope that the gradual spring will help this virus recede, but our crystal ball is not very clear. The new coronavirus is a respiratory virus, and we know respiratory viruses are often seasonal, but not always. For example, influenza (flu) tends to be seasonal in the US, but in other parts of the world, it exists year-round. Scientists don't fully understand why even though we have been studying [the] flu for many years,' Dr. William Schaffner, the medical director of the National Foundation for Infectious Diseases, told Fox News in an email.
  180. Venkatesh, S; Memish, ZA (2004-01-25). "SARS: the new challenge to international health and travel medicine". Eastern Mediterranean Health Journal. 10 (4–5): 655–62. PMID 16335659.
  181. Browne, A; Ahmad, SS; Beck, CR; Nguyen-Van-Tam, JS (January 2016). "The roles of transportation and transportation hubs in the propagation of influenza and coronaviruses: a systematic review". Journal of Travel Medicine. 23 (1): tav002. doi:10.1093/jtm/tav002. PMC 7539332. PMID 26782122. S2CID 23224351.
  182. Mallapaty, S (April 2020). "What the cruise-ship outbreaks reveal about COVID-19". Nature. 580 (7801): 18. Bibcode:2020Natur.580...18M. doi:10.1038/d41586-020-00885-w. PMID 32218546.
  183. 183.0 183.1 "Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)". Centers for Disease Control and Prevention. 2020-02-11.
  184. Crellin, Zac (2020-03-04). "Those Viral Posts Claiming Hand Sanitiser Doesn't Kill Coronavirus Are Wrong & Here's Why". Pedestrian.TV. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-05. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  185. "COVID-19: Hand sanitizers inactivate novel coronavirus, study finds". Medical News Today. สืบค้นเมื่อ 2020-04-27.
  186. Centers for Disease Control and Prevention (2020-03-03). "Show Me the Science - When & How to Use Hand Sanitizer in Community Settings". cdc.gov.
  187. Centers for Disease Control (2020-04-02). "When and How to Wash Your Hands". cdc.gov.
  188. Center for Drug Evaluation and Research (2020-04-13). "Q&A for Consumers: Hand Sanitizers and COVID-19". FDA.
  189. Office of the Commissioner (2019-05-16). "Antibacterial Soap? You Can Skip It, Use Plain Soap and Water". FDA.
  190. Quinn, Melissa (2020-07-12). "Surgeon general says administration "trying to correct" earlier guidance against wearing masks". CBS News.
  191. Griffiths, James (2020-04-02). "Asia may have been right about coronavirus and face masks, and the rest of the world is coming around". CNN.
  192. Watterson, Andrew (2020-04-17). "Through all the misinformation, what is the truth of wearing face masks?". The National.
  193. Frank, T. A. (2020-04-08). ""I Was Looking at Them in the Wrong Way": Mask Misinformation and the Failure of the Elites". Vanity Fair.
  194. 194.0 194.1 Huo, Jingnan (2020-04-10). "Why There Are So Many Different Guidelines For Face Masks For The Public". NPR.org.
  195. "Coronavirus: Abrupt reversals on face mask policy raise new questions". France 24. 2020-04-05.
  196. Walther, Matthew (2020-04-04). "The noble lie about masks and coronavirus should never have been told". The Week.
  197. Tufekci, Zeynep (2020-03-17). "Why Telling People They Don't Need Masks Backfired". The New York Times.
  198. Allassan, Fadel. ""When we learn better, we do better": Surgeon general defends reversal on face mask policy". Axios. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-31. Seriously people—STOP BUYING MASKS! They are NOT effective in preventing general public from catching #Coronavirus
  199. Madhani, Aamer (2020-06-27). "What to wear: Feds' mixed messages on masks sow confusion". Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-30.
  200. Jankowicz, Mia (2020-06-15). "Fauci said US government held off promoting face masks because it knew shortages were so bad that even doctors couldn't get enough". Business Insider. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-16.
  201. Ross, Katherine (2020-06-12). "Dr. Fauci Explains Why Public Wasn't Told to Wear Masks When COVID-19 Pandemic Began". TheStreet.
  202. Kelley, Alexandra (2020-06-16). "Fauci: why the public wasn't told to wear masks when the coronavirus pandemic began". TheHill (ภาษาอังกฤษ).
  203. McArdle, Mairead (2020-06-16). "Fauci Confirms Public-Health Experts Downplayed Efficacy of Masks to Ensure They Would Be Available to Health-care Workers". National Review.
  204. 204.0 204.1 Lambert, Jonathan (2020-08-12). "4 reasons you shouldn't trash your neck gaiter based on the new mask study". Science News.
  205. 205.0 205.1 Saplakoglu, Yasemin. "Should you ditch your gaiter as a face mask? Not so fast, scientists say". Live Science.
  206. Parker-Pope, Tara (2020-08-17). "Save the Gaiters!". The New York Times.
  207. Krubsack, Rachel (2020-08-14). "Gaiters getting a bad rap for COVID-19 protection?". J. J. Keller.
  208. Bessonov, Ania (2020-07-18). "Do masks reduce your oxygen levels? Your COVID-19 questions answered". CBC News.
  209. Shepherd, Marshall (2020-07-01). "This Myth About Carbon Dioxide And Masks Is Similar To A Debunked Claim About Climate Change". Forbes.
  210. Forster, Victoria (2020-05-17). "Wearing A Mask To Protect Against Covid-19 Coronavirus Will Not Weaken Your Immune System". Forbes.
  211. "Fact check: People have not been developing antibiotic-resistant pneumonia from wearing face masks". Reuters. 2020-09-23.
  212. Dwyer, Devin (2020-07-30). "Few medical reasons for not wearing a face mask". ABC News.
  213. Brown, Matthew (2020-07-16). "Fact check: ADA does not provide blanket exemption from face mask requirements". USA TODAY.
  214. Hanrahan, Mark (2020-06-29). "Group behind fraudulent 'face mask exempt' cards pledges to keep distributing them, despite website takedown". ABC News.
  215. "COVID-19 ALERT: Fraudulent Facemask Flyers - USAO-MDNC - Department of Justice". justice.gov. Greensboro, NC: United States Department of Justice. 2020-06-25. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-28. สืบค้นเมื่อ 2020-09-21. U.S. Attorney Matthew G.T. Martin of the Middle District of North Carolina today urged the public to be aware regarding fraudulent postings, cards, or flyers on the internet regarding the Americans with Disabilities Act (ADA) and the use of face masks due to the COVID-19 pandemic, many of which include the United States Department of Justice’s seal. "Do not be fooled by the chicanery and misappropriation of the DOJ eagle," said U.S. Attorney Martin. "These cards do not carry the force of law. The ‘Freedom to Breathe Agency,’ or ‘FTBA,’ is not a government agency."
  216. 216.0 216.1 216.2 "Rodrigo Duterte: 'I'm not joking - clean masks with petrol'". BBC News. 2020-07-31. สืบค้นเมื่อ 2020-08-02.
  217. Beauchamp, GA; Valento, M (September 2016). "Toxic Alcohol Ingestion: Prompt Recognition And Management In The Emergency Department". Emergency Medicine Practice. 18 (9): 1–20. PMID 27538060.
  218. 218.0 218.1 218.2 Trew, Bel (2020-03-27). "Coronavirus: Hundreds dead in Iran from drinking methanol amid fake reports it cures disease". The Independent. สืบค้นเมื่อ 2020-03-27.
  219. 219.0 219.1 Hannon, Elliot (2020-03-27). "Hundreds Die in Iran From Bootleg Alcohol Being Peddled Online as Fake Coronavirus Remedy". Slate. สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  220. 220.0 220.1 "In Iran, False Belief a Poison Fights Virus Kills Hundreds". The New York Times. 2020-03-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-28. สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  221. "Over 700 Iranians Dead From Methanol Poisoning Over False Belief the Chemical Cures COVID-19". Time. Associated Press. 2020-04-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-12. สืบค้นเมื่อ 2021-02-23.
  222. "Coronavirus: British man who caught virus 'beat flu with glass of hot whisky'". The Mirror. 2020-02-03.
  223. "9 kişi daha saf alkolden öldü" [9 more died from pure alcohol]. CNN Türk (ภาษาตุรกี). 2020-03-25. สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  224. Aydın, Çetin (2020-03-20). "Katil: Sahte alkol" [The killer: fake alcohol]. Hürriyet Daily News (ภาษาตุรกี). สืบค้นเมื่อ 2020-03-28.
  225. Feleke, Bethlehem (2020-04-22). "Kenya governor under fire after putting Hennessy bottles in coronavirus care packages". CNN.
  226. "The governor of Nairobi is putting Hennessy in residents' coronavirus care packages". The Week. 2020-04-17.
  227. "'No Meat, No Coronavirus' Makes No Sense". The Wire. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-03. สืบค้นเมื่อ 2020-03-03.
  228. "Vegetarian food, Indian immunity won't prevent Covid-19, says Anand Krishnan". The Indian Express. 2020-03-15.
  229. "Non-vegetarian food does not cause COVID-19, says Minister". The Hindu. 2020-03-06.
  230. Holmes, Oliver; Kierszenbaum, Quique (2020-04-06). "Calls to seal off ultra-Orthodox areas add to Israel's virus tensions". The Guardian.
  231. Halbfinger, David M. (2020-03-30). "Virus soars among ultra-orthodox Jews as many flout Israel's rules". The New York Times.
  232. "How Mass Pilgrimage at Malaysian Mosque Became Coronavirus Hotspot". Reuters. 2020-03-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-04. สืบค้นเมื่อ 2020-04-02.
  233. "'God Will Protect Us': Coronavirus Spreads Through an Already Struggling Pakistan". The New York Times. 2020-03-26.
  234. "1445 out of 4067 Covid-19 cases linked to Tablighi Jamaat: Health Ministry". Hindustan Times.
  235. "Iran cleric encourages visitors to Qom religious sites, despite coronavirus fears". Middle East Monitor. 2020-02-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-03. สืบค้นเมื่อ 2020-03-03.
  236. Duncan, Conrad (2020-03-16). "Coronavirus: Nearly 50 church goers infected in South Korea after spraying salt water 'cure'". The Independent.
  237. "'Proselytizing Robots': Inside South Korean Church at Outbreak's Center". The New York Times. 2020-03-10.
  238. "Coronavirus: South Korea sect leader to face probe over deaths". BBC. 2020-03-02.
  239. Bariyo, Nicholas; Parkinson, Joe (2020-04-08). "Tanzania's Leader Urges People to Worship in Throngs Against Coronavirus". The Wall Street Journal.
  240. "Coronavirus: Why Ghana has gone into mourning after mass funeral ban". BBC. 2020-03-26.
  241. Hujale, Moulid (2020-04-22). "Ramadan in Somalia: fears coronavirus cases will climb as gatherings continue". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2020-04-23.
  242. 242.0 242.1 Kambas, Michele; Georgiopoulos, George (2020-03-09). "In era of coronavirus, Greek church says Holy Communion will carry on". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-12. สืบค้นเมื่อ 2020-03-10.
  243. "Inside Europe: Greek Orthodox Church weighs in on coronavirus". Deutsche Welle. 2020-03-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-18. สืบค้นเมื่อ 2020-03-18.
  244. 244.0 244.1 244.2 Brzozowski, Alexandra; Michalopoulos, Sarantis (2020-03-09). "Catholics take measures against coronavirus while Greek Orthodox Church 'prays'". euractiv.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-18. สืบค้นเมื่อ 2020-03-18.
  245. Aswestopoulos, Wassilis. "Corona-Panik nur für Ungläubige?" [Corona panic only for unbelievers?]. heise online (ภาษาเยอรมัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-10. สืบค้นเมื่อ 2020-03-18.
  246. "Holy Communion and Infection Transmission: A Literature Review". 2020-06-21. doi:10.7759/cureus.8741. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  247. Crellin, Zac (2020-03-09). "Sorry to the French People Who Thought Cocaine Would Protect Them From Coronavirus". Pedestrian.TV. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-11. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  248. "False claim circulates online that certain countries in Asia are using helicopters to spray 'COVID-19 disinfectant'". AFP Fact Check. 2020-03-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-30. สืบค้นเมื่อ 2020-04-03.
  249. "Indian authorities refute 'fake' advisory which claimed disinfectant would be sprayed across India to tackle COVID-19". AFP Fact Check. 2020-03-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-08. สืบค้นเมื่อ 2020-04-03.
  250. "Mohanlal, many others share fake info that 'clapping may kill virus', PIB debunks". thenewsminute.com. สืบค้นเมื่อ 2020-03-22.
  251. "Amitabh Bachchan deletes post on 'clapping vibrations destroy virus potency' after being called out". The Hindu. 2020-03-23.
  252. "WHO did not warn against eating cabbage during the COVID-19 pandemic". AFP Fact Check. 2020-03-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-02. สืบค้นเมื่อ 2020-04-03.
  253. "11 in AP hospitalised after following TikTok poisonous 'remedy' for COVID-19". thenewsminute.com. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  254. Reporter, Staff (2020-04-07). "Twelve taken ill after consuming 'coronavirus shaped' datura seeds". The Hindu. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  255. Carmichael, F; Goodman, J (2020-12-02). "Vaccine rumours debunked: Microchips, 'altered DNA' and more" (Reality Check). BBC.
  256. Almasy, Steve; Moshtaghian, Artemis (2021-01-04). "Wisconsin pharmacist who left vials out believed vaccine could harm people and change their DNA, police say". CNN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-05. สืบค้นเมื่อ 2021-01-05.
  257. 257.0 257.1 Gorski DH (2020-12-14). "It was inevitable that antivaxxers would claim that COVID-19 vaccines make females infertile". Science-Based Medicine.
  258. Rauhala, Emily; Paquette, Danielle; George, Susannah. "Polio was almost eradicated. Then came the coronavirus. Then came a threat from President Trump" – โดยทาง www.washingtonpost.com.
  259. Dan Evon (2020-12-10). "Did 4 COVID-19 Vaccine Trial Patients Develop Bell's Palsy?". Snopes.
  260. Teoh F, บ.ก. (2020-11-27). "No evidence that COVID-19 vaccines cause more severe disease; antibody-dependent enhancement has not been observed in clinical trials" (Fact check). Health Feedback.
  261. Kertscher, Tom (2020-01-23). "No, there is no vaccine for the Wuhan coronavirus". Politifact. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-07. สืบค้นเมื่อ 2020-02-07.
  262. McDonald, Jessica (2020-01-24). "Social Media Posts Spread Bogus Coronavirus Conspiracy Theory". Factcheck.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-02-10.
  263. "WHO: 'no known effective' treatments for new coronavirus". Reuters. 2020-02-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-05. สืบค้นเมื่อ 2020-02-06.
  264. "Dispelling the myths around the new coronavirus outbreak". Al Jazeera. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-02-08.
  265. "Senegalese children did not die from a coronavirus vaccine (which does not yet exist)". AFP Fact Check. 2020-04-08.
  266. Kasprak, Alex (2020-12-02). "Does AstraZeneca's COVID-19 Vaccine Contain Aborted Fetal Cells?". Snopes.
  267. "Innovating Production and Manufacture to meet the Challenge of COVID-19". AstraZeneca. November 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-16. สืบค้นเมื่อ 2021-02-23.
  268. Taylor, Andrew (2020-03-28). "Social media awash with fake treatments for coronavirus". The Sydney Morning Herald.
  269. Heer, Jeet (2020-03-30). "All the President's Crackpots" – โดยทาง www.thenation.com.
  270. Orr, Caroline (2020-04-01). "Right-wing conspiracy theories go mainstream amid mounting COVID-19 death toll". National Observer. สืบค้นเมื่อ 2020-04-02.
  271. Wee, Sui-Lee (2020-02-05). "In Coronavirus, China Weighs Benefits of Buffalo Horn and Other Remedies". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-02-15.
  272. "Covid-19 in Madagascar: The president's controversial 'miracle cure'". France 24. 2020-05-05.
  273. "Coronavirus: Caution urged over Madagascar's 'herbal cure'". BBC. 2020-04-22.
  274. Bramstedt, KA (October 2020). "Unicorn Poo and Blessed Waters: COVID-19 Quackery and FDA Warning Letters". Ther Innov Regul Sci. doi:10.1007/s43441-020-00224-1. PMC 7528445. PMID 33001378.
  275. "Health experts say there is no evidence vitamin D is effective in preventing novel coronavirus infection". AFP Fact Check. 2020-02-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-16. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  276. Lee, Joseph; van Hecke, Oliver; Roberts, Nia (2020-05-01). "Vitamin D: A rapid review of the evidence for treatment or prevention in COVID-19". Centre for Evidence-Based Medicine, University of Oxford. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-12.
  277. Rubin, Gretchen (2020-09-03). "Vitamin D deficiency may raise risk of getting COVID-19". www.uchicagomedicine.org. University of Chicago Medical Center. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-02. สืบค้นเมื่อ 2020-11-01.
  278. "Hoax circulates online that an old Indian textbook lists treatments for COVID-19". AFP Fact Check. 2020-04-09.
  279. "Saline solution kills China coronavirus? Experts refute online rumour". AFP Fact Check. 2020-01-24. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-01. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
  280. "Concerned About Taking Ibuprofen For Coronavirus Symptoms? Here's What Experts Say". NPR.
  281. "Fact Finders: Do ibuprofen and other common medications make COVID-19 symptoms worse?". MSN.
  282. "Coronavirus: Can cow dung and urine help cure the novel coronavirus?". The Times of India. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  283. "Novel coronavirus can be cured with gaumutra, gobar claims Assam BJP MLA Suman Haripriya". Firstpost. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  284. "Novel Coronavirus Outbreak: "India's Response And Surveillance Has Been Quite Robust," Says WHO's Chief Scientist". NDTV. 2020-03-03. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05. Q: In a situation like this when we need scientific solution to a medical crisis, when you get in our country for examples, political leaders saying things like cow dung or cow urine can be beneficial in fixing something like coronavirus, do we end up taking a step back after such statements, as we need to deal with the issue in a modern scientific manner.
    A: I completely agree, I think all the public figures including politicians need to be extra careful when it comes to making such statements, because they have such a huge following. It's really important for them to say things that are based on some scientific evidence   ... when it comes to the claims of cures of this infection we should be extremely careful about our statements and it should be made by the people who know what they're talking about. And has to be backed by evidence.
  285. 新冠肺炎治疗:讲究实证的西医和自我定位的中药 [Treating the novel coronavirus: the empirical Western medicine and the self-positioning Chinese medicine]. BBC News (ภาษาจีนตัวย่อ). 2020-02-14.
  286. 中医来了!8个防治"协定方" 辅助治疗新型冠状病毒感染肺炎 [Here comes Chinese medicine! 8 "agreed-on prescriptions" help prevent and treat the new coronavirus pneumonia]. CCTV News (ภาษาChinese (China)). สืบค้นเมื่อ 2020-02-15.
  287. 中国发布 | 国家中医药管理局:清肺排毒汤对治疗新冠肺炎有疗效 [National Administration of Traditional Chinese Medicine: The "lung-clearing detoxing decoction" is effective against COVID-19]. Chinanet (ภาษาจีนตัวย่อ). Sina News. สืบค้นเมื่อ 2020-02-17.
  288. ICU内外的中西医合作 - 专家谈中医药在抗击新冠肺炎中的重要作用 [Co-operation between Chinese and Western medicine inside and outside of the ICU - experts talk about the vital role of TCM in the fight against COVID-19] (ภาษาจีนตัวย่อ). Xinhua News Agency. 2020-03-16.
  289. Sterling Jones, Dean (2020-04-01). "A British Newspaper Has Given Chinese Coronavirus Propaganda A Direct Line To The UK". BuzzFeed News. สืบค้นเมื่อ 2021-01-08.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  290. "Anti-malaria drug has proven effective in treating coronavirus but has not cured 12,552 patients | AFP Fact Check". Agence France-Presse. 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 2020-04-07.
  291. Qiu, Linda (2020-12-17). "The election is over, but Ron Johnson keeps promoting false claims of fraud". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2020-12-18.
  292. Beatrice Dupuy (2020-12-11). "No evidence ivermectin is a miracle drug against COVID-19" (Fact check). AP News.
  293. Gorski, DH (2020-12-28). "2020 and the pandemic: A year of (some) physicians behaving badly". Science-Based Medicine.
  294. Sommer, Will (2020-01-28). "QAnon-ers' Magic Cure for Coronavirus: Just Drink Bleach!". Daily Beast. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-10. สืบค้นเมื่อ 2020-02-14.
  295. Moyler, Hunter (2020-02-12). "Televangelist Sells $125 'Silver Solution' as Cure for Coronavirus". Newsweek. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-15. สืบค้นเมื่อ 2020-02-15.
  296. Schwartz, Matthew S. (2020-03-11). "Missouri Sues Televangelist Jim Bakker For Selling Fake Coronavirus Cure". NPR. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-12. สืบค้นเมื่อ 2020-03-16.
  297. Aratani, Lauren (2020-03-09). "New York attorney general to televangelist: stop touting product as coronavirus cure". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-13. สืบค้นเมื่อ 2020-03-16.
  298. Porter, Jon (2020-03-13). "Alex Jones ordered to stop selling fake coronavirus cures". The Verge. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-16. สืบค้นเมื่อ 2020-03-16.
  299. "Is government spraying coronavirus vaccine using airplanes? No, it's fake news". Hindustan Times. 2020-03-20. สืบค้นเมื่อ 2020-03-22.
  300. "Coronavirus: The health advice that is misleading or worse" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-06-02.
  301. "Mustard Oil Helps Fight COVID? Ramdev's Claim Lacks Medical Proof" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-06-02.
  302. Kazeem, Yomi. "Nigeria's biggest battle with coronavirus will be beating misinformation". Quartz Africa. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-29. สืบค้นเมื่อ 2020-02-28.
  303. "Actor Keith Middlebrook arrested by FBI for allegedly peddling bogus coronavirus cure". MSN. สืบค้นเมื่อ 2020-03-27.
