มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (อังกฤษ: Mae Fah Luang University; อักษรย่อ: มฟล. – MFU; คำเมือง: ) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา "แม่ฟ้าหลวง" เป็นชื่อมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ประกอบด้วยสำนักวิชา 15 สำนักวิชา เป็นมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนระดับอนุปริญญา 2 หลักสูตร ปริญญาตรี 38 สาขา ปริญญาโท 25 สาขา ปริญญาเอก 15 สาขา โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการเรียนการสอน หนังสือพิมพ์ไทมส์ในส่วนของ Higher Education Supplement ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2548 และยังได้รับการลงคะแนนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในประเทศไทย และสวยที่สุดแห่งเอเชีย[4] ประวัติปี 2534 – 2536 ประชาชนชาวเชียงรายได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นในจังหวัด มีการระดมความคิดเห็นการจัดการประชุมสัมมนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายปี 2536-2545 ขึ้นเป็นฉบับแรก ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชน โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 3 ทิศทางด้วยกัน หนึ่งในสามทิศทางนั้น คือ “การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งไม่เฉพาะจังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ตลอดจนประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย ปี 2537 มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการหารูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปได้ในขณะนั้นว่าน่าจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกเลิกสถาบันราชภัฏเชียงรายและจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย หรือจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เป็นต้น 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต คณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นพ้องต้องกันว่า พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนเชียงรายที่ทรงใช้เป็นพระตำหนักและ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น นำความเจริญมายังจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงและเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย 4 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวังและสนับสนุนที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ประสานงานนำคณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอเหตุผลและความจำเป็นที่ขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นได้ไปพบนายบุญชู ตรีทอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งปลัดและรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงรายโดยยุบสถาบันราชภัฏเชียงรายและจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของรัฐบาลและประชาชนที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งของจังหวัดเชียงราย 27 เมษายน พ.ศ. 2539 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาที่จะยุบสถาบันราชภัฏเชียงรายเพื่อไปจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้วสรุปว่ามีความเป็นไปได้ พร้อมทั้งได้ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน ระบบบริหาร และระบบวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตามลำดับ ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อยุบสถาบันราชภัฏเชียงรายไปจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงต่อคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง ต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาลที่มีนายสุขวิช รังสิตพลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เป็นประธานได้มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ตามนโยบายชองนายสุขวิช[5]และจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ2539 โดยไม่เปลี่ยนสถาบันราชภัฏเชียงราย เป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตามแนวทางเดิมของทบวงมหาวิทยาลัย เพราะต้องการให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาปี2538 จึงจำเป็นต้องคงไว้เป็นสถานศึกษาอีกแห่งหนึ่ง 18 กันยายน พ.