อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง
อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ชื่อเล่น กีร์ เป็น นักร้อง, นักการเมือง เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขาเคยเข้าร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม[1] เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์[2] ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์[3] ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร [4]และเป็นอดีตแกนนำ นปช. ชีวิตช่วงต้นและการศึกษาอริสมันต์ (เดิมชื่อศักดา)[5] เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2507 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยเชื้อสายอินเดีย เป็นลูกชายของนายกิมเฮง และนางน้ำผึ้ง พงศ์เรืองรอง ซึ่งบิดา-มารดาเคยเป็นพระเอกและนางเอกลิเกมาก่อน อริสมันต์มีพี่สาวคนโตชื่อนภา, พี่ชายคนรองชื่อไชยา และมีน้องชายอีกสองคน คือพัศพงศ์ และอาชาครินต์[6] (ซึ่งเคยเป็นนักร้องในสังกัดอาร์.เอส. โปรโมชั่นอยู่ช่วงหนึ่ง โดยการสนับสนุนของอริสมันต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ) อริสมันต์จบการศึกษาชั้นมัธยมตอนต้น จากโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย อำเภอบ้านโป่ง, มัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ, สำเร็จปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงการบันเทิงเมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร อริสมันต์เปิดแผงจำหน่ายกางเกงยีนส์ และเสื้อผ้าราคาถูก บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ[6] เริ่มมีชื่อเสียงจากที่ออกอัลบั้มชุดแรก ความหมายของผู้ชายคนหนึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 ร่วมกับ อาร์.เอส.โปรโมชั่น โดยมีอิทธิ พลางกูร เป็นผู้ชักชวน และมีชื่อเสียงจากเพลง ไม่เจียม และ เธอลำเอียง เพราะมีเอกลักษณ์ในการร้องที่ไม่เหมือนใคร ด้วยเสียงที่กลั้วอยู่ในลำคอ คล้ายกับออกเสียงไม่ชัด ซึ่งเชื่อกันว่าเขาอมลูกอมขณะที่ร้องเพลง จึงมีฉายาว่า นักร้องเสียงอมฮอลล์ ประกอบกับเนื้อหาของเพลง ซึ่งส่วนมากเขาเป็นผู้แต่งเอง ที่ใช้ภาษาต่างไปจากเพลงในตลาดขณะนั้น แต่มีความหมายเฉพาะตัว และสร้างความรู้สึกโรแมนติกได้เป็นอย่างดี จากนั้น อริสมันต์ยังออกอัลบั้ม ตามมาอีกหลายชุด เช่น เจตนายังเหมือนเดิม, ฝันมีชีวิต, เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จทุกชุด และมีหลายเพลง เป็นที่จดจำของผู้ฟัง ตราบจนปัจจุบัน เช่น ยอมยกธง, ทัดทาน, ใจไม่ด้านพอ, เวทีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง, คนข้างหลัง, รักเธอเสมอใจ เป็นต้น ซึ่งในทุกชุด อิทธิ พลางกูร เป็นโปรดิวเซอร์ให้ ต่อมาราวกลางปี พ.ศ. 2536 อริสมันต์มีผลงานแสดงละครโทรทัศน์ของ อาร์.เอส.โปรโมชั่น เรื่อง พิศวงพิศวาส ซึ่งเสนอฉายทางไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เวลาบ่าย โดยเขาเล่นเป็นตัวเอกของเรื่องด้วย เป็นละครเรื่องแรกและเรื่องเดียวในชีวิตของอริสมันต์ตราบจนทุกวันนี้ หลังจากปี พ.ศ. 2540 ไปแล้ว ชื่อเสียงและความนิยม ของอริสมันต์เริ่มสร่างซาลง และเจ้าตัวก็หันไปมีบทบาท ทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ แต่ในปี พ.ศ. 2542 อริสมันต์ยังออกอัลบั้มเพลงลูกทุ่ง ชื่อชุด "กังวานทุ่ง" และในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ก็จัดคอนเสิร์ตของตัวเองชื่อ เวทีนี้ยังมีพี่เลี้ยง ขึ้นอีกครั้ง ที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก งานการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 อริสมันต์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยสังกัดพรรคพลังธรรม ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และได้รับการเลือกตั้ง เป็นสมัยแรกเช่นกัน แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 อริสมันต์สังกัดพรรคเดิม และลงสมัครในพื้นที่เดิม แต่กลับไม่ได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2541 สมาชิกพรรคพลังธรรมหลายคน รวมทั้งอริสมันต์ด้วย ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 อริสมันต์ก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 56 ของพรรคไทยรักไทย และได้รับมอบหมายให้เป็น เลขานุการของ ประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในขณะนั้น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในคืนวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2550 อริสมันต์ได้ร่วมกับกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มพีทีวี และ อดีต ส.ส.