  304. Lemon, Jason (2020-03-12). "Conservative pastor claims he "healed" viewers of coronavirus through their TV screens". Newsweek. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-16. สืบค้นเมื่อ 2020-03-16.
  305. "This anti-LGBT+ televangelist tried to heal people of the coronavirus through their televisions". PinkNews. 2020-03-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-14. สืบค้นเมื่อ 2020-03-16.
  306. Mikkelson, David. "Does COVID Stand for 'Chinese-Originated Viral Infectious Disease'?". Snopes.com. สืบค้นเมื่อ 2020-04-21.
  307. "Coronavirus disease 2019 (COVID-19) in the EU/EEA and the UK" (PDF). ecdc. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-14. สืบค้นเมื่อ 2020-04-19.
  308. "An image from The Simpsons was digitally altered to make it look like it predicted the novel coronavirus". AFP Fact Check. 2020-03-03.
  309. Carras, Christi. "Did 'The Simpsons' really predict the coronavirus outbreak? Twitter thinks so". Chicago Tribune.
  310. Rahman, Grace. "£20 notes don't have a secret message about 5G and coronavirus". Full Fact.
  311. "The new £20 note". The Bank of England.
  312. "New £20 note to feature Margate's Turner Contemporary". Turner Contemporary. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-27. สืบค้นเมื่อ 2021-02-23.
  313. "Prosecutors: Engineer deliberately ran train off tracks in attempt to smash the USNS Mercy". ABC7 Los Angeles. 2020-04-01. สืบค้นเมื่อ 2020-04-04.
  314. Flynn, Meagan (2020-04-02). "Engineer intentionally crashes train near hospital ship Mercy, believing in weird coronavirus conspiracy, feds say". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2020-04-03.
  315. Thom, Mrozek (2020-04-01). "Train Operator at Port of Los Angeles Charged with Derailing Locomotive Near U.S. Navy's Hospital Ship Mercy". US Department of Justice. สืบค้นเมื่อ 2020-04-04.
  316. 316.0 316.1 316.2 Daly, Natasha (2020-03-20). "Fake animal news abounds on social media as coronavirus upends life". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
  317. Spry Jr, Terry (2020-03-19). "Verify: Did elephants get drunk on corn wine while humans were social distancing?". KTVB. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-20. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
  318. Srikanth, Anagha (2020-03-18). "As Italy quarantines over coronavirus, swans appear in Venice canals, dolphins swim up playfully". The Hill. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-19. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
  319. "Was a Rare Malabar Civet Spotted During COVID-19 Lockdown?". Snopes.com. สืบค้นเมื่อ 2020-03-30.
  320. "Fact Check: Does viral video show whales swimming at Bombay High? Here's the truth". Hindustan Times. 2020-04-05. สืบค้นเมื่อ 2020-04-05.
  321. Organization)), ((World Health (2020). Novel Coronavirus (‎2019-nCoV) ‎: situation report, 13 (Report). World Health Organization. hdl:10665/330778.
  322. "Coronavirus: UN health agency moves fast to tackle 'infodemic'; Guterres warns against stigmatization". UN News. 2020-02-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-05. สืบค้นเมื่อ 2020-02-05.
  323. "WHO Says There's No Effective Coronavirus Treatment Yet". Yahoo! Finance. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-02-06.
  324. Elassar, Alaa (2020-03-17). "One dangerous coronavirus 'self-check test' is circulating on social media. Here's why you should avoid it". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-17. สืบค้นเมื่อ 2020-03-17.
  325. Richtel, Matt (2020-02-06). "W.H.O. Fights a Pandemic Besides Coronavirus: an 'Infodemic'". The New York Times. ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-02-07.
  326. "As coronavirus misinformation spreads on social media, Facebook removes posts". Reuters. 2020-02-01. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-06. สืบค้นเมื่อ 2020-02-07.
  327. Benson, Thor (2020-03-04). "Facebook announces how it plans to help fight the coronavirus". Inverse. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-06. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  328. Frenkel, Sheera; Alba, Davey (2020-04-30). "Trump's Disinfectant Talk Trips Up Sites' Vows Against Misinformation". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2020-05-02.
  329. Lerman, Rachel (2020-08-11). "Facebook says it has taken down 7 million posts for spreading coronavirus misinformation". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 2020-09-21.
  330. "Amazon culls one million fake coronavirus products". BBC News. 2020-02-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-01. สืบค้นเมื่อ 2020-03-01.
