Share to:

 

อักษรธรรมลาว

ป้ายชื่อวัดศรีอุบลรัตนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อักษรในป้ายนี้เขียนด้วยอักษรธรรมล้านช้าง
รูปปริวรรตอักษรไทย: "วฺดสฺรีอุบนรตฺตนาราม"
คำอ่าน: "วัดศรีอุบลรัตนาราม"

อักษรธรรมลาว หรือ อักษรธรรมล้านช้าง เป็นอักษรที่มีวิวัฒนาการมาจากอักษรธรรมล้านนา นิยมเรียกว่า โตธรรมลาว ส่วนอักษรธรรมล้านนาแบบดั้งเดิมนั้น ทางฝ่ายลาวจะนิยมเรียกว่า อักษรยวน หรือ อักษรโยน ซึ่งหมายถึงอักษรของชาวไทยวน หรือชาวล้านนา ใช้ในการเขียนคัมภีร์ทางพุทธศาสนาในสมัยโบราณ สามารถเขียนคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ได้ครบถ้วน และใช้ในการเขียนภาษาลาวได้ด้วย แต่ไม่นิยมใช้ อักษรชนิดนี้ในปัจจุบันไม่นิยมใช้เขียน และกำลังเสื่อมสูญไป จะพบตามคัมภีร์ใบลานเก่าๆ ที่เรียกว่าหนังสือผูก และยังมีใช้อยู่บ้างในองค์กรทางพุทธศาสนาของลาว ในประเทศไทยสามารถพบอักษรชนิดนี้ได้เช่นกัน หากแต่เรียกกันว่า "อักษรธรรมอีสาน" ตามชื่อท้องถิ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ประวัติ

อักษรธรรมลาวมักนิยมบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอาทิ ชาดก วรรณกรรมทางพุทธศาสนา รวมถึงตำราวิชาการต่าง ๆ ส่วนอักษรไทน้อยนิยมบันทึกเรื่องราววรรณกรรมเริงรมย์ที่ใช้อ่านในงานศพคนอีสาน นิทานพื้นบ้าน และหนังสือราชาการรวมทั้งบันทึกส่วนตัวส่วนบุคคล อักษรธรรมลาวที่จารึกเก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานคือจารึกฐานพระพุทธรูปพระประธานวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ถูกเขียนโดยอาณาจักรล้านช้างเมื่อ พ.ศ. 2046 ในอดีตบริเวณพระธาตุพนมเดิมเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งมีความสำคัญในบริบทของบ้านเมืองที่มีพระธาตุพนมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในบริเวณแถบนี้ และเมื่ออาณาจักรล้านช้างได้ย้ายราชธานีจากหลวงพระบางลงมาที่เมืองเวียงจันทน์ ส่งผลให้เกิดการกระจายของจารีตการบันทึกอักษรธรรมลาวและอักษรไทน้อยในเอกสารใบลานเป็นจำนวนมาก[1]

อักษรธรรมลาวมีรูปลักษณ์ที่กลมได้รับอิทธิพลและสืบทอดมาจากอักษรล้านนาซึ่งเป็นเหตุให้คล้ายกับอักษรธรรมล้านนา (ตัวเมือง) แต่แตกต่างกันไปบ้างในบางตัว ในครั้งสมัยอดีตเมื่อจะเรียนอักษรธรรมอีสานและอักษรไทน้อยมักจะเรียนที่วัดประจำท้องถิ่นมีพระสงฆ์เป็นครูสอน [1]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีการขยายการศึกษาระบบโรงเรียนจากส่วนกลางสู่ภาคอีสานจากนโยบายปฏิรูปประเทศ จึงใช้อักษรไทยกลางเข้ามาแทนเอกสารใบลาน ใน พ.ศ. 2464 มีการการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาทำให้อักษรไทยกลางเข้ามามีอิทธิพลเต็มที่จึงทำให้เอกสารใบลานแต่เก่าถูกทอดทิ้ง[1]

พยัญชนะ

อักษรธรรมลาวแบงออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ พยัญชนะตัวเต็ม ทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้นเขียนไว้บนบรรทัดตามปกติมี 37 รูป และพยัญชนะตัวเฟื้องคือ พยัญชนะที่เขียนครึ่งรูปใช้เพื่อแสดงการสะกดหรือควบกล้ำในคำ ใช้เฉพาะในกรณีที่เป็นตัวสะกดหรือตัวควบกล้ำเท่านั้น[2]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 แบบเรียนอักษรธรรม (PDF). ดร.อธิราชย์ นันขันตี มหาวิทยาลัยนครพนม. 2561. p. 3. สืบค้นเมื่อ 27 November 2024.
  2. "ความเป็นมาของอักษรธรรมอีสาน" (PDF). สืบค้นเมื่อ 29 November 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya