Share to:

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นเอก
เจ้ากรมพลำภัง
ดำรงตำแหน่ง2 กันยายน พ.ศ. 2454 - 12 มกราคม พ.ศ. 2455
ประสูติ3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427
สิ้นพระชนม์12 มกราคม พ.ศ. 2456 (28 ปี)
ชายาเจ้าศิริมา ณ เชียงใหม่
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาทิพเกษร ในรัชกาลที่ 5
พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ใน พระราชพิธีโสกันต์

มหาอำมาตย์ตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกษร ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ นับเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรกและเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่จบการศึกษาในวิชาระดับปริญญาเอก[1] พระนาม "ดิลกนพรัฐ" หมายถึง "ทรงเป็นเลิศแห่งเมืองเชียงใหม่"

พระประวัติ

ประสูติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 44 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกษร เจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ทิพย์จักร ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก ฉศก จ.ศ. 1246 ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 พระนามของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุรายวันที่สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศได้ทรงบันทึกไว้ครั้งเมื่อยังทรงพระเยาว์ ณ วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2427 ความว่า

"...เสด็จขึ้นเกือบค่ำ เสด็จลงสมโภชน้องชายลูกทิพย์เกสร ทูลหม่อมบนประทานชื่อว่า

ดิลกนพรัฐ สมเด็จแม่ทรงแปลประทานเราว่า ศรีเมืองเชียงใหม่..."

ขณะที่มีพระชันษาได้เพียง 16 ปี เจ้าจอมมารดาก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา จึงทรงอยู่ในความดูแลของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา

พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา

พ.ศ. 2440 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐได้เสด็จเข้ารับการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก (พ.ศ. 2440) ขณะมีพระชันษาได้ 13 ปีบริบูรณ์ การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้นมีพระราชโอรสตามเสด็จ 4 พระองค์ คือ

เมื่อถึงอังกฤษ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐได้ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนวอร์เรนฮิลล์ เพื่อศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมชาร์เตอร์เฮาส์ ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนมัธยมกินนอนอีตัน ได้ตกลงรับเข้าศึกษาแล้ว โดยจะเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่นั่น เหตุผลที่พระองค์มิได้เสด็จไปเข้าอีตัน ก็เพราะพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นผู้ดูแลการศึกษาของพระราชโอรสในอังกฤษขณะนั้นดำริว่าพระเจ้าลูกยาเธอยังขาด "ความพร้อม" ที่จะไปเรียนที่อีตัน

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2443 พระองค์ดิลกนพรัฐได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะเจ้าจอมมารดาทิพเกษรป่วยหนักและถึงแก่อนิจกรรม คราวนั้น พระองค์ได้ประทับอยู่ในเมืองไทยนานถึง 8 เดือน จนกระทั่งเสร็จสิ้นงานปลงพระศพของพระมารดา จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่อังกฤษในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2444

การว่างเว้นการเรียนไปนานหลายเดือนทำให้พระองค์ทรงเรียนตามพระสหายในชั้นเรียนไม่ทัน จึงต้องทรงย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมของเอกชนที่แครมเมอร์ และได้ทรงย้ายไปศึกษาที่เยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ในระหว่าง พ.ศ. 2444-2446 พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมที่เมืองฮาลเล ภายใต้การควบคุมดูแลของ ดร.ตริน ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน พระองค์ทรงมีความขยันหมั่นเพียรเป็นอย่างสูง จนสามารถเรียนรู้ภาษาเยอรมันได้อย่างแตกฉาน และสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

