Share to:

 

อักษรขอม

ศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ที่เสาในปราสาทโลเลย
พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการสำหรับพิมพ์หัวกระดาษประกาศกฎหมายต่างๆ แบบที่ใช้ในช่วงก่อน พ.ศ. 2483 ข้อความในแพรแถบตอนล่างสุดเป็นอักษรขอมข้อความ "พฺระบรมฺมราชโองฺการ"

อักษรขอม พัฒนามาจากอักษรขอมโบราณ ซึ่งพัฒนามาจากอักษรหลังปัลลวะ และอักษรปัลลวะอีกทีหนึ่ง[1] เป็นตัวอักษรของราชวงศ์ปัลลวะในอินเดียใต้ ภายหลังได้มาติดต่อกับภูมิภาคอุษาคเนย์จึงได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงตัวอักษรปัลลวะไว้ให้กับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้อีกด้วย อักษรปัลลวะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคนี้ และมีวิวัฒนาการจากอักษรปัลลวะเป็นอักษรหลังปัลลวะ และแตกแขนงเป็นสองสาขาใหญ่ ๆ คืออักษรมอญโบราณ และอักษรขอมโบราณ

อักษรขอมโบราณใช้ในอาณาจักรต่างๆ สองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร ต่อมาจึงกลายเป็นอักษรท้องถิ่นในสมัยพระนคร และเป็นต้นแบบของอักษรไทยและอักษรเขมรในปัจจุบัน

เอกลักษณ์ของอักษรขอม คือ เปลี่ยนบางอักษรของอักษรปัลลวะเป็นศกหรือหนามเตย อักษรนี้พัฒนาไป 2 ทิศทาง คือ เป็นอักษรขอมในประเทศไทย (ใช้เขียนภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาเขมร) และอักษรขอมในประเทศกัมพูชา (ใช้เขียนภาษาเขมร ภาษาบาลี)

อักษรขอมในประเทศไทย

พบหลักฐานการใช้อักษรขอมโบราณเขียน ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ในบริเวณภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ของประเทศไทยปัจจุบัน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-16 แต่จะไม่พบเอกสารโบราณประเภทจารึกที่ใช้อักษรขอมโบราณ ในแถบภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดตากขึ้นไป หลักฐานทำนองนี้รวมไปถึงโบราณสถาน ที่เรียกว่า ปราสาทหิน ปราสาทอิฐ และพระปรางค์แบบเขมรโบราณที่มีอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ แต่ไม่เคยปรากฏอยู่ทางภาคเหนือ

ในประเทศไทย อักษรขอมถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในงานด้านศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อักษรขอมที่ใช้เขียนภาษาบาลีเรียก อักษรขอมบาลี ส่วนที่ใช้เขียนภาษาไทยเรียก อักษรขอมไทย ซึ่งมีอักขรวิธีต่างจากอักษรขอมกลุ่มอื่นๆ ต่อมา อักษรขอมไทยถูกแทนที่ด้วยอักษรไทย ส่วนอักษรขอมบาลียังคงใช้เขียนภาษาบาลีเรื่อยมา แม้จะมีการพัฒนาอักษรไทยและอักษรอริยกะมาเขียนภาษาบาลีก็ตาม อักษรขอมบาลีถูกยกเลิกไปในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจัดสร้างพระไตรปิฏกสยามรัฐและใช้อักษรไทยแทน การเล่าเรียนพระไตรปิฏกผ่านอักษรขอมจึงยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ

รูปแบบ

รูปแบบของอักษรขอมในประเทศไทยทั้งขอมไทยและขอมบาลี แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ

  • อักษรบรรจง เป็นรูปสี่เหลี่ยม ทรงมน ใช้เขียนคัมภีร์ทางศาสนา
  • อักษรตัวเกษียณ เป็นตัวเฉียงทแยง เอียงขวา ใช้บันทึกคำอธิบาย หรือเขียนหวัด
  • อักษรเฉียงขอมหรือเฉมเขม คล้ายอักษรเขมรแบบตัวเชรียง รูปสระและการประสมสระต่างไปจาก 2 แบบ ข้างต้น

อ้างอิง

  1. กรมศิลปากร, หอสมุดแห่งชาติ. (2529). จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔ : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์. หน้า 13. ISBN 974-7920-74-3

ดูเพิ่ม

Kembali kehalaman sebelumnya