ศ. 2540 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างและดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งเพื่อดำเนินการต่าง ๆ ให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการได้ตามความเหมาะสม สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนั้น คณะกรรมการจังหวัดเชียงรายได้จัดเตรียมไว้ 3 แห่งคือ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย บริเวณจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว และบริเวณดอยโตน อำเภอเวียงชัย ซึ่งต่อมานายมนตรี ด่านไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณดอยแง่ม และจอมหมอกแก้ว เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันนักศึกษาและประชาชนจังหวัดเชียงรายก็ได้มีการชุมนุมเรียกร้อง ณ บริเวณโรงแรมลิตเติ้ลดั๊ก จังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นโดยเร็วและได้ขอคำยืนยันจากรัฐบาล ซึ่งนายมนตรี ด่านไพบูลย์ และรองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ได้ให้คำยืนยันว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ภายใน ปี 2542 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย นายสุขวิช รังสิตพลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้มีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณดอยแง่ม จำนวน 4,997 ไร่ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขณะเดียวกันคณะกรรมการของจังหวัดเชียงรายร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดเชียงราย ได้รณรงค์หาทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าทำถนนเข้ามหาวิทยาลัย และเพื่อชดเชยค่าที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่ในบริเวณนั้นด้วย 26 มีนาคม พ.ศ. 2541 ชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด นับหมื่นคน ได้ร่วมกันนำมีด พร้า จอบ เสียม และเครื่องจักรมาบุกเบิกทางเข้ามหาวิทยาลัยบริเวณดอยแง่มเป็นปฐมฤกษ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณมหาวิทยาลัย ในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ หลายครั้ง การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้คืบหน้าเป็นลำดับ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น และรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2539 และในปี 2541 นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณไร่ม่อนดินแดง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 700 ไร่ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกแห่งหนึ่งด้วย การจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่ทำการถาวร ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย ในปีงบประมาณ 2542 เป็นต้นมา 7 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย โดยเปิดรับ 2 สาขา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พิธีเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนแม่บทกายภาพระยะที่ 1 ตั้งแต่พระราชบัญญัติประกาศใช้ จวบจนปี พ.ศ. 2547 ของการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ตราประจำมหาวิทยาลัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ ส.ว. ประกอบเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีเลข ๘ และเลข ๙ ประกอบอยู่ด้วย โดยมีความหมายถึง เป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 และได้อัญเชิญฉัตร 7 ชั้นมาเป็นเครื่องหมายประกอบพระเกียรติยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีดอกลำดวนและใบไม้ประดับอันแสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะสนองพระราชปณิธานปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่หยุดยั้ง ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยสีประจำมหาวิทยาลัย
เพลงประจำมหาวิทยาลัย
ลายตุงประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้นำแถบประดับดอยตุง อันเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ และความเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งมาประดับไว้ที่แถบครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยในแถบตุงประกอบด้วยลายปราสาท หมายถึง สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
การบริหารงานนายกสภานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีนายกสภามหาวิทยาลัย ดังรายนามต่อไปนี้
อธิการบดีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีอธิการบดี ดังรายนามต่อไปนี้
การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ดังนั้นผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาควรมีความรู้พื้นฐานทางด้านภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 15 สำนักวิชา สามารถอำนวยการสอนได้ 38 หลักสูตร 77 สาขาวิชาดังนี้
ปัจจุบันประกอบด้วยส่วนงานทางวิชาการ ที่จัดการเรียนการสอนดังนี้
การก่อตั้งสำนักวิชาหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละสำนักวิชาทั้งหมด 75 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละสำนักวิชาจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอน อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย
การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จากการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยตาม "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" พ.ศ. 2549 โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการเรียนการสอน และกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม ดีมาก ทั้งการเรียนการสอน และการวิจัย[10] อันดับมหาวิทยาลัยนอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่ การจัดอันดับโดย University Ranking by Academic Performanceอันดับที่จัดโดย University Ranking by Academic Performance หรือ URAP ประจำปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 13 ของประเทศไทย และอันดับ 1,881 ของโลก โดยมีพื้นฐานทางด้านวิชาการตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณภาพและปริมาณของบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ บทความวิจัย การเผยแพร่ และการอ้างอิง[11] การจัดอันดับโดย UI Green Metric World University Rankingเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่จัดโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ประจำปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 7 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 113 ของโลก[12] การจัดอันดับโดย U.S. News & World ReportU.S. News & World Report นิตยสารการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกล่าสุด “Best Global Universities Rankings 2022” จากการสำรวจมหาวิทยาลัย 60 ประเทศทั่วโลก และมีเกณฑ์จัดอันดับหลายด้าน เช่น ชื่อเสียงการวิจัยในระดับโลก และระดับภูมิภาค สื่อสิ่งพิมพ์ การถูกนำไปอ้างอิง ความร่วมมือระหว่างประเทศ จำนวนบุคลากรระดับปริญญาเอก เป็นต้น โดยในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถูกจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 12 ของประเทศไทย และอันดับที่ - ของโลก[13] การจัดอันดับโดย Center for World University Rankingsการจัดอันดับโดย Center for World University Rankings หรือ CWUR ที่มีเกณฑ์การจัดอันดับคือ คุณภาพงานวิจัย ศิษย์เก่าที่จบไป คุณภาพการศึกษา คุณภาพของอาจารย์ และสาขาวิชาต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 10 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 1,749 ของโลก[14] การจัดอันดับโดย Quacquarelli Symondsแควกเควเรลลี ไซมอนด์ส หรือ QS จัดอันดับมหาวิทยาลัยในสองส่วน คือ การจัดอันดับเป็นระดับโลก (QS World University Rankings) และระดับทวีปเอเชีย(QS University Rankings: Asia) มีระเบียบวิธีจัดอันดับ ดังนี้ QS Asia
ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 12 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 451-500 ของเอเชีย[15] การจัดอันดับโดย Webometricsการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเว็บโอเมตริกซ์ จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้น ๆ จากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วยSearch Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยการจัดอันดับในปี2022 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 19 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 2,193 ของโลก[16] การจัดอันดับโดย SCImago Institutions Rankingอันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Ranking หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งจะไม่ใด้นับเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่จะนับสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 685 ของโลก และเป็นอันดับ 10 ของประเทศไทย[17] การจัดอันดับโดย The Times Higher Educationการจัดอันดับโดย The Times Higher Education 2023 หรือ THE ที่จัดอันดับ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มีเกณฑ์การจัดอันดับในด้าน คุณภาพการสอน สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย การอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้อ้างอิง ความเป็นนานาชาติ และ รายได้ทางอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ช่วงอันดับที่ 801-1,000 และเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย[18] การจัดอันดับ Young University Rankings 2022 โดย The Times Higher Education หรือ THE ที่จัดอันดับ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ซึ่งมีเกณฑ์การพิจารณามหาวิทยาลัยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีทั่วโลกจากตัวชี้วัดผลการดำเนินงานใน 5 ด้านได้แก่ การเรียนการสอน (Teaching 30%) การวิจัย (Research 30%) การอ้างอิงผลงานวิชาการ (Citation 30%) รายได้จากอุตสาหกรรม (Industry Income 2.5%) และความเป็นนานาชาติ (International Outlook 7.5%) ใน พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ช่วงอันดับที่ 201-250 และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย[19] สถาบันวิจัยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มุ่งหวังที่จะพัฒนางานวิจัยให้มีความเข็มแข็ง มีทิศทางที่ชัดเจน และเป็นการผลักดันมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่การแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติต่อไป จึงให้มีการสนับสนุนการรวมกลุ่มของนักวิจัย โดยมีนักวิจัยอาวุโสทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือหัวหน้าทีม เพื่อการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพหรืองานนวัตกรรมที่มีผลกระทบเชิงสังคมหรือการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การรวมกลุ่มวิจัยนี้จัดแบ่งเป็นระดับ คือ ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์ส่งเสริม ดังนี้ [20]
การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีความชำนาญในสาขาวิชาเฉพาะ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนางานในสาขาวิชาชีพ นั้น ๆ การศึกษาระดับประกาศนียบัตรจะต้องศึกษากระบวนวิชาระดับประกาศนียบัตร มีหน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต ระดับปริญญาตรีหลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละสำนักวิชาทั้งหมดประมาณ 38 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ และหลักสูตรภาคพิเศษ โดยแต่ละสำนักวิชาจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาที่เปิดสอนเอง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
โครงการรับตรงสำนักวิชา โครงการเครือข่ายครูแนะแนว โครงการส่งเสริมเด็กดีมีที่เรียน โครงการรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษเน้นภาษาอังกฤษ โครงการทุนการศึกษาสิงห์ปาร์คเชียงราย โครงการรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยและจบจากต่างประเทศหรือเทียบเท่า โครงการรับนักเรียนผู้พิการเข้าศึกษา โครงการพิเศษเพื่อนักเรียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้
โดยจะรับคัดเลือกแต่นักเรียนที่เรียนอยู่ในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นเวลา 3 ปี
โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ระดับปริญญาโทหลักสูตรระดับปริญญาโท แบ่งเป็น 2 แผน คือ แผน ก และแผน ข ดังนี้ - แผน ก แบบ ก 1 หมายถึง การเรียนที่มีเพียงการทำวิทยานิพนธ์อย่างเดียว มีหน่วยกิตสะสมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และจะต้องทำกิจกรรมทางวิชาการตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ อาจมีการเรียนกระบวนวิชาเพิ่มเติมได้โดยไม่นับหน่วยกิตสะสม - แผน ก แบบ ก 2 หมายถึง การเรียนที่เป็นลักษณะของการศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต หน่วยกิตสะสมเป็นไปตามโครงสร้างหลักสูตรของสาขาวิชา - แผน ข หมายถึง การศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษา และทำการค้นคว้าแบบอิสระไม่น้อยกว่า 3-6 หน่วยกิต มีการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง ระดับปริญญาเอกหลักสูตรระดับปริญญาเอก แบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบ 1 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ แยกเป็น แบบ 1.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบบ 1.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยม) ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต แบบ 2 เป็นการศึกษาที่เน้นการวิจัย โดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง และก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ และศึกษากระบวนวิชาเพิ่มเติม แยกเป็น แบบ 2.1 สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต แบบ 2.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และศึกษากระบวนวิชาระดับบัณฑิตศึกษาไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต พื้นที่ของมหาวิทยาลัยพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างเนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระราชปณิธาณอันแน่วแน่ที่จะ " ปลูกป่า สร้างคน[21] " เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาสรวมทั้งการธำรง ไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชิติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคเหนือ และภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน รัฐบาลจึงได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นในจังหวัดเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และให้สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไป ศูนย์บริการวิชาการหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีสถานะเทียบเท่าสำนักวิชา มีพันธกิจเพื่อนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไปเผยแพร่ ถ่ายทอดเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สังคม ชุมชน ผ่านกระบวนการฝึกอบรม สัมมนา ประชุม การบริการต่างๆ โดยศูนย์บริการวิชาการมีผลงานการให้บริการวิชาการทั้งโครงการบริการวิชาการจากสำนักวิชาต่าง ๆ อาทิ โครงการอบรมแปรรูปอาหารเพื่อเสริมอาชีพ โครงการตรวจรักษาโรคเคลื่อนที่ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการทำขนมเบอเกอรี่แก่ผู้ต้องหาหญิงใกล้พ้นโทษ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้แก่เยาวชน โครงการศิลปะการพูด เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์บริการวิชาการยังดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมชุมชนอีกมากมาย อาทิ โครงการพัฒนาครูชนบทในพื้นที่ห่างไกล โครงการพัฒนาห้องสมุดตำรวจตระเวนชายแดน โครงการพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ศูนย์บริการวิชาการยังเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานด้านการจัดฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและภายนอกจังหวัดเชียงราย อาทิ โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการชายแดนใต้ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โครงการพัฒนาศักยภาพของข้าราชการ หลักสูตร ยุทธศาสตร์การทำงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ปัจจุบัน ศูนย์บริการวิชาการบริหารดำเนินงานภายใต้การนำของอาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ยอดสุวรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มีการแบ่งฝ่ายงานออกเป็น 5 ฝ่าย คือ ฝ่ายเลขานุการและธุรการ ฝ่ายบริการวิชาการ ฝ่ายพัฒนาโครงการและการตลาด ฝ่ายส่งเสริมกิจกรรมพิเศษ และฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์ สอบถามรายละเอียดหรือต้องการการบริการวิชาการที่มีคุณภาพ ติดต่อที่ ศูนย์บริการวิชาการ โทรศัพท์ 05391 7897 ต่อ 8030 โทรสาร 05391 6384 ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และสถาบันขงจื่อเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2542 นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เดินทางไปเยี่ยมเยือนและแสวงหาความร่วมมือด้านการศึกษากับรัฐบาลประเทศจีน และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ คณะรัฐบาลประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลประเทศจีนจัดตั้ง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบรอบ 100 ปี ในปี พุทธศักราช 2543 รัฐบาลจีนได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยินดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และยังสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนการสอนพร้อมหนังสือตำรา เอกสารประกอบการสอนต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใช้ในการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างวันที่ 7 ถึง 27 สิงหาคม พุทธศักราช 2543 รัฐบาลจีนได้ส่งคณะศึกษา และสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนจากสถาบัน China Southwest Architectural Design and Research Institute เพื่อให้มาทำการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งหัวหน้าคณะที่มาดำเนินการเรื่องนี้ คือนายเฉิน ไค เม่ย (Mr. Chen Kai Mei) และคณะ ได้มาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง ประมาณ 20 วัน เพื่อสำรวจพื้นที่และออกแบบอาคาร การก่อสร้าง ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน ได้ยึดเอาศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบ ซูโจว เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยมีกำแพงล้อมรอบตัวอาคารทั้งหมดสี่ด้าน ภายในประกอบด้วยสวนหิน และสระบัว ศาลาดูปลา ที่สร้างตามแบบดั้งเดิมของจีน การก่อสร้างศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนแห่งนี้ ได้นำเอาวัสดุการก่อสร้างที่สำคัญบางส่วนมาจากประเทศจีน เช่น ปูนปั้นมังกร หลังคา ครอบเชิงชาย สิงโตคู่ บัวเสา ตลอดจนรูปแบบศิลปะแบบจีน ประตูวงพระจันทร์ หน้าต่างหกเหลี่ยม ประตูและหน้าต่างลวดลายจีน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 พิธีเปิดการก่อสร้างอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2544 โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย พิธีมอบอาคารศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นผู้รับมอบจากเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พุทธศักราช 2546 เพื่อทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และทอดพระเนตรความก้าวหน้าของศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน พระราชทานลายพระหัตถ์พระนามาภิไธยภาษาจีน พระราชทานไว้ให้แก่ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีน นับเป็นสิ่งพระราชทานที่ทรงคุณค่ายิ่ง ในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนว่า “ ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร ” ตามหนังสือที่ รล 008/2300 ลงวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2546 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และประชาชนทั่วไปเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและให้บริการวิชาการด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน มีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคำสอน และคุณงามความดีของขงจื่อ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน รวมถึงการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์มิตรภาพอันดีงามระหว่างไทยกับจีน มากไปกว่านั้นทางสถาบันได้มีพันธกิจร่วมกับศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องให้กับนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ตลอดจนจัดการแข่งขันเกี่ยวกับความรู้ภาษาจีน ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นสถานที่จำหน่ายหนังสือและเครื่องแบบนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีสินค้าให้เลือกมากมาย อาทิ ของชำร่วยที่มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ โปสการ์ดที่เป็นรูปอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น พื้นที่การศึกษากลุ่มอาคารของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แบ่งได้ดังต่อไปนี้[22]