ใน พ.ศ. 2446 เมื่อมีพระชันษา 19 ปีบริบูรณ์ และได้ประทับอยู่ในยุโรปมาแล้วกว่า 6 ปี พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมิวนิกในหลักสูตรวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือที่รู้จักกันในสมัยนี้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชาที่เน้นในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, ลัทธิเศรษฐกิจ, เศรษฐศาสตร์แรงงาน ตลอดจนวิชารัฐศาสตร์ คือวิชาที่เกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง พระองค์ทรงเริ่มการค้นคว้าเพื่อเรียบเรียงวิทยานิพนธ์เรื่อง "เกษตรกรรมในสยาม : บทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยาม" (เยอรมัน: Die Landwirtschaft in Siam: Ein Beitrag Zur Wirtschaftsgeschichte Des Konigreichs Siam) ใน พ.ศ. 2447 โดยทรงขอข้อมูลจากเมืองไทย ซึ่งกระทรวงเกษตราธิการได้รวบรวมส่งไปถวาย นอกจากนั้นก็ยังทรงค้นคว้าจากหนังสือและเอกสารอีกมากมายที่มีอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นภาษาเยอรมัน, ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส รายชื่อหนังสือและเอกสารเหล่านี้ปรากฏในบรรณานุกรมต่อท้ายพระวิทยานิพนธ์ของพระองค์ วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ถือเป็นเอกสารสำคัญสำหรับนักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจโลกที่สนใจประเทศไทย

ภายหลังที่ได้ทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมิวนิกเป็นเวลา 2 ปี พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐก็ได้ทรงย้ายไปศึกษาในแขนงวิชาเดียวกัน ณ มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน (University of Tübingen) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีตอนใต้อีกแห่งหนึ่ง (เมืองทือบิงเงินอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้กับเมืองชตุทท์การ์ท และอยู่ไปทางทิศตะวันตกของเมืองมิวนิก) ณ มหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้ พระองค์ได้ทรงสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า "ดอกเตอร์ แดร์ เวียร์ทชาร์ฟทส์-วิสเซนชาร์ฟทสเทน" (เยอรมัน: Doktor der Wirtschafts-wissenschaften) ใน พ.ศ. 2450 ขณะทรงมีชันษาได้ 23 ปี ภายหลังที่ได้ทรงพิมพ์พระวิทยานิพนธ์เป็นหนังสือขนาดกะทัดรัดฉบับภาษาเยอรมันในชื่อว่า "เกษตรกรรมในสยาม : บทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยาม" (ภาษาเยอรมัน : Die Landwirtschaft in Siam) โดย “ปรินซ์ดิลก ฟอน สิอาม” (เยอรมัน: Dilock Prinz Von Siam ซึ่งคือการออกพระนามในภาษาเยอรมัน) ผลงานของพระองค์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และถือเป็นเอกสารสำคัญสำหรับนักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกที่สนใจประเทศไทยจักต้องค้นหามาศึกษา

ในพระอัจฉริยภาพด้านการศึกษานั้น กล่าวสรุปได้ว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ

  • ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาทางเศรษฐศาสตร์
  • ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ทำการศึกษาวิจัยสถานภาพและปัญหาเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย
  • ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกและเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก

นอกจากนั้น พระองค์เป็นพระราชโอรส 1 ใน 4 พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสำเร็จการศึกษาด้านพลเรือนได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย อันได้แก่

พระกรณียกิจสำคัญ

จากซ้าย:พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์, พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ, สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์, พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์

หลังจากพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาในคราวที่เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) นิวัติกลับสู่ประเทศไทยแล้ว ทรงเริ่มเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งปลัดกรมพิเศษ แผนกอัยการต่างประเทศ ก่อนจะย้ายไปเป็นปลัดสำรวจ กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ

ต่อมาได้ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมเลขานุการ ปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ในปี พ.ศ. 2453 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์เอก (เทียบยศทหารพันเอก)

ในรัชกาลที่ 6 ทรงได้เลื่อนยศขึ้นเป็นมหาอำมาตย์ตรี (เทียบยศทหารพลตรี) ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพลำภัง (อธิบดีกรมการปกครอง) ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2454[2] และและได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้ช่วยราชปลัดทูลฉลอง ขณะที่ยังคงรั้งตำแหน่งเจ้ากรมพลำภัง (อธิบดีกรมการปกครอง) ต่อไปด้วย จากนั้นพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็น สมุหมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2454[3]

