ประเทศอิหร่าน
อิหร่าน (เปอร์เซีย: ایران, ออกเสียง: [ʔiːˈɾɒːn]) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (เปอร์เซีย: جمهوری اسلامی ايران) เป็นประเทศในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีเขตแดนติดกับประเทศอาร์มีเนียและประเทศอาเซอร์ไบจานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดประเทศคาซัคสถานและรัสเซียโดยมีทะเลแคสเปียนคั่น ติดประเทศเติร์กเมนิสถานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดประเทศอัฟกานิสถานและปากีสถานทางทิศตะวันออก ติดอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมานทางทิศใต้ และติดประเทศตุรกีและประเทศอิรักทางทิศตะวันตก มีพื้นที่ 1,648,195 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศใหญ่ที่สุดอันดับที่สองในตะวันออกกลางและอันดับที่ 18 ในโลก มีประชากรเกือบ 90 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และเป็นประเทศที่ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ในทวีปเอเชีย อิหร่านยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูเขามากที่สุดในโลก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อิหร่านแบ่งการปกครองออกเป็น 5 ภูมิภาค และ 31 จังหวัด กรุงเตหะรานเป็นเมืองหลวงและนครใหญ่สุดของประเทศ และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ อิหร่านเป็นที่ตั้งของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดินแดนทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยยุคหินเก่าตอนล่าง เริ่มต้นด้วยการตั้งราชอาณาจักรก่อนเอลาไมต์และเอลาไมต์ใน 3200–2800 ปีก่อนคริสตศักราช ชาวมีดซ์มีบทบาทในการรวบรวมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นจักรวรรดิแห่งแรก ๆ ใน 625 ปีก่อนคริสตศักราช หลังจากนั้น มีดซ์กลายเป็นชาติวัฒนธรรมและการเมืองที่ครอบงำในภูมิภาค อิหร่านเรืองอำนาจถึงขีดสุดระหว่างจักรวรรดิอะคีเมนิดซึ่งพระเจ้าไซรัสมหาราชทรงก่อตั้งใน 550 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งเมื่อแผ่อาณาเขตไพศาลที่สุดนั้นล้วนกินส่วนสำคัญของโลกโบราณ ตั้งแต่บางส่วนของคาบสมุทรบอลข่าน (เธรซ, มาซิโดเนีย, บัลแกเรีย และ พีโอเนีย) และทางทิศตะวันตกของยุโรปตะวันออก จดลุ่มแม่น้ำสินธุทางทิศตะวันออก ทำให้เป็นจักรวรรดิใหญ่สุดในโลกในขณะนั้น จักรวรรดิล่มสลายใน 330 ปีก่อนคริสตศักราช ให้หลังการพิชิตของอเล็กซานเดอร์มหาราช จักรวรรดิพาร์เธียกำเนิดขึ้นตามด้วยด้วยการสถาปนาจักรวรรดิซาเซเนียนใน ค.ศ. 224 ซึ่งอิหร่านกลายเป็นชาตินำในโลกอีกครั้ง ร่วมกับจักรวรรดิโรมัน-ไบแซนไทน์ เป็นเวลากว่าสี่ศตวรรษซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มมีการพัฒนาด้านการเขียน, เกษตรกรรม และการขยายตัวของเมือง การพิชิตจักรวรรดิเปอร์เซียโดยมุสลิมในศตวรรษที่ 7 (ค.ศ. 632–654) ส่งผลให้ศาสนาอิสลามเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของประชากร แทนที่ความเชื่อพื้นเมืองซึ่งนับถือศาสนามาณีกี และโซโรอัสเตอร์ อิหร่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อยุคทองอิสลาม โดยผลิตนักวิทยาศาสตร์, นักวิชาการ, ศิลปิน และนักคิดทรงอิทธิพลจำนวนมาก รวมทั้งเป็นยุครุ่งเรื่องของวรรณกรรม, ปรัชญา, คณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์ และ การแพทย์ ราชวงศ์มุสลิมในอิหร่านยุติการปกครองด้วยกฎอาหรับ ตามด้วยการฟื้นฟูภาษาเปอร์เซีย และปกครองประเทศจนกระทั่งการพิชิตจักรวรรดิเซลจุค และข่านอิลในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 14 การสถาปนาอิหร่านซาฟาวิดใน ค.ศ. 1501 ซึ่งส่งเสริมชีอะฮ์สิบสองอิหม่ามเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์อิหร่านและโลกมุสลิม เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1736 ภายใต้ชาห์นาเดอร์ อิหร่านมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดนับแต่จักรวรรดิซาเซเนียน โดยเป็นจักรวรรดิที่อาจแย้งได้ว่าทรงอำนาจที่สุดในโลกในเวลานั้น ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 อิหร่านเสียดินแดนหลายส่วนในคอเคซัสให้แก่จักรวรรดิรัสเซียจากสงครามรัสเซีย-เปอร์เซีย ตามด้วยการสถาปนาราชวงศ์ปาห์ลาวีในต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งกลายเป็นราชวงศ์สุดท้าย ความพยายามโดยโมฮัมหมัด โมซาดเดกห์ ผู้นำทางการเมืองผู้ทรงอิทธิพลซึ่งต้องการให้อุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่านเป็นของรัฐ เป็นชนวนเหตุสู่การรัฐประหารโดยมีสหราชอาณาจักรและสหรัฐปลุกปั่นใน ค.