ไทยรักไทย ที่รวมตัวกันในนาม แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่ท้องสนามหลวง เคลื่อนย้ายขบวนฝ่าแนวป้องกันของตำรวจไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น อีกทั้งในคืนวันที่ 18 มิถุนายน ก็ได้ขึ้นรถปราศรัยโดยด่าว่าทหาร และตำรวจที่รักษาความสงบอยู่ด้วย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 อริสมันต์ลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร ในเขต 12 (บางพลัด บางกอกน้อย ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา) สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาได้เข้าร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยได้ปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและประธานองคมนตรี ในเหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่ม นปช. เมษายน พ.ศ. 2552 อริสมันต์เป็นแกนนำผู้ชุมนุมที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยนำผู้ชุมนุมทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงและที่สมทบจากกรุงเทพฯ เพื่อปิดล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้เข้าปิดล้อมหน้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เพื่อเข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนอาเซียน และในวันต่อมาได้กลับมาชุมนุมหน้าโรงแรมอีกครั้ง เพื่อกดดันรัฐบาลให้รับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มคนสวมเสื้อสีน้ำเงิน ในช่วงเช้า จนกระทั่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ของไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ขอเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด แล้วพาผู้นำประเทศต่างๆ เดินทางออกจากสถานที่ประชุม และขึ้นเครื่องบินกลับโดยทันที โดย ในวันที่ 21 มีนาคม 2560 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เขามีความผิด จำคุก 4 ปี[7]และไม่ได้รับประกันตัว ก่อนหน้านี้เขาเคยจำคุกในคดีดังกล่าว ในศาลชั้นต้น ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558 ต่อมาใน วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558 เขาได้รับการประกันตัวในวงเงิน 2 ล้านบาท หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมอริสมันต์ ที่บ้านพักในเขตตลิ่งชัน ขณะกำลังหลบหนี และถูกควบคุมตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปยังจังหวัดราชบุรี แต่ต่อมาศาลอนุมัติให้ประกันตัวไป ด้วยวงเงิน 5 แสนบาท และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขออนุมัติหมายจับอริสมันต์ในข้อหา กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว อนุมัติให้ออกหมายจับ[8] ในการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 ในวันที่ 7 เมษายน อริสมันต์นำผู้ชุมนุม บุกเข้าไปในบริเวณอาคารรัฐสภา ระหว่างที่กำลังประชุมอยู่ โดยพลการ มิได้ปรึกษาแกนนำหลักทั้งสาม คือวีระ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ จึงทำให้ต่อมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง[9] ต่อมา เช้าวันที่ 16 เมษายน อริสมันต์พร้อมกับแกนนำ นปช.คนอื่นๆ ซึ่งมีหมายจับจากศาลอาญา[10] เช่นสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ต้องหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่พักผ่อนอยู่ภายในโรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค ย่านถนนนวมินทร์ ซึ่งอริสมันต์ต้องโหนตัวกับเชือกลงมา จากหน้าต่างห้องพักชั้น 3[11] เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขณะที่จตุพร, ณัฐวุฒิ และแกนนำอื่นรวม 7 คน ประกาศยุติการชุมนุม และขอเข้ามอบตัวต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข่าวว่าอริสมันต์หลบหนี ไปจากแยกราชประสงค์ ตั้งแต่ช่วงเช้า โดยในช่วงบ่าย มีรายงานข่าวเบื้องต้นว่า ทหารจับอริสมันต์ได้ที่สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ขณะกำลังหลบหนี[12] แต่ต่อมากลับมีข่าวออกมาแก้ไขว่า ไม่เป็นความจริงแต่งอย่างใด[13] หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 อริสมันต์ลี้ภัยอยู่ในประเทศกัมพูชา[14] และเข้ามอบต้วที่ศาลพัทยา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และถูกคุมขัง จนกระทั่งวันที่ 28 ธันวาคม ศาลอุทธรณ์พิจารณา ให้ปล่อยอริสมันต์ชั่วคราว โดยให้วางเงินประกัน 6 ล้านบาท และนัดพิจารณาคดี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555[15] และหลังจากเหตุการณ์สงบลง อริสมันต์จัดทำอัลบั้ม รักในโฟนอิน ขึ้นด้วยตนเอง มิได้เกี่ยวข้องกับค่ายอาร์เอสแต่อย่างใด โดยเพลงในอัลบั้ม มีเนื้อหาเกี่ยวกับทางการเมือง เพลงหนึ่งคือ คนของแผ่นดิน ที่มีเนื้อหาสนับสนุน พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ สนับสนุนการเคลื่อนไหว เรียกร้องประชาธิปไตย การเยียวยาผู้ชุมนุม ที่ได้รับผลกระทบ จากการผลักดันการชุมนุม ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552[16] แกนนำฮาร์ดคอร์