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี ซึ่งมีข้อความในประกาศว่า

อนึ่ง ทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศยุโรปที่เมืองอังกฤษก่อน แล้วได้เสด็จไปศึกษาในประเทศเยอรมันต่อไป จนทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัตร์เป็นเปรียญรู้ในอรรถคดี ครั้นรัตนโกสินทร์ศก 126 (2450) เสร็จการศึกษาแล้ว ได้เสด็จกลับมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในน่าที่ปลัดกรมพิเศษ พแนกอัยการต่างประเทศ แล้วเป็นปลัดสำรวจกรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ แลเป็นเจ้ากรมเลขานุการเป็นลำดับมา ในบัดนี้ได้ดำรงพระเกียรติยศในตำแหน่งผู้ช่วยราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย และเจ้ากรมพลำพัง ทรงพระปรีชาสามารถ อาจให้ราชกิจในหน้าที่นั้น ๆ สำเร็จโดยเรียบร้อยตลอดมา บัดนี้ก็ทรงไวยวุฒิสมควรจะได้รับพระเกียรติยศเปนเจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้ จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัตรว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี อัชนาม ทรงศักดินา 15,000 ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ ศุข พล ปฏิภาน คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬาร ทุกประการ[4]

นอกจากราชการในกระทรวงมหาดไทยแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐยังสนพระทัยในการศึกษาระดับอนุบาล (คินเดอร์การ์เต้น) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ริเริ่มขึ้นในเยอรมนี และได้ทรงเคยพบเห็นมาในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในประเทศนั้น เมื่อเสด็จกลับมาจากยุโรปใหม่ ๆ ได้ทรงเป็นบรรณาธิการวารสารชื่อ กุมารใหม่ ซึ่งพิมพ์ออกมาได้ไม่กี่ฉบับอีกด้วย

สิ้นพระชนม์และการพระศพ

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐได้ทรงเสกสมรสกับเจ้าศิริมา ณ เชียงใหม่[5] พระญาติซึ่งกล่าวกันว่ามีพระสิริโฉมยิ่งนัก ทรงครองรักอยู่ได้ไม่นาน พระชายาก็ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันเพราะเป็นตะคริวขณะกำลังสรงน้ำในสระน้ำภายในพระราชวังดุสิต กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดีทรงเสียพระทัยอย่างมิอาจจะหักห้ามได้ ประกอบกับประชวรพระเส้นประสาทพิการมาได้ 7 เดือนเศษ ท้ายที่สุดได้ทรงตัดสินพระทัยปลงพระชนม์เองด้วยพระแสงปืนในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2455 (นับแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2456) หลังจากทรงกรมได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น สิริพระชันษา 28 ปี 254 วัน

แต่ในหนังสือ เลาะวัง ซึ่งเขียนโดยจุลลดา ภักดิภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์) ให้ข้อมูลว่า "...ไม่ปรากฏว่าทรงมีหม่อมห้ามและโอรส ธิดา จึงไม่มีทายาทสืบสกุล" และ "ว่ากันว่า ทรงขัดข้องพระทัยเรื่องราชการงานเมือง เมื่อไม่ได้ดังที่ตั้งพระทัยดีเอาไว้ ก็ทรงน้อยพระทัย หุนหัน ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับรัก ๆ ใคร่ ๆ ส่วนพระองค์แต่อย่างใด"[6]

บ่าย 4 โมงเศษหลังวันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำสรงพระศพ เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงพระลอง ประดิษฐานเหนือแว่นฟ้า 2 ชั้น ประกอบพระโกศมณฑปใหญ่ พระสงฆ์มีพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ทรงเป็นประธานสวดสดับปกรณ์ มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืนและเครื่องประโคมประจำพระศพมีกำหนด 3 เดือน[7]

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 เจ้าพนักงานเชิญพระศพขึ้นรถพระวอวิมานออกจากวังถนนพายัพ เข้าถนนสามเสน บรรจบกับขบวนพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดี และขบวนพระศพหม่อมเจ้าดนัยวรนุช เข้าวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ประดิษฐานทั้ง 3 พระศพบนแว่นฟ้าในศาลาการเปรียญ ประกอบพระโกศและเครื่องสูง พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมและเจ้าพนักงานประโคมดนตรีตลอดงาน จน 4 ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชเวที (หรุ่ม พฺรหฺมโชติโก) เทศนาจบ พระสงฆ์สวดสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกแล้ว จึงเสด็จฯ กลับ