ศ. 1953 จากนั้น อิหร่านค่อย ๆ กลายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐและชาติตะวันตกที่เหลือ ความเห็นแย้งที่เพิ่มขึ้นต่ออิทธิพลของต่างประเทศและการกดขี่ทางการเมืองลงเอยด้วยการปฏิวัติ ค.ศ. 1979 ซึ่งทำให้มีการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1979 โดยรูฮุลลอฮ์ โคมัยนีซึ่งกลายเป็นผู้นำสูงสุดคนแรกของประเทศ ปัจจุบันอิหร่านมี แอลี ฆอเมเนอี ทำหน้าที่ผู้นำสูงสุด อิหร่านปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลามด้วยระบบประธานาธิบดี อำนาจการปกครองอยู่ที่ผู้นำสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ โดยในทางพฤตินัยอาจกล่าวได้ว่าอิหร่านถูกปกครองแบบเผด็จการ และครอบงำโดยลัทธิอำนาจนิยม อิหร่านได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแง่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง อิหร่านเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาค และประเทศอำนาจปานกลางของโลก มีอิทธิพลในความมั่นคงทางพลังงานระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจโลกจากการมีปริมาณเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์สำรองขนาดใหญ่ รวมทั้งมีปริมาณแก๊สธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับสองในโลก และมีน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก กองทัพอิหร่านยังถือเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางในแง่จำนวนทหารประจำการ มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศสะท้อนบางส่วนจากการมีแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก 28 แห่ง ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ในทวีปเอเชียและอันดับ 10 ของโลก และยังมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นอันดับ 5 ของโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสำคัญของนิกายชีอะฮ์ อิหร่านมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลกวัดตามอำนาจซื้อ เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ, องค์การความร่วมมือเศรษฐกิจ, ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, องค์การความร่วมมืออิสลาม, โอเปก และ บริกส์ อิหร่านเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธุ์และภาษา โดยผู้อยู่อาศัยส่วนมากนับถือนิกายชีอะฮ์ และภาษาเปอร์เซียมีสถานะเป็นภาษาราชการ ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ตอนต้น
หลังจากความระส่ำระสายของราชวงศ์กอญัร เปอร์เซียได้ตกอยู่ภายใต้ของมหาอำนาจต่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียและอังกฤษ[11] ตั้งแต่ในรัชสมัยของฟัฏอาลี ชาห์ ชาห์องค์ที่สองแห่งราชวงศ์กอญัร ได้ทำสงครามกับรัสเซียถึง 2 ครั้ง และต้องเสียดินแดนแถบเทือกเขาคอเคซัสทั้งหมด[12] แม้แต่ประเทศอังกฤษมีผลประโยชน์จำนวนมากในเปอร์เซียอย่างการขุดเจาะน้ำมันที่ขุดพบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจำนวนมาก[11] ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 - 1918) เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเปอร์เซีย เนื่องจากตกอยู่ภายใต้อำนาจของมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย, อังกฤษ, ออตโตมัน, เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านที่กว้างขวางของประชาชนชาวเปอร์เซีย เพื่อปกป้องผลประโยชน์และเอกราชของประเทศ[11] จนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 เรซา ข่าน ผู้บัญชาการกองพันน้อยคอสแซคได้นำกองทัพบุกเข้าเมืองหลวงได้ยึดอำนาจและทำการรัฐประหาร[11] หลังการรัฐประหารพระเจ้าอะหมัด ชาห์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์กอญัรได้แต่งตั้งนายตะบาตะบาอี เป็นนายกรัฐมนตรี และเรซา ข่าน เป็นนายกรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม[11] ยุคปัจจุบันจนในปี ค.