  331. Cinelli, Matteo; Quattrociocchi, Walter; Galeazzi, Alessandro; Valensise, Carlo Michele; Brugnoli, Emanuele; Schmidt, Ana Lucia; Zola, Paola; Zollo, Fabiana; Scala, Antonio (2020-03-10). "The COVID-19 Social Media Infodemic". Scientific Reports. 10 (1): 16598. arXiv:2003.05004. doi:10.1038/s41598-020-73510-5. PMC 7538912. PMID 33024152.
  332. "'Fact before rumors' campaign just began by the IBS Data Science Group". Institute for Basic Science. 2020-03-26. สืบค้นเมื่อ 2020-03-31.
  333. Meeyoung, Cha (2020-03-24). "코로나바이러스와 인포데믹" [Coronavirus and infodemic]. Institute for Basic Science (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ 2020-03-30.
  334. ""동남아·남미 코로나 가짜뉴스 막고 '진짜뉴스' 전하자" 국내 과학자 팔 걷어" ["Let's stop fake news from Southeast Asia and South America and deliver 'real news'"]. Donga Science (ภาษาเกาหลี). 2020-03-25. สืบค้นเมื่อ 2020-03-30.
  335. "[차미영의 데이터로 본 세상] '인포데믹'의 시대" [(The world seen through Cha Mi-young's data) The era of'infodemic']. 한국경제 (ภาษาเกาหลี). 2020-03-25. สืบค้นเมื่อ 2020-03-30.
  336. Cohem, Noam (2020-03-15). "How Wikipedia Prevents the Spread of Coronavirus Misinformation". Wired. สืบค้นเมื่อ 2020-04-11.
  337. Harrison, Stephan (2020-03-19). "The Coronavirus Is Stress-Testing Wikipedia's Policies". Salon. สืบค้นเมื่อ 2020-04-11.
  338. Benjakob, Omer (2020-04-08). "Why Wikipedia Is Immune to Coronavirus". Haaretz. สืบค้นเมื่อ 2020-04-11.
  339. McNeil, Donald G. (2020-10-22). "Wikipedia and W.H.O. Join to Combat Covid-19 Misinformation". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2020-10-22.
  340. Jerde, Sara (2020-03-12). "Major Publishers Take Down Paywalls for Coronavirus Coverage". Adweek. สืบค้นเมื่อ 2020-03-25.
  341. Kottke, Jason. "Media Paywalls Dropped for COVID-19 Crisis Coverage". kottke.org. สืบค้นเมื่อ 2020-04-18.
  342. "Sharing research data and findings relevant to the novel coronavirus (COVID-19) outbreak". wellcome.ac.uk (Press release). 2020-01-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-01. สืบค้นเมื่อ 2020-02-13.
  343. Van Der Walt, Wynand; Willems, Kris; Friedrich, Wernher; Hatsu, Sylvester; Kirstin, Krauss (2020). "Retracted Covid-19 papers and the levels of 'citation pollution': A preliminary analysis and directions for further research". Cahiers de la Documentation - Bladen voor Documentatie. 3 (4). สืบค้นเมื่อ 2021-01-13.
  344. "Retracted coronavirus (COVID-19) papers". Retraction Watch. Retraction Watch. สืบค้นเมื่อ 2021-01-13.
  345. "Coronavirus Has Started a Censorship Pandemic". The Foreign Policy. 2020-04-01.
  346. "Iran Says 3,600 Arrested For Spreading Coronavirus-Related Rumors". Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL). 2020-04-29.
  347. "Cambodia accused of political clampdown amid coronavirus outbreak". Al Jazeera. 2020-03-24.
  348. "Cambodia's Lost Digital Opportunity in the COVID-19 Fight". The Diplomat. 2020-04-17.
  349. "Algeria rights groups say government cracking down on critics". Al Jazeera. 2020-04-23.
  350. "The Philippines' Coronavirus Lockdown Is Becoming a Crackdown". The Diplomat. 2020-04-03.
  351. "China Is Using Fears Of Online Misinformation About The Coronavirus To Arrest People". BuzzFeed News. 2020-01-29.
  352. "Fake News, Real Arrests". Foreign Policy. 2020-04-17.
  353. 353.0 353.1 353.2 353.3 "Asia cracks down on coronavirus 'fake news'". The Straits Times. 2020-04-10.
  354. "Reporting on the coronavirus: Egypt muzzles critical journalists". Deutsche Welle. 2020-04-03.
  355. "Ethiopia: Free Speech at Risk Amid Covid-19". Human Rights Watch. 2020-05-06.
  356. "Bangladesh: End Wave of COVID-19 'Rumor' Arrests". Human Rights Watch. 2020-03-31.