มักมีการกล่าวหาว่า อริสมันต์เป็นแกนนำ นปช.ที่นิยมใช้ความรุนแรง เนื่องจากพฤติกรรมหลายอย่าง เช่นการปราศรัยว่า จะทำให้กรุงเทพมหานคร กลายเป็นทะเลเพลิง[17] [18][19], การนำผู้ชุมนุมบุกเข้าไป ในโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท ขณะที่มีการประชุมสุดยอดอาเซียนอยู่ ทำให้รัฐบาลไทยตัดสินใจยุติการประชุม, การบุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภา โดยไม่ใช่มติของแกนนำ[20] หรือการนำมวลชนปิดล้อม อาคารสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น[21] แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธว่า ตนไม่ได้เป็นเช่นนั้น[22] อุปสมบทอริสมันต์เข้าอุปสมบท เพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา รวมถึงอุทิศส่วนกุศลแก่คนเสื้อแดง ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม ที่วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ระหว่างวันที่ 19 มกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 มีฉายา ฐิตมนโต หมายถึง ผู้มีความสำเร็จตั้งมั่นดีแล้ว โดยมีศรัทธาตั้งมั่นว่า หากศาลอนุญาต จะออกปฏิบัติธรรม ที่ประเทศอินเดียด้วย ผลงานอัลบั้ม
ผลงานเพลงที่กล่าวถึงศิลปินท่านอื่น ๆ
หนังสือ
คอนเสิร์ตครั้งสำคัญ
ละครโทรทัศน์
ชีวิตส่วนตัวธุรกิจครอบครัวพงษ์เรืองรอง เป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างชื่อ บริษัท พงศ์เรืองรองก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2538 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 33/1 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีนายไชยา พงษ์เรืองรอง ถือหุ้นใหญ่ 6,000 หุ้น นายเฮง พงษ์เรืองรอง 1,000 หุ้น นางน้ำผึ้ง พงษ์เรืองรอง 600 หุ้น นายอริสมันต์ 600 หุ้น ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ระหว่างปี 2549 -2553 บริษัท พงษ์เรืองรองก่อสร้าง จำกัด แจ้งว่ารายได้แต่ละปีรวม 101,467,418 บาท กำไรสุทธิรวม 5,200,144 บาท และพบว่ารายได้จะมากขึ้นในช่วง 2 ปีหลัง โดยเฉพาะปี 2552 รายได้ 23,377,686 บาท และยังมีญาติที่ร่วมทุนทำธุรกิจยางมะตอย ชื่อ บริษัท โซล่า แอสฟัลท์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2542 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยผลประกอบการในปี พ.ศ. 2550 มีรายได้ 455.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10 ล้านบาท ต่อมาในปี 2551 มีรายได้ 428 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4.2 ล้านบาท รวมสินทรัพย์ 207.1 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่ในปี 2551-2552 พบว่า บริษัท โซล่า แอสฟัลท์ จำกัด รับงานกรมทางหลวงตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งหมด 15 สัญญา วงเงินกว่า 27 ล้านบาท ครอบครัวอริสมันต์สมรสกับ ระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ชาวขอนแก่น อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย[23])[24] ทั้งคู่มีบุตรชายและบุตรสาวด้วยกันสามคน[25] หนังสือบทกวีหลังจากอัลบั้มเพลงของอริสมันต์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก อริสมันต์จึงออกหนังสือเล่ม รวบรวมบทกวี ซึ่งมีชื่อว่า วันนี้สำคัญ...เพราะเมื่อวานดี ซึ่งออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2532 โดยอ้างว่าเขียนขึ้นเองทั้งหมด แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า บางส่วนเป็นของนักเขียนคนอื่น ๆ เช่น ศุ บุญเลี้ยง[26] คดีความคดีปราศรัยหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 11 และวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552 อริสมันต์ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้าทำเนียบรัฐบาล ถ่ายทอดสดผ่านสถานีประชาชน กล่าวหาทำนองว่า การบริหารงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ กู้ยืมเงินมาเพื่อทุจริตคดโกง และกล่าวหาว่าอภิสิทธิ์ หน่วงเหนี่ยวคำร้องฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษแก่ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ล่าช้า รวมถึงสั่งทหารให้มาฆ่าประชาชน และศาลอุทธรณ์มีความเห็นพ้อง ที่จะพิพากษายืน จำคุกอริสมันต์ 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา[27] รวมทั้งให้ลงโฆษณาคำพิพากษา ในหนังสือพิมพ์สองฉบับ ติดต่อกัน 7 วัน [28] และในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560 ศาลฎีกาลงโทษจำคุก 12 เดือน ไม่รอลงอาญา และให้นายอริสมันต์ ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์มติชน และเดลินิวส์ ติดต่อกัน 7 วัน โดยให้นายอริสมันต์เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|