ศ. 1923 พระเจ้าอะหมัด ชาห์ได้เสด็จไปประทับในยุโรปและไม่เดินทางกลับมายังอิหร่านเลย[13] เรซา ข่าน อดีตรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ได้ยึดอำนาจจากราชวงศ์กอญัรและประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ปาห์ลาวี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1925[13] เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้น กองทัพพันธมิตรจึงได้ตัดสินใจบุกอิหร่าน ซึ่งขณะนั้นอิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีกับเยอรมนี[13] โดยกองทัพสหราชอาณาจักรได้บุกยึดภาคใต้ของอิหร่าน และ กองทัพสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดทางตอนเหนือของอิหร่าน ประเทศอิหร่านจึงถูกปกครองโดยกองทัพสัมพันธมิตร กษัตริย์เรซาจึงถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติ เพื่อให้พระโอรสองค์ใหญ่คือ โมฮัมหมัด เรซา ข่านขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ประเทศอิหร่านหลังจากนั้นจึงมีความสัมพันธ์อันดีประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา[13] ใน ค.ศ. 1951 เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนอิหร่านกำลังตื่นตัวเรื่องชาตินิยม ในพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเอง ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ผู้นำคนหนึ่งในขบวนการชาตินิยมอิหร่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี[13] หลังจากนั้นนายมูซัดเดกได้ดำเนินการยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านออยล์ซึ่งเป็นของอังกฤษเป็นของรัฐ[13] ทำให้ต่างชาติมีมาตรการตอบโต้บอยคอตน้ำมันอิหร่าน[14] ในวันที่ 22 ตุลาคมปีเดียวกัน รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มปั่นป่วน และเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และเกิดความวุ่นวายมากขึ้น[14] เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1953 ชาห์โมฮัมหมัดเรซา และราชินีได้เสด็จออกนอกประเทศ 3 วันหลังจากนั้นนายพลซาเฮดีประกาศตนเป็นนายกรัฐมนตรี[14] และเข้าควบคุมอำนาจมูซัดเดก และคณะรัฐบาลของเขาถูกจับกุม ชาห์โมฮัมหมัดเรซาเสด็จฯ กลับอิหร่านและทำการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายนิยมตะวันตก[14] อิหร่านได้ทำการเปิดสัมพันธไมตรีกับการทูตกับอังกฤษใหม่อีกครั้ง และมีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐอเมริกา[14] และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา ชาห์โมฮัมหมัดเรซาได้เริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[14] ในปี ค.ศ. 1963 ชาห์ได้เริ่มโครงการสำคัญหลายอย่างเพื่อพัฒนาอิหร่านให้ก้าวหน้า อาทิเช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี การตั้งหน่วยการศึกษา การจัดตั้งหน่วยอนามัย การพัฒนาการเกษตร การโอนป่าเป็นของรัฐเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลอิหร่านเรียกโครงการเหล่านี้ว่า "การปฏิวัติขาว" เพราะเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ[14] การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างเสรี ความขัดแย้งเรื่องนี้รุนแรงเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1963 หลังปราศรัยโจมตีรัฐบาล ท่านโคมัยนีก็ถูกจับไปขังคุกที่กรุงเตหะราน[15] ผลของการจับโคมัยนีทำให้ประชาชนโกรธแค้นมาก และพากันออกมาเดินขบวนเต็มไปหมดในถนนทุกสาย เหตุการณ์ต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยอายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ลุกลามรุนแรงถึงขั้นนองเลือด จนกลายเป็นจุดหักมุมของประวัติศาสตร์อิหร่าน รัฐบาลตัดสินใจเนรเทศโคมัยนีออกนอกประเทศในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1964[14] โดยให้ไปอยู่ตุรกี และต่อมาย้ายไปอยู่เมืองนาจาฟในอิรัก รวมเป็นเวลาถึง 13 ปี โดยหวังว่าจะทำให้ความนิยมในตัวโคมัยนีจางหายไป