  357. "Morocco makes a dozen arrests over coronavirus fake news". Reuters. 2020-03-19.
  358. "Man arrested for spreading fake news on coronavirus". Pakistan Today. 2020-03-25.
  359. "Saudi man arrested for false news on COVID-19 patient". Gulf News. 2020-04-22.
  360. "Legal action against spreading fake news". Oman Observer. 2020-03-21.
  361. "Iran arrests ex-TV presenter for accusing regime of coronavirus cover-up". The Jerusalem Post. 2020-04-15.
  362. "Vietnam, Laos Arrest Facebookers on COVID-19-Related Charges". Radio Free Asia. 2020-04-13.
  363. "Sri Lanka Uses Pandemic to Curtail Free Expression". Human Rights Watch. 2020-04-03.
  364. "Arrests mount as Africa battles a destructive wave of COVID-19 disinformation". The Globe and Mail. 2020-04-07.
  365. "Authorities across West Africa attacking journalists covering COVID-19 pandemic". IFEX. 2020-04-22.
  366. "Somali Journalists Arrested, Intimidated While Covering COVID-19". VOA News. 2020-04-18.
  367. "Controls to manage fake news in Africa are affecting freedom of expression". The Conversation. 2020-05-11.
  368. "Press freedom violations throughout Africa linked to Covid-19 coverage". Radio France Internationale. 2020-04-14.
  369. "Some leaders use pandemic to sharpen tools against critics". ABC News. 2020-04-16.
  370. "Kazakh Opposition Activist Detained For 'Spreading False Information'". Human Rights Watch. 2020-04-18.
  371. "Azerbaijan: Crackdown on Critics Amid Pandemic". Human Rights Watch. 2020-04-16.
  372. "Concern for Rights in Montenegro amid COVID-19 Fight". Balkan Insight. 2020-03-26.
  373. "Novinarka Ana Lalić puštena iz policije" [Journalist Ana Lalic released by police]. 2020-04-02.
  374. "Prosecution drops charges against Serbian journalist arrested at the beginning of April". European Western Balkans. 2020-04-27.
  375. "Malaysia Arrests Thousands Amid Coronavirus Lockdown". VOA News. 2020-04-04.
  376. "Civil servant arrested for leaking info on number of virus cases". The Straits Times. 2020-04-16.
  377. "Singapore's Fake News and Contempt Laws a Threat to Media, Journalists Say". VOA News. 2020-05-06.
  378. "Coronavirus sends Asia's social media censors into overdrive". Reuters. 2020-02-04.
  379. "Gulf states use coronavirus threat to tighten authoritarian controls and surveillance". The Conversation. 2020-04-21.
  380. "Myanmar blocks hundreds of news sites and threatens editor with life in jail". The Guardian. 2020-04-01.
  381. "In mid-coronavirus crisis, Myanmar blocks 221 sites for "fake news"". Reporters Without Borders. 2020-04-03.
  382. "UN health agency warns against coronavirus COVID-19 criminal scams". United Nations. 2020-02-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-08. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  383. "COVID-19 Consumer Warnings and Safety Tips". Federal Communications Commission. 2020-03-31. สืบค้นเมื่อ 2020-04-02.
  384. "Coronavirus Advice for Consumers". Federal Trade Commission. สืบค้นเมื่อ 2020-09-14.
  385. Morrison, Sara (2020-03-05). "Coronavirus email scams are trying to cash in on your fear". vox.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-06. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11.
  386. Griffin, Andrew (2020-03-10). "Coronavirus: Sinister people are knocking on doors claiming to be part of official disease response, police warn". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-11. สืบค้นเมื่อ 2020-03-11 – โดยทาง Yahoo! News.
  387. Witkowski, Wallace (2020-03-15). "Hackers are using coronavirus concerns to trick you, cybersecurity pros warn". MarketWatch. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-07. สืบค้นเมื่อ 2020-04-07.
  388. "Hackers made their own coronavirus map to spread malware, feds warn". The Miami Herald. 2020-03-13. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-15. สืบค้นเมื่อ 2020-03-14.
  389. "Coronavirus stimulus payment scams: What you need to know". Federal Trade Commission. สืบค้นเมื่อ 2020-09-14.
  390. "COVID-19: We're here for you". Wells Fargo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ 2020-04-13.
  391. "COVID-19 Information" (PDF). LoanDepot. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ 2020-04-13.
  392. "Protect yourself from COVID-19 scams". Humana. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
Kembali kehalaman sebelumnya