สถานที่สำคัญ
กิจกรรมและประเพณี
จัดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี เป็นกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และบางส่วนต้องเข้าเรียนภาษาอังกฤษในหลักสูตรเร่งรัด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษต่อไป และยังมีกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายที่นักศึกษารุ่นพี่ได้เตรียมไว้ เพื่อต้อนรับน้องใหม่ อย่างเช่น กิจกรรมน้องใหม่ปลูกป่า น้องใหม่ใส่บาตร กิจกรรมจุดเทียนส่องใจ และกิจกรรมน้องใหม่ขึ้นดอย เป็นต้น ก่อนที่จะเข้าสู่การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ และเริ่มต้นเข้าเรียนชั้นปี 1 พร้อมกันในวันเปิดภาคการศึกษา
พิธีติดเข็มตราสัญลักษณ์และถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจัดในช่วงต้นเดือนกันยายน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
กิจกรรมพี่น้องร่วมใจชิงธงสำนักวิชา ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ มฟล. ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมายาวนาน โดยมุ่งหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับนักศึกษาใหม่อย่างสร้างสรรค์ และใช้เพลงมหาวิทยาลัยถ่ายทอดความภาคภูมิใจในการเป็นลูกแม่ฟ้าหลวงจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในแต่ละสำนักวิชาต้องร้องเพลงมหาวิทยาลัยให้ไพเราะพร้อมเพรียงจนสามารถพิชิตใจคณะกรรมการได้ จึงจะได้รับธงประจำสำนักวิชา ถือเป็นบททดสอบความรักและสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่เพียงแต่รุ่นน้อง แต่หมายรวมถึงนักศึกษารุ่นพี่ทั้ง 14 สำนักวิชา ในทุกกิจกรรมของมหาวิทยาลัยล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงออกถึงความจงรักและภักดี ที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า โดยน้อมนำแนวพระราชปณิธานมาปรับใช้ และมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักศึกษารุ่นพี่ อันจะนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกันในรั้วมหาวิทยาลัย
พิธีบายศรีสู่ขวัญและงานเลี้ยงขันโตก ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมแบบล้านนาในการให้เกียรติแก่แขกผู้มาเยือนหรือบุคคลสำคัญ โดยเป็นพิธีรับขวัญและผูกข้อมือน้องใหม่ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนที่มาร่วมงานบายศรีสู่ขวัญจะใส่ชุดผ้าฝ้ายทั้งชายหญิงอันเป็นเอกลักษณ์ของ มฟล. ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มฟล. จะได้ใส่ชุดพื้นเมืองนี้มามหาวิทยาลัยในทุกวันศุกร์หรือในกิจกรรมพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ภายในงานก็จะมีการแสดงดนตรีโฟล์คซองคำเมือง จากวงดนตรีมหาวิทยาลัย MFU Band จากนั้นเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญและพิธีเรียกขวัญ ตามความเชื่อของคนภาคเหนือที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยเฉพาะในช่วงยามที่เริ่มต้นในสิ่งใหม่ ๆ เช่นเดียวกับนักศึกษาใหม่ที่เพิ่งก้าวมาสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทั้งนี้อธิการบดี ผู้บริหาร และคณาจารย์ได้ผูกข้อไม้ข้อมืออวยชัยให้พรแก่ดาวเดือนจากสำนักวิชาต่า งๆ ที่เป็นตัวแทนนักศึกษาให้โชคดีมีชัยในการเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในรั้วแดงทองแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีการแสดงนาฏศิลป์แบบล้านนาเชียงรายให้นักศึกษาที่มาจากทั่วทุกภูมิภาคได้รับชม ซึ่งล้วนเป็นการแสดงที่อ้อนช้อยงดงาม เข้ากันบรรยากาศงานเลี้ยงขันโตกที่ได้ชิมอาหารเหนือขึ้นชื่อ ล้วนทำให้นักศึกษาใหม่ได้สัมผัสสนต์เสน่ห์เมืองเหนือและร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นล้านนา อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
กีฬาภายในของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาสำนักวิชาต่าง ๆ ซึ่งนอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีจุดที่น่าสนใจที่สุดของงานก็คือ การแสดงสแตนเชียร์และผู้นำเชียร์ของสำนักวิชาต่าง ๆ โดยแต่ละสำนักวิชาจะทำการซักซ้อมมาเป็นอย่างดีในการเชียร์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรMain Auditoriumหอประชุมสมเด็จย่า หรืออาคารC4 เป็นห้องประชุมขนาด 2500 ที่นั่ง ใช้เป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตร[23] แก่ผู้สำเร็จการศึกษา การแสดงนิทรรศการต่างๆ และยังใช้เป็นสถานที่ในการจัด In Honor of 175 years US-Thai Friendship[24] อีกด้วย ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตเป็นประจำทุกปี โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะเป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยในแต่ละปีการศึกษา โดยใช้หอประชุมสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัย
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
|