การปฏิวัติอิสลามความไม่พอใจของประชาชนเริ่มถึงจุดระเบิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอน ได้เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงในโรงภาพยนตร์ที่เมืองอะบาดาน มีผู้เสียชีวิต 387 คน[16] รัฐบาลได้ออกข่าวว่าพวกศาสนานิยมหัวรุนแรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทว่าเมื่อตำรวจไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ก็ทำให้ประชาชนเคียดแค้นรัฐบาล และเกิดการประท้วงตามเมืองต่าง ๆ [17] ส่วนคู่ปรับของชาห์คืออายะตุลลอฮ์ โคมัยนี แม้จะถูกเนรเทศไปยังประเทศอิรัก 12 ปี และภายหลังถูกรัฐบาลอิรักขอร้องให้ออกไปนอกประเทศ โคมัยนีจึงได้อพยพไปอยู่ฝรั่งเศส[17] แต่โคมัยนีก็ใช้การอัดเสียงใส่เทปคาสเซตได้ทำการอัดซ้ำและทำการเผยแพร่แก่นักศึกษาประชาชน และลุกลามถึงนักศึกษาอิหร่านในต่างประเทศด้วย[17] หลังโศกนาฏกรรมที่เมืองออบอดอน ประชาชนในเตหะรานได้รวมกันประท้วงชาห์ เผาธงชาติ ถือป้ายข้อความ "แยงกี้ โกโฮม" "ชาห์ต้องลาออก" และ "โคมัยนีต้องปกครองอิหร่าน" มีสตรีแต่งกายด้วยชุดดำสวมคลุมศีรษะจำนวนมาเข้าร่วมขบวนด้วย[17] ขบวนได้ปะทะกับทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายคน[17] หลังจากเหตุการณ์นี้ ก็เกิดเหตุการณ์ประท้วงระลอกแล้วระลอกเล่าตามหัวเมืองอื่น กรรมกรนับแสนคนนัดหยุดงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ บรรดาครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ต่างเข้าร่วมกันประท้วง[17] การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุเซน วันนั้นประชาชนนับล้านได้ออกมาชุมนุมกันบนท้องถนนและที่สาธารณะ มีการชูรูปโคมัยนี มีการตะโกนด่าทออเมริกา และเรียกร้องรัฐอิสลาม[17] การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นอีกที่เมืองมาชาดมีการลุกฮือเผาบ้านของชาวอเมริกัน ตลอดจนกิจการต่าง ๆ ของชาวตะวันตก[18] ทหารได้สกัดกั้นและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อย เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนรัฐบาลอเมริกา และยุโรปสั่งให้คนของตนออกจากอิหร่าน[18] ความตึงเครียดที่กดดันทำให้ชาห์ทำตามคำแนะนำของอเมริกา โดยการเสด็จออกนอกประเทศพร้อมครอบครัว เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979[18][19] โดยที่รัฐบาลของนายชาห์ปูร์ บัคเตียร์ ได้ออกประกาศว่า พระองค์มิได้สละบัลลังก์แต่อย่างใด[18] และแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โคมัยนีพร้อมผู้ช่วยราว 500 คน และนักหนังสือพิมพ์อีก 150 คน ได้โดยสารเครื่องบินโบอิ้ง 747 ของสายการบินฝรั่งเศสกลับสู่อิหร่าน โดยมีประชาชนต้อนรับอย่างเนืองแน่น แม้ระยะแรกกองทัพบกประกาศว่าพร้อมหลั่งเลือดเพื่อค้ำบัลลังก์ชาห์[18] หรือหนุนรัฐบาลนายบัคเตียร์ ภายหลังกองทัพบกได้วางตัวเป็นกลาง[18] ประชาชนฝ่ายโคมัยนีจึงได้เข้าควบคุมเตหะรานไว้ได้โดยบุกยึดที่ทำการรัฐบาล กระทรวงทบวงกรม ตึกรัฐสภา และสถานีตำรวจไว้ได้หมด[18] ต่อมารัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากโคมัยนีก็เข้ารับหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ และนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองของรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[20] โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เรียกว่า ฟากิฮ์ หรือ รอฮ์บัรร์ ถือเป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณมีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด[20] หลังการปฏิวัติอิสลาม
การเมืองการปกครองบริหารตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) และแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) กำหนดให้อิหร่านเป็นสาธารณรัฐอิสลาม โดยมีโครงสร้างดังนี้
นิติบัญญัติสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Majlis) ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก ๆ 4 ปี จำนวน 290 คน ทำหน้าที่ออกกฎหมายและควบคุมฝ่ายบริหาร ภูมิศาสตร์ลักษณะภูมิประเทศมากกว่าร้อยละ 95 เป็นที่สูงในลักษณะของเทือกเขาสูงและที่ราบสูง เทือกเขาสูงที่ปรากฏในอิหร่านมี 2 เทือกเขาคือ เทือกเขาอัลบอร์ซทางตอนเหนือวางตัวขนานกับชายฝั่งทะเลแคสเปียน และเทือกเขาแซกรอส วางตัวขนานกับอ่าวเปอร์เซีย เทือกเขาทั้งสองวางตัวแยกออกมาจากอาร์มีเนียนนอต ขณะที่ที่ราบสูงจะอยู่ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบผืนใหญ่ครอบคลุมพื้นเกือบทั้งประเทศต่อเนื่องเข้าไปถึงอัฟกานิสถานและปากีสถาน ส่วนภูมิประเทศชายฝั่งจะปรากฏอยู่ 2 บริเวณคือ ตอนเหนือเป็นชายฝั่งทะเลแคสเปียน ส่วนด้านตะวันตกเฉียงใต้และด้านใต้เป็นชายฝั่งราบของทะเลบริเวณอ่าวเปอร์เซีย Piranshahr city เป็นอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของอิหร่านที่มีประวัติยาวนานถึง 8000 ปี การแบ่งเขตการปกครองประเทศอิหร่านแบ่งออกเป็น 31 จังหวัด (provinces - ostanha) แต่ละจังหวัดปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมาจากการแต่งตั้ง (เปอร์เซีย: استاندار ostāndār) เศรษฐกิจโครงสร้าง
พลังงานอิหร่านมีปริมาณแก๊สธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับสองของโลก และมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับสามของโลก[22][23] เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโอเปก และมีศักยภาพจะกลายมาเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก[24] ใน พ.ศ. 2548 อิหร่านใช้เงิน 4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐนำเข้าเชื้อเพลิง เพราะการใช้พลังงานในประเทศอย่างผิดกฎหมายและขาดประสิทธิภาพ[25] ผลผลิตอุตสาหกรรมน้ำมันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านบาร์เรล (640,000 ลูกบาศก์เมตร) ต่อวัน ใน พ.ศ. 2548 เทียบกับในอดีตที่เคยมีผลผลิตสูงสุดที่ 6 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อ พ.ศ. 2517 ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 โครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมเริ่มขาดประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะความล้าหลังของเทคโนโลยี มีการเจาะหลุมสำรวจเพียงไม่กี่หลุมในปีนั้น ใน พ.ศ. 2547 แก๊สธรรมชาติสำรองในอิหร่านสัดส่วนมากยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ การเพิ่มสถานีไฟฟ้ากำลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเก่า ได้เพิ่มปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็น 33,000 เมกะวัตต์ ในจำนวนนั้น ราว 75% ใช้แก๊สธรรมชาติ, 18% ใช้น้ำมัน และ 7% ใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ ใน พ.ศ. 2547 อิหร่านเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานลมและความร้อนใต้พิภพเป็นแห่งแรก และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์แห่งแรกเริ่มปฏิบัติการใน พ.ศ. 2552 แนวโน้มลักษณะประชากรและการเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้นส่งผลให้ความต้องการกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี เป้าหมายของรัฐบาลที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้วันละ 53,000 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2553 โดยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังแก๊สและเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์[26][27] โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกในอิหร่านที่บูเชห์ เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554[28] ประชากรศาสตร์เชื้อชาติอิหร่านเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติและศาสนา แต่ทั้งหมดนั้นได้หลอมรวมกันอยู่ภายใต้กรอบของวัฒนธรรมเปอร์เซีย[29] ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้นใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาถิ่นอื่น ๆ นั้น ภาษาอาเซอร์ไบจานเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด นอกจากนี้ภาษาอาหรับยังพบได้ทั่วไปทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ตัวเลขการประมาณการกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศอิหร่านนั้นยังไม่มีตัวเลขที่เป็นทางการ แต่เว็บไซต์ Factbook ของซีไอเอ ได้มีตัวเลขการประมาณการประชากรตามกลุ่มเชื้อชาติดังนี้ ชาวเปอร์เซียร้อยละ 