วันที่ 28 พฤษภาคม เจ้าภาพบำเพ็ญกุศลแต่เช้า บ่าย 5 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทอดผ้าไตร 50 ไตร ผ้าขาว 100 พับ พระสงฆ์สวดสดับปกรณ์ถวายอนุโมทนาและถวายอดิเรกแล้ว เจ้าพนักงานเชิญพระศพขึ้นพระเมรุแล้วพระราชทานเพลิงพระศพ

วันที่ 29 พฤษภาคม สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแทนพระองค์มาทอดผ้าไตรสามหาบ พระสงฆ์สวดสดับปกรณ์แล้วเจ้าพนักงานอัญเชิญพระอัฐิกรมหมื่นสรรควิไสยนรบดีขึ้นรถม้าหลวงไปไว้หอพระนาคในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระอังคารเจ้าพนักงานอัญเชิญขึ้นรถม้าหลวงอีกคันไปบรรจุที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม[8]

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)

ภายหลังการสิ้นพระชนม์

  • พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 - ปัจจุบัน)

พระยศ

พระยศพลเรือน

  • มหาอำมาตย์ตรี

พระยศเสือป่า

  • 16 ธันวาคม พ.ศ. 2454: นายหมู่ตรี[9]
  • นายหมู่โท
  • นายหมู่เอก
  • 18 เมษายน พ.ศ. 2455: นายกองตรี[10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ราชตระกูล

พระราชตระกูลในสามรุ่นของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี

พระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ
กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
หม่อมน้อย
พระชนนี:
เจ้าจอมมารดาทิพเกษร
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าสุริยะ ณ เชียงใหม่
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าหนานมหาวงศ์ ณ เชียงใหม่
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าบุญนำ ณ เชียงใหม่
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าสุวรรณา ณ เชียงใหม่
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
เจ้าอุตรการโกศล น้อยมหาพรหม ณ เชียงใหม่
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่ทราบ

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. สลุงเงิน. 90 ปี กับการจากไปของเจ้าชายที่ถูกลืม เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้มหาอำมาตย์ตรี พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ รับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมพลัมพัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 28 (ตอน 0 ง): หน้า 1183. 3 กันยายน ร.ศ. 130. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  3. แจ้งความกรมพระอาลักษณ์
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เลื่อนแลตั้งกรม ตั้งพระองค์เจ้า แลเจ้าพระยา, เล่ม 29, ตอน ก, วันที่ 13 พฤศจิกายน 2455, หน้า 249-250
  5. * คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. จุลลดา ภักดีภูมินทร์. เลาะวัง. กรุงเทพฯ:โชคชัยเทเวศร์, หน้า 53
  7. "ข่าวสิ้นพระชนม์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29 (ตอน ง): หน้า 2350-2351. 19 มกราคม ร.ศ. 131. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  8. "พระราชทานเพลิงพระศพและศพที่พระเมรุวัดราชาธิวาส พุทธศักราช ๒๔๕๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 31 (ตอน ง): หน้า 665-668. 21 มิถุนายน พ.ศ. 2457. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  9. พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า
  10. พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า
  11. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 24 (ตอน 33): หน้า 815. 17 พฤศจิกายน ร.ศ. 126. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564.
  12. "ข่าวในพระราชสำนักนี้ รายพระนามและนามผู้ที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29 (ตอน 0 ง): หน้า 1829. 17 พฤศจิกายน ร.ศ. 131. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564.
  13. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 31 (ตอน 26): หน้า 756. 27 กันยายน ร.ศ. 127. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564.
  14. "พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐฯ" เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 25 (ตอน 26): หน้า 758. 27 กันยายน ร.ศ. 127. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564.
บรรณานุกรม
Kembali kehalaman sebelumnya