51 ชาวอาเซอร์ไบจานร้อยละ 24 ชาวกิลัคและมาซันดารานร้อยละ 8 ชาวเคิร์ดร้อยละ 7 ชาวอิหร่านเชื้อสายอาหรับร้อยละ 3 ชาวบาลูจีร้อยละ 2 ชาวลูร์ร้อยละ 2 ชาวเติร์กเมนร้อยละ 2 ส่วนชาวลัค กัชไก อาร์มีเนีย อิหร่านเชื้อสายยิว จอร์เจีย อัสซีเรีย อะดืยเก ตาต มันดีน ยิปซี บราฮุอี ฮาซารา คาซัค และอื่น ๆ คิดรวมกันเป็นร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศ[3] ภาษาอย่างไรก็ตามในรายงานดังกล่าวได้มีการรายงานว่ามีการใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาแม่ร้อยละ 58 ภาษาอาเซอร์ไบจานร้อยละ 26 ภาษาเคิร์ดร้อยละ 9 ภาษาลูร์ร้อยละ 3 ภาษาบาลูจีร้อยละ 1 ภาษาอาหรับร้อยละ 1 และภาษาอื่น ๆ รวมกันร้อยละ 2 ของประชากร[3] ขณะที่ตัวเลขการประมาณการกลุ่มชาติพันธุ์จากหอสมุดรัฐสภาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้มีการประมาณการไว้คือ ชาวเปอร์เซียร้อยละ 65 ชาวอาเซอร์ไบจานร้อยละ 16 ชาวเคิร์ดร้อยละ 7 ชาวลูร์ร้อยละ 6 ชาวเปอร์เซียเชื้อสายอาหรับร้อยละ 2 ชาวบาลูจีร้อยละ 2 ชาวเติร์กเมนร้อยละ 1 ชนกลุ่มน้อยที่มาจากกลุ่มภาษาเติร์กกิก คือ กัชไก ร้อยละ 1 และกลุ่มที่มิได้มาจากกลุ่มภาษาอิหร่านหรือเติร์กกิก ได้แก่ ชาวอาร์มีเนีย อัสซีเรีย และจอร์เจีย น้อยกว่าร้อยละ 1[30] ส่วนด้านการใช้ภาษาในรายงานดังกล่าวได้รายงานผลที่แตกต่างออกไปจากรายงานชิ้นแรกคือ ประชากรใช้ภาษาเปอร์เซียซึ่งเป็นภาษาราชการเป็นภาษาแม่โดยน้อยกว่าร้อยละ 65 ของประชากร และใช้เป็นภาษาที่สองซึ่งถือเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่คือร้อยละ 35[30] ศาสนาประเทศอิหร่านมีศาสนาประจำชาติคือ ศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์อิสนาอะชะรียะห์ (Ithnā‘ashariyyah) ซึ่งมีศาสนิกชนร้อยละ 90-95 ของประชากร[31][32][33] ส่วนศาสนาอิสลามนิกายซุนนี มีร้อยละ 4-8 ซึ่งศาสนิกชนส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ดและชาวบาลูจี ส่วนอีกร้อยละ 2 คือศาสนิกชนนอกศาสนาอิสลามถือเป็นชนกลุ่มน้อย ได้แก่ ศาสนาบาไฮ ศาสนาพื้นเมืองของชาวมันเดียน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาพื้นเมืองของชาวยัซดาน ศาสนายาร์ซาน ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนายูดาห์ และศาสนาคริสต์[3] ศาสนาโซโรอัสเตอร์, ยูดาห์ และคริสต์ นั้นเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และได้รับการสงวนสิทธิ์ที่นั่งในรัฐสภาด้วย อย่างไรก็ตาม ศาสนาที่มีศาสนิกชนจำนวนมากที่สุดในหมู่ศาสนิกชนนอกศาสนาอิสลามคือ ศาสนาบาไฮ[34] แต่ศาสนาบาไฮกลับมิได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และได้รับการกดขี่ข่มเหงเนือง ๆ ตั้งแต่การดำรงอยู่ของศาสนานี้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1972 ได้มีการจัดการกับศาสนิกชนของศาสนาบาไฮ เช่น การลิดรอนสิทธิพลเรือน และเสรีภาพของชาวบาไฮ รวมไปถึงการจำกัดสิทธิในการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการจ้างงาน[35][36][37] วัฒนธรรมวัฒนธรรมอิหร่านเป็นวัฒนธรรมผสมผสาน ระหว่างยุคก่อนอิสลามและยุคอิสลามเข้าไว้ด้วยกัน วัฒนธรรมอิหร่านถือเป็นวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นในตะวันออกกลางและในเอเชียกลาง และมีความรุ่งเรืองมายาวนานกว่าสองพันปี โดยเฉพาะยุคซาสซานิยะห์ ถือเป็ยุคที่มีความสำคัญของอิหร่านที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีน โรมัน และอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน[38] และมีอิทธิพลต่อยุโรปตะวันตกและแอฟริกา[39] ซึ่งอิทธิพลดังกล่าวมีบทบาทโดดเด่นก่อให้เกิดศิลปะยุคกลางทั้งในเอเชียและแอฟริกา[40] ซึ่งอิทธิพลดังกล่าวได้ถูกยกยอดไปที่วัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งกลายเป็นการเรียนรู้แบบอิสลามที่ทำให้เกิดความเจริญทางด้านภาษาศาสตร์, วรรณคดี นิติศาสตร์ ปรัชญา การแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางส่วนได้ก่อกำเนิดจากยุคซาสซานียะห์และเผยแพร่ไปสู่โลกมุสลิมภายนอก[41][42][43] วัฒนธรรมอิสลามได้แทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรมของอิหร่านอย่างแพร่หลาย ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการระลึกถึงอิหม่ามฮุเซนในวันอาชูรอ ซึ่งมีการรวมตัวของชาวอิหร่านมุสลิม ชาวคริสต์อาร์มีเนีย และชาวโซโรอัสเตอร์ที่มีส่วนร่วมในการไว้ทุกข์ให้กับผู้พลีชีพในการสู้รบที่กัรบาละห์ และวิถีชีวิตของชาวอิหร่านในยุคปัจจุบันก็ยังคงอิงอยู่กับศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ และสิ่งต่าง ๆ ยังคอยย้ำเตือนให้ชาวอิหร่านระลึกถึงประเพณีและวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองของตน[43][44] สถาปัตยกรรมประวัติความเป็นมาของสถาปัตยกรรมในอิหร่านย้อนกลับไปถึงยุคเจ็ดพันปีก่อนคริสตกาล[45] ชาวอิหร่านเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ใช้คณิตศาสตร์ เรขาคณิต และดาราศาสตร์ในงานทางสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมอิหร่านแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทั้งโครงสร้างและสุนทรียศาสตร์ ซึ่งค่อย ๆ พัฒนาและเชื่อมโยงกับขนบธรรมเนียมและประสบการณ์ที่สั่งสมมา[46] อิหร่านอยู่ในอันดับที่เจ็ดในรายชื่อประเทศที่ยูเนสโกประกาศว่า มีซากปรักหักพังทางโบราณคดีและแหล่งท่องเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุดจากยุคโบราณ[47] ตามธรรมเนียมแล้ว บรรทัดฐานการก่อสร้างสถาปัตยกรรมตามแนวทางของอิหร่านนั้นเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล "โดยที่มนุษย์ถูกนำเข้ามาในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมกับพลังแห่งสวรรค์" [48] ชุดรูปแบบนี้ไม่เพียง แต่ให้ความเป็นเอกภาพและต่อเนื่องกับสถาปัตยกรรมของเปอร์เซียเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้สึกร่วมของสังคมด้วยเช่นกัน ตามที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีชาวเปอร์เซีย อาเธอร์ อูฟาม โปป (Arthur Upham Pope) กล่าว ศิลปะของชาวอิหร่านที่สูงที่สุดนั้น นิยามในความหมายที่เหมาะสมว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมเสมอ ความสูงสุดของสถาปัตยกรรมนั้นใช้กับทั้งช่วงยุคก่อนและหลังอิสลาม[49] สิ่งทอการทอพรมของอิหร่านมีต้นกำเนิดในยุคสำริด และเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่โดดเด่นที่สุดของอิหร่าน อิหร่านเป็นผู้ผลิตและส่งออกพรมทอมือรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตได้สามในสี่ของผลผลิตทั้งหมดและมีส่วนแบ่ง 30% ของตลาดส่งออกโลก[50][51] ดนตรีดนตรีของอิหร่านความสัมพันธ์กับเครื่องดนตรีในแถบตะวันออกกลางและเอเชียกลาง รวมไปถึงแถบอนุทวีปอินเดีย แม้บางส่วนจะมาจากแอฟริกา และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็มีการหลั่งไหลเข้ามาของดนตรีตะวันตก เพลงของอิหร่านจะใช้ทักษะการใช้เสียงผ่านช่องปาก, การฟัง และการเรียนรู้[52] นักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงก่อนการปฏิวัติคือ ฆามัรอัลโมลูก วาซิรี ผู้ที่ได้สมญานาม "ราชินีเพลงแห่งเปอร์เซีย" ถือเป็นนักร้องหญิงคนแรกของอิหร่านที่ปราศจากฮิญาบ ตามพระราชประสงค์ในชาห์เรซา ปาห์ลาวี[53] แต่ภายหลังการปฏิวัติอายะตุลลอฮ์ โคมัยนี เคยกล่าวถึงดนตรีตะวันตกว่ามีอิทธิพลทำลายจิตใจมนุษย์ เพราะมันทำให้เพลิดเพลิน ทำให้มีความสุข หลอนจิตใจให้ยินดี ซึ่งก็เหมือนยาเสพติดนั่นเอง[54] ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะหานักร้องหญิงอิหร่าน เพลงที่นักร้องหญิงอิหร่านร้องส่วนใหญ่ก็เป็นเทปที่อัดก่อนการปฏิวัติทั้งสิ้น และนักร้องก็เสียชีวิตไปแล้ว[55] เพลงที่มีผู้หญิงร้องของอิหร่านมีสองประเภท คือ บทกลอนหรือนิทานโบราณของกวีเปอร์เซียที่บรรยายถึงธรรมชาติ และอีกประเภทคือเพลงรักที่อัดก่อนการปฏิวัติ[55] สำหรับเพลงสมัยใหม่ที่ขับร้องโดยนักร้องหญิงนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็มีการผลิตกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันนอกประเทศ โดยอัดแผ่นในตุรกีหรือสหรัฐอเมริกา และลักลอบเข้าประเทศแล้วซื้อขายกันในตลาดมืด และชาวอิหร่านเองก็นิยมฟังเพลงเหล่านี้มาก[56] อาหารอาหารอิหร่านมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคเช่นเดียวกับวัฒนธรรมภายในประเทศ แต่ส่วนประกอบหลักของอาหารอิหร่าน ได้แก่ ข้าว, เนื้อไก่หรือปลา มีผักอย่างหัวหอมบาง, ผัก, ถั่ว และสมุนไพร อาหารของอิหร่านเช่น กะบาบ ซึ่งเป็นอาหารที่พบได้ทั่วไปตั้งแต่ระดับภัตตาคารจนถึงร้านอาหารขนาดเล็กก็ยังมีกะบาบขายเช่นกัน[57] ในอิหร่านมีกะบาบหลากหลายชนิดตั้งแต่เนื้อวัว อูฐ แกะ แพะ ไก่ ปลา กุ้ง นำมาปรุงรสด้วยเครื่องเทศแล้วหมักจนได้ที่จึงเสียบเข้ากับไม้หรือโลหะย่างกับถ่าน[57] โดยเฉพาะหากเป็นเนื้อวัว แพะ แกะ หรืออูฐ จะหมักร่วมกับมะนาว เกลือ และหัวหอมใหญ่ มีรสชาติออกเปรี้ยวเค็มเล็กน้อย[57] ส่วนมัสมั่นและกุรหม่าในอิหร่านนั้นจะมีลักษณะคล้ายสตู[58] เรียกว่า โคเรช (Khoresh) ซึ่งใส่ทั้งเนื้อและผักหั่นชิ้นเล็ก ๆ ใส่เครื่องเทศเล็กน้อย กับผลไม้ตามฤดูกาล และเมื่อใส่ผักผลไม้ชนิดใดก็จะเรียกตามชื่อนั้น เช่น ใส่ฟักทองจะเรียกว่า โคเรชเบฮ์ หรือหากใส่กระเจี๊ยบจะเรียกว่า โคเรชบามิเยฮ์ เป็นต้น[58] อย่างไรก็ตามอิทธิพลของอาหารอิหร่านได้ตกทอดสู่อนุทวีปอินเดีย โดยเฉพาะราชสำนักโมกุล[58] แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ยังได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของอิหร่านมาเป็นเวลานานเช่นกัน ดังที่ปรากฏในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ความว่า[59]
เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอาจทรงรับรู้หรือเสวยอาหารดังกล่าวจากกลุ่มชาวเปอร์เซีย และมีพระมเหสีที่สืบเชื้อสายจากชาวเปอร์เซียอย่าง เจ้าจอมมารดาเรียม ที่สืบเชื้อสายจากสุลต่านสุลัยมานแห่งสงขลา[59] และเจ้าจอมจีบ ธิดาพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) ที่สืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัด[59] ในรัชสมัยของพระองค์นี้เองก็ได้มีการแห่ตุ้มบุดและแขกเจ้าเซ็นลุยไฟแสดงให้ทอดพระเนตรหน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ถึงสองครั้ง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของราชสำนักกับชาวเปอร์เซียในไทย[59] วันหยุดในวันปีใหม่ของชาวอิหร่าน หรือ วันเนารูซ จะเริ่มขึ้นทุกวันที่ 21 มีนาคม ถือเป็นเครื่องหมายของการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิของอิหร่าน นอกจากที่อิหร่านแล้วยังมีการเฉลิมฉลองกันในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอัฟกานิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน ซึ่งก่อนหน้านี้วันเนารูซยังเคยจัดขึ้นในประเทศจอร์เจียและอาร์มีเนีย แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเฉลิมฉลองวันเนารูซในหมู่ชาวเคิร์ดในอิรักและชาวเคิร์ดในอานาโตเลียอีกด้วย[60] วันเนารูซได้รับการจัดไว้ในทะเบียนรายชื่อของมรดกชิ้นเอกแบบปากต่อปากที่ไม่มีตัวตนของมนุษย์ (Masterpieces of the Oral and Intangible Heritage of Humanity) [61]และอธิบายว่า ปีใหม่เปอร์เซีย[62][63][64][65] โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ใน ค.ศ. 2009 กีฬาประเทศอิหร่านเป็นประเทศต้นกำเนิดของกีฬาโปโล ซึ่งเป็นที่รู้จักในภาษาท้องถิ่นว่า čowgān มีการละเล่นมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรไมเดสโบราณ นอกจากนี้ อิหร่านยังมีกีฬาประจำชาติ คือ มวยปล้ำฟรีสไตล์ ซึ่งอิหร่านเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแข่งขันชิงแชมป์โลก ชาวอิหร่านเรียกกีฬามวยปล้ำของตนเองว่า košti e pahlevāni ซึ่งยูเนสโกได้ให้การรับรองในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมด้วยแล้ว ด้วยความที่ประเทศอิหร่านมีพื้นที่เทือกเขาสูงจำนวนมาก ทำให้มีการเล่นกีฬาสกี สโนว์บอร์ด การเดินเขา การปีนเขา และการปีนหินผาจำนวนมาก อิหร่านมีสถานที่ตั้งของรีสอร์ทสกีที่มีชื่อเสียงในเมืองโทชาล ดิซิน และ เชมชัค ทั้งสามเมืองอยู่ห่างจากเมืองหลวง กรุงเตหะราน เพียงสามชั่วโมง ชาวอิหร่านมีความชื่นชอบกีฬาฟุตบอล ทีมชาติอิหร่านเป็นแชมป์เอเชียนคัพ 3 สมัย ได้ชื่อว่าเป็นทีมชาติที่ดีที่สุดในเอเชีย อีกทั้งยังรั้งอันดับ 1 ของทวีป และรั้งอันดับ 22 ของฟีฟ่าแรงค์กิ้ง (จากการจัดอันดับเมื่อเดือนกันยายน 2021) ฟุตบอลคือกีฬาที่เป็นที่นิยมที่สุดของประเทศอิหร่าน อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
|